Enfa สรุปให้
อายุครรภ์ 5 สัปดาห์ เป็นช่วงที่คุณแม่เริ่มมีอาการคนท้องชัดเจนมากขึ้น เริ่มสังเกตว่าประจำเดือนขาด หากตรวจครรภ์ช่วงนี้ก็มักจะพบกับข่าวดีว่ากำลังตั้งครรภ์
อายุครรภ์ 5 สัปดาห์ ทารกยังเป็นตัวอ่อนขนาดเท่าเมล็ดสตรอว์เบอร์รี แต่เริ่มมีพัฒนาการสร้างเซลล์อวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ ปอด ตับ ไต เล็บมือ เล็บเท้า เส้นขน เป็นต้น
อายุครรภ์ 5 สัปดาห์ ระดับฮอร์โมนตั้งครรภ์หรือ HCG จะค่อย ๆ พุ่งสูงขึ้น จึงอาจทำให้คุณแม่หลายคนเริ่มมีอาการแพ้ท้องและอาการคนท้องอื่น ๆ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
ท้อง 5 สัปดาห์ ถือว่าเป็นระยะที่สัญญาณการตั้งครรภ์ค่อนข้างที่จะชัดเจนมาก ทั้งอาการคนท้องและพัฒนาการของทารกในครรภ์
บทความนี้จาก Enfa จะพาคุณแม่มาดูกันค่ะว่าอายุครรภ์ 5 สัปดาห์ คุณแม่จะพบความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง แล้วทารกในครรภ์เติบโตไปมากแค่ไหนแล้ว
อายุครรภ์ 5 สัปดาห์ ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญที่คุณแม่หลายคนตั้งตารอคอยค่ะ เพราะช่วงเวลานี้แหละที่คุณแม่เริ่มพบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์
ในทางการแพทย์แล้วอายุครรภ์จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด ซึ่งนั่นหมายความว่า ในวันที่คุณแม่ประจำเดือนขาดในเดือนถัดมา และตรวจพบว่าตั้งครรภ์ ขณะนั้นคุณแม่ถือว่าได้ตั้งครรภ์ไปแล้ว 4-5 สัปดาห์ โดยการนับอายุครรภ์แบบนี้ในทางการแพทย์ถือว่าสามารถคาดการณ์กำหนดคลอดได้แม่นยำมากกว่าค่ะ
และโดยมากแล้วคุณแม่มักจะตรวจพบว่าตั้งท้องเมื่อมีอายุครรภ์ได้ 5 สัปดาห์นี่แหละค่ะ เนื่องจากเป็นช่วงที่คุณแม่หลายคนเริ่มมีสัญญาณของประจำเดือนขาด หรือเริ่มมีอาการแพ้ท้องปรากฎออกมาให้เห็น
อายุครรภ์ 5 สัปดาห์ เมื่อเทียบเป็นจำนวนเดือน จะเท่ากับ 1 เดือน กับอีก 1 สัปดาห์ ถือเป็นการก้าวเข้าสู่เดือนที่ 2 ของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม โดยมากแล้วแพทย์จะนิยมนับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์มากกว่าการนับเป็นเดือนเพราะสะดวกและแม่นยำมากกว่า
หากอายุครรภ์ 4 สัปดาห์คุณแม่เริ่มตรวจพบการตั้งครรภ์แล้ว ขอบอกเลยว่าอายุครรภ์ 5 สัปดาห์ ยิ่งทวีผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้นค่ะ เพราะเป็นจังหวะเวลาที่หลายคนเริ่มจับสังเกตได้แล้วว่าประจำเดือนขาด ประจำเดือนไม่มา ซึ่งนี่ถือเป็นสัญญาณแรกสุดของการตั้งครรภ์
โดยทันทีที่รู้ตัวว่าประจำเดือนขาดไป ให้ทำการตรวจครรภ์ หากผลกออกมาว่าตั้งครรภ์ คุณแม่ควรรีบไปฝากครรภ์ทันที เพื่อเริ่มติดตามการตั้งครรภ์ ตลอดจนการดูแลตนเองและลูกน้อยในครรภ์ให้แข็งแรงและปลอดภัยไปจนกระทั่งวันคลอด
คุณแม่หลายคนจะเริ่มรู้สึกถึงอาการคนท้องได้เมื่ออายุครรภ์ครบ 5 สัปดาห์ค่ะ โดยอาการคนท้อง 5 สัปดาห์ที่อาจพบได้ มีดังนี้
• ประจำเดือนขาด ถือเป็นอาการแรกสุดของคนท้องที่บ่งบอกว่าคุณแม่อาจกำลังตั้งครรภ์ ให้ทำการตรวจครรภ์เพื่อดูผล และไปฝากครรภ์หากว่าตั้งครรภ์จริง
• อาการแพ้ท้อง คุณแม่หลายคนเริ่มมีอาการแพ้ท้องในช่วงนี้ ซึ่งความรุนแรงของอาการนั้นจะแตกต่างกัน อาจมีอาการแพ้ท้องรุนแรง อาการแพ้ท้องนิดหน่อย หรือไม่มีอาการแพ้ท้องเลยก็ได้
• เจ็บคัดตึงเต้านม เจ็บหัวนม ระดับฮอร์โมนที่พุ่งสูงขึ้น มีผลทำให้คุณแม่รู้สึกคัดและตึงที่เต้านม เวลาสัมผัสที่หัวนมจะรู้สึกเจ็บหรือเสียว
• อ่อนเพลีย ความผันผวนของฮอร์โมนในร่างกายขณะตั้งครรภ์ มีอ่อนทำให้เกิดความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย รู้สึกวิงเวียน ศีรษะหรือหน้ามืดได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนที่เริ่มมีอาการคนท้องปรากฎออกมา คุณแม่บางคนไม่มีอาการหรือสัญญาณการตั้งครรภ์ใด ๆ เลยในช่วงอายุครรภ์ 5 สัปดาห์
โดยทั่วไปแล้วมักจะยังไม่มีการอัลตราซาวนด์กันตั้งแต่ช่วงต้นของการตั้งครรภ์ค่ะ เว้นเสียแต่ว่าคุณแม่มีการติดตามการตั้งครรภ์ตลอด และต้องการที่จะคอนเฟิร์มว่าตั้งครรภ์จริง อยากเห็นว่าตัวอ่อนปกติไหม ก็สามารถไปเข้ารับการอัลตราซาวนด์ได้
ซึ่งคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 5 สัปดาห์ อัลตราซาวนด์ดูแล้ว อาจพบทั้งตัวอ่อน ถุงตั้งครรภ์ และถุงไข่แดงค่ะ แต่ก็มีคุณแม่หลายคนที่อัลตราซาวนด์ในช่วงนี้แล้วยังไม่พบอะไร หรือเห็นเพียงลาง ๆ ให้รอกลับมาตรวจอลัตราซาวนด์ในครั้งถัดไปค่ะ เพื่อดูว่าการตั้งครรภ์ครั้งนี้เกิดความผิดปกติใด ๆ หรือไม่
อายุครรภ์ 5 สัปดาห์ ถุงตั้งครรภ์จะมีขนาดราว ๆ 5-6 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าสามารถที่จะอัลตราซาวนด์เห็นกันบ้างแล้วค่ะ อย่างไรก็ตาม กรณีที่อัลตราซาวนด์ท้อง 5 สัปดาห์ไม่เจอถุงตั้งครรภ์ ก็อาจเป็นไปได้ว่าคุณแม่มีอาการท้องลม หรือตั้งครรภ์นอกมดลูก
แต่...ก็ยังไม่ถึงกับหมดหวังเสียทีเดียวนะคะ เพราะบางครั้งการอัลตราซาวนด์เร็วเกินไปก็อาจจะทำให้ไม่พบอะไร
มากไปกว่านั้น ขนาดถุงตั้งครรภ์ในระยะนี้ก็ไม่ได้มีขนาดใหญ่จนสามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากทุกมุมของมดลูก อาจต้องรออีกสัก 2-5 สัปดาห์แล้วมาตรวจใหม่ก็อาจจะพบกับถุงตั้งครรภ์และตัวอ่อนค่ะ ซึ่งก็จะช่วยให้แน่ใจว่าการตั้งครรภ์นั้นปกติ และในถุงตั้งครรภ์มีตัวอ่อนเติบโตอยู่ตามปกติหรือไม่
ถุงไข่แดงจะอยู่ติดกับตัวอ่อน ภายในประกอบไปด้วยเส้นเลือดขนาดเล็กมากมาย ซึ่งถุงไข่แดงนี้จะทำหน้าที่ในการลำเลียงเลือดไปยังตัวอ่อน รอจนกระทั่งรกสร้างเสร็จสมบูรณ์ หน้าที่ในการลำเลียง น้ำ อาหาร เลือด ออกซิเจน ก็จะเปลี่ยนมาเป็นหน้าที่สำคัญของรกแทน
อายุครรภ์ 5 สัปดาห์ มีหัวใจหรือยังนะ? ในช่วงนี้ทารกจะยังไม่มีหัวใจที่สมบูรณ์เสียทีเดียวค่ะ เพราะเป็นช่วงที่ที่กำลังพัฒนาหัวใจและระบบการไหลเวียนเลือด ดังนั้น อัตราการเต้นของหัวใจในอายุครรภ์ 5 สัปดาห์จึงอาจจะยังไม่ชัดเมื่อเทียบกับอายุครรภ์ 8 สัปดาห์ขึ้นไปที่เริ่มตรวจจับอัตราการเต้นหัวใจของลูกน้อยได้ชัดเจนมากกว่า
สำหรับคุณแม่ที่กังวลว่าอายุครรภ์ 5 สัปดาห์จะเริ่มมีหน้าท้องออกนิด ๆ แล้วหรือเปล่า สบายใจได้ค่ะ นี่เพิ่งย่างเข้าเดือนที่ 2 ของการตั้งครรภ์เท่านั้นเอง ในไตรมาสแรกนี้คุณแม่จะยังไม่พบกับการเปลี่ยนแปลงของหน้าท้องค่ะ จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงไตรมาส 2 คุณแม่จึงจะเริ่มพบว่าขนาดหน้าท้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน
ช่วงอายุครรภ์ 5 สัปดาห์นี้ มีคุณแม่หลายคนค่ะที่เริ่มมีอาการแพ้ท้องอย่างชัดเจน นั่นเป็นเพราะร่างกายของคุณแม่ในระยะนี้จะมีระดับฮอร์โมนตั้งครรภ์หรือฮอร์โมน HCG พุ่งสูงขึ้น ทำให้สามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ และมีอาการคนท้องปรากฎขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
• ประจำเดือนขาด
• คัดตึงเต้านม
• อาการแพ้ท้อง
• อ่อนเพลีย
• วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้
• อารมณ์แปรปรวน
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนจะพบกับอาการคนท้องในระยะนี้ค่ะ เพราะมีคุณแม่อีกหลายคนเลยที่ไม่ปรากฎความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในช่วงนี้
ตัวอ่อนอายุครรภ์ 5 สัปดาห์ แม้จะเป็นช่วงแรกของการเจริญเติบโต แต่ก็พบว่ามีพัฒนาการหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นค่ะ โดยจะเริ่มมีการแบ่งเซลล์ออกเป็นหลายชั้น และเซลล์แต่ละชั้นก็จะเริ่มมีพัฒนาการเป็นอวัยวะสำคัญต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว
ทารกอายุครรภ์ 5 สัปดาห์ ยังคงมีขนาดที่เล็กมากค่ะ โดยมีขนาดราว ๆ 1.5 มิลลิเมตร หรือประมาณเมล็ดสตรอว์เบอร์รี
ตัวอ่อนอายุครรภ์ 5 สัปดาห์ จะมีการแบ่งเซลล์ออกเป็นชั้นต่าง ๆ และเซลล์แต่ละชั้นก็เริ่มมีการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน ดังนี้
• เซลล์ชั้นนอก หรือ เอ็กโทเดิร์ม (Ectoderm) เริ่มก่อตัวเป็นระบบประสาท มีการสร้างสมองและไขสันหลัง และเริ่มที่จะสร้างผิวหนัง ผม และเล็บด้วย
• เซลล์ชั้นกลาง หรือ เมโซเดิร์ม (Mesoderm) กำลังอยู่ระหว่างการสร้างระบบไหลเวียนเลือด ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาของหัวใจและเซลล์เม็ดเลือด ขณะเดียวกันก็เริ่มพัฒนาโครงสร้างของกระดูก กล้ามเนื้อ และไตด้วย
• เซลล์ชั้นใน หรือ เอนโดเดิร์ม (endoderm) เริ่มที่จะสร้างปอด ลำไส้ และตับ
อาหารการกินถือเป็นสิ่งสำคัญที่แม่ท้องต้องใส่ใจ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกินอาหารให้หลากหลาย ครบทั้ง 5 หมู่ ประกอบไปด้วยผัก ผลไม้ ธัญพืชต่าง ๆ เนื้อสัตว์ อาหารเสริม รวมถึงนมก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งอาหารสำคัญที่คุณแม่ควรได้รับเช่นเดียวกัน โดยในอาหารแต่ละมื้อนั้นคุณแม่จะได้รับสารอาหารที่สำคัญสำหรับการตั้งครรภ์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น
• ดีเอชเอ
• โปรตีน
• ธาตุเหล็ก
• โฟเลต
• แคลเซียม
• ไอโอดีน
• โคลีน
• โอเมก้า 3
อย่างไรก็ตาม บางมื้อคุณแม่อาจกินอาหารได้น้อย เบื่ออาหาร หรือมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลทำให้กินอาหารลดลง การเสริมด้วยนมสำหรับคนท้องที่มีทั้งโคลีน โฟเลต ดีเอชเอ แคลเซียม ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกง่าย ๆ ที่ช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอในแต่ละวันค่ะ
เมื่อายุครรภ์ครบ 5 สัปดาห์ คุณแม่ต้องเริ่มทำเช็กลิสต์คนท้องไตรมาสแรกแบบง่าย ๆ ได้เลยค่ะ เพื่อจะได้เตรียมตัวสำหรับการตั้งครรภ์และการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะตามมาอีกหลายรูปแบบ ดังนี้
• ทำการตรวจครรภ์ เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่หรือไม่
• หากพบว่าตั้งครรภ์ ให้รีบไปฝากครรภ์ทันที เพื่อจะได้เข้าสู่กระบวนการตรวจครรภ์และติดตามการตั้งครรภ์ไปจนกระทั่งคลอด
• กินอาหารที่มีประโยชน์ หากเริ่มกินโฟลิกหรือวิตามินก่อนคลอดมาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์แล้ว ให้กินต่อไปตามปริมาณที่แพทย์กำหนด เพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง
• ระวังสุขภาพช่องปาก ช่วงไตรมาสแรกยังไม่ควรเข้ารับการรักษาทางทันตกรรม เพราะเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ได้ เพราะครรภ์ยังไม่แข็งแรง อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย อีกทั้งยังมีอาการแพ้ท้องร่วมด้วย อาจเป็นอุปสรรคในการรักษาทางทันตกรรม
• งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด เพราะสิ่งเหล่านี้มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ เช่น การแท้ง คลอดก่อนกำหนด ภาวะตายคลอด
ช่วงอายุครรภ์ 5 สัปดาห์นี้ ระดับฮอร์โมนตั้งครรภ์หรือ HCG จะค่อย ๆ พุ่งสูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อร่างกายของคุณแม่โดยตรง หนึ่งในนั้นคืออาการแพ้ท้อง ที่คุณแม่บางคนอาจจะเริ่มเป็นตั้งแต่ตอนอายุครรภ์ 5 สัปดาห์ ซึ่งอาการอาจจะรุนแรงแตกต่างกันไป บางคนแพ้ท้องหนักมาก บางคนแพ้ท้องนิดหน่อย และบางคนไม่มีอาการแพ้ท้องเลย
ซึ่งอาการแพ้ท้องนั้นอาจทำให้คุณแม่ต้องปรับเปลี่ยนอาหารที่กินในแต่ละมื้อ ปรับเปลี่ยนอริยาบถ การใช้วิธีบรรเทาอาการแพ้ท้องต่าง ๆ ไปจนถึงการกินยาเพื่อบรรเทาอาการแพ้ท้อง เพื่อช่วยใช้อาการแพ้ท้องดีขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากอาการแพ้ท้องนั้นรุนแรงมากจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ส่งผลกระทบกับการทำงาน เช่น อ่อนเพลียตลอดทั้งวัน อาเจียนตลอดทั้งวัน หรือคลื่นไส้จนนอนไม่หลับ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพราะถ้าหากปล่อยไว้แล้วอาการไม่ดีขึ้นจะส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ด้วย
แม่ท้องต้องใส่ใจเรื่องอาหารการกินมากเป็นพิเศษ เพื่อสร้างสุขภาพที่แข็งแรงทั้งแม่และลูกในท้อง ดังนั้น นอกจากกลุ่มอาหารที่มีประโยชน์ซึ่งคุณแม่ควรกินเป็นประจำทุกวันแล้ว ยังมีอาหารที่คุณแม่จำเป็นต้องเลี่ยงเพื่อความปลอดภัยในการตั้งครรภ์ ได้แก่
• นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย ชีส ที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์
• เนื้อสัตว์ปีก อาหารทะเล และไข่ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก
• อาหารทะเลหรือปลาที่มีสารปรอทสูง เช่น ปลากระโทงดาบ ปลาไทล์ฟิช ปลาฉลาม ปลาแมคเคอเรล และปลาทูน่าตาโต
• แป้งดิบ ไม่ว่าจะเป็นแป้งคุกกี้หรือแป้งเค้กก็ตาม
• เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรืออาหารที่มีการใส่แอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม
อาการเลือดออกขณะตั้งครรภ์แล้ว โดยมากมักไม่ค่อยเป็นสัญญาณที่ดีนัก ดังนั้น ไม่ว่าเลือดที่ไหลออกมานั้นจะเกิดขึ้นจากสาเหตุใด คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด แพทย์เท่านั้นที่จะช่วยวินิจฉัยว่าเลือดออกนั้นเป็นสัญญาณอันตราย หรือเป็นอาการโดยทั่วไป
ท้อง 5 สัปดาห์ มีเลือดออกเหมือนประจำเดือน
เลือดออกขณะตั้งครรภ์นั้นอาจเกิดจากปัจจัยโดยทั่วไป เช่น การมีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์ เลือดล้างหน้าเด็ก หรือเลือดที่ตกค้างอยู่ภายในและไหลออกมาไม่หมด
แต่บางครั้งก็อาจเกิดจากการแท้งบุตร การท้องนอกมดลูก หรือภาวะแท้งคุกคาม ซึ่งสาเหตุเหล่านี้คุณแม่ไม่สามารถวินิจฉัยด้วยตนเองได้ค่ะ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร แพทย์จะได้รับมือและรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
ท้อง 5 สัปดาห์ มีเลือดออกสีน้ำตาล
กรณีที่เลือดออกทางช่องคลอด และเลือดนั้นมีสีน้ำตาล คุณแม่อย่าเพิ่งเสียเวลาเสิร์ชหาคำตอบในอินเทอร์เน็ตค่ะ แต่ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและอัลตราซาวนด์ว่าเลือดสีน้ำตาลที่ไหลออกมานี้เกิดจากอะไร เพราะอาจเป็นไปได้หลายกรณี เช่น
• เมื่ออัลตราซาวนด์แล้วพบว่าตัวอ่อนยังมีชีวิต ถุงตั้งครรภ์และถุงไข่แดงยังอยู่ครบตามปกติ เลือดสีน้ำตาลที่ไหลออกมานี้ มักไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ค่ะ
• กรณีที่มีเคยอัลตราซาวนด์แล้วไม่พบความผิดปกติ แต่คุณแม่ยังมีเลือดสีน้ำตาลออกมาไม่หยุด ควรกลับไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมว่ามีความผิดปกติที่มดลูกหรือเปล่า เพื่อจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
• บางครั้งเลือดสีน้ำตาลที่ไหลออกมา อาจเป็นเพียงเลือดเก่าที่คั่งค้างอยู่ภายในช่องคลอด และเพิ่งไหลออกมา ซึ่งโดยมากจะไม่ส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ค่ะ
• การแท้งค้าง คือ แท้งไปแล้ว แต่ตัวอ่อนหรือทารกยังตกค้างอยู่ในครรภ์และยังไม่หลุดออกมา อาจทำให้มีของเหลวที่คล้ำไหลปะปนออกมากับเลือด ซึ่งกรณีนี้หากคุณแม่ไม่ได้ไปฝากครรภ์ และไม่ได้มีการตรวจอัลตราซาวนด์ครรภ์ ก็มักจะไม่รู้ตัวว่ามีการแท้งเกิดขึ้น
• สัญญาณของภาวะแท้งคุกคาม ซึ่งมักจะมีเลือดไหลออกมาทางช่องคลอดแม้ว่าปากมดลูกยังปิดอยู่ โดยเลือดนั้นอาจมีสีน้ำตาล หรือสีแดงสดก็ได้ค่ะ
ท้อง 5 สัปดาห์ ปวดท้องจี๊ด ๆ อาจมีสาเหตุมาจากการเริ่มขยายตัวของมดลูกเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อน หรืออาจเป็นเพียงอาการปวดท้องตามปกติ หรือปวดท้องเพราะมีการท้องนอกมดลูก หรือเกิดปัญหาขึ้นที่มดลูกก็ได้ค่ะ
ดังนั้น ถ้าหากมีอาการปวดท้องจี๊ด ๆ ติดต่อกันหลายวัน และอาการปวดนั้นเริ่มไม่ใช่แค่อาการปวดท้องจี๊ด ๆ แต่เริ่มปวดท้องรุนแรง อาจเป็นสัญญาณของอาการท้องนอกมดลูก ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างทันท่วงที
Enfa สรุปให้ อายุครรภ์ 17 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 5 – 5.1 นิ้ว มีน้ำหนักประมา...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ ทารกจะมีขนาดยาวประมาณ 5.6 นิ้ว หนักประมาณ 190 - 1...
อ่านต่อEnfa สรุปให้ อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 7 นิ้ว หนักประมาณ 300 - 310...
อ่านต่อ