ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ท้อง 37 สัปดาห์ อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ท้อง 37 สัปดาห์ อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

Enfa สรุปให้

  • อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ทารกจะมีความยาวประมาณ 20 นิ้ว หนักประมาณ 2.8-2.9 กิโลกรัม มีขนาดพอ ๆ กับผักชาร์ดขนาดใหญ่ หรือ สวิสชาร์ด (Swiss Chard)
  • อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ พัฒนาการของทารกในระยะนี้จะเริ่มลดลง ไม่รวดเร็วเหมือนในช่วงที่ผ่านมา เพราะรกจะทำหน้าที่ได้ลดลง ทำให้การเจริญเติบโตของทารกเริ่มคงที่
  • อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ คุณแม่ควรสังเกตสัญญาณใกล้คลอดให้ดี หากมีอาการปวดท้องแรงขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มมีอาการน้ำเดิน มีมูกเลือด มูกใสไหลออกมา ปากมดลูกเริ่มเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ท้อง 37 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
     • พัฒนาการเด็กในครรภ์สัปดาห์ที่ 37
     • การเปลี่ยนแปลงร่างกายคุณแม่อายุครรภ์ 37 สัปดาห์
     • อาหารคนท้อง 37 สัปดาห์ ควรกินอะไรบ้าง
     • อาการคนท้อง 37 สัปดาห์ เป็นแบบไหน
     • 37 สัปดาห์ มีนัดตรวจอะไรไหม
     • ท้อง 37 สัปดาห์ กับอาการใกล้คลอดที่ควรรู้
     • ท้อง 37 สัปดาห์ มีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่
     • ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์
     • ไขข้อข้องใจเมื่อตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club

ท้อง 37 สัปดาห์ อาการใกล้คลอด เริ่มปรากฎในคุณแม่หลายคนแล้วค่ะ ถือว่านี่คือช่วงเวลาที่รอคอยมานานถึง 9 เดือน ในที่สุดคุณแม่กับเจ้าตัวเล็กก็ได้พบหน้ากันสักที

แต่เอ๊ะ!... ถ้าสัปดาห์นี้คุณแม่ไม่คลอดถือว่าผิดปกติไหม ถ้ามีอาการปวดท้อง แต่ยังไม่คลอดล่ะ จะอันตรายหรือเปล่า อายุครรภ์ 37 สัปดาห์นี้มีเรื่องอะไรบ้างนะที่คุณแม่ควรจะต้องรู้

ท้อง 37 สัปดาห์ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้


สัปดาห์นี้คุณแม่หลายคนจะเริ่มมีอาการเจ็บท้องใกล้คลอด และมีการคลอดเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนที่จะได้คลอดลูกในสัปดาห์นี้ค่ะ บางคนอาจจะคลอดในสัปดาห์ถัดไป หรืออาจจะต้องรอไปอีกสัปดาห์ถึงจะมีการคลอดเกิดขึ้น

ท้อง 37 สัปดาห์ ลูกอยู่ท่าไหน

ทารกในครรภ์ 37 ส่วนใหญ่อยู่ในท่ากลัวหัวลงเพื่อเตรียมพร้อมที่จะคลอดแล้วค่ะ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทารกทุกคนนะคะที่เริ่มกลับหัวในสัปดาห์นี้ มีทารกหลายคนที่อายุครรภ์ถึง 37 สัปดาห์แล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมกลับหัว

ในกรณีนี้แพทย์จะช่วยหมุนทารกให้กลับหัวมาอยู่ในท่าที่ถูกต้อง หรืออาจพิจารณาให้ยาคลายกล้ามเนื้อมดลูก เพื่อให้ทารกหมุนตัวและกลับหัวได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าหากเด็กไม่ยอมกลับหัวจริง ๆ แพทย์อาจวินิจฉัยให้ทำการผ่าคลอด เพื่อความปลอดภัยของทารกและคุณแม่ค่ะ

อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ เท่ากับกี่เดือน

คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ เมื่อเทียบเป็นจำนวนเดือนแล้วจะเท่ากับอายุครรภ์ 9 เดือน 1 สัปดาห์ค่ะ

พัฒนาการลูกน้อยในครรภ์ 37 สัปดาห์ เป็นอย่างไร


พัฒนาการของทารกในระยะนี้จะเริ่มลดลง ไม่รวดเร็วเหมือนในช่วงที่ผ่านมา นั่นเป็นเพราะว่าเมื่ออายุครรภ์ 37 สัปดาห์ขึ้นไป รกจะทำหน้าที่ได้ลดลง ทำให้การเจริญเติบโตของทารกเริ่มคงที่ และไม่ได้มีพัฒนาการที่เพิ่มมากขึ้นเหมือนก่อนหน้านี้

ขนาดทารกในครรภ์ 37 สัปดาห์ จะมีขนาดเท่าไหน

ทารกอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 20 นิ้ว มีขนาดพอ ๆ กับผักชาร์ดขนาดใหญ่ หรือ สวิสชาร์ด (Swiss Chard) ค่ะ

ท้อง 37 สัปดาห์ น้ำหนักลูก มีน้ำหนักเท่าไหร่

อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ น้ำหนักทารกจะอยู่ที่ประมาณ 2.8-2.9 กิโลกรัมค่ะ แต่ก็ทารกหลายคนที่อาจมีน้ำหนักแตะถึง 3 กิโลกรัมในสัปดาห์นี้ค่ะ

ท้อง 37 สัปดาห์ ลูกดิ้นมากแค่ไหน

ทารกอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ จะเริ่มดิ้นน้อยลงแล้วค่ะ เนื่องจากพื้นที่ในมดลูกมีไม่มากพอที่ทารกจะสามารถเคลื่อนไหวหรือขยับตัวได้อย่างอิสระเหมือนเคย

อย่างไรก็ตาม แม้ความถี่บ่อยในการดิ้นของทารกจะเริ่มลดลง แต่คุณแม่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนับลูกดิ้นทุกวัน โดยควรจะนับได้ 10 ครั้งต่อวัน เมื่อนับครบ 10 ให้หยุดนับได้

แต่ถ้าหมดวันแล้วนับไม่ครบ 10 ครั้ง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ได้ และถ้าหากในครึ่งวันเช้า ทารกดิ้นไม่ถึง 4 ครั้ง ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องรอจนถึงตอนเย็น

ท้อง 37 สัปดาห์ ลูกกลับหัวแล้วหรือยัง

ทารกอายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ ส่วนมากจะกลับหัวอยู่ในท่าเตรียมคลอดแล้วค่ะ แต่ถ้าสัปดาห์นี้ทารกยังไม่ยอมกลับหัว แพทย์จะช่วยปรับท่าให้ทารกอยู่ในท่าพร้อมคลอด โดยอาจจะต้องมีการนวดปรับท่า การให้ยาคลายกล้ามเนื้อมดลูก

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเด็กไม่ยอมกลับหัวจริง ๆ แพทย์อาจวินิจฉัยให้ทำการผ่าคลอด เพื่อความปลอดภัยของทารกและคุณแม่ค่ะ

อวัยวะและระบบอื่น ๆ

การพัฒนาของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของทารกในช่วงอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ จะเริ่มคงที่ และไม่ได้หวือหวา หรือรวดเร็วเช่นที่ผ่านมาค่ะ เพราะรกจะเริ่มทำหน้าที่ลดลง เพื่อที่จะเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด และทารกถึงเวลาที่จะต้องคลอดออกจากครรภ์แล้ว

          • ในระยะนี้ลูกน้อยพร้อมที่จะออกมาดูโลกได้ทุกขณะ แต่ถ้าปากมดลูกคุณแม่ยังไม่เปิด ทารกก็ยังจะสะสมไขมันต่อไปเรื่อย ๆ ระบบและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกยังคงมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องไปจนครบกำหนดคลอด แต่จะไม่ได้พัฒนาแบบก้าวกระโดดเช่นที่ผ่านมา

          • ระหว่างสัปดาห์นี้หากทารกยังไม่กลับหัว ก็จะเริ่มเอาศีรษะลงมาถึงบริเวณกระดูกอุ้งเชิงกรานแล้ว

          • ทารกมีผมขึ้นเต็มศีรษะแล้ว

          • น้ำหนักของทารกจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะร่างกายมีการสะสมไขมันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

เข้าใจการเปลี่ยนแปลงร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์


แม่ท้อง 37 สัปดาห์หลายคนอาจต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่างในช่วงสัปดาห์นี้ มีดังนี้

          • ยิ่งใกล้ถึงเวลาที่ลูกน้อยจะออกมาลืมตาดูโลก ก็ยิ่งทำให้คุณแม่อาจตื่นเต้นจนหลับไม่สนิท คุณแม่ควรทำใจให้สบายค่ะ ไม่ต้องกังวลจนเกินไป ควรหาเวลางีบหลับตอนกลางวัน เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนบ้าง

          • อาการเจ็บท้องเตือนในช่วงที่อายุครรภ์ 37 สัปดาห์จะถี่ขึ้นเรื่อย ๆ และแต่ละครั้งกินเวลานานขึ้นด้วย เมื่อเข้าห้องน้ำอย่าลืมเช็กดูว่ามีมูกเลือดออกมาทางช่องคลอดหรือไม่ มูกเลือดเป็นตัวบ่งบอกว่าปากมดลูกมีการคลายตัว แต่หากมีเลือดออกมาจากช่องคลอดมากผิดปกติให้รีบไปโรงพยาบาล

          • สิ่งสำคัญในช่วงของการตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์ คือ คุณแม่ควรไปพบคุณหมอบ่อยขึ้นตามนัดคือ สัปดาห์ละครั้ง เพราะโรคแทรกซ้อนหลายอย่างมักเป็นตอนท้องแก่ เช่น ครรภ์เป็นพิษหรือ รกเสื่อมสภาพ

          • ช่วงนี้คุณหมออาจจะตรวจดูว่าปากมดลูกเปิดแล้วหรือยัง มีความบางตัวลงแล้วหรือยังและเด็กอยู่ในท่าไหน และตำแหน่งไหนแล้ว

อาหารคนท้อง 37 สัปดาห์ มีอะไรบ้างที่คุณแม่ควรกิน


สำหรับแม่ท้อง 37 สัปดาห์ ควรเน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ ในแต่ละมื้อควรประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืชต่าง ๆ ด้วย มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องเน้นกลุ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่

          • ดีเอชเอ ช่วยพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น

          • ธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ธาตุเหล็กพบได้มากในอาหารจำพวก เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น

          • โฟเลต ช่วยในการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับระบบประสาทของทารกในครรภ์ โฟเลตพบได้มากในอาหารจำพวก ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น

          • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของแม่และทารกให้แข็งแรง แคลเซียมพบได้มากในอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น

          • ไอโอดีน ช่วยให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายปกติ ลดความเสี่ยงของโรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไอโอดีนพบในอาหารทะเลทุกชนิด เกลือไอโอดีน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น

          • โคลีน ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น

          • โอเมก้า 3 ช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย โอเมก้า 3 พบได้มากในอาหารจำพวกปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอริ่ง และพืชตระกูลถั่ว เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท เป็นต้น

นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายแล้ว คุณแม่ยังสามารถเสริมสุขภาพด้วยการดื่มนมค่ะ โดยสามารถเลือกนมที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นจำหรับคนท้อง เช่น มีแคลเซียมสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟลิก โคลีน เป็นต้น

ซึ่งการดื่มนมก็จะช่วยให้คุณแม่ยังได้รับสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าในวันนั้นอาจจะกินอาหารได้น้อยลง

Enfamama TAP No. 1

อาการคนท้อง 37 สัปดาห์ ที่พบได้ในช่วงนี้


อาการคนท้อง 37 สัปดาห์ที่สามารถพบได้โดยทั่วไป มีดังนี้

          • แรงกดดันจากศีรษะของทารกต่อกระดูกเชิงกรานและกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้คุณแม่ปวดปัสสาวะมากขึ้น

          • มีอาการปวดช่องคลอด ปวดเชิงกราน หรือปวดบริเวณทวารหนักเฉียบพลันบ่อย ๆ แต่จะอาการปวดจะอยู่แค่ชั่วครู่ก็ดีขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากเอ็นที่ยืดออก การเคลื่อนไหวของทารก และความกดดันจากทารกต่อเส้นประสาทในอุ้งเชิงกราน

          • มีอาการปวดหลังและปวดสะโพกมากขึ้น เพราะขนาดครรภ์โน้มออกมาข้างหน้ามากขึ้น และเส้นเอ็นเริ่มมีการคลายตัว ทำให้เกิดการบีบรัดหรือระคายเคืองเส้นประสาทไซอาติกในกระดูกสันหลังของคุณแม่ คุณจะรู้สึกปวดร้าวจากหลังส่วนล่างไปจนถึงหลังขาไปจนถึงเท้า

ท้อง 37 สัปดาห์ สัปดาห์นี้มีนัดตรวจอะไรไหม


สัปดาห์นี้แพทย์จะนัดคุณแม่เข้ามาทำการตรวจครรภ์เพื่อดูว่าทารกยังเจริญเติบโตตามปกติหรือไม่ ขนาดตัวทารกเป็นอย่างไร มีขนาดใหญ่เกินจนอาจจะต้องผ่าคลอดหรือเปล่า

มากไปกว่านั้น แพทย์จะดูว่าทารกเริ่มกลับหัวหรือยัง ถ้ายังไม่กลับหัว แพทย์จะช่วยปรับท่าเพื่อให้ทารกกลับหัว หรืออาจจะต้องให้ยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อกระตุ้นให้ทารกกลับหัว

แต่ถ้าหากคุณแม่มีอาการใกล้คลอดแล้ว ปากมดูกเปิดกว้างขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทารกยังไม่ยอมกลับหัว แพทย์อาจจะวินิจฉัยให้ทำการผ่าคลอด เพื่อความปลอดภัยของแม่และทารกในครรภ์ค่ะ

ท้อง 37 สัปดาห์ อาการใกล้คลอด ที่คุณแม่ควรรู้!


ช่วงอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ หากคุณแม่พบว่ามีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นสัญญาณใกล้คลอดค่ะ

          • มีอาการปวดท้องรุนแรง โดยอาจจุปวดท้องทุก ๆ 10-20 นาที แล้วเริ่มปวดถี่ขึ้นเป็นทุก ๆ 5-10 นาที และอาการปวดไม่ทุเลาลงเลย มีแต่ปวดแรงขึ้น ๆ
          • มีของเหลว หรือมูกใส ๆ หรือมูกปนเลือดไหลออกมาทางช่องคลอด
          • น้ำคร่ำแตก หรือน้ำเดิน คือมีของเหลวใส ๆ ไหลออกทางช่องคลอดเป็นจำนวนมาก
          • ปากมดลูกเริ่มขยาย โดยอาจจะเปิดกว้างขึ้นชั่วโมงละ 1-2 เซนติเมตร

หากมีอาการดังกล่าว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะเป็นสัญญาณใกล้คลอด และอาจจะมีการคลอดเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า

ท้อง 37 สัปดาห์ แล้วมีอาการแบบนี้ ปกติหรือไม่


อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ คุณแม่อาจพบกับอาการต่าง ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องปกติของคนท้องหรือเปล่า หรือเป็นสัญญาณอันตรายไหม ซึ่งขอแนะนำว่าคุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการใด ๆ ที่ผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่

และหากมีอาการใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือไม่แน่ใจว่าอาการแบบนี้ผิดปกติไหม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันทีค่ะ

ท้อง 37 สัปดาห์ ท้องแข็งบ่อยแต่ไม่ปวดท้อง ปกติไหม

อาการท้องแข็งบ่อยในไตรมาสสามถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ และถ้าหากมีอาการท้องแข็งบ่อย แต่ไม่ได้ปวดท้อง หรืออาจจะปวดท้องแต่ไม่ได้ปวดมาก หรือแค่เพียงรู้สึกไม่สบายท้องเท่านั้น ก็ถือว่าเป็นอาการปกติค่ะ ไม่มีอะไรต้องกังวล และนี่เป็นอาการเจ็บครรภ์หลอกค่ะ ไม่ใช่อาการเจ็บครรภ์ใกล้คลอดแต่อย่างใดค่ะ

ท้อง 37 สัปดาห์ เจ็บจี๊ด หมายความว่าอะไร

อาการปวดจี๊ดที่บริเวณหัวหน่าว หรือปวดลึกเข้าไปในช่องคลอด ถือเป็นอาการปกติของคนท้อง 37 สัปดาห์ขึ้นไปค่ะ โดยเกิดจากการที่ศีรษะของทารกที่กลับหัวลงมาไปกดทับที่หัวหน่าว ทำให้คุณแม่มีอาการเจ็บจี๊ดขึ้นมาค่ะ แต่อาการนี้ไม่ใช่สัญญาณใกล้คลอดแต่อย่างใดนะคะ

ท้อง 37 สัปดาห์ ปวดอวัยวะเพศ ปกติไหม

ท้อง 37 สัปดาห์ ปวดจิมิ หรือเจ็บที่อวัยวะเพศ อาจมีสาเหตุมาจากเอ็นกระดูกเชิงกรานยืดออกเพื่อรองรับน้ำหนักของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้น เมื่อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อในช่องคลอดยืดออก

มากไปกว่านั้น ในสัปดาห์นี้ทารกอาจอยู่ในท่ากลับหัวแล้ว ยิ่งทำให้มีแรงกดลงมาที่อุ้งเชิงกรานมากขึ้น และอาการปวดอาจลามจากท้องน้อยมาจนถึงอวัยวะเพศ จึงทำให้รู้สึกเจ็บที่อวัยวะเพศได้

ซึ่งอาการปวดมิจินี้ถือว่าพบได้โดยทั่วไปสำหรับคนท้องไตรมาสสองและไตรมาสสามค่ะ แต่ถ้าอาการปวดไม่ดีขึ้นเลย หรือปวดมากขึ้นกว่าเดิม แนะนำให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม

ท้อง 37 สัปดาห์ ท้องแข็งบ่อย ปกติหรือเปล่า

อาการท้องแข็งบ่อยในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ โดยมากแล้วถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจาก

          • ทารกดิ้นแรง
          • คุณแม่ทำงานหนัก หรือออกแรงมาก
          • คุณแม่อยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น เดินนาน ๆ หรือยืนนาน ๆ
          • มดลูกมีการหดรัดตัวตามปกติในระหว่างตั้งครรภ์

ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้คุณแม่มีอาการปวดท้องเป็นครั้งคราว แต่จะไม่ปวดนาน อาจจะปวดประมาณ 10-20 นาที แล้วก็จะหายไปเอง การเปลี่ยนท่านั่ง ท่านอน หรือลุกขึ้นเดิน หรือกินยาแก้ปวดก็ช่วยให้อาการปวดท้องดีขึ้นได้ กรณีแบบนี้ไม่อันตรายค่ะ

แต่...ถ้าหากอาการปวดท้องของคุณแม่นั้นเริ่มปวดถี่ขึ้น ปวดหลายครั้งต่อวัน อาการปวดนั้นค่อย ๆ รุนแรงขึ้น และอาการปวดไม่ทุเลาลง แม้ว่าจะลองเปลี่ยนท่าทาง หรือกินยาแก้ปวดก็ยังไม่ดีขึ้น พร้อมกับมีอาการคล้ายปากมดลูกเปิด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ หรืออาจมีการคลอดเกิดขึ้นได้ค่ะ

ท้อง 37 สัปดาห์ ลูกดิ้นน้อยลง ควรกังวลไหม

ช่วงไตรมาสสุดท้าย ทารกจะเริ่มดิ้นน้อยลงค่ะ เพราะขนาดของมดลูกไม่ได้มีพื้นที่มากพอให้ทารกคเลื่อนไหวได้อิสระอีกต่อไปแล้ว ดังนั้น การดิ้นน้อยลงของทารกในช่วงนี้จึงไม่ถือว่าน่ากังวลค่ะ

แต่...ถ้าหากหมดวันแล้ว คุณแม่นับลูกดิ้นได้ไม่ถึง 10 ครั้ง หรือในครึ่งวันเช้า ทารกดิ้นไม่ถึง 4 ครั้ง ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องรอจนถึงตอนเย็น เพราะอาจเกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ได้

ท้อง 37 สัปดาห์ ปวดหน่วง ปกติหรือไม่

อาการปวดหน่วงที่ท้อง ถามว่าควรกังวลไหม ก็ขึ้นอยู่กับว่าอาการปวดหน่วงนั้นรุนแรงมากแค่ไหน เพราะโดยมากแล้วคนท้องจะมีอาการปวดหน่วงเนื่องจากการขยายตัวของมดลูก การยืดตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่หน้าท้องอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ทารกอาจอยู่ในท่ากลับหัวแล้ว ยิ่งทำให้มีแรงกดลงมาที่อุ้งเชิงกรานมากขึ้น ทำให้มีอาการปวดหน่วงมากขึ้นได้ในสัปดาห์นี้ค่ะ อย่างไรก็ตาม อาการปวดแบบนี้จะปวดเป็นพัก ๆ ไม่นานก็หาย นอนพัก กินยา หรือเปลี่ยนอริยาบถก็รู้สึกดีขึ้นค่ะ

แต่...ถ้าหากอาการปวดนั้นมีลักษณะที่ปวดรุนแรงจนคุณแม่ทนไม่ไหว ปวดจนลุกไม่ขึ้น ปวดจนนอนไม่หลับ หรือมีอาการเลือดออกร่วมด้วย อันนี้อาจจะเป็นสัญญาณอันตรายได้ ให้รีบไปพบแพทย์ค่ะ

ท้อง 37 สัปดาห์ มีมูกแต่ไม่มีเลือด เกิดจากอะไร

มูกดังกล่าวอาจเป็นเพียงตกขาวตามปกติ ที่เกิดจากการผกผันของฮอร์โมนในร่างกายเท่านั้นค่ะ อย่างไรก็ตาม อาจเป็นไปได้ว่ามูกขาวที่ไหลออกมานั้นคือมูกก่อนคลอด โดยปกติจะมีมูกกั้นที่ปากมดลูก และจะถูกขับออกมาเมื่อปากมดลูกเริ่มขยายกว้างขึ้น เพื่อเปิดทางให้ทารกคลอดออกมานั่นเอง โดยมูกนี้อาจจะมีเลือดปนหรือไม่มีเลือดปนก็ได้ค่ะ

ท้อง 37 สัปดาห์ ปวดท้องน้อย ใกล้คลอดหรือเปล่า

อาการปวดท้องน้อยถือว่าเป็นอาการทั่วไปที่พบได้ในคนท้องค่ะ แต่เมื่ออายุครรภ์ถึง 37 สัปดาห์แล้ว อาการปวดท้องน้อยอาจทำให้คุณแม่เริ่มกังวลว่าจะเป็นสัญญาณใกล้คลอด

ถามว่าเป็นไปได้ไหม มีโอกาสเป็นไปได้ค่ะ แต่คุณแม่จะต้องดูอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ว่ามีอาการปวดรรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไหม มีมูกหรือของเหลวไหลออกจากช่องคลอดไหม มีเลือดไหลออกทางช่องคลอดหรือเปล่า น้ำเดินหรือยัง ปากมดลูกเริ่มเปิดหรือยัง

หากมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อาจเป็นไปได้ว่าใกล้จะมีการคลอดเกิดขึ้น แต่ถ้าหากเป็นเพียงอาการปวดท้องน้อยเหมือนเช่นเคย ไม่มีอาการใกล้คลอดอื่น ๆ ร่วมด้วย ก็อาจจะไม่ใช่สัญญาณก่อนคลอดค่ะ

ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคุณแม่อายุครรภ์ 37 สัปดาห์


คุณแม่อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ควรใส่ใจดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด

รวมถึงควรเริ่มลดกิจกรรมและการงานต่าง ๆ ที่ต้องออกแรงด้วยค่ะ การก้ม ๆ เงย ๆ บ่อย ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ทำให้ปวดหลัง หรือปวดเมื่อยมากขึ้น ทั้งยังเสี่ยงต่อการพลัดตก หกล้ม ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อครรภ์และทารกในครรภ์ได้

และคุณแม่ควรจะไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามการตั้งครรภ์ว่าทารกในครรภ์ยังปกติไหม มีพัฒนาการตามวัยหรือเปล่า หรือมีภาวะความเสี่ยงในขณะตั้งครรภ์หรือไม่

เฝ้าระวังการคลอดก่อนกำหนด

หากคุณแม่มีอายุครรภ์ 37 สัปดาห์แล้ว การคลอดในระยะนี้จะไม่ถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนดแล้วค่ะ เพราะนี่คือการคลอดตามกำหนดของจริงค่ะ และคุณแม่มีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์หรือติดต่อเบอร์ฉุกเฉินกับโรงพยาบาลหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทันทีค่ะ

          • มีเลือดออกทางช่องคลอด ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของการคลอด
          • มีอาการน้ำเดิน หรือสังเกตเห็นว่ามีของเหลวใส ๆ ไหลออกทางช่องคลอดมากกว่าปกติ
          • มดลูกบีบตัวถี่ขึ้น มีอาการปวดท้องรุนแรง และปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาการไม่ทุเลาลง
          • ปวดหน่วงที่อุ้งเชิงกรานร้าวไปจนถึงขา
          • ปากมดลูกเริ่มเปิดมากขึ้น
          • มีอาการบวมมากขึ้นเรื่อย ๆ เวลากดลงแล้วผิวหนังจะบุ๋ม ไม่คืนทรงทันที และมีความดันโลหิตขึ้นสูง

อาการเหล่านีเคือสัญญาณเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งจำเป็นจะต้องรีบทำคลอดทันทีเพื่อป้องกันอันตรายต่อแม่และทารกในครรภ์

ท้องแข็ง เจ็บท้องบ่อย อาการแบบนี้ใกล้คลอดแล้ว หรือแค่เจ็บท้องหลอก

อาการเจ็บท้องหลอก และ เจ็บท้องจริงนั้น ค่อนข้างจะมีความแตกต่างกันค่ะ ซึ่งคุณแม่สามารถสังเกตได้ ดังนี้

อาการเจ็บท้องหลอก คุณแม่จะมีอาการดังนี้

          • จะมีการหดตัวของมดลูกบ่อย แต่จะไม่หดตัวติด ๆ กัน หรือมีการหดตัวน้อยกว่า 4 ครั้งใน 1 ชั่วโมง

          • การหดตัวแต่ละครั้งจะทำให้รู้สึกปวดท้องนานราว ๆ 10-20 วินาที และปวดที่บริเวณท้องส่วนหน้า หรือบริเวณเชิงกราน

          • อาการปวดท้องสามารถหายเองได้เพียงแค่เปลี่ยนท่านั่ง ท่านอน หรือลุกขึ้นเดิน หรือกินยาแก้ปวดก็ช่วยให้อาการปวดท้องดีขึ้นได้

อาการเจ็บท้องจริง คุณแม่จะมีอาการดังนี้

          • มีการหดตัวของมดลูกบ่อย แต่มีการหดตัวติด ๆ กัน หรือมีการหดตัวมากกว่า 4 ครั้งใน 1 ชั่วโมง

          • การหดตัวแต่ละครั้งจะทำให้รู้สึกปวดท้องนานราว ๆ 30-70 วินาที

          • มีอาการปวดตั้งแต่ช่วงหลังส่วนหน้า แล้วลามไปยังบริเวณท้องส่วนหน้า หรือบางทีก็เริ่มปวดมาตั้งแต่ท้องส่วนหน้า และลามไปยังบริเวณหลังส่วนล่าง

          • อาการปวดท้องสามารถหายเองได้เพียงแค่เปลี่ยนท่านั่ง ท่านอน หรือลุกขึ้นเดิน หรือกินยาแก้ปวดก็ช่วยให้อาการปวดท้องดีขึ้นได้

          • มีมูกใส ๆ หรือมูกปนเลือดไหลออกมาทางช่องคลอด และมีอาการน้ำเดินด้วย

          • ปากมดลูกเริ่มเปิดมากขึ้นเรื่อย ๆ

ซึ่งถ้าหากคุณแม่มีอาการเจ็บท้องจริง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีการคลอดเกิดขึ้นอีกไม่นานหลังจากนี้ค่ะ

เตรียมตัวให้นมแม่อย่างไร

การเตรียมตัวให้นม จริง ๆ แล้วคุณแม่แทบไม่จำเป็นจะต้องเตรียมอะไรเกี่ยวกับเต้านมเลยค่ะ เพราะตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์มา เต้านมของคุณแม่ก็เริ่มสร้างน้ำนมแล้วค่ะ

ดังนั้น ส่วนใหญ่แล้วเมื่อคลอดลูกปุ๊บ น้ำนมก็พร้อมไหลทันทีที่ลูกดูด หรือบางครั้งน้ำนมของแม่ก็เริ่มไหลตั้งแต่อายุครรภ์ได้ 8-9 เดือนแล้วค่ะ

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรจะตรวจดูหัวนมของตัวเองด้วยว่ามีความผิดปกติใด ๆ หรือเปล่า โดยวิธีตรวจหัวนมและเต้านม สามารถทำได้ ดังนี้

          • ให้ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้กดลงไปที่ลานนมประมาณ 1 นิ้ว ถ้าหยิบติดหัวนมขึ้นมา ถือว่าปกติค่ะ แต่ถ้าหยิบแล้วหัวนมผลุบเข้าไป แบบนี้เรียกว่าหัวนมบอดค่ะ

          • แต่ถ้าหัวนมบุ๋มหายเข้าไปในเต้านม เรียกว่าหัวนมบุ๋ม

          • ส่วนถ้าลองจับเต้านมดูแล้วรู้สึกว่าเต้านมไม่เท่ากัน อันนี้ปกติค่ะ เป็นเรื่องธรรมชาติที่จะมีเต้านมข้างหนึ่งใหญ่ ข้างหนึ่งเล็ก

ซึ่งหัวนมที่บอดหรือบุ๋มมาก ๆ นี้ถือว่าผิดปกติค่ะ เพราะเวลาให้นมลูกจะทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บหัวนมหรือเจ็บเต้านมเวลาที่ให้นมลูกค่ะ

สำหรับคุณแม่ที่มีหัวนมบอด ควรดึงหัวนมบ่อย ๆ ด้วยอุปกรณ์ดึงหัวนม ทำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ครั้งละ 10 นาที และจำเป็นจะต้องทำตั้งแต่เนิ่น ๆ นะคะ หากปล่อยไว้จะแก้ไขได้ยาก

นอกจากนี้ คุณแม่ควรหมั่นดูแลหัวนมไม่ให้แห้ง บำรุงด้วยมอยเจอไรเซอร์เป็นประจำ หากหลังจากอายุครรภ์ 34 สัปดาห์แล้วยังมีปัญหาเรื่องหัวนมบอดอยู่ ควรรีบปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ

นมแม่สำคัญอย่างไร

หากคุณแม่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี มีปริมาณน้ำนมที่เพียงพอ ไม่ได้มีปัญหาสุขภาพ หรือมีปัญหาน้ำนมน้อย คุณแม่ควรจะให้ลูกได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน และสามารถให้นมแม่ต่อเนื่องได้นานถึง 2 ปี

ทารกช่วง 6 เดือนแรก ไม่จำเป็นต้องได้รับสารอาหารอื่น ๆ รวมถึงน้ำเปล่าก็ยังไม่เหมาะสำหรับทารกแรกเกิดด้วย แค่นมแม่ก็มีทั้งน้ำ สารอาหารและสารภูมิคุ้มกันที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของทารกแล้วค่ะ จนกระทั่งทารกมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป จึงเริ่มให้อาหารตามวัยควบคู่ไปกับการให้นมแม่ หรือนมสูตรสำหรับทารก

มากไปกว่านั้น แนะนำให้คุณแม่ควรเริ่มให้นมลูกทันทีหลังคลอด เพราะเป็นช่วงที่น้ำนมของแม่ยังเป็นน้ำนมเหลืองอยู่ ซึ่งน้ำนมเหลือง หรือ Colostrum เป็นน้ำนมแรกของแม่ที่จะไหลออกมาก่อนน้ำนมส่วนอื่น ๆ

โดยน้ำนมเหลืองนี้จัดว่าเป็นนมแม่ส่วนที่ดีที่สุด ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์หลายร้อยชนิด เช่น MFGM, DHA, แลคโตเฟอร์ริน เป็นต้น โดยสารอาหารในระยะน้ำนมเหลืองนั้น มีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการครบรอบด้านทั้งสมอง ภูมิคุ้มกัน และระบบทางเดินอาหารของทารก

มากไปกว่านั้น น้ำนมเหลือง ยังถือได้ว่าว่าเป็นวัคซีนเข็มแรกของลูก เนื่องจากมีสารภูมิคุ้มกันซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันการติดเชื้อและเสริมภูมิคุ้มกันของทารกให้แข็งแรง

โดยน้ำนมเหลืองจะไหลออกมาแค่เพียง 1-3 วันแรกหลังคลอดเท่านั้น นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญเลยค่ะว่า ทำไมคุณแม่ควรรีบให้นมลูกทันทีหลังคลอด เพราะถ้าหากพ้นไปจาก 1-3 วันหลังคลอดแล้ว ทารกก็จะพลาดโอกาสที่จะได้รับคุณค่าทางสารอาหารที่ดีที่สุดช่วงนี้ไปค่ะ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แม่ทุกคนที่สามารถให้นมแม่ได้ ถ้าหากคุณแม่มีปัญหาน้ำนมน้อย น้ำนมไม่ไหล ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพ การบาดเจ็บ หรือมีผลมาจากความเครียด หรือภาวะซึมเศร้าหลังคลอด คุณแม่ไม่ต้องรู้สึกผิดว่าทำไมฉันน้ำนมน้อย ทำไมฉันไม่มีน้ำนม ฉันเป็นแม่ที่ไม่ดี ฉันมันไม่เอาไหน

เพราะนี่คือเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ และมีหนทางแก้ค่ะ หากคุณแม่มีปัญหาน้ำนมไม่ไหล น้ำนมน้อย น้ำนมไม่พอ ให้คุณแม่ไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและรับการดูแลรักษาที่เหมาะสมค่ะ

ผ้าอ้อม คาร์ซีท เสื้อผ้า สารพัดของใช้ลูกน้อย ต้องเตรียมอะไรบ้าง

เมื่อเข้าไตรมาสสาม คุณแม่สามารถเริ่มเตรียมของต่าง ๆ ที่จะใช้หลังคลอดได้เลย เพื่อที่ว่าหากมีการคลอดขึ้นมาอย่างฉุกละหุก คุณแม่สามารถหยิบของเตรียมคลอดและไปโรงพยาบาลได้ทันทีเลย โดยของเตรียมคลอดสำหรับลูกน้อยที่ควรเตรียมไว้ มีดังนี้

ของใช้เตรียมคลอดสำหรับลูกน้อย:

          • คาร์ซีท หรือเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก ควรมีติดรถไว้เมื่อใกล้กำหนดคลอด
          • เสื้อผ้าสำหรับเด็กทารก เตรียมเผื่อหรือให้เพียงพอ
          • ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับเด็กทารก
          • ผ้าอ้อม ผ้าสะอาดสำหรับการเช็ดทำความสะอาด
          • ของใช้ทำความสะอาดร่างกายสำหรับเด็ก ได้แก่ ยาสระผมสำหรับเด็กแรกเกิด สบู่สำหรับเด็กแรกเกิด
          • สมุดบันทึกพัฒนาการของเด็ก
          • ผ้าห่อตัวเด็ก ควรเลือกเป็นผ้านุ่ม ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวเด็ก
          • ชุดสำหรับใส่กลับบ้าน

ไปคลอดต้องเตรียมอะไรบ้างนะ

นอกจากของเตรียมคลอดสำหรับลูกน้อยแล้ว คุณแม่ยังจำเป็นจะต้องเตรียมสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ให้พร้อมด้วย

ของใช้เตรียมคลอดสำหรับคุณแม่:

          • เอกสารสำคัญ เช่น บัตรประจำตัวผู้ป่วย ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน หรือเอกสารเกี่ยวกับประกันสุขภาพต่าง ๆ รวมถึงเอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับใช้ในการแจ้งเกิด เอกสารหรือสมุดฝากครรภ์ ใบนัดแพทย์ บันทึกการตั้งครรภ์ ใบขับขี่ เอกสารเกี่ยวกับประกันสุขภาพหรือประกันสังคม

          • ชื่อสำหรับการแจ้งเกิดเด็ก

          • เสื้อผ้าตัวหลวม เพื่อให้รู้สึกสบายตัว และไม่รัดและเสียดสีบาดแผลจากการคลอด

          • เสื้อผ้าอย่างน้อยประมาณ 2-3 ชุด หรือเตรียมให้เพียงพอต่อการเปลี่ยน

          • ชุดชั้นในอย่างน้อยประมาณ 2-3 ชุด หรือเตรียมให้เพียงพอต่อการเปลี่ยน

          • บราสำหรับให้นม เพื่อช่วยให้คุณแม่สามารถให้นมลูกได้อย่างสะดวกมากขึ้น

          • แผ่นซับน้ำนม เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำนมส่วนเกินไหลออกมาเปื้อนเสื้อผ้า

          • ผ้าอนามัยหลังคลอด เพื่อซับเปลี่ยนน้ำคาวปลาหลังคลอด

          • ของใช้ทำความสะอาดร่างกาย ได้แก่ ครีมอาบน้ำหรือสบู่ ยาสระผม ครีมนวดผม แปรงสีฟัน ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก

          • ของใช้ส่วนตัว ได้แก่ ครีมทาผิว ครีมทาหน้า โรลออนระงับกลิ่นกาย ลิปบาล์ม เครื่องสำอาง หวีผม ยางรัดผม

          • ของใช้อื่น ๆ ตามแต่ไลฟ์สไตล์ เช่น หูฟัง หนังสือ คอมพิวเตอร์แบบพกพา ไอแพด โทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ กล้อง

          • ขนมหรืออาหารที่สามารถกินได้หลังคลอด และมีประโยชน์ในการสร้างน้ำนม

          • เงินสด หรือบัตรเครดิต

          • ยารักษาโรค หรือยาที่แพทย์แนะนำ

          • รองเท้าแตะสำหรับใส่ในบ้าน

          • ชุดสำหรับใส่กลับบ้าน

          • ขวดสำหรับใส่น้ำดื่ม หรือน้ำดื่ม

ไขข้อข้องใจเมื่อท้อง 37 สัปดาห์ กับ Enfa Smart Club


ท้อง 37 สัปดาห์ ปวดหัวหน่าว ปกติไหม?

อาการปวดหัวหน่าวในไตรมาสสามนั้น ถือเป็นธรรมชาติของคนท้อง และมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายรุนแรง โดยอาการปวดหัวหน่าวนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ

          • ฮอร์โมนตั้งครรภ์ส่งผลให้กล้ามเนื้อมีการคลายตัว ช่องคลอดขยาย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดลูก

          • ขนาดตัวของทารกและมดลูกขยาย หรือตั้งครรภ์แฝด ทำให้เชิงกรานของคุณแม่ขยายและต้องรับน้ำหนักมาก จึงรู้สึกปวดหัวหน่าวได้

          • การไหลเวียนเลือดไม่ค่อยดี เนื่องจากทารกมีขนาดตัวใหญ่ ก็จะทำให้ขาบวมหรือมีอาการตึงที่หัวหน่าว

          • การอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดหัวหน่าวได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากอาการหัวหน่าวของคุณแม่นั้นรุนแรงมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ปวดจนลุกไม่ไหว ปวดจนนอนไม่หลับ หรือกินยาแก้ปวดแล้วก็ไม่ดีขึ้นเลย อาจจะต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ

ท้อง 37 สัปดาห์ มีเลือดออก อันตรายไหมนะ?

ถ้าหากคุณแม่มีเลือดออกทางช่องคลอดในสัปดาห์นี้ อาจเป็นสัญญาณใกล้คลอดค่ะ ให้คุณแม่สังเกตดูด้วยว่ามีอาการอื่น ๆ ร่วมหรือเปล่า มีอาการปวดท้องรุนแรงไหม มีมูกใสหรือของเหลวไหม ปากมดลูกเริ่มเปิดไหม

อย่างไรก็ตาม อาการเลือดออกขณะตั้งครรภ์นั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่จำเป็นต้องรอสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วม แค่พบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอด ก็ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ถ้าหากเป็นสัญญาณการคลอดจริง ๆ คุณแม่ก็จะได้เข้าสู่กระบวนการคลอดทันทีค่ะ

ตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์ ตกขาว เกิดจากอะไร?

การมีตกขาวถือเป็นเรื่องปกติของคนท้องค่ะ เพราะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้คลอดก็จะมีมูกตกขาวออกมามากขึ้น เป็นสัญญาณว่าใกล้คลอด

อย่างไรก็ตาม หากตกขาวมีลักษณะเป็นก้อนเล็ก ๆ สีขาว หรือมีสีเหลือง หรือสีเทา ตกขาวมีลักษณะข้นเหนียว มีกลิ่นเหม็น และมีอาการคันร่วมด้วย อาจเป็นตกขาวทมี่เกิดจากการติดเชื้อ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาค่ะ

ท้อง 37 สัปดาห์ เท้าบวมมาก คุณแม่จะรับมืออย่างไรดี?

คุณแม่ที่มีอาการบวมที่เท้า หรือข้อเท้า อาจสามารถรับมือด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

          • เวลานอนให้นอนตะแคง และควรยกปลายเท้าให้สูงขึ้น โดยอาจจะใช้หมอนรองที่บริเวณข้อเท้าก็ได้ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

          • คุณแม่ควรเปลี่ยนอริยาบถบ่อย ๆ เพราะการอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ จะทำให้เกิดแรงกดทับ และทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี

          • หลีกเลี่ยงการสวมแหวน กำไล หรือนาฬิกาที่รัดแน่นจนเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้อาการบวมที่มือ หรือบวมที่นิ้วแย่ลง

          • ไม่สวมถุงเท้าและรองเท้าที่รัดแน่น เพราะจะยิ่งทำให้อาการบวมแย่ลง

          • พยายามลดอาหารที่มีโซเดียมสูง เพราะการบริโภคโซเดียมเข้าไปมาก ๆ จะทำให้มีอาการตัวบวมง่าย

อย่างไรก็ตาม หากอาการบวมของคุณแม่ไม่ดีขึ้นเลย หรือเริ่มบวมจนกระทั่งกดลงไปที่เนื้อแล้วเนื้อบุ๋ม และใช้เวลาคืนทรงช้า ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งถ้าใช่จริง ๆ จำเป็นจะต้องมีการคลอดทันทีค่ะ เพื่อความปลอดภัยของแม่และทารกในครรภ์

ท้อง 37 สัปดาห์ ปวดหลังมาก บรรเทาอาการปวดอย่างไร ใช้ยาทาได้ไหม?

หากคุณแม่มีอาการปวดหลัง สามารถบรรเทาอาการปวดหลังได้ง่าย ๆ ดังนี้

          • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัวแทน

          • พยายามเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายบ้าง เช่น การเดิน ปั่นจักรบาน โยคะ เพื่อช่วยยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ

          • เวลานอนให้ใช้หมอนรองที่หว่างขา หรือเอว หรือหลัง เพื่อลดแรงกดทับที่หลัง

          • ปรับเปลี่ยนอริยาบถให้เหมาะสม ไม่นั่งท่าเดิมนาน ๆ เปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ นั่งหลังตรง ไม่นั่งหลังงอ เพราะจะทำให้อาการปวดหลังแย่ลงได้

          • ทาครีมยาบรรเทาอาการปวดหลัง

          • ไปนวดกับแพทย์แผนไทยที่เชี่ยวชาญการนวดคนท้อง และควรแจ้งกับคนนวดทุกครั้งว่ากำลังตั้งครรภ์

          • กินยาบรรเทาอาการปวดตามที่แพทย์แนะนำ

ท้อง 37 สัปดาห์ หายใจไม่สะดวก ปกติไหม?

เนื่องจากขนาดของมดลูกที่ใหญ่ขึ้นจนเบียดและดันขึ้นมาที่หน้าอก ทำให้ปอดถูกเบียดจนมีขนาดเล็กลง ส่งผลให้คุณแม่หายใจถี่ขึ้น มีอาการแน่นหน้าอก และหายใจไม่ค่อยออกค่ะ

การนอนโดยยกศีรษะให้สูงขึ้น อาจช่วยให้อาการหายใจไม่ออกดีขึ้นได้ แต่ถ้าคุณแม่หายใจไม่ออก แล้วเริ่มหน้ามืด หรือหมดสติบ่อย ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการหายใจไม่ออกบ่อย ๆ และเริ่มรุนแรงขึ้น กรณีนี้อาจจะเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ ควรไปพบแพทย์ทันทีที่รู้สึกว่าอาการหายใจไม่ออกเริ่มจะรุนแรงมากขึ้น

ท้อง 37 สัปดาห์ ท้องเสีย ควรดูและตัวเองอย่างไร?

คุณแม่ที่ท้องเสีย สามารถดูแลตัวเองได้ ดังนี้

          • กินอาหารที่ย่อยง่าย เพื่อให้ร่างกายสามารถย่อยและขับถ่ายได้ง่ายขึ้น

          • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารที่รสเผ็ดจัด เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบย่อยอาหารและทำให้ท้องเสียแย่ลง

          • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เพราะมีแนวโน้มที่จะทำให้อาการท้องเสียหนักขึ้นได้

          • ดื่มน้ำ หรือดื่มเกลือแร่สำหรับอาการท้องเสีย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ได้

          • ในกรณีที่มีอาการท้องเสียจากการติดเชื้อ คุณแม่ควรกินยาตามที่แพทย์สั่ง คนท้องไม่ควรซื้อยามากินเองโดยไม่ปรึกษากับแพทย์ เพราะยาบางอย่างอาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ได้

          • แต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นเลย หรือท้องเสียติดต่อกัน 1-2 วัน คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ท้อง 37 สัปดาห์ คลื่นไส้ ปกติไหมนะ?

อาการเวียนหัว คลื่นไส้ในระยะนี้ ส่วนมากแล้วไม่ส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ค่ะ โดยอาจเป็นไปได้ 2 กรณี ดังนี้ ในกรณีแรกคุณแม่มีอาการแพ้ท้องยาวนานมาจนถึงไตรมาสสาม หรืออีกกรณีคือ เกิดจากขนาดของมดลูกที่ใหญ่โตมากขึ้นทุก ๆ วัน จนไปกดทับหรือเบียดดันเส้นเลือด ทำให้การไหลเวียนเลือดทำได้ไม่ดี อาจก่อให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรือคลื่นไส้ได้ค่ะ

การนอนพัก การดื่มน้ำ อาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่ถ้าอาการวิงเวียนศีรษะและอาการคลื่นไส้เริ่มถี่ขึ้นจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้กินอาหารไม่ได้ หรือนอนไม่หลับเลย ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

ของใช้เด็กแรกเกิด
how-long-is-maternity-leave
ลูกกลับหัวตอนกี่เดือน ลูกไม่ยอมกลับหัวสักที อันตรายไหม
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner