ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 41 สัปดาห์ อายุครรภ์ 41 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 41 สัปดาห์ อายุครรภ์ 41 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 41 สัปดาห์ ถือว่าเป็นการคลอดเกินกำหนด จากปกติกำหนดคลอดจะอยู่ระหว่างอายุครรภ์ 37-40 สัปดาห์
  • อายุครรภ์ 41 สัปดาห์ รกจะค่อย ๆ เสื่อมสภาพลง ทำให้ทารกในครรภ์เริ่มมีความเสี่ยงต่อการขาดออกซิเจน ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
  • อายุครรภ์ 41 สัปดาห์ คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยว่าทารกยังปกติไหม ควรรอต่อไปไหม ควรทำการเร่งคลอด หรือควรผ่าคลอด

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 41 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • หลังคลอดควรกินอะไรเพื่อบำรุงร่างกายและน้ำนม
     • ท้อง 41 สัปดาห์ ยังไม่คลอด ทำยังไงดีนะ
     • การดูแลสุขภาพหลังคลอดและการดูแลลูกน้อย
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 41 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

ท้อง 41 สัปดาห์ ยังไม่คลอด หากคุณแม่สามารถอุ้มท้องมาจนถึงอายุครรภ์ 41 สัปดาห์ได้ เราจะเรียกระยะนี้ว่าเป็นการตั้งครรภ์เกินกำหนด และคุณแม่จำเป็นจะต้องไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดค่ะ

แต่การตั้งครรภ์เกินกำหนดเป็นอย่างไร ท้อง 41 สัปดาห์แล้ว แต่ก็ยังไม่คลอด จะเสี่ยงอันตรายมากแค่ไหนกันนะ

ท้อง 41 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


กำหนดคลอดโดยปกติจะอยู่ระหว่างอายุครรภ์ 37-40 สัปดาห์ โดยทารกอาจจะคลอดออกมาในสัปดาห์ใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องคลอดในสัปดาห์ที่ 37 เสมอไป และส่วนใหญ่คุณแม่ก็จะคลอดกันเสร็จสิ้นในสัปดาห์ที่ 40 นี่เองค่ะ

แต่ถ้าหากคุณแม่ตั้งท้องมาจนมีอายุครรภ์ 41 สัปดาห์ นี่คือการตั้งครรภ์เกินกำหนดค่ะ และคุณแม่จะต้องไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยดูว่าทารกในครรภ์ยังเป็นปกติไหม น้ำหนักตัวเป็นเท่าไหร่ อัตราการเต้นหัวใจเป็นอย่างไร ปริมาณน้ำคร่ำน้อยเกินไปหรือเปล่า ทารกกลับหัวถึงอุ้งเชิงกรานหรือยัง

ซึ่งถ้าหากทุกอย่างยังปกติ แพทย์อาจจะวินิจฉัยให้รอต่อไปอีกหน่อย หรืออาจจำเป็นจะต้องให้ยาเร่งคลอด หรือในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ แพทย์อาจวินิจฉัยให้ผ่าคลอด เพื่อป้องกันอันตรายต่อแม่และทารกในครรภ์ค่ะ

อย่างไรก็ตาม โดยมากแล้วเมื่ออายุครรภ์เกินกำหนดคลอด การคลอดเองตามธรรมชาติจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย และโดยมากมักจะต้องจบลงที่การผ่าคลอดค่ะ

เพราะทารกที่อายุครรภ์ 41 สัปดาห์ มักจะมีขนาดตัวที่ใหญ่เกินกว่าจะคลอดธรรมชาติได้ มักจะทำให้คลอดลำบาก ซึ่งอาจเสี่ยงที่คุณแม่จะเสียเลือดมาก เพราะใช้เวลาเบ่งคลอดนานเกินไป หรือทารกอาจติดอยู่ที่ช่องคลอดนานจนกระทั่งขาดอากาศหายใจ

ดังนั้น สำหรับการตั้งครรภ์เกินกำหนด การคลอดธรรมชาติจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กมากกว่าการผ่าคลอด

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์

พัฒนาการและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ถือว่าพัฒนามาจนสมบูรณ์และพร้อมที่จะเริ่มทำงานหลังคลอดแล้วค่ะ อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุครรภ์มากกว่า 40 สัปดาห์ รกจะเริ่มเสื่อมสภาพและทำหน้าที่ลดลง การลำเลียงอาหารและออกซิเจนก็อาจจะน้อยลงด้วย

ดังนั้น ถ้าหากพ้นกำหนดคลอด 40 สัปดาห์ไปแล้วยังไม่มีการคลอดเกิดขึ้น ทารกในครรภ์จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงค่ะ คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่าทารกในครรภ์ยังเป็นปกติดีไหม และจำเป็นจะต้องมีการให้ยาเร่งคลอด หรืออาจจะต้องมีการผ่าคลอดหรือไม่

การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่

อายุครรภ์ 41 สัปดาห์ คุณแม่จะไม่พบกับความเปลี่ยนแปลงใด ๆ มากกว่าที่เป็นอยู่ นั่นหมายความว่าถ้าคุณแม่มีอาการปวดหลัง ปวดสะโพก ปวดขา ตัวบวม มือบวม เท้าบวม มีอาการท้องแข็งบ่อย ๆ นอนไม่หลับ ปัสสาวะบ่อย ฯลฯ อาการต่าง ๆ เหล่านั้นก็จะยังคงอยู่ค่ะ เพราะคุณแม่ยังไม่มีการคลอดเกิดขึ้น

ซึ่งถ้าหากแพทย์วินิจฉัยว่าทารกในครรภ์ยังเป็นปกติ ควรรอต่อไปอีกหนึ่งสัปดาห์ สิ่งสำคัญที่คุณแม่จะต้องคอยจับตาดูก็คืออาการใกล้คลอด หากคุณแม่พบว่ามีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ถือว่าเป็นสัญญาณใกล้คลอดค่ะ

          • มีอาการปวดท้องรุนแรง โดยอาจจุปวดท้องทุก ๆ 10-20 นาที แล้วเริ่มปวดถี่ขึ้นเป็นทุก ๆ 5-10 นาที และอาการปวดไม่ทุเลาลงเลย มีแต่ปวดแรงขึ้น ๆ

          • มีของเหลว หรือมูกใส ๆ หรือมูกปนเลือดไหลออกมาทางช่องคลอด

          • น้ำคร่ำแตก หรือน้ำเดิน คือมีของเหลวใส ๆ ไหลออกทางช่องคลอดเป็นจำนวนมาก

          • ปากมดลูกเริ่มขยาย โดยอาจจะเปิดกว้างขึ้นชั่วโมงละ 1-2 เซนติเมตร

หากมีอาการดังกล่าว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะเป็นสัญญาณใกล้คลอด และอาจจะมีการคลอดเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า

มีอะไรที่คุณแม่ควรกินเพื่อบำรุงน้ำนมหลังคลอด


ก่อนคลอด ใกล้คลอด และหลังคลอด คุณแม่ยังคงจำเป็นที่จะต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่อยู่เช่นเดิม เพราะต้องไม่ลืมว่าอะไรก็ตามที่คุณแม่กินเข้าไป ทารกก็จะได้รับมันทั้งหมด เนื่องจากทารกยังไม่สามารถเลือกกินอาหารใด ๆ ได้

แม้หลังคลอดไปแล้วเรื่องนี้ก็ยังคงสำคัญนะคะ เพราะสารอาหารจากอาหารที่คุณแม่กินเข้าไป จะส่งต่อไปถึงทารกผ่านน้ำนมแม่ ดังนั้น หากคุณแม่กินอาหารที่มีประโยชน์ ก็จะช่วยให้ร่างกายของคุณแม่และทารกแข็งแรง

มากไปกว่านั้น สารอาหารที่มีประโยชน์ ยังมีส่วนช่วยในการสร้างน้ำนมในช่วงเริ่มตั้งครรภ์ และจะยังมีส่วนสำคัญในการช่วยผลิตน้ำนมหลังคลอดต่อไปอีกด้วย โดยกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์และหลังคลอด ได้แก่

มากไปกว่านั้น สารอาหารที่มีประโยชน์ ยังมีส่วนช่วยในการสร้างน้ำนมในช่วงเริ่มตั้งครรภ์ และจะยังมีส่วนสำคัญในการช่วยผลิตน้ำนมหลังคลอดต่อไปอีกด้วย โดยกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์และหลังคลอด ได้แก่

          • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่ยังสามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นสำหรับคุณแม่ท้องและให้นม 

อาทิ มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

Enfamama TAP No. 1

อย่างไรก็ตาม สำหรับแม่ที่ให้นมบุตร อาหารที่แม่ให้นมลูกห้ามกินอย่างเด็ดขาดเลย หลัก ๆ จะมีอยู่ 2 อย่าง ดังนี้ 

          • ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรต่าง ๆ เพราะโดยมากแล้วยังไม่มีผลการวิจัยและผลการศึกษาที่มากเพียงพอจะรองรับความปลอดภัยต่อสตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร

          • แอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลทำให้น้ำนมน้อยลง มากไปกว่านั้น ยิ่งคุณแม่ดื่มแอลกอฮอล์มากแค่ไหน ทารกก็ยิ่งเสี่ยงที่จะได้รับแอลกอฮอล์ผ่านนมแม่ตามไปด้วย

ท้อง 41 สัปดาห์ ยังไม่คลอด ทำยังไงดีนะ และอาการใกล้คลอดที่ควรรู้


เมื่ออายุครรภ์เกิน 40 สัปดาห์แล้วยังไม่มีการคลอดเกิดขึ้น จะเรียกว่า การตั้งครรภ์เกินกำหนด หรือเกินกำหนดคลอด ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่อาจมีความเสี่ยงทั้งต่อแม่และทารกในครรภ์ได้ค่ะ

ท้อง 41 สัปดาห์ ยังไม่คลอด ปกติไหมนะ

อายุครรภ์ 41 สัปดาห์ ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์เกินกำหนด ถือว่าไม่ปกติ และเสี่ยงอันตรายค่ะ เนื่องจากรกอาจจะเริ่มเสื่อมสภาพ น้ำคร่ำจะเริ่มลดปริมาณลง หรือทารกอาจจะเริ่มขาดออกซิเจนเมื่อรกค่อย ๆ เสื่อสภาพลง ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ หรืออาจทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้ค่ะ

วิธีเร่งคลอดแบบธรรมชาติ

การเร่งคลอดด้วยวิธีแบบธรรมชาติที่นิยมใช้กัน เช่น

          • การกวาดมดลูก โดยจะใช้มือกวาดไปที่ปากมดลูกเพื่อแยกปากมดลูกกับถุงน้ำคร่ำออกจากกัน เป็นการกระตุ้นให้มดลูกบีบตัว และเข้าสู่ระยะคลอดได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ไม่ใช่ทำปุ๊บเห็นผลปั๊บค่ะ แต่ต้องใช้ระยะเวลา ไม่เหมาะสำหรับการเร่งคลอดแบบทันทีทันใด

          • เจาะถุงน้ำคร่ำ โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์คล้ายขอเกี่ยวเจาะถุงน้ำคร่ำให้แตกออก เพื่อให้ศีรษะของทารกเลื่อนต่ำลงมาจนถึงปากช่องคลอดค่ะ

          • การมีเพศสัมพันธ์ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่อาจสามารถกระตุ้นให้เกิดการคลอดได้ แต่ประสิทธิภาพในการเร่งคลอดนั้นอาจจะไม่ได้มากเท่ากับการกวาดมดลูกหรือการเจาะน้ำคร่ำค่ะ

หากคุณแม่มีอายุครรภ์เกิน 40 สัปดาห์แล้ว และยังไม่ยอมคลอด ควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อตรวจดูว่าทารกในครรภ์ยังเป็นปกติดีหรือไม่ และแพทย์จะมีการวินิจฉัยว่าควรรอต่อไปไหม

โดยแพทย์อาจจะแนะนำให้ทำการเร่งคลอดก่อน หรืออาจจะวินิจฉัยให้ทำการผ่าคลอด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับคุณแม่และทารกในครรภ์ค่ะ

การดูแลสุขภาพคุณแม่หลังคลอด และการดูแลลูกน้อย


การดูแลสุขภาพหลังคลอด เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จำเป็นไม่แพ้กับการดูแลตัวเองในระหว่างตั้งครรภ์เลยค่ะ เพราะคุณแม่ยังจำเป็นที่จะต้องมีสุขภาพแข็งแรงเพื่อที่จะสามารถให้นมทารกได้อย่างต่อเนื่อง

อาหารการกินแม่หลังคลอด

คุณแม่ยังจำเป็นจะต้องกินอาหารที่มีประโยชน์และครบทั้ง 5 หมู่ต่อไป เพื่อให้สุขภาพของคุณแม่ฟื้นตัวหลังคลอดได้เร็วขึ้น และช่วยในการผลิตน้ำนมด้วย

หากคุณแม่กินอาหารได้น้อย หรือกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ สารอาหารเหล่านั้นจะส่งต่อไปยังทารกผ่านน้ำนมของคุณแม่ และส่งผลเสียต่อสุขภาพของทารกได้ค่ะ โดยสิ่งที่แม่หลังคลอดควรจะต้องหลีกเลี่ยง ได้แก่

          • อาหารที่ไม่สะอาด ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ ไม่ผ่านการปรุงสุก เพราะเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อได้

          • ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรต่าง ๆ เพราะโดยมากแล้วสมุนไพร และผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรจะไม่มีผลการวิจัยและผลการศึกษาที่เพียงพอจะรองรับความปลอดภัยต่อสตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร

          • แอลกอฮอล์ เพราะทารกจะได้รับปริมาณแอลกอฮอล์ผ่านทางน้ำนม ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกน้อยได้ค่ะ

ดูแลลูกน้อยหลังคลอดอย่างไรดี

นอกจากการดูแลตนเองแล้ว คุณแม่ยังมีภารกิจที่จะต้องคอยดูแลทารกแรกเกิดที่เพิ่งจะลืมตาออกมาดูโลกอีกด้วย สิ่งสำคัญเลยก็คือคุณแม่ควรจะต้องให้นมแม่ติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน และสามารถให้นมแม่ต่อเนื่องได้สุงสุดถึง 2 ปี

แต่ถ้าหากคุณแม่มีปัญหาน้ำนมน้อย น้ำนมไม่ไหล อย่าเพิ่งวิตกไปค่ะ เป็นปัญหาทั่วไปที่สามารถพบได้ในคุณแม่ทุกคน แนะนำให้คุณแม่ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ

1. การให้นมลูก

ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังคลอด คุณแม่อาจจะต้องให้นมลูกหลายครั้ง โดยควรให้นมลูกทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง หรือเฉลี่ยแล้วคุณแม่จะต้องให้นมลูกประมาณ 8-12 ครั้งต่อวันค่ะ โดยขั้นตอนการให้นมลูก สามารถทำได้ 4 ท่า ดังนี้

          • ท่าที่ 1 ลูกนอนขวางบนตัก ให้คุณแม่อุ้มลูกวางไว้บนตัก มือและแขนประคองตัวลูกไว้ให้ลูกนอนตะแคงเข้าหาตัวแม่ ศีรษะลูกอยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย ท้ายทอยลูกวางอยู่บริเวณแขนและข้อพับของแม่ มืออีกข้างประคองเต้านมไว้

          • ท่าที่ 2 ลูกนอนขวางบนตักแบบประยุกต์ คล้ายท่าแรก เพียงแต่เปลี่ยนมือ โดยใช้มือข้างเดียวกับเต้านมที่ลูกดูดประคองเต้านม มืออีกข้างรองรับต้นคอ และท้ายทอยของลูกแทน

ท่านี้เหมาะสำหรับนำลูกเข้าอมหัวนม จะช่วยในการควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะลูกได้ดี (เมื่อลูกโตขึ้น เริ่มสนใจสิ่งแวดล้อม เวลามีอะไรมาดึงความสนใจแล้วชอบหันไปดู ก็จะดึงหัวนมแม่ไปด้วย ทำให้แม่เจ็บ ท่านี้จะช่วยคุณแม่ได้มาก)

          • ท่าที่ 3 ท่าอุ้มลูกฟุตบอล ลูกอยู่ในท่ากึ่งตะแคงกึ่งนอนหงาย มือจับที่ต้นคอและท้ายทอยของลูก กอดตัวลูกกระชับกับสีข้างของแม่ ให้ขาของลูกชี้ไปทางด้านหลัง ลูกดูดนมจากเต้านมข้างเดียวกับมือที่จับลูก มืออีกข้างหนึ่งประคองเต้านมไว้ ท่าให้นมลูกนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับ

          • ท่าที่ 4 แม่ลูกนอนตะแคงเข้าหากัน แม่นอนศีรษะสูง หลังและสะโพกตรง ให้ปากลูกอยู่ตรงกับหัวนมของแม่ มือที่อยู่ด้านล่างประคองหลังลูกไว้ มือที่อยู่ด้านบนประคองเต้านมในช่วงแรกที่เริ่มเอาหัวนมเข้าปากลูก

เมื่อลูกดูดได้ดีเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ค่อยขยับมือออกได้ อ้อ…ควรมีผ้าขนหนูที่ม้วนไว้รองด้านหลังของลูกด้วยนะ ท่านี้เหมาะสำหรับแม่ที่ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง และต้องการพักผ่อน และเหมาะสำหรับให้นมลูกเวลากลางคืน

2. เช็ดสะดือลูก

ขั้วสะดือของลูกจะค่อย ๆ แห้งและหลุดออกเองหลังคลอดภายใน 5-10 วัน คุณแม่ไม่จำเป็นต้องไปดึงให้หลุดออกเองนะคะ เพราะจะทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อลูกน้อยได้ สิ่งที่ควรทำคือหมั่นเช็ดสะดือของลูกน้อย ดังนี้

          • ล้างมือให้สะอาดก่อนที่จะเริ่มสัมผัสกับสะดือของลูก

          • จับสายสะดือให้ตั้งตรงขึ้นเบา ๆ จะมองเห็นซอกเล็ก ๆ หรือโคนสะดือ ให้ใช้สำลีก้าน หรือสำลีก้อน ชุบแอลกอฮอล์ 70 % และเช็ดบริเวณโคนสะดือให้สะอาด

          • จากนั้นให้ใช้สำลีก้าน หรือสำลีก้อน ชุบแอลกอฮอล์ 70 % และเช็ดไล่เบา ๆ จากบริเวณโคนสะดือขึ้นมาจนถึงปลายสะดือให้สะอาดรอบทุกด้าน

          • เมื่อเช็ดโคนสะดือและสายสะดือสะอาดแล้ว ให้ใช้สำลีก้าน หรือสำลีก้อน ชุบแอลกอฮอล์ 70 % และเช็ดทำความสะอาดผิวหนังโดยรอบของสะดือด้วย

          • กรณีที่แพทย์ให้ยาสำหรับทาสะดือมาด้วย หลังจากเช็ดทำความสะอาดสะดือเรียบร้อยแล้ว ใช้สำลีก้าน หรือสำลีก้อน ชุบยาทาสะดือทารก โดยเริ่มเช็ดจากบริเวณขั้วตัดของสายสะดือ ไล่ลงไปจนถึงโคนสะดือ

          • โดยยาทาสะดือทารกนี้ ควรทาอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หรือตามแพทย์สั่ง

3. นวดสัมผัสลูกน้อย

การนวดให้ลูกถือว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีส่วนช่วยกระตุ้นพัฒนาการของทารก ทั้งยังเป็นการส่งเสริมความผูกพันใกล้ชิดระหว่างพ่อ แม่ และลูกน้อยด้วย ทั้งยังช่วยให้ทารกรู้สึกผ่อนคลาย ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น โดยวิธีการนวดท้องให้ทารก สามารถทำได้ ดังนี้

          • ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสกับลูกน้อย

          • ก่อนเริ่มนวดให้พยายามพูดคุยและส่งเสียงสื่อสารกับลูกน้อยเพื่อสร้างความเคยชินก่อนจะเริ่มลงมือนวด

          • การนวด ให้คุณพ่อคุณแม่นวดวนเบา ๆ โดยเริ่มจากศีรษะ ไล่ลงมาหน้าผาก ใบหน้า ทรวงอก แขน ท้อง ขาและหลัง

          • ขณะนวดควรสังเกตดูพฤติกรรมของลูกน้อยด้วยว่าตอบสนองอย่างไร ร้องไห้ไหม หรือหัวเราะชอบใจ

          • เวลานวดควรออกแรงกดเล็กน้อย ไม่ใช่แค่สัมผัสเฉยๆ เพราะจะทำให้ลูกมีอาการจั๊กจี้ และรู้สึกไม่สบายตัวยิ่งกว่าเดิม

          • ต้องสังเกตดูปฏิกิริยาต่าง ๆ เสมอ เช่น ลูกร้องไห้ไหม ผิวแดงเป็นจ้ำเพราะออกแรงกดมากไปหรือเปล่า หากมีอาการดังกล่าว ควรหยุดนวด รอจนลูกน้อยดีขึ้นค่อยนวดใหม่

4. อาบน้ำให้ลูกน้อย

การอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย ก็เป็นอีกหนึ่งเช็กลิสต์สำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะต้องทำให้ลูกน้อยทุกวัน เพื่อเป็นการรักษาความสะอาดของทารก ป้องกันการหมักหมมของสิ่งสกปรกและแบคทีเรีย โดยคุณพ่อคุณแม่ สามารถอาบน้ำให้ลูกน้อยได้ง่าย ๆ ดังนี้

          • ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสกับลูกน้อย

          • เตรียมอุปกรณ์อาบน้ำ ผสมน้ำอุ่นครึ่งกะละมัง เตรียมผ้าอ้อมหรือผ้าสะอาด สำลี และชุดสำหรับเปลี่ยนให้เรียบร้อย

          • ถอดเสื้อผ้าทารก จากนั้นให้ห่อตัวลูกด้วยผ้าขนหนู โดยใช้มือข้างที่ไม่ถนัดอุ้มลูกไว้ โดยใช้นิ้วพับใบหูทั้งสองข้างของลูกไว้เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู

          • ใช้มืออีกข้างที่ถนัดสำหรับอาบน้ำลูก โดยใช้สำลีหรือผ้านุ่มสะอาดชุบน้ำหมาด ๆ เพื่อเช็ดทำความสะอาดบริเวณใบหน้า ซอกคอ และศีรษะ โดยในทุก ๆ การเช็ดนั้นควรเปลี่ยนผ้าหรือสำลีอันใหม่เสมอ ไม่ควรใช้ผ้าผืนเดียวกันเช็ดทั้งตัว

          • เวลาสระผมให้ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำให้ชุ่มและชโลมศีรษะให้เปียก จากนั้นใช้ปลายนิ้วนวดศีรษะลูกให้ทั่ว แล้วนำผ้าขนหนูชุบน้ำชโลมไปที่ศีรษะของลูกอีกครั้งเพื่อล้างสิ่งสกปรก

          • จากนั้นเช็ดใบหน้าและศีรษะของลูกให้แห้ง แล้วคลายผ้าห่อตัวออก สำหรับเด็กผู้หญิงให้เช็ดจากบนลงล่าง ไม่เช็ดย้อนไปย้อนมา เพราะเสี่ยงที่เชื้อโรคจากทวารหนักจะเข้าสู่อวัยวะเพศของลูก โดยใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดทำความสะอาดบริเวณรูทวารหนัก

          • เสร็จแล้วให้ค่อย ๆ อุ้มลูกมาไว้ในอ้อมแขน โดยใช้แขนข้างหนึ่งประคองที่คอและศีรษะ ส่วนแขนอีกข้างหนึ่งประคองลำและก้นตัวเอาไว้

          • จากนั้นค่อย ๆ หย่อนลูกน้อยลงกะละมัง มือข้างหนึ่งประคองศีรษะและคอไว้ตลอด ส่วนมืออีกข้างให้วักน้ำไปตามศีรษะ ใบหน้า ลำตัว แขน ขา และถูทำความสะอาดให้ทั่ว โดยเริ่มจากด้านหน้าก่อน เมื่อด้านหน้าสะอาดแล้วค่อยย้ายมาทำความสะอาดด้านหลัง ระวังอย่าให้น้ำเข้าตาหรือเข้าจมูกลูก

          • เวลาอาบด้านหลังให้ใช้มือข้างที่ถนัดสอดไปที่รักแร้ฝั่งที่ไม่ได้อยู่ใกล้ตัวคุณแม่ โดยให้สี่นิ้วอยู่ด้านล่าง และนิ้วโป้งอยู่ด้านบนของแขน ส่วนรักแร้ด้านที่อยู่ใกล้ตัวคุณแม่ให้ใช้ต้นแขนสอดรัดไว้ จากนั้นโน้มตัวทารกไปด้านหน้าเล็กน้อย แล้ววักน้ำทำความสะอาดด้านหลังของลูกให้สะอาด

          • เมื่อเสร็จแล้วให้ใช้มือข้างที่ไม่ถนัดประคองที่คอและศีรษะ ส่วนมือข้างที่ถนัดประคองไว้ที่ก้น แล้วอุ้มลูกไปวางไว้ที่ผ้าขนหนูที่เตรียมไว้แล้วจึงเช็ดตัวให้แห้ง

          • เมื่ออุ้มลูกขึ้นมาจากกะละมังแล้ว ก็เริ่มเช็ดตัวลูก โดยเริ่มจากบริเวณศีรษะ ใบหน้า ลำตัว รักแร้ ซอกข้อพับต่าง ๆ ซอกนิ้วมือและนิ้วเท้า

          • จากนั้นให้ใส่ผ้าอ้อมก่อนเป็นอันดับแรก เพราะหลังอาบน้ำเสร็จใหม่ ๆ ร่างกายของทารกเจอความเย็น จึงอาจมีอาการปัสสาวะเล็ดได้ จากนั้นจึงใส่เสื้อผ้าชุดใหม่

          • กรณีที่ลูกมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพผิว สามารถใช้ออยล์สำหรับเด็กหรือโลชั่นสำหรับเด็กที่แพทย์แนะนำ ชโลมไปตามร่างกายของลูกน้อยเพื่อป้องกันผิวแห้ง ช่วงเวลาที่ทาออยล์หรือโลชั่นนี้ก็จะช่วยให้เจ้าตัวเล็กรู้สึกผ่อนคลายและสบายตัวขึ้นได้

5. การเปลี่ยนผ้าอ้อมลูกน้อย

การเปลี่ยนผ้าอ้อม ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทั้งคุณพ่อคุณแม่จะต้องเรียนรู้และหัดทำไปด้วยกัน โดยสามารถเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกน้อยได้ ดังนี้

          • ล้างมือให้สะอาดก่อนจะสัมผัสกับลูกน้อย เตรียมผ้าอ้อม และผ้าสะอาดไว้ให้เรียบร้อย

          • วางลูกน้อยลงบนเบาะ แล้วค่อย ๆ ปลดแถบกาวผ้าอ้อมแต่ละด้านออก

          • จากนั้นยกก้นของลูกออกจากผ้าอ้อม โดยจับที่ข้อเท้าเบา ๆ แล้วยกขึ้นเล็กน้อย แล้วพับผ้าอ้อมลงครึ่งหนึ่ง แล้วเลื่อนผ้าอ้อมออกไปวางไว้ใกล้ตัว แต่ต้องห่างพอจะพ้นมือลูกน้อยของคุณ

          • ค่อย ๆ เช็ดลูกน้อยอวัยวะเพศและก้นของลูกน้อยด้วยผ้าสะอาด ทิชชูเปียกสำหรับเด็กอ่อน หรือสำลีชุบน้ำหมาด ๆ สำหรับทารกเพศหญิงให้เช็ดจากด้านหน้าอวัยวะเพศไปด้านหลังเสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

          • สำหรับทารกเพศชายให้เช็ดทำความสะอาดอวัยวะเพศและถุงอัณฑะให้เรียบร้อยแล้วจึงเช็ดทำความสะอาดก้นปิดท้าย

          • ขณะเปลี่ยนผ้าอ้อมนี้ ลูกน้อยอาจจะฉี่รดออกมาก็ได้ ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการฉี่รด ให้วางผ้าอ้อมหรือผ้าที่สะอาดไว้เหนืออวัยวะเพศขณะทำความสะอาดบริเวณผ้าอ้อม

          • เมื่อเช็ดทำความสะอาดครบแล้ว ให้สอดผ้าอ้อมอันใหม่ไว้ใต้ก้นของทารก เช็กดูให้แน่ใจว่าใส่ถูกด้านหรือเปล่า วางด้านหน้าไว้ตรงหว่างขาลูก และด้านหลังของผ้าอ้อมควรจะอยู่ใต้ก้นลูก

          • ก่อนปิดผ้าอ้อม จัดวางอวัยวะเพศชายของลูกน้อยลง เพื่อป้องกันไม่ให้ฉี่ออกมาจากผ้าอ้อม หากมีออยล์หรือมอยส์เจอไรเซอร์สามารถทาให้ลูกน้อยได้ตอนนี้เลย จากนั้นปิดผ้าอ้อมและแถบกาวให้เรียบร้อย

          • เสร็จแล้วให้นำผ้าอ้อมและผ้าที่เช็ดทำความสะอาดทารกแยกทิ้งไว้เป็นขยะของทารกโดยเฉพาะ จากนั้นล้างมือให้สะอาด เป็นอันเสร็จสิ้น

ไขข้อข้องใจเมื่อท้อง 41 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


41 สัปดาห์แล้วยังไม่คลอด ทำยังไงดีนะ?

คุณแม่ควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด หากพ้นไปจาก 40 สัปดาห์แล้วยังไม่มีการคลอดเกิดขึ้น เพราะการตั้งครรภ์เกินกำหนดอาจส่งผลเสียต่อแม่และทารกในครรภ์ได้ค่ะ

ดูแลเต้านมคุณแม่สำหรับการให้นมอย่างไร?

คุณแม่สามารถดูแลเต้านมได้ ดังนี้

          • สวมเสื้อชั้นในที่ช่วยพยุงเต้านม แต่ควรสวมไซซ์ที่พอดี ไม่แน่นเกินไป และควรเลือกเสื้อชั้นในที่สะดวกต่อการให้นม

          • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่รัดรูปและเสื้อชั้นในแบบมีโครง เพราะเสี่ยงที่จะทำให้ท่อน้ำนมอุดตันและเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่เต้านม

          • หากคุณแม่มีน้ำนมไหลออกมาตลอดเวลา ควรเปลี่ยนแผ่นซับน้ำนมทุกครั้งที่เปียก เพื่อลดการอับชื้นที่อาจจะนำไปสู่การหมักหมมของสิ่งสกปรกและแบคทีเรีย

          • เวลาอาบน้ำ ไม่ควรถูสบู่ที่หัวนมค่ะ ใช้แค่เพียงน้ำสะอาดก็เพียงพอแล้ว เพราะสบู่จะชะล้างสารหล่อลื่นตามธรรมชาติที่ผลิตโดยต่อมรอบหัวนมออกไป อาจทำให้หัวนมแห้งและแตกได้

          • ไม่สวมเสื้อชั้นในซ้ำกัน ควรเปลี่ยนเสื้อชั้นในทุกวัน ซักและทำความสะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันเชื้อรา

น้ำนมเหลืองคืออะไร และมีความสำคัญกับลูกน้อยแค่ไหน?

น้ำนมเหลือง หรือ Colostrum เป็นน้ำนมแรกของแม่ที่จะไหลออกมาก่อนน้ำนมส่วนอื่น ๆ โดยน้ำนมเหลืองนี้จัดว่าเป็นนมแม่ส่วนที่ดีที่สุด ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์หลายร้อยชนิด เช่น MFGM, DHA, แลคโตเฟอร์ริน เป็นต้น

ซึ่งสารอาหารในระยะน้ำนมเหลืองนั้น มีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการครบรอบด้านทั้งสมอง ภูมิคุ้มกัน และระบบทางเดินอาหารของทารก

มากไปกว่านั้น น้ำนมเหลือง ยังถือได้ว่าว่าเป็นวัคซีนเข็มแรกของลูก เนื่องจากมีสารภูมิคุ้มกันซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันการติดเชื้อและเสริมภูมิคุ้มกันของทารกให้แข็งแรง

โดยน้ำนมเหลืองจะไหลออกมาแค่เพียง 1-3 วันแรกหลังคลอดเท่านั้น นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญเลยค่ะว่า ทำไมคุณแม่ควรรีบให้นมลูกทันทีหลังคลอด เพราะถ้าหากพ้นไปจาก 1-3 วันหลังคลอดแล้ว ทารกก็จะพลาดโอกาสที่จะได้รับคุณค่าทางสารอาหารที่ดีที่สุดช่วงนี้ไปค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

how-to-clean-babys-belly-button
when-can-babies-sleep-on-their-stomach
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner