ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
common-colds-in-babies

ทารกเป็นหวัด หายใจไม่สะดวก คุณพ่อคุณแม่รับมืออย่างไรดี

Enfa สรุปให้

  • ทารกเป็นหวัด เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักเลยก็คือ ระบบภูมิคุ้มกันของทารกนั้นยังไม่ได้มีความแข็งแรงมากพอจะต่อสู้กับเชื้อไวรัสหรือเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ 100 เปอร์เซ็นต์
  • อาการเด่น ๆ ของไข้หวัดในเด็ก คือทารกจะมีน้ำมูกไหล และน้ำมูกของทารกมีสีที่เปลี่ยนไป จากปกติจะเป็นสีใส ๆ แต่กลายเป็นสีเหลือง หรือสีเขียว
  • ทารกวัยตั้งแต่ 0-3 เดือนมีไข้สูง และมีอาการร่วมอื่น ๆ ที่คล้ายกับอาการเป็นหวัด จำเป็นต้องพาไปพบแพทย์ทันที เพราะในเด็กทารกที่อายุน้อยเดือนมาก ๆ เช่นนี้ แม้จะแค่มีไข้ก็ถือว่าอันตราย

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • สาเหตุที่ทารกเป็นหวัด
     • อาการหวัดในเด็กเป็นยังไง
     • เด็กเป็นหวัด อันตรายแค่ไหน
     • ลูกเป็นไข้หวัดธรรมดา หรือ ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก
     • อาการหวัดแบบไหนที่ต้องพาลูกไปหาหมอ
     • วิธีดูแลเมื่อลูกเป็นไข้หวัด
     • ทารกเป็นหวัด กินยาได้ไหม
     • วิธีป้องกันไข้หวัดในทารก
     • ไขข้องข้องใจเมื่อลูกน้อยเป็นหวัดกับ Enfa Smart Club

ทารก เป็นช่วงวัยแห่งความบอบบางและเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยง่าย อากาศเปลี่ยนนิดหน่อย หรือสัมผัสกับสิ่งสกปรกก็ส่งผลให้เจ้าตัวเล็กไม่สบายได้ โดยเฉพาะหวัดหรือไข้หวัด ซึ่งพบได้บ่อยมากในเด็กทารก ซึ่งแม้จะเกิดขึ้นบ่อยจนเป็นเป็นเรื่องปกติ แต่คุณแม่ก็ไม่ควรชะล่าใจปล่อยผ่านไป เพราะถ้าไม่ดูแลหรือป้องกัน ก็อาจจะส่งผลในระยะยาวกับสุขภาพของลูกน้อยได้

บทความนี้ของ Enfa มีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับอาการทารกเป็นหวัด มาดูกันว่าอาการแบบไหนนะที่กำลังบอกว่าลูกเป็นหวัด แล้วเด็กเป็นหวัดลักษณะไหนที่เข้าขั้นอันตรายและต้องไปพบแพทย์

ทารกเป็นหวัด เกิดจากอะไร?


ทารกเป็นหวัด เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักเลยก็คือ ระบบภูมิคุ้มกันของทารกนั้นยังไม่ได้มีความแข็งแรงมากพอจะต่อสู้กับเชื้อไวรัสหรือเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น

  • หากมีใครมาไอ หรือจามใกล้ ๆ ทารกก็เสี่ยงที่จะรับเอาเชื้อไวรัสนั้นได้โดยตรง
  • ของเล่น หรือวัตถุใด ๆ ก็ตามที่ทารกหยิบเล่น หรือหยิบเข้าปาก หากไม่สะอาดหรือมีเชื้อโรคปะปน ทารกก็เสี่ยงที่จะรับเอาเชื้อโรคเหล่านั้นเข้าสู่ร่างกายได้
  • การที่ทารกสัมผัสกับพี่น้อง พ่อแม่ หรือญาติคนอื่น ๆ ที่อาจจะมีเชื้อหวัดอยู่ ก็เสี่ยงที่จะได้รับเชื้อหวัดเช่นกัน
  • ปัจจัยแวดล้อมอย่างสภาพอากาศ อุณหภูมิภายในบ้านที่เย็นเกินไป หรือไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก็มีผลทำให้ทารกเป็นหวัดได้

อาการแบบไหนที่บอกว่าลูกเป็นหวัด


หากคุณแม่สังเกตเห็นอาการหรือสัญญาณดังต่อไปนี้ ก็เป็นไปได้ว่าเจ้าตัวเล็กอาจจะกำลังเป็นหวัด

อาการเด่น ๆ ที่บอกว่าทารกอาจเป็นหวัด

  • ทารกมีน้ำมูกไหล
  • น้ำมูกของทารกมีสีที่เปลี่ยนไป จากปกติจะเป็นสีใส ๆ แต่กลายเป็นสีเหลือง หรือสีเขียว อาการร่วมอื่น ๆ
  • มีไข้
  • ปวดตามตัว ทารกรู้สึกไม่สบายตัว
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ
  • เจ็บหน้าอก
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน หรือท้องเสีย

เด็กเป็นหวัดอันตรายแค่ไหน?


เด็กมักจะเป็นหวัดบ่อยอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ และโดยมากมักจะหายเองได้ภายใน 5-7 วัน วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย ด้วยการให้ยาแก้ไอ การกินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ การล้างจมูกทารกเพื่อลดน้ำมูก การเช็ดตัว ควบคุมอุณหภูมิร่างกายของลูกน้อยให้เหมาะสมเมื่อลูกตัวร้อน ดูแลความสะอาดของสภาพแวดล้อมที่เด็ก ๆ อาศัยอยู่ ก็สามารถช่วยให้อาการหวัดของทารกทยอยดีขึ้นตามลำดับได้

สังเกตยังไงว่า ลูกเป็นไข้หวัดธรรมดา (Common Cold) หรือ ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก (Influenza)


ไข้หวัดธรรมดา กับ ไข้หวัดใหญ่ในเด็กนั้นมีลักษณะอาการที่ไม่แตกต่างกันมาก แต่ก็สามารถที่จะแยกออกได้ ดังนี้

อาการเด่น ๆ ของไข้หวัดธรรมดาในเด็ก

  • ทารกมีน้ำมูกไหล
  • น้ำมูกของทารกมีสีที่เปลี่ยนไป จากปกติจะเป็นสีใส ๆ แต่กลายเป็นสีเหลือง หรือสีเขียว

อาการเด่น ๆ ของไข้หวัดใหญ่ในเด็ก

  • ทารกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ นอนยาวกว่าปกติ
  • มีไข้สูงตั้งแต่ 37.5 ขึ้นไป
  • มีอาการไอและเจ็บคอ
  • ปวดศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนแรงผิดปกติ
  • อาเจียน และท้องเสีย

หากลูกน้อยเป็นหวัดแล้วมีอาการแบบนี้ คุณแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์


แม้โดยทั่วไปแล้วทารกที่เป็นหวัดจะสามารถหายได้เองภายใน 5-7 วัน แต่ก็มีกรณีที่ไม่สามารถปล่อยให้หายเองได้ และจำเป็นต้องไปพบแพทย์ ได้แก่

เมื่อทารกวัย 0-3 เดือนเป็นหวัดแล้วมีอาการต่อไปนี้

ทารกวัยตั้งแต่ 0-3 เดือนมีไข้สูง และมีอาการร่วมอื่น ๆ ที่คล้ายกับอาการเป็นหวัด จำเป็นต้องพาไปพบแพทย์ทันที เพราะในเด็กทารกที่อายุน้อยเดือนมาก ๆ เช่นนี้ แม้จะแค่มีไข้ก็ถือว่าอันตราย ควรได้รับการวินิจฉัยและรับการรักษากับแพทย์ เนื่องจากอาการหวัดและมีไข้สูง อาจนำไปสู่อาการทางสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นอันตรายได้ เช่น ปอดบวม การติดเชื้อในหู เป็นต้น

เมื่อลูกน้อยวัย 3 เดือนขึ้นไปเป็นหวัดแล้วมีอาการต่อไปนี้

สำหรับทารกที่มีอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป และเป็นหวัด ประกอบกับมีอาการดังต่อไปนี้ ควรพาไปพบแพทย์

  • ปัสสาวะน้อยกว่าปกติจนเห็นได้ชัด
  • ไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาขึ้นไป
  • ทารกมีอาการเจ็บหรือระคายเคืองที่หู
  • มีอาการตาแดง หรือสีของดวงตาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือออกเขียวช้ำ ๆ
  • หายใจลำบาก หายใจมีเสียงครืดคราด
  • มีอาการไอเรื้อรัง ไอไม่หยุด
  • มีน้ำมูกหนา น้ำมูกมีสีเขียวติดต่อกันหลายวัน
  • มีอาการที่ผิดปกติไปจากทุกวัน เช่น ร้องไห้บ่อย ไม่กินนม ไม่กินอาหาร ตกใจง่าย

และควรไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการดังต่อไปนี้

  • ทารกไม่ยอมกินยา แม้จะเป็นยาน้ำก็ตาม
  • ไอแรงจนอาเจียน หรือไอแรงมากจนกระทั่งสีผิวเปลี่ยน เช่น ผิวแดงขึ้นทั้งตัว
  • ไอมีเสมหะเป็นเลือด
  • หายใจไม่ออก หายใจลำบาก ริมฝีปากเริ่มมีสีคล้ำ
  • นอนเยอะผิดปกติ ไม่ค่อยร่าเริง อ่อนเพลียตลอดทั้งวัน

ดูแลลูกน้อยอย่างไรเมื่อลูกเป็นไข้หวัด


ปกติแล้วถ้าลูกเป็นหวัดธรรมดา ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลอะไรมากนัก เพราะอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ และเจ้าตัวเล็กจะหายหวัดไปเองใน 5-7 วัน ซึ่งแม่สามารถดูแลลูกน้อยเมื่อเป็นหวัดเบื้องต้นได้ ดังนี้

  • ให้ลูกกินยาลดไข้ เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป สามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ได้ แต่ต้องอยู่ในปริมาณยาที่แพทย์และเภสัชกรแนะนำเท่านั้น ไม่ควรให้ลูกกินยาตามความเข้าใจไปเองของคุณแม่ และไม่ควรซื้อยาอื่น ๆ มาให้ลูกกินโดยที่ไม่ได้ปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
  • ปรับอุณหภูมิในห้อง หากลูกเป็นหวัด คุณแม่ไม่ควรให้อุณหภูมิห้องเย็นจนเกินไป แต่ก็ต้องไม่ร้อนจนเกินไปด้วย อาจเป็นการเปิดพัดลมให้ส่ายไปมา หรือเปิดหน้าต่างเพื่อให้มีอากาศถ่ายเท
  • ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำที่อุณหภูมิห้อง ระวังอย่าให้ลูกดื่มน้ำเย็น แต่ควรให้ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำที่อุณหภูมิห้องเท่านั้น และควรให้ลูกจิบน้ำอยู่บ่อย ๆ เพื่อลดไข้ ลดการสูญเสียน้ำ และป้องกันอาการขาดน้ำด้วย
  • ปรุงอาหารให้สุกและสะอาด สำหรับเด็กทารกที่เริ่มกินอาหารอื่น ๆ นอกจากนมแม่แล้ว คุณแม่ต้องระวังเป็นพิเศษ อาหารที่จะให้เจ้าตัวเล็กกินควรปรุงสุกและสะอาด นอกจากจะช่วยให้ลูกฟื้นตัวเร็วจากอาการป่วยแล้ว ก็ยังหลีกเลี่ยงการรับเชื้อโรคจากอาหารที่ปรุงไม่สุกและไม่สะอาด
  • เช็ดน้ำมูกบ่อย ๆ หากลูกมีน้ำมูกไหลออกมาเยอะ คุณแม่ควรดูแลและคอยเช็ดน้ำมูกอยู่เสมอ หรือจะใช้ผ้าที่นุ่มม้วนให้เป็นปลายแหลมแล้วแหย่เข้าไปในรูจมูกของทารกเพื่อซับน้ำมูกก็ได้เช่นกัน แต่ควรแหย่เข้าไปเบา ๆ และใช้ผ้าที่สะอาดเท่านั้น

ลูกเป็นหวัด หายใจไม่สะดวก คุณแม่จะรับมือยังไงดี?

กรณีที่เจ้าตัวเล็กคัดจมูก หายใจไม่ออก หรือหายใจไม่สะดวก คุณแม่สามารถดูแลได้หลายวิธี ดังนี้

  • ให้ทารกดื่มหรือจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมูกข้นหรือเหนียว
  • ล้างจมูกลูกด้วยน้ำเกลือ หรืออาจจะหยดน้ำเกลือเข้าไปที่รูจมูกของทารกข้างละ 2-3 หยด เพื่อให้น้ำมูกเหลว และใช้ลูกยางดูดน้ำมูกออกมา
  • เปลี่ยนท่านอนให้เด็กนอนตะแคง อาจช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น
  • ดูแลให้บรรยากาศในห้องนอนไม่อบอ้าวหรืออึดอัด ควรจัดห้องให้มีอากาศถ่ายเท และมีความชื้นพอเหมาะ

ทำอย่างไรเมื่อทารกมีเสมหะ?

กรณีที่ทารกเป็นหวัด มีเสมหะ คุณแม่สามารถดูแลได้หลายวิธี ดังนี้

  • ให้ทารกดื่มหรือจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อละลายเสมหะไม่ให้ข้นเหนียว และเสมหะสามารถไหลออกมาได้ง่ายขึ้น
  • ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ หรืออาจจะหยดน้ำเกลือเข้าไปที่รูจมูกของทารกข้างละ 2-3 หยด เพื่อให้น้ำมูกเหลว และใช้ลูกยางดูดน้ำมูกออกมา
  • การเคาะระบายเสมหะ โดยคุณแม่ใช้ผ้าขนหนูบาง ๆ วางบนบริเวณทรวงอกของลูก และขยุ้มมือเข้าหากันให้ปลายนิ้วชิดกัน จากนั้นวนเป็นวงกลมเร็ว ๆ ประมาณ 3 ครั้งต่อวินาที โดยเริ่มจากทางซ้ายและเลื่อนไปทางขวาของทรวงอก ท่านี้จะช่วยให้ทารกรู้สึกสบายตัวมากขึ้น นอนหลับได้ง่ายขึ้น

ทารกเป็นหวัด หายใจครืดคราด หรือหายใจแรง ผิดปกติหรือเปล่า?

ทารกที่เป็นหวัด หลายรายมักจะมีอาการหายใจไม่สะดวก บางครั้งก็หายใจแรงหรือหายใจครืดคราด ซึ่งอาจเป็นอาการหนึ่งของไข้หวัดที่เป็นอยู่ แต่อาการเหล่านี้ก็มักจะหายไปได้เองใน 5-7วัน หรืออย่างช้าสุดก็ราว ๆ 10 วัน ไปจนถึง 2 สัปดาห์

ทารกเป็นหวัด ควรนอนท่าไหน

ทารกเป็นหวัดที่มีอายุน้อยกว่า 3 เดือน คุณแม่สามารถจับทารกนอนในท่าตะแคงเพื่อให้หายใจสะดวกขึ้นได้ แต่ถ้าทารกโตขึ้นมาสักหน่อย ก็อาจจะให้นอนตะแคง แต่นอนหนุนหมอนที่สูงขึ้น

ทารกเป็นหวัด คุณแม่สามารถให้ลูกกินยาได้ไหม?


ทารกที่เป็นหวัดกินยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวด และลดไข้ ตามปริมาณยาที่แพทย์กำหนดก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะอื่น ๆ อีก

ส่วนกรณีที่เด็กมีอาการไอร่วมด้วย หรือมีเสมหะมาก ตรงนี้อาจจะต้องปรึกษากับแพทย์และเภสัชกรก่อนว่าควรให้เด็กกินยาลดเสมหะหรือยาแก้ไอร่วมด้วยหรือไม่ เพราะโดยปกติแล้วอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นโดยไม่ต้องกินยาอื่น ๆ เพิ่ม และยายังอาจมีผลข้างเคียงต่อทารกด้วย

ป้องกันไข้หวัดในทารกยังไงดี?


เพื่อป้องกันไม่ให้ทารกเป็นหวัดได้ง่าย ๆ คุณแม่สามารถดูแลทารกได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนี้

  • พาลูกไปฉีดวัคซีนเด็กเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามนัด
  • หลีกเลี่ยงการให้ญาติพี่น้องและคนอื่น ๆ ที่ไม่สบาย หรือเป็นหวัดเข้าใกล้ทารก
  • ก่อนที่คนอื่น ๆ จะสัมผัสกับทารก คุณแม่ควรบอกให้ล้างมือให้สะอาดก่อนเสมอ
  • ทำความสะอาดของเล่นและของใช้สำหรับเด็กอยู่ตลอด เพื่อป้องกันไม่ให้ทารกได้รับเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียผ่านของใช้ในชีวิตประจำวัน
  • เตือนคนในบ้านว่าเวลาไอหรือจาม ควรปิดปากและจมูกด้วยทิชชู แล้วนำไปทิ้งให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เสมหะจากการไอหรือจามฟุ้งภายในบ้าน
  • ระวังไม่ให้คนอื่น ๆ หอม จูบ หรือสัมผัสที่ใบหน้าของทารก
  • ของใช้ของทารกควรแยะออกมาต่างหาก ไม่ควรนำมาใช้ปะปนกับของใช้ทั่วไป

ไขข้องข้องใจเมื่อลูกน้อยเป็นหวัดกับ Enfa Smart Club


1. ลูกเป็นหวัด ทุบหอมแดงไว้ที่หัวเตียงช่วยได้ไหม?

หอมแดง ไม่ถึงกับจะทำให้อาการหวัดหายเป็นปลิดทิ้งได้ในทันที แต่การดมหอมแดง หรือได้กลิ่นของหอมแดง สามารถที่จะช่วยลดอาการคัดจมูกได้ เพราะในหอมแดงมีสารระเหยที่มีสรรพคุณคล้ายกับอโรมาเธอราพี ช่วยให้อาการคัดจมูกดีขึ้นได้ค่ะ

2. ทารก 1 เดือนเป็นหวัด ผิดปกติไหม?

ทารกมักจะเป็นหวัดบ่อย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังทำงานได้ไม่เต็มที่ แต่ถ้าลูกอายุน้อยกว่า 3 เดือนแล้วเป็นหวัด คุณแม่ต้องรีบพาไปพบแพทย์ เพราะอาจเสี่ยงอันตรายได้เนื่องจากทารกยังเล็กอยู่มาก และระบบภูมิคุ้มกันก็ยังทำงานได้ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์

3. ทารกเป็นหวัดอาบน้ำได้ไหม?

เมื่อลูกเป็นหวัด การเช็ดตัวจะช่วยเปิดรูขุมขน ระบายความร้อน กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดได้ดี ซึ่งเหมาะสำหรับการดูแลทารกที่มีไข้สูง และอ่อนเพลียมาก แต่ในส่วนของทารกที่เป็นหวัด แต่อาการไม่ได้รุนแรง และไม่ได้อ่อนเพลียจนผิดปกติ ก็สามารถอาบน้ำได้ปกติ

ข้อสำคัญคือ ไม่ว่าจะเช็ดตัว หรืออาบน้ำ ก็ไม่ควรใช้น้ำเย็น แต่ควรใช้น้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นจะดีที่สุด

4. ทารกเป็นหวัดหายใจไม่สะดวก อันตรายไหม?

อาการหายใจไม่สะดวกเมื่อทารกเป็นหวัด สามารถพบได้แทบจะเป็นปกติ แต่ในกรณีที่ทารกหายใจไม่ออกติดต่อกันหลายวัน และอาการเป็นหวัดไม่ดีขึ้น หรือทารกมีอายุน้อยกว่า 3 เดือนและมีอาการเป็นหวัด หายใจไม่ออก ควรพาไปพบแพทย์ทันที

5. ลูกเป็นหวัดหายใจแรง ต้องไปหาหมอหรือเปล่า?

อาการหายใจไม่สะดวก หายใจแรง เมื่อทารกเป็นหวัด สามารถพบได้ตามปกติ แต่ถ้าอาการดังกล่าวเป็นติดต่อกันหลายวัน หรือมากกว่า 3 วัน หรือทารกมีอายุน้อยกว่า 3 เดือนและมีอาการเป็นหวัด หายใจแรง ควรพาไปพบแพทย์ทันที



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

ลูกกินแล้วอวกเกิดจากอะไร
pacifier
baby-led-weaning
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner