เมื่อตั้งครรภ์นั้นก็มีหลายเรื่องที่สร้างความกังวล ความสงสัยให้กับคุณแม่ รวมทั้งเรื่องขนาดเล็ก-ใหญ่ของท้อง และการเดินทางขณะตั้งครรภ์ว่าทำได้หรือไม่ อย่างไร มาหาคำตอบกันค่ะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ท้องเล็กใหญ่ บอกอะไรแม่บ้าง

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ท้องแรก อาจจะนึกสงสัยที่เห็นท้องตัวเองดูเล็กเมื่อเทียบกับท้องคุณแม่คนอื่น ว่าขนาดของท้อง เล็กและใหญ่ของแม่แต่ละคนนั้นเกิดจากอะไร เรามาดูกันค่ะ

  • ท้องเล็ก

    ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับแม่ตั้งครรภ์ครั้งแรก นั่นเป็นเพราะหน้าท้องไม่เคยขยายใหญ่ ทำให้คงความกระชับไว้ ท้องจึงดูเล็ก แต่ไม่ได้หมายความว่า ลูกจะตัวเล็ก ไม่แข็งแรงหรือผิดปกติแต่อย่างใด

  • ท้องใหญ่

    มักเกิดขึ้นกับแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด และแม่ท้องลูกคนที่สองขึ้นไป ขนาดท้องที่ใหญ่นั้น ไม่ได้บ่งชี้ว่า ลูกจะตัวใหญ่ตามไปด้วย และยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้ท้องใหญ่ เช่น น้ำในถุงน้ำคร่ำที่ปริมาณมากกว่าปกติ เป็นต้น

  • ท้องยื่น ท้องแหลม

    ไม่ได้เกี่ยวกับเพศของลูก แต่เกี่ยวกับลักษณะของมดลูก หากมดลูกคว่ำมาด้านหน้า ท้องอาจยื่นทำให้ดูเหมือนท้องเล็ก แต่หากมดลูกคว่ำไปด้านหลัง ท้องจะกลมทำให้ดูเหมือนท้องใหญ่ นอกจากนี้ท่าของลูกในครรภ์ก็มีส่วนที่ทำให้ท้องดูใหญ่หรือเล็กได้เช่นกัน

ลูกในท้องช่วงไหนมีขนาดเท่าอะไร

  • ไตรมาสแรก

    ลูกมีขนาดเท่าลูกมะนาว มีน้ำหนักแค่ไม่กี่ขีด ในช่วงนี้คุณแม่จึงไม่ควรเพิ่มน้ำหนัก

  • ไตรมาสที่ 2

    ลูกมีขนาดเท่าฝักข้าวโพด น้ำหนักของลูกประมาณ 600 กรัม ช่วงนี้เองที่คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกบ้างแล้ว และเป็นช่วงเดียวกันกับน้ำหนักของคุณแม่ที่เริ่มพุ่งพรวดจนน่าตกใจ

  • ไตรมาสสุดท้าย

    ลูกมีขนาดเท่าผลฟักทองและแตงโม น้ำหนักของลูกจะอยู่ที่ 2,500 - 4,000 กรัม พร้อมคลอดออกมาดูโลก

การเดินทางของแม่ตั้งครรภ์

คุณแม่ที่สงสัยเรื่องการเดินทางระหว่างตั้งครรภ์นั้น ขอบอกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ใช่คนป่วยจึงสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ แต่อาจต้องระมัดระวังในช่วงแรกๆ ที่เสี่ยงต่อการแท้ง และช่วงท้องแก่ มาดูกันว่าการเดินทางของคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังอะไรกันบ้าง

  • เดินทางด้วยรถยนต์

    คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถขับรถเองได้ทุกไตรมาส แต่ให้เป็นระวังเป็นพิเศษในช่วงท้องแก่ หากจำเป็นต้องขับรถ ควรเลื่อนเก้าอี้คนขับออกห่างจากพวงมาลัยมากที่สุด แต่ยังอยู่ในระยะที่เหยียบคันเร่ง เบรค และคลัชสะดวก เพื่อป้องกันไม่ให้ท้องกระแทกพวงมาลัย ที่สำคัญหากพบว่าตนเองเป็นตะคริวบ่อย ควรงดการขับรถ

    เมื่อนั่งรถ คุณแม่ควรรัดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง โดยพาดให้สายส่วนด้านล่างเลื่อนมาอยู่ต่ำสุดบริเวณหน้าตัก ไม่พาดผ่านสูงถึงตัวมดลูก ส่วนสายทแยงก็ควรปรับให้หูที่เสารถอยู่สูงสุดเพื่อให้สายเข็มขัดไม่วางพาดผ่านตัวมดลูกหรือผ่านหน้าท้อง เพราะถ้าไม่ระวังเรื่องการวางตำแหน่งสายเข็มขัดนิรภัย หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น สายอาจจะกดรัดมดลูกอย่างรุนแรงทำให้มดลูกแตก หรือรกหลุดลอกตัวได้ แต่หากไม่สามารถคาดเข็มขัดนิรภัยได้ (ในกรณีเป็นคนนั่ง ไม่ใช่คนขับ) ให้ปรับเบาะให้อยู่ในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน ซึ่งเป็นท่าที่ปลอดภัยมากที่สุด

  • เดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ เรือโดยสารสาธารณะ รถไฟฟ้า และรถไฟใต้ดิน

    หลีกเลี่ยงการโดยสารขบวนที่มีคนแออัด ระมัดระวังเวลาเดินขึ้นลงบันไดเลื่อนที่ค่อนข้างชันและเคลื่อนตัวเร็ว ระวังการลื่นล้มหากต้องขึ้นเรือ ต้องเลือกรองเท้าที่พื้นรองเท้าไม่ลื่นหากต้องเดินเหยียบน้ำ ไม่ว่าจะขึ้นรถหรือลงเรือสาธารณะ ควรเลือกที่นั่งตรงกลาง นอกจากนี้ควรติดเข็มกลัดบริเวณท้อง หรือห้อยป้ายระบุว่าตั้งครรภ์ (กรณียังท้องไม่ใหญ่) เพื่อให้ผู้อื่นช่วยระวังอีกทางหนึ่ง

  • เดินทางด้วยเครื่องบิน

    ช่วงไตรมาสที่ 2 คือช่วงปลอดภัยที่สุดในการเดินทางทางเครื่องบิน และช่วงที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือช่วงไตรมาสแรก และไตรมาสที่ 3 ส่วนใหญ่แล้วสายการบินจะไม่อนุญาตให้เดินทางหากมีอายุมากกว่า 7 เดือน ยกเว้นในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและมีใบรับรองแพทย์เท่านั้น

    คำแนะนำสำหรับแม่ตั้งครรภ์ที่ต้องขึ้นเครื่องบิน ควรเลือกที่นั่งริมทางเดินบริเวณด้านหน้าสุด และใกล้ห้องน้ำ เพื่อสะดวกในการลุกไปเข้าห้องน้ำ นอกจากนี้หากเป็นการเดินทางไกล คุณแม่ควรลุกขึ้นเดินทุกๆ 1 ชั่วโมง เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

    เมื่อมีความระมัดระวัง การเดินทางไปไหนมาไหนขณะตั้งครรภ์ก็ทำได้ คุณแม่ไม่ต้องกังวลนะคะ

 

ตรวจสอบข้อมูลโดย : รศ.ดร.นพ. ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล