เมื่อตอนลูกยังเล็ก การพาลูกไปพบหมออาจจะไม่ยาก เพราะลูกยังเล็ก ไม่งอแงเมื่ออยู่กับคุณหมอ แต่เมื่อลูกโตขึ้น เด็กช่วงวัย 1 ขวบขึ้นไปเริ่มกลัวหมอกลัวพยาบาล เพราะเริ่มจำได้ว่าทุกครั้งที่มาโรงพยาบาล เขาจะเจ็บตัวเพราะเข็มฉีดยา จึงร้องไห้ งอแง อาละวาด ทำให้การพาลูกไปพบหมอมีอุปสรรคได้ เพื่อให้การพาลูกไปพบหมอมีประสิทธิภาพที่สุด คุณแม่ควรเตรียมสิ่งต่างๆ ไว้บ้าง
อย่างที่กล่าวว่าเด็กช่วงวัย 1 ขวบขึ้นไป เริ่มกลัวหมอกลัวพยาบาล เพราะเริ่มจำได้ว่าทุกครั้งที่มาโรงพยาบาล เขาจะเจ็บตัวเพราะเข็มฉีดยา หรือโดนคุณหมอจับเนื้อจับตัว เอาเครื่องมือตรวจหู จมูก ยิ่งมีไม้กดลิ้นยิ่งไม่ชอบ ทำให้ลูกร้องไห้ ดิ้นรน ปัดป่าย คุณหมอจึงตรวจได้ลำบาก ต้องช่วยกันจับตัวลูก ยิ่งทำให้ลูกรู้สึกกลัวมากขึ้น ครั้นเมื่อลูกร้องไห้มาก คุณแม่ก็ต้องรีบออกจากห้องตรวจเพื่อให้ลูกหยุดร้อง ทำให้ไม่ได้รับคำแนะนำจากหมออย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่มีโอกาสซักถามข้อสงสัยอย่างอื่นเพิ่มเติม
ดังนั้นขณะอยู่บ้าน คุณแม่ลองฝึกซ้อม ให้ลูกได้เล่นเลียนแบบเป็นคุณหมอ อ่านหนังสือการ์ตูนที่เกี่ยวกับการไปพบหมอให้ลูกฟัง เพื่อให้ลูกได้คุ้นเคยหรือคาดเดาได้ว่าคุณหมอจะตรวจอะไร ต้องทำตัวอย่างไรบ้าง เป็นต้น
เวลาที่เหมาะสมในการพาลูกไปพบคุณหมอ โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่ฉุกเฉิน ไม่ควรเป็นเวลานอนกลางวันของลูก หรือเป็นเวลาที่ลูกเหนื่อยหรือหิว หากคุณแม่มีนัดกับคุณหมอ การตรงต่อเวลาจะช่วยให้คุณแม่ไม่ต้องเสียเวลารอคอย เพราะการรอคอยนานๆ พร้อมกับเด็กที่กำลังป่วยหรือไม่ป่วยแต่ซน อยู่ไม่นิ่ง ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก และหากไม่สามารถมาตามนัด ควรแจ้งเลื่อนนัดอย่างน้อย 1 วัน
หากไม่ใช่การพาลูกไปหาหมอแบบกะทันกัน คุณแม่ควรให้ลูกสวมเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการถอดและสวมใส่ เพราะคุณหมออาจจะต้องตรวจดูร่างกายลูกอย่างละเอียด ฉะนั้นชุดติดกัน หรือชุดที่ถอดยากใส่ยาก คงไม่สะดวกทั้งกับหมอและตัวลูกเอง
อีกทั้ง คุณแม่อาจเตรียมอาหาร นม อาหารว่าง หรือของเล่นเพื่อไม่ให้ลูกร้องไห้งอแงจากการต้องรอคิวตรวจ การเตรียมของเล่นไปเอง อาจช่วยให้ลูกไม่ต้องจับของเล่นส่วนกลางซึ่งอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อน
การบอกอาการหรือตอบคำถามของคุณหมอถึงอาการลูกนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรตอบให้ตรงประเด็นและกระชับที่สุด ไม่วกไปวนมา ซึ่งการตอบให้ตรงคำถามนั้นมาจากการที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการป่วยของลูกระหว่างที่ลูกเกิดการเจ็บป่วย ไม่สบาย ไม่ว่าเรื่องอาหารการกิน การนอน ความเป็นอยู่ต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการวินิจฉัย ประมวลผลของคุณหมอ เช่น
- มีไข้สูงเท่าไร มีอาการมากี่วัน
- กินอาหารได้ปกติหรือไม่ กินน้อยลงหรือไม่ยอมกิน
- ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะกี่ครั้ง ลักษณะเป็นอย่างไร เช่น ถ่ายเหลวเป็นน้ำหรือมีมูกเลือด
- พฤติกรรมแต่ละวัน ร่าเริง เล่นได้ หรือร้องกวน ซึม งอแงมากกว่าปกติ
- มีอาการอื่นๆ เช่น ชัก แขนขา เกร็ง หรือหายใจติดขัด อาเจียนหรือเปล่า
- ยาที่ลูกกินก่อนมาพบคุณหมอ ลูกกินยาอะไรบ้าง เป็นต้น
นอกจากนี้ คุณแม่ควรนำสมุดสุขภาพ สมุดฉีดวัคซีนของลูกติดมาด้วย ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุณหมอวินิจฉัยโรคได้แม่นยำขึ้น
กรณีที่ลูกร้องไห้ตั้งแต่หน้าประตูห้องตรวจ คุณแม่มักจะกังวลเพราะเกรงใจคุณหมอ แต่คุณหมอเด็กส่วนใหญ่จะเข้าใจถึงการร้องไห้ของเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรอุ้มหรือกอดลูกไว้แล้วอยู่ในอาการที่สงบ เพราะถ้าคุณแม่กระสับกระส่ายหรือโวยวายเสียเอง ลูกจะรู้สึกถึงความกังวลใจและรู้สึกไม่มั่นคงและยิ่งทำให้ร้องไห้หนักขึ้น แต่หากลูกร้องไห้ไม่ยอมให้ตรวจ อาจจะให้คุณพ่อหรือคนที่ไปด้วยอุ้มลูกออกนอกห้องตรวจก่อน เพื่อให้คุณแม่ฟังคำอธิบายอาการและวิธีการดูแลลูกที่บ้านอย่างละเอียด
หากที่บ้านมีคนดูแลเด็กมากกว่า 1คน ควรเข้ามารับฟังวิธีการดูแลลูกที่บ้านพร้อมเพรียงกัน โดยเฉพาะพี่เลี้ยงเด็กหรือคุณย่าคุณยายที่เป็นคนดูแลหลาน
คุณแม่ควรปิดโทรศัพท์ให้เรียบร้อยก่อนเข้าห้องตรวจ เพราะในขณะที่กำลังมีสมาธิในการฟังคำอธิบายของคุณหมออยู่ ถ้าเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น การสนทนาก็จะขาดตอนทันที ทำให้ตัวคุณพ่อคุณแม่เองขาดสมาธิ แล้วการรับข้อมูลจากคุณหมออาจจะไม่ครบถ้วนไม่ต่อเนื่องได้
หากลูกมีไข้สูงคือประมาณ 38 องศาขึ้นไป ควรเช็ดตัวลดไข้ให้ลูกอย่างถูกวิธี และให้ยาลดไข้ ส่วนใหญ่ไข้และอุณหภูมิร่างกายจะลดลงได้ แต่หากอุณหภูมิร่างกายยังไม่ลดและเพิ่มขึ้นต้องรีบพาลูกไปพบหมอ เพราะหากอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาขึ้นไป อาจเกิดอันตรายได้
อาการชักอาจเกิดขึ้นได้จากไข้ขึ้นสูง หรืออาจจะเป็นอาการบ่งชี้ของโรคบางอย่าง ควรรีบพาลูกไปหมอ
หากอยู่ดีๆ ลูกก็อาเจียนและเจียนไม่หยุด ต้องรีบพาลูกไปหาคุณหมอ เพราะถ้าปล่อยไว้ลูกจะเกิดอาการขาดน้ำ เพราะอาเจียนออกหมด
อาการนี้ต้องเฝ้าระวังหลังลูกหกล้มหรือศีรษะเกิดการกระแทก ถ้าหลังจากนั้นลูกมีอาการปวดศีรษะและอาเจียนร่วมด้วย ต้องรีบพาลูกไปพบหมอ เพราะอาจจะได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง
อาการที่มักเกิดขึ้นตามมาหลังจากอาการท้องเสีย คือร่างกายขาดน้ำ ถ้าลูกถ่ายหลายครั้ง และอาเจียน อาจจะทำให้ขาดน้ำ ควรให้น้ำเกลือกับลูก ถ้ายังไม่ดีขึ้นควรรีบพาลูกไปพบหมอ
โดยปกติ เด็กอาจมีผื่นขึ้นที่แขนหรือเท้าได้ แต่หากเกิดขึ้นทั่วตัว ควรให้คุณหมอได้ตรวจและวินิจฉัยถึงสาเหตุ เพื่อจะได้รักษาได้ถูกต้อง
หากคุณแม่ได้เตรียมตัวก่อนพาลูกไปพบหมอ จะทำให้ใช้เวลาที่ได้พบคุณหมออย่างคุ้มค่า ได้สอบถามรายละเอียดของโรคและวิธีการดูแลอย่างละเอียด เพราะความเข้าใจที่ถูกต้องนำมาซึ่งการดูแลที่ถูกต้องด้วยค่ะ
Enfa สรุปให้ ลูกตัวร้อนอย่างเดียว แต่วัดไข้แล้วไม่มีไข้ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อุณหภูมิภา...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ เนิร์สเซอรี คือ สถานรับเลี้ยงเด็กเล็กวัยก่อนเข้าเรียนอนุบาล ซึ่งส่วนมากจะเปิดรับเลี...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ อะดีโนไวรัส (adenovirus) เป็นเชื้อไวรัสที่สามารถติดต่อและระบาดถึงกันได้ตลอดทั้งปีแบ...
อ่านต่อ