คุณแม่หลายท่านเริ่มสังเกตได้ว่าเมื่อลูกน้อยอายุ 1 ขวบ ลูกเริ่มรับประทานยาก ไม่ค่อยสนใจอาหาร และไม่เจริญอาหารเหมือนเด็กเล็ก ๆ เพราะจะเริ่มวุ่นวายกับการเล่นสนุก ห่วงเล่น หรือทำอย่างอื่นมากกว่า นอกจากนี้เด็กยังเริ่มเลือกรับประทานอาหารในสิ่งที่ตนเองชอบ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างสุขนิสัยที่ดีในการรับประทานอาหารให้แก่ลูก รวมถึงให้ความสำคัญกับโภชนาการ สารอาหารสำคัญสำหรับเด็กวัย 1 ขวบ ที่ลูกน้อยควรได้รับค่ะ

สารอาหารสำคัญสำหรับเด็กวัย 1 ขวบ

 

อาหารเด็กวัย 1 ขวบ เป็นอาหารที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการของสมอง และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน หากได้รับสารอาหารที่ไม่ครบถ้วนอาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูกได้ โดยเฉพาะสารอาหารที่สมองต้องการนั่นก็คือ DHA เป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยเป็นส่วนประกอบของเซลล์ทุกเซลล์ มีหน้าที่สำคัญในการทำงานของระบบประสาทและสมอง พบมากในปลาทะเลน้ำเย็น เช่น ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ปลาแซลมอน

โภชนาการเด็ก 1 ขวบ ควรรับประทานอาหารอย่างไร?

 

เด็กอายุ 1 ขวบ ควรได้รับสารอาหารต่าง ๆ ที่มีคุณภาพดีและมีปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย เพื่อช่วยเสริมสร้างให้ร่างกายเจริญเติบโต เพราะการเจริญเติบโตของร่างกายมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอาหารที่เด็กได้รับ สำหรับปริมาณพลังงาน สารอาหารเด็กอายุ 1-3 ขวบ ควรได้รับ คือวันละ 1,000-1,300 กิโลแคลอรี หรือประมาณ 100 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ซึ่งได้จากข้าว แป้ง น้ำตาล และไขมัน

โปรตีน เด็กวัยนี้ควรได้รับโปรตีนวันละ 20-25 กรัม หรือประมาณ 1.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม อาหารที่มีโปรตีน ได้แก่ ไข่ โดยเฉพาะไข่ขาว เด็กวัยก่อนเรียนควรรับประทานไข่วันละ 1 ฟอง หรืออย่างน้อยอาทิตย์ละ 4 ฟอง นอกจากนั้น ควรรับประทานอาหารประเภท เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ไก่ ปลา และถั่ว ธัญพืช ซึ่งเป็นแหล่งของโปรตีนที่สำคัญเช่นกัน

แร่ธาตุต่าง ๆ แร่ธาตุที่เด็กวัยก่อนเรียนจำเป็นต้องได้รับ ได้แก่ แคลเซียม และฟอสฟอรัส สำหรับสร้างกระดูกและฟัน อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ น้ำนมและผลิตภัณฑ์จากนม เด็กวัยนี้จึงต้องดื่มนมเป็นประจำทุกวัน นอกจากนี้แมกนีเซียม และเหล็กเป็นแร่ธาตุที่เด็กวัยนี้ต้องการ อาหารที่มีแมกนีเซียมสูง ได้แก่ ผักใบเขียวทุกชนิด ส่วนเหล็กจำเป็นสำหรับการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง เพื่อป้องกันภาวะซีดโลหิตจาง พบมากในตับ และถั่วต่าง ๆ เด็กวัยก่อนเรียนควรได้รับธาตุเหล็กวันละ 10-18 มิลลิกรัม

วิตามินต่าง ๆ วิตามินที่สำคัญสำหรับเด็กในวัยนี้ ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินซี และวิตามินบีรวม แหล่งของวิตามินต่าง ๆ ในอาหาร ได้แก่ ผลไม้สด เช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก ส้ม ฝรั่ง และมะเขือเทศสุก

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

อาหารเด็ก 1 ขวบ รับประทานแค่ไหนถึงจะพอดี

 

สำหรับ โภชนาการเด็กวัย 1 ขวบ เด็ก ๆ สามารถรับประทานให้ครบ 3 มื้อเหมือนกับผู้ใหญ่ได้แล้ว อาหารที่จะป้อนให้ลูกควรเป็นอาหารรสจืดที่ไม่ผ่านการปรุงรสหรือปรุงแต่งมาก เป็นอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ลักษณะอาหารควรมีความอ่อนนุ่ม ชิ้นเล็ก เพื่อให้ลูกเคี้ยวได้ง่าย ส่วนนมนั้นจากที่เคยเป็นอาหารหลักก็จะกลายมาเป็นอาหารเสริมแทน ปริมาณหรือสัดส่วนของอาหารสำหรับเด็กแต่ละคน อาจจะแตกต่างกันไป เด็กบางคนรับประทานมาก บางคนรับประทานน้อย แต่โดยทั่วไปอาหารของเด็กวัย 1-2 ขวบ จะคล้ายกับของผู้ใหญ่ คือ ควรได้รับ ข้าว ไข่ นม เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ให้ครบ 5 หมู่ในทุก ๆ มื้อ

สร้างวินัยการรับประทานอาหารสำหรับเด็กอายุ 1 ขวบ

 

1. ปล่อยให้ลูกได้รับประทานเองบ้าง ช่วงแรกที่ฝึกให้รับประทานข้าวเอง ลูกอาจจะทำอาหารเลอะเทอะบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งการที่ลูกได้ลองใช้มือหยิบจับ หรือฝึกการใช้ช้อนส้อม เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ลูกเรียนรู้การรับประทานและรู้จักอาหารมากขึ้น คุณแม่สามารถลองชมเมื่อลูกรับประทานข้าวได้เยอะ เพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ลูก

2. ลดของว่าง ไม่ควรให้ลูกรับประทานจุบจิบทั้งวัน โดยเฉพาะการรับประทานของว่างก่อนมื้ออาหารหลัก เพราะเป็นนิสัยการรับประทานอาหารที่ไม่ดี และจะทำให้ลูกไม่หิวเมื่อถึงมื้ออาหาร

3. จัดปริมาณอาหารให้เหมาะสม ควรจัดอาหารและสัดส่วนโภชนาการอาหารให้เหมาะสมกับวัยของลูก เพราะวัยนี้จะรับประทานไม่เยอะในแต่ละมื้อ อีกทั้งยังมีการดื่มนมเป็นอาหารเสริมอีกด้วย จึงไม่ควรตักอาหารให้ลูกเยอะเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกไม่อยากรับประทานข้าว อมข้าว หรือกลายเป็นเด็กที่มีน้ำหนักตัวเกิน

4. กำหนดเวลาการรับประทานอาหาร ควรกำหนดเวลาในการรับประทานอาหารของลูก ซึ่งในแต่ละมื้อไม่ควรให้ลูกรับประทานข้าวเกิน 20-30 นาที เมื่อเลยเวลาที่กำหนดให้เก็บอาหารที่ลูกยังรับประทานไม่หมดไปเพื่อเป็นการสร้างวินัยในการรับประทานอาหาร และอย่าบังคับให้ลูกเคี้ยวหรือกลืน เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีกับการรับประทานอาหาร

5. รับประทานอาหารพร้อมกัน ลองจัดโต๊ะอาหารและรับประทานข้าวพร้อมกับลูก เพราะลูกจะได้เห็นบรรยากาศของมื้ออาหาร และยังได้เรียนรู้วิธีการรับประทานอาหารจากคุณพ่อคุณแม่ เด็กเล็กจะเลียนแบบการกระทำของผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก เช่น รับประทานผักหรืออาหารที่มีประโยชน์ให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง และให้ลูกลองชิมดูด้วย นอกจากนี้ไม่ควรทำกิจกรรมอื่น ๆ ในระหว่างการรับประทานอาหาร เพราะจะเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของลูกไปจากมื้ออาหาร

โภชนาการเด็กในทุกช่วงวัยเป็นสิ่งที่คุณควรใส่ใจ คุณแม่มือใหม่สามารถหาความรู้เกี่ยวกับข้อมูลโภชนาการของเด็กที่น่าสนใจ และสารอาหารที่เหมาะสมกับลูกน้อยทุกช่วงวัย ได้ที่ Enfa A + Smart Club กันนะคะ

References