ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 40 สัปดาห์ อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 40 สัปดาห์ อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 20-22 นิ้ว หนักประมาณ 3-4 กิโลกรัม มีขนาดพอ ๆ กับลูกขนุน
  • อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตขึ้นมาอย่างเต็มที่แล้วในสัปดาห์นี้ ระบบต่าง ๆ ของทารก พัฒนามาจนสมบูรณ์แล้ว และพร้อมที่ทำงานและพัฒนาต่อเนื่องทันทีหลังคลอด
  • อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ คือกำหนดคลอดสุดท้าย หากพ้นจากสัปดาห์นี้ไปแล้วยังไม่มีการคลอดเกิดขึ้น จะถือว่าเป็นการตั้งครรภ์เกินกำหนด

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 40 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 40
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 40 สัปดาห์
     • ใกล้คลอดแล้ว ควรกินอะไรเพื่อบำรุงร่างกายและน้ำนม
     • ท้อง 40 สัปดาห์ กับอาการใกล้คลอดที่ควรรู้
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ ถือว่าเป็นสัปดาห์สุดท้ายของกำหนดคลอด คุณแม่ที่ยังไม่มีการคลอดเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจจะมีการคลอดเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้

แต่ถ้าหากท้อง 40 สัปดาห์ ยังไม่คลอด แบบนี้ถือว่าผิดปกติหรือเปล่านะ แล้วถ้าท้องครบ 40 สัปดาห์แล้วก็ยังไม่คลอดอีก จะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ไหม คุณแม่ควรจะรับมืออย่างไรดี

ท้อง 40 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ ทารกมีขนาดโตเต็มวัยและพร้อมที่จะคลอดออกมาแล้วค่ะ หากสัปดาห์ที่ผ่านมายังไม่มีการคลอดเกิดขึ้น คุณแม่อาจจะมีการคลอดในสัปดาห์นี้ก็ได้ค่ะ อย่างไรก็ตาม กำหนดคลอดจะอยู่ระหว่างอายุครรภ์ 37-40 สัปดาห์ ซึ่งทารกอาจจะคลอดออกมาสัปดาห์ใดก็ได้ค่ะ

แต่ถ้าหากจนถึงวันสุดท้ายของท้อง 40 สัปดาห์ ยังไม่คลอด และพ้นจากสัปดาห์นี้ไปแล้วจะถือว่าเป็นการตั้งครรภ์เกินกำหนดค่ะ คุณแม่จะต้องรีบไปพบแพทย์ค่ะ เพื่อวินิจฉัยดูว่าจะต้องทำการเร่งคลอดเลยไหม หรือสามารถรอต่อไปได้อีกหน่อย ทารกกลับศีรษะลงถึงอุ้งเชิงกรานหรือยัง หรือจำเป็นจะต้องมีการผ่าคลอดหรือไม่

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 40 สัปดาห์ เป็นอย่างไร


พัฒนาการและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ถือว่าพัฒนามาจนสมบูรณ์และพร้อมที่จะเริ่มทำงานหลังคลอดแล้วค่ะ อย่างไรก็ตาม รกจะเริ่มทำหน้าที่ลดลง ดังนั้น ถ้าหากพ้นกำหนดคลอด 40 สัปดาห์ไปแล้วยังไม่มีการคลอดเกิดขึ้น ทารกในครรภ์จะเริ่มมีความเสี่ยงค่ะ

ขนาดทารกในครรภ์ 40 สัปดาห์ จะมีขนาดเท่าไหน

ทารกอายุครรภ์ 40 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 20-22 นิ้ว หนักประมาณ 3-4 กิโลกรัม มีขนาดพอ ๆ กับลูกขนุนค่ะ

อวัยวะและระบบอื่น ๆ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 40 สัปดาห์ มีดังนี้

          • ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตขึ้นมาอย่างเต็มที่แล้วในสัปดาห์นี้ และพร้อมสำหรับการคลอดแบบสุด ๆ แล้วด้วยเหมือนกัน

          • ระบบต่าง ๆ ของทารก พัฒนามาจนสมบูรณ์แล้ว และพร้อมที่ทำงานและพัฒนาต่อเนื่องทันทีหลังคลอด

          • สมองทารกแรกเกิดมีน้ำหนักสมองประมาณ 340 กรัม หรือหนักประมาณ 25% ของน้ำหนักสมองผู้ใหญ่

การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ และหลังแรกคลอดเป็นอย่างไร


แม่ท้อง 35 สัปดาห์หลายคนอาจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่างในช่วงสัปดาห์นี้ มีดังนี้

          • มีมูกเลือดออกมามากทางช่องคลอด ปากมดลูกเปิดกว้างขึ้น ถุงน้ำคร่ำแตก น้ำคร่ำและมูกเลือดไหลออกมาการหดรัดตัวของมดลูกแรงขึ้นเป็นจังหวะสม่ำเสมอและถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเป็นอย่างนี้..คุณแม่ได้เวลาคลอดแล้วค่ะ

          • หากคุณแม่ยังไม่คลอดในสัปดาห์นี้ และลูกยังดิ้นดีอยู่ เมื่อไปฝากครรภ์จนครบ 41 สัปดาห์ และแพทย์บอกว่าเป็นปกติ กรณีนี้ยังสามารถรอต่อไปได้อีกหน่อยค่ะ

          • ส่วนใหญ่หากรอถึง 42 สัปดาห์แล้ว ยังไม่เจ็บครรภ์เอง การรอต่อไปมีผลเสียมากกว่าผลดี เพราะเสี่ยงที่รกจะฝ่อทำให้ทารกขาดน้ำ ขาดอาหาร จำเป็นจะต้องใช้ยากระตุ้นให้คลอด หรือถ้าปากมดลูกยังปิดแน่น ศีรษะทารกยังไม่เคลื่อนลงต่ำมีโอกาสสูงที่แพทย์จะเลือกวิธีผ่าตัดคลอด

คุณแม่ใกล้คลอดและหลังแรกคลอดต้องกินอะไรเพื่อบำรุงร่างกายและน้ำนม


ก่อนคลอด ใกล้คลอด และหลังคลอด คุณแม่ยังคงจำเป็นที่จะต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่อยู่เช่นเดิม เพราะต้องไม่ลืมว่าอะไรก็ตามที่คุณแม่กินเข้าไป ทารกก็จะได้รับมันทั้งหมด เพราะทารกยังไม่สามารถเลือกกินอาหารใด ๆ ได้

แม้หลังคลอดไปแล้วเรื่องนี้ก็ยังคงสำคัญนะคะ เพราะสารอาหารจากอาหารที่คุณแม่กินเข้าไป จะส่งต่อไปถึงทารกผ่านน้ำนมแม่ ดังนั้น หากคุณแม่กินอาหารที่มีประโยชน์ ก็จะช่วยให้ร่างกายของคุณแม่และทารกแข็งแรง

มากไปกว่านั้น สารอาหารที่มีประโยชน์ ยังมีส่วนช่วยในการสร้างน้ำนมในช่วงเริ่มตั้งครรภ์ และจะยังมีส่วนสำคัญในการช่วยผลิตน้ำนมหลังคลอดต่อไปอีกด้วย โดยกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์และหลังคลอด ได้แก่

          • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่ยังสามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น

ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

Enfamama TAP No. 1

ท้อง 40 สัปดาห์ ยังไม่คลอด แบบนี้ปกติหรือเปล่านะ และอาการใกล้คลอดที่ควรรู้!


ท้อง 40 สัปดาห์ ปากมดลูกไม่เปิด ยังไม่ถือว่าผิดปกติค่ะ แต่จะต้องรอดูกันว่าภายในสัปดาห์ที่ 40 นี้จะมีการคลอดเกิดขึ้นหรือไม่

โดยแพทย์อาจจะทำการเร่งคลอด ซึ่งถ้าเร่งคลอดสำเร็จ ปากมดลูกเปิด ก็จะเริ่มกระบวนการคลอดได้ แต่ถ้าเร่งคลอดไม่สำเร็จ กรณีนี้จะขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของแพทย์ว่าจะรอต่อไหม หรือจะวินิจฉัยให้มีการผ่าคลอด

อย่างไรก็ตาม หากพ้นจากสัปดาห์ที่ 40 ไปแล้ว แต่ยังไม่มีการคลอดเกิดขึ้น จะถือว่าเป็นการตั้งครรภ์เกินกำหนด แพทย์อาจจำเป็นจะต้องทำการเร่งคลอด หรือวินิจฉัยให้ผ่าคลอด เพื่อความปลอดภัยของแม่และทารกในครรภ์ค่ะ

