นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เอนฟาสนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนไปจนถึง 2 ปี หรือนานกว่าตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

Striae Gravidarum คืออะไร รู้จักหน้าท้องแตกลายตั้งครรภ์

Enfa สรุปให้

  • striae gravidarum คือ หน้าท้องแตกลายตั้งครรภ์ ถือเป็นภาวะที่พบได้ถึง 50-90% ในผู้หญิงตั้งครรภ์ บางคนอาจมีผิวแตกลายบริเวณหน้าอก สะโพก ต้นขา แต่บริเวณท้องถือเป็นส่วนที่พบมากที่สุด
  • Striae Gravidarum ส่วนใหญ่ปรากฏช่วงไตรมาสที่ 2 หรือ 3 เมื่อท้องขยายตัวเร็ว ผิวหนังยืดออกมากเกินกว่าคอลลาเจนและอีลาสตินจะรองรับได้ ในคุณแม่บางคนอาจเริ่มเห็นตั้งแต่เดือนที่ 4-5 ของการตั้งครรภ์ บางคนอาจเห็นชัดเดือนที่ 7-8
  • หน้าท้องแตกลายตั้งครรภ์เรียกว่า Striae Gravidarum บางครั้งอาจเรียกสั้น ๆ ว่า “Striae” เป็นรอยแตกลายแรกเริ่มจะมีสีชมพูหรือแดง ในบางรายอาจออกสีม่วงชมพู ต่อมาผิวจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเงินหรือขาวเงินหลังคลอด

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

เมื่อการตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่ทั้งน่าตื่นเต้น และท้าทายสำหรับคุณแม่มือใหม่ ทั้งการเตรียมพร้อมต้อนรับเจ้าตัวน้อยในครรภ์ หรือความเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลายประการ ทั้งด้านอารมณ์ ฮอร์โมน หรือน้ำหนักตัว  

การเปลี่ยนแปลงกับผิวหนังก็เป็นอีกเรื่องที่คุณแม่ต้องรับมือ โดยเฉพาะ หน้าท้องแตกลาย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อท้องขยายตัวอย่างรวดเร็วตามการเติบโตของลูก

ในทางการแพทย์ เรียกภาวะหน้าท้องแตกลายตั้งครรภ์ว่า Striae Gravidarum ถือเป็นภาวะที่พบได้ถึง 50-90% ในผู้หญิงตั้งครรภ์ บางคนอาจมีผิวแตกลายบริเวณหน้าอก, สะโพก, ต้นขา แต่บริเวณท้องถือเป็นส่วนที่พบมากที่สุด 

คุณแม่หลายคนอาจกังวลว่าสิ่งนี้จะทำลายความมั่นใจ และจะหายไปได้เองไหมหลังคลอด หรือจะมีปัญหาฝ้าตั้งครรภ์ที่ทำให้ผิวเกิดรอยคล้ำตามใบหน้าตามมา บทความนี้จะพามาทำความเข้าใจถึงภาวะหน้าท้องแตกลาย และวิธีดูแล ทั้งในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอดเพื่อคลายความกังวลใจของคุณแม่กันค่ะ 


Striae Gravidarum คือ อะไร

หน้าท้องแตกลายตั้งครรภ์เรียกว่า Striae Gravidarum ในวงการแพทย์ โดยคำว่า “Gravidarum” หมายถึง “เกี่ยวกับการตั้งครรภ์” ส่วน “Striae” หมายถึงรอยแผลเป็นเชิงลายยาวบนผิวหนัง จึงรวมความหมายคือ รอยแตกบนผิวหนังที่เกิดจากการตั้งครรภ์

Striae Gravidarum อ่านว่า “สไตร-เอ กรา-วิ-ดา-รัม” บางครั้งอาจเรียกสั้น ๆ ว่า “Striae” หรือ “รอยแตกลายขณะตั้งครรภ์” โดยลักษณะของ Striae Gravidarum จะเป็นรอยแตกลายแรกเริ่มจะมีสีชมพูหรือแดง ในบางรายอาจออกสีม่วงชมพู ต่อมาผิวจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเงินหรือขาวเงินหลังคลอด พบบ่อยบริเวณหน้าท้อง ต้นขา สะโพก และหน้าอก อาจเป็นเส้น ๆ หรือเป็นลายใหญ่ มีขอบไม่เรียบ ขึ้นอยู่กับสภาพผิวหนังของแต่ละคน

ระยะเวลาที่พบบ่อย ส่วนใหญ่ปรากฏช่วงไตรมาสที่ 2 หรือ 3 เมื่อท้องขยายตัวเร็ว ผิวหนังยืดออกมากเกินกว่าคอลลาเจนและอีลาสตินจะรองรับ ในคุณแม่บางคนอาจเริ่มเห็นตั้งแต่เดือนที่ 4-5 ของการตั้งครรภ์ บางคนอาจเห็นชัดเดือนที่ 7-8

สาเหตุของ Striae Gravidarum มาจากการที่ผิวหนังชั้นกลาง (Dermis) ถูกยืดออกเร็วเกินไปจนเส้นใยคอลลาเจนฉีกขาด อีกทั้งฮอร์โมนตั้งครรภ์ เช่น คอร์ติโซน (Cortisol) และเอสโตรเจน ทำให้โครงสร้างผิวเปราะบางลง รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ เช่น พันธุกรรม, น้ำหนักตัวขึ้นมากระหว่างตั้งครรภ์, อายุ ถ้าตั้งครรภ์ช่วงวัยรุ่นมีโอกาสแตกลายได้มากกว่า

Striae Gravidarum จึงเป็นภาวะผิวแตกลายจากการยืดขยายของผิวหนังและการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ มักพบที่หน้าท้อง ต้นขา สะโพก และหน้าอก โดยในภาษาไทยเรียกว่า “หน้าท้องแตกลายตั้งครรภ์”

นอกจากนั้น ยังมีอาการอื่นๆ ประกอบ ได้แก่

ผิวหนังคล้ำ
การสะสมของเม็ดสีบริเวณแนวกลางตัวของหน้าท้อง เรียว่า Linea nigra สะสมบริเวณใบหน้า และคอเรียกว่า chloasma หรือ melasma gravidarum หรือ mask of pregnancy หลังคลอดจะจางลงหรือหายไป ซึ่งการทานยาคุมกำเนิดจะทำให้เกิดผิวคล้ำและฝ้าเช่นนี้ได้ สาเหตุการเกิดเชื่อว่าเกิดจากเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน กระตุ้นระดับของฮอร์โมนที่กระตุ้นเม็ดสีให้สูงขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือด 
Angioma หรือ vascular spider พบ 2 ใน 3 ของสตรีตั้งครรภ์ผิวขาว และ 10% ของสตรีตั้งครรภ์ผิวดำพบบ่อยบริเวณหน้า คอ อกด้านบน ต้นแขน โดยจะเป็นผิวนูนแดง แตกแขนงออกไปจากตรงกลางคล้ายแมงมุม, Palmar erythema พบ 2 ใน 3 ของสตรีตั้งครรภ์ผิวขาว และ1 ใน 3 ของสตรีตั้งครรภ์ผิวดำทั้งสองที่กล่าวมาสัมพันธ์กับเอสโตรเจนที่สูง หายเองได้หลังคลอด

 

Striae Gravidarum เกิดจากอะไร

เมื่อเราเข้าใจแล้วว่า Striae Gravidarum คืออะไร คราวนี้มาดูกันค่ะว่า striae gravidarum เกิดจากอะไร  มีกลไกในผิวหนัง และปัจจัยเสี่ยงใดบ้างที่ทำให้บางคนเป็นมาก บางคนเป็นน้อย

กลไกการแตกของคอลลาเจนในชั้นหนังแท้

  • ผิวหนังมีสามชั้นหลัก ได้แก่ หนังกำพร้า (Epidermis) ชั้นหนังแท้ (Dermis) และชั้นไขมันใต้ผิว (Hypodermis)
  • ชั้นหนังแท้เป็นที่อยู่ของคอลลาเจนและอีลาสติน ช่วยให้ผิวมีความยืดหยุ่นและแข็งแรง
  • ในการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะช่วงท้องขยายอย่างรวดเร็ว ชั้นหนังแท้ยืดมากจนบางครั้งเกิดรอยฉีก ทำให้เห็นเป็นลายแตก (Striae) บนผิวหน้า

ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้อง

  • ฮอร์โมน Glucocorticoid (Cortisol) ที่หลั่งเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ อาจทำให้การสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินลดลง เมื่อผิวยืดเร็ว คอลลาเจนจึงฉีกขาดง่าย
  • เอสโตรเจน (Estrogen) ในระดับสูงอาจมีส่วนเพิ่มความเปราะบางของเนื้อเยื่อผิวเช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยง

  • พันธุกรรม: หากแม่หรือพี่สาวเคยมีรอยแตกลายหนัก ก็มีโอกาสที่ลูกสาวจะมีด้วย
  • การขึ้นน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว: ยิ่งน้ำหนักขึ้นมากในเวลาสั้น ๆ ผิวถูกยืดเร็วก็ก่อรอยแตกมาก
  • อายุน้อยหรือวัยรุ่น: ผิวอาจยังไม่สมบูรณ์ ร่างกายปรับตัวได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่
  • ภาวะแฝดหรือครรภ์ใหญ่: ทำให้ท้องโตมากกว่าปกติ
  • ภาวะทางฮอร์โมนอื่น: เช่น คอร์ติโซน (Cushing’s Syndrome) หรือกินยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน

ระยะเวลาและลักษณะความเปลี่ยนแปลง

  • ในระยะแรก (Striae Rubra) รอยแตกจะเป็นสีแดง ชมพู หรือม่วง เพราะมีหลอดเลือดอยู่ใกล้ผิว
  • หลังคลอดหรือเวลาผ่านไป (Striae Alba) รอยนั้นจะค่อย ๆ จางเป็นสีขาวเงิน ซึ่งบางคนอาจพอใจเพราะไม่เด่นชัดเท่า แต่ผิวจะมีลักษณะเป็นแผลเป็นถาวร

ความรุนแรงแตกต่างกันในแต่ละคน
บางคนมีเพียงลายบางๆ ไม่มาก บางคนลายหนาและยาวทั้งหน้าท้องและสะโพก ขึ้นกับปัจจัยผิวพื้นฐาน ช่วงอายุ น้ำหนัก การดูแลผิว และความยืดหยุ่นของคอลลาเจน

 

Striae Gravidarum รักษาอย่างไร

เมื่อเราได้รู้แล้วว่า Striae Gravidarum คืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร คุณแม่หลายคนย่อมอยากรู้ว่า Striae Gravidarum รักษาอย่างไร จริงๆ แล้ว รอยแตกลายนี้ป้องกันได้ยากค่ะ เพราะคุณแม่ไม่สามารถที่จะยับยั้งการขยายตัวของหน้าท้องได้ เนื่องจากขนาดของทารกนั้นมีแต่จะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
หากคุณแม่เป็นคนที่ออกกำลังกายมาหลายปีจนมีผนังหน้าท้องที่แข็งแรง หรือเป็นการตั้งครรภ์ตอนอายุน้อย ซึ่งขนาดท้องจะไม่นูนใหญ่ออกมาเท่ากับคนที่ตั้งครรภ์หลายครั้งและคนที่ผนังหน้าท้องไม่ได้แข็งแรง ก็เป็นไปได้ว่ารอยแตกลายอาจจะไม่มี หรือมีแต่ก็น้อย และจางมากๆ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าคุณแม่ส่วนใหญ่จะไม่ได้โชคดีขนาดนั้น และมักจะต้องพบเจอกับรอยแตกลายอย่างแน่นอน ซึ่งวิธีป้องกันแบบ 100% คงจะไม่มี แต่คุณแม่สามารถป้องกันรอยแตกลายได้บ้าง ดังนี้

วิธีการป้องกันอาการหน้าท้องแตกลายตั้งแต่เนิ่น ๆ

  • ควบคุมน้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์: ไม่ให้น้ำหนักขึ้นรวดเร็วเกินไป แพทย์ส่วนใหญ่แนะนำให้ขึ้นประมาณ 10-15 กก. สำหรับคนตัวปกติ
  • ทาครีมบำรุงหรือออยล์: ผลิตภัณฑ์จำพวก Shea Butter, Cocoa Butter, น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันอัลมอนด์ ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น ยืดหยุ่นขึ้น
  • ดื่มน้ำเพียงพอ: ผิวที่ขาดน้ำจะเปราะบางง่าย ควรดื่มน้ำวันละประมาณ 8 แก้ว หรือมากกว่าถ้าคุณแม่มีกิจกรรมเยอะ

การรักษาหลังมีรอยแล้ว

1. การใช้ครีม เจล หรือครีมบำรุงผิว
ควรใช้ในขณะที่รอยแตกลายยังเป็นสีแดงหรือม่วง ส่วนใหญ่เป็นครีมที่มีส่วนผสมของเรตินอยด์ (Retinoid) ซึ่งเป็นสารอนุพันธุ์ของวิตามินเอ อย่างเตรทติโนอิน (Tretinoin) กรดวิตามินเอในตัวยาจะช่วยสร้างคอลลาเจนในชั้นผิวหนังขึ้นมาใหม่ ทำให้รอยแตกลายปรับสภาพคล้ายกับผิวหนังปกติ

ผลข้างเคียงจากครีมนี้คืออาจก่อให้เกิดการระคายเคือง ควรระมัดระวังในการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ตั้งครรภ์หรือแรกคลอด ควรปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อนการใช้ หรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ครีมและโลชั่นที่ปราศจากวิตามินเอสำหรับคนท้อง โดยเฉพาะอย่างผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น ครีมที่มีส่วนผสมของโกโก้บัตเตอร์ อาแกนออยล์ วิตามินอี เชียบัตเตอร์ ซึ่งครีมเหล่านี้มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ผิว ช่วยเพิ่มความยืดยุ่นให้แก่ผิวเพื่อรองรับการขยายของหน้าท้องอย่างรวดเร็วและมีความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่การใช้ครีมเหล่านี้ก็ไม่ได้มีประสิทธิผลที่ชัดเจนมากไปกว่าการที่ท้องลายจะจางลงไปตามกาลเวลา

2. การใช้บอดี้ออยล์บำรุงผิว (Body oil)
บอดี้ออยล์จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวได้เป็นอย่างดี แต่ควรเลือกใช้บอดี้ออยล์ที่ไม่มีส่วนผสมของ Mineral oil ที่ผลิตมาจากน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งจะก่อให้เกิดการอุดตันเป็นสาเหตุของการเกิดสิวบนผิวหนัง ในปัจจุบันมีบอดี้ออยล์ที่สกัดมาจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันโรสฮิป ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเซลล์ผิวที่มีริ้วรอยแตกลายให้จางลงอย่างรวดเร็วหรือ Sesame Oil ที่จะช่วยให้ผิวกายกระชับ ชุ่มชื้น และยืดหยุ่นขึ้น

สำหรับผู้ที่ไม่ชอบบอดี้ออยล์เนื่องจากเหนียวตัว อาจเลือกใช้ให้บอดี้ออยล์ที่มี Cetesomate – E complex ที่ช่วยให้ซึบซาบได้ลึกถึงผิวชั้นใน โดยไม่ทิ้งความมันและเหนียวเหนอะหนะบนผิว

3. การปกปิดรอยด้วยเครื่องสำอาง
ควรเลือกใช้ครีมรองพื้นหรือเครื่องสำอางที่มีคุณภาพ และไม่มีสารเคมีอันตราย หาซื้อได้ตามร้านขายยาและร้านค้าชั้นนำทั่วไป ใช้ทาปกปิดผิวได้ในบริเวณที่มีรอยแตกลายขนาดเล็ก

4. การรักษาด้วยเลเซอร์
การเลเซอร์ผิวหนังเป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง เพราะแพทย์ต้องใช้เครื่องยิงลำแสงเลเซอร์ไปที่ผิวหนังบริเวณที่เป็นรอยแตกลาย เพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนหรืออีลาสติน โปรตีนที่ชั้นผิวหนัง ซึ่งจะช่วยลดรอยแตกลาย ปรับให้ผิวท้องลายเจือจางลงและกลมกลืนกับผิวหนังปกติ แม้ไม่ได้ทำให้ท้องลายหายไปโดยสิ้นเชิง

แต่จะทำให้รอยจางจนสังเกตเห็นได้น้อยลง จำนวนครั้งและการเห็นผลจากการทำเลเซอร์ขึ้นกับแต่ละบุคคล โดยแพทย์จะแนะนำประเภทของเลเซอร์ที่เหมาะสมกับสภาพผิวหนังและรอยแตกลายแต่ละชนิด

5. การขัดผิวด้วยผงผลึกแร่ (Microdermabrasion)
สำหรับการขัดผิวด้วยผงผลึกแร่นั้น แพทย์จะใช้เครื่องมือพ่นผลึกแร่ที่ละเอียดมาก เพื่อลอกผิวหนังกำพร้าชั้นตื้นๆ กระตุ้นให้เกิดเซลล์ผิวหนังใหม่ และเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผิวหนังเดิม
วิธีการนี้อาจมีค่าใช้จ่ายสูงและต้องทำซ้ำอีกหลายรอบเพื่อประสิทธิผลสูงสุด หลังการรักษาอาจทำให้ผิวแพ้แสงง่าย ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังบริเวณที่กรอผิวสัมผัสแสงแดดโดยตรง หรือควรทาครีมกันแดดเพื่อปกป้องผิว โดยวิธีการนี้ไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ที่มีผิวสีเข้ม เนื่องจากอาจเกิดรอยและความไม่สมดุลของสีผิวตามมา

6. การทำศัลยกรรมตกแต่ง
แพทย์จะทำการผ่าตัดเอาไขมันส่วนเกินบริเวณหน้าท้องพร้อมกับผิวหนังที่มีรอยแตกลายออกไป เป็นการศัลยกรรมเพื่อความงาม มีค่าใช้จ่ายสูง และจะเกิดเป็นรอยแผลเป็นหลังการผ่าตัด แพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้หากไม่มีความจำเป็น

7.นวดน้ำมัน
การนวดเบา ๆ บริเวณหน้าท้อง เอว สะโพก และต้นขาด้วยน้ำมันธรรมชาติ เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันอัลมอนด์ หรือน้ำมันมะพร้าว เช้าและเย็นจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของผิว ทำให้ผิวมีความยืดหยุ่นและลดการแตกลาย ควรเริ่มทาตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์และทำต่อเนื่องจนท้องแก่ การนวดจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและทำให้ผิวหนังมีความแข็งแรง

8.หลีกเลี่ยงการเกาผิว
เมื่อผิวหนังขยายตัวมาก ๆ คุณแม่อาจรู้สึกคัน แต่อย่าเกาเด็ดขาด เพราะการเกาจะทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบและแตกได้ง่าย เมื่อรู้สึกคัน ควรใช้ครีมหรือออยล์ทาเบา ๆ เพื่อบรรเทาอาการคันแทน

9.เลี่ยงการอาบน้ำอุ่นร้อนจัด
การอาบน้ำอุ่นร้อนจัดจะทำให้ผิวแห้งและแตกง่าย ควรอาบน้ำอุ่นในอุณหภูมิที่ไม่สูงมาก และหลังจากอาบน้ำเสร็จ ควรทาครีมบำรุงผิวทันที เพื่อให้ความชุ่มชื้นกลับเข้าสู่ผิว นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่ทำให้ผิวแห้ง เช่น สบู่ที่มีสารซักฟอกแรง ๆ และเลือกใช้สบู่ที่มีความอ่อนโยนและมีมอยส์เจอร์ไรเซอร์สูง

10.ควบคุมน้ำหนักและดื่มน้ำมาก ๆ
ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยการทานอาหารที่มีประโยชน์และหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมันสูงและน้ำตาลมาก การเพิ่มน้ำหนักอย่างรวดเร็วจะทำให้ผิวหนังขยายตัวอย่างรวดเร็วและทำให้เกิดรอยแตกลายได้ง่าย ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 12 แก้ว เพื่อให้ผิวชุ่มชื้นและยืดหยุ่น การดื่มน้ำเพียงพอจะช่วยให้ระบบการทำงานของร่างกายดีขึ้นและส่งผลดีต่อผิวหนังด้วย

ไม่อยากท้องลาย ป้องกันอย่างไรดี
สำหรับผู้ที่กำลังกังวลเกี่ยวกับปัญหาท้องลายที่ยังไม่เกิด หรือแนวโน้มที่จะเกิดในไม่ช้า อย่างผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หรือผู้ที่มีการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องอย่างเลี่ยงไม่ได้ แนวทางการป้องกันหรือบรรเทาอาการท้องลายที่ดีที่สุด คือ การรักษาสุขภาพ การดูแลรูปร่างและน้ำหนักตัว

โดยควรควบคุมน้ำหนักตัวให้มีค่า BMI อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี (18.5-25) ผู้ที่อยู่ในภาวะอ้วนหรือมีแนวโน้มของภาวะอ้วน ควรลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร รับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุสูง อย่างวิตามินอี วิตามินซี แร่สังกะสี และแร่ซิลิคอน ไม่รับประทานในปริมาณมากจนเกินไป ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ

 

Chloasma Gravidarum คือ อะไร รักษาอย่างไร

นอกจาก Striae Gravidarum ยังมีอาการ Chloasma Gravidarum หรือ ฝ้าตั้งครรภ์ ที่คุณแม่หลายคนพบเจอ โดยเฉพาะบนใบหน้า แม้จะไม่เกี่ยวกับการแตกลายโดยตรง แต่ก็เป็นอีกปัญหาผิวที่เกิดจากฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์เช่นกัน

Chloasma Gravidarum คืออะไร
บางทีเรียกว่า Melasma หรือ “Mask of Pregnancy” หมายถึง ฝ้าหรือจุดด่างดำบนใบหน้าที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เพศหญิง (Estrogen, Progesterone) ช่วงตั้งครรภ์ มักปรากฏเป็นปื้นสีน้ำตาลหรือเทา บริเวณโหนกแก้ม สันจมูก หน้าผาก หรือคาง

สาเหตุที่นำไปสู่ Chloasma Gravidarum

  • ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน: ระดับสูงในระหว่างตั้งครรภ์กระตุ้นให้เมลาโนไซต์ (Melanocytes) หรือเซลล์สีใต้ผิวหนังผลิตเม็ดสีมากขึ้น
  • พันธุกรรม: ถ้าแม่หรือญาติพี่น้องมีฝ้าเกิดระหว่างตั้งครรภ์ ก็มักถ่ายทอดความเสี่ยงได้
  • แสงแดด: รังสียูวีเพิ่มการกระตุ้นเม็ดสี ทำให้ผิวคล้ำมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ปกป้องผิว

การรักษาและดูแล

  • ป้องกันแสงแดด: ใช้ครีมกันแดด SPF 30 ขึ้นไป ทาซ้ำทุก 2-3 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงแดดจัดช่วง 10.00-16.00 น.
  • ครีมบำรุงลดฝ้า: - หลังคลอด หากยังเป็นฝ้ารุนแรง แพทย์อาจให้ครีมลดเม็ดสี เช่น Hydroquinone, Tretinoin แต่ควรปรึกษาแพทย์เพราะมีข้อจำกัดในการใช้ระหว่างให้นม
    Chemical Peel หรือ Laser: อาจช่วยจางลงบ้าง แต่ยังมีโอกาสกลับมาใหม่หากโดนแดดอีก
  • ดูแลโภชนาการ: วิตามินซี สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น เบต้าแคโรทีน, วิตามินอี อาจช่วยส่งเสริมความสมดุลของผิวจากภายใน

ความแตกต่างระหว่าง Striae Gravidarum กับ Chloasma Gravidarum
Striae Gravidarum เป็นรอยแตกลายตามตัว, Chloasma Gravidarum เป็นฝ้าหรือปื้นคล้ำบนใบหน้า ทั้งสองเกิดจากฮอร์โมนตั้งครรภ์และการยืดขยายของร่างกาย แต่มีลักษณะผิวหนังแตกต่างกัน วิธีดูแลก็ต่างกันเล็กน้อย Striae เน้นครีมป้องกันแตกลาย ส่วน Chloasma เน้นกันแดดและครีมลดเม็ดสี

 

อนาคตที่ดีที่สุดของลูกน้อย เริ่มต้นด้วยโภชนาการผ่านคุณแม่ 

การเตรียมตัวก่อนและระหว่างตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม ไม่ใช่แค่ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องผิวหนัง แต่มันยังส่งผลดีต่อสุขภาพและพัฒนาการของลูกน้อยในท้องด้วย รวมทั้งการดูแลโภชนาการของคุณแม่มีความสำคัญอย่างมาก คุณแม่ควรใส่ใจสารอาหารที่ครบถ้วน เพราะสารอาหารเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปในน้ำนม ให้ลูกได้รับเพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมอง

การได้รับโภชนาการที่ดี มีคุณภาพ ซึ่งไม่เพียงสำคัญกับพัฒนาการลูกในครรภ์ แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพ และช่วยสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้คุณแม่เองด้วย 

โภชนาการที่ดีหมายถึง การที่คุณแม่ได้รับสารอาหารอย่างสมดุล คือได้รับทั้งสารอาหารหลัก (โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน) และสารอาหารรอง (เกลือแร่ และวิตามิน) ซึ่งช่วยส่งเสริมการทำงานของจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ของคุณแม่ 

นอกจากนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเสริมสารอาหารอย่างกรดโฟลิก และวิตามินบี 12 ที่มีบทบาทสำคัญในระบบภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพใจให้ดี เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่ และเจ้าตัวน้อย


  • ม.นเรศวร. ผิวแตกลายในหญิงตั้งครรภ์. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://www.med.nu.ac.th/dpMed/fileKnowledge/261_2021-01-12.pdf. [7 กุมภาพันธ์ 2568]
  • med.cmu.ac.th. สรีรวิทยาของการตั้งครรรภ์ (Maternal Physiology). [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lecturestopics/topic-review/4115/. [7 กุมภาพันธ์ 2568]
  • clinicneo. การตั้งครรภ์: การเปลี่ยนแปลงภายนอก ที่สังเกตได้มีอะไรบ้าง ต้องป้องกันและแก้ไขอย่างไร. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.clinicneo.com/pregnancy/. [7 กุมภาพันธ์ 2568]
  • samuihospital. 5 วิธีแก้ปัญหา ท้องแตกลายของคุณแม่ท้อง. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.samuihospital.com/pregnancy-stretch-marks. [7 กุมภาพันธ์ 2568]
  • pobpad. รู้จักท้องลาย และวิธีการบรรเทาให้รอยแตกลายจางลง. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.pobpad.com/ท้องลาย-แก้อย่างไร. [7 กุมภาพันธ์ 2568]

 

โปรดอ่านข้อมูลเบื้องต้น และคลิก

“เข้าสู่เว็บไซต์”

เพื่อดำเนินการต่อ

Line TH
Shopee TH Lazada TH Join Enfamama