ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 35 สัปดาห์ อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 35 สัปดาห์ อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 20 นิ้ว หนักประมาณ 2.5 กิโลกรัม มีขนาดพอ ๆ กับผลสับปะรด
  • อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ ปอดของทารกพัฒนามากขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ แต่ถ้าหากมีการคลอดก่อนกำหนดในสัปดาห์นี้ ปอดของทารกก็พร้อมที่จะทำงานได้เอง
  • อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ ทารกส่วนมากจะกลับหัวอยู่ในท่าเตรียมคลอดแล้วค่ะ แต่ถ้าสัปดาห์นี้ทารกยังไม่ยอมกลับหัว ทารกอาจจะเริ่มกลับหัวในสัปดาห์ถัดไป

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 35 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 35
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 35 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 35 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อาการคนท้อง 35 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
     • 35 สัปดาห์ มีนัดตรวจอะไรไหม
     • ท้อง 35 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 35 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 35 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

ท้อง 35 สัปดาห์ คุณแม่ขยับเท้าเข้าใกล้วันคลอดเข้ามาอีกหนึ่งก้าวแล้วค่ะ สัปดาห์หน้าคุณแม่ก็จะมีอายุครรภ์ครบ 9 เดือน และรอเวลาที่จะมีสัญญาณคลอดเกิดขึ้น

แต่ก่อนจะไปถึงตอนนั้น เรามาลุ้นพัฒนาการของทารกและการเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ในอายุครรภ์ 35 สัปดาห์กันก่อนดีกว่าค่ะ มาดูกันว่าในสัปดาห์นี้จะมีอะไรเกิดขึ้นกับคุณแม่และทารกน้อยกันบ้างนะ

ท้อง 35 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


สัปดาห์นี้ปอดของทารกพัฒนาจนใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว และทารกหลายคนเริ่มมีการกลับหัวลงเพื่อเตรียมคลอด ทำให้ช่วงนี้คุณแม่หลายคนมีอาการปวดที่อวัยวะส่วนล่างมากขึ้น เพราะอุ้งเชิงกรานเริ่มขยายเพื่อรองรับน้ำหนักที่กดลงมามากขึ้น คุณแม่จึงอาจจะปวดขา เมื่อยขา หรือเท้าบวมมากขึ้นกว่าปกติได้ค่ะ

ท้อง 35 สัปดาห์ ลูกอยู่ท่าไหน

ทารกในครรภ์ 35 ส่วนใหญ่อยู่ในท่ากลัวหัวลงเพื่อเตรียมพร้อมที่จะคลอดแล้วค่ะ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทารกทุกคนนะคะที่เริ่มกลับหัวในสัปดาห์นี้ มีทารกหลายคนที่อายุครรภ์ถึง 35 สัปดาห์แล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมกลับหัวและไปเริ่มกลับหัวเอาในสัปดาห์ถัดไป หรืออาจจะไปกลับหัวก่อนคลอดไม่กี่วันก็ได้

อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 35 สัปดาห์ เมื่อเทียบเป็นจำนวนเดือนแล้วจะเท่ากับอายุครรภ์ 8 เดือน 3 สัปดาห์ค่ะ

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 35 สัปดาห์ เป็นอย่างไร


ระบบและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในสัปดาห์นี้ มีแต่พัฒนาเพิ่มมากขึ้น ไม่มีหยุดนิ่ง ซึ่งระบบต่าง ๆ ของทารกในสัปดาห์นี้ก็พัฒนามาจนใกล้จะถึงจุดสมบูรณ์แล้วค่ะ

ขนาดทารกในครรภ์สัปดาห์ที่ 35 จะมีขนาดเท่าไหน

ทารกอายุครรภ์ 35 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 20 นิ้ว มีขนาดพอ ๆ กับผลสับปะรดค่ะ

ท้อง 35 สัปดาห์ น้ำหนักลูก มีน้ำหนักเท่าไหร่

อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ น้ำหนักทารกจะอยู่ที่ประมาณ 2.5 กิโลกรัมค่ะ

ท้อง 35 สัปดาห์ ลูกดิ้นมากแค่ไหน

ทารกอายุครรภ์ 35 สัปดาห์ จะเริ่มดิ้นน้อยลงแล้วค่ะ เนื่องจากพื้นที่ในมดลูกมีไม่มากพอที่ทารกจะสามารถเคลื่อนไหวหรือขยับตัวได้อย่างอิสระเหมือนเคย อย่างไรก็ตาม แม้ความถี่บ่อยในการดิ้นของทารกจะเริ่มลดลง

แต่คุณแม่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนับลูกดิ้นทุกวัน โดยควรจะนับได้ 10 ครั้งต่อวัน เมื่อนับครบ 10 ให้หยุดนับได้ ถ้าหมดวันแล้วนับไม่ครบ 10 ครั้ง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ได้ และถ้าหากในครึ่งวันเช้า ทารกดิ้นไม่ถึง 4 ครั้ง ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องรอจนถึงตอนเย็น

ท้อง 35 สัปดาห์ ลูกกลับหัวแล้วหรือยัง

ทารกอายุครรภ์ตั้งแต่ 35 สัปดาห์เป็นต้นไป ส่วนมากจะกลับหัวอยู่ในท่าเตรียมคลอดแล้วค่ะ แต่ถ้าสัปดาห์นี้ทารกยังไม่ยอมกลับหัว ทารกอาจจะเริ่มกลับหัวในสัปดาห์ถัดไปก็ได้ค่ะ

อย่างไรก็ตาม หากถึงกำหนดคลอดแล้วทารกยังไม่ยอมกลับหัว แพทย์จะช่วยปรับท่าให้ทารกอยู่ในท่าพร้อมคลอด โดยอาจจะต้องมีการนวดปรับท่า การให้ยาคลายกล้ามเนื้อมดลูก

กรณีถ้าหากเด็กไม่ยอมกลับหัวจริง ๆ แพทย์อาจวินิจฉัยให้ทำการผ่าคลอด เพื่อความปลอดภัยของทารกและคุณแม่ค่ะ

อวัยวะและระบบอื่น ๆ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 35 สัปดาห์ มีดังนี้

          • อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ พื้นที่ว่างในมดลูกเริ่มมีน้อยลงเรื่อยๆ เพราะทารกในครรภ์เติบโตเต็มที่พร้อมออกมาแล้ว

          • ตับทำงานได้เต็มที่สามารถขับถ่ายของเสียออกมาทางท่อน้ำดีสู่ทางเดินอาหารได้แล้ว

          • มีการสะสมไขมันไขมันใต้ผิวหนังมากขึ้น

          • ปอดของทารกพัฒนามากขึ้น แต่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ อย่างไรก็ตาม ปอดของทารกก็พร้อมที่จะทำงานได้เอง หากจำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนดออกมาในช่วงที่มีอายุครรภ์ 35 สัปดาห์

          • ทารกจะมีการลืมตาตอนตื่น หลับตาตอนหลับ และดิ้นมากในช่วงหลังอาหารทุกมื้อ เนื่องจากเสียงของการทำงานของลำไส้เสียงดังรบกวนการนอนหลับของทารก และจะดิ้นมากอีกทีตอน 3 ทุ่มถึงตี 1

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่อายุครรภ์ 35 สัปดาห์


แม่ท้อง 35 สัปดาห์หลายคนอาจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่างในช่วงสัปดาห์นี้ มีดังนี้

          • ช่วงที่ท้อง 35 สัปดาห์ กระดูกเชิงกรานของคุณแม่จะมีการคลายตัวและอ่อนนุ่มลง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดลูก

          • ยอดมดลูกโตขึ้นจนยันชายโครง ทำให้คุณแม่มีอาการเจ็บชายโครง จุกแน่นลิ้นปี่ได้ง่าย ดังนั้น ในช่วงอายุครรภ์ 35 สัปดาห์นี้ คุณแม่จึงควรนั่ง ยืน เดินตัวตรง อย่านั่งห่อตัว เพราะจะทำให้มดลูกค้ำยันชายโครงมากขึ้น

          • เริ่มกินอาหารได้น้อยลง เพราะกระเพาะอาหารถูกทารกและมดลูกเบียดให้เล็กลง ทำให้ปริมาณอาหารที่กินในแต่ละวันอาจจะลดลงมากกว่าปกติค่ะ

          • นอกจากจะกินอาหารได้น้อยลงแล้ว คุณแม่หลายคนเริ่มมีน้ำหนักตัวลดน้อยลงด้วย เพราะไม่สามารถกินอาหารได้มากเท่าแต่ก่อน แต่...คุณแม่ยังจำเป็นจะต้องควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมนะคะ สำหรับคุณแม่ไตรมาสสามที่มีค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI ปกติ ควรดูแลน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นมาไม่เกิน 3.5-4.5 กิโลกรัม หรือไม่ควรเกิน 5 กิโลกรัม

อาหารคนท้อง 35 สัปดาห์ มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรกิน


สำหรับแม่ท้อง 35 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่

          • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่ยังสามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น

ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

Enfamama TAP No. 1

อาการคนท้อง 35 สัปดาห์ ที่พบได้ในช่วงนี้


อาการคนท้อง 35 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้

          • อาการท้องผูกจะเริ่มรุนแรงมากขึ้น เพราะขนาดของทารกและขนาดของมดลูกที่ใหญ่ขึ้น เบียดและดันอวัยวะในระบบทางเดินอาหารมากขึ้น โดยอาจรุนแรงมากจนคุณแม่บางคนเริ่มมีสัญญาณของริดสีดวงทวารในระยะนี้

          • ขนาดครรภ์ที่อุ้ยอ้าย ความปวดเมื่อยตามรางกาย และการปัสสาวะบ่อย ยังคงเป็นปัญหาที่ทำให้คุณแม่นอนไม่สลายตัว และนอนหลับไม่สนิท

          • มีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นบ่อย จนเริ่มสับสนว่าเป็นอาการท้องแข็งก่อนคลอด หรือเป็นอาการท้องแข็งทั่วไป

          • ทารกเริ่มกลับหัวในสัปดาห์นี้ และเพิ่มแรงกดลงมายังอวัยวะที่อยู่ใกล้กับอุ้งเชิงกรานมากขึ้น ทำให้คุณแม่มีอาการปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น และเริ่มรู้สึกปวดเมื่อยขาและเท้ามากขึ้นด้วย เนื่องจากต้องรองรับน้ำหนักที่กดลงมามากขึ้นนั่นเองค่ะ

          • เนื้อเยื่อในร่างกายเริ่มมีการสะสมน้ำเอาไว้มากขึ้น ระยะนี้คุณแม่หลายคนจึงอาจมีอาการบวมน้ำมากขึ้นไปอีก ซึ่งถ้าหากเป็นอาการบวมน้ำทั่วไปก็ไม่อันตรายรุนแรงค่ะ แต่ถ้าคุณแม่กดลงไปที่ผิวหนังแล้วมีการบุ๋ม ไม่คืนทรงทันที อาจเป็นสัญญาณของครรภ์เป็นพิษ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอใด ๆ ค่ะ

ตั้งครรภ์ 35 สัปดาห์ สัปดาห์นี้มีนัดตรวจอะไรไหม


โดยมากแล้วถ้าคุณแม่ไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ ในสัปดาห์นี้แพทย์อาจจะไม่ได้นัดให้เข้ามาทำการตรวจครรภ์ค่ะ แต่ถ้าหากแพทย์ได้ทำการนัดพบคุณแม่ในสัปดาห์นี้ ไม่ควรผิดนัดเด็ดขาด ควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อให้แพทย์สามารถติดตามการตั้งครรภ์ได้อย่างต่อเนื่อง

มากไปกว่านั้น หากคุณแม่เริ่มพบสัญญาณความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะอาการที่ไม่แน่ใจ อย่าเพิ่งวินิจฉัยทางอินเตอร์เน็ตเสร็จสรรพด้วยตนเองนะคะ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจะดีที่สุด เพราะถ้าหากเป็นสัญญาณอันตรายจริง ๆ แพทย์สามารถที่จะรับมือได้อย่างทันท่วงที

ท้อง 35 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่


อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่

และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ท้อง 35 สัปดาห์ ท้องแข็งบ่อย ปกติไหม

อาการท้องแข็งบ่อยในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ โดยมากแล้วถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจาก

          • ทารกดิ้นแรง
          • คุณแม่ทำงานหนัก หรือออกแรงมาก
          • คุณแม่อยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น เดินนาน ๆ หรือยืนนาน ๆ
          • มดลูกมีการหดรัดตัวตามปกติในระหว่างตั้งครรภ์

ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้คุณแม่มีอาการปวดท้องเป็นครั้งคราว แต่จะไม่ปวดนาน แล้วก็จะหายไปเอง การเปลี่ยนท่านั่ง ท่านอน หรือลุกขึ้นเดิน หรือกินยาแก้ปวดก็ช่วยให้อาการปวดท้องดีขึ้นได้ กรณีแบบนี้ไม่อันตรายค่ะ

แต่...ถ้าหากอาการปวดท้องของคุณแม่นั้นเริ่มปวดถี่ขึ้น ปวดหลายครั้งต่อวัน อาการปวดนั้นค่อย ๆ รุนแรงขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง แม้ว่าจะลองเปลี่ยนท่าทาง หรือกินยาแก้ปวดก็ยังไม่ดีขึ้น พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

ท้อง 35 สัปดาห์ ปวดหน่วง ปกติไหม

อาการปวดหน่วงที่ท้อง ถามว่าควรกังวลไหม ก็ขึ้นอยู่กับว่าอาการปวดหน่วงนั้นรุนแรงมากแค่ไหน เพราะโดยมากแล้วคนท้องจะมีอาการปวดหน่วงเนื่องจากการขยายตัวของมดลูก การยืดตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่หน้าท้องอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ทารกอาจอยู่ในท่ากลับหัวแล้ว ยิ่งทำให้มีแรงกดลงมาที่อุ้งเชิงกรานมากขึ้น ทำให้มีอาการปวดหน่วงมากขึ้นได้ในสัปดาห์นี้ค่ะ อย่างไรก็ตาม อาการปวดแบบนี้จะปวดเป็นพัก ๆ ไม่นานก็หาย นอนพัก กินยา หรือเปลี่ยนอริยาบถก็รู้สึกดีขึ้นค่ะ

แต่...ถ้าหากอาการปวดนั้นมีลักษณะที่ปวดรุนแรงจนคุณแม่ทนไม่ไหว ปวดจนลุกไม่ขึ้น ปวดจนนอนไม่หลับ หรือมีอาการเลือดออกร่วมด้วย อันนี้อาจจะเป็นสัญญาณอันตรายได้ ให้รีบไปพบแพทย์ค่ะ

ท้อง 35 สัปดาห์ ปวดหลังมาก ทำอย่างไรดี

หากคุณแม่มีอาการปวดหลัง สามารถบรรเทาอาการปวดหลังได้ง่าย ๆ ดังนี้

          • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัวแทน

          • พยายามเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายบ้าง เช่น การเดิน ปั่นจักรบาน โยคะ เพื่อช่วยยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ

          • เวลานอนให้ใช้หมอนรองที่หว่างขา หรือเอว หรือหลัง เพื่อลดแรงกดทับที่หลัง

          • ปรับเปลี่ยนอริยาบถให้เหมาะสม ไม่นั่งท่าเดิมนาน ๆ เปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ นั่งหลังตรง ไม่นั่งหลังงอ เพราะจะทำให้อาการปวดหลังแย่ลงได้

          • ทาครีมยาบรรเทาอาการปวดหลัง

          • ไปนวดกับแพทย์แผนไทยที่เชี่ยวชาญการนวดคนท้อง และควรแจ้งกับคนนวดทุกครั้งว่ากำลังตั้งครรภ์

          • กินยาบรรเทาอาการปวดตามที่แพทย์แนะนำ

ท้อง 35 สัปดาห์ มีเลือดออก ปกติไหม

เลือดออกขณะตั้งครรภ์อันตรายไหม ตอบยากค่ะ เพราะอาจมาจากสาเหตุโดยทั่วไป หรือเป็นสัญญาณอันตรายก็ได้ คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจะดีที่สุด เพื่อจะได้ทราบว่าอาการเลือดออกนี้มีสาเหตุมาจากอะไร

ถ้าหากเป็นเลือดเก่าที่คั่งค้างนานแล้ว หรือเลือดจากการมีเพศสัมพันธ์ก็ถือว่าไม่ต้องกังวลอะไร แต่ถ้าเป็นเลือดที่เกิดจากภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือเสี่ยงต่อการแท้ง หรือมีการคลอดก่อนกำหนด กรณีที่รุนแรงเช่นนี้ แพทย์้สามารถทำการรักษาได้อย่างทันท่วงทีค่ะ

ท้อง 35 สัปดาห์ เวียนหัว คลื่นไส้ อันตรายไหม

อาการเวียนหัว คลื่นไส้ในระยะนี้ ส่วนมากแล้วไม่ส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ค่ะ โดยอาจเป็นไปได้ 2 กรณี

กรณีแรก คุณแม่มีอาการแพ้ท้องยาวนานมาจนถึงไตรมาสสาม หรืออีกกรณี คือ เกิดจากขนาดของมดลูกที่ใหญ่โตมากขึ้นทุก ๆ วัน จนไปกดทับหรือเบียดดันเส้นเลือด ทำให้การไหลเวียนเลือดทำได้ไม่ดี อาจก่อให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรือคลื่นไส้ได้ค่ะ

การนอนพัก การดื่มน้ำ อาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่ถ้าอาการวิงเวียนศีรษะและอาการคลื่นไส้เริ่มถี่ขึ้นจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้กินอาหารไม่ได้ หรือนอนไม่หลับเลย ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ

ท้อง 35 สัปดาห์ ปวดท้องน้อย ปกติไหม

อาการปวดท้องน้อยก็เป็นอาการปกติของแม่ท้องค่ะ แม่ท้องหลายคนมีอาการปวดท้องน้อยเป็นครั้งคราว เพราะอย่างที่บอกว่ามดลูกของคุณแม่นั้นจะมีการขยายตัวเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของลูกน้อย ทำให้เส้นเอ็น กล้ามเนื้อที่ยึดมดลูกมีการดึงรั้งกัน จึงทำให้คุณแม่มีอาการปวดท้องน้อย

มากไปกว่านั้น ในสัปดาห์นี้ทารกหลายคนเริ่มกลับหัวแล้ว ยิ่งเพิ่มแรงกดลงมาที่อุ้งเชิงกรานและอวัยวะโดยรอบมากขึ้น คุณแม่จึงอาจจะมีอาการปวดท้องน้อยมากขึ้นได้ค่ะ อย่างไรก็ตาม โดยมากมักจะไม่ใช่อาการปวดที่รุนแรงค่ะ ปวดเป็นพัก ๆ ก็ดีขึ้น นั่งพัก นอนพัก หรือกินยาก็ช่วยให้ดีขึ้นได้

แต่...ถ้าหากอาการปวดนั้นมีลักษณะที่ปวดรุนแรงจนคุณแม่ทนไม่ไหว ปวดจนลุกไม่ขึ้น ปวดจนนอนไม่หลับ หรือมีอาการเลือดออกร่วมด้วย อันนี้อาจจะเป็นสัญญาณอันตรายได้ ให้รีบไปพบแพทย์ค่ะ

ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 35 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

รวมถึงควรเริ่มลดกิจกรรมและการงานต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงด้วยค่ะ การก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยมากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์และทารกในครรภ์ได้

และคุณแม่ควรจะไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามการตั้งครรภ์ว่าทารกในครรภ์ยังปกติไหม มีพัฒนาการตามวัยหรือเปล่า หรือมีภาวะความเสี่ยงในขณะตั้งครรภ์หรือไม่

สัญญาณเตือนการคลอดก่อนกำหนด

คุณแม่ควรสังเกตร่างกายและอาการต่าง ๆ อยู่เสมอค่ะ เพื่อดูว่ามีอาการใด ๆ ที่อาจจะนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดหรือไม่ หากคุณแม่มีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ถือว่าเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด

          • มีเลือดออกทางช่องคลอด ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนดได้

          • มีอาการน้ำเดิน หรือสังเกตเห็นว่ามีของเหลวใส ๆ ไหลออกทางช่องคลอดมากกว่าปกติ

          • มดลูกบีบตัวถี่ขึ้น มีอาการปวดท้องรุนแรง และปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาการไม่ทุเลาลง

          • ปวดหน่วงที่อุ้งเชิงกรานร้าวไปจนถึงขา

          • ปากมดลูกเริ่มเปิดมากขึ้น

          • มีอาการบวมมากขึ้นเรื่อย ๆ เวลากดลงแล้วผิวหนังจะบุ๋ม ไม่คืนทรงทันที และมีความดันโลหิตขึ้นสูง

เหล่านี้คือสัญญาณเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดได้ หากพบอาการเหล่านี้ ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ หรือติดต่อเบอร์ฉุกเฉินกับโรงพยาบาลหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทันทีค่ะ

เจ็บท้องจริงกับเจ็บท้องหลอกต่างกันตรงไหน

อาการเจ็บท้องหลอก และ เจ็บท้องจริงนั้น ค่อนข้างจะมีความแตกต่างกันค่ะ ซึ่งคุณแม่สามารถสังเกตได้ ดังนี้

อาการเจ็บท้องหลอก คุณแม่จะมีอาการดังนี้

          • จะมีการหดตัวของมดลูกบ่อย แต่จะไม่หดตัวติด ๆ กัน หรือมีการหดตัวน้อยกว่า 4 ครั้งใน 1 ชั่วโมง

          • การหดตัวแต่ละครั้งจะทำให้รู้สึกปวดท้องนานราว ๆ 10-20 วินาที และปวดที่บริเวณท้องส่วนหน้า หรือบริเวณเชิงกราน

          • อาการปวดท้องสามารถหายเองได้เพียงแค่เปลี่ยนท่านั่ง ท่านอน หรือลุกขึ้นเดิน หรือกินยาแก้ปวดก็ช่วยให้อาการปวดท้องดีขึ้นได้

อาการเจ็บท้องจริง คุณแม่จะมีอาการดังนี้

          • มีการหดตัวของมดลูกบ่อย แต่มีการหดตัวติด ๆ กัน หรือมีการหดตัวมากกว่า 4 ครั้งใน 1 ชั่วโมง

          • การหดตัวแต่ละครั้งจะทำให้รู้สึกปวดท้องนานราว ๆ 30-70 วินาที

          • มีอาการปวดตั้งแต่ช่วงหลังส่วนหน้า แล้วลามไปยังบริเวณท้องส่วนหน้า หรือบางทีก็เริ่มปวดมาตั้งแต่ท้องส่วนหน้า และลามไปยังบริเวณหลังส่วนล่าง

          • อาการปวดท้องสามารถหายเองได้เพียงแค่เปลี่ยนท่านั่ง ท่านอน หรือลุกขึ้นเดิน หรือกินยาแก้ปวดก็ช่วยให้อาการปวดท้องดีขึ้นได้

          • มีมูกใส ๆ หรือมูกปนเลือดไหลออกมาทางช่องคลอด และมีอาการน้ำเดินด้วย

          • ปากมดลูกเริ่มเปิดมากขึ้นเรื่อย ๆ

อาการท้องแข็งแบบไหนที่ควรกังวล

เมื่อมีอาการท้องแข็งเกิดขึ้น จะทำให้คุณแม่มีอาการปวดหรือเจ็บท้อง ซึ่งถ้าหากอาการปวดท้องของคุณแม่นั้นเริ่มปวดถี่ขึ้น ปวดหลายครั้งต่อวัน อาการปวดนั้นค่อย ๆ รุนแรงขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง แม้ว่าจะลองเปลี่ยนท่าทาง หรือกินยาแก้ปวดก็ยังไม่ดีขึ้น พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

ทำความรู้จักกับ “น้ำนมเหลือง”

น้ำนมเหลือง หรือ Colostrum เป็นน้ำนมแรกของแม่ที่จะไหลออกมาก่อนน้ำนมส่วนอื่น ๆ โดยน้ำนมเหลืองนี้จัดว่าเป็นนมแม่ส่วนที่ดีที่สุด ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์หลายร้อยชนิด เช่น แลคโตเฟอร์ริน, MFGM, DHA เป็นต้น

ซึ่งสารอาหารในระยะน้ำนมเหลืองนั้น มีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการครบรอบด้านทั้งสมอง ภูมิคุ้มกัน และระบบทางเดินอาหารของทารก มากไปกว่านั้น น้ำนมเหลือง ยังถือได้ว่าว่าเป็นวัคซีนเข็มแรกของลูก เนื่องจากมีสารภูมิคุ้มกันซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันการติดเชื้อและเสริมภูมิคุ้มกันของทารกให้แข็งแรง

อย่างไรก็ตาม น้ำนมเหลืองนั้นจะไหลออกมาแค่เพียง 1-3 วันแรกหลังคลอดเท่านั้น นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญเลยค่ะว่า ทำไมคุณแม่ควรรีบให้นมลูกทันทีหลังคลอด เพราะถ้าหากพ้นไปจาก 1-3 วันหลังคลอดแล้ว ทารกก็จะพลาดโอกาสที่จะได้รับคุณค่าทางสารอาหารที่ดีที่สุดช่วงนี้ไปค่ะ

เลือกซื้อคาร์ซีทสำหรับเด็กแรกเกิดอย่างไร

สำหรับต่างประเทศ คาร์ซีทไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องจำเป็นจะต้องมีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อความปลอดภัยของเด็กเล็กขณะโดยสารกับรถยนต์

ขณะที่ประเทศไทยยังมีการตระหนักถึงเรื่องคาร์ซีทกันอยู่น้อยมาก แม้ในปัจจุบันจะมีการออกกฎหมายเรื่องคาร์ซีทแล้วก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความตื่นตัวนั้นยังไม่ได้แพร่หลายมากนัก

ซึ่งคาร์ซีทถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากสำหรับเด็กเล็ก เพราะถูกออกแบบมาเพื่อช่วยป้องกันการบาดเจ็บของเด็กเมื่อเกิดอุบัติเหตุในขณะเดินทางด้วยรถยนต์ เนื่องจากระบบความปลอดภัยบนรถยนต์ เช่น เบาะนั่ง เข็มขัดนิรภัย หรือถุงลมนิรภัย

เหล่านี้ล้วนออกแบบมาเพื่อสรีระของผู้ใหญ่ และไม่รองรับสรีระของเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี โดยการเลือกคาร์ซีท คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาเลือกซื้อคาร์ซีทที่มีคุณภาพ ดังนี้

          • เลือกซื้อคาร์ซีทที่ผลิตออกมาใหม่และล่าสุดเสมอ ไม่ควรเลือกซื้อคาร์ซีทมือสอง หรือผลิตมาหลายปีแล้ว เนื่องจากอาจจะมีความเสื่อมสภาพ

          • ในกรณีที่จะใช้คาร์ซีทมือสอง ควรรับเฉพาะคาร์ซีทจากเพื่อนหรือครอบครัวที่สนิทกันและรู้ประวัติกันเป็นอย่างดีเท่านั้น คาร์ซีทไม่ควรจะเก่าเกินไป เพราะประสิทธิภาพความปลอดภัยอาจลดลงตามอายุการใช้งาน

          • เลือกคาร์ซีทสำหรับทารกหรือเด็กที่เหมาะสมกับส่วนสูงและน้ำหนักในปัจจุบันของลูกเสมอ

          • ก่อนจะไปซื้อคาร์ซีท ต้องตรวจสอบรถยนต์ของที่บ้านดูก่อนด้วยว่ามีระบบการติดตั้งแบบใด รถยนต์รองรับระบบ ISOfix หรือ ISOfit เพื่อจะได้ซื้อคาร์ซีทได้ตรงกับระบบการติดตั้งของรถยนต์

          • เลือกซื้อคาร์ซีทกับสถานบริการที่เชื่อถือได้ พนักงานติดตั้งมีความชำนาญ อย่าเลือกเพราะโปรโมชั่นหรือของแถม เพราะความปลอดภัยของลูกไม่ใช่โปรโมชั่นที่เสียไปแล้วจะหามาทดแทนใหม่ได้นะคะ

          • หากเป็นไปได้ควรเลือกคาร์ซีทที่มีความปลอดภัยมาตรฐานของสหภาพยุโรปหรืออียู เพราะสามารถเชื่อมั่นได้ว่ามีการผลิตตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

คลอดธรรมชาติ หรือผ่าคลอด แบบไหนดีกว่ากัน

การคลอดที่ดีที่สุดคือการคลอดธรรมชาติ เพราะเด็กจะได้รับจุลินทรีย์ธรรมชาติและสารภูมิคุ้มกันจากช่องคลอดของแม่ ซึ่งมีส่วนช่วยให้เด็กแข็งแรง มีแนวโน้มช่วยลดความเสี่ยงของภูมิแพ้ต่าง ๆ ได้ และช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวหลังคลอดได้เร็วขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แม่ทุกคนที่อยู่ในสภาวะที่พร้อมต่อการคลอดธรรมชาติ เพราะบางครั้งทารกอาจตัวใหญ่เกินกว่าที่จะคลอดธรรมชาติ หรือทารกไม่ยอมกลับหัว หรือเกิดอุบัติเหตุคลอดธรรมชาติ เช่น แม่หมดสติระหว่างคลอด หรือมีภาวะเสี่ยงอื่น ๆ ที่ทำให้แม่ไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้สำเร็จ

ในกรณีที่สุ่มเสี่ยงต่อชีวิตของแม่และทารกในครรภ์ แพทย์ก็จะวินิจฉัยให้ทำการผ่าคลอด เพื่อความปลอดภัยของแม่และเด็ก แต่ถ้าหากคุณแม่ไม่ได้มีความผิดปกติใด ๆ ทารกไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการคลอดธรรมชาติ และคุณแม่ไม่ได้มีความยึดมั่นถือมั่นกับฤกษ์คลอด แพทย์ก็แนะนำให้คลอดธรรมชาติจะดีกว่าค่ะ

ไขข้อข้องใจเมื่อท้อง 35 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


ท้อง 35 สัปดาห์ ลูกดิ้นน้อยลง แค่ไหนถึงบอกได้ว่าไม่ปกติ?

จะรู้ว่าลูกดิ้นน้อยลงได้ คุณแม่จะต้องนับลูกดิ้นให้เป็นเสียก่อนค่ะ จึงจะพบว่าลูกดิ้นน้อยแบบนี้ ไม่ปกติ โดยคุณแม่ควรนับลูกดิ้นทุกวัน เวลานับให้นับจำนวน 2 ครั้งต่อวัน

ครั้งแรกของวันให้เริ่มนับในตอนเช้า แต่ควรนับในตอนที่คุณแม่ไม่ได้ทำงานบ้านหรือกิจกรรมใด ๆ นะคะ เพราะถ้านับไป ทำอย่างอื่นไป จะทำให้การนับคลาดเคลื่อนได้ และนับครั้งที่สองในตอนเย็น ๆ หรือจะนับในตอนหัวค่ำก็ได้ค่ะ โดยการนับลูกดิ้น ให้นับดังนี้

          • ในแต่ละครั้งที่นับ ให้ทำการจับเวลาและนับดูว่าลูกดิ้นครบ 10 ครั้งเมื่อไหร่ เช่น เริ่มจับเวลาตอน 8 โมง และนับลูกดิ้นครั้งที่ 10 ได้ตอน 11 โมง ก็ให้บันทึกลงไปค่ะ

          • แต่ทารกในครรภ์จะดิ้นมากหรือน้อยแตกต่างกันไป เด็กบางคนพลังเยอะมาก อาจจะดิ้นครบ 10 ครั้งตั้งแต่ 10 นาทีแรก อันนี้คุณแม่ไม่ต้องกังวลค่ะ ลูกดิ้นมากแปลว่าลูกมีสุขภาพแข็งแรงดี

          • แต่ถ้าจับเวลา 1 ชั่วโมงแล้วลูกยังดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง ก็ยังไม่ต้องตกใจนะคะ ให้คุณแม่หาอะไรกินรองท้องก่อน แล้วไปนอนพักสักครู่ จากนั้นค่อยเริ่มนับอีกครั้ง ถ้าภายใน 1 ชั่วโมง ลูกดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง ก็อย่าเพิ่งหยุดนับค่ะ ให้นับต่อไปและจดบันทึกเอาไว้ว่าลูกน้อยดิ้นครบ 10 ครั้งในเวลากี่ชั่วโมง

          • ส่วนในกรณีที่หมดวันแล้ว หรือครบทั้ง 12 ชั่วโมงแล้ว ลูกดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

          • และถ้าหากในช่วงครึ่งวันเช้า คุณแม่นับลูกดิ้นแล้วพบว่าลูกดิ้นน้อยกว่า 4 ครั้ง ไม่ต้องรอให้หมดวันนะคะ ตรงดิ่งไปที่โรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที แล้วรีบเข้ารับการตรวจครรภ์โดยเร็ว เพราะอาจเกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้ค่ะ

ท้อง 35 สัปดาห์ ท้องเสีย คุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างไร?

คุณแม่ที่ท้องเสีย สามารถดูแลตัวเองได้ ดังนี้

          • กินอาหารที่ย่อยง่าย เพื่อให้ร่างกายสามารถย่อยและขับถ่ายได้ง่ายขึ้น

          • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารที่รสเผ็ดจัด เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบย่อยอาหารและทำให้ท้องเสียแย่ลง

          • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เพราะมีแนวโน้มที่จะทำให้อาการท้องเสียหนักขึ้นได้

          • ดื่มน้ำ หรือดื่มเกลือแร่สำหรับอาการท้องเสีย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ได้

          • ในกรณีที่มีอาการท้องเสียจากการติดเชื้อ คุณแม่ควรกินยาตามที่แพทย์สั่ง คนท้องไม่ควรซื้อยามากินเองโดยไม่ปรึกษากับแพทย์ เพราะยาบางอย่างอาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ได้

          • แต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นเลย หรือท้องเสียติดต่อกัน 1-2 วัน คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ท้อง 35 สัปดาห์ ตกขาวเยอะ แบบนี้ปกติหรือเปล่า?

การมีตกขาวถือเป็นเรื่องปกติของคนท้องค่ะ เพราะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้คลอดก็จะมีมูกตกขาวออกมามากขึ้น เป็นสัญญาณว่าใกล้คลอด

อย่างไรก็ตาม หากตกขาวมีลักษณะเป็นก้อนเล็ก ๆ สีขาว หรือมีสีเหลือง หรือสีเทา ตกขาวมีลักษณะข้นเหนียว มีกลิ่นเหม็น และมีอาการคันร่วมด้วย อาจเป็นตกขาวทมี่เกิดจากการติดเชื้อ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาค่ะ

ท้อง 35 สัปดาห์ เท้าบวม จะรับมืออย่างไรดี?

คุณแม่ที่มีอาการบวมที่เท้า หรือข้อเท้า อาจสามารถรับมือด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

          • เวลานอนให้นอนตะแคง และควรยกปลายเท้าให้สูงขึ้น โดยอาจจะใช้หมอนรองที่บริเวณข้อเท้าก็ได้ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

          • คุณแม่ควรเปลี่ยนอริยาบถบ่อย ๆ เพราะการอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ จะทำให้เกิดแรงกดทับ และทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี

          • หลีกเลี่ยงการสวมแหวน กำไล หรือนาฬิกาที่รัดแน่นจนเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้อาการบวมที่มือ หรือบวมที่นิ้วแย่ลง

          • ไม่สวมถุงเท้าและรองเท้าที่รัดแน่น เพราะจะยิ่งทำให้อาการบวมแย่ลง

          • พยายามลดอาหารที่มีโซเดียมสูง เพราะการบริโภคโซเดียมเข้าไปมาก ๆ จะทำให้มีอาการตัวบวมง่าย

อย่างไรก็ตาม หากอาการบวมของคุณแม่ไม่ดีขึ้นเลย หรือเริ่มบวมจนกระทั่งกดลงไปที่เนื้อแล้วเนื้อบุ๋ม และใช้เวลาคืนทรงช้า ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษได้ค่ะ

ท้อง 35 สัปดาห์ หายใจไม่ค่อยออก เป็นเรื่องปกติไหม?

เนื่องจากขนาดของมดลูกที่ใหญ่ขึ้นจนเบียดและดันขึ้นมาที่หน้าอก ทำให้ปอดถูกเบียดจนมีขนาดเล็กลง ส่งผลให้คุณแม่หายใจถี่ขึ้น มีอาการแน่นหน้าอก และหายใจไม่ค่อยออกค่ะ

การนอนโดยยกศีรษะให้สูงขึ้น อาจช่วยให้อาการหายใจไม่ออกดีขึ้นได้ แต่ถ้าคุณแม่หายใจไม่ออก แล้วเริ่มหน้ามืด หรือหมดสติบ่อย ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ

ท้อง 35 สัปดาห์ คลอดได้ไหม?

ถ้าหากทารกคลอดตอนอายุครรภ์ 35 สัปดาห์จะถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนดค่ะ อย่างไรก็ตาม หากมีการคลอดเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้จริง ๆ ก็ถือว่าทารกมีโอกาสรอดสูงค่ะ เนื่องจากมีพัฒนาการของระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้เกือบสมบูรณ์แล้ว ซึ่งสมบูรณ์อยู่ในระดับที่ว่าถ้ามีเหตุต้องคลอดออกมาในตอนนี้ ทารกก็สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้

แต่...จำเป็นจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เนื่องจากทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ ปอดยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ระบบภูมิคุ้มกันยังอ่อนแอ ระบบต่าง ๆ และอวัยวะอีกหลายส่วนยังทำงานได้ไม่เต็มที่เท่ากับเด็กที่คลอดตามกำหนดค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

้haemorrhoids-during-pregnancy
ของใช้เด็กแรกเกิด
คนท้องเป็นกรดไหลย้อน ต้องรีบแก้ ก่อนคุณแม่จะแย่กว่าเดิม
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner