Enfa สรุปให้:

  • ปัญหาลูกหัวแบน หัวเบี้ยว เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุเรื่องการนอนในท่าเดิมนาน ๆ จนศีรษะเกิดการกดทับ ไปจนถึงปัญตอนตั้งครรภ์ เช่น มดลูกแคบ น้ำคร่ำน้อย การท้องแฝด รวมถึงปัญหาจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการคลอดด้วย

  • แต่ปัญหาลูกหัวแบน หัวเบี้ยว สามารถแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนท่านอนลูกบ่อย ๆ อย่าให้ลูกนอนท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ เพราะจะทำให้ศีรษะเกิดแรงกดทับ ทำให้หัวเบี้ยว หัวแบน

  • หากลูกหัวเบี้ยว หัวแบน คุณพ่อคุณแม่จะต้องรีบทำการปรับท่านอนในช่วงที่ลูกอายุตั้งแต่ 4-12 เดือน เพราะกะโหลกศีรษะของลูกยังนิ่มและไม่เชื่อมติดกัน แต่ถ้าปล่อยไว้จนลูกอายุ 2 ปีขึ้นไป กะโหลกศีรษะของทารกจะเชื่อมติดกันสนิทแล้ว จะไม่สามารถทำการแก้ไขได้ หรือแก้ไขได้ยาก

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • หัวแบนคืออะไร ทำไมลูกหัวแบน
     • สาเหตุที่ทำให้ลูกหัวแบน
     • แบบไหนหัวทุยและหัวแบน
     • หัวแบนแบบไหนควรไปหาหมอ
     • ลูกหัวแบนกลับมาหัวทุยได้ไหม
     • เคล็ดลับให้ลูกหัวทุยแบบปลอดภัย
     • หมอนหัวทุย ดีจริงหรือไม่
     • ไขข้อข้องใจเรื่องลูกหัวแบนกับ Enfa Smart Club

อีกหนึ่งปัญหาที่ได้รับการพูดถึงทั้งในกลุ่มพ่อแม่มือเก๋า และกลุ่มพ่อแม่มือใหม่ก็คือ ลูกหัวเบี้ยว ลูกหัวแบน ลูกหัวไม่ทุย ซึ่งต่างก็มาแชร์ประสบการณ์ทำยังไงให้ลูกหัวทุยสวยกันอยู่เสมอ

แต่จริง ๆ แล้ว ... หัวแบน หัวเบี้ยว เป็นอันตรายต่อเด็กไหม? แล้วถ้าลูกหัวเบี้ยว หัวแบน คุณพ่อคุณแม่จะปรับให้ลูกมีหัวทุยสวยได้อย่างไรบ้าง?  Enfa จะพาไปหาคำตอบกันค่ะ

หัวแบน คืออะไร ทำไมลูกถึงหัวแบน


ลูกหัวแบน หรือทารกหัวแบน คือลักษณะกะโหลกศีรษะของทารกบริเวณด้านท้ายทอยมีอาการแบนราบลงไปทั้งด้านซ้ายและด้านขวา โดยสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

มากไปกว่านั้น ยังมีกรณีที่ด้านท้ายทอยของทารกมีอาการแบนแค่เพียงด้านใดด้านหนึ่ง ลักษณะเช่นนี้จะมองดูแล้วเหมือนว่าทารกมีศีรษะเบี้ยว

สาเหตุที่ทำให้ลูกหัวแบน


สาเหตุที่ทำให้ลูกหัวแบนนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัยที่แตกต่างกันไป ดังนี้

          • เกิดจากภาวะการบีบรัดตัวของมดลูก จนทำให้เกิดการกดทับต่อศีรษะของทารกในครรภ์จนทำให้ศีรษะแบน

          • ทารกในครรภ์มีขนาดตัวใหญ่ และขนาดมดลูกของแม่มีขนาดเล็ก จึงอาจเกิดการกดทับต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้ลูกหัวแบนได้

          • แม่มีภาวะน้ำคร่ำน้อย ทำให้เสี่ยงต่อการกดทับของศีรษะทารกกับมดลูก ทำให้เกิดปัญหาลูกหัวแบนได้

          • ศีรษะของเด็กทารกนั้นยังไม่แข็งแรง การปล่อยให้ทารกนอนในท่าเดิมนาน ๆ จะทำให้เกิดแรงกดทับต่อเนื่อง ทำให้เด็กหัวแบนได้

          • เกิดปัญหาระหว่างการคลอด โดยอุปกรณ์ที่ช่วยในการคลอดเช่น คีม หรือเครื่องดูด อาจมีการบีบรัดศีรษะของทารกตอนคลอด อาจทำให้ทารกเกิดมามีหัวแบนได้

          • เด็กมีปัญหาคอเอียง เวลานอนจึงมีอาการคอเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่งเป็นประจำ เสี่ยงต่อการหัวแบนได้

          • ทารกมีปัญหากะโหลกศีรษะเชื่อมติดกันเร็วผิดปกติ กรณีเช่นนี้พบได้น้อย แต่ถือว่าเป็นปัญหาที่รุนแรง เสี่ยงที่จะมีศีรษะผิดรูปหรือเบี้ยวได้ จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาจากแพทย์โดยเร็ว

วิธีสังเกตลักษณะหัวลูกน้อย แบบไหนหัวทุย หัวแบน


หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำชมที่ว่า อู้ว หัวทุยสวยจังเลย! หัวทุยดีจัง แต่เคยสงสัยกันไหมคะว่า จริง ๆ แล้วไอ้เจ้าหัวทุยที่ว่าเนี่ยมันเป็นหัวยังไง หัวทุยเป็นแบบไหนนะ?

หัวทุย คือ กะโหลกศีรษะด้านท้ายทอยของทารกที่มีลักษณะโค้งมน ไม่แบนไปด้านใดด้านหนึ่ง แต่ถ้ากะโหลกศีรษะด้านท้ายทอยของทารกมีการแบนทั้งด้านซ้ายและด้านขวา จะเรียกว่าหัวแบน และหากกะโหลกศีรษะของทารกมีการแบนไปที่ด้านใด ด้านหนึ่ง จะเรียกว่าหัวเบี้ยว

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

หัวแบนแบบไหนควรไปพบแพทย์


โดยทั่วไปแล้วปัญหาหัวแบนหรือไม่แบนนั้น สามารถที่จะแก้ไขและปรับปรุงได้ผ่านการปรับเปลี่ยนท่านอนของลูกให้เหมาะสม ไม่นอนในท่าเดิมนาน ๆ

อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่อาจจำเป็นจะต้องปรึกษาหมอ ลูกหัวเบี้ยว ลูกหัวแบน ซึ่งกรณีที่จำเป็นจะต้องไปพบแพทย์นั้น มักจะเป็นกรณีดังต่อไปนี้ 

          • ลูกมีอาการคอเอียง และมักจะเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง โดยเฉพาะในเวลานอน ทำให้นอนในท่าเดิม ๆ ทำให้ศีรษะผิดรูปได้

          • ลูกมีอาการคอเอียงและพบว่ามีก้อนเนื้อในบริเวณคอข้างที่ลูกชอบเอียงศีรษะไปบ่อย ๆ

          • ลูกมีปัญหากะโหลกศีรษะเชื่อมติดกันเร็วผิดปกติ โดยทั่วไปแล้วกะโหลกศีรษะของเด็กจะเชื่อมติดกันระหว่างกระหม่อมหน้ากับกระหม่อมหลังทั้งหมดตอนอายุประมาณ 2 ปี แต่มีเด็กบางคนที่กะโหลกศีรษะเชื่อมติดกันเร็วเกินไป จนส่งผลเสียต่อกะโหลกศีรษะผิดรูป ตาโปน หรือส่งผลเสียต่อสมองได้ อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ถือว่าพบได้น้อยค่ะ

ลูกหัวแบนมีโอกาสที่จะกลับมาหัวทุยไหม


อยากให้เด็กหัวทุย แต่ว่าลูกหัวแบน ลูกหัวเบี้ยวจะหายไหม จะกลับมามีหัวทุยสวยได้ไหม? คำตอบคือได้ค่ะ แต่คุณพ่อคุณแม่จำเป็นจะต้องรีบทำการปรับท่านอนในช่วงที่ลูกอายุตั้งแต่ 4 - 12 เดือน เพราะกะโหลกศีรษะของลูกยังนิ่มและไม่เชื่อมติดกัน

แต่ถ้าปล่อยไว้จนลูกอายุ 2 ปีขึ้นไป กะโหลกศีรษะของทารกจะเชื่อมติดกันสนิทแล้ว ไม่สามารถที่จะทำการแก้ไขได้ หรือแก้ไขได้ยากแล้วค่ะ

ในช่วงที่ทารกอายุแรกเกิด - 12 เดือน คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างสูงที่จะคอยจัดท่าทางให้ลูกอยู่เสมอ ก็จะช่วยป้องกันอาการหัวแบน ช่วยให้ลูกมีศีรษะทุยสวยได้ค่ะ

เคล็ดลับให้ลูกหัวทุยแบบปลอดภัยและวิธีป้องกันลูกหัวแบน


วิธีที่จะช่วยให้ลูกหัวทุยสวยนั้น อาจสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

          • คุณพ่อคุณแม่จึงควรจัดท่านอนให้ลูกนอนหงายสลับกับการนอนตะแคงอยู่เป็นระยะ ๆ ระวังอย่าให้ลูกนอนในท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ เพราะเสี่ยงจะทำให้เกิดการกดทับจนศีรษะแบน

          • หากลูกมีปัญหาหัวแบนไปข้างใดข้างหนึ่งมาตั้งแต่คลอดแล้ว พยายามให้ลูกนอนหนุนหมอนด้วยศีรษะฝั่งที่ไม่แบน แต่ระวังอย่าให้ลูกนอนในท่านอนคว่ำนะคะ เพราะเสี่ยงที่จะหายใจไม่ออก หรือเป็นโรคไหลตายได้ค่ะ

          • เวลาให้นมลูก ก็ควรจะเปลี่ยนข้างให้นมด้วย อย่าให้นมลูกข้างใดข้างหนึ่งตลอด เพราะเสี่ยงที่จะเกิดการกดทับศีรษะไปทางฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากเกินไป ทำให้หัวเบี้ยว หัวแบนได้

หมอนหัวทุย ดีจริงหรือไม่


คุณพ่อคุณแม่หลายคนกลัวว่าลูกจะหัวแบน หัวไม่ทุย จึงพยายามหาซื้อหมอนหัวทุยมาให้ลูกนอน เพื่อหวังจะให้ลูกมีหัวทุยสวย แต่...หมอนหัวทุยช่วยได้จริงไหม?

คำตอบนั้นค่อนข้างจะกว้างค่ะ เพราะเด็กบางคนนอนแล้วก็เห็นผล แต่เด็กบางคนนอนแล้วก็ไม่เห็นผล โดยเฉพาะเด็กที่หัวแบนจากพันธุกรรม หัวแบนจากปัญหาการคลอด หัวแบนจากความผิดปกติของกะโหลกศีรษะ กรณีเช่นนี้ หมอนหัวทุยก็อาจจะไม่ช่วยอะไร

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะอยากให้ลูกหัวทุยสวย แต่ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี ยังไม่จำเป็นที่จะต้องนอนหนุนหมอนนะคะ เพราะเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไหลตาย หรือโรคไหลตายในเด็กได้ เด็กทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี การนอนราบ โดยจัดให้เด็กนอนหงายสลับกับการนอนตะแคง ถือว่าเหมาะสมที่สุด และป้องกันปัญหาลูกหัวแบนได้ค่ะ

ไขข้อข้องใจเรื่องลูกหัวแบนกับ Enfa Smart Club


 ใช้หมอนหัวทุยยี่ห้อไหนดี?

หมอนหัวทุยมีหลายยี่ห้อให้เลือกซื้อมากในปัจจุบัน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกซื้อได้ตามที่ต้องการเลยค่ะ สิ่งสำคัญคือเลือกหมอนที่ไม่อ่อน หรือไม่นิ่มจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม กุมารแพทย์มักจะไม่แนะนำให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปีนอนหมอนใด ๆ ทั้งสิ้น พราะเสี่ยงต่อภาวะไหลตายค่ะ

 ลูก 3 เดือน หัวแบน ปกติไหม?

ปัญหาลูกหัวแบนในทารกนั้น ถือว่าเป็นภาวะผิดปกติของกะโหลกศีรษะค่ะ คือมีการผิดรูปไปจากกะโหลกศีรษะปกติ เนื่องจากการถูกกดทับที่ศีรษะเป็นเวลานาน แต่การผิดรูปขงศีรษะที่แบนหรือเบี้ยวนี้ ไม่ได้ส่งผลต่อกะโหลกและสมองของเด็กแต่อย่างใดค่ะ

ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้ลูกหัวแบนไปตลอด ควรเริ่มปรับเปลี่ยนท่านอนของลูกให้อยู่ในท่านอนหงาย สลับกับนอนตะแคงเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ศีรษะของลูกถูกกดทับและแบนไปตลอด

 หมอนหัวทุยใช้ได้ถึงกี่เดือน?

จริง ๆ แล้วหมอนหัวทุยนั้นมักได้รับการแนะนำให้เริ่มใช้ในช่วงที่เด็กสามารถที่จะควบคุมศีรษะตนเองได้แล้ว ซึ่งก็จะหมายถึงช่วงเวลาตั้งแต่ 4-5 เดือน ไปจนถึง 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ก็มีผลการศึกษาออกมาโต้แย้งอีกว่า การให้เด็กนอนหมอนก่อนอายุ 1 ปีนั้น เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะไหลตายในเด็กได้ การนอนหนุนหมอนจึงไม่เหมาะสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ยังไม่ควรให้ลูกนอนหนุนหมอนจนกว่าลูกจะอายุ 2 ปีขึ้นไป หรือจนกว่าจะศีรษะแข็งและชันคอได้เอง

 ท่านอนทารกหัวสวย คือท่าไหน?

ท่านอนที่ดีที่สุดคือท่านอนหงาย แต่การปล่อยให้ลูกนอนหงายเพียงอย่างเดียว อาจส่งผลให้ลูกศีรษะแบนได้ เพราะถูกกดทับในท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ ทางที่ดีคือควรจะสลับให้ลูกนอนตะแคงและนอนหงายเป็นระยะ ๆ ค่ะ



บทความแนะนำสำหรับสุขภาพลูกน้อย