bathing-your-baby

อาบน้ำเด็กบ่อย ๆ ได้ไหม? อาบน้ำลูกยังไงไม่ให้ลูกป่วย?

 

Enfa สรุปให้

  • เวลาอาบน้ำลูก คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้สบู่หรือแชมพูใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ของทารกยังทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงอาจเกิดการระคายเคืองต่อสารในสบู่หรือแชมพูได้

  • น้ำที่ใช้อาบน้ำเด็ก ควรเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำที่อุณหภูมิห้อง อุณหภูมิของน้ำควรจะอยู่ระหว่าง 37-38 องศาเซลเซียส สามารถใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิน้ำก่อนอาบน้ำได้

  • การอาบน้ำทารก ควรจะอาบวันละ 2 ครั้ง คือเช้าและเย็น ส่วนผมให้สระแค่เพียงวันละครั้งเท่านั้น เพื่อไม่ให้ทารกเจอกับความเย็นบ่อยจนเกินไป และเวลาอาบน้ำควรจะอาบก่อนที่ลูกจะกินนม เพราะการอาบน้ำหลังจากกินนมเสร็จอาจทำให้ลูกสำลักนมได้

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • อาบน้ำให้ลูก ดีอย่างไร
     • อาบน้ำลูกต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง
     • วิธีอาบน้ำทารก
     • คำแนะนำและข้อห้ามในการอาบน้ำทารกแรกเกิดที่ควรรู้
     • ทริกในการอาบน้ำให้ลูก
     • เรื่องควรรู้เกี่ยวกับการอาบน้ำทารก
     • ไขข้อข้องใจเรื่องการอาบน้ำเด็กกับ Enfa Smart Club

อีกหนึ่งมหกรรมกีฬาแห่งความวุ่นวายของคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ บ้านก็คือการอาบน้ำลูก เพราะบางครั้งเจ้าตัวเล็กก็ไม่ยอมให้ความร่วมมือแต่โดยดี ถ้าไม่ร้องไห้โยเย ก็ดิ้นไปมาจนทำอะไรไม่สะดวก กว่าจะอาบน้ำเสร็จแต่ละครั้ง เรียกได้ว่าแทบจะผ่านสงครามกันมาเลยทีเดียว Enfa เข้าใจความอลหม่านนั้นเป็นอย่างดี วันนี้จึงมีสาระและเคล็ดลับดี ๆ เกี่ยวกับการอาบน้ำเด็กมาฝากค่ะ

อาบน้ำเด็ก ดีอย่างไร ทำไมควรอาบน้ำให้ลูก?


การอาบน้ำลูก เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพราะถึงแม้การอาบน้ำทารก จะดูเป็นเพียงกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำไปอย่างนั้น แต่จริง ๆ แล้ว มี Soft Power ที่แฝงอยู่ไม่น้อยเลยค่ะ

ประโยชน์ของการอาบน้ำทารก

ทารกคุ้นเคยกับพ่อแม่ได้เร็วขึ้น เพราะตอนอาบน้ำเป็นจังหวะที่ได้ใช้เวลาร่วมกัน อาบไป ร้องเพลงไป จุ๊บลูกไป ทุกการสัมผัส ทุกการจ้องตา ทารกสามารถสัมผัสถึงความห่วงใยของคุณพ่อคุณแม่ได้ ทำให้ทารกชินกับคุณพ่อคุณแม่ง่ายขึ้น 

  • เสริมทักษะการสื่อสาร ขณะอาบน้ำคุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะพูดคุย หรือร้องเพลง หรือชี้ไปยังอวัยวะของลูกน้อย แล้วพูดชื่ออวัยวะ เช่น แขน ขา พุง หูทารกก็อาจจะเริ่มอ้อแอ้พูดตาม  

  • เด็กผ่อนคลายมากขึ้น การอาบน้ำช่วยผ่อนคลายความร้อน และยังช่วยผ่อนคลายอารมณ์ของเด็กให้ดีขึ้นด้วย ความเย็นของน้ำจะช่วยให้ทารกรู้สึกสบายตัวขึ้นหลังจากอบอ้าวมาตลอดวัน 

  • ทารกหลับสบายขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจเลื่อนการอาบน้ำตอนเย็นมาเป็นการอาบน้ำก่อนพาลูกเข้านอน โดยอาจจะใช้น้ำอุ่น ก็จะช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายตัวเองมากขึ้น ทำให้นอนหลับสบายตัว 

  • ปลอดเชื้อโรค การอาบน้ำจะเป็นการชำระสิ่งสกปรกต่าง ๆ ทั้งคราบเหงื่อไคล คราบน้ำลายยืด และอีกมากมายที่ลูกน้อยพบเจอมาทั้งวัน การอาบน้ำทำความสะอาดก็จะช่วยให้เนื้อตัวของลูกสะอาด ไม่หมักหมมจนเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อโรค หรือแบคทีเรียต่าง ๆ 

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

อุปกรณ์อาบน้ำทารก ที่คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมพร้อม 


อุปกรณ์สำหรับการอาบน้ำลูก ได้แก่  

  • กะละมังสำหรับอาบน้ำ  

  • ผ้าขนหนู เตรียมไว้ 2-3 ผืน 

  • ผ้าสำหรับห่อตัว 

  • สำลีสำหรับเช็ดทำความสะอาด 

  • เสื้อผ้าชุดใหม่สำหรับเปลี่ยนสวม  

  • ผ้าอ้อม 

วิธีอาบน้ำทารก ไหนดูสิขั้นตอนอาบน้ำเด็กทารกมีอะไรบ้างนะ


วิธีอาบน้ำเด็กทารกนั้น ทำได้ไม่ยาก แม้จะเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ก็สามารถทำตามได้ง่าย ๆ ดังนี้

ก่อนเริ่มอาบน้ำ

  • เตรียมอุปกรณ์สำหรับการอาบน้ำลูกให้พร้อม ได้แก่ กะละมังสำหรับอาบน้ำ ผ้าขนหนู ผ้าสำหรับห่อตัว เสื้อผ้าชุดใหม่สำหรับเปลี่ยนสวม ผ้าอ้อม

  • การอาบน้ำเพื่อชำระคราบไคล ไม่จำเป็นต้องใช้สบู่อาบน้ำในวัยทารกแรกเกิด หรืออาจเลือกใช้สบู่อ่อน หรือสบู่เหลวที่มีฤทธิ์เป็นกลาง (neutral pH) ไม่ผสมวัตถุกันเสียหรือน้ำหอม เป็นผลิตภันฑ์ที่ผ่านการทดสอบว่าปลอดภัยในการใช้กับเด็กทารกกับการอาบน้ำโดยไม่ใช้สบู่วันเว้นวัน

  • ก่อนสัมผัสตัวลูกน้อย ควรล้างมือให้สะอาดก่อนเสมอ และถอดเครื่องประดับต่าง ๆ ทั้งกำไลข้อมือ และนาฬิกาออกก่อนทุกครั้งที่จะอาบน้ำให้ลูก

  • ตั้งกะละมังไว้ในจุดที่คุณพ่อคุณแม่สามารถอาบน้ำให้ลูกได้สะดวก บางคนอาจสะดวกบนพื้น บางคนอาจจะสะดวกกว่าเมื่ออาบน้ำบนโต๊ะ

  • เติมน้ำใส่กะละมังให้เพียงพอต่อการอาบในแต่ละครั้ง ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป และน้ำควรเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำที่อุณหภูมิห้อง ทดสอบอุณหภูมิของน้ำกับเนื้อด้านในข้อมือของคุณแม่ก่อน

  • เมื่อเตรียมน้ำเสร็จแล้ว ให้เตรียมผ้าขนหนู เสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยน และผ้าอ้อม วางไว้อีกมุมให้เรียบร้อย หลังจากอาบน้ำเสร็จจะได้ห่อตัวลูกด้วยผ้าขนหนูและเช็ดตัวลูกให้แห้งได้ทันที

