ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 4 สัปดาห์ อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 4 สัปดาห์ อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

 

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ครบ 4 สัปดาห์ ถือเป็นช่วงเวลาของผลสอบไฟนอลว่าคุณแม่ตั้งครรภ์แล้วหรือไม่ เมื่อนับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายไปจนครบ 4 สัปดาห์ ให้ทำการตรวจครรภ์เพื่อดูผล
  • อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ คุณแม่หลายคนจะเริ่มพบว่าประจำเดือนขาด ซึ่งนี่ถือเป็นสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์ หากพบว่าประจำเดือนไม่มา ให้ทำการตรวจครรภ์เพื่อดูผล
  • อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ ทารกยังคงเป็นตัวอ่อนที่มีขนาดเล็กมาก โดยมีขนาดไม่เกิน 1 มิลลิเมตร หรือมีขนาดเท่ากับเมล็ดงาดำ

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • ท้อง 4 สัปดาห์ จะตรวจเจอไหม
     • อาการคนท้อง 4 สัปดาห์
     • ถุงตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ เป็นยังไง
     • ท้อง 4 สัปดาห์ มีขนาดใหญ่แค่ไหน
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์
     • พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 4 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 4 สัปดาห์
     • คำแนะนำสำหรับคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์

หากว่าที่คุณแม่ได้วางแผนตั้งท้องและลุ้นอย่างใจจดใจจ่อ สัปดาห์ที่ 4 นี่แหละค่ะ ถือว่าเป็นสัปดาห์วัดผลไฟนอลกันแล้วว่ากำลังตั้งท้องหรือตั้งท้องไม่สำเร็จ เพราะโดยมากแล้วคุณแม่จะสามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้ในช่วงอายุครรภ์ 4 สัปดาห์นี่เอง

Enfa จะพาคุณแม่มาดูกันว่า เมื่อท้อง 4 สัปดาห์แล้ว ลำดับต่อไปควรจะต้องทำอะไร แล้วอายุครรภ์ 4 สัปดาห์นี่จะเริ่มมองเห็นเจ้าตัวเล็กหรือยังนะ??

อายุครรภ์ 4 สัปดาห์


อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ เรียกได้ว่าคุณแม่ได้ตั้งครรภ์ครบ 1 เดือนแล้วค่ะ ซึ่งช่วงนี้แหละที่คุณแม่หลายคนเริ่มตรวจพบการตั้งครรภ์กันแล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนที่จะตรวจเจอการตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ค่ะ เพราะหลายครั้งก็ไม่มีอาการใด ๆ บ่งบอกว่ากำลังตั้งครรภ์ ทำให้เริ่มรู้ตัวอีกทีก็อาจมีอายุครรภ์ 2 - 3 เดือนเข้าไปแล้วก็มีเช่นกัน

ท้อง 4 สัปดาห์นับอย่างไร

ในทางการแพทย์แล้วอายุครรภ์จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด ซึ่งนั่นหมายความว่า ในวันที่คุณแม่ประจำเดือนขาดในเดือนถัดมา และตรวจพบว่าตั้งครรภ์ ขณะนั้นคุณแม่ถือว่าได้ตั้งครรภ์ไปแล้ว 4 - 5 สัปดาห์ โดยการนับอายุครรภ์แบบนี้ในทางการแพทย์ถือว่าสามารถคาดการณ์กำหนดคลอดได้แม่นยำมากกว่าค่ะ

ดังนั้น ในกรณีที่ตั้งท้อง 4 สัปดาห์ จึงไม่ได้เริ่มนับจากวันแรกที่ตรวจพบการตั้งครรภ์ แต่จะนับย้อนตั้งแต่วันที่ตรวจพบการตั้งครรภ์ไปยังวันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุด เพื่อคำนวณดูว่าขณะนี้อายุครรภ์เท่าไหร่แล้ว และกำหนดคลอดจะอยู่ในช่วงไหน

มากไปกว่านั้น ช่วงอายุครรภ์ 4 สัปดาห์นี้ ยังถือเป็นช่วงเวลาที่สามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้ สำหรับคุณแม่ที่วางแผนการตั้งครรภ์มาอย่างดี นับวันไข่ตกอย่างแม่นยำ หลังจากไข่ตกผ่านไป 2 สัปดาห์ให้ลองทำการตรวจครรภ์ดู อาจจะพบกับข่าวดี กำลังมีเบบี๋คนใหม่ก็ได้นะคะ

อายุครรภ์ 4 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ หากนับเป็นเดือนก็จะเท่ากับว่าได้ตั้งครรภ์ครบ 1 เดือนแล้วค่ะ เพราะอายุครรภ์จะไม่ได้นับจากวันแรกที่ตรวจพบการตั้งครรภ์ แต่เริ่มนับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุดมาจนถึงวันที่ตรวจพบการตั้งครรภ์ ซึ่งถ้าหากคุณแม่พบว่าตั้งท้องในสันสุดท้ายของสัปดาห์ที่ 4 พอดิบพอดี ก็ถือว่าคุณแม่ได้ตั้งท้องมาแล้ว 1 เดือน

ท้อง 4 สัปดาห์ตรวจเจอไหม


อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ สามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้แล้วค่ะ และเพื่อผลลัพธ์ที่แม่นยำ แนะนำว่าคุณแม่ควรทำการตรวจครรภ์ถัดจากวันที่คาดว่าประจำเดือนจะมาหรือวันที่คาดว่าจะประจำเดือนจะมาคลาดเคลื่อนไปสัก 2 - 3 วัน หากมั่นใจว่าประจำเดือนขาดแน่นอนแล้ว ให้รีบทำการตรวจด้วยที่ตรวจครรภ์ทันที เพื่อดูว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ซึ่งโดยมากแล้วในระยะนี้มักจะตรวจพบการตั้งครรภ์ค่ะ

อาการคนท้อง 4 สัปดาห์เป็นแบบนี้


ส่วนมากแล้วคุณแม่จะยังไม่มีอาการคนท้องใด ๆ ปรากฎออกมาในช่วงอายุครรภ์ 4 สัปดาห์นี้ค่ะ แต่เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 5 - 6 เป็นต้นไป จึงจะเริ่มมีอาการคนท้องที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนตามลำดับ อย่างไรก็ตาม คุณแม่บางคนอาจสามารถพบอาการตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ได้ ดังนี้

          • ประจำเดือนขาด สิ่งนี้น่าจะเป็นอาการที่คุณแม่ทุกคนต้องพบเจอค่ะ เพราะเป็นสัญญาณแรกสุดที่บ่งบอกว่าคุณแม่อาจจะกำลังตั้งครรภ์ ให้ลองทำการตรวจครรภ์ทันทีหลังจากวันที่พบว่าประจำเดือนขาด

          • เจ็บเต้านม เจ็บหัวนม ถือเป็นอีกหนึ่งอาการแรกสุดของการตั้งครรภ์ที่สามารถเริ่มพบได้ตั้งแต่อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 4 - 6 เป็นต้นไป

          • อ่อนเพลีย เมื่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายสูงขึ้น ไม่สมดุลตามปกติ จะส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลียง่าย

          • วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ โดยมากแล้วมักจะเริ่มพบเมื่ออายุครรภ์ 6 สัปดาห์เป็นต้นไป แต่ก็มีคุณแม่หลายคนที่มีระดับฮฮร์โมนผันผวนมากผิดปกติ และอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 4 สัปดาห์

          • อารมณ์แปรปรวน ความผันผวนของฮอร์โมนสามารถส่งผลต่ออารมณ์ของคุณแม่ได้ ซึ่งบางครั้งอาจพบว่าเริ่มมีอารมณ์แปรปรวนตั้งแต่ช่วงอายุครรภ์ 4 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ย้ำอีกครั้งว่าไม่ใช่คุณแม่ทุกคนที่จะพบกับอาการคนท้องตั้งแต่อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ หลาย ๆ คนอาจเริ่มมีอาการคนท้องตั้งแต่สัปดาห์ที่ 5 หรือสัปดาห์ที่ 6 เป็นต้นไป โดยในช่วงไตรมาสแรก ถือว่าคุณแม่จะพบกับอาการคนท้องและอาการแพ้ท้องรุนแรงมากกว่าไตรมาสอื่น ๆ ค่ะ

ถุงตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์


ช่วงอายุครรภ์ 4 สัปดาห์นี้ หากไปทำการอัลตราซาวนด์ คุณแม่จะพบจุดเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ถุงตั้งครรภ์ (Gestational Sac) ซึ่งเป็นถุงของเหลวที่ฝังตัวอยู่ด้านใดด้านหนึ่งของมดลูก โดยของเหลวภายในถุงตั้งครรภ์จะเป็นน้ำคร่ำซึ่งทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันและรองรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อน

ขนาดถุงตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์

ถุงตั้งครรภ์ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 4 อาจมีขนาดราว ๆ 2-5 มิลลิเมตร ซึ่งหากไปอัลตราซาวนด์ก็จะมองเห็นเป็นจุดขนาดเล็กเท่านั้นเองค่ะ

ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ อัลตร้าซาวด์ ไม่เห็นถุงตั้งครรภ์

ช่วงอายุครรภ์ 4 สัปดาห์นี้ ขนาดถุงตั้งครรภ์ยังมีขนาดเล็กค่ะ ทำให้บางครั้งอัลตราซาวนด์แล้วยังไม่พบ กรณีแบบนี้ยังไม่ถือว่าผิดปกติเสียทีเดียวค่ะ เพราะโดยมากจะพบถุงตั้งครรภ์อย่างชัดเจนในช่วงสัปดาห์ที่ 5 หรือสัปดาห์ที่ 6

แต่...การตรวจไม่พบถุงตั้งครรภ์ ยังไม่สามารถวางใจได้นะคะว่าการตั้งครรภ์นั้นจะไม่มีความผิดปกติใด ๆ เพราะในกรณีที่ตรวจแล้วพบว่าตั้งครรภ์ แต่อัลตราซาวนด์แล้วไม่พบถุงตั้งครรภ์ อาจเป็นไปได้ว่าคุณแม่กำลังตั้งท้องนอกมดลูก ท้องลมก็ได้

ซึ่งในกรณีที่อัลตราซาวนด์ 4 สัปดาห์แล้วไม่พบถุงตั้งครรภ์ ให้คุณแม่เว้นไปอีกสัก 2 - 4 สัปดาห์ เพื่อตรวจหาถุงตั้งครรภ์อีกทีว่าจะเป็นการตั้งครรภ์ผิดปกติ หรือเป็นการตั้งครรภ์ตามปกติ

ท้อง 4 สัปดาห์ อัลตร้าซาวด์เจอถุงตั้งครรภ์ แต่ไม่เจอตัวอ่อน

อายุครรภ์ 4 สัปดาห์นี้ ตัวอ่อนยังมีขนาดเล็กมาก ๆ ค่ะ เล็กราว ๆ เมล็ดงาเท่านั้นเอง ดังนั้น จึงยังถือว่าเร็วไปค่ะที่จะพบตัวอ่อนในอายุครรภ์ 4 สัปดาห์ รอให้อายุครรภ์ได้สัก 6 - 8 สัปดาห์ขึ้นไป จึงจะสามารถอัลตราซาวนด์แล้วเห็นตัวอ่อนได้ชัดเจนมากขึ้นค่ะ

ท้องกี่สัปดาห์ถึงจะเห็นถุงตั้งครรภ์

ถุงตั้งครรภ์สามารถพบได้ตั้งแต่อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 4 เป็นต้นไป แต่เนื่องจากถุงตั้งครรภ์ในระยะนี้ยังมีขนาดเล็กอยู่ บางครั้งจึงอาจจะอัลตราซาวนด์แล้วยังไม่พบถุงตั้งครรภ์ แต่มาพบถุงตั้งครรภ์ชัดเจนมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 5 หรือสัปดาห์ที่ 6 เป็นต้นไปค่ะ

ท้อง 4 สัปดาห์ใหญ่แค่ไหน


ในกระบวนการตามปกติของการตั้งครรภ์นั้น ขนาดหน้าท้องของคุณแม่จะเริ่มนูนออกมาเมื่อตั้งครรภ์เข้าสู่ไตรมาสสอง ขณะที่อายุครรภ์ 4 สัปดาห์นั้นยังอยู่ในไตรมาสแรก ซึ่งขนาดตัวอ่อนและมดลูกยังไม่ได้ขยายตัวออกมากนัก จึงไม่ส่งผลต่อขนาดหน้าท้องของคุณแม่แต่อย่างใดค่ะ ขนาดหน้าท้องเดิมเป็นอย่างไร ก็จะยังคงเป็นเช่นนั้น ไปจนกว่าจะเข้าสู่ไตรมาสสองจึงจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของหน้าท้อง 

เข้าใจร่างกายของคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์


อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ ถือว่ายังเร็วไปที่คุณแม่จะพบความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายอย่างชัดเจน หรือพูดอย่างง่าย ๆ ก็คือ คุณแม่ยังคงมีสภาวะร่างกายเช่นเดิม ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคุณแม่จะเริ่มมีอาการคนท้องและอาการแพ้ท้องอย่างชัดเจนเมื่อตั้งครรภ์เข้าสู่สัปดาห์ที่ 5 หรือสัปดาห์ที่ 6 เป็นต้นไปค่ะ

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงอย่างเดียวที่น่าจะชัดเจนที่สุดสำหรับอายุครรภ์ 4 สัปดาห์ก็คือการขาดประจำเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากคุณแม่เป็นคนที่ประจำเดือนมาปกติ ไม่ขาด ไม่เกิน ก็จะพบกับความผิดสังเกตนี้ได้ทันที แต่ถ้าหากคุณแม่ประจำเดือนมาไม่ปกติอยู่แล้ว ก็อาจจะไม่ได้เอะใจกับการเปลี่ยนแปลงนี้ค่ะ

พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ 4 สัปดาห์


ตัวอ่อนในอายุครรภ์ 4 สัปดาห์นี้ จะพัฒนาจากไซโกต (Zygote) มาเป็น เอ็มบริโอ (Embryo) หรือตัวอ่อนระยะแรกของการเจริญเติบโต ซึ่งตัวอ่อนในระยะนี้ก็จะเริ่มมีพัฒนาการสำคัญเกิดขึ้นแล้วค่ะ

พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ 4 สัปดาห์

ทารกอายุครรภ์ 4 สัปดาห์มีขนาดที่เล็กมาก ๆ ค่ะ โดยมีขนาดไม่เกิน 1 มิลลิเมตร หรือมีขนาดราว ๆ เมล็ดงาดำเท่านั้นเอง

ลูกน้อยของคุณแม่กำลังทำอะไรอยู่นะ

ตัวอ่อนในอายุครรภ์ 4 สัปดาห์นี้ เรียกว่าเป็นช่วงของการสร้างบ้านค่ะ เซลล์ชั้นต่าง ๆ จะเริ่มพัฒนาเป็นอวัยวะ และเริ่มมีการสร้างรก และรกก็จะเริ่มผลิตฮอร์โมน HCG หรือฮอร์โมนตั้งครรภ์ออกมามากขึ้น โครงสร้างหลักของกระดูกสันหลัง สมอง และกระดูกสันหลังเริ่มก่อตัวขึ้น ถุงน้ำคร่ำมีการผลิตของเหลวออกมามากขึ้นเพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวอ่อนที่จะเติบโตไปเป็นทารก

อาหารคนท้อง 4 สัปดาห์


แล้วคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ควรกินอาหารแบบไหน ถึงจะเหมาะสมกันนะ?

อาหารการกินถือเป็นสิ่งสำคัญที่แม่ท้องต้องใส่ใจ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกินอาหารให้หลากหลาย ครบทั้ง 5 หมู่ ประกอบไปด้วยผัก ผลไม้ ธัญพืชต่าง ๆ เนื้อสัตว์ อาหารเสริม รวมถึงนมก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งอาหารสำคัญที่คุณแม่ควรได้รับเช่นเดียวกัน โดยในอาหารแต่ละมื้อนั้นคุณแม่จะได้รับสารอาหารที่สำคัญสำหรับการตั้งครรภ์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น

          • ดีเอชเอ
          • โปรตีน
          • ธาตุเหล็ก
          • โฟเลต
          • แคลเซียม
          • ไอโอดีน
          • โคลีน
          • โอเมก้า 3

อย่างไรก็ตาม บางมื้อคุณแม่อาจกินอาหารได้น้อย เบื่ออาหาร หรือมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลทำให้กินอาหารลดลง การเสริมด้วยนมสำหรับคนท้องที่มีทั้งโคลีน โฟเลต ดีเอชเอ แคลเซียม ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกง่าย ๆ ที่ช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอในแต่ละวันค่ะ

Enfamama TAP No. 1

คำแนะนำสำหรับคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์


อายุครรภ์ 1 เดือน ถือว่าเป็นคุณแม่อย่างเต็มตัวแล้วค่ะ จึงจำเป็นจะต้องใส่ใจดูแลตัวเองให้มากเป็นพิเศษ ทั้งอาหารการกิน การนอนหลับที่เพียงพอ การออกกำลังกาย การหลีกเลี่ยงบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

พยายามลดและระมัดระวังความเครียด เพื่อให้คุณแม่ทีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจที่แข็งแรง ลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ เช่น การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด หรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ

คุณแม่อาจปวดท้องน้อยหรือมีเลือดออก

แม่ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ ปวดท้องน้อย ถือเป็นอาการที่อาจพบได้ทั่วไปค่ะ สาเหตุมาจากการฝังตัวอ่อนลงในมดลูก ซึ่งอาการปวดหน่วงท้องน้อยนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าตัวอ่อนได้ฝังตัวในมดลูกสำเร็จแล้ว อย่างไรก็ตาม อาการปวดท้องน้อยในระยะนี้มักจะไม่รุนแรงค่ะ แต่ถ้าหากมีอาการปวดท้องรุนแรงให้รีบไปพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ แม่ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์ มีเลือดออก ก็ถือว่าสามารถพบได้เช่นกันค่ะ ซึ่งอาการเลือดออกในระยะนี้มีสาเหตุมาจากการฝังตัวอ่อนที่มดลูกเช่นเดียวกัน ทำให้มีเลือดไหลออกมากะปริบกะปรอย หรือที่เรียกว่าเลือดล้างหน้าเด็ก ไม่ถือเป็นสัญญาณอันตรายค่ะ แต่ถ้ามีเลือดไหลออกมาติดต่อกัน 2 - 3 วัน และไหลมากกว่าเลือดประจำเดือนที่เคยเป็น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

ท้องนี้เป็นลูกแฝดหรือเปล่านะ

อายุครรภ์ 4 สัปดาห์นั้นยังเร็วเกินไปค่ะที่จะบอกได้ว่าเป็นการตั้งครรภ์แฝดหรือเปล่า เนื่องจากตัวอ่อนมีขนาดเล็กมาก จึงยังมองไม่เห็นว่าในมดลูกนั้นมีตัวอ่อนกี่ตัว โดยอาจจะต้องรอให้มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 6 สัปดาห์ขึ้นไปจึงจะมีโอกาสตรวจพบว่าเป็นการตั้งครรภ์แฝดค่ะ

มาเช็กกำหนดคลอดกันเถอะ

เพื่อความแม่นยำ ควรให้แพทย์เป็นผู้คำนวณอายุครรภ์และกำหนดวันคลอดให้จะดีกว่า แต่คุณแม่จำเป็นจะต้องจำรายละเอียดเกี่ยวกับตนเองให้แม่นยำด้วยนะคะ โดยเฉพาะข้อมูลในส่วนของช่วงเวลาเหล่านี้

          • วันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย
          • วันไข่ตก
          • จำนวนของรอบเดือน

ซึ่งวิธีการนับอายุครรภ์และวันคลอดโดยทั่วไปที่ใช้นับกัน ก็จะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ ได้แก่

          • นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย จากนั้นให้บวกเพิ่มไปอีก 9 เดือน และบวกต่อไปอีก 7 วัน

เช่น วันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายคือวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ให้คุณแม่บวกไปอีก 9 เดือน ผลที่ได้จะตรงกับวันที่ 1 พฤศจิกายน จากนั้นนับบวกต่อไปอีก 7 วัน คุณแม่ก็จะได้กำหนดคลอดตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน

          • นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายย้อนหลังไป 3 เดือน จากนั้นให้บวกต่อไปอีก 7 วัน

เช่น วันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายคือวันที่ 1 มกราคม ก็ให้นับย้อนหลังไปอีก 3 เดือน ได้แก่ ธันวาคม พฤศจิกายน และตุลาคม จากนั้นให้คุณแม่นับบวกไปอีก 7 วัน ก็จะได้กำหนดคลอดตรงกับวันที่ 8 ตุลาคม



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

ข้อห้ามคนท้อง 1 3 เดือน
ดูยังไงว่าท้องหรือพุง
ท้อง 1 เดือน มีกี่สัปดาห์? นับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์อย่างไร
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner