Enfa สรุปให้
อายุครรภ์ 19 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 6 นิ้ว หนักประมาณ 240 กรัม มีขนาดเท่ากับผลมะม่วงค่ะ
อายุครรภ์ 19 สัปดาห์ ทารกจะมีการดิ้นถี่และบ่อยมากขึ้น ทำให้คุณแม่สามารถสัมผัสถึงการดิ้นของลูกในท้องได้ชัดเจน
อายุครรภ์ 19 สัปดาห์ ทารกเริ่มสร้างไขของทารกในครรภ์ (Vernix Caseosa) ปกคลุมทั่วทั้งร่างกาย ซึ่งไขนี้จะทำหน้าที่เคลือบผิวและปกป้องผิวหนังของทารก
เลือกอ่านตามหัวข้อ
ท้อง 19 สัปดาห์ อีกเพียงไม่กี่วันจากสัปดาห์นี้คุณแม่ก็จะตั้งครรภ์ครบรอบ 5 เดือนแล้วค่ะ ซึ่งถือว่าคุณแม่กำลังจะผ่านพ้นครึ่งแรกของการตั้งครรภ์เข้ามาทุกที่แล้ว
แต่ก่อนจะไปถึงตอนนั้น เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่าท้อง 19 สัปดาห์ ลูกอยู่ตรงไหน แล้วทารกอายุครรภ์ 19 สัปดาห์ จะมีพัฒนาการเป็นอย่างไรกันบ้าง
อายุครรภ์ 19 สัปดาห์ คุณแม่จะเริ่มมีปัญหาเรื่องการนอนมากขึ้น เนื่องจากขนาดหน้าท้องที่ขยายใหญ่ ทำให้นอนในท่าเดิมที่ถนัดไม่ค่อยได้ ทั้งยังรู้สึกปวดหน่วงท้อง และปัสสาวะบ่อยกว่าปกติอีกด้วย
ทารกอายุครรภ์ 19 สัปดาห์ เจริญเติบโตอยู่ในมดลูก และมีพัฒนาการต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยทารกในระยะนี้สามารถที่จะได้ยินเสียงรอบ ๆ ตัว และสามารถสัมผัสถึงแสงจากภายนอกได้ด้วย แม้ว่าเปลือกตาจะยังคงปิดอยู่
ตั้งครรภ์ 19 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือนกันนะ? แม่ท้อง 19 สัปดาห์ อายุครรภ์จะอยู่ที่ 4 เดือน กับอีก 3 สัปดาห์ค่ะ
ทารกอายุครรภ์ 19 สัปดาห์จะดิ้นถี่ขึ้นราวกับพายุ เริ่มมีการตอบสนองต่อแสงและเสียงจากภายนอกรอบ ๆ ตัวได้มากขึ้น
ตั้งครรภ์ 19 สัปดาห์ ขนาดทารกจะหนักเท่าไหร่กันนะ? ทารกในระยะนี้จะมีน้ำหนักประมาณ 240 กรัมค่ะ
ทารกในช่วงสัปดาห์นี้จะดิ้นถี่มากขึ้นกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา คุณแม่ที่ยังไม่สามารถสัมผัสการดิ้นของลูกได้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อาจเริ่มสัมผัสได้ในสัปดาห์นี้ เพราะเจ้าตัวเล็กเริ่มมีการเคลื่อนไหวไปมามากขึ้น และมีการตอบสนองต่อเสียงและสิ่งรอบตัวมากขึ้นด้วยค่ะ
ทารกอายุครรภ์ 19 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 6 นิ้ว หรือมีขนาดเท่ากับผลมะม่วงค่ะ
การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 19 สัปดาห์ มีดังนี้
• ทารกเริ่มสร้างไขของทารกในครรภ์ (Vernix Caseosa) ปกคลุมทั่วทั้งร่างกาย ซึ่งไขนี้จะทำหน้าที่เคลือบผิวและปกป้องผิวหนังของทารก
• จมูก หู และริมฝีปากของทารกมีรูปร่างที่ชัดเจนมากขึ้น และสามารถมองเห็นผ่านการอัลตราซาวนด์
• ทารกเริ่มมีลายนิ้วมือและลายนิ้วเท้า
• ประสาทสัมผัสของทารกทำงานประสานกันได้มากขึ้น ทั้งการตอบสนองต่อกลิ่น รส การได้ยิน การมองเห็น และการสัมผัส
• เซลล์ประสาทมีการเชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อ ประกอบกับกระดูกแขนขาที่ยาวขึ้น ทำให้ทารกสามารถยืดแข้งยืดขาได้และเคลื่อนไหวได้อิสระมากขึ้น
• เส้นผมและขนคิ้วเริ่มยาวขึ้นทีละนิด ๆ
ท้อง 19 สัปดาห์ ขนาดท้องจะนูนออกมาชัดเจน ชนิดที่ใครเห็นก็รู้ได้ค่ะว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์อยู่ นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถพบกับการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ได้อีกหลายอย่าง ดังนี้
• คุณแม่หลายคนเริ่มประสบกับอาการบวม ทั้งบวมน้ำ บวมตามมือ บวมเท้า หรือบวมที่ข้อเท้า ซึ่งอาจเกิดจากฮอร์โมนตั้งครรภ์ทำให้เนื้อเยื่อร่างกายกักเก็บน้ำมากผิดปกติจนมีอาการบวมน้ำ อีกทั้งขนาดของมดลูกที่โตขึ้นจนเริ่มกดดันอวัยวะอื่น ๆ ก็ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดทำได้ไม่ค่อยดี จนมีอาการบวมตามมื้อและเท้าได้ค่ะ
• ขนาดท้องในสัปดาห์นี้จะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าคุณแม่ท้องเล็กในระยะนี้ ก็ไม่ถือว่าผิดปกติค่ะ อาจเป็นเพราะตั้งครรภ์ครั้งแรก ส่วนใหญ่คนที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก ๆ ขนาดท้องมักจะไม่ใหญ่นัก หรือตั้งครรภ์ตอนอายุน้อย หรือท้องสาว ขนาดท้องก็มักจะไม่นูนออกมาอย่างชัดเจนนัก หรือคุณแม่มีผนังหน้าท้องหนา
เช่น ออกกำลังกายมาตลอดตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ทำให้มีผนังท้องหนา ทำให้มดลูกที่ขยายตัวไม่สามารถดันให้หน้าท้องนูนออกมาได้มากนัก และถ้าคุณแม่เป็นคนที่สรีระเล็ก ขนาดหน้าท้องก็มักจะไม่ใหญ่เกินกว่าสรีระของคุณแม่ค่ะ ทั้งนี้ถ้าไปตรวจครรภ์แล้วทารกแข็งแรงปกติ ก็ไม่มีอะไรให้ต้องกังวลค่ะ
• ปกติท้องไตรมาสสองอาจจะยังไม่ได้มีอาการท้องแข็งมากเท่ากับท้องไตรมาสสาม แต่แม่ท้อง 19 สัปดาห์หลายคนอาจจะเริ่มมีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและหายไปเอง การนอนพัก หรือกินยาแก้ปวด สามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้
แต่ถ้าหากมีอาการปวดถี่ขึ้น ปวดมากขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ
• น้ำหนักตัวของคุณแม่ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่คุณแม่จะต้องคอยควบคุมดูแลไม่ให้เกิดตามที่แพทย์แนะนำนะคะ สำหรับอายุครรภ์ 19 สัปดาห์ ยังอยู่ในไตรมาสที่สอง คุณแม่ที่มีค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI ปกติควรจะต้องคอยดูแลน้ำหนักไม่ให้เกิน 5-6 กิโลกรัมค่ะ
แม่ท้อง 19 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ดังนี้
• ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น
• ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น
• โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น
• แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น
• ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น
• โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น
• โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่สามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น
ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง
อาการคนท้อง 19 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้
• ปวดหลัง ปวดสะโพก เพราะน้ำหนักตัวเริ่มมากขึ้น ขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดการกดทับที่บริเวณช่วงหลังหรืออวัยวะช่วงล่าง
• คุณแม่บางคนเริ่มมีรอยแตกลายเกิดขึ้นที่หน้าท้อง หากกังวลว่าจะเป็นรอยที่หายยาก สามารถเริ่มใช้ครีมบำรุงป้องกันรอยแตกลายได้
• เริ่มมีอาการนอนไม่ค่อยหลับ เพราะนอนไม่สบายตัวเนื่องจากมีขนาดท้องที่นูนใหญ่ขึ้น หรือทารกมีการดิ้นบ่อยจนรบกวนการนอนหลับของแม่
• คุณแม่บางคนมีอาการเลือดออกตามไรฟันหรือเหงือกบวม ที่เกิดจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนพุ่งสูงขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพช่องปาก และทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อโรคเหงือกอักเสบได้
• ปวดท้อง หรือปวดหน่วงท้องน้อย เกิดจากการขยายตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นหน้าท้อง เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของลูกน้อย
• คุณแม่มีอาการบวมที่มือหรือเท้า ซึ่งมีสาเหตุมาจากการกดทับของมดลูกที่ขยายตัว ทำให้เลือดไหลเวียนย้อนกลับหัวใจได้ไม่ดี และเกิดการคั่งค้างอยู่ที่อวัยวะส่วนล่าง
• คุณแม่มีอาการตัวบวม หรือบวมน้ำ เกิดจากฮอร์โมนในร่างกายที่พุ่งสูง และส่งผลให้เนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ในร่างกายมีการดูดซึมน้ำและเก็บกักน้ำเอาไว้มากผิดปกติ
จริง ๆ แล้วการอัลตราซาวนด์และการฝากครรภ์ของคุณแม่แต่ละคนนั้นแตกต่างกันค่ะ คุณแม่อาจจะมีตรวจครรภ์ในสัปดาห์นี้ หรือไม่มีนัดก็ได้
ซึ่งสำหรับอายุครรภ์ 19 สัปดาห์นั้น หากคุณแม่เพิ่งรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ก็จำเป็นจะต้องเริ่มฝากครรภ์กันเลยทันทีค่ะ เพื่อที่แพทย์จะได้มีการตรวจครรภ์และทำการอัลตราซาวนด์ดูว่าทารกในครรภ์ปกติไหม
โดยการตรวจครรภ์ จะตรวจดูว่า น้ำคร่ำน้อยหรือมากไปไหม การเคลื่อนไหวทารกเป็นยังไง หัวใจทารกเตนปกติไหม ตำแหน่งรกอยู่ตรงไหน รวมถึงตรวจดูอวัยวะต่าง ๆ ของทารกว่าเป็นปกติหรือไม่ และยังใช้ข้อมูลจากการอัลตราซาวนด์มาใช้ในการคำนวณอายุครรภ์และกำหนดวันคลอดได้อย่างแม่นยำด้วยค่ะ
ส่วนกรณีที่คุณแม่ฝากครรภ์มาตั้งนานแล้ว ก็อาจจะมีนัดกับแพทย์เพื่อมาทำการอัลตราซาวนด์ในสัปดาห์นี้เช่นกันค่ะ โดยอาจจะเป็นการตรวจโดยทั่วไปว่าทารกยังเติบโตเป็นปกติไหม หรือตรวจดูเพศลูกในกรณีที่ยังไม่ได้ทำการอัลตราซาวนด์ดูเพศลูกมาก่อน
อายุครรภ์ 19 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่
และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ
คุณแม่ส่วนใหญ่สามารถรู้สึกถึงการดิ้นของลูกได้อย่างชัดเจนในสัปดาห์นี้ แต่ถ้าไม่รู้สึกเลย ก็ยังเร็วไปที่จะสรุปว่าผิดปกติค่ะ เพราะการที่ลูกไม่ดิ้น อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
• ผนังหน้าท้องของคุณแม่อาจจะหนาจนสัมผัสการดิ้นของทารกได้ยาก
• ช่วงที่ทารกดิ้นอาจทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มีการเคลื่อนไหว จึงทำให้ไม่รู้สึก
• ตอนที่ทารกดิ้น คุณแม่นอนหลับ ตอนที่คุณแม่ตื่น ทารกหลับ ช่วงเวลาที่ลูกดิ้นจึงคลาดเคลื่อนไปจากการรับรู้ของคุณแม่
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ยังไม่ต้องคิดมากค่ะ หากอัลตราซาวนด์แล้วพบว่าทารกยังมีหัวใจเต้นตามปกติ และยังสามารถเคลื่อนไหวตามปกติ ก็ยังไม่มีอะไรต้องกังวล และอาจจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นมากขึ้นในสัปดาห์ถัดไปก็ได้ค่ะ
อาการท้องแข็งบางครั้งอาจจะพบได้ตลอดการตั้งครรภ์ แต่จะพบได้บ่อยจนเป็นปกติในช่วงไตรมาสที่สาม หรืออาจพบได้เร็วหน่อยตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสสองของการตั้งครรภ์
ซึ่งถ้าอาการท้องแข็งนี้ปวดไม่บ่อย ปวดแล้วหายเองได้ ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล แต่ถ้าหากพบว่ามีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสอง และอาการปวดนั้นถี่ขึ้น ปวดแรงขึ้น และอาการปวดไม่ลดลง
คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรือมีภาวะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ
นอกจากนี้สำหรับแม่ที่สังเกตว่ามีอาการปวดท้องรุนแรง และอาการปวดท้องไม่ทุเลาลงเลย หรือสังเกตว่ามีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยว่าอาการดังกล่าวเกิดจากอะไร และเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป เพราะถ้าหากปล่อยไว้แล้วมีสาเหตุมาจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะแท้งคุกคาม ครรภ์เป็นพิษ หรือเสี่ยงต่อการแท้ง จะส่งผลเสียต่อแม่และทารกในครรภ์ได้ค่ะ
คุณแม่อายุครรภ์ 19 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด
ภาวะแท้งคุกคาม (Threatened Abortion) คือ ความผิดปกติของการตั้งครรภ์ ที่สามารถพบได้ในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยแม่ที่มีภาวะแท้งคุกคามจะมีเลือดออกทางช่องคลอดในขณะที่ปากมดลูกยังไม่เปิด ซึ่งเลือดที่ไหลออกมานั้นอาจเป็นเลือดสีสด มูกเลือด หรือเลือดสีน้ำตาลก็ได้ ทั้งนี้ ภาวะแท้งคุกคาม เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น
• โครโมโซมผิดปกติ
•
ทารกพิการตั้งแต่ในครรภ์
• มดลูกและโพรงมดลูกผิดปกติ
• การได้รับยาหรือสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย
•
มีประวัติการแท้งบุตรมาก่อน
• ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก
• แม่ท้องมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
ภาวะแท้งคุกคาม จำเป็นจะต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพราะถือว่าเป็นภาวะการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ และเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้ ดังนั้น หากมีเลือดออกในขณะตั้งครรภ์ ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุว่าอาการเลือดออกนั้นมีที่มาจากอะไรกันแน่ ในกรณีที่เป็นสัญญาณของความผิดปกติ แพทย์จะได้ทำการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป
คนท้องสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ทุกช่วงอายุครรภ์ค่ะ แต่เมื่อขนาดครรภ์ใหญ่ขึ้นท่าเซ็กซ์ควรจะลดความผาดโผนลง เพื่อลดความเสี่ยงของการกระทบกระเทือนกับครรภ์
พยายามให้คุณแม่เป็นฝ่ายควบคุมจังหวะอยู่ด้านบนด้วยตนเอง หรือท่าเซ็กซ์ในลักษณะที่นอนราบด้วยกันทั้งคู่ หรือมีการสอดใส่จากด้านหลัง หรือมีเซ็กซ์ในท่ายืน พยายามหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในลักษณะที่เสี่ยงจะกระทบกระเทือนกับหน้าท้องเป็นดีที่สุด
มากไปกว่านั้น ความรุนแรง พุ่งโหน โจนทะยานใด ๆ ที่เคยปฏิบัติกันมา ก็ขอให้ลดลง และกระทำกันด้วยความนุ่มนวล เพื่อป้องกันไม่ให้มีเลือดออก หรือเกิดการฉีกขาดของช่องคลอด และลดแรงกระแทกที่อาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์ได้ค่ะ
การฉีดวัคซีนสำหรับคนท้องนั้นโดยมากแล้วสามารถทำได้และปลอดภัยค่ะ ซึ่งการเข้ารับวัคซีนตามที่แพทย์แนะนำก็จะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ในขณะตั้งครรภ์ได้ โดยวัคซีนที่แม่ท้องควรได้รับ มีดังนี้
• วัคซีนไข้หวัดใหญ่ โรคไข้หวัดใหญ่นั้นค่อนข้างที่จะส่งผลเสียต่อคนท้องมากกว่าคนทั่วไป เพราะอาจเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ในขณะตั้งครรภ์ได้ เช่น ปอดอักเสบ ดังนั้น การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจากแม่สู่ลูก ทั้งยังป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ในขณะตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งโดยมากแล้วมักจะฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เมื่อมีอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป
• วัคซีนป้องกันบาดทะยัก ถามว่าทำไมต้องฉีด นั่นเป็นเพราะว่าในช่วงการคลอดนั้น คุณแม่จำเป็นจะต้องมีการผ่าตัด หรือเกิดแผลในขณะคลอด ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคบาดทะยักได้ การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันบาดทะยักจึงช่วยลดความเสี่ยงของโรคบาดทะยักลง และยังช่วยให้ทารกในครรภ์มีภูมิคุ้มกันโรคบาดทะยักตั้งแต่แรกเกิดด้วย โดยวัคซีนบาดทะยักจะเริ่มฉีดเข็มแรกในเดือนที่ 1 ฉีดเข็มที่ 2 ในเดือนที่ 6 และฉีดเข็มที่ 3 หลังคลอด
• วัคซีนโควิด แม้ว่าในปัจจุบันนี้โรคโควิดจะเบาบางลงไปมากแล้วก็ตาม แต่สำหรับคนท้องซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย โรคโควิดในคนท้องจึงอาจส่งผลเสียต่อแม่และทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น การไปรับไปวัคซีนโควิดก็จะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงลงและช่วยส่งต่อภูมิคุ้มกันไปยังทารกในครรภ์ด้วย โดยคุณแม่สามารถรับวัคซีนโควิดได้เมื่อมีอายุครรภ์ครบ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป
• วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นการเสริมภูมิคุ้มกันให้แม่และทารก เนื่องจากโรคเหล่านี้สามารถติดเชื้อถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้ โดยจะฉีดเมื่ออายุครรภ์ระหว่าง 27 – 36 สัปดาห์
• วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ซึ่งอาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนด หรือเสี่ยงต่อการตกเลือดได้
อาการปวดท้องในขณะตั้งครรภ์ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุค่ะ ไม่ว่าจะเป็น
• กินอาหารมากเกินไป
•
การขยายตัวของมดลูกและเส้นเอ็นที่อยู่รอบ ๆ มดลูก
• มีอาการท้องผูก
ท้องอืด
• มีอาการกรดไหลย้อน
อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดท้องไม่ดีขึ้นเลย หรือปวดท้องติดต่อกันตั้งแต่ 1-3 วันขึ้นไป ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม
การเริ่มต้นเสริมพัฒนาการของลูกน้อยให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงและสมวัยนั้น หลายคนอาจจะเข้าใจว่าให้เริ่มตอนที่ลูกเริ่มรู้ความ เริ่มอ่านออกและเขียนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วการเสริมพัฒนาการของลูกนั้นควรเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 วันแรกค่ะ ช่วงเวลา 1,000 วันของลูกน้อย สามารถแยกออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่
• ช่วงที่ 1: ตั้งครรภ์ (270 วัน)
• ช่วงที่
2: วัยแรกเกิด – 6 เดือน (180 วัน)
• ช่วงที่ 3: วัย 6 เดือน – 2 ปี (550 วัน)
ตลอดระยะเวลา 1,000 วัน คุณแม่จะต้องใส่ใจกับการดูแลตนเองและลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องจนกระทั่งลืมตาออกมาดูโลก หมั่นฟูมฟักทั้งโภชนาการที่มีประโยชน์ ปลูกฝังอารมณ์ สภาพจิตใจ ความรัก ความอบอุ่น รวมทั้งการเสริมสร้างพัฒนาการด้วยการเล่น การพูดคุย เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่สมบูรณ์ สมวัย และมีสุขภาพที่ดี พร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในทุก ๆ วัน โดยเฉพาะเรื่องของโภชนาการที่คุณแม่ควรจะเริ่มกินอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือเริ่มตั้งแต่วางแผนจะตั้งครรภ์ ไปจนกระทั่งตั้งครรภ์ คลอดลูก และให้นมบุตร
เมื่อคุณแม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ ทารกในครรภ์ก็จะได้รับสารอาหารเหล่านั้นด้วย การปูพื้นฐานเรื่องโภชนาการนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่พัฒนาการด้านอื่น ๆ เพราะเมื่อทารกแข็งแรง มีสุขภาพดี ก็พร้อมสำหรับการเรียนรู้ที่ไม่สะดุดและต่อเนื่องไปตามวัย
อายุครรภ์ 19 สัปดาห์ ทารกจะดิ้นถี่และดิ้นแรงมากขึ้น เวลาที่คุณแม่จับที่ท้อง อาจสามารถสัมผัสถึงการดิ้นของทารกได้บ่อย ๆ ค่ะ แต่จะดิ้นมากหรือน้อยนั้น ไม่สามารถวัดจำนวนที่แน่นอนได้ค่ะ เพราะทารกแต่ละคนดิ้นไม่เท่ากันในแต่ละวัน
ขนาดท้องของคุณแม่ 19 สัปดาห์ แม้จะไม่ได้ใหญ่เบิ้มเหมือนคนท้องไตรมาสสาม แต่ท้อง 4 เดือนกว่า ๆ นี้ก็นูนออกมามากพอที่คนทั่วไปจะสามารถรับรู้ได้โดยดุษฎีว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ ส่วนคุณแม่ที่ท้องครั้งที่ 2 หรือ 3 เป็นไปได้ว่าอาจจะมีขนาดหน้าท้องใหญ่กว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรกค่ะ
ท้อง 4 เดือนกว่า ๆ แล้ว แต่ท้องยังเล็กอยู่ เป็นเรื่องปกติที่พบได้ค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณแม่เป็นคนตัวเล็ก หรือท้องครั้งแรก หรือท้องตอนอายุน้อย หรือมีผนังหน้าท้องหนา ก็อาจจะมีท้องเล็กได้ค่ะ
มากไปกว่านั้น เรื่องท้องเล็กหรือท้องใหญ่ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ควรกังวลค่ะ ตราบเท่าที่ผลการตรวจครรภ์และอัลตราซาวนด์ออกมาว่าทารกในครรภ์เติบโตปกติ มีพัฒนาการครบถ้วนตามวัย ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลค่ะ
หากคุณแม่มีอาการปวดหลัง สามารถบรรเทาอาการปวดหลังได้ง่าย ๆ ดังนี้
• หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัวแทน
• พยายามเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายบ้าง เช่น การเดิน ปั่นจักรบาน โยคะ เพื่อช่วยยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ
• เวลานอนให้ใช้หมอนรองที่หว่างขา หรือเอว หรือหลัง เพื่อลดแรงกดทับที่หลัง
• ปรับเปลี่ยนอริยาบถให้เหมาะสม ไม่นั่งท่าเดิมนาน ๆ เปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ นั่งหลังตรง ไม่นั่งหลังงอ เพราะจะทำให้อาการปวดหลังแย่ลงได้
• ทาครีมยาบรรเทาอาการปวดหลัง
• ไปนวดกับแพทย์แผนไทยที่เชี่ยวชาญการนวดคนท้อง และควรแจ้งกับคนนวดทุกครั้งว่ากำลังตั้งครรภ์
• กินยาบรรเทาอาการปวดตามที่แพทย์แนะนำ
Enfa สรุปให้ อายุครรภ์ 17 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 5 – 5.1 นิ้ว มีน้ำหนักประมา...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ ทารกจะมีขนาดยาวประมาณ 5.6 นิ้ว หนักประมาณ 190 - 1...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 7 นิ้ว หนักประมาณ 300 - 310...
อ่านต่อ