Enfa สรุปให้:

  • เด็ก 7 เดือนบางคนยังกินอาหารได้แค่ 1-2 มื้อ แต่เด็ก 7 เดือนหลายคนก็สามารถที่จะกินอาหารได้ 3 มื้อแล้ว ส่วนปริมาณอาหารที่เด็กต้องการนั้นก็จะแตกต่างกันไป เด็กบางคนกินได้แค่ 1 - 2 ช้อนโต๊ะ เด็กบางคนอาจกินได้ตั้งแต่ 6 - 8 หรือ 8 - 12 ช้อนโต๊ะ

  • อาหารทุกอย่างที่จะนำมาป้อนให้เด็ก 7 เดือน จำเป็นจะต้องนิ่ม บดหยาบ หรือบดละเอียด แต่อย่าปั่นจนละเอียดเกินไป จะทำให้เด็กไม่ได้ฝึกการลิ้มรสเนื้อสัมผัสต่าง ๆ รวมถึงไม่ได้ฝึกการบดเคี้ยวอาหาร

  • อาหารเด็ก 7 เดือน ทั้งเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตดูด้วยว่า หลังกินอาหารชนิดนั้น ๆ ไปแล้ว ลูกมีความผิดปกติอะไรหรือเปล่า เพราะเด็ก 7 เดือน ก็สามารถที่จะมีอาการแพ้อาหารบางอย่างได้แล้วค่ะ

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • อาหารเด็ก 7 เดือน ควรเป็นแบบไหน
     • ทารก 7 เดือน กินข้าวกี่มื้อ
     • ปริมาณอาหารสำหรับเด็ก 7 เดือน 
     • ตารางอาหารทารก 7 เดือน 
     • เมนูอาหารสำหรับเด็ก 7 เดือน 
     • ข้อแนะนำในการเตรียมอาหารให้เด็ก 7 เดือน
     • ไขข้อข้องใจเรื่องอาหารสำหรับเด็ก 7 เดือน กับ Enfa Smart Club

หลังจากเจ้าตัวเล็กได้เริ่มกินอาหารตามวัย หรือ Solid Foods ไปเมื่อเดือนก่อน ในช่วงวัย 7 เดือนนี้ เจ้าตัวเล็กอาจจะเรียกได้ว่าเป็นมือโปรด้านอาหารนุ่มนิ่มแล้วค่ะ กล่าวคือ เขาสามารถที่จะกินอาหารตามวัยได้ง่ายขึ้น และหลากหลายขึ้นด้วย

เรามาดูกันดีกว่าว่า เด็ก 7 เดือนนี้ สามารถกินอะไรได้บ้าง และมีเมนูเด็ด เมนูไหน ที่เจ้าตัวเล็กของคุณพ่อคุณแม่อาจจะชอบก็ได้นะ

อาหารเด็ก 7 เดือน ควรเป็นแบบไหน


อาหารทารก 7 เดือน หรือข้าวเด็ก 7 เดือน ควรเป็นแบบไหน? ท่องเอาไว้ก่อนเลยค่ะว่า อะไรก็ได้ จะเป็นเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ หรือข้าว ก็ขอให้นิ่มเอาไว้ก่อน เพราะทารกในวัยนี้ยังไม่สามารถจะกินอาหารแข็งแบบผู้ใหญ่ได้ ทุกเมนูจึงจำเป็นจะต้องมีการต้มจนสุก ต้มจนนิ่ม และนำมาบด เพื่อให้ลูกน้อยสามารถกินได้ง่ายขึ้น

แม้แต่ข้าวสวยที่หุงสุกแล้ว ถึงจะมีเนื้อสัมผัสที่นิ่มก็จริง แต่นิ่มของผู้ใหญ่ กับนิ่มของเด็กทารก ก็ยังถือว่าต่างกันมากอยู่ดีค่ะ ดังนั้น ข้าวสวยหุงสุกเพียว ๆ ก็ถือว่ายังไม่เหมาะสมที่จะป้อนให้เด็กวัย 6 - 7 เดือนอยู่ดีค่ะ ควรนำมามาบดให้ละเอียดก่อน

นอกจากนี้อาหารทารก 6 7 เดือนทุกอย่างก็ควรจะต้องบดละเอียด บดหยาบทุกอย่าง เพื่อให้ลูกน้อยสามารถกินข้าวได้ง่ายขึ้นค่ะ

ทารก 7 เดือนกินข้าวกี่มื้อ


แล้วเด็ก 7 เดือน กินกี่มื้อกันนะ? จริง ๆ แล้วความต้องการต่อมื้ออาหารของเด็กแต่ละคนนี่ค่อนข้างหลากหลายนะคะ เด็กบางคนอาจจะยังกินอาหารตามวัยได้น้อย เด็กบางคนอาจจะสนุกกับมื้ออาหารมากเลยกินได้หลายมื้อ

อย่างไรก็ตาม เด็กวัย 7 เดือน กินอาหารวันละ 1 - 2 มื้อก็ถือว่าเพียงพอแล้วค่ะ แต่ก็มีบ้างที่เด็กบางคนสามารถที่จะกินอาหาร 3 มื้อเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ มากไปกว่านั้น เด็กวัย 7 เดือน ก็ยังสามารถกินนมแม่ได้อยู่เหมือนเดิมนะคะ โดยปริมาณน้ำนมที่ทารก 7 เดือนต้องการในแต่ละวันจะอยู่ที่ประมาณ 25 ออนซ์ ประมาณ 3 - 4 ครั้งต่อวัน ครั้งละ 6 - 8 ออนซ์

ปริมาณอาหารเด็ก 7 เดือน


ปริมาณอาหารในแต่ละมื้อนั้น อันนี้ค่อนข้างหลากหลายค่ะ ทารก 7 เดือนบางคนอาจกินได้แค่ 1 - 2 ช้อนโต๊ะ ทารกบางคนอาจกินได้ 8 - 12 ช้อนโต๊ะก็มี คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องคอยสังเกตดูกันเอาเองค่ะว่า ลูกน้อยของเราสามารถรับอาหารได้ในปริมาณมากหรือน้อยแค่ไหนในแต่ละมื้อ

ตารางอาหารทารก 7 เดือน


จริง ๆ แล้วตารางอาหารทารกนั้นไม่มีตายตัวค่ะ อย่าลืมว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น การจะเริ่มให้เด็กกินอาหาร ก็อาจจะต้องดูธรรมชาติของเด็ก ๆ เป็นสำคัญด้วย ว่าเด็กชอบกินอะไรเป็นพิเศษ หรือไม่ชอบกินอะไร โดยตารางอาหารทารก 7 เดือนในเบื้องต้น คุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะนำมาประยุกต์ใช้ได้ มีดังนี้

เวลา

กิจวัตร/ประเภทอาหาร

07:00 น.

ตื่นนอน

07:45 น.

ให้อาหารตามวัยมื้อเช้า

09:00 น.

นอน

11:30 น.

ให้นม (ประมาณ 6 - 8 ออนซ์)

12:15 น.

ให้อาหารตามวัยมื้อเที่ยง

13:45 น.

ให้นม (ประมาณ 6 - 8 ออนซ์)

14:00 น.

นอน

16:00 น.

ให้นม (ประมาณ 6 - 8 ออนซ์)

17:30 น.

ให้อาหารตามวัยมื้อเย็น

19:00 น.

ให้นม (ประมาณ 6 - 8 ออนซ์)

19:30 น.

เข้านอน

 
สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

เมนูเด็ก 7 เดือน เสริมสร้างโภชนาการลูกน้อย


เมนูอาหารเด็ก 7 เดือนควรเป็นอย่างไร? จะทำเมนูอาหารทารก 7 เดือนแบบไหนถึงจะดี? จริง ๆ แล้วทำแบบไหนก็ถือว่าดีทั้งนั้นค่ะ ขอเพียงแค่ในมื้ออาหารของลูกประกอบไปด้วย ข้าวสวย เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ซึ่งอาหารทุกอย่างนี้ควรจะนำมาต้มสุกและบดหยาบก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ทารกสามารถกินได้ง่ายขึ้น

มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเสริมด้วยนมแม่หรือนมสูตรสำหรับทารกประมาณ 3 - 4 ครั้งต่อวัน ครั้งละประมาณ 6 - 8 ออนซ์ เพื่อให้ทารก 7 เดือนได้รับสารอาหารที่เพียงพอในแต่ละวันค่ะ

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมองหาไอเดียในการรังสรรค์เมนูใหม่ ๆ ให้ลูกน้อยวัย 7 เดือน ก็อาจจะนำไอเดียดังต่อไปนี้ มาเป็นรายการอาหารในเมนูมื้อต่อไปของลูกน้อยได้นะคะ

Enfa Kitchen สบายท้อง สมองดี

เมนูไข่แดงทารก 7 เดือน

ข้าวต้มไข่แดง

ข้าวต้มไข่แดง

ส่วนประกอบ:

  • ข้าวต้ม ½ ถ้วย
  • ไข่แดงต้มสุก ½ ฟอง
  • แครอทสับละเอียด ½ ช้อนโต๊ะ
  • ใบตำลึงสับละเอียด ½ ช้อนโต๊ะ
  • น้ำซุปกระดูกหมูหรือโครงไก่ 1 ถ้วย
     

วิธีทำ: ผสมข้าวต้มกับน้ำซุป แล้วเคี่ยวด้วยไฟอ่อน พอเคี่ยวได้สักพักให้ใส่ไข่แดงลงไป ค่อย ๆ คนจนเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นให้ใส่แคร์รอตกับใบตำลึงลงไป แล้วค่อย ๆ เคี่ยวจนกระทั่งผักเริ่มเปื่อย แล้วยกลงและตักเสิร์ฟให้เจ้าตัวเล็กได้เลย

ไข่แดงบดโยเกิร์ต

ไข่บดโยเกิร์ต

ส่วนประกอบ:

  • ไข่ต้มสุก
  • โยเกิร์ต
  • แอปเปิ้ล หรือ มันฝรั่ง หรือผลไม้อื่น ๆ
     

วิธีทำ: นำไข่ลงไปต้มจนสุก จากนั้นนำมาบด หรือหั่นออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ เสร็จแล้วให้ผสมโยเกิร์ตลงไป เพื่อเพิ่มคุณค่าทางสารอาหาร สามารถหั่นแอปเปิ้ลและมันฝรั่งชิ้นเล็ก ๆ ลงไปผสมด้วยได้ หรือจะใส่ผลไม้ชนิดอื่น ๆ ก็ได้เช่นกัน

ข้าวตุ๋นแคร์รอตฟักทองใส่ไข่แดง

ข้าวตุ๋นแครอทฟักทองใส่ไข่แดง

ส่วนประกอบ:

  • แคร์รอต
  • ฟักทอง
  • ข้าว
  • ไข่แดง
     

วิธีทำ: เริ่มจากนำข้าวและผักไปต้มรวมกันประมาณ 25 - 30 นาที เมื่อต้มเสร็จแล้วให้นำไปบดให้ละเอียด จากนั้นนำไข่ไปต้มจนสุก แล้วนำเอาไข่แดงมาบดละเอียดแล้วนำมาผสมให้เข้ากัน

อะโวคาโดเพียวเร่ไข่แดง

อะโวคาโดเพียวเร่ไข่แดง

ส่วนประกอบ:

  • ไข่แดง 2 ฟอง
  • อะโวคาโด
  • น้ำสะอาด 2 ช้อนโต๊ะ
     

วิธีทำ: บดไข่แดงและอะโวคาโดสุกเข้าด้วยกัน ขณะบดเติมน้ำซุปหรือนมแม่เรื่อย ๆ จนกระทั่งได้เนื้อเพียวเร่ตามความเข้มข้นที่ต้องการ

แคร์รอตคัสตาร์ดไข่แดง

แคร์รอตคัสตาร์ดไข่แดง

ส่วนประกอบ:

  • ไข่แดงต้มสุก 1 ฟอง
  • แคร์รอต 1/3 ถ้วย
  • นม ½ ถ้วย
     

วิธีทำ: เริ่มจากนำแคร์รอตลงไปต้มจนสุกและนิ่ม นำมาปั่นให้ละเอียดจนมีลักษณะเป็นซุปข้น จากนั้นใส่ไข่แดงบดกับนมลงไป คนให้เข้ากัน จากนั้นเทส่วนผสมทั้งหมดลงในกระทะโดยใช้ไฟอ่อน ๆ ค่อย ๆ เคี่ยวไปเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้จับตัวเป็นก้อน เมื่อได้ความเข้มข้นที่ต้องการแล้ว ยกลง ตักเสิร์ฟได้เลยค่ะ

เมนูข้าวโอ๊ตทารก 7 เดือน

ข้าวโอ๊ตตุ๋น

ข้าวโอ๊ตตุ๋น

ส่วนประกอบ:

  • ข้าวโอ๊ต ½ ถ้วย
  • น้ำสะอาดตามต้องการ
     

วิธีทำ: ต้มน้ำให้เดือด จากนั้นใส่ข้าวโอ๊ตลงไป ค่อย ๆ คนข้าวโอ๊ตเบา ๆ จนกระทั่งสุกกำลังดี เมื่อสุกแล้วให้ยกลง พักไว้ให้เย็น จากนั้นตักเสิร์ฟให้เจ้าตัวเล็กได้เลย

ข้าวโอ๊ตตุ๋นแอปเปิ้ล

ข้าวโอ๊ตตุ๋นแอปเปิล

ส่วนประกอบ:

  • ข้าวโอ๊ต 1/4 ถ้วย
  • น้ำสะอาด 1 ถ้วย
  • เนยใส ¼ ช้อนชา
  • แอปเปิ้ล 1 ผล
     

วิธีทำ: ใส่ข้าวโอ๊ตลงในหม้อแล้วต้มด้วยไฟอ่อนจนข้าวโอ๊ตนิ่ม จากนั้นล้างและปอกเปลือกแอปเปิ้ล หั่นแอปเปิ้ลเป็นชิ้นแล้วบดให้ละเอียด เมื่อข้าวโอ๊ตนิ่มได้ที่แล้วให้ตักขึ้น จากนั้นใส่เนยใส แอปเปิ้ลบดละเอียดลงไป คนให้เข้ากัน รอจนเย็นก็พร้อมเสิร์ฟได้แล้วค่ะ

ข้าวโอ๊ตตุ๋นกล้วย

ข้าวโอ๊ตตุ๋นกล้วย

ส่วนประกอบ:

  • ข้าวโอ๊ต 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำสะอาด ¾ ถ้วย
  • กล้วยสุกหั่นชิ้น ¼ ถ้วย
     

วิธีทำ: ต้มข้าวโอ๊ตด้วยไฟอ่อน ทยอยคนเรื่อย ๆ จนกระทั่งข้าวโอ๊ตสุกและนิ่มกำลังดี จากนั้นนำกล้วยมาบดพอหยาบ ๆ เมื่อข้าวโอ๊ตสุกได้ที่แล้ว ยกลง ใส่กล้วยบดหรือจะหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก็ได้ลงไป คนให้เข้ากัน รอให้เย็นก็พร้อมเสิร์ฟ

ข้าวโอ๊ตมะม่วง

ข้าวโอ๊ตมะม่วง

ส่วนประกอบ:

  • ข้าวโอ๊ต 3 ช้อนโต๊ะ
  • มะม่วงสุกหั่นชิ้นเล็ก ๆ 1 ถ้วย
  • นม 1 ถ้วย
  • น้ำตาล ½ ช้อนชา
     

วิธีทำ: ตั้งกระทะให้ร้อน จากนั้นใส่นม และข้าวโอ๊ตลงไป คอยคนอยู่เรื่อย ๆ จนข้าวโอ๊ตสุกกำลังดี ยกลงแล้วพักไว้ให้เย็น ทีนี้ให้นำเนื้อมะม่วงใส่ลงในชาม เติมน้ำตาลลงไป แล้วบดผสมให้เข้ากัน จากนั้นให้นำข้าวโอ๊ตที่สุกแล้วลงมาผสมในชามให้เข้ากันอีกครั้ง เมื่อผสมจนเข้ากันแล้วก็พร้อมตักเสิร์ฟค่ะ

*จริง ๆ ความหวานจากมะม่วงก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใส่น้ำตาลลงไปก็ได้เช่นกันนะคะ

ข้าวโอ๊ตผักรวม

ข้าวโอ๊ตผักรวม

ส่วนประกอบ:

  • ต้นหอมญี่ปุ่น 1 ต้น
  • แคร์รอต 1 หัว
  • พาร์สนิป 1 ลูก
  • บรอกโคลี 1 ถ้วย
  • ข้าวโอ๊ตตุ๋น 3 ช้อนโต๊ะ
     

วิธีทำ: หั่นส่วนผสมจำพวกผักเป็นชิ้นเล็ก ๆ จากนั้นนำลงไปต้มกับข้าวโอ๊ต เมื่อทุกอย่างเริ่มสุกแล้ว ให้ลดไฟลงแล้วต้มต่ออีกประมาณ 10-15 นาที เพื่อให้ผักนิ่มจนได้ที่ เมื่อทุกอย่างนิ่มกำลังดีแล้ว ให้ยกลงทิ้งไว้สักพัก จากนั้นนำไปใส่ในเครื่องปั่นแล้วปั่นส่วนผสมเข้าด้วยกัน ไม่ต้องละเอียดมาก ปั่นบดเอาพอหยาบ จากนั้นตักเสิร์ฟได้เลย

เมนูข้าวเด็ก 7 เดือน

ข้าวตุ๋นตำลึงเต้าหู้ไข่

ข้าวตุ๋นตำลึงเต้าหู้ไข่

ส่วนประกอบ:

  • ข้าวตุ๋น ½ ถ้วย
  • ปลาเนื้ออ่อนต้มสุก (เอาแต่เนื้อปลา) 1 ช้อนโต๊ะ
  • เต้าหู้ไข่ ½ หลอด
  • ตำลึงสับละเอียด 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำซุป 1 ถ้วย
     

วิธีทำ: เริ่มต้นด้วยการนำข้าวตุ๋นกับน้ำซุปมาต้มให้เข้ากันจนเดือด นำเนื้อปลามาใส่ลงไป แล้วค่อย ๆ เคี่ยวด้วยไฟอ่อนจนเข้ากันและสุกกำลังดี จากนั้นนำเต้าหู้ไข่กับตำลึงใส่ลงไป แล้วคนเบา ๆ จนเข้ากัน ตักขึ้นพอให้อุ่น ๆ แล้วค่อยเสิร์ฟให้ลูกน้อย

ข้าวต้มใบเตยหมูบด

ข้าวต้มใบเตยหมูบด

ส่วนประกอบ:

  • ข้าวหอมมะลิ ¼ ถ้วย
  • น้ำสะอาด 2 ถ้วย
  • ใบเตย หั่นเป็นท่อนยาว 2 นิ้ว 3-4 ท่อน
  • เนื้อหมูบด ¼ ถ้วย
  • ปวยเล้ง ต้มสุกสับหยาบ 2 ช้อนโต๊ะ
     

วิธีทำ: นำข้าวหอมมะลิมาใส่น้ำและใบเตย และนำไปต้มจนสุก  เมื่อข้าวสุกแล้วให้นำใบเตยออก ใส่เนื้อหมูบดลงไป ใส่ปวยเล้งสับหยาบลงไป แล้วคนทุกอย่างให้เข้ากัน เมื่อได้ที่แล้วตักใส่ถ้วย พักไว้จนอุ่น ๆ แล้วเตรียมป้อนเจ้าตัวเล็กกันได้เลย

โจ๊กบรอกโคลี

โจ๊กบรอกโคลี

ส่วนประกอบ:

  • ปลายข้าว ¼ ถ้วย
  • บรอกโคลีต้มสุกบดละเอียด 50 กรัม
  • นมแม่ หรือน้ำซุป 1 ช้อนโต๊ะ
  • แป้งสาลี 2 ช้อนชา
  • น้ำซุป 1 ถ้วย
     

วิธีทำ: นำปลายข้าวไปต้มกับน้ำหรือนมแม่จนนิ่มสุกกำลังดี จากนั้นใส่บรอกโคลี และแป้งสาลีลงไป  แล้วปรุงรสชาติด้วยเกลือเล็กน้อย เคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ ไปเรื่อย ๆ จนทุกอย่างเข้มข้นเข้ากันกำลังดี เสร็จแล้วตักใส่ถ้วยให้พออุ่น รอเสิร์ฟให้ลูกน้อย

ข้าวต้มสองสี

ข้าวต้มสองสี

ส่วนประกอบ:

  • ข้าวสวย ½ ถ้วย
  • เนื้อไก่สับ 2 ช้อนโต๊ะ
  • ฟักทองนึ่งสุก บดละเอียด 3 ช้อนโต๊ะ
  • ปวยเล้งสับละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำซุป 1 ถ้วย
     

วิธีทำ: นำข้าวสวยไปต้มกับน้ำสุกให้นิ่มและสุกกำลังดี เมื่อสุกแล้วให้นำเนื้อไก่ใส่ลงไปต้มด้วยจนสุกใส่เนื้อไก่ลงไปต้มจนสุก จากนั้นก็ใส่ฟักทองกับปวยเล้งบดละเอียดลงไป คนให้ทุกอย่างเข้ากัน ตักใส่ถ้วย รอให้อุ่นกำลังดีแล้วเสิร์ฟให้ลูกน้อย

ข้าวต้มปลากับฟักทอง

ข้าวต้มปลากับฟักทอง

ส่วนประกอบ:

  • ข้าวกล้อง ¼ ถ้วย
  • ฟักทอง ต้มสุกหั่นสี่เหลี่ยมเล็ก 2 ช้อนโต๊ะ
  • ปลาเนื้ออ่อนต้มสุก (เอาแต่เนื้อปลา) 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำซุป 1 ถ้วย
     

วิธีทำ: ต้มข้าวกล้องกับน้ำซุปจนนิ่มสุกกำลังดี แล้วใส่ฟักทองกับเนื้อปลาลงไป คนทุกอย่างให้เข้ากัน จากนั้นตักใส่ถ้วย พักไว้จนอุ่น แล้วค่อยเสิร์ฟให้ลูกน้อย

เมนูผลไม้เด็ก 7 เดือน

เพียวเร่กล้วยแอปเปิ้ล

เพียวเร่กล้วยแอปเปิล

ส่วนประกอบ:

  • แอปเปิ้ล 2 ลูก
  • กล้วยสุก 1 ลูก
     

วิธีทำ: หั่นกล้วยกับแอปเปิ้ลออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ จากนั้นนำไปต้มลงในกระทะด้วยไฟอ่อน ๆ จนกระทั่งเนื้อสัมผัสนิ่ม เมื่อทุกอย่างนิ่มได้ที่แล้วให้นำมาบดพอละเอียด หรือจะปั่นในเครื่องปั่นก็ได้ค่ะ

เพียวเร่มะม่วง

เพียวเร่มะม่วง

ส่วนประกอบ:

  • มะม่วงสุก 1 ลูก
     

วิธีทำ: หั่นมะม่วงสุกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วบดให้ละเอียด หรือจะบดในเครื่องปั่นก็ได้ค่ะ และถ้าไม่อยากให้เนื้อาหารแห้งไป สามารถใส่โยเกิร์ต หรือนมแม่ลงไปด้วยก็ได้เช่นกันค่ะ เมื่อได้เพียวเร่มะม่วงที่บดละเอียดดีแล้ว ก็สามารถตักเสิร์ฟได้เลย

เพียวเร่อะโวคาโด

เพียวเร่อะโวคาโด

ส่วนประกอบ:

  • อะโวคาโดสุก 1 ลูก (จริง ๆ ใช้เพียงครึ่งลูกก็พอค่ะ)
     

วิธีทำ: ตักเอาเนื้ออะโวคาโดออกมา แล้วบดเนื้ออะโวคาโดสุกให้ะเอียด หรือจะนำไปปั่นในเครื่องปั่นก็ได้เหมือนกันค่ะ เสร็จแล้วตักเสิร์ฟได้เลย แต่ถ้ากลัวว่าเนื้อเพียวเร่จะแห้งไป ก็สามารถเติมโยเกิร์ต หรือนมแม่ลงไปด้วยก็ได้เช่นกันค่ะ

เพียวเร่มะละกอ

เพียวเร่มะละกอ

ส่วนประกอบ:

  • มะละกอสุกครึ่งผล
     

วิธีทำ: หั่นมะละกอสุกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อให้บดง่าย จากนั้นนำมาบดให้ละเอียด โดยขณะบดสามารถเติมโยเกิร์ต หรือนมแม่ลงไปด้วยก็ได้เช่นกันค่ะ เมื่อบดละเอียดเข้ากันดีแล้ว ก็พร้อมตักเสิร์ฟให้เจ้าตัวเล็กกันเลย

เพียวเร่กล้วยกับอะโวคาโด

เพียวเร่กล้วยกับอะโวคาโด

ส่วนประกอบ:

  • กล้วย
  • อะโวคาโด
  • นมแม่หรือกรีกโยเกิร์ต
     

วิธีทำ: หั่นกล้วยออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตักเอาเนื้ออะโวคาโดออกมา จากนั้นบดผลไม้ทั้งสองชนิดเข้าด้วยกันจนละเอียด จากนั้นเติมนมแม่หรือจะใช้กรีกโยเกิร์ตแทนก็ได้ค่ะ เพื่อไม่ทำให้เนื้อเพียวเร่แห้งจนเกินไป เสร็จแล้วตักเสิร์ฟได้เลย

คำแนะนำในการเตรียมอาหารให้ลูกน้อยวัย 7 เดือน


สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังจะเตรียมอาหารให้กับลูกน้อยวัย 7 เดือน อาจจำเป็นจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

          • เด็กแต่ละคนเริ่มมีอาหารที่ชอบและไม่ชอบบ้างแล้วค่ะ อาจจะต้องคอยสังเกตดูว่าลูกชอบกินอะไร หรือเริ่มไม่ชอบกินอะไร เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนเมนูในมื้อต่อ ๆ ไป และไม่ทำให้เด็กเบื่ออาหารค่ะ

          • อาหารเด็ก 7 เดือน ทั้งเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตดูด้วยว่า หลังกินอาหารชนิดนั้น ๆ ไปแล้ว ลูกมีความผิดปกติอะไรหรือเปล่า เพราะเด็ก 7 เดือน ก็สามารถที่จะมีอาการแพ้อาหารบางอย่างได้แล้วค่ะ

          • เด็ก 7 เดือน เริ่มกินอาหารตามวัยได้เก่งขึ้นก็จริง แต่ก็ยังต้องการนมแม่อยู่ โดยอาจจะดื่มนม 3 - 4 ครั้งต่อวัน และดื่มครั้งละ 6 - 8 ออนซ์

          • เด็ก 7 เดือนบางคนยังกินอาหารได้แค่ 1 - 2 มื้อ แต่เด็ก 7 เดือนหลายคนก็สามารถที่จะกินอาหารได้ 3 มื้อแล้ว ส่วนปริมาณอาหารที่เด็กต้องการนั้นก็จะแตกต่างกันไป เด็กบางคนกินได้แค่ 1 - 2 ช้อนโต๊ะ เด็กบางคนอาจกินได้ตั้งแต่ 6 - 8 หรือ 8 - 12 ช้อนโต๊ะ

          • อาหารทุกอย่างที่จะนำมาป้อนให้เด็ก 7 เดือน จำเป็นจะต้องนิ่ม บดหยาบ หรือบดละเอียด แต่ไม่ต้องนำไปปั่น เพราะการปั่นจนละเอียดเกินไป จะทำให้เด็กไม่ได้ฝึกการลิ้มรสเนื้อสัมผัสต่าง ๆ รวมถึงไม่ได้ฝึกการบดเคี้ยวอาหาร

ไขข้อข้องใจเรื่องอาหารสำหรับเด็ก 7 เดือน กับ Enfa Smart Club


 แนะนำผักใบเขียวสำหรับทารก 7 เดือน?

จริง ๆ เด็ก 7 เดือนนี่กินผักได้หลายชนิดมากค่ะ ไม่ว่าจะเป็น ตำลึง ผักหวาน คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง บรอกโคลี ปวยเล้ง เป็นต้น สามารถนำมาต้มสุกและบดหยาบให้ลูกกินได้เลยค่ะ

 ผักสำหรับทารก 7 เดือน ให้ลูกกินอะไรดี?

เด็ก 7 เดือนสามารถกินผักได้หลายชนิดมากค่ะ ไม่ว่าจะเป็นตำลึง ผักหวาน คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง บรอกโคลี ปวยเล้ง มันเทศ มันฝรั่ง ฟักทอง ดอกกะหล่ำ กะหล่ำปลี เป็นต้น

 เด็ก 7 เดือน กินผลไม้อะไรได้บ้าง?

เด็ก 7 เดือนกินผลไม้ได้หลากหลายขึ้น แต่...ก็ยังจะต้องเน้นย้ำว่าขอเป็นผลไม้ที่มีเนื้อนิ่มเท่านั้นค่ะ เช่น กล้วย กีวี เบอร์รีต่าง ๆ ส้ม มะม่วงสุก มะละกอสุก เมล่อนสุก ส่วนผลไม้เนื้อแข็งอย่างพวก แอปเปิ้ล พีช ลูกแพร์ ควรนำมาบดหยาบหรือบดละเอียดก่อนป้อนลูกน้อยค่ะ

 ลูกเบื่ออาหาร 7 เดือน ทำอย่างไรดี?

เป็นเรื่องธรรมดามากที่เด็กจะเบื่ออาหาร อาจจะต้องคอยสังเกตดูด้วยว่า ลูกเบื่ออาหารเพราะคุณพ่อคุณแม่เสิร์ฟเมนูนี้ซ้ำติดต่อกันมานานแล้วหรือยัง ถ้านานแล้วก็ควรเปลี่ยนเมนูใหม่ ๆ บ้าง เพราะขนาดผู้ใหญ่ยังเบื่ออาหารเดิม ๆ เด็กจะไม่เบื่อได้อย่างไร ถูกไหมคะ

นอกจากนี้แล้ว ก็อาจจะต้องมีกลยุทธ์การหลอกล่อเข้ามาช่วย เช่น หลอกให้ลูกอ้าปากด้วยกลลวงจรวดเข้าถ้ำ หรือพยายามให้ลูกอ้าปากตามด้วยการพูด อ้ำ อ้ำ ซ้ำไปซ้ำมา

แต่ถ้าพยายามเท่าไหร่ลูกก็ยังไม่ยอมกินอาหารอยู่ดี กรณีนี้อาจจะต้องดูว่า ลูกมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วยไหม เช่น มีไข้ ไม่สบาย ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาค่ะ

 อาหารเพิ่มน้ำหนักเด็ก 7 เดือน ได้ผลจริงไหม?

จริง ๆ แล้วเด็กวัย 7 เดือนนี้ ไม่จำเป็นจะต้องกินอาหารเสริมใด ๆ เป็นพิเศษหรอกค่ะ การให้ลูกดื่มนมแม่ควบคู่ไปกับการกินอาหารตามวัย ถือว่าเพียงพอแล้วที่จะทำให้เด็กเติบโตได้อย่างสมวัย

เว้นแต่ว่าลูกน้อย 7 เดือน มีน้ำหนักที่น้อยกว่าเกณฑ์ปกติจริง ๆ กรณีนี้ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยทันที ไม่ควรเสียเวลาซื้ออาหารเพิ่มน้ำหนักใด ๆ มาให้ลูกกินโดยไม่ปรึกษาแพทย์นะคะ เพราะเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อเด็กได้ หากว่าอาหารดังกล่าวไม่ได้เหมาะสมกับโภชนาการของเด็ก



บทความแนะนำสำหรับการกินอาหารตามวัยทารก (Solid Foods)