ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
pregnancy-emotions

อารมณ์คนท้องขึ้น ๆ ลง ๆ คุณสามีจะรับมือยังไงดีนะ

Enfa สรุปให้

  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายขณะตั้งครรภ์ ส่งผลต่ออารมณ์คนท้อง ทำให้คนท้องมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า เสียใจ ร้องไห้
  • การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ขนาดครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น ส่งผลต่อสภาพจิตใจของคุณแม่ ทำให้รู้สึกขาดความมั่นใจ
  • คนท้องจำเป็นต้องดูแลสภาพจิตใจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าในขณะตั้งครรภ์

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ทำไมคนท้องถึงอารมณ์แปรปรวนบ่อย ๆ
     • วิธีรับมือกับอารมณ์แปรปรวนในคนท้อง
     • สามีจะช่วยรับมือกับอารมณ์ของคนท้องยังไงดี
     • เมื่อไหร่ที่คุณแม่ท้องควรไปพบแพทย์

การตั้งครรภ์ไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายเท่านั้น แต่อารมณ์ของคนท้องก็เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ตลอดการตั้งครรภ์นั้นจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลและประคับประคองทั้งจากสามี คนรอบข้าง และตัวของคุณแม่เองก็ต้องพร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ของตนเอง เพื่อให้สามารถก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ด้วยดี 

อารมณ์คนท้อง เปลี่ยนบ่อยเกิดจากอะไรกัน


อารมณ์คนท้อง ร้องไห้ เสียใจ หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล ฯลฯ ถือเป็นหนึ่งในอาการขณะตั้งครรภ์ที่พบได้บ่อยมาก เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย จึงส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของคุณแม่ 

ซึ่งคุณแม่ไม่ต้องรู้สึกแย่ว่าทำไมตัวเองควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ทำไมต้องหงุดหงิดบ่อย ทำไมต้องร้องไห้ซ้ำ ๆ เป็นเรื่องปกติที่คุณแม่จะมีอารมณ์แปรปรวนในขณะตั้งครรภ์  

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายก็มีผลเช่นกัน ขนาดครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น รอยแตกลายที่เพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวที่มากขึ้น อาจทำให้คุณแม่รู้สึกวิตกกังวล หวาดกลัว หรือสูญเสียความมั่นใจ และรู้สึกแย่กับตนเองขึ้นมาได้ 

อีกทั้งความเหนื่อยล้าจากการแพ้ท้อง นอนไม่หลับ นอนไม่พอ ความอุ้ยอ้าย อึดอัด ปัจจัยเหล่านี้ก็มีผลทำให้อารมณ์ของคุณแม่ไม่มั่นคงเช่นกัน 

และอย่าลืมว่าไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่จะรู้สึกมีความสุขเมื่อรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ บางครั้งการท้องครั้งแรก การท้องแบบไม่พร้อม ก็นำมาซึ่งความเครียดและความวิตกกังวลได้เหมือนกัน คุณแม่อาจกังวลเรื่องอนาคตการทำงาน การเงิน สถานะทางสังคม โอกาสต่าง ๆ รวมถึงความวิตกในการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งว่าจะเลี้ยงลูกได้ดีไหม ฉันจะเป็นแม่ที่ดีหรือเปล่า ปัจจัยเหล่านี้ก็มีผลทำให้คุณแม่เกิดความเครียดได้เหมือนกัน 

ชวนคุณแม่ท้องทำความเข้าใจและรับมือกับอารมณ์คนท้อง


แม้ว่าอารมณ์แปรปรวนในคนท้องจะเป็นเรื่องปกติ แต่เราไม่ควรจะปล่อยให้มันเกิดขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ จนเป็นปกติ  

คุณแม่ควรจะต้องรู้จักที่จะรับมือกับอารมณ์และความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อที่จะลดภาระของคนรอบข้างที่จะต้องมารองรับอารมณ์ของคุณแม่ และเพื่อให้คุณแม่มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นและสบายใจขึ้นด้วย 

โดยแม่ท้องสามารถรับมือกับอารมณ์ที่ปั่นป่วน ไม่มั่นคงได้ ดังนี้ 

  • ทำในสิ่งที่มีความสุข ทำอะไรก็ได้ค่ะที่คุณแม่รู้สึกดี อยากกินเค้ก อยากกินส้มตำ อยากไปข้างนอกคนเดียว อยากดูหนัง อยากไปซื้อเสื้อผ้า ฯลฯ อะไรก็ได้ที่คุณแม่ทำแล้วรู้สึกดีขึ้น ได้ผ่อนคลาย ได้ปลดปล่อย ทำไปเลยค่ะ แต่...ต้องไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นะคะ  
  • พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ เข้าใจค่ะว่าบางทีมันก็เป็นเรื่องยาก แต่ถ้าหากทำได้ จงนอนให้เต็มที่ เพราะถ้าหากคุณแม่พักผ่อนน้อย นอกจากจะมีผลต่ออารมณ์แปรปรวนแล้ว สุขภาพของคุณแม่ก็จะย่ำแย่ตามไปด้วย หากนอนไม่หลับบ่อย ๆ แนะนำให้ไปพบแพทย์ค่ะ 
  • กินอาหารที่ดีและอร่อย สาเหตุที่ต้องย้ำว่าสุขภาพดีและอร่อย เพราะอาหารเพื่อสุขภาพไม่จำเป็นจะต้องไม่อร่อยเสมอไปค่ะ และคุณแม่จะได้ประโยชน์สองต่อ คือได้สารอาหารที่ดีต่อสุขภาพของแม่และทารกในครรภ์ และการกินอาหารที่ดีก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจได้ด้วย คนเราได้กินอาหารที่ถูกใจก็มีความสุขขึ้นได้ค่ะ มากไปกว่านั้น อาหารที่มีประโยชน์ ก็มีผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้ความเครียดลดลงได้ด้วยเช่นกัน 
  • ระบายมันออกมา คุณแม่ควรจะต้องปลดปล่อยความรู้สึกของตัวเองออกมาบ้าง ถ้ารู้สึกแย่ รู้สึกไม่พอใจ กลัว กังวล พูดมันออกมาเลยค่ะ พูดกับสามี กับเพื่อน กับครอบครัว กับใครก็ได้ที่คุณแม่สบายใจที่จะคุยด้วย หรือดีที่สุดคือการพูดกับแพทย์ เพื่อที่แพทย์จะได้ช่วยประเมินภาวะสุขภาพจิตของคุณแม่และช่วยหาทางรับมือกับสภาวะจิตใจที่เป็นอยู่ 
  • ซื่อสัตย์กับอารมณ์ของตนเอง และซื่อสัตย์กับคนรอบข้างด้วย เพราะการที่คุณแม่เก็บงำอารมณ์เอาไว้คนเดียว รู้สึกอย่างไรก็ไม่บอกใคร โกรธก็บอกไม่โกรธ เครียดก็บอกว่าเฉย ๆ ทำทุกสิ่งตรงข้ามกับความรู้สึกตนเอง ไม่มีใครมาตรัสรู้ความในใจของคุณแม่ด้วยนะคะ และคนอื่น ๆ ไม่ได้มีใครที่เกิดมาเพื่อมีหน้าที่รองรับอารมณ์ที่แปรปรวนของใคร ดังนั้น คิดอะไร รู้สึกอะไร พูดมันออกมา ไม่ต้องอายค่ะ เพื่อทุกคนจะได้เข้าใจตรงกัน หาทางออกร่วมกัน 
  • ทำใจให้ปลง คุณแม่ที่วิตกกังวลเรื่องอนาคต ขอให้พยายามปลงตกให้ได้มากที่สุด เพราะสิ่งที่กลัวจนเครียดเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ยังมาไม่ถึง อยู่กับปัจจุบัน ดูแลสุขภาพตนเองให้ดี มีความสุขกับสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันให้มากที่สุด 
  • ร้องไห้ได้ ทุกคนสามารถร้องไห้ได้ค่ะ ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ หากคุณแม่รู้สึกเหนื่อย รู้สึกท้อ รู้สึกอ่อนเพลีย อยากร้องไห้ ก็ร้องมันออกมาค่ะ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นคุณแม่แล้ว แต่คุณแม่ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งด้วยเหมือนกันนะคะ และมนุษย์เราเสียใจได้ ร้องไห้เป็นค่ะ 

อารมณ์คนท้อง สามีต้องเข้าใจ และช่วยคุณแม่อย่างไร


การตั้งครรภ์ถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่เฉพาะกับคุณแม่เท่านั้น แต่ชีวิตของคุณผู้ชายที่เป็นสามี และกำลังจะเป็นพ่อคุณก็เปลี่ยนไปด้วยเหมือนกัน 

สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อควรจะต้องทำความเข้าใจและเปิดใจให้มากเลยก็คือ การตั้งครรภ์ครั้งนี้เราต่างก็ทำให้เกิดขึ้นมาทั้งคู่ จึงจำเป็นที่จะต้องดูแลและประคับประคองกันและกันเป็นอย่างดี ไม่ใช่ว่าท้องแล้วเอะอะปล่อยให้คุณแม่มาดูแลตัวเองให้ดี แต่สามีเองก็ต้องพร้อมที่จะดูแลภรรยาให้ดีด้วยเช่นกัน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอารมณ์คนท้องที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้มีปากเสียงหรือทะเลาะกันในบางครั้ง แต่...คุณสามีก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ไม่มีใครอยากเป็นคนอารมณ์ไม่ดี การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย รูปร่างที่เปลี่ยนไป ความวิตกกังวลกับการตั้งครรภ์ ส่งผลต่ออารมณ์ของคุณแม่ 

ดังนั้น เพื่อให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น ใกล้ชิดกันมากขึ้น ไม่พังทลายลงไปเสียก่อน ทั้งคุณพ่อและคุณแม่จำเป็นจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังนี้ 

  • ไม่กล่าวโทษกัน แต่พูดความรู้สึกให้กันและกันเข้าใจ ทั้งสองคนจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าขณะนั้นรู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร การสื่อสารกันตรง ๆ ดีกว่าที่จะมาโทษกันว่าทำไมเธองี่เง่าจัง ทำไมเธอไม่สนใจฉันเลย 
  • เข้าใจธรรมชาติของคนท้อง รูปร่างที่เปลี่ยนไป น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น อาหารที่ไม่ถูกปาก ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้มีผลต่อสภาวะทางอารมณ์และความรู้สึก คุณสามีควรปลงตกและทำความเข้าใจภรรยาหน่อยค่ะว่ามันเป็นเรื่องที่ยากจะควบคุม 
  • แบ่งเบาภาระซึ่งกันและกัน กิจวัตรใด ๆ ที่เมื่อก่อนภรรยาเป็นผู้รับผิดชอบ คุณสามีควรจะยื่นมือเข้ามาแบ่งเบาช่วยเหลือบ้าง ไม่จำเป็นต้องช่วยเสียทุกเรื่อง แต่เรื่องไหนที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรง การช่วยแบ่งเบาภาระของคนท้องลงบ้าง ก็ช่วยให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นได้นะคะ 
  • ไปเข้าคอร์สพ่อแม่มือใหม่ด้วยกัน คนที่ไม่เคยท้องมาก่อน ยากค่ะที่จะเข้าใจว่าการตั้งท้องมันเป็นยังไง คุณแม่ก็อาจจะอธิบายออกมาไม่ตรงจุด เพราะก็เป็นการตั้งท้องครั้งแรกเหมือนกัน ดังนั้น การจูงมือกันไปเข้ารับข้อมูลความรู้และประสบการณ์ตรงในการเป็นพ่อแม่ด้วยกัน ก็จะช่วยให้เข้าใจกันและกันมากขึ้น 
  • พูดเรื่องอนาคตร่วมกัน ทั้งเรื่องชื่อลูก การเลี้ยงดูลูก ของเตรียมคลอด จะคลอดที่ไหน เตรียมห้องลูกยังไง ฯลฯ ควรมีส่วนร่วมด้วยกัน พูดคุยกันให้มากขึ้น เพื่อเป็นการวางแผนอนาคตไปพร้อม ๆ กัน สิ่งนี้สามารถช่วยให้คุณแม่คลายความกังวลเรื่องอนาคตลงได้ 

อารมณ์คนท้องระยะแรก จะแตกต่างจากช่วงเวลาอื่นไหม

อาจจะแตกต่าง หรือไม่แตกต่างกันเลยก็ได้ค่ะ คือต้องเข้าใจกันก่อนว่าคนท้องแต่ละคนไม่เหมือนกันค่ะ คุณแม่บางคนไม่รู้สึกอะไรเลยตลอดการตั้งครรภ์ ทุกอย่างปกติ ใช้ชีวิตปกติ ไม่มีความหงุดหงิด ไม่มีเศร้าใจ หรือกังวลใจใด ๆ 

บางครั้งในไตรมาสแรกคุณแม่อาจจะไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะบางทีคุณแม่ก็ไม่มีอาการคนท้องใด ๆ ออกมาเลย จึงไม่รู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์ หรือรู้แล้วว่าท้อง แต่ก็ไม่มีอาการแพ้ท้องใด ๆ ที่ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ท้อแท้  

แต่คุณแม่บางคนก็อาจจะพบพานกับอารมณ์ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงตลอดการตั้งครรภ์ ช่วงแรกอาจจะดีใจที่ตั้งครรภ์ แต่เมื่อเริ่มมีอาการแพ้ท้อง เริ่มกินอาหารได้น้อย เริ่มอาเจียนบ่อย ๆ ก็อาจจะเริ่มรู้สึกท้อ เหนื่อย หงุดหงิดง่าย เพราะร่างกายกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง 

โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ไตรมาสสองและสาม ขนาดครรภ์เริ่มใหญ่ขึ้น น้ำหนักเริ่มขึ้น รอยแตกลายมากขึ้น ปวดหลังบ่อย ปวดขาเป็นประจำ เริ่มอ่อนเพลียมากขึ้น ใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น นอนไม่ค่อยหลับ เบื่ออาหาร ฯลฯ คุณแม่ก็อาจจะรู้สึกแย่มากขึ้น กังวลมากขึ้น 

หรือถ้าหากมีภาวะซึมเศร้ามาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์แล้ว คุณแม่ก็อาจจะมีภาวะซึมเศร้าที่เพิ่มมากขึ้น วิตกกังวลมากขึ้นได้เช่นกันค่ะ 

อารมณ์คนท้องแปรปรวน ตลอดการตั้งครรภ์ทั้ง 9 เดือนหรือไม่

ใช่ และ ไม่ใช่ค่ะ 

ใช่ เพราะมีคุณแม่หลายคนที่อารมณ์แปรปรวนตลอดการตั้งครรภ์ อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ตลอดทั้ง 9 เดือน เดี๋ยวเศร้า เดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวหงุดหงิดสามี  

และไม่ใช่ เพราะว่าแม่แต่ละคนไม่เหมือนกันค่ะ ยังมีคุณแม่อีกหลายคนเลยที่สภาวะอารมณ์คงที่ตลอดการตั้งครรภ์ ไม่มีการแปรปรวนแต่อย่างใด 

และก็มีคุณแม่อีกหลายคนที่ช่วงไตรมาสแรกไม่มีอารมณ์แปรปรวน แต่มาเริ่มแปรปรวนเมื่อเข้าสู่ไตรมาสสองและสาม เพราะร่างกายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้นจึงส่งผลต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น คุณแม่อาจรู้สึกเหนื่อยขึ้น พักผ่อนน้อยลง ใช้ชีวิตไม่สะดวก ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย สิ่งเหล่านี้มีผลต่อสภาพอารมณ์ของคุณแม่ได้ค่ะ 

อารมณ์คนท้องจะส่งผลต่อลูกในครรภ์หรือไม่

อารมณ์คนท้อง ไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อลูกในครรภ์ค่ะ คือไม่ใช่ว่าแม่หงุดหงิดง่ายแล้วสุขภาพของทารกในครรภ์จะแย่ทันที 

แต่ว่าผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ เช่น คุณแม่มีภาวะความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล จนทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันของคุณแม่เปลี่ยนไป เช่น เบื่ออาหาร กินอาหารน้อยลง พักผ่อนไม่เพียงพอ สิ่งเหล่านี้นี่แหละค่ะที่จะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้ 

เมื่อไหร่ที่คุณแม่ท้องควรไปพบแพทย์


คุณแม่ควรจะต้องรู้สภาวะอารมณ์ของตัวเองและต้องยอมรับให้ได้ก่อนเลยค่ะว่าขณะนี้อารมณ์ของคุณแม่ไม่ปกตินะ คุณแม่เริ่มรู้สึกแย่ เริ่มรู้สึกไม่ดี วิตกกังวล หวาดกลัว เสียใจ หากเริ่มรู้ทันความรู้สึกตนเอง ให้หาเวลาไปพบแพทย์ค่ะ หรือถ้าหากลองระบายหรือพูดกับคนรอบข้างแล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ควรหาเวลาไปพบแพทย์ 

หรือถ้าหากอารมณ์แปรปรวนเริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิต เช่น นอนไม่หลับหลายวันติดต่อกัน เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด กรณีเช่นนี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะถ้าหากปล่อยไว้จนสุขภาพของคุณแม่ทรุดโทรมลง เมื่อนั้นก็จะเสี่ยงอันตรายต่อลูกในท้องได้ค่ะ 



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

morning-sickness
men-pregnancy-symptoms
milk-and-dairy-pregnancy
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner