นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เอนฟาสนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนไปจนถึง 2 ปี หรือนานกว่าตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

ทารกนอนอ้าปาก ลูกนอนหายใจทางปาก จะอันตรายหรือเปล่านะ

Enfa สรุปให้

  • ทารกนอนอ้าปาก เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โพรงจมูกคด ภูมิแพ้ในเด็ก เป็นหวัด หรืออาจแค่เพราะชินกับการนอนอ้าปาก
  • ลูกนอนหายใจทางปากบ่อย ๆ  ถือว่ามีความเสี่ยงต่อสุขภาพ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และรับการรักษา
  • วิธีแก้ชอบนอนอ้าปากในทารก ทำได้หลายวิธี เช่น ป้องกันสารก่อภูมิแพ้  ล้างจมูกลูกด้วยน้ำเหลือ ดูดเสมหะบ่อย ๆ ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ เพื่อเคลียร์จมูกให้โล่ง ให้ลูกหายใจสะดวกขึ้น

เลือกอ่านตามหัวข้อ

เวลาพาลูกเข้านอนกลางวัน หรือนอนตอนกลางคืน คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตบ้างไหมคะว่าลูกเรานอนปิดปากสนิทหรือเปล่า บางครั้งอาจจะพบว่าทารกนอนอ้าปากก็ได้นะ แต่ถ้าลูกนอนหายใจทางปากบ่อย ๆ แบบนี้จะเป็นอันตรายหรือเปล่า แล้วคุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีแก้ชอบนอนอ้าปากของลูกน้อยได้อย่างไรบ้าง มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันกับ Enfa ได้เลยค่ะ

ทารกหายใจทางปากได้ตอนกี่เดือน


ทารกแรกเกิดจะหายใจทางจมูกเป็นปกติค่ะ เว้นแต่ว่าโพรงจมูกของลูกถูกอุดกั้น จนหายใจไม่สะดวก จึงจะหายใจทางปาก ซึ่งโดยปกติแล้วทารกจะเริ่มหายใจทางปากได้เมื่ออายุประมาณ 3-4 เดือนค่ะ


ดังนั้น หากทารก 1 เดือนนอนอ้าปาก ก็อาจเป็นไปได้ว่าลูกน้อยหายใจไม่ออก หากเกิดขึ้นบ่อย ๆ ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม

ทารกนอนอ้าปาก บอกอะไร


เด็กทารกนอนอ้าปาก เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • ทารกมีน้ำมูกอุดตันในโพรงจมูก ทำให้หายใจไม่ออก หายใจไม่สะดวก
  • มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เนื่องจากระบบทางเดินหายใจส่วนบนถูกอุดกั้น ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก ทอนซิลอักเสบ เนื้องอกในโพรงจมูก มีการติดเชื้อในโพรงจมูก เป็นต้น
  • ลักษณะทางกายภาพในช่องปากของลูกผิดปกติ ทำให้ริมฝีปากไม่สามารถประกบกันได้
  • ลักษณะทางกายภาพภายในช่องจมูกผิดปกติ เช่น ช่องจมูกคด ทำให้การไหลเข้าออกของอากาศผิดปกติ หายใจไม่ถนัด
  • ทารกมีอาการภูมิแพ้ ทำให้มีอาการน้ำมูกไหลมากผิดปกติ ทำให้ลูกหายใจไม่ออก
  • บางกรณีอาจไม่ใช่สัญญาณผิดปกติแต่อย่างใด แต่เกิดขึ้นเพราะทารกชินกับการนอนอ้าปาก

คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตการนอนหลับของลูกอยู่เสมอ เพื่อดูว่าลูกหายใจลำบากบ้างไหม ทารกนอนอ้าปากทุกครั้งเลยหรือเปล่า หากสังเกตได้ว่าลูกน้อยนอนอ้าปากและหายใจไม่ค่อยออก ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยระบบทางเดินหายใจ และรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไปค่ะ

ลูกนอนหายใจทางปาก อันตรายไหม


นอนอ้าปากอันตรายไหม? จริง ๆ แล้วเราไม่สามารถฟันธงได้เลยทันทีจนกว่าจะพาลูกไปพบแพทย์นะคะ แต่ให้คุณพ่อคุณแม่คิดในแง่ร้ายเอาไว้ก่อนว่าถ้าลูกนอนอ้าปากบ่อย ๆ นั้นไม่ดีต่อสุขภาพแน่ ๆ เพื่อจะได้เป็นการระแวดระวังเอาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และพาลูกไปเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที

ที่ต้องพูดกันเช่นนี้ก็เป็นเพราะว่าเราไม่สามารถทราบได้เลยค่ะว่าทำไมลูกนอนหายใจทางปาก สาเหตุที่ลูกนอนอ้าปากเกิดจากอะไรกันแน่ อาจเป็นสาเหตุที่อันตรายต่อสุขภาพอย่างภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือลูกอาจมีปัญหาความผิดปกติในช่องปากและโพรงจมูกก็ได้ ขณะเดียวกัน ก็อาจเกิดขึ้นเพราะลูกเป็นหวัดโดยทั่วไป หรือแค่ชินกับการนอนอ้าปาก ซึ่งไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่เสี่ยงอันตรายรุนแรงต่อสุขภาพแต่อย่างใด

