ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 42 สัปดาห์ อายุครรภ์ 42 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 42 สัปดาห์ อายุครรภ์ 42 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 42 สัปดาห์ เกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัย แต่สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือคุณแม่จำครั้งสุดท้ายที่มีประจำเดือนคลาดเคลื่อน ทำให้การนับอายุครรภ์และกำหนดคลอดผิดพลาด
  • อายุครรภ์ 42 สัปดาห์ แพทย์จะต้องมีการวินิจฉัยเพื่อทำการเร่งคลอด หรือกระตุ้นให้เกิดการคลอด เพราะถ้าหากปล่อยเอาไว้นานกว่านี้ ทารกเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้
  • อายุครรภ์ 42 สัปดาห์ โดยมากแล้วการคลอดธรรมชาติในสัปดาห์นี้จะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากทารกมีขนาดตัวใหญ่มาก ทำให้คลอดลำบาก ส่วนใหญ่มักจะมีการวินิจฉัยให้ผ่าคลอด

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 42 สัปดาห์ รู้จักกับภาวะตั้งครรภ์เกินกำหนด
     • สาเหตุที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์เกินกำหนด
     • ผลกระทบของภาวะตั้งครรภ์เกินกำหนด
     • การรักษาเมื่อมีภาวะการตั้งครรภ์เกินกำหนด
     • การป้องกันการเกิดภาวะเกินกำหนด
     • ดูแลลูกน้อยที่คลอดเกินกำหนดอย่างไร

หากคุณแม่สามารถตั้งครรภ์มาจนมีอายุครรภ์ 42 สัปดาห์ นี่ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์เกินกำหนดค่ะ และแพทย์จะต้องมีการวินิจฉัยเพื่อทำการคลอดให้กับคุณแม่และทารกในครรภ์ เพราะถ้าหากปล่อยเอาไว้นานเกินกว่าท้อง 42 สัปดาห์ ทารกในครรภ์จะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ค่ะ

ท้อง 42 สัปดาห์ แล้วยังไม่คลอด รู้จักกับภาวะตั้งครรภ์เกินกำหนด


เมื่ออายุครรภ์เกิน 40 สัปดาห์แล้วยังไม่มีการคลอดเกิดขึ้น จะเรียกว่า การตั้งครรภ์เกินกำหนด หรือเกินกำหนดคลอด ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่อาจมีความเสี่ยงทั้งต่อแม่และทารกในครรภ์ได้ค่ะ

การตั้งครรภ์เกินกำหนดคืออะไร

การคลอดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ จะถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนด ส่วนการคลอดที่เกิดขึ้นหลังจากอายุครรภ์ 40 สัปดาห์ จะถือว่าเป็นการตั้งครรภ์เกินกำหนด

ซึ่งการตั้งครรภ์เกินกำหนด คุณแม่จะมานั่งปล่อยใจเพื่อลุ้นสนุก ๆ ต่อไปอีกไม่ได้นะคะ เพราะรกอาจจะเริ่มเสื่อมสภาพ น้ำคร่ำจะเริ่มลดปริมาณลง หรือทารกอาจจะเริ่มขาดออกซิเจนเมื่อรกค่อย ๆ เสื่อสภาพลง ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ หรืออาจทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้ค่ะ

ดังนั้น หากคุณแม่มีอายุครรภ์ 42 สัปดาห์ แต่ยังไม่คลอด ปากมดลูกยังไม่เปิด นี่คือการตั้งครรภ์เกินกำหนด คุณแม่จำเป็นจะต้องไปพบแพทย์ทันที

และแพทย์จำเป็นจะต้องทำการคลอดให้กับคุณแม่และทารกภายในสัปดาห์นี้ เพราะถ้าปล่อยเอาไว้นานกว่านี้ ทารกจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เนื่องจากรกจะค่อย ๆ เสื่อมสภาพลง ซึ่งอาจทำให้ทารกขาดออกซิเจนและเสียชีวิตได้ค่ะ

สาเหตุที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์เกินกำหนด


การตั้งครรภ์เกินกำหนด ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไรกันแน่ แต่สามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

          • คุณแม่มีภาวะโรคอ้วน

          • คุณแม่มีประวัติการตั้งครรภ์เกินกำหนดมาก่อน

          • สมาชิกในครอบครัวมีประวัติตั้งครรภ์เกินกำหนดมาก่อน

          • คุณแม่เคยตั้งครรภ์ แต่ไม่มีการคลอดเกิดขึ้น หรือมีการแท้งไปก่อน

          • คุณแม่ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก

          • ระดับฮอร์โมนของทารกในครรภ์ไม่ปกติ

          • ต่อมหมวกไตของทารกผิดปกติ

          • การตั้งครรภ์ครั้งแรก มักมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์เกินกำหนดสูง

          • คุณแม่จำประวัติการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายคลาดเคลื่อน จนคำนวณอายุครรภ์ผิดพลาด ซึ่งสาเหตุนี้ถือว่าเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแม่และลูกที่มีภาวะตั้งครรภ์เกินกำหนด


การตั้งครรภ์เกินกำหนดจะส่งผลกระทบต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์ ดังนี้

ผลกระทบต่อแม่:

          • อายุครรภ์ที่ 42 สัปดาห์ ทารกอาจจะมีขนาดใหญ่มาก ทำให้การคลอดธรรมชาติจึงเสี่ยงที่ช่องคลอดของคุณแม่จะเกิดการฉีกขาดได้

          • ปกติศีรษะของทารกก่อนคลอดจะนิ่มและมีความยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถไหลผ่านช่องคลอดได้ง่าย แต่ทารกอายุครรภ์ 42 สัปดาห์ จะเริ่มมีกะโหลกศีรษะที่แข็ง ทำให้คลอดลำบาก

          • เสี่ยงที่จะมีการตกเลือด เพราะมดลูกหดรัดตัวได้ไม่ดี หรืออาจใช้เวลาคลอดนานเกินไป เพราะทารกมีขนาดตัวใหญ่ ทำให้คลอดยาก

          • เสี่ยงที่จะต้องมีการผ่าตัดคลอด เนื่องจากทารกอาจจะมีขนาดตัวใหญ่เกินกว่าที่จะคลอดธรรมชาติ หรือขณะที่พยายามคลอดธรรมชาติ อาจใช้เวลานานเกินไปจนเสี่ยงจะเกิดอันตรายต่อทั้งแม่และทารก แพทย์ก็อาจจะต้องมีการใช้เครื่องดูดสุญญากาศ การใช้คีมทำคลอดร่วมด้วย

ผลกระทบต่อทารกในครรภ์:

          • ทารกเสี่ยงที่จะเสียชีวิตในครรภ์ เพราะทารกจะมีขนาดตัวใหญ่ ทำให้คลอดลำบาก หรือใช้เวลาคลอดนาน อาจเสียชีวิตก่อนที่จะคลอดสำเร็จ

          • ทารกเสี่ยงที่จะสำลักน้ำคร่ำ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจ

          • ทารกเสี่ยงที่จะมีภาวะความเครียดสูง เพราะสายสะดืออาจจะถูกกดได้ง่ายขึ้น ทำให้ทารกเสี่ยงต่อการขาดออกซิเจน และเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์

          • ทารกมีความเสี่ยงต่อการสำลักขี้เทา เนื่องจากอยู่ในครรภ์นานจนเกินไป และเริ่มมีการขับถ่ายอุจจาระครั้งแรก หรือขี้เทาออกมา จึงอาจจะมีการสำลักขี้เทาเกิดขึ้น

การรักษาเมื่อมีภาวะการตั้งครรภ์เกินกำหนด


หากคุณแม่มีอายุครรภ์ต่อเนื่องมาจนถึงอายุครรภ์ 42 สัปดาห์ แพทย์จะต้องรีบทำการตรวจอัลตราซาวนด์ดูว่าทารกในครรภ์ยังปกติอยู่ไหม มีสัญญาณเสี่ยงใด ๆ หรือเปล่า

จากนั้นแพทย์จะวินิจฉัยให้มีการเร่งคลอดโดยการกวาดมดลูก หรือเร่งคลอดโดยการใช้ยา เพื่อกระตุ้นให้ปากมดลูกเปิด หรืออาจมีการเจาะน้ำคร่ำ เพื่อเหนี่ยวนำให้มีการคลอดเกิดขึ้น เพราะไม่สามารถจะปล่อยไว้นานกว่านี้ได้อีกต่อไป เนื่องจากทารกในครรภ์มีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม โดยมากแล้วการตั้งครรภ์เกินกำหนดมักจะมีการคลอดธรรมชาติได้ยาก โดยอาจจะทำการเร่งคลอดไม่สำเร็จ หรือปากมดลูกเปิดไม่กว้างมากพอ ส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะทำการวินิจฉัยให้ผ่าคลอด เพราะมีโอกาสที่จะรักษาชีวิตแม่และทารกในครรภ์ได้มากกว่า

เพราะนอกจากการเร่งคลอดล้มเหลวสูงแล้ว ทารกอายุครรภ์ 42 สัปดาห์ยังมีขนาดตัวที่ใหญ่เกินกว่าจะที่คุณแม่จะเบ่งคลอดเองได้ และทารกอาจเสียชีวิตในขณะคลอด หรือคุณแม่อาจจะเสี่ยงต่อการตกเลือดเพราะใช้เวลาคลอดนานกว่าปกติ

การป้องกันการเกิดภาวะเกินกำหนด


เนื่องจากภาวะตั้งครรภ์เกินกำหนดนั้นไม่มีสาเหตุของการเกิดที่แน่ชัด และปัจจัยส่วนมากก็เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น วิธีป้องกันโดยตรงจึงไม่มีค่ะ

อย่างไรก็ตาม อาจมีอยู่ 1 วิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์เกินกำหนดได้ นั่นก็คือ คุณแม่ควรจดบันทึกการมีประจำเดือนไว้อยู่เสมอ เพราะข้อมูลนี้จะช่วยให้แพทย์คำนวณอายุครรภ์และกำหนดคลอดได้อย่างแม่นยำ ลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์เกินกำหนดได้ค่ะ

ดูแลลูกน้อยที่คลอดเกินกำหนดอย่างไร


เด็กที่คลอดเกินกำหนด โดยมากมักจะมีปัญหาผิวหนังที่แห้ง หรือมีการเหี่ยวย่นมากกว่าเด็กที่คลอดตามปกติ ซึ่งสามารถดูแลและบำรุงหลังคลอดด้วยออยล์หรือมอยส์เจอไรเซอร์สำหรับเด็กได้ค่ะ

อย่างไรก็ตาม เด็กที่คลอดเกินกำหนด หากคลอดออกมาได้แล้ว ก็สามารถที่จะเจริญเติบโตและมีพัฒนาการตามปกติเหมือนกับเด็กที่คลอดตามกำหนดค่ะ

ซึ่งโดยมากแล้วทารกที่คลอดเกินกำหนด หากคลอดออกมาปกติดี ไม่มีความเสี่ยงใด ๆ ในขณะทำคลอด เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะดูแลได้ง่ายกว่าเด็กที่คลอดก่อนกำหนดค่ะ โดยสามารถที่จะเลี้ยงดูได้เช่นเดียวกับเด็กที่คลอดตามกำหนดเลยค่ะ

เพราะถึงแม้ว่าจะคลอดช้าไปหน่อย แต่ระบบต่าง ๆ ในร่างกายพัฒนาจนสมบูรณ์และพร้อมเริ่มงานทันทีที่คลอดออกมา

ส่วนทารกที่คลอดก่อนกำหนด ระบบร่างกายบางอย่างยังพัฒนาไม่เต็มที่ จำเป็นจะต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ จนกระทั่งอยู่ในภาวะที่สมบูรณ์และปลอดภัยจึงจะวางใจได้



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

how-to-clean-babys-belly-button
when-can-babies-sleep-on-their-stomach
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner