ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 38 สัปดาห์ อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 38 สัปดาห์ อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 20 นิ้ว หนักประมาณ 3-3.4 กิโลกรัม มีขนาดพอ ๆ กับฟักทอง
  • อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ เซลล์ประสาทเกือบทั้งหมดที่จำเป็นสำหรับทารกจะถูกสร้างขึ้นระบบการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทในสมองทารกจะยาวขึ้น หนาขึ้น และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
  • อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ ไขเคลือบผิวของทารกจะค่อย ๆ ลอกออกมาปะปนอยู่ในน้ำคร่ำที่ทารกกลืนเข้าไป

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 38 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 38
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 38 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 38 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • ท้อง 38 สัปดาห์ กับอาการใกล้คลอดที่ควรรู้
     • ท้อง 38 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

หากสัปดาห์ที่ผ่านมายังไม่มีการคลอดเกิดขึ้น ท้อง 38 สัปดาห์ อาการใกล้คลอดอาจจะเริ่มปรากฎขึ้น ซึ่งคุณแม่ควรจะต้องสังเกตอาการและสัญญาณต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้ดี เพราะเจ้าตัวเล็กอาจจะคลอดออกมาเมื่อไหร่ก็ได้

แต่ท้อง 38 สัปดาห์ มีอะไรที่คุณแม่ต้องจับตาเป็นพิเศษบ้าง แล้วทารกในครรภ์จะยังมีพัฒนาการอะไรเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่านะ

ท้อง 38 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


ในสัปดาห์นี้ คุณแม่อาจจะมีการคลอดเกิดขึ้น หรือไม่มีการคลอดเกิดขึ้นก็ได้ เพราะกำหนดคลอดจะอยู่ระหว่างสัปดาห์ที่ 37-40 สัปดาห์ ซึ่งไม่สามารถรู้ได้ว่าในระยะนี้ ทารกจะคลอดออกมาเมื่อไหร่ค่ะ

อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 38 สัปดาห์ เมื่อเทียบเป็นจำนวนเดือนแล้วจะเท่ากับอายุครรภ์ 9 เดือน 2 สัปดาห์ค่ะ

ท้อง 38 สัปดาห์ ใกล้คลอดแล้วหรือยัง

โดยทั่วไปแล้วคุณแม่หลายคนมักจะมีการคลอดเมื่ออายุครรภ์ 38 สัปดาห์ค่ะ หากพ้นสัปดาห์นี้ไปแล้วยังไม่มีการคลอด ก็ต้องมาลุ้นกันว่าจะมีการคลอดในสัปดาห์ถัดไปหรือไม่

แต่ถ้าจนถึงสัปดาห์ที่ 42 แล้วยังไม่มีการคลอดเกิดขึ้น จะถือว่าเป็นการตั้งครรภ์เกินกำหนด และแพทย์จำเป็นจะต้องทำการเร่งคลอด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายทั้งต่อแม่และทารกในครรภ์ค่ะ

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 38 สัปดาห์ เป็นอย่างไร


พัฒนาการของทารกในระยะนี้จะเริ่มลดลง ไม่รวดเร็วเหมือนในช่วงที่ผ่านมา นั่นเป็นเพราะว่าเมื่ออายุครรภ์ 37 สัปดาห์ขึ้นไป รกจะทำหน้าที่ได้ลดลง ทำให้การเจริญเติบโตของทารกเริ่มคงที่ และไม่ได้มีพัฒนาการที่เพิ่มมากขึ้นเหมือนก่อนหน้านี้ แต่ระบบต่าง ๆ ก็พัฒนาจนเริ่มสมบูรณ์พร้อมที่จะทำงานหลังคลอดแล้ว

ขนาดทารกในครรภ์ 38 สัปดาห์ จะมีขนาดเท่าไหน

ทารกอายุครรภ์ 38 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 20 นิ้ว มีขนาดพอ ๆ กับฟักทองค่ะ

อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ น้ำหนักทารก มีน้ำหนักเท่าไหร่

อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ น้ำหนักทารกจะอยู่ที่ประมาณ 3-3.4 กิโลกรัมค่ะ

ท้อง 38 สัปดาห์ ลูกกลับหัวแล้วหรือยัง

ทารกอายุครรภ์ตั้งแต่ 38 สัปดาห์ ส่วนมากจะกลับหัวอยู่ในท่าเตรียมคลอดแล้วค่ะ แต่ถ้าสัปดาห์นี้ทารกยังไม่ยอมกลับหัว แพทย์จะช่วยปรับท่าให้ทารกอยู่ในท่าพร้อมคลอด โดยอาจจะต้องมีการนวดปรับท่า การให้ยาคลายกล้ามเนื้อมดลูก

โดยถ้าหากเด็กไม่ยอมกลับหัวจริง ๆ แพทย์อาจวินิจฉัยให้ทำการผ่าคลอด เพื่อความปลอดภัยของทารกและคุณแม่ค่ะ

อวัยวะและระบบอื่น ๆ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 38 สัปดาห์ มีดังนี้

          • ระบบประสาทของทารกยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเซลล์ประสาทเกือบทั้งหมดที่จำเป็นสำหรับทารกจะถูกสร้างขึ้นเกือบหมดแล้วก่อนที่ทารกจะคลอด ระบบการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทในสมองทารกจะยาวขึ้น หนาขึ้น และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

          • ไขเคลือบผิวของทารกจะค่อย ๆ ลอกออกมาปะปนอยู่ในน้ำคร่ำที่ทารกกลืนเข้าไป

          • น้ำดีและน้ำคร่ำที่ทารกกลืนเข้าไปจะสะสมอยู่ในลำไส้ของทารกไปจนถึงคลอด ซึ่งทารกจะถ่ายของเสียนี้ออกมาหลังคลอด โดยจะมีลักษณะเป็นอุจจาระสีเขียวแก่ที่เรียกว่า ขี้เทา

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์


แม่ท้อง 38 สัปดาห์หลายคนอาจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่างในช่วงสัปดาห์นี้ มีดังนี้

          • หากยังไม่มีการคลอดในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัปดาห์นี้ทารกจะเริ่มเคลื่อนศีรษะลงมาอยู่ที่อุ้งเชิงกราน จะทำให้คุณแม่รู้สึกโล่ง ไม่อึดอัดและหายใจสะดวกขึ้น แต่จะหน่วงในช่องเชิงกรานมากขึ้น

เนื่องจากส่วนนำของทารกจะลงไปกดอวัยวะในช่องเชิงกรานทำให้ปวดที่หัวเหน่า และน้ำหนักของมดลูกจะไปกดทับที่กระเพาะปัสสาวะแทนทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้นมาก ต้องเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นอีก

          • การหดรัดตัวของมดลูกจะแรงและบ่อยครั้งขึ้น หากถุงน้ำคร่ำแตกและมีของเหลวไหลออกมาพร้อมกับเลือด คุณแม่ควรรีบไปโรงพยาบาลได้เลย

          • มีอาการหดรัดตัวของมดลูกถี่ขึ้น ทำให้มีอาการท้องแข้งบ่อยขึ้น ซึ่งคุณแม่จำเป็นจะต้องคอยแยกแยะดูว่าเป็นอาการเจ็บท้องหลอก หรือเจ็บครรภ์จริง

เนื่องจากอาการอาจจะเกิดขึ้นบ่อยจนคุณแม่สับสน หากมีอาการปวดท้องแรงขึ้นเรื่อย ๆ มีมูกเลือด มูกใสไหลออกมา หรือมีอาการน้ำเดิน และปากมดลูกเริ่มเปิด ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

อาหารคนท้อง 38 สัปดาห์ มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรกิน


สำหรับแม่ท้อง 38 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่

          • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่ยังสามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น

ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

Enfamama TAP No. 1

ท้อง 38 สัปดาห์ อาการใกล้คลอด ที่คุณแม่ควรรู้!


ช่วงอายุครรภ์ 38 สัปดาห์ หากคุณแม่พบว่ามีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นสัญญาณใกล้คลอดค่ะ มีอาการปวดท้องรุนแรง โดยอาจจุปวดท้องทุก ๆ 10-20 นาที แล้วเริ่มปวดถี่ขึ้นเป็นทุก ๆ 5-10 นาที และอาการปวดไม่ทุเลาลงเลย มีแต่ปวดแรงขึ้น ๆ

          • มีของเหลว หรือมูกใส ๆ หรือมูกปนเลือดไหลออกมาทางช่องคลอด

          • น้ำคร่ำแตก หรือน้ำเดิน คือมีของเหลวใส ๆ ไหลออกทางช่องคลอดเป็นจำนวนมาก

          • ปากมดลูกเริ่มขยาย โดยอาจจะเปิดกว้างขึ้นชั่วโมงละ 1-2 เซนติเมตร

หากมีอาการดังกล่าว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะเป็นสัญญาณใกล้คลอด และอาจจะมีการคลอดเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า

ท้อง 38 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติไหม หรือว่าเป็นอาการใกล้คลอด


อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่

และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ท้อง 38 สัปดาห์ ท้องแข็งบ่อยแต่ไม่ปวดท้อง คืออาการใกล้คลอดหรือเปล่า

อาการท้องแข็งบ่อยในไตรมาสสามถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ และถ้าหากมีอาการท้องแข็งบ่อย แต่ไม่ได้ปวดท้อง หรืออาจจะปวดท้องแต่ไม่ได้ปวดมาก หรือแค่เพียงรู้สึกไม่สบายท้องเท่านั้น ก็ถือว่าเป็นอาการปกติค่ะ ไม่มีอะไรต้องกังวล และนี่เป็นอาการเจ็บครรภ์หลอกค่ะ ไม่ใช่อาการเจ็บครรภ์ใกล้คลอดแต่อย่างใดค่ะ

ท้องแข็งบ่อย 38 สัปดาห์ แบบนี้ปกติใช่ไหม

แม่ท้อง 38 สัปดาห์ มีอาการท้องแข้งบ่อย ถือว่าเป็นเรื่องปกติของอายุครรภ์ในไตรมาสนี้ค่ะ ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล แต่ถ้าอาการท้องแข็งทำให้เริ่มเจ็บท้องทุก ๆ 5-10 นาที และอาการปวดท้องเริ่มแรงขึ้นเรื่อย ๆ มีมูกใส มูกปนเลือด มีอาการน้ำเดิน และปากมดลูกเริ่มขยายกว้างขึ้น ถือว่าเป็นสัญญาณใกล้คลอด รีบไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

ท้อง 38 สัปดาห์ เจ็บที่อวัยวะเพศปกติไหม

ท้อง 38 สัปดาห์ เจ็บจิมิ หรือเจ็บที่อวัยวะเพศ อาจมีสาเหตุมาจากเอ็นกระดูกเชิงกรานยืดออกเพื่อรองรับน้ำหนักของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้น เมื่อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อในช่องคลอดยืดออก

มากไปกว่านั้น ในสัปดาห์นี้ทารกอาจอยู่ในท่ากลับหัวแล้ว ยิ่งทำให้มีแรงกดลงมาที่อุ้งเชิงกรานมากขึ้น และอาการปวดอาจลามจากท้องน้อยมาจนถึงอวัยวะเพศ จึงทำให้รู้สึกเจ็บที่อวัยวะเพศได้

ซึ่งอาการปวดมิจินี้ถือว่าพบได้โดยทั่วไปสำหรับคนท้องไตรมาสสองและไตรมาสสามค่ะ แต่ถ้าอาการปวดไม่ดีขึ้นเลย หรือปวดมากขึ้นกว่าเดิม แนะนำให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม

ท้อง 38 สัปดาห์ ปวดหน่วง คืออาการใกล้คลอดหรือเปล่า

อาการปวดหน่วง ไม่ถือว่าเป็นอาการใกล้คลอดแต่อย่างใดค่ะ แต่เป็นอาการโดยทั่วไปของคนท้องอยู่แล้ว ซึ่งมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของมดลูก การยืดตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่หน้าท้องอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ทารกอาจอยู่ในท่ากลับหัวแล้ว ยิ่งทำให้มีแรงกดลงมาที่อุ้งเชิงกรานมากขึ้น ทำให้มีอาการปวดหน่วงมากขึ้นได้ในสัปดาห์นี้ค่ะ อย่างไรก็ตาม อาการปวดแบบนี้จะปวดเป็นพัก ๆ ไม่นานก็หาย นอนพัก กินยา หรือเปลี่ยนอริยาบถก็รู้สึกดีขึ้นค่ะ

แต่...ถ้าหากอาการปวดนั้นมีลักษณะที่ปวดรุนแรงจนคุณแม่ทนไม่ไหว ปวดจนลุกไม่ขึ้น ปวดจนนอนไม่หลับ หรือมีอาการเลือดออกร่วมด้วย อันนี้อาจจะเป็นสัญญาณอันตรายได้ ให้รีบไปพบแพทย์ค่ะ

ท้อง 38 สัปดาห์ มีมูกแต่ไม่มีเลือด เป็นเรื่องปกติใช่ไหม

มูกดังกล่าวอาจเป็นเพียงตกขาวตามปกติ ที่เกิดจากการผกผันของฮอร์โมนในร่างกายเท่านั้นค่ะ อย่างไรก็ตาม อาจเป็นไปได้ว่ามูกขาวที่ไหลออกมานั้นคือมูกก่อนคลอด โดยปกติจะมีมูกกั้นที่ปากมดลูก และจะถูกขับออกมาเมื่อปากมดลูกเริ่มขยายกว้างขึ้น เพื่อเปิดทางให้ทารกคลอดออกมานั่นเอง โดยมูกนี้อาจจะมีเลือดปนหรือไม่มีเลือดปนก็ได้ค่ะ

ท้อง 38 สัปดาห์ ยังไม่คลอด ปกติใช่ไหม

กำหนดคลอดจะอยู่ระหว่างสัปดาห์ที่ 37-40 ดังนั้น หากคุณแม่ยังไม่มีการคลอดเกิดขึ้นในอายุครรภ์ 38 สัปดาห์ ก็ยังไม่ถือว่าผิดปกติค่ะ ควรรอดูอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าว่าจะมีการคลอดเกิดขึ้นหรือไม่

ท้อง 38 สัปดาห์ มีมูกเลือดออก ควรกังวลไหม

หากคุณแม่พบว่ามีมูกเลือดออกมาทางช่องคลอด ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีค่ะ เพราะมูกเลือดเป็นตัวบ่งบอกว่าปากมดลูกมีการคลายตัว และอาจจะมีการคลอดเกิดขึ้นอีกไม่นานหลังจากนี้ หรือถ้าหากมีเลือดออกมาจากช่องคลอดมากผิดปกติ คุณแม่ก็ควรรีบไปโรงพยาบาลเช่นกัน เพราะอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น หรืออาจจะมีการคลอดเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ค่ะ

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 38 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

รวมถึงควรเริ่มลดกิจกรรมและการงานต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงด้วยค่ะ การก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยมากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์และทารกในครรภ์ได้

และคุณแม่ควรจะไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามการตั้งครรภ์ว่าทารกในครรภ์ยังปกติไหม มีพัฒนาการตามวัยหรือเปล่า หรือมีภาวะความเสี่ยงในขณะตั้งครรภ์หรือไม่

อาการแบบไหนที่บอกคุณแม่ว่าควรไปโรงพยาบาลเพื่อคลอดได้แล้ว

หากคุณแม่พบว่ามีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นสัญญาณใกล้คลอดค่ะ มีอาการปวดท้องรุนแรง โดยอาจจุปวดท้องทุก ๆ 10-20 นาที แล้วเริ่มปวดถี่ขึ้นเป็นทุก ๆ 5-10 นาที และอาการปวดไม่ทุเลาลงเลย มีแต่ปวดแรงขึ้น ๆ

          • มีของเหลว หรือมูกใส ๆ หรือมูกปนเลือดไหลออกมาทางช่องคลอด

          • น้ำคร่ำแตก หรือน้ำเดิน คือมีของเหลวใส ๆ ไหลออกทางช่องคลอดเป็นจำนวนมาก

          • ปากมดลูกเริ่มขยาย โดยอาจจะเปิดกว้างขึ้นชั่วโมงละ 1-2 เซนติเมตร

หากมีอาการดังกล่าว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะเป็นสัญญาณใกล้คลอด และอาจจะมีการคลอดเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า

เตรียมความพร้อมต้อนรับเจ้าตัวน้อย มีอะไรบ้างที่ต้องจัดการ

เมื่อเข้าไตรมาสสาม คุณแม่สามารถเริ่มเตรียมของต่าง ๆ ที่จะใช้หลังคลอดได้เลย เพื่อที่ว่าหากมีการคลอดขึ้นมาอย่างฉุกละหุก คุณแม่สามารถหยิบของเตรียมคลอดและไปโรงพยาบาลได้ทันทีเลย โดยของเตรียมคลอดสำหรับลูกน้อยที่ควรเตรียมไว้ มีดังนี้

ของใช้เตรียมคลอดสำหรับลูกน้อย:

          • คาร์ซีท หรือเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก ควรมีติดรถไว้เมื่อใกล้กำหนดคลอด

          • เสื้อผ้าสำหรับเด็กทารก เตรียมเผื่อหรือให้เพียงพอ

          • ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับเด็กทารก

          • ผ้าอ้อม ผ้าสะอาดสำหรับการเช็ดทำความสะอาด

          • ของใช้ทำความสะอาดร่างกายสำหรับเด็ก ได้แก่ ยาสระผมสำหรับเด็กแรกเกิด สบู่สำหรับเด็กแรกเกิด

          • สมุดบันทึกพัฒนาการของเด็ก

          • ผ้าห่อตัวเด็ก ควรเลือกเป็นผ้านุ่ม ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวเด็ก

          • ชุดสำหรับใส่กลับบ้าน

ของใช้เตรียมคลอดสำหรับคุณแม่:

          • เอกสารสำคัญ เช่น บัตรประจำตัวผู้ป่วย ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน หรือเอกสารเกี่ยวกับประกันสุขภาพต่าง ๆ รวมถึงเอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับใช้ในการแจ้งเกิด เอกสารหรือสมุดฝากครรภ์ ใบนัดแพทย์ บันทึกการตั้งครรภ์ ใบขับขี่ เอกสารเกี่ยวกับประกันสุขภาพหรือประกันสังคม

          • ชื่อสำหรับการแจ้งเกิดเด็ก

          • เสื้อผ้าตัวหลวม เพื่อให้รู้สึกสบายตัว และไม่รัดและเสียดสีบาดแผลจากการคลอด

          • เสื้อผ้าอย่างน้อยประมาณ 2-3 ชุด หรือเตรียมให้เพียงพอต่อการเปลี่ยน

          • ชุดชั้นในอย่างน้อยประมาณ 2-3 ชุด หรือเตรียมให้เพียงพอต่อการเปลี่ยน

          • บราสำหรับให้นม เพื่อช่วยให้คุณแม่สามารถให้นมลูกได้อย่างสะดวกมากขึ้น

          • แผ่นซับน้ำนม เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำนมส่วนเกินไหลออกมาเปื้อนเสื้อผ้า

          • ผ้าอนามัยหลังคลอด เพื่อซับเปลี่ยนน้ำคาวปลาหลังคลอด

          • ของใช้ทำความสะอาดร่างกาย ได้แก่ ครีมอาบน้ำหรือสบู่ ยาสระผม ครีมนวดผม แปรงสีฟัน ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก

          • ของใช้ส่วนตัว ได้แก่ ครีมทาผิว ครีมทาหน้า โรลออนระงับกลิ่นกาย ลิปบาล์ม เครื่องสำอาง หวีผม ยางรัดผม

          • ของใช้อื่น ๆ ตามแต่ไลฟ์สไตล์ เช่น หูฟัง หนังสือ คอมพิวเตอร์แบบพกพา ไอแพด โทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ กล้อง

          • ขนมหรืออาหารที่สามารถกินได้หลังคลอด และมีประโยชน์ในการสร้างน้ำนม

          • เงินสด หรือบัตรเครดิต

          • ยารักษาโรค หรือยาที่แพทย์แนะนำ

          • รองเท้าแตะสำหรับใส่ในบ้าน

          • ชุดสำหรับใส่กลับบ้าน

          • ขวดสำหรับใส่น้ำดื่ม หรือน้ำดื่ม

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือเอกสารต่าง ๆ ที่จะต้องใช้สำหรับการแจ้งเกิดและการย้ายเข้าทะเบียนบ้านค่ะ จำเป็นจะต้องเตรียมให้พร้อม เพื่อที่ถึงเวลาใช้งานจะได้มีเอกสารพร้อมสำหรับดำเนินการที่อำเภอหรือเขตได้ทันที

เอกสารสำหรับการแจ้งเกิด และย้ายเข้าทะเบียนบ้าน ได้แก่

          • บัตรประจำตัวประชาชนผู้แจ้งและของบิดามารดา

          • สำเนาทะเบียนบ้านของบิดา มารดา (ถ้ามี)

          • สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่ต้องการจะเพิ่มชื่อเด็กที่เกิด

          • หนังสือรับรองการเกิดที่ออกให้โดยโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่เด็กเกิด (ถ้ามี)

โดยการแจ้งเกิด จะต้องทำภายใน 15 วันหลังคลอด หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และจำเป็นจะต้องใช้รูปถ่ายเด็กขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 รูป หรืออาจจะต้องมีพยานการเกิดมายืนยันในการแจ้งเกิดด้วย

ดังนั้น เพื่อลดความวุ่นวายทางเอกสารและขั้นตอนต่าง ๆ ลง ควรเตรียมเอกสารให้พร้อมและจัดการแจ้งเกิดให้เสร็จเรียบร้อยไปเลยจะดีที่สุดค่ะ

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอด

หากคุณแม่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี มีปริมาณน้ำนมที่เพียงพอ ไม่ได้มีปัญหาสุขภาพ หรือมีปัญหาน้ำนมน้อย คุณแม่ควรจะให้ลูกได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน และสามารถให้นมแม่ต่อเนื่องได้นานถึง 2 ปี

ทารกช่วง 6 เดือนแรก ไม่จำเป็นต้องได้รับสารอาหารอื่น ๆ รวมถึงน้ำเปล่าก็ยังไม่เหมาะสำหรับทารกแรกเกิดด้วย แค่นมแม่ก็มีทั้งน้ำ สารอาหารและสารภูมิคุ้มกันที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของทารกแล้วค่ะ จนกระทั่งทารกมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป จึงเริ่มให้อาหารตามวัยควบคู่ไปกับการให้นมแม่ หรือนมสูตรสำหรับทารก

มากไปกว่านั้น แนะนำให้คุณแม่ควรเริ่มให้นมลูกทันทีหลังคลอด เพราะเป็นช่วงที่น้ำนมของแม่ยังเป็นน้ำนมเหลืองอยู่ ซึ่งน้ำนมเหลือง หรือ Colostrum เป็นน้ำนมแรกของแม่ที่จะไหลออกมาก่อนน้ำนมส่วนอื่น ๆ

โดยน้ำนมเหลืองนี้จัดว่าเป็นนมแม่ส่วนที่ดีที่สุด ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์หลายร้อยชนิด เช่น MFGM, DHA, แลคโตเฟอร์ริน เป็นต้น โดยสารอาหารในระยะน้ำนมเหลืองนั้น มีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการครบรอบด้านทั้งสมอง ภูมิคุ้มกัน และระบบทางเดินอาหารของทารก

มากไปกว่านั้น น้ำนมเหลือง ยังถือได้ว่าว่าเป็นวัคซีนเข็มแรกของลูก เนื่องจากมีสารภูมิคุ้มกันซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันการติดเชื้อและเสริมภูมิคุ้มกันของทารกให้แข็งแรง

โดยน้ำนมเหลืองจะไหลออกมาแค่เพียง 1-3 วันแรกหลังคลอดเท่านั้น นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญเลยค่ะว่า ทำไมคุณแม่ควรรีบให้นมลูกทันทีหลังคลอด เพราะถ้าหากพ้นไปจาก 1-3 วันหลังคลอดแล้ว ทารกก็จะพลาดโอกาสที่จะได้รับคุณค่าทางสารอาหารที่ดีที่สุดช่วงนี้ไปค่ะ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แม่ทุกคนที่สามารถให้นมแม่ได้ ถ้าหากคุณแม่มีปัญหาน้ำนมน้อย น้ำนมไม่ไหล ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพ การบาดเจ็บ หรือมีผลมาจากความเครียด หรือภาวะซึมเศร้าหลังคลอด คุณแม่ไม่ต้องรู้สึกผิดว่าทำไมฉันน้ำนมน้อย ทำไมฉันไม่มีน้ำนม ฉันเป็นแม่ที่ไม่ดี ฉันมันไม่เอาไหน

เพราะนี่คือเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ และมีหนทางแก้ค่ะ หากคุณแม่มีปัญหาน้ำนมไม่ไหล น้ำนมน้อย น้ำนมไม่พอ ให้คุณแม่ไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและรับการดูแลรักษาที่เหมาะสมค่ะ

ไขข้อข้องใจเมื่อท้อง 38 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


ท้อง 38 สัปดาห์ อยากคลอดแล้ว คลอดได้ไหม?

เรื่องการคลอดนี้ไม่สามารถจะมากะเกณฑ์กันได้มากนักค่ะ ถ้าหากคนมันจะคลอด ก็คือคนจะคลอด แต่ถ้าหากยังไม่คลอด ก็จำเป็นจะต้องรอต่อไป และโดยมากแล้วแพทย์จะแนะนำให้รอดูอีก 2 สัปดาห์ ว่าจะมีการคลอดเกิดขึ้นหรือไม่

แต่สำหรับคุณแม่ที่ยึดถือฤกษ์คลอดเป็นสำคัญและต้องการที่จะผ่าคลอดเลย สำหรับในประเทศไทยก็เป็นเรื่องที่พบได้โดยทั่วไปค่ะ ซึ่งถ้าหากเป็นไปได้ คุณแม่ควรรอให้มีการคลอดเกิดขึ้นตามธรรมชาติจะดีกว่า เพราะเด็กที่คลอดธรรมชาติจะได้รับสารภูมิคุ้มกันในช่องคลอด ช่วยให้แข็งแรง ไม่ป่วยง่าย ลดความเสี่ยงของภูมิแพ้

ท้อง 38 สัปดาห์ ปวดหลังมาก รับมือกับอาการปวดหลังอย่างไร?

หากคุณแม่มีอาการปวดหลัง สามารถบรรเทาอาการปวดหลังได้ง่าย ๆ ดังนี้

          • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัวแทน

          • พยายามเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายบ้าง เช่น การเดิน ปั่นจักรบาน โยคะ เพื่อช่วยยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ

          • เวลานอนให้ใช้หมอนรองที่หว่างขา หรือเอว หรือหลัง เพื่อลดแรงกดทับที่หลัง

          • ปรับเปลี่ยนอริยาบถให้เหมาะสม ไม่นั่งท่าเดิมนาน ๆ เปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ นั่งหลังตรง ไม่นั่งหลังงอ เพราะจะทำให้อาการปวดหลังแย่ลงได้

          • ทาครีมยาบรรเทาอาการปวดหลัง

          • ไปนวดกับแพทย์แผนไทยที่เชี่ยวชาญการนวดคนท้อง และควรแจ้งกับคนนวดทุกครั้งว่ากำลังตั้งครรภ์

          • กินยาบรรเทาอาการปวดตามที่แพทย์แนะนำ

ท้อง 38 สัปดาห์ ลูกดิ้นน้อยลง ขนาดไหนถึงเป็นอันตราย?

จะรู้ว่าลูกดิ้นน้อยลงได้ คุณแม่จะต้องนับลูกดิ้นให้เป็นเสียก่อนค่ะ จึงจะพบว่าลูกดิ้นน้อยแบบนี้ ไม่ปกติ โดยคุณแม่ควรนับลูกดิ้นทุกวัน เวลานับให้นับจำนวน 2 ครั้งต่อวัน

ครั้งแรกของวันให้เริ่มนับในตอนเช้า แต่ควรนับในตอนที่คุณแม่ไม่ได้ทำงานบ้านหรือกิจกรรมใด ๆ นะคะ เพราะถ้านับไป ทำอย่างอื่นไป จะทำให้การนับคลาดเคลื่อนได้ และนับครั้งที่สองในตอนเย็น ๆ หรือจะนับในตอนหัวค่ำก็ได้ค่ะ เราสามารถฝึกนับลูกดิ้นได้ดังนี้

          • ในแต่ละครั้งที่นับ ให้ทำการจับเวลาและนับดูว่าลูกดิ้นครบ 10 ครั้งเมื่อไหร่ เช่น เริ่มจับเวลาตอน 8 โมง และนับลูกดิ้นครั้งที่ 10 ได้ตอน 11 โมง ก็ให้บันทึกลงไปค่ะ

          • แต่ทารกในครรภ์จะดิ้นมากหรือน้อยแตกต่างกันไป เด็กบางคนพลังเยอะมาก อาจจะดิ้นครบ 10 ครั้งตั้งแต่ 10 นาทีแรก อันนี้คุณแม่ไม่ต้องกังวลค่ะ ลูกดิ้นมากแปลว่าลูกมีสุขภาพแข็งแรงดี

          • แต่ถ้าจับเวลา 1 ชั่วโมงแล้วลูกยังดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง ก็ยังไม่ต้องตกใจนะคะ ให้คุณแม่หาอะไรกินรองท้องก่อน แล้วไปนอนพักสักครู่ จากนั้นค่อยเริ่มนับอีกครั้ง ถ้าภายใน 1 ชั่วโมง ลูกดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง ก็อย่าเพิ่งหยุดนับค่ะ ให้นับต่อไปและจดบันทึกเอาไว้ว่าลูกน้อยดิ้นครบ 10 ครั้งในเวลากี่ชั่วโมง

          • ส่วนในกรณีที่หมดวันแล้ว หรือครบทั้ง 12 ชั่วโมงแล้ว ลูกดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

          • และถ้าหากในช่วงครึ่งวันเช้า คุณแม่นับลูกดิ้นแล้วพบว่าลูกดิ้นน้อยกว่า 4 ครั้ง ไม่ต้องรอให้หมดวันนะคะ ตรงดิ่งไปที่โรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที แล้วรีบเข้ารับการตรวจครรภ์โดยเร็ว เพราะอาจเกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้ค่ะ

ท้อง 38 สัปดาห์ ปากมดลูกเปิด 1 เซนติเมตร หมายความว่าอะไร?

ปากมดลูกเปิด 1 เซนติเมตร ก็หมายความว่าปากมดลูกมีการเปิดกว้างขึ้น 1 เซนติเมตรค่ะ ไม่ได้เป็นสัญญาณใกล้คลอดแต่อย่างใดค่ะ

เพราะระยะเวลากว่าที่ปากมดลูกจะขยายไปสู่ 3-4 เซนติเมตรของแม่แต่ละคนจะใช้เวลาแตกต่างกันค่ะ บางคนใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือเพียงไม่กี่วัน ก็มีการคลอดเกิดขึ้น

แต่คุณแม่หลายคนอาจจะต้องรอหลายวัน หรือหลายสัปดาห์กว่าที่ปากมดลูกจะขยับจาก 1 เซนติเมตร ไปถึง 3 เซนติเมตร หรือคุณแม่บางคนปากมดลูกไม่ขยายอีกเลย และต้องลงเอยด้วยการผ่าคลอดก็มีค่ะ

ท้อง 38 สัปดาห์ ปวดท้องน้อย ปกติไหม?

อาการปวดท้องน้อยถือว่าเป็นอาการทั่วไปที่พบได้ในคนท้องค่ะ แต่เมื่ออายุครรภ์ถึง 38 สัปดาห์แล้ว อาการปวดท้องน้อยอาจทำให้คุณแม่เริ่มกังวลว่าจะเป็นสัญญาณใกล้คลอด

ถามว่าเป็นไปได้ไหม มีโอกาสเป็นไปได้ค่ะ แต่คุณแม่จะต้องดูอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ว่ามีอาการปวดรรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไหม มีมูกหรือของเหลวไหลออกจากช่องคลอดไหม มีเลือดไหลออกทางช่องคลอดหรือเปล่า น้ำเดินหรือยัง ปากมดลูกเริ่มเปิดหรือยัง

หากมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อาจเป็นไปได้ว่าใกล้จะมีการคลอดเกิดขึ้น แต่ถ้าหากเป็นเพียงอาการปวดท้องน้อยเหมือนเช่นเคย ไม่มีอาการใกล้คลอดอื่น ๆ ร่วมด้วย ก็อาจจะไม่ใช่สัญญาณก่อนคลอดค่ะ

ท้อง 38 สัปดาห์ เป็นริดสีดวง ควรทำยังไง?

หากคุณแม่เป็นริดสีดวง ไม่ควรไปซื้อยาใด ๆ มารักษาเองโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากแพทย์ ให้ไปพบแพทย์เท่านั้นค่ะ ซึ่งแพทย์จะตรวจวินิจฉัยดูว่าริดสีดวงที่เป็นอยู่นี้ อยู่ในระยะใด รุนแรงมากน้อยแค่ไหน และจะเริ่มรักษาตามอาการ

หากเป็นกรณีที่อาการริดสีดวงไม่ได้รุนแรงอะไรมากนัก แพทย์จะแนะนำให้ทำการรักษาโดยการกินยา ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ทั้งการกิน และการออกกำลังกาย

หรือแพทย์อาจทำการรักษาโดยการใช้ยางรัด เพื่อไม่ให้เลือดไหลไปเลี้ยงก้อนริดสีดวง โดยอาจใช้เวลา 10-12 วัน จนกว่าก้อนริดสีดวงนั้นจะค่อย ๆ ฝ่อลง และยางนั้นจะหลุดออกมาเองในตอนที่ขับถ่าย แต่ถ้าคุณแม่เป็นริดสีดวงขั้นรุนแรง กรณีนี้เช่นนี้แพทย์อาจจะต้องทำการวินิจฉัยให้มีการผ่าตัดเอาริดสีดวงออก

ครรภ์เป็นพิษ 38 สัปดาห์ เกิดขึ้นได้ไหม?

หากคุณแม่มีภาวะความเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษมาตั้งแต่แรกเริ่ม คุณแม่อาจจะมีอาการครรภ์เป็นพิษเกิดขึ้นได้ในสัปดาห์นี้ค่ะ ซึ่งถ้าหากคุณแม่มีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของครรภ์เป็นพิษ

          • ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ หรือมีภาวะความดันโลหิตสูงมาก่อนหน้านี้แล้ว
          • มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต หรือตรวจพบโปรตีนปริมาณมากในปัสสาวะ
          • ระดับเกล็ดเลือดลดลง
          • ค่าเอนไซม์ในตับสูง
          • มีอาการปวดศีรษะรุนแรง
          • มีอาการตาพร่ามัว หรือตาไวต่อแสง
          • มีอาการบวมน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการบวมที่ใบหน้าและมือ
          • หายใจถี่ ๆ
          • ปวดท้องช่วงบน หรือบริเวณใต้ซี่โครงด้านขวา
          • คลื่นไส้หรืออาเจียน
          • น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภาวะครรภ์เป็นพิษนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยอาจจะต้องได้รับยาลดความดันโลหิต หรือการรักษาตามอาการ ในกรณีที่ฉุกเฉิน อาจจำเป็นจะต้องมีการทำคลอดด่วนทันที

ท้อง 38 สัปดาห์ ตกขาว แบบนี้ปกติหรือเปล่า?

การมีตกขาวถือเป็นเรื่องปกติของคนท้องค่ะ เพราะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้คลอดก็จะมีมูกตกขาวออกมามากขึ้น เป็นสัญญาณว่าใกล้คลอด

อย่างไรก็ตาม หากตกขาวมีลักษณะเป็นก้อนเล็ก ๆ สีขาว หรือมีสีเหลือง หรือสีเทา ตกขาวมีลักษณะข้นเหนียว มีกลิ่นเหม็น และมีอาการคันร่วมด้วย อาจเป็นตกขาวทมี่เกิดจากการติดเชื้อ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาค่ะ

ท้อง 38 สัปดาห์ ท้องเสีย ควรดูแลตัวเองอย่างไร?

คุณแม่ที่ท้องเสีย สามารถดูแลตัวเองได้ ดังนี้

          • กินอาหารที่ย่อยง่าย เพื่อให้ร่างกายสามารถย่อยและขับถ่ายได้ง่ายขึ้น

          • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารที่รสเผ็ดจัด เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบย่อยอาหารและทำให้ท้องเสียแย่ลง

          • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เพราะมีแนวโน้มที่จะทำให้อาการท้องเสียหนักขึ้นได้

          • ดื่มน้ำ หรือดื่มเกลือแร่สำหรับอาการท้องเสีย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ได้

          • ในกรณีที่มีอาการท้องเสียจากการติดเชื้อ คุณแม่ควรกินยาตามที่แพทย์สั่ง คนท้องไม่ควรซื้อยามากินเองโดยไม่ปรึกษากับแพทย์ เพราะยาบางอย่างอาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ได้

          • แต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นเลย หรือท้องเสียติดต่อกัน 1-2 วัน คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ท้อง 38 สัปดาห์ หายใจไม่สะดวก เกิดจากอะไร?

เนื่องจากขนาดของมดลูกที่ใหญ่ขึ้นจนเบียดและดันขึ้นมาที่หน้าอก ทำให้ปอดถูกเบียดจนมีขนาดเล็กลง ส่งผลให้คุณแม่หายใจถี่ขึ้น มีอาการแน่นหน้าอก และหายใจไม่ค่อยออกค่ะ

การนอนโดยยกศีรษะให้สูงขึ้น อาจช่วยให้อาการหายใจไม่ออกดีขึ้นได้ แต่ถ้าคุณแม่หายใจไม่ออก แล้วเริ่มหน้ามืด หรือหมดสติบ่อย ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการหายใจไม่ออกบ่อย ๆ และเริ่มรุนแรงขึ้น กรณีนี้อาจจะเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ ควรไปพบแพทย์ทันทีที่รู้สึกว่าอาการหายใจไม่ออกเริ่มจะรุนแรงมากขึ้น



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

hospital-bag-checklist-for-pregnancy
perineal-tears-recovery-and-care
สูติบัตร
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner