ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
how-to-bring-down-baby-fever

วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด เมื่อลูกตัวไม่สบาย ตัวร้อนจี๋

Enfa สรุปให้

  • ทารกเป็นไข้ ไม่สบาย ตัวร้อนจี๋ เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพเด็กเล็กที่สร้างความวิตกกังวลให้คุณพ่อคุณแม่อยู่เสมอ
  • หากทารกมีอุนหภูมิตั้งแต่ 37.2-37.5 ขึ้นไป ถือว่าทารกเริ่มมีไข้ แต่ถ้าวัดไข้แล้วพบว่าทารกมีอุณหภูมิสูงถึง 38 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้สูง ต้องรีบพาไปพบแพทย์
  • สิ่งสำคัญเมื่อพบว่าทารกมีไข้ก็คือการลดไข้ทารก เพราะถ้าทารกยังคงมีไข้ขึ้นสูงต่อไปเรื่อย ๆ อาจเสี่ยงต่ออาการชักได้

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • อาการทารกเป็นไข้
     • วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด
     • วิธีเช็ดตัวลดไข้ทารก
     • ลูกเป็นไข้แบบนี้รีบพาไปหาหมอ
     • ไขข้อข้องใจเรื่องวิธีลดไข้ทารกแรกเกิดกับ Enfa Smart Club

ลูกไม่สบาย มีไข้ ตัวร้อน คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งตกใจไป แต่ให้ตั้งสติและเริ่มสตาร์ทการดูแลให้อุณหภูมิในร่างกายของลูกลดลงอยู่ในระดับปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการชัก หรือภาวะแทรกซ้อนรุนแรง  

วันนี้ Enfa จึงมีคำแนะนำและการดูแลเมื่อลูกเป็นไข้สูงมาฝากค่ะ มาดูกันว่า ถ้าลูกตัวร้อนคุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีลดไข้ให้ลูกได้อย่างไรบ้างนะ 

อาการทารกเป็นไข้เป็นอย่างไร 


ลูกเป็นไข้ตัวร้อน ถือว่าเป็นอาการทางสุขภาพที่ค่อนข้างจะสร้างความวิตกกังวลให้กับคุณพ่อคุณแม่อย่างมาก โดยทารกที่มีไข้ มักจะมีอาการตัวร้อนถึงร้อนจัด ซึ่งเมื่อทำการวัดด้วยที่วัดไข้แล้ว หากทารกมีอุณหภูมิตั้งแต่ 37.2-37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ถือว่าทารกกำลังมีไข้ค่ะ

ลูกตัวร้อนแบบไหนถือว่าอันตราย

หากวัดไข้ทารกด้วยปรอทวัดไข้หรือเทอร์โมมิเตอร์ แล้วพบว่าทารกมีอุณหภูมิสูงถึง 38 องศาเซลเซียส ไข้ที่สูงขนาดนี้ถือว่าค่อนข้างเป็นอันตราย เมื่อลูกตัวร้อนตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไปแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดค่ะ

มากไปกว่านั้น หากทารกอายุน้อยกว่า 3 เดือน และมีไข้ ก็ควรพาทารกไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ค่ะ

วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด 


หากทารกตัวร้อน เป็นไข้ สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องลงมือทำคือช่วยลดไข้ให้กับลูกน้อย โดยสามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

1. ลดไข้โดยการให้ยา

หากพาทารกไปพบแพทย์ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาที่มีสรรพคุณลดไข้สำหรับเด็ก ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นยาน้ำ คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ยาตามที่แพทย์สั่ง ตวงวัดให้ได้ปริมาณตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อให้ตัวยาช่วยลดไข้ของทารกลง โดยยาลดไข้สำหรับเด็กที่นิยมใช้กัน คือ อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen)

2. การเช็ดตัวลดไข้

หากทารกตัวร้อน คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นเช็ดตัวให้ลูกบ่อย ๆ เพราะการเช็ดตัวจะช่วยนำพาเอาความร้อนออกจากร่างกายของทารกได้ 

3. เลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบายให้ลูก 

เสื้อผ้าทารกไม่ควรจะคับจนอึดอัด และไม่ควรจะหนาจนเกินไป เพราะจะทำให้ระบายอากาศได้ไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่กำลังเป็นไข้ ยิ่งไม่ควรสวมเสื้อผ้าหนา เพราะจะทำให้ระบายความร้อนยาก 

4. ดูแลสภาพแวดล้อมในห้องทารกให้เหมาะสม 

ห้องของทารกไม่ควรจะทึบ แออัด แต่ควรจะมีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ร้อนอบอ้าว หรือหนาวเย็นจนเกินไป ทั้งยังต้องมีอุณหภูมิเหมาะสม มีสว่างเพียงพอ และไม่มีเสียงรบกวน 

5. ให้ทารกดื่มน้ำให้มาก ๆ 

การดื่มน้ำจะช่วยลดความเสี่ยงของการขาดน้ำ เนื่องจากเวลาเด็กมีไข้ เราจะมีการสูญเสียน้ำทางผิวหนังมากขึ้น ทั้งยังช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายของทารกได้อีกด้วย ซึ่งการดื่มน้ำนี้ จะรวมทั้งการดื่มนมแม่และนมผงด้วยค่ะ 

วิธีเช็ดตัวลดไข้ทารก


การเช็ดตัว เป็นวิธีลดไข้ทารกที่ทำได้ง่าย และช่วยให้ไข้ลดได้จริง ๆ หากทำถูกวิธี โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเช็ดตัวทารกได้ง่าย ๆ ดังนี้ 

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม 

  • กาละมัง หรืออ่าง 
  • ผ้าเช็ดตัว ผืนใหญ่
  • ผ้าขนหนูผืนเล็ก สะอาดประมาณ 2-4 ผืน 

วิธีการเช็ดตัวลดไข้ทารก 

  • เตรียมน้ำที่อุณหภูมิห้องหรือน้ำอุ่นใส่ลงในอ่างหรือกาละมัง 
  • ล้างมือของคุณพ่อคุณแม่ให้สะอาดก่อนจะสัมผัสตัวลูกน้อย จากนั้นค่อย ๆ ถอดเสื้อผ้าของทารกออก วิธีนี้หากทำคนเดียวไม่ถนัด ให้หาคนช่วย 
  • จากนั้นนำผ้าสะอาดจุ่มลงไปในน้ำสะอาดที่เตรียมไว้ บิดให้พอหมาด แล้วเริ่มเช็ดตัว 
  • เช็ดจากใบหน้าก่อน หน้าผาก ลำคอ 
  • แล้วจึงเช็ดแขนและขาทั้งสองข้าง โดยเวลาเช็ดให้เช็ดจากปลายแขนด้านไกล เข้ามาหาต้นแขน 
  • เช็ดลำตัว เช็ดหลัง และเช็ดก้น 
  • ปิดท้ายด้วยการเช็ดตามข้อพับต่าง ๆ เช่น รักแร้ ข้อศอก ข้อพับเข่า และซอกคอ 
  • เวลาเช็ดตัว ควรเช็ดอย่างน้อย 15-20 นาที จนรู้สึกว่าตัวเด็กเย็นลง
  • เมื่อเช็ดตัวเสร็จแล้ว ให้ซับตัวลูกให้แห้งอีกครั้ง แล้วจึงสวมเสื้อผ้า 

เช็ดตัวลดไข้ทารกทุกกี่ชั่วโมง 

หลังจากเช็ดตัวทารกเสร็จแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรวัดไข้ลูกซ้ำหลังเช็ดตัว หากไข้ลดลง แสดงว่าการเช็ดตัวได้ผล  

แต่ถ้าไข้ไม่ลดลง ให้ทำการเช็ดตัวซ้ำอีกครั้ง และถ้าไข้ยังไม่ลดลงอีก ให้พาทารกไปพบแพทย์ทันที 

ยาลดไข้สําหรับทารก ควรเลือกอย่างไร 

ยาลดไข้สำหรับทารก ควรสั่งจ่ายจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่ควรซื้อยามาป้อนลูกเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์นะคะ 

ลูกเป็นไข้กี่วันควรไปหาหมอ 


หากทารกมีไข้สูงติดต่อกันเกิน 24 ชั่วโมง และอาการยังไม่ดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่ก็ควรพาลูกไปพบแพทย์ค่ะ 

และหากทารกมีอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์โดยเร็ว 

  • ทารกอายุน้อยกว่า 3 เดือน และมีไข้ 
  • ทารกมีไข้สูง 38 องศาเซลเซียส 
  • ทารกมีท่าทีอ่อนเพลีย เคลื่อนไหวน้อยลง 
  • ทารกร้องไห้ แต่ไม่มีน้ำตา 
  • ทารกปัสสาวะน้อย หรือในช่วง 8 ชั่วโมงที่ผ่านมาทารกไม่ปัสสาวะเลย 
  • ทารกมีไข้ติดต่อกันเกิน 1 วัน 
  • ไข้ของทารกไม่ลดลงเลย แม้ว่าจะให้กินยา และเช็ดตัวแล้วก็ตาม 
  • ทารกอาเจียน มีผื่นขึ้นตามร่างกาย หรือมีอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่มั่นใจ

ไขข้อข้องใจเรื่องวิธีลดไข้ทารกแรกเกิดกับ Enfa Smart Club


ลูกไข้สูงไม่ลด ควรทำยังไงดี? 

หากได้ลองเช็ดตัวแล้ว ให้ลูกกินยาแล้ว แต่ไข้ไม่ลดลงเลย ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันทีค่ะ เพราะอาจเสี่ยงต่ออาการชักได้หากปล่อยให้ลูกมีไข้สูงต่อไปเรื่อย ๆ

ลูกเป็นไข้หลายวัน ควรพาไปโรงพยาบาล? 

จริง ๆ ไม่ต้องรอให้ลูกเป็นไข้หลายวันนะคะ หากทารกเป็นไข้ติดต่อกันนานเกิน 1 วัน ก็ควรพาลูกไปพบแพทย์ได้แล้วค่ะ 

หรือถ้าลูกโตขึ้นมาหน่อย และมีไข้ติดต่อกัน 2 วันแล้วยังไม่ลด ก็ควรพาลูกไปพบแพทย์ได้เลย 

ทารกมีไข้ 37 องศา อันตรายหรือไม่? 

อุณหภูมิ 37 องศายังไม่ถือว่ามีไข้นะคะ จัดเป็นอุณหภูมิปกติของร่างกาย แต่ถ้าทารกเริ่มมีอุณหภูมิตั้งแต่ 37.2-37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ถือว่าลูกเริ่มมีไข้ค่ะ 

ลูกมีไข้ 38 องศา ต้องไปโรงพยาบาลหรือไม่? 

หากวัดไข้ลูกแล้วพบว่าลูกมีอุณหภูมิสูงถึง 38 องศาเซลเซียส ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันทีค่ะ เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน หรืออาการชักได้

วิธีลดไข้แบบฝรั่ง? 

ในต่างประเทศเองก็มีวิธีลดไข้ที่ไม่ต่างไปจากคนไทยค่ะ วิธีลดไข้ถือเป็นวิธีการดูแลลูกพื้นฐานที่ทำเหมือนกันทั่วทั้งโลก ตั้งแต่การให้กินยาลดไข้ การเช็ดตัว การให้ดื่มน้ำมาก ๆ หรือการจัดสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้เหมาะสม 

ส่วนวิธีใดที่ไม่ได้อยู่ในการแนะนำของแพทย์ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้อาการของลูกแย่ลงได้ค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่และลูกน้อย

บทความที่แนะนำ

how-to-clean-babys-belly-button
noisy-breathing-in-infants
ยาน้ำไกร๊ปวอเตอร์ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อในเด็กได้จริงหรือ?
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner