ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
when-can-babies-sleep-on-their-stomach

เด็กคว่ำกี่เดือน คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มฝึกลูกคว่ำได้ตอนไหน

 

Enfa สรุปให้

  • ช่วงอายุ 2-4 เดือน แม้ว่ากล้ามเนื้อคอและกล้ามเนื้อท้องจะยังไม่แข็งแรงมากนัก ทารกก็เริ่มเรียนรู้ที่จะคว่ำตัวเอง แต่ยังต้องอาศัยคุณพ่อคุณแม่ช่วยเหลือในการคว่ำตัว

  • อายุ 4-6 เดือน ทารกสามารถที่จะคว่ำตัวเองได้คล่องขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่แทบไม่ต้องช่วยไปซะทุกครั้งแล้ว

  • อายุ 6 เดือนขึ้นไป เจ้าตัวเล็กจะกลายเป็นมือโปรด้านการคว่ำตัวโดยไม่ต้องคอยให้คุณพ่อคุณแม่มาช่วยเหลืออีก และทารกจะคว่ำตัวบ่อยขึ้นด้วย

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ทารกเริ่มคว่ำตอนกี่เดือน
     • วิธีฝึกลูกคว่ำ
     • ทารกคว่ำตัวช้าสุดตอนกี่เดือน
     • ไขข้อข้องใจเรื่องการคว่ำของทารกกับ Enfa Smart Club

การฝึกลูกคว่ำ เป็นอีกหนึ่งการกระตุ้นพัฒนาการเด็กที่สำคัญ เพราะจะช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ กล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อไหล่ และเสริมให้เกิดทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้นด้วย แต่ทารกจะเริ่มคว่ำตัวเองได้ตอนไหน คุณพ่อคุณแม่จะช่วยฝึกเด็กคว่ำได้อย่างไรบ้าง ตามมาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันกับ Enfa เลยค่ะ

เด็กคว่ำกี่เดือน


เด็กคว่ำได้กี่เดือนกันนะ? เป็นหนึ่งในข้อสงสัยที่มักจะถูกถามถึงกันบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่อาจจะยังไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องเหล่านี้มาก่อน บวกกับข้อมูลที่หลากหลายก็อาจจะทำให้สงสัยกันได้

ซึ่งโดยทั่วไปนั้น ช่วงเวลาในการคว่ำตัวของเด็ก ก็จะแบ่งออกเป็นระยะ ๆ ได้ ดังนี้

  • อายุ 2-4 เดือน ทารกเริ่มเรียนรู้ที่จะคว่ำตัวเอง แม้ว่ากล้ามเนื้อคอและกล้ามเนื้อท้องจะยังไม่แข็งแรงมากนัก และยังต้องอาศัยคุณพ่อคุณแม่ช่วยเหลือในการคว่ำตัวอยู่ก็ตาม

  • อายุ 4-6 เดือน ทารกสามารถที่จะคว่ำตัวเองได้คล่องขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่แทบไม่ต้องช่วยแล้ว และลูกน้อยก็เริ่มสนุกไปกับการคว่ำตัวด้วย

  • อายุ 6 เดือนขึ้นไป เรียกได้ว่าเจ้าตัวเล็กกลายเป็นมือโปรด้านการคว่ำตัวโดยไม่ต้องคอยให้คุณพ่อคุณแม่มาช่วยเหลืออีก และทารกจะคว่ำตัวบ่อยขึ้น จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงการนั่งและการคลานในลำดับต่อไป

ให้ลูกนอนคว่ำตอนกี่เดือน

คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะห่วง กลัวว่าลูกจะคว่ำตัวได้ช้า จึงอยากที่จะฝึกลูกคว่ำ เพื่อให้ลูกคว่ำตัวได้เร็วขึ้น แล้วคุณพ่อคุณแม่จะเริ่มจับลูกนอนคว่ำได้ตอนไหนกันนะ?

ซึ่งจริง ๆ แล้วคุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มกระตุ้นให้เด็กคว่ำตัวได้ตั้งแต่หลังเกิดใหม่ ๆ เลยค่ะโดยสามารถใช้เวลาฝึกประมาณ 2-3 ครั้งต่อวัน ครั้งละ 3-5 นาที ค่อย ๆ ฝึก ค่อย ๆ กระตุ้น จนกระทั่งลูกเริ่มที่จะคว่ำตัวได้เอง โดยไม่ต้องคอยช่วยแล้ว

ลูกพลิกหงายตอนกี่เดือน

เมื่อเด็กอายุได้ราว ๆ 4 เดือนขึ้นไป เด็กเริ่มที่จะมีการพยายามหมุนตัว และพลิกคว่ำ พลิกหงายได้บ้างแล้ว จนกระทั่งอายุ 6 เดือนขึ้นไป เด็กสามารถที่จะพลิกคว่ำ พลิกหงาย ทั้งซ้ายและขวาได้คล่องแล้วค่ะ

ฝึกลูกคว่ำยังไงดี จับลูกนอนคว่ำกี่นาทีจึงจะเหมาะสม


คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกลูกคว่ำ เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อคอและกล้ามเนื้อท้องของลูกแข็งแรงขึ้นและสามารถที่จะคว่ำตัวเองได้ ดังนี้

  • เตรียมพื้นที่สำหรับฝึกลูกคว่ำ โดยต้องเป็นพื้นที่โล่งและสะอาด เช่น เบาะรองคลาน ไม่ควรมีหมอนหรือผ้าห่มที่นุ่ม เพราะอาจทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้ แล้วคว่ำตัวลูกลง

  • อาศัยจังหวะที่เปลี่ยนผ้าอ้อมลูกเพื่อฝึกลูกคว่ำก็ได้เช่นกัน โดยแทนที่จะหงายตัวลูกขึ้น ให้คุณพ่อคุณแม่คว่ำตัวลูกลงบนตัก แล้วเปลี่ยนผ้าอ้อม วิธีนี้ก็ช่วยกระตุ้นการคว่ำตัวของเด็กได้ดีเหมือนกัน

  • วางสิ่งของหรือของเล่นที่ปลอดภัยไว้ใกล้กับลูกน้อย แล้วค่อย ๆ ย้ายของเล่นนั้นจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง เพื่อกระตุ้นให้ลูกน้อยเคลื่อนไหว ยกและหันศีรษะมองตามของเล่นนั้น

  • คว่ำลูกลงบนเบาะเตรียมไว้ แล้วอ่านหนังสือภาพไปพร้อมกับลูก ก็ช่วยฝึกลูกคว่ำได้ดีเช่นกัน ทั้งยังช่วยเสริมทักษะด้านการฟัง ทักษะด้านภาษา รวมถึงเสริมจินตนาการตั้งแต่ลูกยังเล็กด้วย

  • ถ้าลูกไม่ชอบนอนคว่ำกับเบาะ ลองเปลี่ยนมานอนคว่ำบนขา ตัก หรือบนแขน โดยอาจจะสวมบทบาทสมมุติเป็นม้ากระดก จรวด หรือเครื่องบินก็ได้ แต่ควรระวังอย่าทำลูกตกลงมา เสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุได้

  • เมื่อลูกเริ่มชินและสนุกกับการฝึกคว่ำตัวแล้ว ให้ค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาในการฝึกลูกคว่ำให้นานขึ้น โดยจาก 3-5 ก็ค่อย ๆ เพิ่มนาทีขึ้นมาเรื่อย ๆ เป็น 10-15 นาที หรือ 1 ชั่วโมง

ในทุก ๆ การฝึกลูกคว่ำ คุณพ่อคุณแม่ควรจับตาดูลูกอยู่ตลอดเวลาไม่ให้คลาดสายตา เพื่อป้องกันเหตุอันตรายต่าง ๆ ที่อาจจะะเกิดขึ้นได้ อย่าชะล่าใจ

เด็กคว่ำตอนกี่เดือน จัดว่าพัฒนาการล่าช้าและควรปรึกษาคุณหมอ


การฝึกลูกคว่ำนั้น มีส่วนช่วยอย่างมากที่จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อคอ กล้ามเนื้อท้อง กล้ามเนื้อหัวไหล่ของเด็กแข็งแรงขึ้น ช่วยให้เด็กเริ่มชันคอได้ เริ่มยันตัวขึ้นได้ เริ่มพลิกตัวไปมาได้

แต่ถ้าเด็กอายุตั้งแต่ 6-7 เดือนขึ้นไปแล้ว ยังไม่มีการคว่ำตัว ไม่สามารถชันคอเองได้ หรือยังไม่สามารถจะดันตัวขึ้นสูงเหนือพื้นได้ ลักษณะเช่นนี้ถือว่าน่ากังวล ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติด้านพัฒนาการค่ะ

ไขข้อข้องใจเรื่องการคว่ำของทารกกับ Enfa Smart Club


 เด็กกี่เดือนพลิกคว่ำพลิกหงาย?

เด็กเริ่มจะมีการพลิกตัวไปมาเมื่ออายุราว ๆ 4 เดือนขึ้นไป แต่ช่วงเวลานี้อาจจะยังต้องให้คุณพ่อคุณแม่คอยช่วยอยู่บ้าง จนอายุ 6 เดือนทารกถึงจะสามารถพลิกคว่ำพลิกหงายได้เองอย่างคล่องแคล่วโดยไม่ต้องรอคุณพ่อคุณแม่ช่วยอีกต่อไป

 เด็ก 4 เดือนยังไม่คว่ำผิดปกติไหม?

ช่วง 4 เดือนนี้ทารกเองก็ยังไม่สามารถคว่ำตัวเองได้ง่ายนักค่ะ ยังจำเป็นต้องให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยอยู่บ้าง ซึ่งหากเด็กยังคว่ำตัวไม่ค่อยคล่องนักก็ถือว่าไม่ผิดปกติแต่อย่างใดค่ะ

เว้นเสียแต่ว่าจนกระทั่งเด็กอายุได้ 4 เดือนแล้ว แต่คุณพ่อคุณแม่ยังไม่เคยฝึกลูกคว่ำเลย อันนี้ก็ค่อนข้างจะน่าเป็นห่วงว่าเด็กอาจจะมีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวที่ช้า

 ทารก 2 เดือนนอนคว่ำได้ไหม?

ทารก 2 เดือนนั้น เป็นช่วงเวลาที่กล้ามเนื้อคอ ไหล่ ท้องของทารกยังไม่แข็งแรงเต็มที่ ดังนั้น ทารกจึงยังไม่สามารถที่จะคว่ำตัวเองได้ ต้องอาศัยคุณพ่อคุณแม่คอยช่วยเหลือ

 ลูก 2 เดือน ชอบหลับในท่านอนคว่ำ อันตรายไหม?

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้ทารกหลับในท่านอนคว่ำนะคะ เพราะเสี่ยงต่อโรค SIDS หรือโรคไหลตายในทารกได้ ซึ่งโรคนี้พบได้บ่อยในทารกอายุ 2-4 เดือน โดยไม่เกี่ยงว่าทารกจะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงหรือไม่

แต่ถ้าหากมีการกีดขวางกระบวนการหายใจเข้าออก เช่น การนอนคว่ำ หรือการถูกกดทับด้วยหมอน หรือผ้าห่มหนา ๆ ก็เสี่ยงต่อการเสียชีวิตของเด็กทั้งนั้น

เนื่องจากทารกยังไม่สามารถเคลื่อนไหวตัวเองได้มาก อีกทั้งกล้ามเนื้อและกระดูกต่าง ๆ ก็ยังไม่แข็งแรง ดังนั้น การให้ทารกหลับในท่านอนคว่ำในช่วงอายุ 2 เดือนนี้จึงค่อนข้างอันตรายต่อการเสียชีวิตของทารกค่ะ

 จับลูกหลับในท่านอนคว่ำดีไหม?

แม้ว่าทารกจะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่การจับทารกให้หลับในท่านอนคว่ำก็ยังเป็นข้อห้ามที่ควรปฏิบัติ เพื่อลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรค SIDS หรือโรคไหลตายในทารก ที่มักมีสาเหตุมาจากการถูกขัดขวางการหายใจ เช่น การนอนคว่ำนี่แหละค่ะ


บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

when-do-babies-sit-up
when-do-babies-crawl
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner