Leaving page banner
 

threatened-abortion

ภาวะแท้งคุกคาม ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ที่ต้องระวัง

หนึ่งในความวิตกกังวลขณะตั้งครรภ์ก็คือ การตั้งครรภ์นั้นอาจนำไปสู่การแท้ง หรือ ภาวะแท้งคุกคาม ได้ ซึ่งมักจะนำมาซึ่งความสูญเสียจนยากจะทำใจ แต่ภาวะแท้งคุกคามเกิดขึ้นได้บ่อยแค่ไหน แล้วมีโอกาสที่จะป้องกันภาวะแท้งคุกคามได้หรือไม่ มาหาคำตอบกันค่ะ

เลือกอ่านตามหัวข้อ

• ภาวะแท้งคุกคามคืออะไร
สาเหตุของภาวะแท้งคุกคาม
• ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะแท้งคุกคาม
• เลือดล้างหน้าเด็กกับภาวะแท้งคุกคามแตกต่างกันอย่างไร
• อาการแท้งคุกคามเป็นอย่างไร
• เมื่อไหร่ที่คุณแม่ควรไปพบแพทย์
• การดูแลตัวเองเมื่อมีภาวะแท้งคุกคาม
• ป้องกันการเกิดภาวะแท้งคุกคามได้ยังไงบ้าง
• ไขข้อข้องใจเรื่องภาวะแท้งคุกคามกับ Enfa smart club

ภาวะแท้งคุกคามคืออะไร


ภาวะแท้งคุกคาม (Threatened Abortion) เป็นลักษณะความผิดปกติของการตั้งครรภ์รูปแบบหนึ่ง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยจะมีเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งเลือดที่ออกทางช่องคลอดในระยะนี้มักพบได้ในผู้หญิงตั้งครรภ์มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์

หรืออาจกล่าวได้ว่า การมีเลือดออกในช่วงแรกของการตั้งครรภ์นั้นเป็นอาการที่พบได้โดยทั่วไป แต่ทว่าจะมีหญิงตั้งครรภ์ราว ๆ 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่สามารถอุ้มท้องต่อไปได้จนกระทั่งครบกำหนดคลอด ขณะที่อีกรายหลายพบว่ามีการแท้งไปก่อน

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

แท้งคุกคามเกิดจากอะไร


ภาวะแท้งคุกคามนั้นไม่มีสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด อีกทั้งการมีเลือดออกทางช่องคลอดในระยะแรก ๆ ของการตั้งครรภ์นั้น ก็สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • เป็นช่วงที่ตัวอ่อนกำลังฝังตัว

  • เกิดการติดเชื้อในช่องคลอด

  • การระคายเคืองจากการมีเพศสัมพันธ์

  • การแท้ง

  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก

  • ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก

ดังนั้น การมีเลือดออกในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ จึงอาจหมายถึงสาเหตุหนึ่งสาเหตุใดดังที่กล่าวไปข้างต้น หรืออาจจะเป็น ภาวะแท้งคุกคาม ก็ได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะแท้งคุกคาม


มีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่อาจนำไปสู่ภาวะแท้งคุกคามได้ ดังนี้

  • เกิดความผิดปกติของการตั้งครรภ์ เช่น โครโมโซมผิดปกติ ทารกเกิดความผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์

  • การตั้งครรภ์ตอนอายุมาก ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไปมีโอกาสสูงที่จะเกิดการแท้ง

  • มีประวัติการแท้งมาก่อน อาจเพิ่มความเสี่ยงของการแท้งในครรภ์ต่อมาได้

  • อุบัติเหตุรุนแรง การพลัดตก หกล้ม หรือถูกกระทบกระเทือนที่ท้อง อาจนำไปสู่การแท้งได้

  • ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือเสพสารเสพติด อาจเพิ่มความเสี่ยงของความผิดปกติในการตั้งครรภ์

เลือดล้างหน้าเด็กกับภาวะแท้งคุกคามแตกต่างกันอย่างไร


การมีเลือดออกในช่วงแรกสุดของการตั้งครรภ์ อาจหมายถึง เลือดล้างหน้าเด็ก ที่เกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อนลงในเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังจากที่ไข่กับอสุจิเกิดการปฏิสนธิกันผ่านไปแล้วประมาณ 7-10 วัน 

ในขณะที่เลือดออกจากภาวะแท้งคุกคาม มักจะเกิดขึ้นในช่วงใดก็ได้ภายใน 20 สัปดาห์ ของการตั้งครรภ์

อาการแท้งคุกคามเป็นอย่างไร


อาการหลัก ๆ ที่อาจแสดงถึงภาวะแท้งคุกคามคือการมีเลือดออกทางช่องคลอดในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ และมีอาการปวดท้อง ปวดท้องน้อย ปวดเป็นตะคริวที่บริเวณท้องร่วมด้วย หากมีอาการร่วมเหล่านี้ควรไปพบแพทย์ทันที

เมื่อไหร่ที่คุณแม่ควรไปพบแพทย์


โดยปกติแล้ว หากมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ไม่ว่าจะระยะใด หรือตั้งครรภ์ไตรมาสไหน ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยทันที รวมถึงหากมีอาการดังต่อไปนี้ ก็ควรไปพบแพทย์โดยทันที

  • มีเลือดออกทางช่องคลอดมากผิดปกติ จนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ ชั่วโมง

  • มีอาการปวดท้องรุนแรง ปวดเป็นตะคริว คล้ายกับอาการปวดท้องประจำเดือน

  • มีไข้สูง

  • อาเจียนอย่างรุนแรง

การดูแลตัวเองเมื่อมีภาวะแท้งคุกคาม


เมื่อมีภาวะแท้งคุกคาม และสูญเสียทารกไปแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้มีการดูแลตัวเองง่าย ๆ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการออกแรง งดการเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

  • ไม่ฉีดหรือสอดใส่สิ่งใดเข้าช่องคลอด แม้แต่ผ้าอนามัยแบบสอดก็ควรงดใช้

  • งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการต่าง ๆ จะดีขึ้น หรือควรรออย่างน้อย 1 สัปดาห์แล้วจึงมีเพศสัมพันธ์ หรือสอบถามกับแพทย์ก่อนเพื่อความมั่นใจ

  • หลังจากทำการรักษาภาวะแท้งคุกคามแล้ว ควรกลับไปพบแพทย์ตามที่นัดหมายเอาไว้ เพื่อทำการตรวจเช็กร่างกายอีกครั้ง โดยแพทย์มักจะนัดให้กลับไปตรวจอีกครั้งเมื่อผ่านไปประมาณ 2-3 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ภาวะแท้งคุกคามไม่ได้หมายความว่าจะมีการแท้งลูกจริง ๆ เสมอไป มีหลายกรณีที่การตั้งครรภ์ยังสามารถดำเนินต่อไปได้จนคลอด

ซึ่งหากได้รับการวินิจฉัยแล้วว่ามีภาวะแท้งคุกคาม ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา

ป้องกันการเกิดภาวะแท้งคุกคามได้ยังไงบ้าง?


เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เราไม่สามารถป้องกันภาวะแท้งคุกคามได้ เนื่องจากสาเหตุการเกิดภาวะแท้งคุกคามเองก็ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม การหมั่นดูแลตัวเองตั้งแต่ก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์อย่างสมบูรณ์ได้ ดังนี้

  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์

  • ไม่สูบบุหรี่

  • ไม่เสพสารเสพติด

  • หลีกเลี่ยงหรือจำกัดการดื่มหรือกินอาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน

  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติเสมอ

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ

  • ผ่อนคลายอารมณ์อยู่เสมอ

  • กินอาหารที่มีประโยชน์

  • ป้องกัน หรือรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อดังกล่าวลุกลามไปยังทารกในครรภ์

ไขข้อข้องใจเรื่องภาวะแท้งคุกคามกับ Enfa smart club


 ภาวะแท้งคุกคาม เลือดจะออกกี่วัน?

ระยะเวลาของเลือดออกจากภาวะแท้งคุกคามนั้นไม่ตายตัว บางกรณีอาจมีเลือดออกมากหรือออกน้อยแตกต่างกันไป ก็จะทำให้ระยะเวลาที่มีเลือดออกนั้นต่างกันไปด้วย

 ตั้งครรภ์ มีเลือกออกกระปริดกระปรอย แบบนี้อันตรายหรือไม่?

การมีเลือดออกกระปริดกระปรอยขณะตั้งครรภ์ อาจเป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวล หากเป็นกรณีที่ตัวอ่อนมีการฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งจะทำให้เกิดเลือดล้างหน้าเด็กออกมาทางช่องคลอด

แต่...ถ้ามีเลือดออกกระปริดกระปรอยติดต่อกันหลายวันหรือหลายสัปดาห์ หรือมีอาการปวดหน่วงที่ท้องน้อย ปวดคล้ายเป็นตะคริวแบบเป็น ๆ หาย ๆ ที่ท้องน้อย หรือปวดท้องคล้ายมีประจำเดือนร่วมด้วย อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะแท้งคุกคาม

 เลือดออกขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ แบบนี้คืออาการแท้งคุกคามหรือไม่?

เลือดออกในช่วงต้นของการตั้งครรภ์สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาจเป็นเลือดล้างหน้าเด็ก หรือมีการติดเชื้อในช่องคลอด

แต่ถ้ามีเลือดออกในช่วงสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ และมีอาการปวดหน่วงที่ท้องน้อย ปวดคล้ายเป็นตะคริวแบบเป็น ๆ หาย ๆ ที่ท้องน้อย หรือปวดท้องคล้ายมีประจำเดือนร่วมด้วย อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะแท้งคุกคาม

 เลือดออกเป็นลิ่มขณะตั้งครรภ์ เสี่ยงแท้งหรือไม่?

เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าเลือดออกขณะตั้งครรภ์นั้นเป็นการแท้งหรือไม่ เพราะการมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์สามารถหมายถึงอาการอื่น ๆ ได้หลายอาการ อาจเป็นการแท้งหรือไม่ก็ได้

ดังนั้น หากพบว่ามีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ ไม่ว่าในระยะใด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยว่าเสี่ยงต่อการแท้งหรือไม่

 แม่ตั้งครรภ์ มีเลือดออก แต่ไม่ปวดท้อง อันตรายหรือไม่?

โดยทั่วไปแล้วการมีเลือดออกขณะตั้งครรภ์นั้นไม่ควรชะล่าใจ เนื่องจากอาจหมายถึงอาการอื่น ๆ ที่ปกติต่อสุขภาพ หรือผิดปกติต่อการตั้งครรภ์ก็ได้

ดังนั้น หากมีเลือดออก จะมีอาการร่วมหรือไม่มีอาการร่วม ก็ควรไปพบแพทย์ทันที

 ภาวะแท้งคุกคามตรวจเจอไหม?

การตรวจหาภาวะแท้งคุกคาม จำเป็นต้องมีการตรวจในหลายขั้นตอนเพื่อการวินิจฉัย โดยสามารถทำการวินิจฉัยได้ ดังนี้

  • การตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อดูว่าทารกยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หรือเกิดความผิดปกติในการตั้งครรภ์อื่น ๆ อยู่หรือไม่

  • การตรวจระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ หรือ hCG เพื่อดูว่าระดับฮอร์โมนตั้งครรภ์ลดลงหรือไม่ ก็จะสามารถบอกได้ว่า ทารกในครรภ์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

  • การซักประวัติ โดยจะเป็นคำถามทั่วไปเกี่ยวกับตัวคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อดูว่าพบความผิดปกติในช่วงใด หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ อีกหรือไม่

 มีภาวะแท้งคุกคาม แล้วจะมีลูกได้อีกไหม?

ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์กว่าร้อยละ 50 ที่มีภาวะแท้งคุกคาม แต่ยังสามารถอุ้มท้องต่อไปได้จนกระทั่งคลอด และผู้ที่มีประวัติภาวะแท้งคุกคามมาก่อน ก็ยังสามารถที่จะตั้งครรภ์โดยสมบูรณ์ได้อีกครั้งเช่นกัน

แต่ควรปรึกษากับแพทย์ก่อนที่จะวางแผนการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป เพื่อประเมินโอกาสและความเป็นไปได้ และเพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกด้วย

 แท้งคุกคามมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม?

หากมีภาวะท้องคุกคาม แต่ตัวอ่อนยังมีชีวิตอยู่ และสามารถอุ้มท้องต่อไปได้จนถึงคลอด โดยมากแพทย์มักแนะนำให้งดการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือน หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

แต่ในกรณีที่มีภาวะแท้งคุกคามและสูญเสียทารกไปแล้ว แพทย์จะแนะนำให้รอจนกว่าร่างกายจะฟื้นตัวดี โดยทั่วไปก็จะประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากทำการรักษาภาวะคุกคาม

 แท้งคุกคามห้ามกินอะไร?

หากมีภาวะท้องคุกคาม แต่ตัวอ่อนยังมีชีวิตอยู่ คุณแม่ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ และลดอาหารที่เสี่ยงต่อทารกในครรภ์ เช่น อาหารที่มีรสเผ็ดจัด แอลกอฮอล์ คาเฟอีน รวมถึงสารเสพติดทุกชนิดด้วย

 ภาวะแท้งคุกคาม ขับรถได้ไหม?

หากมีภาวะท้องคุกคาม แต่ตัวอ่อนยังมีชีวิตอยู่ โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะไม่แนะนำให้คุณแม่มีการเคลื่อนไหวมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน หรือการวิ่ง รวมถึงกิจกรรมที่ต้องมีการเกร็งท้องนาน ๆ หรือเพิ่มความดันในช่องท้อง หรือยกของหนัก ๆ ควรงดไว้ทั้งหมด แม้แต่การขับรถเองก็ควรจะต้องงดไปก่อน

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

EFB Form

EFB Form