Leaving page banner
 

babies-born-at-7-months

ทารกเกิดกำหนด 7 เดือน เด็กมีโอกาสรอดชีวิตไหม

 

Enfa สรุปให้

  • การตั้งครรภ์จะยาวนานถึง 40 สัปดาห์ แต่โดยทั่วไปแล้วในช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 37-40 สัปดาห์ ทารกอาจจะคลอดออกมาตอนไหนก็ได้ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องรอจนถึงสัปดาห์ที่ 40

  • แต่การคลอดใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนดทั้งสิ้น ซึ่งโดยมากมักจะพบเห็นกันบ่อย ๆ ว่าคุณแม่หลาย ๆ คนมักจะคลอดตั้งแต่อายุครรภ์ 7 เดือน

  • ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการคลอดก่อนกำหนด แต่เด็กที่คลอดตอน 7 เดือนนั้น ถือว่ามีโอกาสรอดชีวิตสูง โดยอัตราการรอดชีวิตของทารกที่เกิดในอายุครรภ์ 7 เดือนนั้นสูงถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • คลอดก่อนกำหนดเป็นอย่างไร
     • คลอดก่อนกำหนด เด็กมีโอกาสรอดชีวิตไหม
     • คลอดก่อนกำหนด 7 เดือน อันตรายไหม
     • สาเหตุที่แม่คลอดก่อนกำหนด 7 เดือน
     • ความเสี่ยงด้านสุขภาพของทารกที่คลอดก่อนกำหนด 7 เดือน
     • ไขข้อข้องใจเรื่องการคลอดก่อนกำหนด 7 เดือนกับ Enfa Smart Club

การเกิดก่อนกำหนด ถือเป็นความผิดปกติของการตั้งครรภ์รูปแบบหนึ่ง และเป็นความผิดปกติที่ค่อนข้างจะมีความเสี่ยงทั้งต่อทารกและตัวคุณแม่เองด้วย ซึ่งการเกิดก่อนกำหนดที่เรามักจะได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ก็คือการเกิดก่อนกำหนด 7 เดือน

แต่การเกิดก่อนกำหนด 7 เดือนนี่ถือว่าอันตรายมากน้อยแค่ไหน เด็กที่เกิดตอน 7 เดือนจะมีพัฒนาการเหมือนกับเด็กที่เกิดตามกำหนดปกติหรือไม่ Enfa มีสาระดี ๆ เกี่ยวกับการเกิดตอนอายุครรภ์ 7 เดือนมาฝากค่ะ

เข้าใจการเกิดก่อนกำหนด เกิดตอนอายุครรภ์เท่าไหร่เรียกว่าเกิดก่อนกำหนด


การตั้งครรภ์จะมีระยะเวลาอยู่ที่ 9 เดือน หรือ 40 สัปดาห์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าแม่ทุกคนจะคลอดลูกตอนอายุครรภ์ 40 สัปดาห์ทุกคน เพราะโดยทั่วไปแล้วในช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 37-40 สัปดาห์ ทารกอาจจะเกิดออกมาตอนไหนก็ได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องรอจนถึงสัปดาห์ที่ 40

แต่ถ้าหากคุณแม่คนไหนที่จู่ ๆ มีอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด และทารกออกมาก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ก็จะถือว่าเป็นการเกิดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นความผิดปกติของการตั้งครรภ์ที่ค่อนข้างเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะถ้ามีการเกิดตอนที่อานยุครรภ์น้อยมาก ๆ เช่น เกิดตอนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสที่จะรอดชีวิตน้อย หรือถ้ารอดชีวิตมาแล้วก็มีโอกาสที่จะพบกับปัญหาสุขภาพเรื้อรังในระยะยาว

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

กรณีที่ทารกเกิดก่อนกำหนด สัปดาห์ที่เท่าไหร่ลูกถึงจะมีโอกาสรอด


ยิ่งเกิดตอนอายุครรภ์น้อยเท่าไหร่ ทารกก็มีโอกาสรอดชีวิตน้อยเท่านั้นค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง:

  • การเกิดที่อายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์ เด็กมีโอกาสรอดชีวิตน้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

  • เด็กที่เกิดเมื่ออายุครรภ์ 24 สัปดาห์ มีโอกาสรอดชีวิตประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแม้จะเป็นโอกาสที่พอลุ้นได้ แต่เด็กที่เกิดมานั้นมีโอกาสที่จะมีปัญหาสุขภาพเรื้อรังในระยะยาวสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

  • เด็กที่เกิดเมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ มีโอกาสรอดชีวิตสูงราว ๆ 80-90 เปอร์เซ็นต์ และเด็กที่เกิดมานั้นมีโอกาสที่จะมีปัญหาสุขภาพเรื้อรังในระยะยาวเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

  • เด็กที่เกิดเมื่ออายุครรภ์ 32 สัปดาห์ มีโอกาสรอดชีวิตสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว และมีโอกาสน้อยมากที่จะเสียชีวิต หรือเกิดมาแล้วมีปัญหาสุขภาพเรื้อรังในระยะยาว

  • เด็กที่เกิดเมื่ออายุครรภ์ 34 สัปดาห์ มีโอกาสรอดชีวิตสูงมากค่ะ และเด็กที่เกิดมาก็ยังมีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพแข็งแรงเช่นเดียวกับเด็กที่เกิดครบกำหนดปกติอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้เด็กที่เกิดตอนอายุครรภ์ 34 สัปดาห์จะโอกาสรอดชีวิตจะสูงมาก แต่เด็กก็จำเป็นจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์สักระยะหนึ่ง จนกว่าแพทย์จะวินิจฉัยว่าเด็กปลอดภัยและสามารถกลับบ้านได้

เกิดก่อนกำหนด 7 เดือน อันตรายไหม อัตราการรอดชีวิตของเด็กสูงแค่ไหน


อายุครรภ์ 7 เดือน หรือก็คืออายุครรภ์ระหว่าง 27-30 สัปดาห์ ซึ่งแม้ว่าจะเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์แล้ว แต่แน่นอนว่าการเกิดใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ถือว่าเป็นการเกิดก่อนกำหนดทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เด็กที่เกิดตอน 7 เดือนนั้น ถือว่ามีโอกาสรอดชีวิตสูงค่ะ โดยอัตราการรอดชีวิตของทารกที่เกิดในอายุครรภ์ 28 สัปดาห์นั้นสูงถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

และทารกที่เกิดเมื่ออายุ 28 สัปดาห์ ก็มีโอกาสเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะเกิดมาแล้วมีโรคประจำตัวหรือมีปัญหาสุขภาพเรื้อรังในระยะยาว

สาเหตุใดที่อาจทำให้คุณแม่เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดในช่วงอายุครรภ์ 7 เดือน


การเกิดก่อนกำหนดนั้นไม่สามารถที่จะเจาะจงกันเองได้เพียงสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งค่ะ เพราะสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัยที่แตกต่างกันไป ดังนี้

  • มีประวัติการคลอดก่อนกำหนดมาก่อน

  • ตั้งครรภ์แฝด (การตั้งครรภ์แฝดถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดก่อนกำหนดสูงมาก)

  • คุณแม่มีปากมดลูกสั้น

  • มีปัญหาเกี่ยวกับมดลูก หรือรก เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด

  • การเสพยาเสพติด

  • การสูบบุหรี่

  • การดื่มแอลกอฮอล์

  • การติดเชื้อต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อที่เหงือก การติดเชื้อในกระแสเลือด

  • การติดเชื้อที่อวัยวะส่วนล่าง เช่น การติดเชื้อในน้ำคร่ำ การติดเชื้อที่มดลูก

  • อาการทางสุขภาพเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง

  • ความเครียด

  • ภาวะซึมเศร้า

  • มีภาวะน้ำคร่ำมาก

  • มีเลือดออกทางช่องคลอดในขณะตั้งครรภ์

  • ทารกมีความพิการตั้งแต่อยู่ในครรภ์

  • คุณแม่ตั้งครรภ์ตอนอายุมากเกินไป (มากกว่า 35 ปี) หรือตั้งครรภ์ตอนอายุน้อยเกินไป (น้อยกว่า 17 ปี)

เหตุใดทารกที่เกิดก่อนครบ 7 เดือนจึงมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่า

เพราะอวัยวะสำคัญและระบบต่าง ๆ ของร่างกายยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ เช่น ปอดยังไม่สมบูรณ์ หรือหัวใจยังไม่สมบูรณ์ เมื่อเกิดออกมาแล้วจึงเสี่ยงที่จะเสียชีวิต แม้ว่าแพทย์จะใช้อุปกรณ์ช่วยต่าง ๆ อย่างเต็มที่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโอกาสที่จะไม่รอดชีวิตนั้นมีสูงมาก

เด็กเกิดก่อนกำหนด 7 เดือนจะมีน้ำหนักประมาณเท่าไหร่

เด็กที่เกิดก่อนกำหนดนั้น จะมีน้ำหนักแรกเกิดที่น้อย โดยเด็กที่เกิดเมื่ออายุครรภ์ 7 อาจจะมีน้ำหนักแรกเกิดราว ๆ 800 – 1,300 กรัม

ความเสี่ยงด้านสุขภาพของทารกที่เกิดก่อนกำหนด 7 เดือนมีอะไรบ้าง


เด็กที่เกิดก่อนกำหนด แม้ว่าจะรอดชีวิตมาได้ แต่ก็ยังมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาสุขภาพในระยะยาวด้วยเช่นกัน โดยความเสี่ยงด้านสุขภาพของทารกที่เกิดก่อนกำหนดนั้น สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

ความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะสั้น

  • ปัญหาด้านการหายใจ เนื่องจากระบบทางเดินหายใจยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ ปอดของทารกที่เกิดก่อนกำหนดมักขาดสารลดแรงตึงผิว ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้ปอดขยายตัว ทำให้ทารกอาจมีอาการหายใจลำบากเนื่องจากปอดไม่สามารถขยายและหดตัวได้ตามปกติ

  • ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ โดยกลุ่มปัญหาสุขภาพหัวใจที่พบบ่อยที่สุดในหมู่ทารกที่เกิดก่อนกำหนด ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจเกิน (Patent Ductus Arteriosus หรือ PDA)   และความดันต่ำ (Hypotension) ซึ่งภาวะเหล่านี้แม้ว่าจะรักษาได้ แต่ถ้าหากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะเสียงฟู่ของหัวใจ หัวใจล้มเหลว และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

  • ปัญหาเกี่ยวกับสมอง เพราะสมองของทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่ ดังนั้น ยิ่งทารกเกิดเร็วเท่าใด ความเสี่ยงต่อสมองมากเท่านั้น เช่น เสี่ยงที่จะมีเลือดออกในสมองมากขึ้น

  • สูญเสียความร้อนอย่างต่อเนื่อง เด็กที่เกิดก่อนกำหนดนั้น ร่างกายยังสร้างไขมันในร่างกายได้ไม่เต็มที่ การที่เกิดออกมาก่อนจึงทำให้ร่างกายไม่สามารถที่จะกักเก็บความร้อนเอาไว้ได้มากเท่าที่ควร ทำให้ความร้อนที่บริเวณพื้นผิวของร่างกายลดลงอย่างต่อเนื่อง เสี่ยงต่อภาวะตัวเย็นเกิน (Hypothermia) ซึ่งจะส่งผลต่อระบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย และอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

  • ปัญหาในระบบทางเดินอาหาร เพราะระบบทางเดินอาหารยังไม่สมบูรณ์ จึงเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ภาวะลำไส้เน่าอักเสบ (Necrotizing Enterocolitis: NEC) ซึ่งเป็นภาวะร้ายแรงที่เสี่ยงจะทำให้เซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เกิดการอักเสบ อย่างไรก็ตาม หากทารกที่เกิดก่อนกำหนดได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียว ก็จะช่วยลดจากภาวะดังกล่าวได้ เนื่องจากนมแม่ย่อยง่ายและมีสารภูมิคุ้มกันให้กับทารก

  • ปัญหาเกี่ยวกับเลือด ทารกที่เกิดก่อนกำหนดมีความเสี่ยงต่อปัญหาเลือด เช่น โรคโลหิตจางและโรคดีซ่านในทารกแรกเกิด ภาวะโลหิตจาง

  • ปัญหาในระบบเผาผลาญ ทารกเกิดก่อนกำหนดบางคนอาจมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างผิดปกติ (ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ) ทำให้ร่างกายย่อยและกักเก็บปริมาณกลูโคสได้น้อย

  • ปัญหาต่อระบบภูมิคุ้มกัน ปัญหาระบบภูมิคุ้มกันต่ำ มักพบได้บ่อยในทารกที่เกิดก่อนกำหนด ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด

ความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาว

  • ภาวะสมองพิการ เป็นความผิดปกติของการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อหรือท่าทางที่อาจเกิดจากการติดเชื้อ การไหลเวียนของเลือดไม่เพียงพอ หรือการบาดเจ็บของสมองที่กำลังพัฒนาของทารกแรกเกิด ทั้งในช่วงตั้งครรภ์หรือในขณะที่ทารกยังเด็กและยังไม่บรรลุนิติภาวะ

  • บกพร่องด้านการเรียนรู้ เด็กที่เกิดก่อนกำหนดมักมีแนวโน้มที่จะมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกันที่เกิดครบตามกำหนด

  • ปัญหาเกี่ยวกับสายตา ทารกที่เกิดก่อนกำหนดอาจเป็น โรคจอประสาทตาผิดปกติในทารกที่เกิดก่อนกำหนด (Retinopathy of Prematurity หรือ ROP)  ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดที่เรตินาเจริญที่ผิดปกติ หากเป็นมากอาจดึงรั้งเรตินา ทำให้มีการหลุดลอกของจอประสาทตาได้ ซึ่งภาวะดังกล่าวนี้ หากตรวจพบช้าเกินไปอาจทำให้การมองเห็นบกพร่องและทำให้ตาบอดได้

  • ปัญหาด้านการได้ยิน เด็กที่เกิดก่อนกำหนด มีแนวโน้มที่จะสูญเสียการได้ยินไปในระดับหนึ่ง ซึ่งก่อนที่แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้าน จะมีการตรวจละเอียดอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าทารกมีการได้ยินที่ปกติหรือไม่

  • ปัญหาสุขภาพฟัน ทารกที่เกิดก่อนกำหนดมักจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางทันตกรรมมากกว่าเด็กที่เกิดตามกำหนด เช่น ฟันขึ้นช้า ฟันเปลี่ยนสี หรือฟันเรียงตัวผิดปกติ

  • ปัญหาทางด้านสภาพจิตใจหรือพฤติกรรม มักเสี่ยงที่จะมีปัญหาด้านพฤติกรรมหรือสภาพจิตใจ หรือมีพัฒนาการที่ล่าช้า

  • ปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เด็กที่เกิดก่อนกำหนดนั้นมักมีโอกาสที่จะมีปัญหาสุขภาพเรื้อรังในระยะยาวสูง เช่น การติดเชื้อ โรคหอบหืด หรือโรคไหลตาย และเด็กที่เกิดก่อนกำหนดหลายรายอาจต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลบ่อยกว่าเด็กทั่วไปที่เกิดครบกำหนด

ไขข้อข้องใจเรื่องการเกิดก่อนกำหนด 7 เดือนกับ Enfa Smart Club


 7 เดือน ลูกในครรภ์ขนาดตัวเท่าไหร่?

ขนาดตัวของทารกอายุครรภ์ 7 เดือน จะอยู่ราว ๆ 36 – 40 เซนติเมตร

 เกิดก่อนกำหนด 32 สัปดาห์ อันตรายไหม?

การเกิดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ถือว่าเสี่ยงอันตรายทั้งนั้นค่ะ แต่จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพพื้นฐานของคุณแม่ อาหารการกิน ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต เป็นต้น

 ท้อง 35 สัปดาห์ ทารกเกิดได้ไหม?

คุณแม่อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ ทารกสามารถเกิดได้ค่ะ และถือว่าเป็นการเกิดก่อนกำหนด แต่เป็นการเกิดก่อนกำหนดที่เด็กมีโอกาสรอดชีวิตสูง มีโอกาสเป็นโรคเรื้อรังน้อย และมีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพแข็งแรงเช่นเดียวกับเด็กที่เกิดตามกำหนด


    บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

    EFB Form

    EFB Form