Enfa สรุปให้

  • ทารกควรนอนหลับอย่างเพียงพอ เพราะการนอนหลับที่เพียงพอจะช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายของทารกสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นปกติ ทำให้ทารกเติบโตได้สมวัย

  • ช่วงวัยของทารกจะเป็นข้อกำหนดที่สำคัญว่าทารกในอายุนี้ ควรจะนอนให้ได้อย่างน้อยวันละกี่ชั่วโมง โดยในแต่ละช่วงวัยก็จะมีจำนวนช่วงเวลาที่ต้องการนอนแตกต่างกันออกไป

  • มากไปกว่านั้น เมื่อทารกเริ่มโตขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรเร่งฝึกให้ทารกเข้านอนตามตารางการนอน เพื่อให้นาฬิกาชีวภาพของทารกสามารถจดจำไทม์ไลน์ในการหลับและการตื่นได้อย่างเหมาะสม

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • การนอนสำคัญกับทารกอย่างไร
     • ตารางเวลานอนของทารกที่เหมาะสม เป็นอย่างไร
     • วิธีฝึกลูกน้อยให้นอนเป็นเวลา
     • วิธีพาลูกเข้านอน
     • ไขข้อข้องใจเรื่องตารางการนอนของทารกกับ Enfa Smart Club

เด็กจะมีพัฒนาการที่ดี การนอนถือเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่สำคัญ การพักผ่อนที่เพียงพอ สามารถช่วยให้ทารกสามารถเติบโตได้อย่างสมวัย คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลให้ลูกได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเหมาะสม

แต่...เบบี๋ควรนอนอย่างน้อยวันละกี่ชั่วโมง แล้วถ้าลูกน้อยไม่ยอมเลยคุณพ่อคุณแม่จะรับมืออย่างไร วันนี้ Enfa จะพามารู้จักกับตารางการนอนและสารพัดวิธีพาลูกเข้านอน เราจะมาจบปัญหาสุดป่วน ของก๊วนเบบี๋ไม่ยอมนอนไปด้วยกันค่ะ

การนอนสำคัญอย่างไร ทำไมจึงควรฝึกให้ลูกนอนเป็นเวลาตามตารางการนอน


การนอนเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเราทุกคน โดยเฉพาะกับทารกยิ่งควรนอนหลับและพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพราะการนอนหลับที่เพียงพอจะช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายของทารกสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นปกติ

หากทารกมีการนอนหลับที่เหมาะสม ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพและปัญหาด้านพัฒนาการ สามารถเติบโตได้อย่างสมวัย

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ตารางเวลานอนของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 ปีแรก


ตารางการนอนของทารกนั้น จะแตกต่างกันไปตามช่วงวัย แต่ระยะเวลาในการนอนทั้งวันนั้นจะนับรวมทั้งช่วงเวลานอนในตอนกลางวัน ตอนกลางคืน และช่วงที่งีบด้วย

ตารางการนอนของทารก

ตารางนอนเด็กทารก

  • ตารางการนอนของเด็กแรกเกิด – 6 สัปดาห์แรก

ทารกช่วงอายุ 6 สัปดาห์แรกเกิด ควรจะนอนให้ได้ประมาณ 14-17 ชั่วโมงต่อวัน ทารกแรกเกิดในช่วงวัยนี้จะยังไม่มีกำหนดระยะเวลาในการนอนตายตัวค่ะ เพราะเจ้าตัวเล็กสามารถนอนได้นานทั้งตอนกลางวันและตอนกลางคืน

  • ตารางการนอนของเด็กอายุ 2 เดือน

ทารกช่วงอายุ 2 เดือน ควรจะนอนให้ได้ประมาณ 14-17 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งเป็นนอนตอนกลางวัน 7-9 ชั่วโมง นอนตอนกลางคืนอีก 8-9 ชั่วโมง

  • ตารางการนอนของเด็กอายุ 3 เดือน

ทารกช่วงอายุ 3 เดือน ควรจะนอนให้ได้ประมาณ 14-17 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งเป็นนอนตอนกลางวัน 4-8 ชั่วโมง นอนตอนกลางคืนอีก 8-10 ชั่วโมง

  • ตารางการนอนของเด็กอายุ 4-6 เดือน

ทารกช่วงอายุ 4 เดือน ควรจะนอนให้ได้ประมาณ 12-16 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งเป็นนอนตอนกลางวัน 3-6 ชั่วโมง นอนตอนกลางคืนอีก 9-10 ชั่วโมง

  • ตารางการนอนของเด็กอายุ 7-12 เดือน

ทารกช่วงอายุ 7-8 เดือน ควรจะนอนให้ได้ประมาณ 12-16 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งเป็นนอนตอนกลางวัน 3-4 ชั่วโมง นอนตอนกลางคืนอีก 10-12 ชั่วโมง

คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มฝึกลูกน้อยให้นอนหลับเป็นเวลาเมื่อไหร่ดี

แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะใจร้อนอยากฝึกลูกเข้านอนอย่างเต็มที่แล้ว แต่การฝึกลูกนอน ควรเริ่มทำเมื่อลูกมีอายุอย่างน้อย 4-6 เดือน เพราะเป็นช่วงที่นาฬิกาชีวิต หรือนาฬิกาชีวภาพของลูกเริ่มพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์

การตื่นนอน การเข้านอน เริ่มจะเป็นเวลามากขึ้น เหมาะสำหรับการเริ่มฝึกให้เด็กเข้านอนเป็นเวลา หรือนอนได้ครบตามระยะเวลาการนอนหลับที่เหมาะสมในแต่ละวัน

เริ่มฝึกให้ลูกน้อยแรกเกิดเริ่มนอนเป็นเวลายังไงดี


คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกให้เจ้าตัวเล็กเริ่มนอนเป็นเวลาได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • เริ่มฝึกในช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่ช้าเกินไป และไม่เร็วเกินไป ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือช่วงที่ทารกมีอายุอย่างน้อยตั้งแต่ 4-6 เดือน เพราะนาฬิกาชีวภาพของทารกเริ่มจะปรับตัวได้มากขึ้น สามารถจดจำการเข้านอนตามเวลาที่กำหนดได้

  • จับตาเวลาตื่นนอน เด็กในแต่ละช่วงวัยจะตื่นนอนไม่ตรงกัน คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตช่วงเวลาตรงนี้ หรือจะบันทึกเอาไว้ก็ได้ เพื่อที่จะนำมาคำนวณว่าถ้าทารกตื่นนอนตอนนี้ ควรให้ทารกเริ่มเข้านอนตอนไหน หรืองีบในระหว่างวันได้ช่วงใดบ้าง

  • สังเกตอาการ หากคุณพ่อคุณแม่ยังไม่รู้จะเริ่มให้ทารกเข้านอนตอนไหนดี ให้สังเกตอาการง่วงนอนของลูกค่ะ โดยมีมีอาการสำคัญ ๆ คือ เริ่มขยี้ตา หาว หรือมีอาการร้องไห้งอแง หากทารกมีอาการดังกล่าว ก็เริ่มวางลงเบาะแล้วกล่อมนอนได้เลย

  • สร้างสัญญาณก่อนเข้านอน คุณพ่อคุณแม่ควรหากิจกรรมมาทำก่อนพาลูกเข้านอน เช่น ร้องเพลงกล่อมเด็ก อ่านหนังสือนิทาน หรือนวดตัว เพื่อให้เด็กเริ่มคุ้นชินและจดจำว่าถ้าคุณพ่อคุณแม่เริ่มทำแบบนี้เมื่อไหร่ แปลว่าถึงเวลานอนแล้ว

  • วางลูกลงบนที่นอนตอนสะลืมสะลือหรือง่วงนอน เป็นการทำให้ทารกเกิดกระบวนการจดจำว่าอาการสะลืมสะลือง่วงนอนเช่นนี้ และถูกอุ้มวางลงบนเบาะหรือเปลเด็กเช่นนี้ เป็นสัญญาณว่าได้เวลานอนแล้ว

  • ทำกิจกรรมอื่น ๆ ให้เป็นเวลา นอกจากจะฝึกพาลูกเข้านอนและตื่นตามเวลาแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะทำกิจกรรมอื่น ๆ ให้เป็นเวลาด้วย ทั้งเวลาเล่น เวลากินนม เวลาอาบน้ำ เพื่อให้นาฬิกาชีวภาพของทารกเริ่มจดจำกิจวัตรต่าง ๆ ได้ วิธีนี้ก็จะช่วยเสริมให้การเข้านอนเป็นเวลาของลูกราบรื่นมากขึ้น

  • ปล่อยใจ ไม่กดดัน ทารกแต่ละคนฝึกเข้านอนได้ต่างกันค่ะ บางคนใช้เวลาไม่นานก็สามารถที่จะจดจำการนอนและการตื่นของตัวเองได้แล้ว แต่ทารกบางคนอาจใช้ระยะเวลานานหน่อย คุณพ่อคุณแม่ต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบร้อน

แนะนำวิธีพาลูกน้อยเข้านอน แล้วหลับยาว ๆ เต็มอิ่ม


เพื่อเสริมให้เจ้าตัวเล็กสามารถนอนหลับได้ยาวนานขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยได้ ดังนี้

วิธีพาลูกเข้านอน

  • จัดบรรยากาศให้เหมาะกับการนอน แสงสว่างต้องพอเหมาะ อุณหภูมิต้องพอดี ไม่มีเสียงรบกวน หรือเปิดแต่เสียงเพลงกล่อมเด็กจังหวะช้า ๆ คลอเบา ๆเพื่อให้ทารกนอนหลับได้อย่างไร้รอยต่อ

  • ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่คับแน่น เพราะจะทำให้ทารกรู้สึกไม่สบายตัวในขณะที่นอนหลับ อาจส่งผลให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่ ควรเลือกเสื้อผ้าที่มีขนาดพอดี ไม่หนาเกินไป และไม่คับจนอึดอัด

  • งดกิจกรรมผาดโผนก่อนนอน ช่วงก่อนเข้านอนไม่ควรพาลูกทำกิจกรรมหรือการเล่นใด ๆ ที่กระตุ้นต่อการตื่นตัว หรือทำให้ลูกไม่ง่วงนอน ยกเว้นแต่กิจกรรมสำหรับเตรียมเข้านอนอย่างการร้องเพลงกล่อมเด็ก การอ่านหนังสือนิทาน หรือการนวดตัว

  • ไม่ปลุกทันทีที่ลูกร้อง แต่ให้รอดูสัก 2-3 นาทีว่าหลังจากร้องแล้วลูกสามารถนอนหลับเองได้ไหม เพราะบางครั้งทารกอาจจะร้องขึ้นมาแวบหนึ่งและหลับต่อเอง ถ้าคุณพ่อคุณแม่เกิดไปอุ้มขึ้นมา ก็อาจจะรบกวนการนอนของลูกได้  แต่ถ้าลูกยังร้องอยู่ก็ลองชะเง้อมองห่าง ๆ ว่ามีอะไรผิดปกติหรือเปล่า มีแมลงสัตว์ กัด ต่อย หรือลูกมีไข้หรือไม่

  • พาลูกเข้านอนเป็นเวลา หากเริ่มเวลาใด รอบต่อไปก็ให้พาลูกเข้านอนในเวลาเดิม เพื่อให้ลูกนอนหลับเป็นเวลาและเพียงพอ

หากพบปัญหาลูกไม่ยอมนอนในลักษณะนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจลองปรึกษาแพทย์

ร่างกายของเด็กจะมีกระบวนการตอบสนองต่อการนอนหลับที่แตกต่างกันไป เด็กบางคนอาจะใช้เวลานานกว่าจะหลับได้ในแต่ละครั้ง ขณะที่เด็กบางคนกินก็ง่าย นอนก็ง่าย

ดังนั้น การตอบสนองต่อความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ก็อาจจะมีการแสดงออกที่แตกต่างกันด้วย จึงค่อนข้างเป็นเรื่องยากที่จะเจาะจงว่า ลูกไม่ยอมนอนแบบไหนถึงจะควรพาไปหาหมอ

ดังนั้น ในทุก ๆ ความผิดปกติที่เกิดขึ้น ที่คุณพ่อคุณแม่รู้สึกตะหงิดขึ้นในใจ หรือรู้สึกว่าแปลก จะคิดไปเองหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น

  • ลูกร้องไห้ไม่หยุด

  • ลูกนอนครู่เดียวแล้วก็ตื่นเองบ่อย ๆ

  • เวลานอนหลับจะหายใจอ่อนแรง หรือหายใจไม่ออก

ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วอาการอาจจะไม่ได้มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ก็ยังดีกว่าการปล่อยผ่านไป แล้วท้ายที่สุดพบว่าลูกมีปัญหาสุขภาพที่อันตรายนะคะ

ไขข้อข้องใจเรื่องตารางการนอนของทารกกับ Enfa Smart Club


 ทารกแรกเกิดนอนวันละกี่ชั่วโมง?

ทารกแรกเกิดควรนอนวันละประมาณ 14-17 ชั่วโมงต่อวัน

 ทารกนอนกลางวันกี่ชั่วโมง?

การนอนกลางวันของทารกนั้นจะแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ ดังนี้

  • ทารกแรกเกิดอายุ 1 เดือน ช่วงวัยนี้จะยังไม่มีกำหนดระยะเวลาในการนอนตายตัวค่ะ เพราะเจ้าตัวเล็กสามารถนอนได้นานทั้งตอนกลางวันและตอนกลางคืน

  • ทารกช่วงอายุ 2 เดือน ควรจะนอนตอนกลางวันนานราว ๆ 7-9 ชั่วโมง

  • ทารกช่วงอายุ 3 เดือน ควรจะนอนตอนกลางวันนานราว ๆ 4-8 ชั่วโมง

  • ทารกช่วงอายุ 4 เดือน ควรจะนอนตอนกลางวันนานราว ๆ 3-6 ชั่วโมง

  • ทารกช่วงอายุ 5-12 เดือน ควรจะนอนตอนกลางวันนานราว ๆ 3-4 ชั่วโมง

 ทารกนอนยาวกี่ชั่วโมง?

ทารกในแต่ละช่วงวัยจะมีระยะเวลาในการนอนที่แตกต่างกันไป ดังนี้

  • ทารกแรกเกิด 1-3 เดือน ควรจะนอนให้ได้ประมาณ 14-17 ชั่วโมงต่อวัน

  • ทารกช่วงอายุ 4-12 เดือน ควรจะนอนให้ได้ประมาณ 12-16 ชั่วโมงต่อวัน

 ลูกนอนแป๊ปเดียวก็ตื่น ควรรับมือย่างไร?

ควรสังเกตดูว่าลูกเป็นแบบนี้บ่อยหรือไม่ และขณะนอนหลับมีสิ่งรบกวนทารกให้ต้องตื่นหรือไม่ หากทารกมีอาการนอนประเดี๋ยวเดียวแล้วก็ตื่นเกิดขึ้นบ่อย ๆ ควรพาทารกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรับการรักษา เพราะถ้าปล่อยไว้เสี่ยงที่จะทำให้ทารกนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ มีปัญหาเรื่องพัฒนาการตามมาได้

 ทารก 2 เดือนควรนอนกี่ชั่วโมง?

ทารกช่วงอายุ 2 เดือน ควรจะนอนให้ได้ประมาณ 14-17 ชั่วโมงต่อวัน โดยแบ่งเป็นนอนตอนกลางวัน 7-9 ชั่วโมง นอนตอนกลางคืนอีก 8-9 ชั่วโมง



    บทความแนะนำสำหรับคุณแม่