ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 27 สัปดาห์ อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 27 สัปดาห์ อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 15 นิ้ว หนักประมาณ 900 กรัม หรืออาจมีน้ำหนักถึง 1 กิโลกรัมในสัปดาห์นี้ และมีขนาดเท่ากับกะหล่ำดอก
  • อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ พัฒนาการของระบบต่าง ๆ ของทารกนั้นเกือบสมบูรณ์แล้ว ถ้าหากเหตุต้องคลอดออกมาในตอนนี้ ทารกในครรภ์ก็สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ 85% ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
  • อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ ถึงแม้หูของทารกจะยังมีสารคล้ายกับขี้ผึ้งเคลือบเอาไว้อยู่ แต่ทารกสามารถที่จะได้ยินเสียงรวมไปถึงเริ่มจดจำเสียงของคุณพ่อคุณแม่ได้แล้วค่ะ

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 27 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 27
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 27 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 27 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อาการคนท้อง 27 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
     • 27 สัปดาห์ มีนัดตรวจอะไรไหม
     • ท้อง 27 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

ท้อง 27 สัปดาห์นี้ คุณแม่ขยับใกล้เข้าสู่อายุครรภ์ 7 เดือนเข้ามาเรื่อย ๆ แล้วค่ะ ซึ่งนอกจากอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้นไม่มีลดลงแล้ว พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของทารกอายุครรภ์ 27 สัปดาห์ ก็เริ่มพัฒนาจนเกือบจะครบสมบูรณ์ทุกระบบแล้วด้วย

ขณะที่แม่ตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์ ก็ยังคงมีอาการปวดหลัง ปวดขาต่อไปอย่างไม่ลดละ สอดคล้องกับขนาดครรภ์ที่ขยายใหญ่ขึ้นและน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์

ท้อง 27 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ ระบบสำคัญ ๆ ของทารกอย่างปอด ตับ และระบบภูมิคุ้มกันมีการเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนเกือบจะสมบูรณ์แล้ว ถึงแม้ว่าจะยังทำงานได้ไม่ 100% ก็ตาม

ขณะที่คุณแม่ยังคงง่วนอยู่กับอาการคนท้องไตรมาสสองที่มีแต่เพิ่มไม่มีลด ทั้งอาการบวม อาการปวดหน่วงท้องน้อย ปวดหลัง ปวดขา ท้องอืด ท้องผูก และอาการนอนไม่หลับ เป็นต้น

อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ ลูกอยู่ท่าไหน

ทารกในครรภ์ 27 สัปดาห์ สามารถเปลี่ยนท่าทาง เปลี่ยนตำแหน่งได้ทั้งวัน ตอนเช้าอาจเอาหัวลง แต่ตอนบ่ายก็อาจกลับเอาหัวขึ้น เนื่องจากมดลูกยังมีรูปทรงกลมอยู่ ยังมีพื้นที่ภายในกว้างขวาง ทารกจึงสามารถดิ้นได้อย่างอิสระค่ะ

อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 27 สัปดาห์ เมื่อเทียบเป็นจำนวนเดือนแล้วจะเท่ากับอายุครรภ์ 6 เดือน 3 สัปดาห์ค่ะ

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 27 สัปดาห์ เป็นอย่างไร


ทารกอายุครรภ์ 27 สัปดาห์นี้ ถือว่ามีพัฒนาการของระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้เกือบสมบูรณ์แล้ว ซึ่งสมบูรณ์อยู่ในระดับที่ว่าถ้ามีเหตุต้องคลอดออกมาในตอนนี้ ทารกก็สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ 85%

แต่...จำเป็นจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เนื่องจากปอดยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ระบบภูมิคุ้มกันยังอ่อนแอ ระบบต่าง ๆ และอวัยวะอีกหลายส่วนยังเริ่มทำงานได้ไม่เต็มที่

ขนาดทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 27 จะมีขนาดเท่าไหน

ทารกอายุครรภ์ 27 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 15 นิ้ว หรือมีขนาดเท่ากับกะหล่ำดอกค่ะ

ตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์ น้ำหนักลูก หนักเท่าไหร่

อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ น้ำหนักทารกจะอยู่ที่ประมาณ 900 กรัม หรืออาจมีน้ำหนักถึง 1 กิโลกรัมในสัปดาห์นี้ค่ะ

ท้อง 27 สัปดาห์ ลูกดิ้นมากน้อยแค่ไหน

ทารกในครรภ์ 27 สัปดาห์จะดิ้นมากน้อยแค่ไหนนั้น ตอบได้ยากค่ะ เพราะเด็กแต่ละคนดิ้นมากน้อยไม่เท่ากัน โดยอาจจะดิ้นได้มากกว่า 300-400 ครั้งต่อวัน และจะยังดิ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ

เนื่องจากระบบและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกจะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นจนเกือบเต็มระบบ และหลาย ๆ ระบบก็จะทยอยเริ่มทำงาน ทำให้ทารกในครรภ์สามารถเคลื่อนไหวไปรอบๆ ท้องน้อยมากขึ้น และจะเริ่มดิ้นแรงจนคุณแม่จะรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ทารกในไตรมาสนี้ยังดิ้นไม่ค่อยเป็นเวลา อาจจะดิ้นพักหนึ่งแล้วก็หายไป แล้วก็กลับมาดิ้นอีก ซึ่งเดี๋ยวมาเดี๋ยวไป ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กัน ทำให้การนับลูกดิ้นในระยะนี้เป็นไปได้ยากค่ะ ต้องรอจนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ทารกจึงจะเริ่มดิ้นเป็นเวลา ถึงค่อยเริ่มนับลูกดิ้น

อวัยวะและระบบอื่น ๆ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 27 สัปดาห์ มีดังนี้

          • เนื้อเยื่อในสมองของทารกเริ่มพัฒนามากขึ้นและสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้น

          • ปอดของทารกแม้ยังยังทำงานได้ไม่เต็มระบบ แต่ก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการทำงานของปอดมากขึ้น เตรียมพร้อมที่จะหายใจหลังคลอดในไม่ช้า

          • ทารกสามารถสะอึกจนคุณแม่รู้สึกได้ ซึ่งเป็นอาการปกติของทารกในครรภ์ค่ะ

          • ช่วงนี้ทารกเริ่มตื่นและนอนตามเวลา และเริ่มลืมตาและหลับตาตอบสนองกับแสงสว่างจากภายนอกได้แล้วด้วย

          • แม้ว่าหูของทารกในครรภ์จะยังมีสารคล้ายกับขี้ผึ้งเคลือบเอาไว้อยู่ แต่ทารกสามารถที่จะได้ยินเสียงรวมไปถึงเริ่มจดจำเสียงของคุณพ่อคุณแม่ได้แล้วค่ะ

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่อายุครรภ์ 27 สัปดาห์


แม่ท้อง 27 สัปดาห์หลายคนอาจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่างในช่วงสัปดาห์นี้ ดังนี้

          • คุณแม่อาจปวดหลังมากขึ้น เพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ ขนาดท้องที่โตขึ้นจนเริ่มแอ่นไปข้างหน้า ทำให้เกิดการดึงรั้งมากขึ้น ส่งผลให้คุณแม่ปวดหลังอยู่บ่อย ๆ

          • นอกจากนี้ คุณแม่หลายคนยังอาจเป็นตะคริวที่ขาได้ง่ายกว่าปกติด้วย เพราะขาต้องแบกรับน้ำหนักมากกว่าเดิม ซึ่งวิธีแก้ง่าย ๆ เมื่อเป็นตะคริวก็คือให้เหยียดขาให้ตึงตั้งแต่ขาจนถึงปลายนิ้วเท้าให้มากที่สุดหลังจากนั้นก็อาจจะเปลี่ยนมาเป็นเดินให้เลือดหมุนเวียนขึ้น แล้วนวดเบาๆหรือประคบด้วยความร้อน จะช่วยคลายอาการตะคริวได้บ้าง

          • ขนาดครรภ์ของคุณแม่ในช่วงนี้ยังคงขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และแอ่นออกมาข้างหน้ามากกว่าเดิม ซึ่งการที่หน้าท้องของคุณแม่ขยายมากเรื่อยๆ แบบนี้ก็ทำให้เกิดอาการปวดหลังตามมานั่นเอง

          • แม่ท้อง 27 สัปดาห์ มีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและหายไปเอง การนอนพัก หรือกินยาแก้ปวด สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

          • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่คุณแม่จะต้องคอยควบคุมดูแลไม่ให้เกิดตามที่แพทย์แนะนำนะคะ สำหรับอายุครรภ์ 27 สัปดาห์ ยังอยู่ในไตรมาสที่สอง คุณแม่ที่มีค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI ปกติควรจะต้องคอยดูแลน้ำหนักไม่ให้เกิน 5-6 กิโลกรัมค่ะะ

อาหารคนท้อง 27 สัปดาห์ มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรกิน


สำหรับแม่ท้อง 27 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่

          • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่ยังสามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น

Enfamama TAP No. 1

ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

อาการคนท้อง 27 สัปดาห์ ที่พบบ่อยในช่วงนี้


อาการคนท้อง 27 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้

          • อาการท้องผูกของคุณแม่เริ่มถี่มากขึ้น เพราะขนาดของทารกและมดลูกยังขยายตัวไม่หยุด จนส่งผลต่ออวัยวะที่ทำหน้าที่ในการย่อยอาหารอย่างลำไส้

          • ปัญหาเลือดไหลเวียนได้ไม่ค่อยดียังคงก่อให้เกิดอาการบวมน้ำอยู่ โดยคุณแม่อาจมีอาการบวมที่ข้อมือและข้อเท้าร่วมด้วย

          • อาการท้องแข็งเนื่องจากมดลูกหดรัดตัวตามปกติยังคงพบเห็นได้เรื่อย ๆ ในสัปดาห์นี้ อาจทำให้คุณแม่ปวดท้องถี่ขึ้น แต่ก็จะหายได้เองโดยใช้เวลาไม่นานค่ะ

          • อาการเหน็บชาที่ขา เพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายส่งผลต่อการหย่อนตัวของข้อต่อที่กระดูก การนั่งหรือยืนในท่าเดิมนาน ๆ อาจทำให้เกิดเหน็บชาได้ง่ายขึ้น

          • หากคุณแม่มีอาการปัสสาวะบ่อยในสัปดาห์ก่อนหน้า สัปดาห์นี้ก็ยังคงหนีไม่พ้นค่ะ เพราะขนาดของมดลูกยังคงกดดันที่ไตและกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปวดฉี่บ่อยขึ้น

ตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์ สัปดาห์นี้ มีนัดตรวจอะไรไหมนะ


โดยมากแล้วในช่วงไตรมาสที่สองนี้แพทย์จะนัดพบแค่เพียงเดือนละครั้ง ดังนั้น ในสัปดาห์ที่ 27 นี้ คุณแม่อาจจะไม่ได้มีนัดหมายต้องไปพบแพทย์ค่ะ

อย่างไรก็ตาม คุณแม่แต่ละคนมีกำหนดนัดตรวจอัลตราซาวนด์ที่แตกต่างกันค่ะ ตลอดจนพื้นฐานสุขภาพของแม่แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แม่บางคนอาจมีความเสี่ยงหรือมีภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งแพทย์อาจจะนัดหมายให้มาทำการตรวจครรภ์ในสัปดาห์นี้ หรือไม่มีนัดก็ได้ค่ะ

แต่...หลังจากสัปดาห์นี้ไปจะเริ่มเข้าสู่ช่วงไตรมาส 3 แล้ว แพทย์อาจจำนัดตรวจครรภ์ถี่ขึ้น โดยจากที่นัดเดือนละครั้ง ก็จะเปลี่ยนมานัดหมายเดือนละ 2 ครั้ง หรือมีนัดพบกันทุก ๆ 2 สัปดาห์ค่ะ

อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่?


อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่

และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์ ท้องแข็ง อันตรายไหม

โดยทั่วไปแล้วอาการท้องแข็งนี้มักจะพบได้ในไตรมาสสามหรือช่วงก่อนใกล้คลอด แต่...ก็พบว่ามีคุณแม่หลายคนมีอาการท้องแข็งตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสสอง ซึ่งอาจจะมาจากสาเหตุเหล่านี้

          • ทารกดิ้นแรง
          • คุณแม่ทำงานหนัก หรือออกแรงมาก
          • คุณแม่อยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น เดินนาน ๆ หรือยืนนาน ๆ
          • มดลูกมีการหดรัดตัวตามปกติในระหว่างตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม หากอาการท้องแข็งในช่วงปลายไตรมาสสองนั้นมักจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและหายไปเอง การนอนพัก หรือกินยาแก้ปวด สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้

แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

ท้อง 27 สัปดาห์ ลูกไม่ค่อยดิ้น ต้องกังวลไหม

โดยมากแล้วคุณแม่ส่วนใหญ่สามารถรู้สึกถึงการดิ้นของลูกได้อย่างชัดเจนในสัปดาห์นี้ แต่ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อย ดิ้นเบา หรือไม่ค่อยดิ้น ก็ยังเร็วไปที่จะสรุปว่าผิดปกติค่ะ เพราะการที่ลูกดิ้นน้อย อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

          • ผนังหน้าท้องของคุณแม่อาจจะหนาจนสัมผัสการดิ้นของทารกได้ยาก
          • หรือช่วงที่ทารกดิ้นอาจทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มีการเคลื่อนไหว จึงทำให้ไม่รู้สึก
          • หรือตอนที่ทารกดิ้น คุณแม่นอนหลับ ตอนที่คุณแม่ตื่น ทารกหลับ ช่วงเวลาที่ลูกดิ้นจึงคลาดเคลื่อนไปจากการรับรู้ของคุณแม่

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ยังไม่ต้องกังวลมากจนเกินไปค่ะ หากคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อย ให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ หากอัลตราซาวนด์แล้วพบว่าทารกยังมีหัวใจเต้นตามปกติ และยังสามารถเคลื่อนไหวตามปกติ ก็ยังไม่มีอะไรต้องกังวล และอาจจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นมากขึ้นในสัปดาห์ถัดไปก็ได้ค่ะ

ท้อง 27 สัปดาห์ ท้องเล็ก ปกติไหม

ถ้าหากคุณแม่ท้อง 6 เดือนกว่าแล้ว แต่หน้าท้องยังเล็กอยู่ ยังไม่ถือว่าผิดปกติค่ะ เพราะเรื่องขนาดหน้าท้องนั้นต้องบอกเลยว่าหน้าท้องแม่แต่ละคนไม่เท่ากันค่ะ บางคนท้องใหญ่ บางคนจวบจนจะไตรมาสสามแล้วก็ยังท้องเล็กอยู่ เรื่องพวกนี้ถือว่าปกติมาก

ซึ่งถ้าหากไปตรวจครรภ์และอัลตราซาวนด์ออกมาแล้วพบว่าทารกในครรภ์แข็งแรงดี ดิ้นดี หัวใจเต้นครบเกณฑ์ มีพัฒนาการสมวัย 27 สัปดาห์ ขนาดท้องเล็กใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลค่ะ

มากไปกว่านั้น คุณแม่ที่ท้องครั้งแรก ท้องตอนอายุน้อย ๆ เป็นคนมีผนังหน้าท้องหนา หรือเป็นคนตัวเล็ก ขนาดท้องก็จะค่อนข้างเล็ก ไม่ขยายใหญ่เท่าแม่ที่สรีระใหญ่ และไม่ใหญ่เท่ากับแม่ที่ตั้งครรภ์มาแล้วหลายครั้งค่ะ

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 27 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

รวมถึงควรเริ่มลดกิจกรรมและการงานต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงด้วยค่ะ การก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยมากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์และทารกในครรภ์ได้

การตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ช่วงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์เป็นต้นไป แพทย์อาจนัดให้คุณแม่ทำการตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพราะโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หากไม่ได้รับการควบคุมเป็นอย่างดี จะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น

          • เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
          • ทารกมีขนาดตัวใหญ่ หรือมีน้ำหนักแรกเกิดเกินมาตรฐาน
          • ทารกมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำทันทีหลังคลอด
          • ทารกมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ
          • เสี่ยงต่อการแท้ง
          • เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ
          • ทารกคลอดออกมาพร้อมกับความเสี่ยงของโรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2

ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพื่อให้ได้ทราบความเสี่ยงว่าในขณะนี้ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณแม่มีความสุ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานหรือไม่

ซึ่งสำหรับคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว แพทย์ก็จะมีการประเมินความเสี่ยงว่าเบาหวานที่เป็นอยู่จะทำให้การตั้งครรภ์ครั้งนี้ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน และยังให้คำแนะนำในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเมื่อตั้งครรภ์

ส่วนคุณแม่ที่ไม่มีประวัติการเป็นเบาหวานมาก่อน แพทย์จะมีการซักประวัติและเริ่มตรวจคัดกรองเบาหวานตั้งแต่ครั้งแรกที่มาฝากครรภ์ และจะมีการตรวจเลือดในทุก ๆ เดือน เพื่อดูว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติหรือไม่

โดยอาจจะใช้วิธีการตรวจหาน้ำตาลในปัสสาวะ หรือตรวจหาระดับน้ำตาลในกระแสเลือด โดยวิธี OGTT (Oral Glucose Tolerance Test) ก็ได้ และถ้าหากมีความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือดเกิดขึ้น แพทย์ก็จะให้คำแนะนำในการดูแลตนเองและการควบคุมอาหาร และจะทำการตรวจคัดกรองในครั้งต่อ ๆ ไปว่าความเสี่ยงลดลงไหม หรือมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไหม

รับมืออย่างไรเมื่อเป็นโควิดระหว่างตั้งครรภ์

หากคุณแม่พบว่าตนเองติดโควิด ให้คุณแม่รีบติดต่อกับโรงพยาบาลหรือคลินิกที่คุณแม่ทำการฝากครรภ์ทันทีค่ะ เพื่อที่แพทย์จะได้ทำการตรวจวินิจฉัยดูว่าอาการโควิดของคุณแม่นั้นเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ หรือจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติหรือเปล่า

เพราะคุณแม่หลายคนก็มีโรคประจำตัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้มากขึ้นหากมีการติดโควิด อย่างไรก็ตาม การติดโควิดในช่วงไตรมาสแรก มักจะไม่ส่งผลให้เกิดการแท้ง แต่ถ้าหากมีการติดโควิดในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 พบว่ามีโอกาสเสี่ยงสูงทีเดียวค่ะที่จะมีการแท้งเกิดขึ้น ส่วนการติดเชื้อจากแม่ไปสู่ลูกนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ก็น้อยมากค่ะ

อัตราการเต้นหัวใจและความดันโลหิตช่วงตั้งครรภ์

ระดับความดันโลหิตของคนทั่วไปนั้นจะอยู่ที่ 120/80 -139/89 มิลลิเมตรปรอท ถ้าหากมีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท คุณแม่กำลังอยู่ในภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแมทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้ เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ ภาวะชัก เป็นต้น

แต่ถ้าระดับความดันโลหิตของคุณแม่ต่ำกว่า 100/60 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งภาวะความดันโลหิตต่ำนี้ถือว่าอันตรายน้อยกว่าความดันโลหิตสูง และโดยมากมักส่งผลต่ออาการหน้ามืด เป็นลม วิงเวียนศีรษะ ส่วนในกรณีที่รุนแรงอาจก่อให้เกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด คลอดก่อนกำหนด หรือทารกในครรภ์เสียชีวิตได้ค่ะ

ส่วนอัตราการเต้นหัวใจของคนท้องนั้น ไม่มีตายตัวว่าเท่าไหร่มากไปหรือน้อยไป อย่างไรก็ตาม อัตราการเต้นหัวใจโดยปกติของคนทั่วไปจะอยู่ที่ 60 – 100 ครั้ง / นาที ถ้าหากน้อยกว่า 60 ครั้ง/นาที ถือว่าหัวใจเต้นช้า แต่ถ้าเร็วกว่า 100 ครั้ง/นาที ถือว่าเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นเร็ว

ซึ่งอาการหัวใจเต้นเร็วนั้น หากเกิดจากการออกกำลังกาย หรือการทำงานต่าง ๆ ก็ไม่ถือว่าผิดปกติเสียทีเดียว แต่ถ้าคุณแม่อยู่เฉย ๆ แล้วมีอาการหัวใจเต้นเร็ว อาจจะต้องรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นผลพวงมาจากโรคประจำตัวกำเริบ หรือมีความเครียดและความวิตกกังวลเกิดขึ้นค่ะ

1,000 วันแรกคืออะไร และสำคัญอย่างไร

การเริ่มต้นเสริมพัฒนาการของลูกน้อยให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงและสมวัยนั้น หลายคนอาจจะเข้าใจว่าให้เริ่มตอนที่ลูกเริ่มรู้ความ เริ่มอ่านออกและเขียนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วการเสริมพัฒนาการของลูกนั้นควรเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 วันแรกค่ะ ซึ่ง 1,000 วันแรก จะนับตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงวันเกิดครบ 2 ขวบของลูกน้อย ดังนี้

ช่วงเวลา 1,000 วันของลูกน้อย สามารถแยกออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่

          • ช่วงที่ 1: ตั้งครรภ์ (270 วัน)
          • ช่วงที่ 2: วัยแรกเกิด – 6 เดือน (180 วัน)
          • ช่วงที่ 3: วัย 6 เดือน – 2 ปี (550 วัน)

ตลอดระยะเวลา 1,000 วัน คุณแม่จะต้องใส่ใจกับการดูแลตนเองและลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งลืมตาออกมาดูโลก หมั่นฟูมฟักทั้งโภชนาการที่มีประโยชน์ ปลูกฝังอารมณ์ สภาพจิตใจ ความรัก ความอบอุ่น รวมทั้งการเสริมสร้างพัฒนาการด้วยการเล่น การพูดคุย เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ สมวัย และมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในทุก ๆ วัน โดยเฉพาะเรื่องของโภชนาการที่คุณแม่ควรจะเริ่มกินอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือเริ่มตั้งแต่วางแผนจะตั้งครรภ์ ไปจนกระทั่งตั้งครรภ์ คลอดลูก และให้นมบุตร

เมื่อคุณแม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ทารกในครรภ์ก็จะได้รับสารอาหารเหล่านั้นด้วย การปูพื้นฐานเรื่องโภชนาการนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่พัฒนาการด้านอื่น ๆ เพราะเมื่อทารกแข็งแรง มีสุขภาพดี ก็พร้อมสำหรับการเรียนรู้ที่ไม่สะดุดและต่อเนื่องไปตามวัย

ไขข้อข้องใจเมื่อท้อง 26 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


27 สัปดาห์ คลอดได้ไหม?

การคลอดที่เกิดขึ้นก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ จะถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนดค่ะ ซึ่งการคลอดก่อนกำหนดนั้น แม้จะสามารถคาดการณ์ความเสี่ยงได้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะระบุวันที่คาดว่าจะคลอดก่อนกำหนดได้อย่างชัดเจน

ดังนั้น สำหรับแม่ที่ตั้งครรภ์มาแล้ว 27 สัปดาห์ หรือท้องได้ 6 เดือนกว่า ๆ แล้ว และมีภาวะความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ โดยอาจจะมาจากโรคประจำตัว การติดเชื้อ อุบัติเหตุ หรือมีความเครียดสูง การคลอดในระยะนี้ถือว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้เหมือนกัน แม้จะไม่บ่อยนักก็ตาม

ท้อง 27 สัปดาห์ ปวดท้องน้อย ปกติหรือไม่?

อาการปวดท้องน้อยในระยะนี้ มักมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของมดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และอาจมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของเส้นเอ็นบริเวณท้อง ตลอดจนเริ่มมีการกดทับที่บริเวณอุ้งเชิงกราน จึงทำให้ปวดท้องน้อยได้บ่อย ๆ ค่ะ

อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดท้องน้อยติดต่อกันหลายวันแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีเลือดออก คุณแม่อาจจะต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม

ตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์ น้ำหนักลูกควรมีน้ำหนักเท่าไหร่?

น้ำหนักปกติของทารกอายุครรภ์ 27 สัปดาห์ จะอยู่ที่ประมาณ 900 กรัม หรืออาจมีน้ำหนักถึง 1 กิโลกรัมในสัปดาห์นี้ค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

การตั้งครรภ์/พัฒนาการเด็ก/เคล็ดลับคุณแม่/อาการท้องเสียขณะตั้งครรภ์
คนท้องกินทุเรียนได้ไหม
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner