Enfa สรุปให้
การนับอายุครรภ์ในทางการแพทย์ ไม่ได้นับตั้งแต่วันที่ตรวจพบการตั้งครรภ์ แต่จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุด เพราะมีความแม่นยำในการกำหนดคลอดมากกว่า
อายุครรภ์ 2 สัปดาห์ ยังไม่ถือว่าตั้งครรภ์ เพราะอยู่ในช่วงของการตกไข่ และยังไม่มีการปฏิสนธิใด ๆ เกิดขึ้นในระยะนี้
หากสามารถนับวันไข่ตกได้แม่นยำ และมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันในวันไข่ตก หรือก่อนวันไข่ตก 2-3 วัน ก็จะมีโอกาสเกิดการปฏิสนธิและตั้งครรภ์ได้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
เวลาพูดว่าท้อง 2 สัปดาห์ คุณแม่อาจจะกำลังเข้าใจผิดว่าตอนนี้ท้องได้ 2 สัปดาห์แล้ว เพราะในทางการแพทย์นั้นจะไม่ได้เริ่มนับอายุครรภ์จากวันที่ตรวจพบการตั้งครรภ์แบบที่หลายคนเข้าใจค่ะ
บทความนี้จาก Enfa จะพาคุณแม่มาไขจักรวาลการนับอายุครรภ์ไปพร้อม ๆ กันค่ะ มาดูกันว่าจริง ๆ แล้วอายุครรภ์ 2 สัปดาห์ที่ถูกต้องนั้นนับยังไง และเราเข้าใจผิดอะไรเกี่ยวกับอายุครรภ์ 2 สัปดาห์บ้างนะ
เวลาพูดถึงท้อง 2 สัปดาห์ หรือตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์ อันดับแรกคุณแม่ทุกคนจะต้องเข้าใจก่อนว่าในทางการแพทย์แล้วอายุครรภ์จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด
ซึ่งนั่นหมายความว่า ในวันที่คุณแม่ประจำเดือนขาดในเดือนถัดมา และตรวจพบว่าตั้งครรภ์ ขณะนั้นคุณแม่ถือว่าได้ตั้งครรภ์ไปแล้ว 4 - 5 สัปดาห์ โดยการนับอายุครรภ์แบบนี้ในทางการแพทย์ถือว่าสามารถคาดการณ์กำหนดคลอดได้แม่นยำมากกว่าค่ะ
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะทำให้ช่วง 2 สัปดาห์แรกนั้นจะยังไม่ถือว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นค่ะ เพราะหากนับจากวันสุดท้ายของประจำเดือนครั้งล่าสุดไปจนครบ 2 สัปดาห์ ร่างกายของผู้หญิงจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการตกไข่ของรอบเดือนนั้น ๆ
เพราะฉะนั้นระยะนี้จึงยังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น แต่...มีโอกาสที่จะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น หากว่ามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันในวันตกไข่ค่ะ
ดังนั้น ท้อง 2 สัปดาห์ ในทางการแพทย์จึงยังไม่ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์จริง ๆ ค่ะ แต่ถ้าหากมีการปฏิสนธิจนตั้งครรภ์ขึ้นมาจริง ๆ เมื่อนับย้อนไปจนถึงวันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุด ก็จะพบว่าอายุครรภ์เกิน 2 สัปดาห์ไปแล้วค่ะ
การนับอายุครรภ์ในทางการแพทย์จะเริ่มตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุดค่ะ โดยเมื่อนับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุดไปจนครบ 1 สัปดาห์ ช่วงนี้จะเป็นระยะการเริ่มต้นของประจำเดือนครั้งถัดไป และเมื่อถึงสัปดาห์ที่ 2 จะเป็นช่วงที่ร่างกายของผู้หญิงเข้าสู่กระบวนการตกไข่
หากไข่กับอสุจิเกิดการปฏิสนธิกัน จนกระทั่งฝังตัวในมดลูก นั่นแหละค่ะถึงจะเริ่มเข้าสู่การตั้งครรภ์อย่างเป็นทางการ ซึ่งก็จะเป็นช่วงหลังจากตกไข่ไปแล้วประมาณ 6 - 10 วัน หรือการตั้งครรภ์จริง ๆ จะเริ่มในช่วงสัปดาห์ที่ 3 นี่แหละค่ะ
เนื่องจากอายุครรภ์ 2 สัปดาห์ในทางการแพทย์นั้น จะเป็นเพียงระยะเตรียมพร้อมก่อนการตกไข่ ดังนั้น จึงยังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์นี้อย่างแน่นอน แต่ระยะ 2 สัปดาห์นี้จะถูกนำมาคำนวณเป็นอายุครรภ์ก็ต่อเมื่อคุณแม่ตรวจพบการตั้งครรภ์ค่ะ
อาการตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์เป็นยังไง คุณแม่รู้สึกได้ไหม คำตอบคือ ไม่ได้ค่ะ เพราะช่วงอายุครรภ์ 2 สัปดาห์นี้จะยังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงระยะการตกไข่ของผู้หญิง ดังนั้น อาการท้อง 2 สัปดาห์ จึงควรเรียกว่า อาการตกไข่ ถึงจะถูกต้องค่ะ
โดยสัญญาณของอาการไข่ตกที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้
• อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเล็กน้อย คล้ายกับมีไข้ต่ำ ๆ
• ปากมดลูกบาง มีเมือกลื่นใส ๆ คล้ายไข่ขาวไหลออกมา
• ช่วงที่ไข่ตก ผู้หญิงหลายคนอาจรู้สึกปวดหน่วงท้องเล็กน้อย
• ช่วง 2 - 3 วันก่อนไข่ตก อาจมีอารมณ์ทางเพศสูงกว่าปกติ
• คัดตึงเต้านม เจ็บหัวนม
• อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย หรือซึมเศร้า
สิ่งสำคัญสำหรับคนที่กำลังวางแผนจะตั้งครรภ์ จะต้องรู้ก่อนว่าอายุครรภ์ 2 สัปดาห์ที่ว่านั้นจะยังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจริง ๆ แต่เป็นช่วงที่ร่างกายเข้าสู่กระบวนการไข่ตกต่างหาก ซึ่งระยะไข่ตกนี้ ร่างกายของว่าที่คุณแม่ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงที่สามารถสังเกตได้หลายอย่างด้วยเหมือนกัน
ในช่วงอายุครรภ์ 2 สัปดาห์ หรือช่วงไข่ตกนั้น คุณแม่อาจพบสัญญาณทางร่างกายต่าง ๆ ดังนี้
• อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเล็กน้อย คล้ายกับมีไข้ต่ำ ๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจากระดับฮอร์โมนในร่างกายที่พุ่งสูงขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตกไข่
• ปากมดลูกบาง มีเมือกลื่นใส ๆ คล้ายไข่ขาวไหลออกมา เพราะช่วงที่ไข่ตกนั้นร่างกายจะมีการผลิตมูกออกมามากขึ้น เพื่อให้มูกเหล่านี้ช่วยในการลำเลียงอสุจิไปยังไข่ รวมถึงยังช่วยให้อสุจิมีชีวิตได้นานขึ้น 3 - 5 วันอีกด้วย มากไปกว่านั้น ยังช่วยในการหล่อลื่นขณะมีเพศสัมพันธ์ในวันไข่ตก จึงถือได้ว่ามูกเหล่านี้มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้อีกทางหนึ่ง
• มีอาการปวดหน่วงท้องเล็กน้อย ซึ่งบางคนก็รู้สึกได้ แต่บางคนก็ไม่ทันได้สังเกตว่ามีอาการเช่นนี้เกิดขึ้น โดยช่วงเวลาที่ไข่ตกนั้น ถุงรังไข่ที่มีการขยายตัวจะเกิดการแตกออก และไข่ที่สุกก็จะตกลงมา ทำให้หลายคนอาจมีอาการปวดจี๊ด ๆ หรือปวดหน่อง ๆ ที่ท้องน้อย หรือบริเวณอุ้งเชิงกราน
• คัดตึงเต้านม เจ็บหัวนม เกิดจากระดับฮอร์โมนในร่างกายที่มีความผันผวน ส่งผลให้หลายคนมีอาการคัดตึงเต้านม จับที่หัวนมแล้วรู้สึกเจ็บแปล๊บ ๆ หรือเวลาสัมผัสที่หัวนมจะรู้สึกเสียวเป็นพิเศษ
นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่สามารถสังเกตได้แล้ว ระยะไข่ตกนี้ยังสามารถสังเกตได้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น
• มีอารมณ์ทางเพศสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 2 - 3 วันก่อนไข่ตก หลายคนจะมีความต้องการทางเพศสูงเป็นพิเศษ เนื่องจากระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในรังไข่มีปริมาณสูงขึ้น ซึ่งเป็น 'ฮอร์โมนเพศชาย' ที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมสมรรถภาพทางเพศ ช่วยเพิ่มความรู้สึกทางเพศให้มากขึ้น
• อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย หรือซึมเศร้า อารมณ์ที่แปรปรวนไปเหล่านี้ นอกจากจะพบได้ในช่วงที่เป็นประจำเดือนแล้ว ก็ยังพบได้ในช่วงที่ไข่ตกด้วยเหมือนกันค่ะ นั่นเป็นเพราะว่าช่วงที่ไข่ตกนั้นระดับฮอร์โมนในร่างกายจะผันผวน จึงส่งผลต่อระดับอารมณ์ที่แปรปรวนตามไปด้วย
อาการปวดหน่วงท้องน้อยในช่วงอายุครรภ์ 2 สัปดาห์นั้น จริง ๆ ยังไม่ใช่อาการใด ๆ ที่แสดงออกว่าตั้งครรภ์ค่ะ แต่อาการปวดหน่วงท้องน้อยในระยะนี้ เป็นผลมาจากการตกไข่
โดยในช่วงก่อนที่ไข่จะตกนั้น ถุงรังไข่จะมีการขยายตัวใหญ่ขึ้น เมื่อไข่สุก ถุงรังไข่ก็จะแตกโพล๊ะ ทำให้ไข่ที่สุกแล้วตกลงมา ช่วงที่รังไข่แตกจึงอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหน่วงที่ท้องน้อยได้ค่ะ
อย่างไรก็ตาม อาการปวดหน่วงนี้ผู้หญิงบางคนก็เป็น บางคนก็ไม่เป็น หรือบางครั้งก็ปวดแค่เพียงเล็กน้อยจนแทบไม่รู้สึกตัวก็มีค่ะ
เนื่องจากในช่วงอายุครรภ์ 2 สัปดาห์นั้น ถือเป็นช่วงก่อนที่จะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น หรือเรียกได้ว่าเป็นช่วงการเตรียมพร้อมสู่การตั้งครรภ์ ดังนั้น ในระยะนี้จึงจะยังไม่มีทั้งตัวอ่อนหรือตัวทารกอยู่ในท้องแน่นอนค่ะ
อายุครรภ์ 2 สัปดาห์ เป็นช่วงการตกไข่ ดังนั้น จึงยังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น มีเพียงไข่ที่รอเวลาให้สุก เพื่อจะตกลงมายังท่อนำไข่และรอให้เกิดการปฏิสนธิ ส่วนมดลูกก็ยังว่างเปล่า เพราะยังไม่มีการปฏิสนธิ จึงยังไม่มีตัวอ่อนมาฝังตัวที่มดลูกค่ะ
ภายในท้องของคุณแม่ในช่วงอายุครรภ์ 2 สัปดาห์นั้น จะมีเพียงไข่ ซึ่งมีขนาดเล็กมาก ๆ นอนรออยู่ในท่อนำไข่ และไข่นั้นมีอายุอยู่ได้เพียงราว ๆ 24 ชั่วโมงเท่านั้น หากไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ในช่วง 2-3 วันก่อนไข่ตก หรือไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กันในวันไข่ตก อีก 14 วันหลังจากนั้น คุณแม่ก็จะมีประจำเดือนตามปกติ
ในกระบวนการตั้งครรภ์จริง ๆ นั้น กว่าที่ทารกในครรภ์และมดลูกจะขยายใหญ่จนท้องนูนออกมาให้เห็นได้ชัดนั้นก็ล่วงเข้าไปถึงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์แล้วค่ะ
ดังนั้น ช่วงอายุครรภ์ 2 สัปดาห์ที่ยังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นเนี่ย แทบไม่ได้ส่งผลต่อขนาดหน้าท้องของผู้หญิงเลยแม้แต่น้อยค่ะ ยกเว้นว่าช่วงนั้นกินมากผิดปกติ ก็อาจจะมีพุงเล็ก ๆ พุงหมาน้อย หรือขี้ปุ๋ม ซึ่งพุงเหล่านี้ก็ไม่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์อยู่ดีค่ะ
อาการคนท้อง 1-2 สัปดาห์แรกนั้น จริง ๆ จะเรียกว่าเป็นอาการคนท้องก็ไม่ถูกค่ะ ช่วงนี้ควรเรียกว่าเป็นอาการไข่ตกน่าจะถูกต้องมากกว่า เพราะเป็นระยะที่ร่างกายจะมีการตกไข่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิสนธิและนำไปสู่การตั้งครรภ์
ดังนั้น หากกำลังวางแผนที่จะตั้งครรภ์อยู่ล่ะก็ ควรที่จะเริ่มปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น เริ่มออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ งดการสูบบุหรี่ งดการใช้ยาหรือสารเสพติด เพื่อให้มีภาวะเจริญพันธุ์ที่สมบูรณ์ เป็นการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์
อย่างเรื่องอาหารการกินนี้ หากวางแผนที่จะตั้งครรภ์จริง ๆ ควรเริ่มกินอาหารที่มีประโยชน์เพื่อสะสมสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น
• โฟลิก หญิงวัยเจริญพันธุ์ควรได้รับกรดโฟลิกวันละ 400 ไมโครกรัมก่อนตั้งครรภ์ เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะซีด หรือภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์
• แคลเซียม มีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบสืบพันธุ์และกระตุ้นการตกไข่ให้ดีขึ้น
• ธาตุเหล็ก นอกจากจะมีส่วนสำคัญช่วยลดความเสี่ยงของโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กแล้ว ยังมีส่วนช่วยช่วยให้การไหลเวียนของเลือดทำงานได้ดี ทำให้มดลูกแข็งแรงอีกด้วย
• โอเมก้า 3 ช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง และมีส่วนช่วยให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายสมดุล ทั้งยังมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการตกไข่ได้ดีขึ้นด้วย
• ดีเอชเอ การเสริมดีเอชเอก่อนตั้งครรภ์ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญค่ะ เพราะปริมาณดีเอชเอที่สะสมไว้นี้จะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะคลอดก่อนกำหนดได้
ซึ่งสารอาหารเหล่านี้สามารถพบได้ในอาหารทั่วไปที่เรากินกันในชีวิตประจำวันนี่เองค่ะ นอกจากนี้ยังสามารถเสริมได้ด้วยการดื่มนม เพราะบางครั้งอาจจะมีอาการเบื่ออาหาร หรือกินอาหารได้น้อย ก็อาจจะทำให้ร่างกายได้สารอาหารจำเป็นไม่ครบถ้วน
การดื่มนมเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มพูนสารอาหารให้แก่ร่างกายได้ง่าย ๆ และนมสำหรับคนท้องนั้นก็สามารถเริ่มกินได้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ด้วยค่ะ
สำหรับว่าที่คุณแม่ที่วางแผนจะตั้งครรภ์นั้น ควรเริ่มตั้งต้นที่จะดูแลตนเองได้เลยค่ะ ไม่จำเป็นต้องรอให้ตั้งครรภ์จริง ๆ ก่อนแล้วถึงค่อยปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพราะยิ่งสภาพร่างกายสมบูรณ์และแข็งแรงมากเท่าไหร่ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ให้มากขึ้นได้
จริงอยู่ค่ะที่ว่าถ้าวางแผนจะมีลูก แค่ตกลงกันกับคนรักก็จบแล้ว แต่...อย่าลืมว่าการตั้งครรภ์นั้นมีความเสี่ยง เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าทารกที่จะเกิดมานั้นจะมีความผิดปกติอะไรบ้าง หรือสภาวะร่างกายของคุณแม่เสี่ยงจะเกิดภาวะอันตรายอะไรหรือเปล่า
หรือมีใครเป็นหมัน หรือภาวะมีบุตรยากหรือเปล่า หรือใครมีพาหะที่จะส่งต่อไปยังทารกที่จะเกิดมาไหม การไปพบแพทย์พร้อมกันทั้งคู่เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยร่างกาย ตรวจหาความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในขณะตั้งครรภ์ ก็จะเป็นตัวช่วยวางแผนอนาคตการตั้งครรภ์ได้ดีทีเดียว
เมื่อไปพบแพทย์ ทุกอย่างลงตัว การตั้งครรภ์ไม่มีความเสี่ยง หรือความเสี่ยงน้อย สุขภาพของทั้งคู่พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ ก็ควรที่จะเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เพื่อเสริมภาวะเจริญพันธุ์ให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์
โดยหนึ่งในสารอาหารสำหรับว่าที่คุณแม่ที่กำลังวางแผนจะมีลูกควรจะต้องเริ่มสะสมเอาไว้ตั้งแต่ก่อนจะตั้งท้องก็คือ โฟลิก หรือโฟเลต ซึ่งมีส่วนช่วยลดความบกพร่องของท่อประสาทไขสันหลัง ลดความพิการของทารกในครรภ์
ดังนั้น หากสามารถเริ่มสะสมได้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ก็จะยิ่งลดความเสี่ยงของความบกพร่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและสมองของลูกได้ค่ะ
สารเสพติดนอกจากจะไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ และทำให้สมรรถภาพทางเพศแย่ลงแล้ว ยังเพิ่มโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ ทั้งการคลอดก่อนกำหนด การแท้ง หรือทารกมีความพิการแต่กำเนิด
สำหรับผู้ชายแอลกอฮอล์และสารพิษจากบุหรี่ มีส่วนในการทำลายอสุจิ ทำให้อสุจิไม่แข็งแรง หรือเสื่อมสภาพ สำหรับผู้หญิงก็จะมีผลต่อการตกไข่ ทำให้ไข่ไม่สมบูรณ์ หรือไข่ไม่ตก ซึ่งเมื่อไข่และอสุจิไม่สมบูรณ์ การปฏิสนธิก็เป็นไปได้ยาก ทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ลดลง
ความเครียดนอกจากจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ ทำให้สมรรถภาพทางเพศถดถอย การตกไข่ผิดปกติ ไข่ไม่สมบูรณ์ ประจำเดือนผิดปกติ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ลดลง
หรือต่อให้สามารถตั้งครรภ์ได้สำเร็จ คุณแม่ก็จะมีความเสี่ยงในขณะตั้งครรภ์อื่น ๆ ตามมา เช่น การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด อันเป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงของสารชีวเคมีในร่างกายขณะเครียด
การนับอายุครรภ์ในทางการแพทย์นั้น จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุดค่ะ ซึ่งเมื่อนับมาจนครบ 2 สัปดาห์ ก็จะเป็นช่วงที่ร่างกายอยู่ในกระบวนการตกไข่ จึงยังไม่ถือว่าช่วงนี้เป็นระยะการตั้งครรภ์ แต่จะถูกนำมานับรวมเป็นอายุครรภ์ทันทีเมื่อตรวจพบการตั้งครรภ์ค่ะ
อายุครรภ์ 2 สัปดาห์ ยังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น เพราะเป็นช่วงระยะไข่ตกเท่านั้น ดังนั้น จึงยังไม่มีอาการคนท้องหรือสัญญาณคนท้องใด ๆ เกิดขึ้นมาในช่วงนี้ จะมีก็แค่เพียงอาการไข่ตกค่ะที่สามารถสังเกตได้
อาการปวดหน่วงท้องน้อยในช่วงอายุครรภ์ 2 สัปดาห์นั้น จริง ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการตั้งครรภ์ค่ะ แต่เกิดขึ้นจากการตกไข่ โดยในช่วงก่อนไข่ตกนั้นถุงรังไข่จะมีการขยายตัวใหญ่ขึ้น เมื่อถึงเวลาไข่ตก ถุงรังไข่ก็จะแตกให้ไข่หลุดออกมายังท่อนำไข่ ช่วงที่ถุงรังไข่แตกนี้จึงอาจทำให้รู้สึกปวดหน่วงท้องน้อย หรือเจ็บจี๊ด ๆ ที่ท้องน้อยได้ค่ะ
Enfa สรุปให้ อายุครรภ์ 17 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 5 – 5.1 นิ้ว มีน้ำหนักประมา...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ ทารกจะมีขนาดยาวประมาณ 5.6 นิ้ว หนักประมาณ 190 - 1...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 7 นิ้ว หนักประมาณ 300 - 310...
อ่านต่อ