Enfa สรุปให้

  • สายสะดือ คือ หนึ่งในอวัยวะสำคัญที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างรกกับทารก ประกอบด้วยหลอดเลือดแดง 2 เส้น และหลอดเลือดดำ 1 เส้น หลอดเลือดเหล่านี้จะมีเนื้อเยื่อคล้ายเมือกหุ้มพันเข้าไว้ด้วยกันด้านนอกอีกชั้นหนึ่ง โดยที่; หลอดเลือดแดง จะทำหน้าที่ในการลำเลียงเอาของเสียออกจากทารกเพื่อนำไปกำจัดทิ้ง และหลอดเลือดดำ จะทำหน้าที่ในการเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปยังทารกในครรภ์ ซึ่งหน้าที่ของสายสะดือนั้นจะสิ้นสุดลงทันทีที่ทารกคลอดและแพทย์ทำการตัดสายสะดือเรียบร้อยแล้ว

  • หลังจากตัดสายสะดือออกไปแล้ว สะดือก็จะค่อย ๆ แห้ง และเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำไปจนกระทั่งใกล้หลุด แต่ในระหว่างที่ใกล้หลุดนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจจะสังเกตว่าเหมือนสะดือเริ่มจะหลุดออกมาเล็กน้อยแล้ว

  • กรณีเช่นนี้ ไม่ว่าจะสะดือจะเริ่มหลุดออกมาแค่เล็กน้อย หรือใกล้หลุดมากแค่ไหนก็ตาม ไม่ควรที่จะไปดึงสะดือของทารกให้หลุดออกมาเด็ดขาด ควรปล่อยให้สะดือหลุดออกไปเองตามธรรมชาติ เพื่อลดความเสี่ยงของรอยแผลเป็นและเพื่อให้แผลที่สะดือได้ทำการสมานตัวเองได้จนถึงนาทีสุดท้ายที่สะดือหลุดออกไป


เลือกอ่านตามหัวข้อ

สะดือทารก อีกหนึ่งจุดสำคัญหลังคลอดที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะดูแลให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะถ้าปล่อยให้สะดือของลูกหมักหมม อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกได้ วันนี้ Enfa จะมาแนะนำวิธีเช็ดสะดือทารกให้สะอาดและปลอดภัยกันค่ะ  

รู้จักกับสายสะดือทารก (Umbilical Cord) 


สายสะดือ สำคัญกับลูกน้อยอย่างไร 

สายสะดือ คือ หนึ่งในอวัยวะสำคัญที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างรกกับทารก ประกอบด้วยหลอดเลือดแดง 2 เส้น และหลอดเลือดดำ 1 เส้น หลอดเลือดเหล่านี้จะมีเนื้อเยื่อคล้ายเมือกหุ้มพันเข้าไว้ด้วยกันด้านนอกอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า Wharton’s jelly โดยที่; 

  • หลอดเลือดแดง จะทำหน้าที่ในการลำเลียงเอาของเสียออกจากทารกเพื่อนำไปกำจัดทิ้ง  

  • หลอดเลือดดำ จะทำหน้าที่ในการเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปยังทารกในครรภ์ 

โดยหน้าที่ของสายสะดือนั้นจะสิ้นสุดลงทันทีที่ทารกคลอดและแพทย์ทำการตัดสายสะดือเรียบร้อยแล้ว 

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ขั้วสะดือจะหลุดเมื่อไหร่ 

เมื่อตัดสายสะดือไปแล้ว ขั้วสะดือจะค่อย ๆ หลุดออกมาภายหลัง ซึ่งอาจจะใช้เวลาตั้งแต่ 5-15 วัน หรือราว ๆ 1-2 สัปดาห์แตกต่างกันไปในเด็กทารกแต่ละคน และบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับขนาดของขั้วสะดือด้วย 

สะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน 

หลังจากตัดสายสะดือออกไปแล้ว สะดือก็จะค่อย ๆ แห้ง และเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำไปจนกระทั่งใกล้หลุด แต่ในระหว่างที่ใกล้หลุดนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจจะสังเกตว่าเหมือนสะดือเริ่มจะหลุดออกมาเล็กน้อยแล้ว  

กรณีเช่นนี้ ไม่ว่าจะสะดือจะเริ่มหลุดออกมาแค่เล็กน้อย หรือใกล้หลุดมากแค่ไหนก็ตาม ไม่ควรที่จะไปดึงสะดือของทารกให้หลุดออกมาเด็ดขาด  ควรปล่อยให้สะดือหลุดออกไปเองตามธรรมชาติ เพื่อลดความเสี่ยงของรอยแผลเป็นและเพื่อให้แผลที่สะดือได้ทำการสมานตัวเองได้จนถึงนาทีสุดท้ายที่สะดือหลุดออกไป 

หลังจากสายสะดือหลุดแล้ว สะดือทารกจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง 

เมื่อสายสะดือหลุดออกไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็จะเห็นว่ามีน้ำหรือเลือดซึมที่บริเวณสะดือ ให้รีบทำการเช็ดโดยการใช้สำลีกดเบา ๆ เพื่อหยุดเลือด หรือถ้าหากสะดือหลุดไปแล้ว และห้ามเลือดแล้ว แต่เลือดยังไหลไม่หยุด ให้รีบพาทารกไปพบแพทย์ทันที 

และหากหลังสะดือหลุดไป สะดืออาจจะยังมีเลือดซึมออกมาอยู่บ้าง สิ่งที่ควรทำคือคุณพ่อคุณแม่ควรเช็ดทำความสะอาดสะดือด้วยแอลกอฮอล์ด้วย 70 % ต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งสะดือของทารกแห้งไปเอง  

การเช็ดสะดือทารก สำคัญอย่างไร


การเช็ดทำความสะอาดสะดือของทารกทุกวันนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด และไม่ควรปล่อยให้สะดือของทารกสกปรก หรือไม่ได้รับการเช็ดทำความสะอาด เพราะสะดือทารกนั้นค่อนข้างที่จะมีความบอบบางสูง จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย 

อุปกรณ์เช็ดสะดือทารกที่คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมพร้อม 

ก่อนเริ่มทำการเช็ดสะดือทารก คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อม ดังนี้ 

  • น้ำสะอาด 

  • สำลีก้อน หรือสำลีก้าน 

  • แอลกอฮอล์ 70 % 

  • ยาทาสะดือ (ในกรณีที่แพทย์แนะนำให้ใช้เท่านั้น) 

เลือกแอลกอฮอล์เช็ดสะดือทารกแบบไหนดี 

การเช็ดทำความสะอาดสะดือทารกนั้นเน้นความสะอาดเป็นสำคัญ ดังนั้น แอลกอฮอล์ที่ควรเลือกใช้จะต้องเป็นแอลกอฮอล์ 70 % เพราะมีคุณสมบัติในการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและสิ่งสกปรกได้เป็นอย่างดี และปลอดภัยต่อสภาพผิวหนังของทารก 

วิธีเช็ดสะดือลูก: มาดูขั้นตอนทำความสะอาดสะดือทารกน้อยอย่างปลอดภัยกันเถอะ 


การเช็ดสะดือทารก คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้ 

ก่อนเช็ดสะดือ 

  • ก่อนเริ่มสัมผัสสะดือของทารก คุณพ่อคุณแม่ควรล้างมือของตัวเองให้สะอาดและแห้งเสียก่อน 

  • จากนั้นจับสายสะดือให้ตั้งตรงขึ้นเบา ๆ จะมองเห็นซอกเล็ก ๆ หรือโคนสะดือ 

เช็ดโคนสะดือ 

  • ใช้สำลีก้าน หรือสำลีก้อน ชุบแอลกอฮอล์ 70 % และเช็ดบริเวณโคนสะดือให้สะอาด 

เช็ดสายสะดือ 

  • ใช้สำลีก้าน หรือสำลีก้อน ชุบแอลกอฮอล์ 70 % และเช็ดไล่เบา ๆ จากบริเวณโคนสะดือขึ้นมาจนถึงปลายสะดือให้สะอาดรอบทุกด้าน 

เช็ดรอบสะดือ 

  • เมื่อเช็ดโคนสะดือและสายสะดือสะอาดแล้ว ให้ใช้สำลีก้าน หรือสำลีก้อน ชุบแอลกอฮอล์ 70 % และเช็ดทำความสะอาดผิวหนังโดยรอบของสะดือด้วย 

ทายาที่สะดือ 

  • กรณีที่แพทย์ให้ยาสำหรับทาสะดือมาด้วย หลังจากเช็ดทำความสะอาดสะดือเรียบร้อยแล้ว ใช้สำลีก้าน หรือสำลีก้อน ชุบยาทาสะดือทารก โดยเริ่มเช็ดจากบริเวณขั้วตัดของสายสะดือ ไล่ลงไปจนถึงโคนสะดือ 

  • โดยยาทาสะดือทารกนี้ ควรทาอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หรือตามแพทย์สั่ง

คุณพ่อคุณแม่ควรเช็ดสะดือทารกวันละกี่ครั้ง 

คุณพ่อคุณแม่ควรทำความสะอาดสะดือของทารกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือทุกครั้งหลังอาบน้ำให้ลูก เพื่อไม่ให้สะดือของทารกเกิดการหมักหมมความชื้นและสิ่งสกปรก ซึ่งอาจเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อได้ 

สิ่งที่ควรทำและสิ่งที่ห้ามทำเมื่อทำความสะอาดสะดือให้ลูกน้อย 


ขณะทำความสะอาดสะดือของทารก คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำสิ่งเหล่านี้; 

  • ไม่ควรใช้แป้ง ผงสมุนไพร หรือยาใด ๆ ก็ตามที่ซื้อมาเองกับสะดือของเด็กโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่งเด็ดขาด 

  • ขณะทำความสะอาดสะดือของทารก และเห็นว่าสะดือเริ่มจะหลุดออกมาบ้างแล้ว ไม่ควรดึงออกเด็ดขาด ควรปล่อยให้สะดือค่อย ๆ หลุดออกมาเองตามธรรมชาติ 

  • ห้ามสัมผัสกับสะดือของเด็กโดยที่ไม่ได้ล้างมือให้สะอาดก่อน เพราะเสี่ยงที่จะนำเชื้อโรค แบคทีเรีย หรือสิ่งสกปรกแล้วทำให้สะดือของทารกเกิดการติดเชื้อได้ 

  • คุณพ่อคุณแม่หลายคนกลัวว่าลูกจะสะดือจุ่น จึงนำเหรียญหรือวัตถุมากดทับสะดือไว้ ซึ่งไม่ควรทำเด็ดขาด เพราะสะดือของทารกมีความบอบบางมาก เสี่ยงที่จะเกิดการขูดข่วนจนเป็นแผล หรือเกิดการติดเชื้อจากวัตถุดังกล่าว

สะดือลักษณะแบบไหนที่ผิดปกติและควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ 


สะดือที่ผิดปกติ อาจเกิดได้หลายกรณี ดังนี้ 

  • หลังสายสะดือหลุด สะดือยังมีเลือดซึมออกมาตามปกติ แต่หลังจากที่พยายามซับและห้ามเลือดแล้ว แต่เลือดยังไหลออกมาตลอดเวลา ลักษณะเช่นนี้ควรพาทารกไปพบแพทย์ทันที 

  • สะดือของทารกมีลักษณะบวม แดง มีกลิ่นเหม็น มีลักษณะชื้นแฉะ ควรพาทารกไปพบแพทย์ทันที 

  • บริเวณรอบสะดือของทารกมีหนอง หรือมีผื่นลักษณะชื้น ๆ สีชมพูขึ้นโดยรอบอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อสายสะดือ ควรพาทารกไปพบแพทย์ทันที 

  • หากพ้น 3 สัปดาห์ไปแล้วขั้วสะดือของทารกยังไม่หลุดออกมา ควรพาทารกไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน 

ไขข้อข้องใจเรื่องการเช็ดสะดือทารกกับ Enfa Smart Club 


 เช็ดสะดือทารกแล้วมีเลือดออก อันตรายไหม? 

หากสะดือของทารกมีเลือดออกหลังจากที่สะดือหลุดออกไปแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพียงใช้สำลีสะอาดซับให้เลือดหยุดไหลก็พอ แต่ถ้าสะดือของทารกมีเลือดไหลออกมาตลอดเวลา กรณีนี้อาจจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นได้ ควรพาทารกไปพบแพทย์ทันที 

 แม่ควรเช็ดสะดือทารกถึงกี่เดือน? 

คุณพ่อคุณแม่ควรเช็ดสะดือของทารกไปเรื่อย ๆ จนกว่าสายสะดือและขั้วสะดือของทารกจะหลุดออกไปจนหมด และไม่มีเลือดไหลซึมออกมาอีก  

แต่ก็ไม่ใช่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะละเลยสะดือของลูกหลังจากนั้นได้ ยังจำเป็นต้องใส่ใจรักษาความสะอาดสะดือของลูกน้อยเพื่อไม่ให้มีการสะสมของคราบไคลหรือสิ่งสกปรกที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในภายหลังได้ 

 ใช้แอลกอฮอล์เช็ดสะดือได้ไหม? 

คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้แอลกอฮอล์ 70% เช็ดทำความสะอาดสะดือและผิวหนังโดยรอบสะดือของทารกได้ 

 การเช็ดสะดือทารก ต้องเช็ดจนแห้งสนิทเลยไหม? 

คุณพ่อคุณแม่ควรเช็ดสะดือทารกให้สะอาดและแห้งสนิททุกครั้งหลังอาบน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการหมักหมมความชื้นและสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อได้ 

 ติ่งเนื้อสะดือทารกคืออะไร อันตรายหรือไม่? 

บางครั้งหลังจากสะดือหลุดไป ก็อาจจะมีก้อนเนื้อสีแดงที่มีลักษณะชื้น ๆ หรือมีน้ำเหลืองไหลออกมาเกิดขึ้นที่บริเวณสะดือ หรือที่เรียกว่า ติ่งเนื้อสะดือ ซึ่งโดยปกติแล้วติ่งเนื้อดังกล่าวมักไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่ก็ควรพาทารกไปพบแพทย์ เพื่อที่แพทย์จะได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติม หรืออาจแนะนำให้มีการจี้สะดือเพื่อให้สะดือแห้ง



    บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์