Enfa สรุปให้

  • เด็กทารกกับการร้องไห้นั้นเป็นของคู่กัน และเป็นเรื่องปกติ เพราะเด็กทารกยังไม่สามารถพูดได้ การสื่อสารทางเดียวที่สามารถสื่ออกมาได้ก็คือการร้องไห้

  • เด็กอาจร้องไห้มีหลายสาเหตุ ทั้งหิวนม ง่วงนอน ผ้าอ้อมแฉะ เสื้อผ้าคับไป หนาไป อากาศร้อนไป แสงจ้าไป แมลงสัตว์กัดต่อย ไม่สบาย ติดเชื้อ มีไข้สูง ไปจนถึงอาการโคลิค

  • เด็กวัย 1-2 เดือน อาจร้องไห้มากถึง 3 ชั่วโมงต่อวัน แต่เมื่ออายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป อาจร้องไห้เฉลี่ย 1 ชั่วโมงต่อวัน และเมื่ออายุมากขึ้น การร้องไห้งอแงและอาการโคลิคก็จะค่อย ๆ ลดลง

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ลูกร้องไม่มีสาเหตุเกิดจากอะไร
     • ลูกนอนอยู่ดี ๆ ก็ร้องไห้
     • เข้าใจอาการทารกร้องไม่มีสาเหตุตามช่วงอายุ
     • รับมือเมื่อลูกร้องตะเบ็งเสียง ร้องเหมือนใจจะขาด
     • ลูกพ้นวัยทารกแล้ว มีโอกาสร้องไห้ไม่มีสาเหตุไหม
     • อาการไม่สบายท้อง อีกสาเหตุลูกร้องไม่มีสาเหตุ

“เด็กร้อง มันมีไม่กี่อย่างหรอก ถ้าไม่หิว ก็ปวดอึ” ซึ่งก็เป็นความจริงค่ะ ส่วนมากแล้วเจ้าตัวเล็กมักจะร้องไห้ตอนที่หิวหรือปวดอึจริง ๆ แต่ถ้าอยู่ดี ๆ ลูกน้อยร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุล่ะ

ถ้ากินอิ่มแล้ว อึแล้ว แต่ยังร้องไห้อยู่ อาการเหล่านี้เกิดจากอะไร แล้วเด็กร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุได้จริง ๆ หรือ? วันนี้ enfa จะพาคุณแม่มาร่วมไขความลับจักรวาลการร้องไห้โยเยแบบไม่มีสาเหตุของลูกน้อยกันค่ะ

ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ เกิดจากอะไร


การร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุนั้น ไม่มีค่ะ! ทุกครั้งที่เด็กร้องไห้ย่อมต้องมีสาเหตุรองรับอยู่แล้ว เพียงแต่สาเหตุที่ทำให้เด็กร้องไห้นั้นมันมีเยอะมาก ๆ เพียงแต่เด็กยังไม่สามารถพูดหรือบอกเราได้ว่าร้องไห้ทำไม เพราะอะไรถึงร้องไห้

โดยสาเหตุที่เด็กร้องไห้ อาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็น

     • หิวนม
     • ปวดอึ ปวดฉี่
     • ผ้าอ้อมสกปรก ผ้าอ้อมแฉะ
     • อากาศร้อนหรือเย็นเกินไป
     • เหนื่อย อ่อนเพลีย
     • ง่วงนอน
     • มดกัด หรือแมลงกัด
     • ไม่สบาย มีไข้
     • ติดเชื้อต่าง ๆ
     • เสื้อผ้ารัดแน่นเกินไป หรือเนื้อผ้าก่อให้เกิดอาการระคายเคือง

ลูกนอนอยู่ดี ๆ ก็ร้องไห้ อาการแบบนี้ไม่มีสาเหตุจริงหรือ?


การร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุนั้น อืม...จริง ๆ แล้วการร้องไห้มันต้องมีสาเหตุอยู่แล้วค่ะ อาจจะเป็นเพราะรู้สึกหิว ง่วงนอน ปวดอึ ไม่สบาย หรือมีอาการเจ็บป่วยใด ๆ ที่เราไม่สามารถรู้ได้ และที่เราไม่รู้นั่นก็เป็นเพราะว่าเจ้าตัวเล็กยังพูดไม่ได้ไงคะ ลูกบอกเราไม่ได้ว่าร้องไห้เพราะอะไร ดังนั้น การสื่อสารเพียงอย่างเดียวที่ลูกจะทำได้ก็คือการร้องไห้ออกมาดัง ๆ นั่นเอง

บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ โดยเฉพาะพ่อแม่มือใหม่หลายคนที่เพิ่งจะพบเหตุการณ์แบบนี้เข้ากับตัวเองครั้งแรก ก็มีอันต้องงุนงงกันไปเป็นแถบว่าทำไมลูกร้องไห้ไม่ยอมหยุด เอานมให้กินก็ไม่กิน อึก็ไม่ปวด ยิ่งปลอบให้หยุดร้อง ลูกก็ยิ่งร้อง เลยทำให้โกรธ รำคาญ โมโห จนไม่ได้คิดหาสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจเป็นไปได้ เลยปัดตกไปว่าอยู่ดี ๆ ลูกก็ร้องแบบไม่มีสาเหตุ

อย่างไรก็ตาม อาการที่ค่อนข้างจะเข้าเค้าว่าอาจจะใกล้เคียงกับอาการร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุของเด็กก็คือ อาการโคลิค ซึ่งมีลักษณะอาการ ดังนี้ 

     • เด็กจะร้องไห้งอแงไม่หยุด และร้องไห้รุนแรงกว่าปกติ ปลอบยังไงก็ไม่หยุดร้อง

     • ร้องไห้นานติดต่อกันเป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือหลายวัน

     • ในแต่ละวันเด็กมักจะร้องไห้ในเวลาเดิมซ้ำ ๆ

     • ขณะร้องไห้ เด็กมักจะมีอาการแผดเสียงร้องรุนแรงจนหน้าแดง กำมือแน่น และยกขาขึ้นสูง

ซึ่งอาการโคลิคนี้ก็ยังไม่มีสาเหตุแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่โดยมากแล้วสาเหตุที่มักจะพบได้ในเด็กเหล่านี้คือปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหาร เพราะระบบทางเดินอาหารของทารกยังทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงอาจพบปัญหาเกี่ยวกับการมีแก๊สในกระเพาะอาหารมากเกินไป

นมไม่ย่อยและมีนมตกค้างในกระเพาะอาหารจนอึดอัดท้อง หรือจุลินทรีย์ในลำไส้เกิดความไม่สมดุล ทำให้อาหารไม่ย่อย จนลูกรู้สึกไม่สบายตัว และร้องไห้งอแง

เข้าใจอาการทารกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ ตามช่วงอายุ


เด็กทารกร้องไห้นั้น เป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อยมากในช่วงขวบปีแรกค่ะ แต่เมื่ออายุมากขึ้น อัตราการร้องไห้ของลูกก็จะค่อย ๆ ลดลงตามลำดับด้วยเหมือนกัน

ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ 1 เดือน

เด็กทารกวัย 1 เดือนนี้ ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังคลอด ทารกมักจะไม่ค่อยร้องไห้ และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอน แต่พออายุครบ 2 สัปดาห์ขึ้นไป ก็จะพบว่าทารกเริ่มร้องไห้มากขึ้นค่ะ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะร้องขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนมากนัก แต่ก็มักจะเป็นเรื่องของการหิวนม ง่วงนอน หรืออาจเกิดจากอาการโคลิค

ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ 2 เดือน

เด็กทารกในวัย 6-8 สัปดาห์นี้จะเริ่มร้องไห้โยเยมากขึ้นค่ะ โดยอาจจะร้องไห้เฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว ซึ่งโดยมากก็จะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดเช่นกันค่ะ โดยอาจจะเกิดจากสาเหตุ ดังนี้

     • ความหิว
     • ง่วงนอน
     • กินนมมากเกินไป
     • ได้รับปริมาณคาเฟอีนมาจากนมแม่
     • เสื้อผ้าคับไป หรือหนาไป
     • ผ้าอ้อมแฉะ
     • โคลิค

ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ 3 เดือน

เด็กวัย 3 เดือน ก็ยังคงร้องไห้เหมือนเดิม แต่ในปริมาณที่ลดลง โดยเด็กที่อายุ 10-12 สัปดาห์จะร้องไห้เฉลี่ยเหลือวันละประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งสาเหตุนั้นก็ยังเรียกได้ว่าหลากหลายอยู่เช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็น

     • ความหิว
     • ง่วงนอน
     • กินนมมากเกินไป
     • ได้รับปริมาณคาเฟอีนมาจากนมแม่
     • เสื้อผ้าคับไป หรือหนาไป
     • ผ้าอ้อมแฉะ
     • โคลิค

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ 4 เดือน

เด็กวัย 4 เดือน ยังคงร้องไห้เฉลี่ย 1 ชั่วโมงต่อวันค่ะ เพราะยังไม่สามารถพูดหรือสื่อสารในแบบอื่น ๆ ได้ การร้องไห้ยังคงเป็นการสื่อสารหลักที่ลูกน้อยใช้สื่อสารกับพ่อและแม่

ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ 5 เดือน

เด็กวัย 5 เดือน สามารถที่จะแสดงออกความรู้สึกตามอารมณ์ของตนเองบ้างแล้ว การร้องไห้จึงอาจเกิดจากอาการโกรธ หงุดหงิด ไม่พอใจ หรือเศร้า

ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ 6 เดือน

เด็กวัย 6 เดือนเป็นต้นไป อาจมีสาเหตุใหม่ ๆ ที่ทำให้มีอาการร้องไห้งอแง นั่นก็คือ เจ้าตัวเล็กอาจจะร้องไห้เพราะฟันเริ่มขึ้นค่ะ โดยในช่วง 6 - 12 เดือน ฟันซี่แรกของทารกจะเริ่มงอก ฟันที่เริ่มแทงหน่อออกมาจากเหงือกอาจทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายตัว หงุดหงิด หรือคันเหงือก จึงร้องไห้ออกมา

ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ 7 เดือน

เด็กวัย 7 เดือน ถือว่ามีพัฒนาการด้านความจำเพิ่มมากขึ้น เด็กวัยนี้เริ่มจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ เริ่มรู้ว่าของสิ่งนี้วางตรงไหน และจับสังเกตได้ว่าของสิ่งนี้ไม่อยู่ที่เดิม ซึ่งนั่นหมายความว่าเด็ก 7 เดือนเริ่มที่จะมีการสร้างความคุ้นเคยและความผูกพันขึ้นแล้ว

ดังนั้น บางครั้งเด็กวัยนี้จึงอาจร้องไห้เพราะความวิตกกังวลต่อสภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากเดิม กลัวการพลัดพราก ตกใจคนแปลกหน้า ร้องไห้เมื่อต้องแยกจากพ่อแม่ หรือพี่เลี้ยงคนสนิท ร้องไห้เมื่อพบเจอคนที่ไม่คุ้นเคย

ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ 8 เดือน

เด็กวัย 8 เดือน อารมณ์และความรู้สึกก็พัฒนามากขึ้นค่ะ เด็กวัยนี้อาจพบกับภาวะที่เรียกว่า โรควิตกกังวลต่อการแยกจาก (Separation Anxiety Disorder; SAD) คือ มีการร้องไห้เมื่อต้องพลัดพรากจากคนคุ้นเคย และร้องไห้เมื่ออยู่กับคนแปลกหน้า

ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ 9 เดือน

เด็กวัย 9 เดือน แม้จะไม่ร้องไห้มากเท่าทารกวัยแรก 3 เดือนแรก แต่ก็ยังร้องไห้โยเยอยู่เรื่อย ๆ และจะมีการร้องไห้ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์มากขึ้น ทั้งการโกรธ เศร้า เสียใจ วิตกกังวล หรือแม้แต่เวลาเขินอายก็ร้องไห้ด้วยเหมือนกัน

ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ 10 เดือน

เด็กวัย 10 เดือนนี้เริ่มมีการตั้งไข่ เริ่มหัดยืนด้วยตัวเองแล้ว และแน่นอนว่าก็ยังคงร้องไห้อยู่บ้างเหมือนกันค่ะ ซึ่งการร้องไห้ของเด็กวัยนี้จะยังเป็นเรื่องของอารมณ์ที่นับวันก็จะมีความชัดเจนมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น ไม่ยอมให้คนอื่นอุ้มเลยถ้าไม่ใช่คนคุ้นเคย ร้องไห้ตอนแม่เดินหายไป ร้องไห้ตอนแม่ปล่อยลงกับพื้น แต่พอแม่กลับมาอุ้ม ก็ยังคงร้องอยู่ ซึ่งนั่นเป็นวิธีปลดปล่อยความเครียดของเด็กที่สะสมมาจากสถานการณ์ก่อนหน้า แม้ว่าแม่จะกลับมาปลอบใจแล้วก็ตาม

ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ 11 เดือน

การร้องไห้ของเด็กวัย 11 เดือน จะเริ่มมีสาเหตุอื่น ๆ พ่วงเข้ามาด้วย เช่น เริ่มมีการร้องไห้เมื่อถูกจำกัดให้อยู่ในกฎ หรือเริ่มร้องไห้เพื่อเรียกร้องความสนใจมากขึ้น

ซึ่งช่วงเวลานี้ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่เข้าไปโอ๋ทันที เด็กจะเริ่มกระบวนการจดจำทันทีว่า ทำเช่นนี้พ่อแม่จะมาหา ถ้าร้องไห้จะได้ในสิ่งที่ต้องการ พ่อแม่จะต้องเริ่มเว้นระยะห่าง ไม่เข้าไปโอ๋ทันที แต่ควรปล่อยหรือทำเป็นไม่สนใจ รอดูว่าลูกจะหยุดร้องไห้เองไหม เพื่อไม่ให้เป็นการส่งเสริมนิสัยเอาแต่ใจแล้วร้องไห้กรี๊ด

ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ 12 เดือน

เด็กวัย 1 ขวบ แม้จะเริ่มพูดอ้อแอ้ไม่เป็นประสา ไม่เป็นคำ แต่อาการร้องไห้ก็ยังคงเป็นเรื่องปกติของเด็กวัยนี้ค่ะ และการร้องไห้จะเริ่มมีเรื่องของอารมณ์และความฉุนเฉียวเข้ามาร่วมมากขึ้น ซึ่งถือเป็นวัยเริ่มต้นที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องไม่ตามใจเวลาลูกร้องไห้มากเกินไป เพราะจะเป็นการฟูมฟักให้เด็กโตมาแล้วเอาแต่ใจ เพราะรู้ว่าร้องไห้แล้วจะได้ในสิ่งที่ต้องการ

จะเห็นได้ว่า เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น สาเหตุของการร้องไห้ก็จะมีพัฒนาการที่ซับซ้อนขึ้นตามวัย จากที่ร้องไห้เพราะหิวนม ง่วงนอน ผ้าอ้อมแฉะ ก็เริ่มมีเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอยู่เสมอว่าลูกร้องไห้บ่อยไปไหม ลูกมีไข้หรือเปล่า ตัวร้อนไหม กินอาหารน้อยลงไหม น้ำหนักลดลงไหม มีอาการอ่อนเพลีย เซื่องซึมหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าอาการร้องไห้ของเด็ก ยังมีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาจากแพทย์ด้วย

ลูกร้องตะเบ็งเสียง ลูกร้องเหมือนจะขาดใจ คุณพ่อคุณแม่จะรับมือยังไงดี


เมื่อลูกร้องไห้ ร้องยังไงก็ไม่หยุดสักที ปานจะขาดใจ คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถทำอะไรได้ค่ะ นอกจากทำใจ เพราะนี่คือธรรมชาติของเด็กที่ยังไม่สามารถบอกความต้องการของตนเองได้

จะโมโหหรือโกรธที่ลูกร้องไห้ไปก็เท่านั้น ไม่มีประโยชน์อะไรค่ะ ต้องทำใจยอมรับให้ได้ว่านี่คือเรื่องปกติของลูกน้อย และจะยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกหลายเดือน

เมื่อเข้าใจแล้วว่ายังไงลูก็ต้องร้องไห้เป็นธรรมดา ทีนี้เราก็จะมาเข้าสู่วิธีการรับมือที่อาจสามารถช่วยให้เจ้าตัวเล็กหยุดร้องไห้และอารมณ์ดีขึ้นได้

     • อุ้มลูกไว้กับอก พยายามโยกตัวลูก ลูบหรือตบหลังเบา ๆ เวลาอุ้มลูก ให้อุ้มไป เดินไป ให้เกิดการเคลื่อนไหว จะช่วยให้ลูกรู้สึกสบายใจ ผ่อนคลาย และปลอดภัย

     • พูดหรือร้องเพลงด้วยเสียงที่ทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรจะต้องหมั่นสังเกตดูด้วยค่ะว่าในเวลาปกติ เสียงแบบไหนที่ใช้คุยกับลูกแล้วทำให้ลูกอารมณ์ดี

     • แต่ถ้ารู้ตัวว่าเราไม่ได้เกิดมาด้วยพรสวรรค์เรื่องของเสียง ก็อย่าได้แคร์ค่ะ โลกนี้มีเทคโนโลยีที่เรียกว่าแอปพลิเคชันฟังเพลง เลือกเพลย์ลิสต์เพลงสำหรับช่วยให้เด็กผ่อนคลาย อุ้มลูกไป เปิดเพลงไป ก็ช่วยให้ลูกผ่อนคลายได้เหมือนกัน

     • ไม่ใช่แค่พนักงานออฟฟิศนะคะที่ชอบนวด แต่ลูกน้อยก็ชอบการนวดเหมือนกัน เพราะการนวด การสัมผัส ช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย อุ่นใจ และสบายใจ ให้พยายามตบหลังเบา ๆ ลูบหลัง นวดวนหรือลูบเบา ๆ ที่หน้าอก หรือท้องของลูก

     • จุกหลอก เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายและปลอดภัย คุณพ่อคุณแม่ควรมีติดไว้สักอันสองอัน เพราะนี่อาจเป็นไอเทมป้องกันสุขภาพรูหูของคุณพ่อคุณแม่ได้ค่ะ

     • การห่อตัวลูกด้วยผ้าขนหนูนุ่ม ๆ ช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายและปลอดภัยเหมือนเมื่อครั้งยังอยู่ในท้องแม่ได้ค่ะ

     • อาจจะดูอีหยังวะ แต่มีเด็กหลายคนที่หยุดร้องไห้เมื่ออยู่บนรถเข็นหรือรถยนต์ค่ะ ให้ลองพาลูกนั่งรถเข็นเด็กไปรอบ ๆ บ้าน หรือจะพาลูกนั่งคาร์ซีทแล้วขับรถออกไปช่วงเวลาสั้น ๆ อาจช่วยให้ลูกหยุดร้องไห้ได้เหมือนกัน

     • คุณพ่อคุณแม่อาจต้องดูด้วยว่าสภาพแวดล้อมในขณะนั้นรบกวนลูกน้อยหรือเปล่า เช่น แสงส่องตามากไปไหม ร้อนไปไหม เย็นไปไหม เพราะความสงบ แสงหรี่ที่พอเหมาะ อุณหภูมิที่เหมาะสม ช่วยให้เด็กผ่อนคลายและหลับง่ายค่ะ

อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถพลิกแพลงวิธีการต่าง ๆ ได้อีกมากมายค่ะ บางคนใช้วิธีแปลก ๆ เช่น การป้อนนมโดยใส่หน้ากากรูปหน้าคุณแม่เวลาที่แม่ไม่อยู่ ช่วยให้ลูกหยุดร้องไห้และยอมกินนมแต่โดยดีก็มีเหมือนกัน

สิ่งสำคัญคือต้องหมั่นสังเกตลูกน้อยอยู่เสมอว่ามีจุดอ่อนใดที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำมาใช้รับมือและช่วยให้ลูกหยุดร้องไห้ได้ แต่ถ้าหากว่าลองทุกวิธีแล้ว ทำมันมาหมดแล้วไม่ว่าวิธีไหนที่ได้ผล แต่กับลูกฉันไม่ได้ผลเลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าลูกร้องไห้หนักติดต่อกันหลายวัน อย่าเพิ่งน้อยใจค่ะ ให้พาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยทันที เพราะลูกอาจกำลังป่วยหรือไม่สบายก็ได้ค่ะ

ลูกอายุพ้นวัยทารกแล้ว ยังมีโอกาสร้องไห้งอแงโดยไม่มีสาเหตุอยู่หรือไม่


เมื่อลูกเริ่มพ้นวัยทารกไปแล้ว อาการร้องไห้งอแงก็จะลดลงไปตามวัยด้วยเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าลูกจะไม่ร้องไห้เลยนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ยังไม่ถึงวัยที่จะพูดเป็นคำหรือประโยคยาว ๆ ได้ เช่น เด็กวัย 1-2 ขวบ ที่ยังพูดอ้อแอ้อยู่ ก็จะยังใช้การร้องไห้เป็นวิธีในการสื่อสารไปยังพ่อแม่เหมือนเดิม แต่จะร้องไห้มากหรือน้อยนั้นก็แตกต่างกันไปค่ะ เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันอยู่แล้ว

อาการไม่สบายท้อง หนึ่งในสาเหตุที่ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุ


ปัญหาลูกร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุนั้นพบได้อยู่บ่อยครั้งค่ะ และทำยังไงลูกก็ยังไม่ยอมหยุดสักที ผ้าอ้อมก็เปลี่ยนใหม่แล้ว อาบน้ำแล้ว กินนมแล้ว ไข้ก็ไม่มี นอนก็นอนแล้ว แต่ลูกก็ยังร้องไห้ไม่หยุดสักที นั่นอาจเป็นไปได้ว่าลูกร้องไห้เพราะอาการไม่สบายท้องค่ะ

อย่างที่เรารู้กันดีว่าระบบทางเดินอาหารของทารกนั้นยังทำงานได้ไม่เต็มระบบ ดังนั้น จึงเกิดอาการท้องผูก ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย หรือความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ได้เรื่อย ๆ ซึ่งปัญหาในระบบทางดินอาหารเหล่านี้แหละที่มีส่วนทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายตัว อึดอัด ทรมาน และร้องไห้ไม่หยุด

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมแพทย์จึงแนะนำว่าเด็กควรได้กินนมแม่ต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน (และสามารถให้ต่อได้อีก 1-2 ปี) เพราะระบบทางเดินอาหารของทารกยังทำงานได้ไม่เต็มที่ อาหารอย่างเดียวที่เหมาะกับกระเพาะอาหารและลำไส้ของทารกก็คือนมแม่ อาหารประเภทอื่นที่นอกเหนือไปจากนมแม่ถือว่าไม่เหมาะสมสำหรับเด็กวัย 6 เดือน เพราะจะย่อยยาก และส่งผลเสียต่อลำไส้

อย่างไรก็ตาม สำหรับแม่ที่ให้นมลูกได้ ควรให้นมลูกต่อไป แต่สำหรับแม่ที่ไม่สามารถให้นมลูกได้ ควรปรึกษากับแพทย์เพื่อเลือกนมสูตรสำหรับเด็กที่มีเหมาะสำหรับทารกที่มีปัญหาในการย่อย

ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตให้ดีนะคะ หากลูกร้องไห้หนักผิดปกติ ร้องไห้ติดต่อกันหลายชั่วโมง หลายวัน ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัย



บทความแนะนำอาการไม่สบายท้องของลูกน้อย