ลูกนอนกรน...อันตรายแค่ไหน

       คุณแม่อาจกังวลเมื่อเห็นว่าลูกนอนกรน อาการนอนกรนพบได้ทั้งในเด็กปกติที่ไม่อ้วน แต่พบได้บ่อยกว่าในเด็กอ้วน อาการนอนกรนเป็นอาการหนึ่งของภาวะที่เรียกว่า ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นและหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งหมายถึง การไม่มีอากาศไหลผ่านทางเดินหายใจส่วนบน หรือหยุดหายใจร่วมกับมีภาวะพร่องของระดับออกซิเจนในเลือด มีการนอนที่ผิดปกติเกิดขึ้นในขณะที่นอนหลับ  คนที่มีสุขภาพแข็งแรงทั่วไป 3-12 เปอร์เซ็นต์ อาจมีอาการนอนกรนเวลานอนหลับได้

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

       สาเหตุที่ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบลง นอกจากเกิดจากความอ้วนแล้ว ยังอาจเกิดจากการที่ต่อมทอนซิล หรือ ต่อมอะดีนอยด์โต หรือเป็นผลที่เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณผนังคอและหลังช่องปากทำงานน้อยลง โดยปกติในขณะที่เรานอนหลับ กล้ามเนื้อบริเวณผนังคอและหลังช่องปากจะทำงานช่วยให้ทางเดินหายใจส่วนบนเปิดโล่ง  แต่ถ้ากล้ามเนื้อบริเวณนี้ทำงานบกพร่อง จะทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง อากาศผ่านเข้าได้น้อย เป็นผลให้ระดับของออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง สมองได้ออกซิเจนน้อยลง จะกระตุ้นให้เราตื่นเพื่อหายใจ  ถ้าสังเกตการนอนจะเห็นว่ามีการหายใจเฮือก ตื่นบ่อยๆ หลับเป็นช่วงสั้นๆ

 

       อาการอื่นๆ นอกจากนอนกรน ได้แก่

  • การหยุดหายใจขณะนอนหลับ สังเกตได้จากการไม่มีการเคลื่อนไหวของทรวงอกหรือท้อง

  • นอนกระสับกระส่าย ละเมอ เหงื่อออก

  • เด็กบางคนอาจจะปัสสาวะรดที่นอน

  • ในระหว่างวัน  เด็กจะมีอาการที่เป็นผลมาจากการนอนหลับไม่เพียงพอ เช่น  ปวดศีรษะในตอนเช้า คลื่นไส้หรืออาเจียน ง่วงหลับผิดปกติในเวลากลางวัน อ่อนเพลีย

  • สมาธิสั้น ความจำไม่ดี ส่งผลต่อการทำงานของสมองและการเรียนรู้จดจำ

  • เด็กที่ไม่ได้รับการรักษามักมีลักษณะอ้าปากหายใจ เสียงขึ้นจมูก

       หากคุณแม่กังวลว่าอาการนอนกรนของลูกจะเป็นอันตรายมากน้อยเพียงใด ก็สามารถให้กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ หรือแพทย์ด้านโสต ศอ นาสิกตรวจได้ค่ะ