นอกจากนี้ คุณแม่ยังควรสังเกตอาการต่าง ๆ อยู่เรื่อย ๆ ถ้าหากมีอาการดังต่อไปนี้ จะเป็นสัญญาณใกล้คลอดค่ะ

          • มีอาการปวดท้องรุนแรง โดยอาจจุปวดท้องทุก ๆ 10-20 นาที แล้วเริ่มปวดถี่ขึ้นเป็นทุก ๆ 5-10 นาที และอาการปวดไม่ทุเลาลงเลย มีแต่ปวดแรงขึ้น ๆ

          • มีของเหลว หรือมูกใส ๆ หรือมูกปนเลือดไหลออกมาทางช่องคลอด

          • น้ำคร่ำแตก หรือน้ำเดิน คือมีของเหลวใส ๆ ไหลออกทางช่องคลอดเป็นจำนวนมาก

          • ปากมดลูกเริ่มขยาย โดยอาจจะเปิดกว้างขึ้นชั่วโมงละ 1-2 เซนติเมตร

หากมีอาการดังกล่าว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะเป็นสัญญาณใกล้คลอด และอาจจะมีการคลอดเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า

ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 40 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ ยังจำเป็นที่จะต้องใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

รวมถึงควรเริ่มลดกิจกรรมและการงานต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงด้วยค่ะ การก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยมากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์และทารกในครรภ์ได้

และคุณแม่ควรจะไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามการตั้งครรภ์ว่าทารกในครรภ์ยังปกติไหม มีพัฒนาการตามวัยหรือเปล่า หรือมีภาวะความเสี่ยงในขณะตั้งครรภ์หรือไม่

40 สัปดาห์แล้ว ยังไม่มีวี่แววอาการใกล้คลอด ต้องไปหาหมอได้หรือยัง

อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ ถือเป็นกำหนดคลอดสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์ ดังนั้น หากพ้นอายุครรภ์ 40 สัปดาห์แล้ว แต่ยังไม่คลอด ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์เกินกำหนด ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยทำการเร่งคลอด หรือแพทย์อาจวินิจฉัยให้ผ่าคลอดในกรณีที่ทารกตัวใหญ่มาก

มีอะไรที่คุณแม่และคุณพ่อต้องเตรียมเมื่อลูกน้อยคลอด

คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มเตรียมของใช้หลังคลอดไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือเริ่มเตรียมตั้งแต่อายุครรภ์เข้าไตรมาสสาม หรือตั้งครรภ์ได้ 7-8 เดือน เพื่อจะได้สามารถหยิบติดตัวไปโรงพยาบาลได้ทันทีที่มีการคลอดเกิดขึ้น โดยของเตรียมคลอดสำหรับลูกน้อยและของสำคัญสำหรับคุณแม่ที่ควรเตรียมไว้ มีดังนี้

ของใช้เตรียมคลอดสำหรับลูกน้อย:

          • คาร์ซีท หรือเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก ควรมีติดรถไว้เมื่อใกล้กำหนดคลอด

          • เสื้อผ้าสำหรับเด็กทารก เตรียมเผื่อหรือให้เพียงพอ

          • ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับเด็กทารก

          • ผ้าอ้อม ผ้าสะอาดสำหรับการเช็ดทำความสะอาด

          • ของใช้ทำความสะอาดร่างกายสำหรับเด็ก ได้แก่ ยาสระผมสำหรับเด็กแรกเกิด สบู่สำหรับเด็กแรกเกิด

          • สมุดบันทึกพัฒนาการของเด็ก

          • ผ้าห่อตัวเด็ก ควรเลือกเป็นผ้านุ่ม ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวเด็ก

          • ชุดสำหรับใส่กลับบ้าน

ของใช้เตรียมคลอดสำหรับคุณแม่:

          • เอกสารสำคัญ เช่น บัตรประจำตัวผู้ป่วย ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน หรือเอกสารเกี่ยวกับประกันสุขภาพต่าง ๆ รวมถึงเอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับใช้ในการแจ้งเกิด เอกสารหรือสมุดฝากครรภ์ ใบนัดแพทย์ บันทึกการตั้งครรภ์ ใบขับขี่ เอกสารเกี่ยวกับประกันสุขภาพหรือประกันสังคม

          • ชื่อสำหรับการแจ้งเกิดเด็ก

          • เสื้อผ้าตัวหลวม เพื่อให้รู้สึกสบายตัว และไม่รัดและเสียดสีบาดแผลจากการคลอด

          • เสื้อผ้าอย่างน้อยประมาณ 2-3 ชุด หรือเตรียมให้เพียงพอต่อการเปลี่ยน

          • ชุดชั้นในอย่างน้อยประมาณ 2-3 ชุด หรือเตรียมให้เพียงพอต่อการเปลี่ยน

          • บราสำหรับให้นม เพื่อช่วยให้คุณแม่สามารถให้นมลูกได้อย่างสะดวกมากขึ้น

          • แผ่นซับน้ำนม เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำนมส่วนเกินไหลออกมาเปื้อนเสื้อผ้า

          • ผ้าอนามัยหลังคลอด เพื่อซับเปลี่ยนน้ำคาวปลาหลังคลอด

          • ของใช้ทำความสะอาดร่างกาย ได้แก่ ครีมอาบน้ำหรือสบู่ ยาสระผม ครีมนวดผม แปรงสีฟัน ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก

          • ของใช้ส่วนตัว ได้แก่ ครีมทาผิว ครีมทาหน้า โรลออนระงับกลิ่นกาย ลิปบาล์ม เครื่องสำอาง หวีผม ยางรัดผม

          • ของใช้อื่น ๆ ตามแต่ไลฟ์สไตล์ เช่น หูฟัง หนังสือ คอมพิวเตอร์แบบพกพา ไอแพด โทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ กล้อง

          • ขนมหรืออาหารที่สามารถกินได้หลังคลอด และมีประโยชน์ในการสร้างน้ำนม

          • เงินสด หรือบัตรเครดิต

          • ยารักษาโรค หรือยาที่แพทย์แนะนำ

          • รองเท้าแตะสำหรับใส่ในบ้าน

          • ชุดสำหรับใส่กลับบ้าน

          • ขวดสำหรับใส่น้ำดื่ม หรือน้ำดื่ม

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือเอกสารต่าง ๆ ที่จะต้องใช้สำหรับการแจ้งเกิดและการย้ายเข้าทะเบียนบ้านค่ะ จำเป็นจะต้องเตรียมให้พร้อม เพื่อที่ถึงเวลาใช้งานจะได้มีเอกสารพร้อมสำหรับดำเนินการที่อำเภอหรือเขตได้ทันที

เอกสารสำหรับการแจ้งเกิด และย้ายเข้าทะเบียนบ้าน ได้แก่

          • บัตรประจำตัวประชาชนผู้แจ้งและของบิดามารดา

          • สำเนาทะเบียนบ้านของบิดา มารดา (ถ้ามี)

          • สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่ต้องการจะเพิ่มชื่อเด็กที่เกิด

          • หนังสือรับรองการเกิดที่ออกให้โดยโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่เด็กเกิด (ถ้ามี)

โดยการแจ้งเกิด จะต้องทำภายใน 15 วันหลังคลอด หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท และจำเป็นจะต้องใช้รูปถ่ายเด็กขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 รูป หรืออาจจะต้องมีพยานการเกิดมายืนยันในการแจ้งเกิดด้วย

ดังนั้น เพื่อลดความวุ่นวายทางเอกสารและขั้นตอนต่าง ๆ ลง ควรเตรียมเอกสารให้พร้อมและจัดการแจ้งเกิดให้เสร็จเรียบร้อยไปเลยจะดีที่สุดค่ะ

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอด

หากคุณแม่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี มีปริมาณน้ำนมที่เพียงพอ ไม่ได้มีปัญหาสุขภาพ หรือมีปัญหาน้ำนมน้อย คุณแม่ควรจะให้ลูกได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน และสามารถให้นมแม่ต่อเนื่องได้นานถึง 2 ปี

ทารกช่วง 6 เดือนแรก ไม่จำเป็นต้องได้รับสารอาหารอื่น ๆ รวมถึงน้ำเปล่าก็ยังไม่เหมาะสำหรับทารกแรกเกิดด้วย แค่นมแม่ก็มีทั้งน้ำ สารอาหารและสารภูมิคุ้มกันที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของทารกแล้วค่ะ จนกระทั่งทารกมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป จึงเริ่มให้อาหารตามวัยควบคู่ไปกับการให้นมแม่ หรือนมสูตรสำหรับทารก

มากไปกว่านั้น แนะนำให้คุณแม่ควรเริ่มให้นมลูกทันทีหลังคลอด เพราะเป็นช่วงที่น้ำนมของแม่ยังเป็นน้ำนมเหลืองอยู่ ซึ่งน้ำนมเหลือง หรือ Colostrum เป็นน้ำนมแรกของแม่ที่จะไหลออกมาก่อนน้ำนมส่วนอื่น ๆ

โดยน้ำนมเหลืองนี้จัดว่าเป็นนมแม่ส่วนที่ดีที่สุด ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์หลายร้อยชนิด เช่น MFGM, DHA, แลคโตเฟอร์ริน เป็นต้น โดยสารอาหารในระยะน้ำนมเหลืองนั้น มีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการครบรอบด้านทั้งสมอง ภูมิคุ้มกัน และระบบทางเดินอาหารของทารก

มากไปกว่านั้น น้ำนมเหลือง ยังถือได้ว่าว่าเป็นวัคซีนเข็มแรกของลูก เนื่องจากมีสารภูมิคุ้มกันซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันการติดเชื้อและเสริมภูมิคุ้มกันของทารกให้แข็งแรง

โดยน้ำนมเหลืองจะไหลออกมาแค่เพียง 1-3 วันแรกหลังคลอดเท่านั้น นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญเลยค่ะว่า ทำไมคุณแม่ควรรีบให้นมลูกทันทีหลังคลอด เพราะถ้าหากพ้นไปจาก 1-3 วันหลังคลอดแล้ว ทารกก็จะพลาดโอกาสที่จะได้รับคุณค่าทางสารอาหารที่ดีที่สุดช่วงนี้ไปค่ะ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แม่ทุกคนที่สามารถให้นมแม่ได้ ถ้าหากคุณแม่มีปัญหาน้ำนมน้อย น้ำนมไม่ไหล ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพ การบาดเจ็บ หรือมีผลมาจากความเครียด หรือภาวะซึมเศร้าหลังคลอด คุณแม่ไม่ต้องรู้สึกผิดว่าทำไมฉันน้ำนมน้อย ทำไมฉันไม่มีน้ำนม ฉันเป็นแม่ที่ไม่ดี ฉันมันไม่เอาไหน

เพราะนี่คือเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ และมีหนทางแก้ค่ะ หากคุณแม่มีปัญหาน้ำนมไม่ไหล น้ำนมน้อย น้ำนมไม่พอ ให้คุณแม่ไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและรับการดูแลรักษาที่เหมาะสมค่ะ

ไขข้อข้องใจเมื่อท้อง 40 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


ทำไม 40 สัปดาห์ แล้วยังไม่คลอด ปกติไหม?

ภายในสัปดาห์นี้ควรจะมีการคลอดเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่ง แต่ถ้าพ้นจาก 40 สัปดาห์ไปแล้วยังไม่มีการคลอดเกิดขึ้น ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์เกินกำหนด ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยว่าจะต้องเร่งคลอด หรืออาจจะต้องมีการผ่าคลอดหรือไม่ เพื่อป้องกันอันตรายต่อแม่และทารกในครรภ์ค่ะ

ท้อง 40 สัปดาห์ ยังไม่คลอด ต้องทำยังไงดี?

หากจวบจนวันสุดท้ายของสัปดาห์ที่ 40 แล้ว แต่ทารกยังไม่คลอด ปากมดลูกคุณแม่ก็ยังไม่เปิด ควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัยว่าทารกในครรภ์ยังเป็นปกติไหม ทารกกลับหัวถึงอุ้งเชิงกรานหรือยัง หรือควรจะต้องให้ยาเร่งคลอดไหม หรืออาจมีการวินิจฉัยให้ผ่าคลอดในกรณีที่ทารกมีขนาดตัวใหญ่มาก เพื่อป้องกันอันตรายต่อแม่และทารกในครรภ์ค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

ของใช้เด็กแรกเกิด
caring-for-a-newborn
definition-of-term-pregnancy
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner