นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เอนฟาสนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนไปจนถึง 2 ปี หรือนานกว่าตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

นมแม่แยกชั้น ยังกินได้ไหม หรือเป็นนมบูดแล้ว ไม่ควรกิน

Enfa สรุปให้

  • นมแม่แยกชั้น หลังจากนำออกมาจากตู้เย็น ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้แปลว่านมเสียหรือนมบูดแต่อย่างใด เพียงเขย่าเบา ๆ น้ำนมก็จะรวมเป็นเนื้อเดียวกันเหมือนเดิม
  • นมแยกชั้น กรณีที่เป็นนมบูดคือเมื่อเขย่าแล้วไม่รวมกลับมาเป็นเนื้อเดียวกัน พร้อมกับมีกลิ่นเหม็นบูด เมื่อชิมจะพบว่ามีรสเปรี้ยว นมเสียแบบนี้ไม่ควรนำมาให้ทารกกิน
  • อายุนมแม่ จะขึ้นอยู่กับวิธีการเก็บรักษานมแม่ หากเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง จะอยู่ได้เพียง 4-6 ชั่วโมง หากเก็บไว้ในช่องแช่ธรรมดาในตู้เย็น สามารถเก็บไว้ได้นาน 1-2 วัน

เลือกอ่านตามหัวข้อ

ปั๊มนมเสร็จ เก็บใส่ถุง นำไปแช่ในตู้เย็น แต่ทำไมพอหยิบถุงนมออกมา กลายเป็นนมแยกชั้นไปได้ล่ะ? นมแม่แยกชั้นแบบนี้ แปลว่านมแม่เสียใช่ไหม? ถ้านมแยกชั้นต้องทิ้งไปเลยหรือเปล่า? บทความนี้จาก Enfa มีสาระน่ารู้เรื่องการปั๊มนมแม่ และการจัดเก็บนมแม่อย่างเหมาะสมมาฝาก พร้อมไขข้อข้องใจชวนสงสัยว่าเหตุใดกันหนอ นมแม่ถึงแยกชั้นแบบนี้?

นมแม่แยกชั้น ยังกินได้ไหม


นมแยกชั้น คือ ลักษณะของน้ำนมที่เมื่อปั๊มนมใส่ถุงเก็บน้ำนม แล้วนำไปแช่ไว้ในตู้เย็นตามปกติ แต่เมื่อถึงเวลาที่จะนำมาละลายให้ลูกกิน กลับพบว่านมนั้นมีการแยกชั้นอย่างชัดเจน โดยนมชั้นบนสุดที่แยกออกมานั้น จะเป็นชั้นไขมันที่เกิดการรวมตัวกันและลอยแยกตัวไปอยู่ด้านบน ส่วนน้ำนมด้านล่างอีกชั้นคือนมแม่ส่วนที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ

อย่างไรก็ตาม นมแม่แยกชั้น ยังสามารถกินได้ตามปกติค่ะ ไม่ใช่นมเสีย หรือนมบูดแต่อย่างใด ตราบเท่าที่มีการเก็บแช่เย็นไว้เป็นอย่างดี และเก็บไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม โดยคุณแม่สามารถละลายนมที่ปั๊มเก็บไว้ใส่ขวด แล้วเขย่าเบา ๆ เล็กน้อย น้ำนมก็จะรวมตัวเป็นเนื้อเดียวกันตามปกติแล้วค่ะ

เว้นเสียแต่ว่านมแยกชั้นนั้น มีกลิ่นที่เหม็นหืนมากผิดปกติ และคุณแม่ลองชิมแล้วรสชาติเปรี้ยว แบบนี้อาจเป็นนมแยกชั้นที่เก็บไว้ไม่ดี หรือเก็บไว้นานเกินไปจนกระทั่งนมเสีย และลูกน้อยไม่สามารถกินได้ค่ะ

นมแยกชั้น เพราะอะไร


นมแยกชั้น ถือเป็นเรื่องปกติค่ะ ก่อนอื่นคุณแม่ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ภายในนมแม่นั้นมีส่วนประกอบที่เป็นน้ำและไขมัน เมื่อจัดเก็บนมแม่ไว้ระยะเวลาหนึ่ง ไขมันที่อยู่ในนมแม่ก็จะค่อย ๆ จับตัวกันเพื่อแยกชั้นออกจากส่วนที่เป็นน้ำในนมแม่ ทำให้เวลาที่นำถุงน้ำนมออกมาตั้งรอให้ละลาย เราจึงสามารถมองเห็นนมแยกชั้นอย่างชัดเจน

โดยนมแม่แยกชั้น อาจจะมองเห็นเป็น 2 ชั้น หรือ 3 ชั้น ก็ได้ และแต่ละชั้นจะมีองค์ประกอบดังนี้

  • ชั้นบนสุด มองเห็นเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ ซึ่งเป็นชั้นของไขมันในนมแม่ มีความเข้มข้นมากกว่า เพราะประกอบไปด้วยกลุ่มไขมัน
  • ชั้นกลาง มองเห็นเป็นสีเหลืองใส ๆ ซึ่งเป็นชั้นของส่วนประกอบที่เป็นน้ำและน้ำตาลแลคโตสในนมแม่ จัดเป็นน้ำนมส่วนหน้า หรือน้ำนมส่วนที่ไหลออกจากเต้านมเป็นส่วนแรกเวลาที่แม่ให้นมลูกหรือเริ่มปั๊มนม มีองค์ประกอบของน้ำมากกว่าไขมัน จึงมองเห็นเป็นลักษณะน้ำใส ๆ
  • ชั้นล่างสุด บางครั้งอาจมองเห็นนมแยกชั้นเป็น 3 ชั้น ซึ่งชั้นล่างสุดนี้จะเป็นตะกอนนมแม่ มีลักษณะเป็นน้ำนมสีขาวข้น หรือสีเหลืองขุ่น จัดว่าเป็นน้ำนมส่วนหลัง หรือก็คือเมื่อคุณแม่ปั๊มนม หรือให้นมลูกต่อไปเรื่อย ๆ ปริมาณไขมันในน้ำนมก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อไขมันเพิ่มขึ้น น้ำนมจะกลายเป็นน้ำนมที่เหนียวข้นมากขึ้น จึงเรียกว่าน้ำนมส่วนหลัง

อายุนมแม่ สามารถเก็บไว้ได้นานแค่ไหน


นมแม่ ไม่ใช่ของอมตะที่จะไม่มีการบูดหรือเน่าเสีย ดังนั้น การเก็บรักษานมแม่อย่างเหมาะสมจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการเก็บนมแม่ผิดวิธี นอกจากจะย่นอายุนมแม่ให้สั้นลงแล้ว ยังทำให้นมเสียเสียคุณภาพ และทำให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารจากนมแม่ไม่เพียงพอด้วย

โดยอายุของนมแม่หลังจากที่ไหลออกจากเต้านมแล้ว จะมีระยะเวลาในการจัดเก็บได้ ดังนี้

  • หากเก็บนมแม่ใส่ขวด ตั้งไว้ในห้อง ไม่แช่เย็น นมแม่จะอยู่ได้ประมาณ 6-8 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่อากาศร้อนจัด ๆ นมแม่ที่อุณหภูมิห้องอาจอยู่ได้นานสุดราว ๆ 4-6 ชั่วโมง
  • หากเก็บนมแม่ไว้ในตู้เย็น นมแม่จะสามารถเก็บเอาไว้ได้ 2 วัน แต่ชั้นที่เก็บนมแม่นี้จะต้องเป็นชั้นที่ติดกับช่องแช่แข็ง ไม่ใช่ชั้นที่อยู่ติดประตูของตู้เย็น
  • หากเก็บนมแม่ไว้ในช่องแช่แข็งแบบตู้เย็น 1 ประตู นมแม่จะสามารถเก็บเอาไว้ได้ 2 สัปดาห์
  • หากเก็บนมแม่ไว้ในช่องแช่แข็งแบบตู้เย็น 2 ประตู นมแม่จะสามารถเก็บเอาไว้ได้นานถึง 3 เดือน
  • หากเก็บนมแม่ไว้ในตู้แช่แข็งที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส นมแม่จะสามารถเก็บเอาไว้ได้นาน 6 ถึง 12 เดือน

สำหรับนมแม่ที่ละลายและเทใส่ขวดแล้ว ควรป้อนให้ลูกน้อยกินให้หมดภายใน 1-2 ชั่วโมง หากเหลือแนะนำให้ทิ้งทันที ไม่ควรนำมาปิดฝาแล้วเก็บไว้ให้ลูกกินอีก

เนื่องจากขณะที่ลูกดูดกินนมแม่จากขวด เชื้อแบคทีเรียจากปากของลูกมีโอกาสที่จะเข้ามาปนเปื้อนกับในน้ำนมแม่ ทำให้เชื้อแบคทีเรียเติบโต หากลูกกินนมแม่ขวดเดิมซ้ำเข้าไปอีก ก็อาจจะทำให้ทารกท้องเสีย หรือมีอาการลำไส้อักเสบได้ค่ะ คุณแม่ไม่ต้องเสียดายน้ำนมนะคะ เพราะสุขภาพที่แข็งแรงของลูกน้อยสำคัญกว่าค่ะ

อย่างไรก็ตาม การปั๊มนมกว่าจะได้แต่ละหยดนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ดังนั้น เพื่อป้องกันนมเหลือทิ้ง คุณแม่ควรปั๊มเก็บนมแม่ให้ตรงกับปริมาณของนมแม่ที่ลูกต้องการในแต่ละวัน เพื่อให้ลูกได้กินนมอย่างเพียงพอ ได้รับปริมาณสารอาหารจากนมแม่อย่างเหมาะสม และนมแม่ไม่เหลือทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

ลักษณะของน้ำนมแม่ที่บูดเสียแล้ว และควรทิ้งทันที


เป็นที่แน่นอนว่า นมแม่แยกชั้น เป็นเรื่องปกติทั่วไปมาก ๆ เมื่อนำมาละลายและเขย่าเบา ๆ น้ำนมก็จะรวมตัวเป็นเนื้อเดียวกันได้เหมือนเดิม ไม่ใช่นมแม่เสียหรือบูดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ลักษณะของน้ำนมแม่ที่บูดเสียแล้ว และควรทิ้งทันที ไม่ควรนำมาอุ่นให้ลูกกินต่อ คือนมแม่ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

  • นมแม่มีกลิ่นเหม็นบูด เหม็นเน่า คล้ายกับกลิ่นนมวัวเสีย
  • ทดลองชิมแล้วพบว่านมแม่มีรสเปรี้ยว
  • เขย่าแล้วนมแม่ยังแยกชั้นเหมือนเดิม ไม่รวมเป็นเนื้อเดียวกัน
  • ถุงเก็บน้ำนมมีการรั่วไหล มีโอกาสที่นมจะบูดเสียไปแล้ว

ดังนั้น เพื่อให้ลูกน้อยได้กินนมแม่ที่มีคุณภาพดี คุณแม่ต้องใส่ใจกับการเก็บรักษาน้ำนมอย่างเคร่งครัดนะคะ เพื่อให้น้ำนมยังคงคุณภาพไว้ได้ ไม่บูดหรือเน่าเสียไปเสียก่อน

และก่อนจะละลายนมให้ลูกกิน ควรเช็กนมแม่ก่อนทุกครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้อยได้กินนมแม่ที่บูดเสีย เพราะจะทำให้ลูกน้อยท้องเสีย หรือเสี่ยงที่จะมีปัญหาต่อลำไส้และระบบทางเดินอาหารได้ค่ะ

เลือกโภชนาการที่มี MFGM เพื่อ IQ และทักษะสมองเพื่อความสำเร็จ EF ที่เหนือกว่า


นมแม่ ถือเป็นโภชนาการพื้นฐานที่ทารกทุกคนควรต้องได้รับ เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารและสารภูมิคุ้มกัน ที่มีส่วนช่วยให้ร่างกายของทารกแข็งแรง กระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการเจริญเติบโตที่สมวัย และมีทักษะสมองที่ดี จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กทุกคนควรต้องได้กินนมแม่อย่างต่อเนื่องและเพียงพอ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ทารกทุกคนควรจะต้องได้กินนมแม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกน้อยได้รับ MFGM สุดยอดสารอาหารในนมแม่หนึ่งเดียวที่มีงานวิจัยรองรับว่า* ช่วยให้มี IQ และ EF ที่เหนือกว่าตั้งแต่ 5 ขวบปีแรก ให้ลูกพร้อมกว่าเมื่อถึงวัยเข้าเรียน โดย MFGM ในนมแม่ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างเส้นใยประสาท (Myelin Sheath) และเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งสัญญาณประสาทเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง ทำให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเรียนรู้และจดจำได้ดียิ่งขึ้น 

*สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีและศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย. นมแม่กับการพัฒนาทักษะสมองส่วน Executive Function. 2561

    * นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก
    Enfa Smart Club สนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่าง
    เดียวอย่างน้อย 6 เดือนและให้นมแม่ควบคู่อาหารตามวัยอีก 2 ปี หรือนานกว่านั้น ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)
    Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

    คุณกำลังเข้าถึงเนื้อหาจากผู้ให้บริการภายนอกเกี่ยวกับการซื้อหรือ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด​

    กรุณากดยืนยันเพื่อดำเนินการต่อ

    Line TH
    Cart TH Join Enfamama