ดังนั้น หากสังเกตว่าทารกนอนอ้าปาก คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์อย่างเร็วที่สุดค่ะ เพื่อที่แพทย์จะได้วินิจฉัยดูว่าลูกน้อยมีความผิดปกติอย่างไร สามารถแก้ไข ดูแล และรับมือได้อย่างไรบ้าง

ลูกชอบอ้าปากตลอดเวลา ส่งผลเสียอย่างไร


ลูกชอบนอนอ้าปากบ่อย ๆ ลูกชอบอ้าปากตลอดเวลา คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้ามนะคะ เพราะอาการแบบนี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกมากมาย ดังนี้

  • ร่างกายเสี่ยงต่อการรับสารพิษได้ง่ายขึ้น เพราะการหายใจทางปาก มลภาวะต่าง ๆ จะถูกกรองน้อยลง  เพราะไม่มีกระบวนการกรองมลพิษ ฝุ่นละออง เชื้อโรค และสารพิษต่าง ๆ  ก่อนที่จะเข้าสู่ปอดเหมือนกับการหายใจทางจมูก
  • เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพช่องปาก เพราะการอ้าปากนาน ๆ จะทำให้ปริมาณน้ำลายลดลง ส่งผลให้แบคทีเรียเกาะบนผิวฟันนานขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเหงือกอักเสบและฟันผุ
  • เสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้หากร่างกายขาดออกซิเจนในช่วงที่หยุดหายใจ
  • การนอนอ้าปากตลอดเวลา อาจมีผลทำให้โครงหน้าของลูกผิดปกติ เช่น คางยาว คางยื่น หรือมีปัญหาในการพูดเพราะลิ้นยื่นมาข้างหน้าผิดปกติ
  • ลูกอาจมีพัฒนาการช้าลง เนื่องจากสมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้กระบวนการทำงานของระบบประสาทและสมองลดลง มีผลต่อการเรียนรู้และการทำกิจกรรมของลูกได้  

วิธีแก้ชอบนอนอ้าปาก


ลูกนอนอ้าปาก คุณพ่อคุณแม่สามารถรับมือได้ ดังนี้

  • ติดตั้งเครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกมีอาการคัดจมูกเนื่องจากอากาศที่แห้งจนเกินไป การเพิ่มความชื้นภายในอากาศ สามารถช่วยให้ลูกน้อยหายใจได้โล่งขึ้น สะดวกขึ้น
  • ดูดเสมหะให้ลูก หากลูกเป็นหวัด และมีอาการน้ำมูกไหลไม่หยุด ควรดูดเสมหะออกให้ลูก เพื่อทำให้ช่องจมูกของทารกโล่งและหายใจสะดวกขึ้น
  • ล้างจมูกลูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อช่วยขับเสมหะหรือทำให้สามารถดูดเสมหะที่ตกค้างในจมูกให้ออกมาได้ง่ายขึ้น
  • ให้ลูกดื่มนมอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและช่วยให้เสมหะเหลว ไม่แข็งตัวจนเกิดการอุดตันโพรงจมูก ซึ่งจะทำให้ลูกหายใจไม่ออก
  • หากลูกมีอาการภูมิแพ้ ต้องหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ทุกชนิดให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแพ้กำเริบจนส่งผลให้ลูกหายใจไม่ออกและต้องนอนอ้าปาก

อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่ได้ลองทุกวิธีแล้ว แต่ลูกก็ยังนอนอ้าปากอยู่เหมือนเดิม ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพราะลูกอาจจะมีปัญหากับโพรงจมูกที่จำเป็นจะต้องได้รับการผ่าตัดรักษาอย่างเหมาะสม

ลูกนอนกรน หายใจทางปาก ถึงเวลาที่ต้องพาลูกไปหาหมอ


ลูกนอนอ้าปากหายใจแรง ลูกนอนกรน ลูกนอนอ้าปากบ่อย ๆ หากคุณพ่อคุณแม่พบเห็นลูกมีอาการเช่นนี้เมื่อไหร่ ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดค่ะ เพื่อที่แพทย์จะได้ทำการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดว่าลูกนอนกรน หายใจทางปากเพราะอะไร สาเหตุใดที่ทำให้ลูกนอนอ้าปาก และจะได้ทำการรักษาและแก้ไขอย่างถูกวิธี ป้องกันความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของลูกในระยะยาว

เด็กนอนอ้าปาก หนึ่งในสัญญาณอาการภูมิแพ้ในเด็ก


ทารกนอนอ้าปาก บางครั้งอาจมีสาเหตุมาจากภูมิแพ้ค่ะ โดยหนึ่งในอาการภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย ๆ ก็คือ หายใจติดขัด หายใจไม่ออก มีน้ำมูกไหล ซึ่งอาการเหล่านี้ส่งผลให้ลูกหายใจทางจมูกไม่ได้ จึงต้องหายใจทางปากแทน

โดยอาการภูมิแพ้ในเด็ก เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หนึ่งในปัจจัยที่พบบ่อยที่สุดคือ ลูกได้รับสารก่อภูมิแพ้ผ่านทางน้ำนมแม่ และทำให้มีอาการภูมิแพ้ตามมา

อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่สามารถรับมือกับอาการภูมิแพ้ในเด็กของลูกได้ ดังนี้

พาลูกไปตรวจหาสารภูมิแพ้ หากพบว่าลูกแพ้สิ่งใด ต้องหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าลูกแพ้อาหารชนิดไหน คุณแม่จะต้องงดอาหารชนิดนั้นจนกว่าลูกจะหย่านม เพราะสารก่อภูมิแพ้บางอย่างสามารถส่งผ่านทางน้ำนมแม่ไปยังลูกได้

หากคุณแม่ให้ลูกน้อยกินนมแม่อยู่แล้ว ก็จะแนะนำให้กินนมแม่ต่อไป เพื่อให้ลูกได้รับสารภูมิคุ้มกันที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง

ในกรณีที่คุณแม่น้ำนมไม่เพียงพอหรือไม่สามารถให้นมแม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแพทย์มักแนะนำ* โปรตีนที่ผ่านการย่อยอย่างละเอียด (eHP) ซึ่งมีคุณสมบัติ Hypoallergenic ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และโพรไบโอติกส์ แล็กโทบาซิลลัส รามโนซัส จีจี (LGG) เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง รวมถึงลดโอกาสในการเกิดภูมิแพ้อื่น ๆ ที่อาจตามมาในอนาคต

*แนวทางเวชปฎิบัติการดูแลรักษาโรคแพ้โปรตีนนมวัว พ.ศ. 2555

ภูมิแพ้ป้องกันได้ เริ่มต้นวันนี้ เพื่ออนาคตที่ไม่แพ้


คุณพ่อคุณแม่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสังเกตดูอาการผิดปกติของลูกอยู่เสมอ เพราะลูกอาจมีอาการภูมิแพ้ปรากฎให้เห็นขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ หากคุณพ่อคุณแม่ตรวจพบสัญญาณอาการแพ้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และพาลูกเข้าสู่กระบวนการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของลูกน้อย

แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ละเลย เด็กมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภูมิแพ้ลูกโซ่ ซึ่งภูมิแพ้ลูกโซ่ก็คือเมื่อลูกเป็นภูมิแพ้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็เสี่ยงที่จะเกิดภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ ตามมาได้เมื่ออายุมากขึ้น

หรือถ้าหากมีเวลาว่าง ๆ ควรพาลูกไปตรวจสารก่อภูมิแพ้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก ๆ เพื่อจะได้ป้องกันและทำการรักษาได้ทันท่วงที เพื่อให้เด็กสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรง เอาชนะได้ทุกอุปสรรค ไม่สะดุดทุกอาการแพ้ 

  • WebMD. What to Know About Mouth Breathing In Babies and Children. [Online] Accessed https://www.webmd.com/children/what-to-know-about-mouth-breathing-in-babies. [10 December 2024]  
  • Healthline. Should You Be Concerned If Your Baby Sleeps with Their Mouth Open?. [Online] Accessed https://www.healthline.com/health/baby/baby-sleeps-with-mouth-open. [10 December 2024]
  • ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก. ลูกนอนกรน หายใจเสียงดังเวลานอน มีอันตรายหรือไม่ ?. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.gj.mahidol.ac.th/main/paediatric-knowledge/children-snoring/. [10 ธันวาคม 2024]
  • โรงพยาบาลนครธน. อาการนอนกรนในเด็ก ปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลต่อพัฒนาการได้!. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.nakornthon.com/article/detail/. [10 ธันวาคม 2024]
  • Amarin Baby&Kids. สังเกตด่วน! ลูก นอนอ้าปาก เสี่ยงเป็น 4 โรคนี้!. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.amarinbabyandkids.com/health/danger-sleep-open-mouth/. [10 ธันวาคม 2024]
  • พี่กัลนมแม่ Pekannommae mother and child care. ลูกนอนอ้าปาก นอนกรน เกิดจากสาเหตุอะไร สาเหตุไหนควรกังวล วิธีการสังเกตว่าลูกนอนอ้าปากเพราะอะไร. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=qJvzvtZAFrk. [10 ธันวาคม 2024]

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ดูแลลูกน้อย

* นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก
Enfa Smart Club สนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่าง
เดียวอย่างน้อย 6 เดือนและให้นมแม่ควบคู่อาหารตามวัยอีก 2 ปี หรือนานกว่านั้น ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO)
Enfa Smart Club พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการมอบข้อมูลโภชนาการและพัฒนาการลูกน้อยแต่ละวัย ที่เป็นประโยชน์และเชื่อถือได้ ผ่านเว็บไซต์ enfababy.com

คุณกำลังเข้าถึงเนื้อหาจากผู้ให้บริการภายนอกเกี่ยวกับการซื้อหรือ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชัน (ประเทศไทย) จำกัด​

กรุณากดยืนยันเพื่อดำเนินการต่อ

Line TH
Cart TH Join Enfamama