ก่อนลงอ่างอาบน้ำ

  • เมื่อเตรียมทุกอย่างครบแล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องจัดการกับเจ้าตัวเล็กให้พร้อมสำหรับการอาบน้ำ โดยค่อย ๆ ถอดเสื้อผ้าออกให้หมด

  • จากนั้นให้ห่อตัวลูกด้วยผ้าขนหนู โดยใช้มือข้างที่ไม่ถนัดอุ้มลูกไว้ โดยใช้นิ้วพับใบหูทั้งสองข้างของลูกไว้เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู

  • ใช้มืออีกข้างที่ถนัดใช้สำหรับอาบน้ำลูก โดยใช้สำลีหรือผ้านุ่มสะอาดชุบน้ำหมาด ๆ เพื่อเช็ดทำความสะอาดบริเวณใบหน้า ซอกคอ และศีรษะ โดยในทุก ๆ การเช็ดนั้นควรเปลี่ยนผ้าหรือสำลีอันใหม่เสมอ ไม่ควรใช้ผ้าผืนเดียวกันเช็ดทั้งตัว

  • เวลาสระผมให้ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำให้ชุ่มและชโลมศีษะให้เปียก จากนั้นใช้ปลายนิ้วนวดศีรษะลูกให้ทั่ว แล้วนำผ้าขนหนูชุบน้ำชโลมไปที่ศีรษะของลูกอีกครั้งเพื่อล้างสิ่งสกปรก

  • จากนั้นเช็ดใบหน้าและศีรษะของลูกให้แห้ง แล้วคลายผ้าห่อตัวออก สำหรับเด็กผู้หญิงให้เช็ดจากบนลงล่าง ไม่เช็ดย้อนไปย้อนมา เพราะเสี่ยงที่เชื้อโรคจากทวารหนักจะเข้าสู่อวัยวะเพศของลูก โดยใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดทำความสะอาดบริเวณรูทวารหนัก

ลงอ่างอาบน้ำ

  • เสร็จแล้วให้ค่อย ๆ อุ้มลูกมาไว้ในอ้อมแขน โดยใช้แขนข้างหนึ่งประคองที่คอและศีรษะ ส่วนแขนอีกข้างหนึ่งประคองลำและก้นตัวเอาไว้

  • เวลาหย่อนลูกลงกะละมังหรืออ่าง ควรหย่อนขาลงก่อน โดยขณะที่ค่อย ๆ หย่อนตัวลูกลงจะต้องประคองตัวลูกไว้เสมอ ห้ามปล่อยมือเด็ดขาด

  • ขณะที่ลูกอยู่ในกะละมัง มือข้างหนึ่งประคองศีรษะและคอไว้ตลอด ส่วนมืออีกข้างให้วักน้ำไปตามศีรษะ ใบหน้า ลำตัว แขน ขา และถูทำความสะอาดให้ทั่ว โดยเริ่มจากด้านหน้าก่อน เมื่อด้านหน้าสะอาดแล้วค่อยย้ายมาทำความสะอาดด้านหลัง ระวังอย่าให้น้ำเข้าตาหรือเข้าจมูกลูก

  • เวลาอาบด้านหลังให้ใช้มือข้างที่ถนัดสอดไปที่รักแร้ฝั่งที่ไม่ได้อยู่ใกล้ตัวคุณแม่ โดยให้สี่นิ้วอยู่ด้านล่าง และนิ้วโป้งอยู่ด้านบนของแขน ส่วนรักแร้ด้านที่อยู่ใกล้ตัวคุณแม่ให้ใช้ต้นแขนสอดรัดไว้ จากนั้นโน้มตัวทารกไปด้านหน้าเล็กน้อย แล้ววักน้ำทำความสะอาดด้านหลังของลูกให้สะอาด

  • เมื่อเสร็จแล้วให้ใช้มือข้างที่ไม่ถนัดประคองที่คอและศีรษะ ส่วนมือข้างที่ถนัดประคองไว้ที่ก้น แล้วอุ้มลูกไปวางไว้ที่ผ้าขนหนูที่เตรียมไว้แล้วจึงเช็ดตัวให้แห้ง

หลังอาบน้ำ

  • เมื่ออุ้มลูกขึ้นมาจากกะละมังแล้ว ก็เริ่มเช็ดตัวลูก โดยเริ่มจากบริเวณศีรษะ ใบหน้า ลำตัว รักแร้ ซอกข้อพับต่าง ๆ ซอกนิ้วมือและนิ้วเท้า

  • จากนั้นให้ใส่ผ้าอ้อมก่อนเป็นอันดับแรก และจึงใส่เสื้อผ้าชุดใหม่

  • กรณีที่ลูกมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพผิว สามารถใช้ออยล์สำหรับเด็กหรือโลชั่นสำหรับเด็กที่แพทย์แนะนำ ชโลมไปตามร่างกายของลูกน้อยเพื่อป้องกันผิวแห้ง ช่วงเวลาที่ทาออยล์หรือโลชั่นนี้ก็จะช่วยให้เจ้าตัวเล็กรู้สึกผ่อนคลายและสบายตัวขึ้นได้

คำแนะนำในการอาบน้ำทารกแรกเกิด และข้อห้ามในการอาบน้ำทารกแรกเกิดที่ควรรู้ 


การอาบน้ำเด็กทารกให้ปลอดภัย ควรคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

  • การอาบน้ำลูกใช้แค่น้ำเปล่าสะอาดเท่านั้น

  • การอาบน้ำลูก ควรจะอาบให้ก่อนที่ลูกจะกินนม เพราะการอาบน้ำหลังจากกินนมเสร็จอาจทำให้ลูกสำลักนมได้

  • ไม่ควรอาบน้ำให้ลูกบ่อย อาบแค่เพียงวันละ 2 ครั้งถือว่าเพียงพอแล้ว การอาบน้ำบ่อยเกินไปเสี่ยงที่จะทำให้ลูกผิวแห้ง

  • ในการอาบน้ำแต่ละครั้ง ควรจะใช้เวลาแค่เพียง 5-10 นาที ไม่ควรนานเกินกว่านั้น เพราะหากเด็กแช่น้ำนาน ๆ ร่างกายของลูกจะปะทะกับความเย็นนานเกินไป อาจเสี่ยงที่จะไม่สบายหรือเป็นหวัดได้

  • หากจะสระผมให้ลูก ให้สระแค่เพียง 1 ครั้งต่อวันเท่านั้น ไม่ควรสระผมบ่อย อาจทำให้ลูกเป็นหวัดหรือไม่สบายได้

  • น้ำที่ใช้อาบควรเป็นน้ำอุ่นกำลังดี หรือน้ำที่อุณหภูมิห้อง และทดสอบอุณหภูมิของน้ำกับเนื้อด้านในข้อมือก่อน

  • หลังอาบน้ำเสร็จ รีบเช็ดตัวลูกให้แห้งทันที หากปล่อยไว้นาน ร่างกายของลูกจะปะทะกับความเย็นนานเกินไป อาจเสี่ยงที่จะไม่สบาย

  • หลังอาบน้ำเสร็จ เช็ดทำความสะอาดทวารหนักของลูกเสมอ สำหรับเด็กผู้หญิงให้เช็ดจากบนลงล่าง ไม่เช็ดย้อนไปย้อนมา เพราะเสี่ยงที่เชื้อโรคจากทวารหนักจะเข้าสู่อวัยวะเพศของลูกใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดทำความสะอาดบริเวณรูทวารหนัก

เกร็ดเล็ก ๆ ในการ อาบน้ำให้ลูก

เกร็ดดีเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับวิธีอาบน้ำทารกให้สำเร็จง่าย ๆ มีดังนี้

  • คุณพ่อคุณแม่สามารถอาบน้ำพร้อมกับลูกได้ เพื่อทำให้บรรยากาศผ่อนคลายมากขึ้น แต่ก็ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและอาบน้ำให้ถูกวิธีเช่นเดิม

  • ปิดทีวี สมาร์ทโฟน หรือสิ่งรบกวนใด ๆ เพื่อให้ช่วงเวลาอาบน้ำเป็นช่วงเวลาของการผ่อนคลาย ปราศจากสิ่งรบกวนหรือสิ่งล่อใจอื่น ๆ

  • หากไม่อยากรอเปิดน้ำจากก๊อกใหม่ทุกครั้ง หรือกลัวว่าน้ำจากก๊อกจะกระเด็นมาเข้าหู ตา จมูกของลูก ให้เตรียมน้ำใส่เหยือก หรือเตรียมน้ำไว้ 2 กะละมัง ก็จะสามารถเปลี่ยนน้ำหรือเติมน้ำใหม่ได้ทันที

  • หากกลัวว่าลูกจะลื่นหลุดมือ สามารถสวมถุงมือสำหรับการอาบน้ำได้ ก็จะช่วยให้กระชับมือได้มากขึ้น ไม่ลื่น

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับการอาบน้ำทารก

การอาบน้ำให้ลูกนั้น แม้จะดูเป็นเรื่องทั่วไป แต่ก็มีรายละเอียดหลายอย่างที่จะต้องคำนึงถึง ตั้งแต่อุปกรณ์ในการอาบน้ำ ช่วงเวลาอาบน้ำ ไปจนถึงวิธีการอาบน้ำ และรายละเอียดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น: 

ทารกอาบน้ำวันละกี่ครั้ง 

อาบน้ำทารก ควรอาบบ่อยแค่ไหน? คำตอบคือ คุณพ่อคุณแม่ควรจะอาบน้ำให้ลูกวันละ 1-2 ครั้งค่ะ อาบในตอนเช้าและตอนเย็น

ส่วนผมให้สระแค่เพียงวันละครั้งเท่านั้น และเวลาอาบน้ำควรจะอาบก่อนที่ลูกจะกินนม เพราะการอาบน้ำหลังจากกินนมเสร็จอาจทำให้ลูกสำลักนมได้

อาบน้ำทารกกี่โมงดี 

คุณพ่อคุณแม่ควรอาบน้ำให้ลูกในช่วงที่มีอุณหภูมิของวันอุ่นกำลังดีค่ะ ไม่ควรอาบน้ำให้ลูกในช่วงที่อุณหภูมิต่ำหรือเย็น เพราะอาจทำให้ทารกไม่สบายได้ 

ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะก็คือช่วงสาย ๆ ประมาณ 10 โมง และช่วงบ่ายหรือช่วงเย็นสักประมาณ 3-4 โมง ถือว่ากำลังดีค่ะ 

ทารกอาบน้ำอุณหภูมิเท่าไหร่ 

น้ำที่จะนำมาใช้อาบให้ทารกนั้น ควรเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำที่อุณหภูมิห้อง และอุณหภูมิของน้ำควรจะอยู่ระหว่าง 37 ± 0.25 องศาเซลเซียส ไม่ควรเย็นกว่านี้ หรือร้อนไปกว่านี้ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกได้ เช่น ลูกอาจผิวแห้ง ผิวลอก หรือไม่สบายได้ค่ะ 

ให้ทารกอาบน้ำอุ่นถึงกี่เดือน 

ทารกแรกเกิดนั้นควรอาบน้ำอุ่น จะดีต่อสุขภาพทารกมากกว่า แต่หลังจากอายุ 1-2 เดือนไปแล้ว ทารกสามารถอาบน้ำธรรมดา หรือน้ำที่อุณหภูมิห้องได้ค่ะ 

ไขข้อข้องใจเรื่องการอาบน้ำเด็กกับ Enfa Smart Club


 วิธีอาบน้ำทารก ไม่ให้ร้องไห้โยเย?

การที่ลูกร้องไห้ตอนอาบน้ำนั้นอาจเกิดได้จากหลายเหตุผล เช่น อุณหภูมิของน้ำไม่เหมาะสม น้ำเข้าหู ตา หรือจมูก ทารกไม่สบาย หวาดกลัว หรือเป็นอาการผวาในทารกแรกเกิด เป็นต้น

ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องหมั่นสังเกตดูเรื่อย ๆ ว่าอะไรคือสาเหตุที่ลูกร้องไห้ ถ้าเป็นเพราะอุณหภูมิน้ำ ครั้งต่อไปก็ใช้น้ำที่มีอุณหภูมิที่เหมาะสม หรือตรวจดูว่าลูกเจ็บปวดตรงไหนหรือไม่ มีผื่น หรือมีไข้หรือไม่ และเวลาอาบน้ำก็ควรระวังไม่ให้น้ำเข้าหู เข้าตา หรือเข้าจมูกของลูก ลูกอาจแสบตา แสบจมูกจนร้องไห้ได้

 ฟองน้ำอาบน้ำทารก ยี่ห้อไหนดี?

จริง ๆ แล้วการอาบน้ำทารกให้มือกับผ้าสะอาดชุบน้ำก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องเสียเงินไปกับฟองน้ำทารก

แต่ถ้าต้องการที่จะใช้ฟองน้ำสำหรับอาบน้ำให้ทารกนั้น ก็สามารถเลือกได้ตามความสะดวก แต่ควรจะคำนึงถึงวัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตฟองน้ำนั้น ๆ ว่าปลอดภัยที่จะใช้สำหรับเด็กหรือไม่ มีสภาพที่เหมาะสมต่อการใช้งาน ไม่หมดอายุ หรืเสื่อมสภาพ ทั้งยังต้องมีสัมผัสที่อ่อนนุ่มต่อผิวของเด็กด้วย

 กะละมังอาบน้ำทารก ใช้แบบไหนดี?

กะละมังของทารก ควรเลือกชนิดที่:

  • ทำมาจากพลาสติกที่หนาและคงทน

  • มีเนื้อสัมผัสที่เรียบเนียน ไม่หยาบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังของเด็ก

  • เลือกกะละมังที่มีขนาดพอดี ไม่ใหญ่จนเกินไป หรือเล็กจนเกินไป

 อาบน้ำเด็ก กี่นาที?

ในการอาบน้ำแต่ละครั้ง ควรจะใช้เวลาแค่เพียง 5-10 นาที ไม่ควรนานเกินกว่านั้น เพราะหากเด็กแช่น้ำนาน ๆ ร่างกายของลูกจะปะทะกับความเย็นนานเกินไป อาจเสี่ยงที่จะไม่สบายหรือเป็นหวัดได้

 อากาศหนาวควรอาบน้ำให้ทารกไหม? 

ช่วงที่อากาศหนาวคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรอาบน้ำให้ลูกเท่าไหร่นักค่ะ เพราะอุณหภูมิรอบตัวก็เย็นมากอยู่แล้ว ถ้าอาบน้ำเย็นเข้าไปอีกก็อาจจะทำให้เด็กไม่สบายได้ ใช้วิธีเช็ดตัวทำความสะอาดเอาจะดีกว่า 

 วิธีอาบน้ำทารกไม่ให้ร้องไห้ ทำยังไงดี? 

วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะช่วยให้ทารกไม่ร้องไห้ในขณะอาบน้ำ ก็คือการพูดของคุณพ่อคุณแม่นี่แหละค่ะ อาจจะเป็นการร้องเพลง หรือการพูดคุยหยอกล้อก็ได้เช่นกัน น้ำเสียงที่คุณพ่อคุณแม่พูดกับลูกนี่แหละที่ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจได้ดี ยิ่งพูดทำเสียงสูงต่ำ ทารกก็จะสนใจกับเสียงของพ่อแม่มากเท่านั้น และจะค่อย ๆ ชินกับการอาบน้ำไปเอง


    บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

    EFB Form

    EFB Form