ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 26 สัปดาห์ อายุครรภ์ 26 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 26 สัปดาห์ อายุครรภ์ 26 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 26 สัปดาห์ ทารกจะจะมีความยาวประมาณ 9-12 นิ้ว หนักประมาณ 900 – 910 กรัม มีขนาดยาวเท่ากับต้นหอม
  • อายุครรภ์ 26 สัปดาห์ ปอดของทารกเริ่มมีการขยับขึ้นและลงเพื่อเตรียมซ้อมสำหรับการหายใจทางปอดหลังคลอด
  • อายุครรภ์ 26 สัปดาห์ การพัฒนาของระบบดวงตาทารกนั้นยังคงพัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในสัปดาห์นี้ทารกในครรภ์เริ่มมีการกระพริบตาบ้างแล้ว

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 26 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 26
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 26 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 26 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อาการคนท้อง 26 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
     • 26 สัปดาห์ มีนัดตรวจอะไรไหม
     • ท้อง 26 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

แม่ท้อง 26 สัปดาห์ เริ่มมีอาการนอนไม่หลับถี่ขึ้นเนื่องจากขนาดครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้รู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว และปวดหลัง จนส่งผลต่อการนอนหลับ

แต่นอกจากอาการนอนไม่หลับแล้วแม่ตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์ยังต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงอะไรอีกบ้าง แล้วท้อง 26 สัปดาห์ ลูกอยู่ท่าไหนกันนะ

ท้อง 26 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


ในสัปดาห์นี้มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ดวงตาของลูกน้อยพัฒนามากขึ้นและเริ่มมีการกระพริบตาได้บ้างแล้ว ขณะเดียวกันก็ยังสามารถเคลื่อนไหวไปมาได้อย่างอิสระมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้คุณแม่รู้สึกถึงการดิ้นของทารกในครรภ์ได้อยู่บ่อย ๆ

อายุครรภ์ 26 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 26 สัปดาห์ เมื่อเทียบเป็นจำนวนเดือนแล้วจะเท่ากับอายุครรภ์ 6 เดือน 2 สัปดาห์ค่ะ

ท้อง 26 สัปดาห์ ลูกอยู่ท่าไหน

ทารกในครรภ์ 26 สัปดาห์ สามารถเปลี่ยนท่าทาง เปลี่ยนตำแหน่งได้ทั้งวัน ตอนเช้าอาจเอาหัวลง แต่ตอนบ่ายก็อาจกลับเอาหัวขึ้น เนื่องจากมดลูกยังมีรูปทรงกลมอยู่ ยังมีพื้นที่ภายในกว้างขวาง ทารกจึงสามารถดิ้นได้อย่างอิสระค่ะ

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 26 สัปดาห์ เป็นอย่างไร


ทารกน้อยในสัปดาห์นี้มีพัฒนาการของดวงตาที่ชัดเจนมากขึ้น และอยู่ระหว่างการสร้างระบบภูมิคุ้มกันเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับโลกภายนอกหลังคลอด

ขนาดทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 26 จะมีขนาดเท่าไหน

ทารกอายุครรภ์ 26 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 9-12 นิ้ว หรือมีขนาดยาวเท่ากับต้นหอมค่ะ

ท้อง 26 สัปดาห์ ลูกหนักเท่าไหร่

อายุครรภ์ 26 สัปดาห์ น้ำหนักทารกจะอยู่ที่ประมาณ 900 - 910 กรัมค่ะ

ท้อง 26 สัปดาห์ ลูกดิ้นมากน้อยแค่ไหน

เนื่องจากระบบและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกอายุครรภ์ 26 สัปดาห์นั้นพัฒนาการเกือบจะเต็มระบบ และเริ่มทำงานได้ทุกระบบแล้ว คุณแม่จึงรู้สึกได้ว่าทารกดิ้นบ่อยมากขึ้น แต่จะดิ้นมากหรือน้อยแค่ไหนในแต่ละวันนั้นตอบได้ยากค่ะ

เพราะทารกจะไม่ดิ้นเท่ากันทุกวัน และดิ้นมากดิ้นน้อยแตกต่างกันไป แต่ในระยะนี้ทารกอาจจะดิ้นได้มากกว่า 300 ครั้งต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ทารกในไตรมาสนี้ยังดิ้นไม่ค่อยเป็นเวลา อาจจะดิ้นพักหนึ่งแล้วก็หายไป แล้วก็กลับมาดิ้นอีก ซึ่งเดี๋ยวมาเดี๋ยวไป ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กัน ทำให้การนับลูกดิ้นในระยะนี้เป็นไปได้ยากค่ะ ต้องรอจนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ทารกจึงจะเริ่มดิ้นเป็นเวลา ถึงค่อยเริ่มนับลูกดิ้น

อวัยวะและระบบอื่น ๆ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 26 สัปดาห์ มีดังนี้

          • ปอดของทารกอายุครรภ์ 26 สัปดาห์ เริ่มขยับขึ้น-ลงคล้ายกับว่าทารกกำลังหายใจด้วยตัวเองแล้วแต่ความจริงแล้วเป็นการซ้อมทำหน้าที่ของปอดเท่านั้น แต่การฝึกนี้จะช่วยเตรียมพร้อมสำหรับการหายใจทางปอดในอนาคตต

          • ทารกมักจะชอบเหยียดขาทั้งสองข้างแก้เมื่อยเป็นพัก ๆ ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นด้านบน แสดงว่าหัวอยู่ล่าง ขาถีบบน แต่ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นด้านล่าง แสดงว่าหัวอยู่ข้างบน ขาถีบลงล่าง ถีบด้านซ้ายก็จะหันหน้าไปทางซ้าย ถีบด้านขวาก็จะหันหน้าไปทางขวา

          • ผมบนศีรษะของลูกจะเริ่มยาวและหนาขึ้น

          • ทารกเริ่มมีการสะสมไขมันไว้ใต้ผิวหนังมากขึ้น

          • ดวงตาของทารกเริ่มพัฒนาจนเกือบจะสมบูรณ์ ทารกในช่วงนี้สามารถที่จะกระพริบตาได้แล้ว

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่อายุครรภ์ 26 สัปดาห์


แม่ท้อง 26 สัปดาห์หลายคนอาจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่างในช่วงสัปดาห์นี้

          • เนื่องจากมดลูกขยายตัวกินเนื้อที่ภายในช่องท้อง ลำไส้ถูกเบียดให้มีพื้นที่น้อยลง และฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์มีผลต่อระบบย่อยอาหารทำให้ลำไส้ทำงานช้าลงคุณแม่จึงเกิดอาการจุกเสียดแน่นท้อง หรือท้องผูกได้ง่าย

          • คุณแม่อายุครรภ์ 26 สัปดาห์ อาจรู้สึกปวดตั้งแต่กลางหลังไล่ลงมา เพราะน้ำหนักท้องที่มากขึ้น ทำให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อข้อต่อต่าง ๆ ต้องคอยพยุงรับน้ำหนักที่มากขึ้นนี้อย่างต่อเนื่องทุกวันพยายามหาท่านั่งท่ายืนที่ช่วยให้ร่างกายสมดุล นั่งเก้าอี้ ให้ก้นชิดพนักและหลังตรง ยืนให้หลังตรง เพราะหากแอ่นหลังไปตามน้ำหนักท้องจะทำให้ปวดหลังมากขึ้น

          • คุณแม่ที่ยังต้องยืนมาก หรือนั่งนานๆ อาจมีอาการหน่วงๆที่เหนือหัวเหน่าได้ลองหาชุดชั้นในที่ตัดเย็บมาสำหรับคนท้องที่มีแผ่นรองช่วยพยุงบริเวณส่วนล่างของหน้าท้องจะช่วยบรรเทาอาการได้

          • ขนาดครรภ์ของคุณแม่ในช่วงนี้ยังคงขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และแอ่นออกมาข้างหน้ามากกว่าเดิม ซึ่งการที่หน้าท้องของคุณแม่ขยายมากเรื่อยๆ แบบนี้ก็ทำให้เกิดอาการปวดหลังตามมานั่นเอง

          • แม่ท้อง 26 สัปดาห์ มีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและหายไปเอง การนอนพัก หรือกินยาแก้ปวด สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

          • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่คุณแม่จะต้องคอยควบคุมดูแลไม่ให้เกิดตามที่แพทย์แนะนำนะคะ สำหรับอายุครรภ์ 26 สัปดาห์ ยังอยู่ในไตรมาสที่สอง คุณแม่ที่มีค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI ปกติควรจะต้องคอยดูแลน้ำหนักไม่ให้เกิน 5-6 กิโลกรัมค่ะ

อาหารคนท้อง 26 สัปดาห์ มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรกิน


สำหรับแม่ท้อง 26 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่

          • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่ยังสามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

Enfamama TAP No. 1

อาการคนท้อง 26 สัปดาห์ ที่พบบ่อยในช่วงนี้


อาการคนท้อง 26 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้

          • คุณแม่มีอาการท้องอืด กรดไหลย้อนบ่อยขึ้น เนื่องจากขนาดมดลูกใหญ่ขึ้นจนกดดันกระเพาะอาหาร ทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานไม่ปกติ

          • คุณแม่อายุครรภ์ 26 สัปดาห์จะมีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งมักมีสาเหตุมาจากมดลูกมีการหดรัดตัวตามปกติ ทำให้มีอาการปวดท้องเป็นพัก ๆ แต่ปวดไม่นานก็ดีขึ้น

          • คุณแม่เริ่มมีปัญหาปวดบริเวณหัวหน่าว ซึ่งมีสาเหตุมาจากการแข็งตัวของข้อต่อบริเวณหัวหน่าว

          • นอนไม่ค่อยหลับ เพราะรู้สึกไม่สบายตัว เนื่องจากคุณแม่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้อึดอัด

          • มีอาการท้องอืด กรดไหลย้อน เนื่องจากขนาดมดลูกใหญ่ขึ้นจนกดดันกระเพาะอาหาร ทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานไม่ปกติ

          • ในระยะนี้การไหลเวียนเลือดภายในร่างกายอาจไม่ปกติ ทำให้มีเลือดคั่งค้างตามอวัยวะส่วนล่าง ทำให้เกิดอาการบวมตามมา

ตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์ สัปดาห์นี้ มีนัดตรวจอะไรไหมนะ


โดยมากแล้วในช่วงไตรมาสที่สองนี้แพทย์จะนัดพบแค่เพียงเดือนละครั้ง ดังนั้น ในสัปดาห์ที่ 26 นี้ คุณแม่อาจจะไม่ได้มีนัดหมายต้องไปพบแพทย์ค่ะ

อย่างไรก็ตาม คุณแม่แต่ละคนมีกำหนดนัดตรวจอัลตราซาวนด์ที่แตกต่างกันค่ะ ตลอดจนพื้นฐานสุขภาพของแม่แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แม่บางคนอาจมีความเสี่ยงหรือมีภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งแพทย์อาจจะนัดหมายให้มาทำการตรวจครรภ์ในสัปดาห์นี้ หรือไม่มีนัดก็ได้ค่ะ

อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่มีนัดกับแพทย์ในสัปดาห์นี้ แพทย์จะตรวจดูจังหวะการเต้นของหัวใจว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะปกติแล้วหัวใจต้องเต้นสม่ำเสมอ ความเร็วประมาณ 140-160 ครั้งต่อนาที ถ้าทารกดิ้นดี ฟังเสียงหัวใจพบว่าปกติดี ก็แปลว่าลูกในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรงดีค่ะ

อายุครรภ์ 26 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่?


อายุครรภ์ 26 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่

และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ท้อง 26 สัปดาห์ ลูกดิ้นแรงมากแบบนี้ ปกติหรือเปล่า

การที่ลูกดิ้นบ่อย ดิ้นเก่งมาก ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีค่ะ การดิ้นของลูกคือสัญญาณที่บอกว่าลูกเจริญเติบโตแข็งแรงเป็นปกติ การที่ลูกดิ้นน้อย หรือไม่ดิ้นเลยต่างหากที่อาจเป็นสัญญาณอันตรายค่ะ

ท้อง 26 สัปดาห์ ลูกดิ้นน้อย น่ากังวลไหม

โดยมากแล้วคุณแม่ส่วนใหญ่สามารถรู้สึกถึงการดิ้นของลูกได้อย่างชัดเจนในสัปดาห์นี้ แต่ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อย ดิ้นเบา หรือไม่ค่อยดิ้น ก็ยังเร็วไปที่จะสรุปว่าผิดปกติค่ะ เพราะการที่ลูกดิ้นน้อย อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

          • ผนังหน้าท้องของคุณแม่อาจจะหนาจนสัมผัสการดิ้นของทารกได้ยาก

          • ช่วงที่ทารกดิ้นอาจทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มีการเคลื่อนไหว จึงทำให้ไม่รู้สึก

          • ตอนที่ทารกดิ้น คุณแม่นอนหลับ ตอนที่คุณแม่ตื่น ทารกหลับ ช่วงเวลาที่ลูกดิ้นจึงคลาดเคลื่อนไปจากการรับรู้ของคุณแม่

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ยังไม่ต้องกังวลมากจนเกินไปค่ะ หากคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อย ให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ หากอัลตราซาวนด์แล้วพบว่าทารกยังมีหัวใจเต้นตามปกติ และยังสามารถเคลื่อนไหวตามปกติ ก็ยังไม่มีอะไรต้องกังวล และอาจจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นมากขึ้นในสัปดาห์ถัดไปก็ได้ค่ะ

ท้อง 26 สัปดาห์ ลูกดิ้นต่ำ ปกติหรือเปล่า

ลูกดิ้นต่ำ อันนี้อาจจะต้องมาตีความหมายคำว่า “ต่ำ” กันก่อนค่ะ ถ้าหากดิ้นต่ำ หมายถึงดิ้นน้อยลง อันนี้คุณแม่ต้องนับลูกดิ้นค่ะ ถ้าลูกดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้ง ภายใน 12 ชั่วโมง หรือลูกดิ้นน้อยกว่า 4-5 ครั้งในครึ่งวันเช้า ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้ค่ะ

แต่...ถ้าหากดิ้นต่ำ หมายถึง การสัมผัสได้ว่าการดิ้นของลูกนั้นอยู่ต่ำกว่าสะดือหรือต่ำกว่าท้องน้อย อันนี้ก็ไม่ถือว่าอันตรายค่ะ เพราะอย่างที่บอกว่าทารกมีการเปลี่ยนแปลงท่าทางอยู่ตลอด เดี๋ยวเอาหัวลง เดี๋ยวเอาก้นลง

ดังนั้น บางครั้ง ลูกอาจเอาก้นหรือขาลง แล้วมีการดิ้น การเตะเกิดขึ้นตอนนั้นพอดี คุณแม่จึงสัมผัสการดิ้นของลูกอยู่ต่ำกว่าสะดือหรือท้องน้อยค่ะ

ท้อง 26 สัปดาห์ ท้องแข็งบ่อย อันตรายหรือเปล่า

โดยทั่วไปแล้วอาการท้องแข็งนี้มักจะพบได้ในไตรมาสสามหรือช่วงก่อนใกล้คลอด แต่...ก็พบว่ามีคุณแม่หลายคนมีอาการท้องแข็งตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสสอง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก

          • ทารกดิ้นแรง
          • คุณแม่ทำงานหนัก หรือออกแรงมาก
          • คุณแม่อยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น เดินนาน ๆ หรือยืนนาน ๆ
          • มดลูกมีการหดรัดตัวตามปกติในระหว่างตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม หากอาการท้องแข็งในช่วงปลายไตรมาสสองนั้นมักจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและหายไปเอง การนอนพัก หรือกินยาแก้ปวด สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้

แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 26 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

รวมถึงควรเริ่มลดกิจกรรมและการงานต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงด้วยค่ะ การก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยมากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์และทารกในครรภ์ได้

การตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ช่วงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์เป็นต้นไป แพทย์อาจนัดให้คุณแม่ทำการตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพราะโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หากไม่ได้รับการควบคุมเป็นอย่างดี จะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น

          • เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
          • ทารกมีขนาดตัวใหญ่ หรือมีน้ำหนักแรกเกิดเกินมาตรฐาน
          • ทารกมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำทันทีหลังคลอด
          • ทารกมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ
          • เสี่ยงต่อการแท้ง
          • เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ
          • ทารกคลอดออกมาพร้อมกับความเสี่ยงของโรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2

ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพื่อให้ได้ทราบความเสี่ยงว่าในขณะนี้ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณแม่มีความสุ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานหรือไม่

ซึ่งสำหรับคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว แพทย์ก็จะมีการประเมินความเสี่ยงว่าเบาหวานที่เป็นอยู่จะทำให้การตั้งครรภ์ครั้งนี้ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน และยังให้คำแนะนำในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเมื่อตั้งครรภ์

ส่วนคุณแม่ที่ไม่มีประวัติการเป็นเบาหวานมาก่อน แพทย์จะมีการซักประวัติและเริ่มตรวจคัดกรองเบาหวานตั้งแต่ครั้งแรกที่มาฝากครรภ์ และจะมีการตรวจเลือดในทุก ๆ เดือน เพื่อดูว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติหรือไม่

โดยอาจจะใช้วิธีการตรวจหาน้ำตาลในปัสสาวะ หรือตรวจหาระดับน้ำตาลในกระแสเลือด โดยวิธี OGTT (Oral Glucose Tolerance Test) ก็ได้ และถ้าหากมีความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือดเกิดขึ้น แพทย์ก็จะให้คำแนะนำในการดูแลตนเองและการควบคุมอาหาร และจะทำการตรวจคัดกรองในครั้งต่อ ๆ ไปว่าความเสี่ยงลดลงไหม หรือมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไหม

รู้ทันภาวะครรภ์เป็นพิษ

ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ถือเป็นความผิดปกติที่อันตรายอย่างยิ่งสำหรับการตั้งครรภ์ค่ะ และส่วนใหญ่แล้วคุณแม่ก็มักจะมีภาวะครรภ์เป็นพิษตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์เป็นต้นไป

ภาวะครรภ์เป็นพิษ จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิตสูง ไตเสียหาย โปรตีนในปัสสาวะสูง และอาจมีความเสียหายต่ออวัยวะอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยภาวะครรภ์เป็นพิษ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น

          • ตั้งครรภ์ครั้งแรก
          • ตั้งครรภ์ตอนอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือตั้งครรภ์ตอนมากกว่า 35 ปี
          • คุณแม่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานที่ควรจะเป็น
          • คุณแม่ตั้งครรภ์ลูกแฝด หรือตั้งครรภ์ทารกมากกว่า 2 คน
          • คุณแม่มีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
          • สมาชิกในครอบครัวมีประวัติภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
          • ตั้งครรภ์โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
          • คุณแม่มีภาวะเลือดแข็งตัวง่ายอยู่แล้ว
          • คุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไต เบาหวาน โรคแพ้ภูมิตนเอง (SLE) ข้ออักเสบรูมาตอยด์

โดยสัญญาณและอาการที่อาจบ่งบอกว่าคุณแม่เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ คือ

          • ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ หรือมีภาวะความดันโลหิตสูงมาก่อนหน้านี้แล้ว
          • มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต หรือตรวจพบโปรตีนปริมาณมากในปัสสาวะ
          • ระดับเกล็ดเลือดลดลง
          • ค่าเอนไซม์ในตับสูง
          • มีอาการปวดศีรษะรุนแรง
          • มีอาการตาพร่ามัว หรือตาไวต่อแสง
          • มีอาการบวมน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการบวมที่ใบหน้าและมือ
          • หายใจถี่ ๆ
          • ปวดท้องช่วงบน หรือบริเวณใต้ซี่โครงด้านขวา
          • คลื่นไส้หรืออาเจียน
          • น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภาวะครรภ์เป็นพิษนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยอาจจะต้องได้รับยาลดความดันโลหิต หรือการรักษาตามอาการ หรือในกรณีที่ฉุกเฉินมากจริง ๆ อาจจำเป็นจะต้องมีการทำคลอดด่วนทันที หรือร้ายแรงที่สุดแพทย์อาจวินิจฉัยให้ยุติการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันอันตรายต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์

รับมือกับอาการท้องผูกระหว่างตั้งครรภ์

ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงส่งผลทำให้เนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหารคลายตัว ทำให้ย่อยอาหารได้ไม่ดี อีกทั้งขนาดของมดลูกที่นับวันจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ยังไปกดทับลำไส้ หรือดันกระเพาะอาหาร ทำให้การย่อยอาหารยิ่งทำได้ยากกว่าเดิม จึงส่งผลให้คุณแม่หลายคนมีอาการท้องผูกบ่อย ๆ

และในกรณีที่แย่มาก ๆ อาจเริ่มมีสัญญาณของริดสีดวงทวาร สำหรับคุณแม่ที่มีอาการท้องผูกรบกวนบ่อย ๆ อาจสามารถรับมือได้ด้วยวิธีเหล่านี้ค่ะ

          • พยายามกินอาหารที่มีกากใยมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดกากและน้ำหนักในอุจจาระมากขึ้น ช่วยให้การขับถ่ายง่ายขึ้น

          • ดื่มน้ำในเพียงพอ เพื่อให้มีน้ำไปหล่อเลี้ยงลำไส้และช่วยลำเลียงกากอาหารได้ดีขึ้น

          • การออกกำลังหาย การเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ จะช่วยกระตุ้นให้ลำไส้ทำงานได้ดี

          • พยายามขับถ่ายให้เป็นเวลา เพื่อสร้างสุขลักษณะนิสัยในการขับถ่ายที่ดี

          • ห้ามอั้นอุจจาระ หากรู้สึกปวดท้องและต้องการขับถ่าย ให้ไปขับถ่ายทันที เพราะถ้าหากอั้นอุจจาระบ่อย ๆ จะก่อให้เกิดริดสีดวงทวารได้

แต่ถ้าหากลองปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแล้วแต่อาการท้องผูกยังไม่ดีขึ้นเลย ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม โดยแพทย์อาจสั่งจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการท้องผูกที่ปลอดภัยสำหรับแม่ตั้งครรภ์ให้ค่ะ

1,000 วันแรกคืออะไร และสำคัญอย่างไร

การเริ่มต้นเสริมพัฒนาการของลูกน้อยให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงและสมวัยนั้น หลายคนอาจจะเข้าใจว่าให้เริ่มตอนที่ลูกเริ่มรู้ความ เริ่มอ่านออกและเขียนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วการเสริมพัฒนาการของลูกนั้นควรเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 วันแรกค่ะ ซึ่ง 1,000 วันแรก จะนับตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงวันเกิดครบ 2 ขวบของลูกน้อย ดังนี้

ช่วงเวลา 1,000 วันของลูกน้อย สามารถแยกออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่

          • ช่วงที่ 1: ตั้งครรภ์ (270 วัน)
          • ช่วงที่ 2: วัยแรกเกิด – 6 เดือน (180 วัน)
          • ช่วงที่ 3: วัย 6 เดือน – 2 ปี (550 วัน)

ตลอดระยะเวลา 1,000 วัน คุณแม่จะต้องใส่ใจกับการดูแลตนเองและลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งลืมตาออกมาดูโลก หมั่นฟูมฟักทั้งโภชนาการที่มีประโยชน์ ปลูกฝังอารมณ์ สภาพจิตใจ ความรัก ความอบอุ่น รวมทั้งการเสริมสร้างพัฒนาการด้วยการเล่น การพูดคุย เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ สมวัย และมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในทุก ๆ วัน โดยเฉพาะเรื่องของโภชนาการที่คุณแม่ควรจะเริ่มกินอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือเริ่มตั้งแต่วางแผนจะตั้งครรภ์ ไปจนกระทั่งตั้งครรภ์ คลอดลูก และให้นมบุตร

เมื่อคุณแม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ทารกในครรภ์ก็จะได้รับสารอาหารเหล่านั้นด้วย การปูพื้นฐานเรื่องโภชนาการนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่พัฒนาการด้านอื่น ๆ เพราะเมื่อทารกแข็งแรง มีสุขภาพดี ก็พร้อมสำหรับการเรียนรู้ที่ไม่สะดุดและต่อเนื่องไปตามวัย

ไขข้อข้องใจเมื่อท้อง 26 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


ตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์ ท้องแข็ง เกิดจากอะไร?

อาการท้องแข็งในช่วงอายุครรภ์ 26 สัปดาห์ อาจมีสาเหตุมาจาก

          • ทารกดิ้นแรง
          • คุณแม่ทำงานหนัก หรือออกแรงมาก
          • คุณแม่อยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น เดินนาน ๆ หรือยืนนาน ๆ
          • มดลูกมีการหดรัดตัวตามปกติในระหว่างตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม หากอาการท้องแข็งในช่วงปลายไตรมาสสองนั้นมักจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและหายไปเอง การนอนพัก หรือกินยาแก้ปวด สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้

แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

ท้อง 26 สัปดาห์ แน่นท้อง เพราะอะไร?

อาการแน่นท้องในอายุครรภ์ 26 สัปดาห์เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุค่ะ ทั้งการกินอาหารมากเกินไป ขนาดครรภ์ที่ใหญ่เกินไป น้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัดและแน่นท้องได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมื้ออาหารคุณแม่อาจจะรู้สึกแน่นท้องมากกว่าปกติ

นอกจากนี้ฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ก็มีผลต่อระบบย่อยอาหาร ทำให้ลำไส้ทำงานช้าลง คุณแม่จึงเกิดอาการจุกเสียด แน่นท้อง หรือท้องผูกได้ง่ายค่ะ

ท้อง 26 สัปดาห์ ปวดหัวหน่าว ปกติไหม?

แม่ตั้งครรภ์มักจะมีอาการปวดอุ้งเชิงกราน หรือปวดบริเวณหัวหน่าว ซึ่งมีสาเหตุมาจากการแข็งตัวของข้อต่อบริเวณหัวหน่าว ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่พบได้ทั่วไปในคนท้องค่ะ แต่ถ้าอาการปวดเริ่มรุนแรงจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม

รับมือกับอาการเท้าบวมอย่างไร?

คุณแม่ที่มีอาการบวมต่าง ๆ เช่น บวมที่มือ ข้อมือ เท้า หรือข้อเท้า อาจสามารถรับมือด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

          • เวลานอนให้นอนตะแคง และควรยกปลายเท้าให้สูงขึ้น โดยอาจจะใช้หมอนรองที่บริเวณข้อเท้าก็ได้ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

          • คุณแม่ควรเปลี่ยนอริยาบถบ่อย ๆ เพราะการอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ จะทำให้เกิดแรงกดทับ และทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี

          • หลีกเลี่ยงการสวมแหวน กำไล หรือนาฬิกาที่รัดแน่นจนเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้อาการบวมที่มือ หรือบวมที่นิ้วแย่ลง

          • ไม่สวมถุงเท้าและรองเท้าที่รัดแน่น เพราะจะยิ่งทำให้อาการบวมแย่ลง

          • พยายามลดอาหารที่มีโซเดียมสูง เพราะการบริโภคโซเดียมเข้าไปมาก ๆ จะทำให้มีอาการตัวบวมง่าย

อย่างไรก็ตาม หากอาการบวมของคุณแม่ไม่ดีขึ้นเลย หรือเริ่มบวมจนกระทั่งกดลงไปที่เนื้อแล้วเนื้อบุ๋ม และใช้เวลาคืนทรงช้า ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษได้ค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

can-you-dye-your-hair-while-pregnant
can-you-get-your-nails-done-while-pregnant
hair-straightening-during-pregnancy
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner