ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 28 สัปดาห์ อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 28 สัปดาห์ อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 16 นิ้ว หนักประมาณ 1 กิโลกรัม มีขนาดพอ ๆ กับแตงกวายาว หรือมะเขือยาว
  • อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ สมองของทารกจะโตขึ้นจนเต็มเนื้อที่ภายในกะโหลกศีรษะและมีรอยหยักบนพื้นผิวสมองมากขึ้น
  • อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ทารกจะเริ่มดิ้นเป็นเวลามากขึ้น จะไม่ดิ้นสะเปะสะปะแบบเมื่อก่อนแล้ว คุณแม่จึงสามารถนับลูกดิ้นได้ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 28 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 28
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 28 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อาการคนท้อง 28 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
     • 28 สัปดาห์ มีนัดตรวจอะไรไหม
     • ท้อง 28 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

แม่ท้อง 28 สัปดาห์ ขณะนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ครบ 7 เดือนแล้วค่ะ และเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์อย่างเป็นทางการ เรามาดูกันว่าในช่วงต้นของไตรมาสสามนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ กับคุณแม่ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์บ้าง แล้วทารกอายุครรภ์ 28 สัปดาห์มีพัฒนาการอะไรบ้างนะ

ท้อง 28 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ระบบประสาทและสมองของทารกนั้นมีพัฒนาการมากขึ้น อวัยวะต่าง ๆ ก็ใกล้จะสมบูรณ์มากขึ้นจนเกือบหมดแล้ว ทารกในระยะนี้ถือว่าเริ่มใกล้เคียงกับทารกแรกเกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วค่ะ

ท้อง 28 สัปดาห์ ลูกอยู่ท่าไหน

ทารกในครรภ์ 28 สัปดาห์ จะไม่มีท่าทางที่แน่นอนค่ะ เพราะสามารถเปลี่ยนท่าทาง เปลี่ยนตำแหน่งได้ทั้งวัน เช่น ตอนเช้าลูกอาจจะเอาหัวลง แต่ตอนบ่ายกลับเอาหัวขึ้น ทั้งนี้เพราะว่าขนาดของมดลูกนั้นยังมีพื้นที่มากพอให้ทารกเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระค่ะ

อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ในวันสุดท้ายของสัปดาห์นี้ จะเท่ากับคุณแม่มีอายุครรภ์ครบ 7 เดือนเต็มแล้วค่ะ

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 28 สัปดาห์ เป็นอย่างไร


ทารกอายุครรภ์ 28 สัปดาห์นี้ ถือว่าอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 3 แล้ว ดังนั้น ระบบร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ ของลูกน้อยจึงเริ่มที่จะใกล้เคียงกับทารกแรกเกิดมากขึ้น และพร้อมที่จะออกมาลืมตาดูโลกในอีกไม่นานนับจากนี้

ขนาดทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 28 จะมีขนาดเท่าไหน

ทารกอายุครรภ์ 27 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 16 นิ้ว มีขนาดพอ ๆ กับแตงกวายาว หรือมะเขือยาวค่ะ

ท้อง 28 สัปดาห์ ลูกหนักเท่าไหร่

อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ น้ำหนักทารก จะอยู่ที่ประมาณ 1 กิโลกรัมค่ะ

ท้อง 28 สัปดาห์ ลูกดิ้นมากแค่ไหนกัน

จากที่ช่วงไตรมาสสองทารกจะมีการดิ้นที่ไม่ค่อยคงที่ แต่ละวันจะดิ้นมากดิ้นน้อยไม่เท่ากัน แต่เมื่อลูกมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 28 สัปดาห์ขึ้นไป จะเริ่มมีการดิ้นที่คงที่แล้วค่ะ ซึ่งตั้งแต่สัปดาห์นี้คุณแม่จะต้องเริ่มนับลูกดิ้นและจดบันทึกเอาไว้ทุกครั้ง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบว่าทารกยังแข็งแรงดีอยู่หรือไม่

แต่ถ้าถามว่าลูกจะดิ้นบ่อยแค่ไหน อันนี้ตอบได้ยากค่ะ เพราะทารกแต่ละคนจะดิ้นมากดิ้นน้อยไม่เท่ากัน และทารกในระยะนี้สามารถดิ้นได้มากกว่า 300-400 ครั้งต่อวันค่ะ

อวัยวะและระบบอื่น ๆ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ มีดังนี้

          • ระบบประสาทจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว สมองของทารกจะโตขึ้นจนเต็มเนื้อที่ภายในกะโหลกศีรษะและมีรอยหยักบนพื้นผิวสมองมากขึ้น เพื่อเพิ่มเนื้อที่ในการเก็บข้อมูลมากขึ้น

          • เซลล์สมองและวงจรของระบบประสาทของทารกจะถักทอประสานกันอย่างสมบูรณ์

          • ระบบประสาทเกี่ยวกับการมองเห็นเริ่มทำงานในสัปดาห์นี้ ทำให้ทารกเริ่มมองเห็นแสงได้

          • ทารกจะเริ่มนอนนานขึ้น โดยอาจจะนอนครั้งละ 20-30 นาที

          • ทารกสื่อความต้องการและความรู้สึกต่าง ๆ ให้แม่รับรู้มากขึ้นด้วยการดิ้นและเตะท้อง

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์


แม่ท้อง 28 สัปดาห์หลายคนอาจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่างในช่วงสัปดาห์นี้ ดังนี้

          • คุณแม่อาจรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวตัวทำได้ยาก โดยเฉพาะช่วงขาที่ดูเหมือนจะเดินไปไหนมาไหนยากขึ้นแม้แต่ตอนนอน นี่คืออาการ Restless Legs Syndrome (RLS) ให้พยายามเหยียดขา หรือนวดบ่อยๆ ทานธาตุเหล็กให้มากขึ้นรวมทั้งปรึกษาคุณหมอถึงอาการที่เกิดขึ้นเพื่อจะได้แก้ไขต่อไป

          • ขนาดท้องอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ จะมีขนาดโตมากขึ้นและทำให้มดลูกดันเบียดปอดให้มีปริมาตรเล็กลง คุณแม่จึงหายใจเร็วขึ้นถี่ขึ้นกว่าปกติ คุณแม่จะรู้สึกอุ้ยอ้ายเคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว อึดอัดนอนหลับไม่ได้เต็มที่

          • อาการท้องแข็งก็ยังเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่คุณแม่สามารถพบได้ในระยะนี้เช่นกัน ซึ่งอาการท้องแข็งนั้นจะทำให้คุณแม่รู้สึกปวดท้องเป็นครั้งคราวและหายไปเอง การนอนพัก หรือกินยาแก้ปวด สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

          • คุณแม่หลายคนที่ตั้งครรภ์มาได้ 28 สัปดาห์ จะต้องเผชิญกับปัญหาริดสีดวงทวารในช่วงนี้เพราะน้ำหนักของมดลูกทำให้มีเลือดคั่งมากขึ้น ดังนั้น ควรระวังไม่ให้ท้องผูกโดยดื่มน้ำสะอาดมากๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้วรับประทานผัก ผลไม้อาหารที่มีกากใยให้มากขึ้น

          • อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ถือว่าคุณแม่เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์แล้ว ทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นและหนักมากถึง 1 กิโลกรัม จึงทำให้คุณแม่มีน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น แต่...คุณแม่ที่มีค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI ปกติ ยังจำเป็นที่จะต้องดูแลน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นมาไม่เกิน 3.5-4.5 กิโลกรัม หรือไม่ควรเกิน 5 กิโลกรัมในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ค่ะ

อาหารคนท้อง 28 สัปดาห์ มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรกิน


สำหรับแม่ท้อง 28 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่

          • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

ในช่วงไตรมาสสามนี้ คุณแม่หลายคนอาจจะเริ่มกินอาหารได้น้อยลง เพราะขนาดทารกและขนานมดลูกที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คุณแม่เริ่มอึดอัดท้องจนกินอะไรไม่ค่อยลง กินนิด ๆ หน่อย ๆ ก็รู้สึกอิ่ม ซึ่งถ้าหากคุณแม่กินน้อยลง อาจจะเสี่ยงทำให้ขาดสารอาหารจำเป็นได้ค่ะ

ดังนั้น หากคุณแม่กำลังพบกับปัญหานี้อยู่ ก็อย่าเพิ่งกังวลไปค่ะ เพราะคุณแม่ยังสามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น

ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลงก็ตาม

Enfamama TAP No. 1

อาการคนท้อง 28 สัปดาห์ ที่คุณแม่พบบ่อยในช่วงนี้


อาการคนท้อง 28 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้

          • คุณแม่บางคนอาจเริ่มมีน้ำนมไหลออกมาในระยะนี้ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าร่างกายของคุณแม่พร้อมสำหรับการคลอดที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้าแล้ว

          • ขนาดครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นนอกจากจะทำให้คุณแม่รู้สึกอุ้ยอ้ายแล้ว ก็ยังทำให้ปวดเมื่อยได้ง่ายขึ้นด้วย เพราะต้องแบกรับน้ำหนักของทารกในครรภ์ที่โตขึ้นเรื่อย ๆ ทุกสัปดาห์ ทำให้ปวดเมื่อยได้ง่ายเวลาที่ลุกขึ้นยืน เดิน นั่ง หรือนอน

          • หากคุณแม่ไม่ได้มีการควบคุมอาหารให้เหมาะสม ในะระยะนี้อาจมีคุณแม่หลายคนที่เริ่มตรวจพบเบาหวานขณะตั้งครรภ์

          • เมื่อเข้าสู่ไตรมาสสามแล้ว คุณแม่หลายคนแทบจะเป็นเพื่อนรักกับอาการท้องผูกเลยค่ะ เนื่องจากขนาดของทารกและมดลูกที่ใหญ่ขึ้นทุกวัน ๆ จนเริ่มไปเบียดบังการทำงานของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ทำให้การย่อยอาหารทำได้ยากขึ้น จึงท้องผูกได้ง่าย และหลายคนเริ่มเสี่ยงต่อริดสีดวงทวาร

ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ สัปดาห์นี้มีนัดตรวจอะไรบ้างไหม


เมื่ออายุครรภ์เข้าไตรมาสสาม แพทย์จะเริ่มนัดพบคุณแม่ถี่ขึ้น โดยอาจจะนัดพบเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อทำการซักประวัติและติดตามดูว่าการตั้งครรภ์ยังเป็นปกติอยู่ไหม คุณแม่มีความเสี่ยงใด ๆ เกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า และเริ่มแนะนำให้คุณแม่นับลูกดิ้น

ซึ่งโดยมากแล้วถ้าหากไม่มีอะไรที่น่าเป็นกังวล ในสัปดาห์นี้แพทย์ก็จะไม่ได้มีการอัลตราซาวนด์ ยกเว้นว่าคุณแม่เริ่มมีอาการที่น่าเป็นห่วง แพทย์อาจจะต้องทำการอัลตราซาวนด์เพื่อดูว่าทารกในครรภ์ยังปกติดีไหม

อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่?


อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่

และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ท้อง 28 สัปดาห์ ท้องแข็ง อันตรายไหม

อาการท้องแข็งที่เกิดในไตรมาสสอง ส่วนใหญ่แล้วไม่อันตรายค่ะ และโดยมากก็จะมีสาเหตุมาจาก

          • ทารกดิ้นแรง
          • คุณแม่ทำงานหนัก หรือออกแรงมาก
          • คุณแม่อยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น เดินนาน ๆ หรือยืนนาน ๆ
          • มดลูกมีการหดรัดตัวตามปกติในระหว่างตั้งครรภ์

ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้คุณแม่มีอาการปวดท้องเป็นครั้งคราว แต่จะไม่ปวดนาน อาจจะปวดประมาณ 10-20 นาที แล้วก็จะหายไปเอง การเปลี่ยนท่านั่ง ท่านอน หรือลุกขึ้นเดิน หรือกินยาแก้ปวดก็ช่วยให้อาการปวดท้องดีขึ้นได้ กรณีแบบนี้ไม่อันตรายค่ะ

แต่ถ้าหากอาการปวดท้องของคุณแม่นั้นเริ่มปวดถี่ขึ้น ปวดหลายครั้งต่อวัน และอาการปวดนั้นค่อย ๆ รุนแรงขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง แม้ว่าจะลองเปลี่ยนท่าทาง หรือกินยาแก้ปวดก็ยังไม่ดีขึ้น พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

ท้อง 28 สัปดาห์ ท้องเล็ก ปกติไหม

เรื่องขนาดหน้าท้องนี่ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลค่ะ เพราะสิ่งสำคัญที่จะต้องทราบไว้อันดับแรกเลยก็คือ แม่แต่ละคนไม่เหมือนกันค่ะ ถ้าจับคนท้อง 28 สัปดาห์มายืนเรียงกัน ก็จะมีคุณแม่ที่ตัวใหญ่ คุณแม่ตัวเล็ก คุณแม่ที่ผอม คุณแม่ที่อ้วนมาแต่เดิม รวมถึงคุณแม่ที่ออกกำลังกายและดูแลรูปร่างมาเป็นอย่างดี

ความแตกต่างทางด้านกายภาพในเรื่องของสรีระ มีผลกับขนาดหน้าท้องของแม่ค่ะ แม่ที่ตัวเล็ก ก็จะมีขนาดท้องเล็กไปตามสรีระของตนเอง นอกจากเรื่องของสรีระแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ผลกับขนาดท้องอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น

          • จำนวนครั้งที่ตั้งท้อง แม่ท้องครั้งแรกท้องมักจะไม่ใหญ่ เมื่อเทียบกับแม่ที่ท้องมาแล้ว 2-3 ครั้ง เนื่องจากผนังหน้าท้องยังแข็งแรงอยู่

          • ท้องตอนอายุน้อย หรือท้องสาวมักจะไม่ใหญ่เท่ากับคนที่ท้องตอนอายุมาก

          • คุณแม่มีผนังหนาท้องหนาจากการออกกำลังกาย

          • จำนวนทารกในครรภ์ก็มีผล แม่ที่ท้องใหญ่ อาจเพราะกำลังตั้งครรภ์แฝด

ดังนั้น คุณแม่จึงไม่ต้องกังวลค่ะว่าขนาดท้องเล็กจะส่งผลเสียกับทารกในครรภ์ ตราบที่ผลการตรวจครรภ์และผลอัลตราซาวนด์ออกมาว่าทารกแข็งแรงดี มีพัฒนาการที่สมวัย ขนาดท้องเล็กใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องวิตกแต่อย่างใด

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

รวมถึงควรเริ่มลดกิจกรรมและการงานต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงด้วยค่ะ การก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยมากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์และทารกในครรภ์ได้

และคุณแม่ควรจะไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามการตั้งครรภ์ว่าทารกในครรภ์ยังปกติไหม มีพัฒนาการตามวัยหรือเปล่า หรือมีภาวะความเสี่ยงในขณะตั้งครรภ์หรือไม่

การตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ช่วงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์เป็นต้นไป แพทย์อาจนัดให้คุณแม่ทำการตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพราะโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หากไม่ได้รับการควบคุมเป็นอย่างดี จะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น

          • เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
          • ทารกมีขนาดตัวใหญ่ หรือมีน้ำหนักแรกเกิดเกินมาตรฐาน
          • ทารกมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำทันทีหลังคลอด
          • ทารกมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ
          • เสี่ยงต่อการแท้ง
          • เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ
          • ทารกคลอดออกมาพร้อมกับความเสี่ยงของโรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2

ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพื่อให้ได้ทราบความเสี่ยงว่าในขณะนี้ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณแม่มีความสุ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานหรือไม่

ซึ่งสำหรับคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว แพทย์ก็จะมีการประเมินความเสี่ยงว่าเบาหวานที่เป็นอยู่จะทำให้การตั้งครรภ์ครั้งนี้ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน และยังให้คำแนะนำในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเมื่อตั้งครรภ์

ส่วนคุณแม่ที่ไม่มีประวัติการเป็นเบาหวานมาก่อน แพทย์จะมีการซักประวัติและเริ่มตรวจคัดกรองเบาหวานตั้งแต่ครั้งแรกที่มาฝากครรภ์ และจะมีการตรวจเลือดในทุก ๆ เดือน เพื่อดูว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดเป็นปกติหรือไม่

โดยอาจจะใช้วิธีการตรวจหาน้ำตาลในปัสสาวะ หรือตรวจหาระดับน้ำตาลในกระแสเลือด โดยวิธี OGTT (Oral Glucose Tolerance Test) ก็ได้ และถ้าหากมีความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือดเกิดขึ้น แพทย์ก็จะให้คำแนะนำในการดูแลตนเองและการควบคุมอาหาร และจะทำการตรวจคัดกรองในครั้งต่อ ๆ ไปว่าความเสี่ยงลดลงไหม หรือมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไหม

หัวนมและเต้านมระหว่างตั้งครรภ์

เต้านมของคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสสามจะมีขนาดใหญ่ขึ้นมากค่ะ เพราะเซลล์ภายในเต้านมได้มีการสร้างน้ำนมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการให้นมบุตรหลังคลอดแล้วค่ะ ลานนมขยายใหญ่ขึ้น หัวนมก็มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วยเหมือนกัน และหัวนมก็เปลี่ยนเป็นสีคล้ำหรือดำขึ้นจากปกติด้วย

มากไปกว่านั้น ในระยะนี้คุณแม่หลายคนที่สัมผัสหัวนมจะรู้สึกว่าหัวนมเปียก หรือมีของเหลวไหลออกมาจากหัวนม ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องผิดปกตินะคะ คุณแม่หลายคนเริ่มมีน้ำนมไหลออกมาแล้วในช่วงนี้ค่ะ

ซึ่งบางคนอาจจะมีน้ำนมหลั่งออกมามากน้อยต่างกัน แต่ถ้ามีน้ำนมไหลไหลออกมาจนเริ่มรำคาญหรือทำให้รู้สึกชื้นแฉะที่หัวนมบ่อย ๆ คุณแม่สามารถใช้แผ่นซับน้ำนมแปะที่หัวนมได้ค่ะ

ฝึกนับลูกดิ้น นับอย่างไร นับบ่อยแค่ไหน

เมื่อทารกอายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ ทารกจะเริ่มดิ้นเป็นเวลามากขึ้น จะไม่ดิ้นสะเปะสะปะแบบเมื่อก่อนแล้ว คุณแม่จึงสามารถนับลูกดิ้นได้ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไปค่ะ

คุณแม่ควรนับลูกดิ้น 2 ครั้งต่อวัน โดยครั้งแรกของวันให้เริ่มนับในตอนเช้า แต่ควรนับในตอนที่คุณแม่ไม่ได้ทำงานบ้านหรือกิจกรรมใด ๆ นะคะ เพราะถ้านับไป ทำอย่างอื่นไป จะทำให้การนับคลาดเคลื่อนได้ และนับครั้งที่สองในตอนเย็น ๆ หรือจะนับในตอนหัวค่ำก็ได้ค่ะ โดยการนับลูกดิ้น ให้นับดังนี้

          • ในแต่ละครั้งที่นับ ให้ทำการจับเวลาและนับดูว่าลูกดิ้นครบ 10 ครั้งเมื่อไหร่ เช่น เริ่มจับเวลาตอน 8 โมง และนับลูกดิ้นครั้งที่ 10 ได้ตอน 11 โมง ก็ให้บันทึกลงไปค่ะ

          • แต่ทารกในครรภ์จะดิ้นมากหรือน้อยแตกต่างกันไป เด็กบางคนพลังเยอะมาก อาจจะดิ้นครบ 10 ครั้งตั้งแต่ 10 นาทีแรก อันนี้คุณแม่ไม่ต้องกังวลค่ะ ลูกดิ้นมากแปลว่าลูกมีสุขภาพแข็งแรงดี

          • แต่ถ้าจับเวลา 1 ชั่วโมงแล้วลูกยังดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง ก็ยังไม่ต้องตกใจนะคะ ให้คุณแม่หาอะไรกินรองท้องก่อน แล้วไปนอนพักสักครู่ จากนั้นค่อยเริ่มนับอีกครั้ง ถ้าภายใน 1 ชั่วโมง ลูกดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง ก็อย่าเพิ่งหยุดนับค่ะ ให้นับต่อไปและจดบันทึกเอาไว้ว่าลูกน้อยดิ้นครบ 10 ครั้งในเวลากี่ชั่วโมง

          • ส่วนในกรณีที่หมดวันแล้ว หรือครบทั้ง 12 ชั่วโมงแล้ว ลูกดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

          • และถ้าหากในช่วงครึ่งวันเช้า คุณแม่นับลูกดิ้นแล้วพบว่าลูกดิ้นน้อยกว่า 4 ครั้ง ไม่ต้องรอให้หมดวันนะคะ ตรงดิ่งไปที่โรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที แล้วรีบเข้ารับการตรวจครรภ์โดยเร็ว เพราะอาจเกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้ค่ะ

1,000 วันแรกคืออะไร และสำคัญอย่างไร

การเริ่มต้นเสริมพัฒนาการของลูกน้อยให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงและสมวัยนั้น หลายคนอาจจะเข้าใจว่าให้เริ่มตอนที่ลูกเริ่มรู้ความ เริ่มอ่านออกและเขียนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วการเสริมพัฒนาการของลูกนั้นควรเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 วันแรกค่ะ ซึ่ง 1,000 วันแรก จะนับตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงวันเกิดครบ 2 ขวบของลูกน้อย ดังนี้

ช่วงเวลา 1,000 วันของลูกน้อย สามารถแยกออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่

          • ช่วงที่ 1: ตั้งครรภ์ (270 วัน)
          • ช่วงที่ 2: วัยแรกเกิด – 6 เดือน (180 วัน)
          • ช่วงที่ 3: วัย 6 เดือน – 2 ปี (550 วัน)

ตลอดระยะเวลา 1,000 วัน คุณแม่จะต้องใส่ใจกับการดูแลตนเองและลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งลืมตาออกมาดูโลก หมั่นฟูมฟักทั้งโภชนาการที่มีประโยชน์ ปลูกฝังอารมณ์ สภาพจิตใจ ความรัก ความอบอุ่น รวมทั้งการเสริมสร้างพัฒนาการด้วยการเล่น การพูดคุย เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ สมวัย และมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในทุก ๆ วัน โดยเฉพาะเรื่องของโภชนาการที่คุณแม่ควรจะเริ่มกินอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือเริ่มตั้งแต่วางแผนจะตั้งครรภ์ ไปจนกระทั่งตั้งครรภ์ คลอดลูก และให้นมบุตร

เมื่อคุณแม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ทารกในครรภ์ก็จะได้รับสารอาหารเหล่านั้นด้วย การปูพื้นฐานเรื่องโภชนาการนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่พัฒนาการด้านอื่น ๆ เพราะเมื่อทารกแข็งแรง มีสุขภาพดี ก็พร้อมสำหรับการเรียนรู้ที่ไม่สะดุดและต่อเนื่องไปตามวัย

ไขข้อข้องใจเมื่อท้อง 28 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์เป็นอย่างไร?

พัฒนาการของทารกในครรภ์ 28 สัปดาห์นี้ ทารกเริ่มเข้าใกล้การเป็นทารกที่สมบูรณ์มากขึ้นค่ะ เพราะระบบต่าง ๆ ในร่างกายพัฒนาจนเกือบจะสมบูรณ์ทั้งหมดแล้ว โดยเฉพาะระบบประสาทและสมอง

ในสัปดาห์นี้สมองของทารกจะโตขึ้นจนเต็มเนื้อที่ภายในกะโหลกศีรษะและมีรอยหยักบนพื้นผิวสมองมากขึ้น กลุ่มเซลล์สมองและวงจรของระบบประสาทของทารกก็มีการถักทอประสานกันอย่างสมบูรณ์แล้วเช่นกัน

ท้อง 28 สัปดาห์ ลูกไม่ค่อยดิ้น อันตรายหรือไม่?

ตั้งแต่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ทารกจะดิ้นเป็นเวลา ไม่ดิ้นสะเปะสะปะไม่สัมพันธ์กันแบบเมื่อก่อน คุณแม่จึงควรเริ่มนับลูกดิ้นตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป ซึ่งถ้าหากนับแล้วพบว่าลูกน้อยน้อยกว่า 10 ครั้งต่อวัน ให้คุณแม่ไปพบแพทย์ทันที

หรือถ้าหากในครึ่งวันเช้านับแล้วพบว่าลูกได้ไม่ถึง 4 หรือ 5 ครั้ง ก็ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีค่ะ เพราะอาจเกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ได้ เช่น ทารกขาดออกซิเจน รกพันคอ หรืออาจมีความผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น

ท้อง 28 สัปดาห์ ปวดหน่วง เกิดจากอะไร?

อาการปวดหน่วงที่ท้องหรือท้องน้อย เกิดจากมดลูกของคุณแม่นั้นจะมีการขยายตัวเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของลูกน้อย ทำให้เส้นเอ็น กล้ามเนื้อที่ยึดมดลูกมีการดึงรั้งกัน จนเกิดอาการปวดหน่วงที่ท้อง ซึ่งอาการปวดแบบนี้จะปวดเป็นพัก ๆ ไม่นานก็หาย นอนพัก กินยา หรือเปลี่ยนอริยาบถก็รู้สึกดีขึ้นค่ะ

แต่...ถ้าหากอาการปวดนั้นมีลักษณะที่ปวดรุนแรงจนคุณแม่ทนไม่ไหว ปวดจนลุกไม่ขึ้น ปวดจนนอนไม่หลับ หรือมีอาการเลือดออกร่วมด้วย อันนี้อาจจะเป็นสัญญาณอันตรายได้ ให้รีบไปพบแพทย์ค่ะ

28 สัปดาห์ ลูกกลับหัวแล้วหรือยัง?

จริง ๆ แล้วช่วงอายุครรภ์ในไตรมาสสอง ขนาดมดลูกมีเนื้อที่มากพอให้ทารกสามารถกลับหัว กลับหาง เปลี่ยนท่าทางได้ตลอดเวลา ซึ่งทารกก็จะเลือกอยู่ในท่าที่ตัวเองรู้สึกสบาย ถ้าเริ่มเมื่อย หรือรู้สึกไม่สบายตัวก็จะมีการเปลี่ยนท่าอีกจนกว่าจะรู้สึกสบายตัวค่ะ ดังนั้น ในช่วงนี้ถ้าหากพบทารกกลับหัวจึงไม่ใช่เรื่องแปลกค่ะ

แต่เมื่ออายุครรภ์ 35-36 สัปดาห์ขึ้นไป ตอนนี้ทารกมีขนาดใหญ่มากขึ้น เนื้อที่ภายในมดลูกก็ไม่ได้มากพอให้ทารกเปลี่ยนท่าได้บ่อย ๆ ดังนั้น ช่วงนี้ทารกอยู่ในท่าไหนก็จะอยู่ในท่านั้น จะไม่เปลี่ยนท่าบ่อย ๆ เหมือนในช่วงไตรมาสสองแล้วค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

right-abdomen-pain
definition-of-term-pregnancy
when-to-worry-about-fetal-movement
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner