ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 3 สัปดาห์ อายุครรภ์ 3 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 3 สัปดาห์ อายุครรภ์ 3 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

 

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 3 สัปดาห์ เป็นระยะที่อสุจิกับไข่จะเกิดการปฏิสนธิและย้ายออกจากท่อนำไข่ไปฝังตัวอ่อนที่มดลูก ในทางการแพทย์จะถือว่าช่วงอายุครรภ์ 3 สัปดาห์นี้เป็นการตั้งครรภ์อย่างเป็นทางการ
  • ตัวอ่อนอายุครรภ์ 3 สัปดาห์ มีขนาดเล็กเท่าปลายเข็มหมุด แต่เริ่มมีการแบ่งเซลล์และสร้างรก สายสะดือ น้ำคร่ำ และเซลล์สำหรับอวัยวะต่าง ๆ รกจะเริ่มปล่อยฮอร์โมน HCG ออกมามากขึ้น
  • อาการคนท้อง 3 สัปดาห์ ส่วนมากแล้วจะยังไม่พบอาการใด ๆ แต่ก็มีคุณแม่บางคนที่อาจพบว่ามีเลือดออกกะปริบกะปรอย ซึ่งเกิดจากการฝังตัวอ่อนในมดลูก หรือเรียกว่าเลือดล้างหน้าเด็ก

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • อายุครรภ์ 3 สัปดาห์ นับอย่างไร
     • ท้อง 3 สัปดาห์ ตรวจเจอไหม
     • อาการคนท้อง 3 สัปดาห์เป็นแบบนี้
     • ท้อง 3 สัปดาห์ใหญ่แค่ไหน
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์
     • พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ 3 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 3 สัปดาห์ 
     • คำแนะนำสำหรับคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์

ไชโย ไชโย มาร่วมไชโย ต้อนรับเบบี๋คนใหม่! ใช่แล้วค่ะ อายุครรภ์ 3 สัปดาห์ ในทางการแพทย์ถือว่าคุณแม่ได้ตั้งครรภ์อย่างเป็นทางการ สองมือล้วงกระเป๋า สองก้าวเท้าเข้าสู่ด้อมมัมหมี เป็นคุณแม่เต็มตัว

แต่ว่า...ท้อง 3 สัปดาห์จะตรวจเจอหรือยัง? อาการคนท้อง 3 สัปดาห์มีอะไรบ้าง? ถ้าไปอัลตราซาวนด์ตอนนี้จะเห็นเจ้าตัวเล็กไหมนะ? ไปหาคำตอบพร้อมกันกับ Enfa ได้เลยค่ะ

อายุครรภ์ 3 สัปดาห์ นับอย่างไร


ในทางการแพทย์แล้วอายุครรภ์จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด ซึ่งนั่นหมายความว่า ในวันที่คุณแม่ประจำเดือนขาดและตรวจพบว่าตั้งครรภ์ ขณะนั้นคุณแม่ถือว่าได้ตั้งครรภ์ไปแล้ว 4 - 5 สัปดาห์ โดยการนับอายุครรภ์แบบนี้ในทางการแพทย์ถือว่าสามารถคาดการณ์กำหนดคลอดได้แม่นยำมากกว่าค่ะ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะทำให้ช่วง 2 สัปดาห์แรกนั้นจะยังไม่ถือว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นค่ะ เพราะหากนับจากวันสุดท้ายของประจำเดือนครั้งล่าสุดหมดไปจนครบ 2 สัปดาห์ ร่างกายของผู้หญิงจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการตกไข่ของรอบเดือนนั้น ๆ

ดังนั้น ท้อง 3 สัปดาห์ จึงเป็นช่วงหลังจากการตกไข่ และเป็นช่วงที่เกิดการปฏิสนธิ มีการฝังตัวอ่อนลงในมดลูก ซึ่งถือได้ว่าอายุครรภ์ 3 สัปดาห์นี่แหละค่ะคือการตัดริบบิ้นตั้งท้องแล้วอย่างเป็นทางการ

จะรู้ได้ยังไงว่าท้อง 3 สัปดาห์

อายุครรภ์ 3 สัปดาห์นี้ ถือว่ายังเร็วไปที่จะตรวจพบการตั้งครรภ์ค่ะ เพราะผลอาจจะมีการคลาดเคลื่อนได้ ควรรอจนประจำเดือนขาด หรือช่วงอายุครรภ์ 4 สัปดาห์ขึ้นไปถึงจะได้ผลการตรวจครรภ์ที่แม่นยำ

อายุครรภ์ 3 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

อายุครรภ์ 3 สัปดาห์นี้ ยังไม่ครบเดือนเลยค่ะ และกว่าจะตรวจพบว่าตั้งครรภ์ โดยมากในทางการแพทย์ก็จะมีอายุครรภ์ครบ 1 เดือนหรือเกิน 4 สัปดาห์ไปแล้ว

ท้อง 3 สัปดาห์ตรวจเจอไหม


ในเมื่ออายุครรภ์ 3 สัปดาห์ถือเป็นการตั้งครรภ์ แล้วแบบนี้ ตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์ตรวจเจอไหม?

การตรวจครรภ์ตอนอายุครรภ์ 3 สัปดาห์ หรือช่วงที่ตัวอ่อนเพิ่งจะฝังตัวในมดลูกชนิดที่ว่าตดยังไม่ทันหายเหม็นเนี่ย ถือว่ามีโอกาสคลาดเคลื่อนสูงค่ะ เพราะถึงแม้จะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจริง แต่ฮอร์โมนการตั้งครรภ์อาจจะยังไม่มากพอที่จะตรวจพบการตั้งครรภ์ได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับว่าที่คุณแม่ใจร้อน ระยะเวลาเร็วที่สุดที่จะตรวจพบการตั้งครรภ์ได้คือหลังจากวันไข่ตกไปประมาณ 10-12 วันค่ะ แต่ดีที่สุดและแม่นยำสูง ควรรอตรวจครรภ์หลังจากประจำเดือนขาดจะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำกว่า

อาการคนท้อง 3 สัปดาห์เป็นแบบนี้


แม้ว่าไข่กับอสุจิจะเพิ่งปฏิสนธิและเพิ่งจะฝังตัวในมดลูกได้ไม่นาน แต่ว่าคุณแม่หลายคนก็สามารถจับสังเกตได้ถึงอาการคนท้องได้บ้างแล้วเหมือนกัน โดยกลุ่มอาการตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์ที่คุณแม่อาจจะสามารถพบได้ มีดังนี้

     • มีเลือดออกกะปริบกะปรอย หรือที่เรียกว่าเลือดล้างหน้าเด็ก ซึ่งเป็นเลือดที่เกิดจากการฝังตัวอ่อนลงในมดลูก

     • คัดตึงเต้านม เจ็บหัวนม เนื่องจากความผันผวนของฮอร์โมนในร่างกาย

     • วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ เมื่อร่างกายเริ่มสร้างฮอร์โมนตั้งครรภ์หรือ HCG ระดับของฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลทำให้วิงเวียนศีรษะ และอาเจียนได้

อย่างไรก็ตาม ส่วนมากแล้วคุณแม่แทบจะไม่มีอาการใด ๆ ที่แสดงออกในช่วงนี้อย่างชัดเจนจนรู้สึกได้ขนาดนั้นหรอกค่ะ เพราะอาการคนท้องกว่าจะเริ่มแสดงออกมาให้สังเกตได้ก็เมื่ออายุครรภ์สัปดาห์ที่ 6 เป็นต้นไป

ท้อง 3 สัปดาห์ ใหญ่แค่ไหน


โอ๊ย ยังเร็วไปค่ะที่จะมาวัดขนาดหน้าท้องกันเอาตอนนี้ เพราะในกระบวนการตั้งครรภ์จริง ๆ แล้วเนี่ย กว่าที่ทารกในครรภ์และมดลูกจะขยายใหญ่จนท้องนูนออกมาให้เห็นได้ชัดนั้นก็ล่วงเข้าไปถึงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์แล้วค่ะ

ดังนั้น ในช่วงอายุครรภ์ 3 สัปดาห์นี้ถ้าหากคุณแม่ไม่ได้กินเยอะจนพุงป่อง ขนาดหน้าท้องก็ไม่สามารถที่จะใหญ่เกินกว่าที่เป็นอยู่ไปได้ค่ะ

เข้าใจร่างกายของคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์


โดยมากแล้วอายุครรภ์สัปดาห์ที่ 3 นี้คุณแม่แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ของร่างกายเลยค่ะ เพราะตัวอ่อนเพิ่งจะมีการปฏิสนธิและฝังตัวในมดลูกไม่กี่วันนี้เอง

ดังนั้น จึงจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อสภาวะร่างกายของคุณแม่เท่าไหร่นัก หรือต่อให้มีบ้าง ก็เล็กน้อยจนแทบไม่ได้สังเกต เพราะส่วนมากแล้วช่วงอายุครรภ์ 3 สัปดาห์นี้จะยังไม่มีอาการคนท้องออกมาชัดเจนขนาดนั้นค่ะ

อย่างไรก็ตาม คุณแม่บางคนอาจเริ่มพบกับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายบางอย่าง เช่น มีเลือดออกกะปริบกะปรอย คัดตึงเต้านม วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ ท้องอืด อารมณ์แปรปรวน

พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ 3 สัปดาห์


อายุครรภ์ 3 สัปดาห์ ลูกน้อยเพิ่งจะมีการปฏิสนธิเป็นเซลล์ตัวอ่อนที่มีขนาดเล็กมาก ๆ และเริ่มแบ่งเซลล์สำหรับที่จะใช้สำหรับสร้างรก สายสะดือ น้ำคร่ำ และเซลล์อวัยวะอื่น ๆ

ขนาดของทารกในครรภ์ 3 สัปดาห์

ตัวอ่อนที่เกิดการปฏิสนธิและฝังตัวลงในมดลูกในช่วงอายุครรภ์ 3 สัปดาห์นี้ มีขนาดที่เล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งเมื่อเทียบกับเม็ดทรายที่มีขนาดเล็กมาก ๆ แล้ว ตัวอ่อนในระยะนี้ก็ยังมีขนาดที่เล็กกว่ามากค่ะ

ลูกน้อยของคุณแม่กำลังทำอะไรอยู่นะ

ลูกน้อยในอายุครรภ์ 3 สัปดาห์นี้ยังเป็นตัวอ่อนที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ค่ะ อาจเล็กเท่ากับปลายเข็มหมุดเท่านั้นเอง และตัวอ่อนระยะนี้ก็เริ่มที่จะทำการแบ่งเซลล์ออกมาเพื่อที่จะใช้สร้างอวัยวะต่าง ๆ ต่อไป

อาหารคนท้อง 3 สัปดาห์


อาการคนท้อง 3 สัปดาห์นั้นแทบจะไม่มีเลยค่ะ เพราะเพิ่งจะมีการปฏิสนธิและเริ่มฝังตัวอ่อน จึงยังไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและอารมณ์ใด ๆ อย่างเด่นชัด คุณแม่ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามีความผิดปกติใด ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม อาจมีคุณแม่บางคนที่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงในช่วงอายุครรภ์ 3 สัปดาห์ เช่น

     • มีเลือดออกเล็กน้อย ไหลออกมาเพียงกะปริบกะปรอย
     • มีอาการคัดตึงเต้านม เจ็บเสียวที่หัวนม
     • มีอาการท้องอืด แน่นท้อง
     • มีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้

ซึ่งสำหรับผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ แม้จะยังไม่แน่ใจว่าหลังจากวันไข่ตกแล้วจะมีการปฏิสนธิเกิดขึ้นหรือไม่ แต่การใส่ใจกับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์นั้นสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องรอให้ตั้งท้องก่อน

สารอาหารสำคัญจำพวกดีเอชเอ กรดโฟลิก โคลีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม โอเมก้า 3 คุณแม่สามารถเริ่มเสริมสะสมเข้าสู่ร่างกายได้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ สารอาหารเหล่านี้จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง มีภาวะเจริญพันธุ์ที่สมบูรณ์ เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ และลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อตั้งครรภ์แล้ว

โดยสารอาหารเหล่านี้สามารถพบได้ในอาหารทั่วไปในแต่ละวันนี่เองค่ะ ทั้งผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ธัญพืชต่าง ๆ ทั้งยังสามารถเสริมด้วยการดื่มนมสำหรับคนท้องที่อุดมไปด้วยสารอาหารจำเป็นต่อสุขภาพอย่างกรดโฟลิก ดีเอชเอ แคลเซียม และธาตุเหล็ก ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คุณแม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอในแต่ละวัน

Enfamama TAP No. 1

คำแนะนำสำหรับคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์


ช่วงอายุครรภ์ 3 สัปดาห์ ถือว่าเป็นช่วงลุ้นใจหายใจคว่ำ ว่าจะท้องหรือไม่ท้อง แต่คุณแม่ไม่ควรที่จะลุ้นมากเกินไปจนกระทั่งกลายเป็นความเครียดนะคะ เพราะทันทีที่เริ่มเครียด ก็จะส่งผลต่อสุขภาพ และยังส่งผลกระทบต่อตัวอ่อนที่เพิ่งจะปฏิสนธิด้วย

ทางที่ดีคุณแม่ควรเริ่มที่จะดูแลตัวเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย ลดความเครียด งดแอลกอฮอล์ บุหรี่ และสารเสพติด เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมร่างกายให้แข็งแรง และเสริมสร้างสุขภาพการตั้งครรภ์ที่แข็งแรง

หรือจะเริ่มหาข้อมูลจำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ สิทธิประโยชน์สำหรับการตั้งครรภ์ โรงพยาบาลใกล้บ้าน แพทย์ที่ต้องการจะฝากครรภ์ด้วย เพื่อที่ว่าถ้าผลออกมาว่าตั้งครรภ์จริง คุณแม่จะได้เริ่มขั้นตอนต่อไปหลังการตรวจครรภ์ได้ทันที ไม่ต้องมาพะวงหน้าพะวงหลังว่าควรจะทำอะไรต่อไป เตรียมไว้ให้พร้อมก่อนล่วงหน้า ไม่เสียหายค่ะ

อัลตราซาวนด์ได้เมื่อไหร่

ท้อง 3 สัปดาห์อัลตราซาวนด์ได้ไหม? ก็ในเมื่ออายุครรภ์ 3 สัปดาห์ถือว่าได้ตั้งครรภ์โดยสมบูรณ์แล้วนี่

ใจเย็น ๆ ค่ะคุณแม่ เอาอย่างนี้ก่อนนะคะ คือถ้าพูดถึงในแง่ของการอัลตราซาวนด์เนี่ย หากเป็นการตรวจสุขภาพโดยทั่วไป ก็ถือว่าทำได้ตลอดทุกช่วงค่ะ แต่ถ้าหากถามว่าท้อง 3 สัปดาห์ ตรวจอัลตราซาวนด์แล้วจะเจออะไร ก็ให้คุณแม่นึกถึงเม็ดทรายขึ้นมาในหัวก่อนเลยค่ะ มันเล็กมากใช่ไหมคะ?

ที่ต้องพูดกันแบบนี้ก็เป็นเพราะว่าตัวอ่อนที่เพิ่งจะฝังตัวในมดลูกเนี่ย มีขนาดเล็กมาก ๆ ค่ะ เล็กกว่าเม็ดทรายเสียด้วยซ้ำไป ดังนั้น ต่อให้จะตั้งครรภ์จริง ๆ แต่ว่าอัลตราซาวนด์เร็วเกินไป ก็ยังไม่สามารถมองเห็นตัวอ่อนได้ค่ะ

ปวดท้อง มีเลือดออก

ท้อง 3 สัปดาห์มีเลือดออก ถือว่าเป็นอาการโดยทั่วไปที่พบได้ในแม่ท้องหลาย ๆ คนค่ะ โดยคนท้อง 3 สัปดาห์ ปวดท้อง และมีเลือดออกกะปริบกะปรอยนั้น เป็นผลมาจากการฝังตัวอ่อนลงในมดลูก ซึ่งขณะฝังตัวลงในผนังมดลูกนั้นอาจไปชนเข้ากับเส้นเลือดฝอยจำนวนมาก

จึงส่งผลให้มีเลือดไหลออกมาเล็กน้อย ซึ่งเลือดในระยะนี้จะเรียกว่าเลือดล้างหน้าเด็ก โดยบางครั้งก็อาจจะมีอาการปวดท้องร่วมด้วย แต่ก็เพียงเล็กน้อย ไม่ถึงกับปวดจนทรมานค่ะ

เรียนรู้วิธีดูแลตัวเองเมื่อตั้งครรภ์ไตรมาสแรก

การตั้งครรภ์ไตรมาสแรกนี้ ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญค่ะ ถ้าหากคุณแม่มีสุขภาพที่แข็งแรง ความเสี่ยงของการแท้งตั้งแต่ไตรมาสแรกก็จะน้อยลง ตัวอ่อนมีโอกาสที่จะเติบโตเป็นทารกที่สมบูรณ์ต่อไป

ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องที่ดีที่คุณแม่จะเริ่มดูแลตัวเองทันทีเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่สมบูรณ์และแข็งแรง พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ที่แข็งแรง ดังนี้

          • ไปฝากครรภ์ ควรทำทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ เพื่อที่แพทย์จะได้คอยตรวจความผิดปกติของครรภ์และให้คำแนะนำที่เหมาะสมในการดูแลตัวเองตลอดการตั้งครรภ์จนกระทั่งวันคลอด

          • ใส่ใจกับอาหารการกิน หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย ครบทั้ง 5 หมู่ ประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ธัญพืชต่าง ๆ หรือจะดื่มนมเสริมด้วยก็ดีต่อสุขภาพเช่นกัน

          • วิตามินตั้งครรภ์ ถือว่าสำคัญอย่างยิ่งสำหรับแม่ท้อง เพราะวิตามินคนท้องจะช่วยเสริมร่างกายคุณแม่และทารกให้สมบูรณ์แข็งแรง รวมทั้งลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ด้วย

          • ระวังความเครียด เพราะสารชีวเคมีที่เกิดจากความเครียดอาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ได้ เช่น เสี่ยงต่อการแท้ง เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด

          • นอนหลับให้เพียงพอ คุณแม่ควรเริ่มสร้างนิสัยการนอนที่ดีตั้งแต่ไตรมาสแรก เพราะถ้ายังนอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ เมื่อเข้าสู่ไตรมาสสอง ไตรมาสสาม สุขภาพคุณแม่อาจทรุดลงได้ เนื่องจากพักผ่อนไม่เพียงพอสะสมเป็นเวลานาน

          • งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด เพราะสิ่งเหล่านี้นอกจากจะมีผลต่อภาวะการเจริญพันธุ์แล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์อีกด้วย



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

first-trimester-of-pregnancy
เบิกค่าฝากครรภ์ ประกันสังคม ทำยังไง เบิกออนไลน์ได้ไหม
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner