Enfa สรุปให้

  • วัยทารกแรกเกิด คือช่วงอายุระหว่าง 0 - 4 สัปดาห์หลังคลอด โดยช่วงชีวิตของเด็กทารกแรกเกิดนั้นเป็นระยะที่มีความสำคัญอย่างมาก

  • สุขภาพและร่างกายของทารกหลังแรกคลอด มีความบอบบาง เสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย เพราะระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง และยังต้องใช้เวลาในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่

  • คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดูแลอย่างดีและใกล้ชิด เพื่อให้เด็กสามารถปรับตัวเข้ากับบรรยากาศและสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากตอนอยู่ในครรภ์ของแม่ได้อย่างราบรื่น

    เลือกอ่านตามหัวข้อ

         • พ่อแม่จะรับมือกับการเลี้ยงทารกแรกเกิด 1 เดือนอย่างไรดี
         • 10 วิธีเลี้ยงเด็กแรกเกิด
         • สิ่งที่คุณแม่หลังแรกคลอดและลูกน้อยแรกเกิดควรระวัง

    การเลี้ยงเด็กแรกเกิดนั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีประสบการณ์ ยิ่งถ้าเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ด้วยแล้ว ทุกอย่างเหมือนเริ่มจากศูนย์ อาจทำให้ประหม่าหรือวิตกกังวลได้ แต่คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งเครียดไปค่ะ เพราะวันนี้ Enfa ได้รวบรวมกลเม็ดและเคล็ดลับในการเลี้ยงทารกแรกเกิด 1 เดือน เพื่อเป็นแนวทางการเลี้ยงลูกสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่มาฝาก เป็นการเตรียมพร้อมก่อนจะได้พบกับเจ้าตัวเล็กหลังคลอด 

    การเลี้ยงทารกแรกเกิด 1 เดือน มือใหม่ มือโปร รับมือกันอย่างไร


    สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มือโปรแล้ว มีลูกมาหลายคนแล้ว ย่อมมีภูมิคุ้มกันและบทเรียนจากลูกคนแรก ทำให้สามารถรับมือกับลูกคนต่อมาได้ดีขึ้น รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร จะต้องเตรียมตัวอย่างไร  

    แต่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่นั้น ทุกอย่างคือครั้งแรกทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่เคยผ่านการเลี้ยงหลานหรือดูแลเด็กคนอื่น ๆ มาก่อน การปรับตัวกับเด็กแรกเกิดเป็นครั้งแรกนั้น จึงถือว่าเป็นสิ่งใหม่ที่อาจจะรับมือแบบผิด ๆ ถูก ๆ ได้ 

    การรับมือสำหรับการเลี้ยงทารกแรกเกิดนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำใจ เตรียมใจ และเข้าใจในธรรมชาติของเด็กให้มาก ไม่ว่าจะเป็น 

    สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air
    • ลูกอาจจะร้องบ่อยวันละหลาย ๆ ครั้ง ต้องเข้าใจว่าทารกยังไม่สามารถที่จะพูดตอบโต้กับเราได้ การร้องไห้จึงเป็นวิธีการสื่อสารวิธีเดียวที่ทารกจะทำได้ คุณพ่อคุณแม่อาจรู้สึกรำคาญได้ แต่ก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของทารกด้วย 

    • ทารกอึวันละหลาย ๆ ครั้ง เนื่องจากลำไส้ของทารกยังสั้นอยู่ การขับถ่ายจึงเกิดขึ้นได้ถี่มากกว่าวัยผู้ใหญ่ ดังนั้น การเปลี่ยนผ้าอ้อม จึงแทบจะเป็นภารกิจเสี่ยงตายที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ผู้ยังไม่คุ้นชินกับการเปลี่ยนผ้าอ้อม ไหนจะกลิ่น ไหนจะลูกร้อง ต้องเตรียมใจให้พร้อมค่ะ อาจจะทุลักทุเลหน่อย แต่ก็จะค่อย ๆ ชินไปเอง 

    • แบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน เพราะลูกเป็นความรับผิดชอบของทั้งพ่อและแม่ ไม่มีใครที่จะไปยืนขาเดียว เหนี่ยวกินลม แล้วท้องออกมาเป็นหนุมานได้แบบนางสวาหะ เราทำลูกมาด้วยกันทั้งคู่ เมื่อลูกเกิดมาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของพ่อและแม่ที่จะช่วยกัน อย่าโยนให้เป็นภาระของใครคนใดคนหนึ่ง ผลัดกันพักผ่อน ผลัดกันดูลูก เพื่อไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องเหนื่อยมากจนเกินไป 

    • อย่ากดดัน ไม่ใช่ทุกคนเกิดมาแล้วจะเป็นพ่อเป็นแม่คนเลย ทุกอย่างมีครั้งแรกเสมอ อาจจะเผลอทำผิด ๆ ถูก ๆ ไปบ้าง ก็ต้องรู้จักให้อภัยตนเอง ไม่ต้องกดดันว่าฉันจะต้องทำเองให้ได้ ฉันต้องเป็นพ่อแม่ที่ดีพร้อม เพราะจะพาลทำให้คุณพ่อคุณแม่ท้อแท้เอาเสียก่อนเมื่อทำไม่ได้ดังหวัง 

    • หากเหนื่อย ก็ต้องพัก การฝืนเลี้ยงลูกจนตัวเองไม่ได้พักผ่อนมีแต่จะทำให้สุขภาพแย่ลง หากต้องการความช่วยเหลือ อย่าอายหรือรู้สึกผิดที่ต้องขอให้คนในบ้านมาช่วยดูลูก เพราะสุขภาพของคุณแม่ก็สำคัญไม่แพ้กันค่ะ 

    • หากรู้สึกเก็บกด เศร้า เครียด วิตกกังวล แนะนำให้คุณแม่พูดออกมา อย่าเก็บเอาไว้จนกลายเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หากพูดกับคนใกล้ตัวไม่ได้ ให้ลองปลีกวิเวก หรือไปพบแพทย์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ดีกว่าเก็บงำเอาไว้คนเดียวจนยากที่จะถอนตัว 

    10 วิธีเลี้ยงเด็กแรกเกิด และเคล็ดลับที่คุณแม่ควรรู้! 


    วิธีเลี้ยงลูกแรกเกิดนั้น มีเรื่องสำคัญ ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ลูกน้อยได้เติบโตอย่างสมบูรณ์และแข็งแรง ดังนี้ 

    1. การให้นมแม่  

    หลังคลอดคุณแม่จะต้องเริ่มให้นมลูกทันที ไม่ต้องรอให้พักฟื้นจนหายดีก่อน การทำให้ลูกคุ้นเคยกับเต้านม หัวนม และนมแม่ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี  

    โดยเด็กทารกแรกเกิดนั้นจะต้องกินนมแม่ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง และเวลาให้นมแม่ ควรจะให้นมแม่ข้างละ 10-15 นาทีแล้วจึงเปลี่ยนข้าง ที่สำคัญคือควรให้นมแม่อย่างเดียวและต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือนค่ะ  

    2. การอาบน้ำให้ทารก 

    ทารกเองก็จำเป็นจะต้องได้รับการทำความสะอาดเช่นกัน คุณพ่อคุณแม่ควรอาบน้ำให้ลูกในบริเวณที่มีอุณหภูมิอุ่น ไม่เย็นเกินไป ลมไม่โกรกเกินไป และควรอาบในช่วงสาย ๆ หรือช่วงบ่าย หรือเลือกอาบในช่วงเวลาที่อากาศอบอุ่นจะดีที่สุด การอาบน้ำในช่วงเวลาและสภาพแวดล้อมที่มีอากาศเย็นมาก ๆ อาจทำให้ลูกไม่สบายได้  

    เวลาอาบน้ำควรใช้น้ำที่อุณหภูมิห้อง และไม่ต้องใช้แชมพูหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ ใช้เพียงน้ำเปล่าก็เพียงพอแล้ว มากไปกว่านี้ ควรอาบน้ำลูกให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 5-7 นาที หากอาบนานกว่านั้นทารกอาจจะไม่สบายเอาได้  

    3. การดูแลสะดือของทารกแรกเกิด 

    คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยปละละเลยสะดือของลูกให้หมักหมมนะคะ หลังอาบน้ำเสร็จทุกครั้งให้ซับเบา ๆ จนสะดือแห้ง จากนั้นใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดบริเวณสะดือ เวลาเช็ดสะดือให้ค่อย ๆ เช็ดวนจากด้านในออกมาด้านนอก และควรเช็ดเบา ๆ อย่าเช็ดแรงจนเกินไป  

    โดยขั้วสะดือของทารกหลังจากตัดสายสะดือแล้วจะใช้เวลาราว ๆ 1-2 สัปดาห์ และจะค่อย ๆ หลุดไปเอง แต่ถ้าสะดือหลุดแล้ว และมีกลิ่น  มีหนอง หรือของเหลวออกมา ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อได้  

    4. การเปลี่ยนผ้าอ้อมทารก 

    ทารกแรกเกิดจะขับถ่ายบ่อยมากค่ะ โดยเฉพาะทารกที่กินนมแม่ยิ่งถ่ายบ่อย คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้ลูกขับถ่ายและหมักหมมจนผ้าอ้อมแฉะ อาจเสี่ยงต่อผื่นผ้าอ้อมได้   

    โดยก่อนเปลี่ยนผ้าอ้อมให้จัดการทำความสะอาดก้น อวัยวะเพศ ขาหนีบ และต้นขาของทารกให้สะอาด แล้วจึงเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เรียบร้อย  

    5. การห่อตัวให้ทารก 

    การห่อตัวทารกนั้นจะช่วยให้ทารกรู้สึกสบายตัว ปลอดภัย เหมือนกับเมื่อครั้งที่ยังนอนอยู่ในครรภ์ของมารดา วิธีนี้จึงช่วยให้ทารกรู้สึกสงบ และนอนหลับได้อย่างสบายตัว โดยวิธีห่อตัวทารก สามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้   

    • วางผ้าลงกับพื้นราบ หรือบนเตียง แล้วพับมุมผ้าลง ให้ผ้ามีลักษณะเป็นรูปห้าเหลี่ยม  

    • วางลูกลงบนผ้า ให้บ่าอยู่บริเวณขอบผ้า และศีรษะอยู่พ้นมุมผ้าที่พับลง  

    • ใช้มือข้างหนึ่งจับทารกไว้ มืออีกข้างหยิบมุมซ้ายของผ้ามาห่มทับลำตัวของทารก และพาดไปสอดไว้ใต้แขนอีกข้างของทารก แล้วดึงชายผ้าส่วนที่เหลืออ้อมไปเก็บไว้ด้านหลัง  

    • จากนั้นหยิบผ้าจากมุมขวามือ ห่อพาดแขนขวาและลำตัวของทารก เหน็บผ้าส่วนเกินไว้ทางด้านหลัง  

    • ค่อย ๆ พับหรือม้วนผ้าที่อยู่ด้านล่างหรือ่วนปลายเท้าขึ้นมาและเหน็บไว้ด้านล่างให้เรียบร้อย หรือจะผูกเอาก็ได้ค่ะ  

    6. การนอนของลูกน้อย  

    ทารกแรกเกิดควรจะต้องนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และเวลานอนควรจัดให้ทารกนอนให้ห้องหรือสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเท ไม่ร้อนเกินไป และไม่เย็นจนเกินไป  

    มากไปกว่านั้น ไม่ควรให้ทารกนอนคว่ำ แต่ควรดูแลให้ทารกนอนหงายอยู่เสมอ การนอนคว่ำอาจเสี่ยงต่อปัญหาการหายใจ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงของโรคไหลตายในเด็ก ซึ่งเกิดจากการหายใจไม่ออกในขณะนอนหลับค่ะ ถือว่าเป็นความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่พบได้บ่อยมากในทารกแรกเกิด  

    7. การฉีดวัคซีนและดูแลทารกน้อยหลังฉีดวัคซีน  

    ทารกแรกเกิดควรจะต้องได้รับวัคซีนตามที่แพทย์กำหนด โดยวัคซีนบางชนิดทารกอาจได้รับตั้งแต่แรกเกิดเลยก็มี และเมื่ออายุมากขึ้นก็จะต้องทยอยเข้ารับวัคซีนชนิดอื่น ๆ ที่เหลือให้ครบตามกำหนด ข้อสำคัญคือคุณพ่อคุณพ่อต้องหาเวลาพาลูกไปเข้ารับวัคซีนให้ครบตามกำหนดนด้วยนะคะ เพื่อที่เด็กจะได้มีภูมิคุ้มกันสำหรับป้องกันโรคต่าง ๆ 

    8. ป้องกันเชื้อโรคและแบคทีเรีย 

    ทารกนั้นมีความบอบบางมาก และระบบภูมิคุ้มกันของทารกก็ยังทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อได้ง่าย ควรระวังอย่าสัมผัสกับทารกหากยังไม่ล้างมือ ข้อนี้จะต้องปฏิบัติกันทั้งพ่อ แม่ และคนในครอบครัว เพื่อป้องกันไม่ให้ทารกได้รับเชื้อโรคและเชื้อแบคทีเรียที่ติดมากับมือ รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ของทารก จะต้องล้างและทำความสะอาดและฆ่าเชื้อเป็นอย่างดี  

    9. อุ้มลูกบ่อย ๆ 

    อุ้มลูกบ่อย ๆ อ้อมแขนของคุณพ่อคุณแม่ถือเป็นจุดเริ่มต้นพัฒนาการที่สำคัญของทารก อ้อมกอด อ้อมแขนจะช่วยให้ทารกรู้สึกปลอดภัย และอบอุ่น อีกทั้งเสียงที่คุ้นเคยของคุณพ่อคุณแม่ในขณะที่อุ้มลูก ก็จะช่วยให้ลูกมีความมั่นคงทางอารมณ์ด้วย มากไปกว่านั้น ขณะที่อุ้มทารก อาจจะยื่นนิ้วให้ทารกได้จับหรือสัมผัส ก็จะช่วยเสริมสร้างทักษะการเคลื่อนไหวให้ลูกได้ด้วย 

    10. สังเกตความผิดปกติของลูกอยู่เสมอ 

    คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดูความผิดปกติของลูกอยู่เสมอ เช่น ลูกซึมกว่าปกติหรือเปล่า ลูกนอนนานเกินไปหม ลูกน้ำหนักตัวลดหรือเปล่า ลูกถ่ายเหลวไหม อุจจาระลูกมีมูกเลือดปนไหม ลูกมีไข้ไหม ลูกตัวเย็นไปหรือเปล่า สัญญาณความผิดปกติเหล่านี้ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที อาจเป็นอันตรายกับทารกได้ค่ะ 

    สิ่งที่คุณแม่หลังแรกคลอดและลูกน้อยแรกเกิดควรระวัง  


    สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตและเฝ้าระวังในช่วงหลังคลอด ได้แก่ 

    • ลูกตัวเหลือง หากผ่านไปสัก 2-3 สัปดาห์แล้วลูกยังคงมีอาการตัวเหลืองอยู่  คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์ เพราะระดับสารเหลืองนั้นอาจเป็นอันตรายต่อสมองของทารกได้ค่ะ 

    • อุจาระทารก ช่วง 1-2 วันแรกหลังคลอด ทารกจะขับถ่ายเอาอุจจาระก้อนแรกที่มีสีดำ หรือที่เรียกว่าขี้เทาออกมา แต่ถ้าผ่านไป 2 วันแล้วยังไม่มีขี้เทาออกมา ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่าลูกน้อยผิดปกติหรือเปล่า 

    • ทารกแรกเกิดจะขับถ่ายวันละหลายครั้งเป็นเรื่องปกติ คอยระวังถ้าหากมีมูกเลือดปนออกมา อุจจาระไม่ใช่สีเหลือง หรือลูกถ่ายเหลวเป็นน้ำ ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที 

    • เด็กทารกป่วยได้ง่าย ต้องคอยสังเกตให้ดีว่าลูกมีไข้ขึ้นสูงไหม ตัวเย็นเกินไปหรือเปล่า อุณหภูมิในห้องเหมาะสมไหม สภาพแวดล้อมที่ร้อนหรือเย็นเกินไป อาจทำให้ทารกไม่สบายได้ 

    • แม่หลังคลอดไม่ควรออกแรงยกของหนัก หากจำเป็นต้องยกหรือย้ายสิ่งของใด ควรขอความช่วยเหลือจากคนในบ้าน เพราะแรงกดจากการยกของหนัก อาจส่งผลให้แผลคลอดลูกกระทบกระเทือนได้ 

    • พยายามไม่รับแขก หรือจำกัดการรับแขกในแต่ละวัน เพราะการรับแขกหลาย ๆ คนในช่วงหลังคลอดแรก ๆ อาจรบกวนการพักผ่อนของคุณแม่ จะทำให้ร่างกายเหนื่อยล้ามากจนเกินไป จนพักฟื้นได้ไม่เต็มที่  

    • พยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้ได้เร็วที่สุด จะช่วยให้แผลคลอดลูกหายเร็วขึ้น และช่วยให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้นด้วย 



    บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ดูแลทารก