Enfa สรุปให้
-
บล็อกหลัง คือ การฉีดยาชาเข้าไปที่ไขสันหลัง เพื่อระงับความรู้สึกที่ไขสันหลัง และลดความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้นขณะทำการผ่าตัดคลอด
-
การบล็อกหลังจะทำโดยวิสัญญีแพทย์ที่มีความชำนาญ โดยวิสัญญีแพทย์จะเช็ดทำความสะอาดบริเวณแผ่นหลังเพื่อฆ่าเชื้อ จากนั้นจะฉีดยาชาเข้าไปในจุดไขสันหลังที่ต้องการ
-
คุณแม่ที่ได้รับการบล็อกหลังจะยังรู้สึกตัว ได้ยินเสียง และมองเห็นกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว โดยที่ไม่รู้สึกเจ็บปวด
การคลอด เป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือทรมานมาก แม่บางรายทนความเจ็บปวดไม่ไหว จนไม่สามารถจะออกแรงเบ่งลูกได้ หรือในกรณีที่มีการคลอดยาก หรือต้องผ่าคลอด แพทย์อาจวินิจฉัยให้ทำการบล็อกหลังเพื่อลดความเจ็บปวดขณะคลอด แต่บล็อกหลังช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้จริงไหม แม่ทุกคนต้องบล็อกหลังหรือเปล่า มีผลข้างเคียงที่น่าเป็นห่วงหรือไม่ Enfa มีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับการบล็อกหลังมาฝากค่ะ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
• บล็อกคืออะไร
• วิธีบล็อกหลัง
• บล็อกหลังมีกี่แบบ
• บล็อกหลังเจ็บไหม
• ข้อดี-ข้อเสียของการบล็อกหลัง
• อาการหลังบล็อกหลัง มีอะไรบ้าง
• ไม่บล็อกหลังตอนคลอดได้ไหม
• ข้อดีข้อเสียของการบล็อกหลัง
• ไขข้อข้องใจเรื่องการบล็อกหลังกับ Enfa Smart Club
บล็อกหลัง คืออะไร
บล็อกหลัง คือ การฉีดยาชาเข้าไปที่ไขสันหลัง เพื่อระงับความรู้สึกที่ไขสันหลัง และลดความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้นขณะทำการผ่าตัด มักพบได้ในการผ่าตัดอวัยวะส่วนล่างของร่างกาย เช่น ท้อง อวัยวะเพศ หรือขา รวมถึงการคลอดด้วย
วิธีบล็อกหลังทำอย่างไร
การบล็อกหลังขณะคลอดจะทำโดยวิสัญญีแพทย์ โดยจะมีขั้นตอนดังนี้
-
วิสัญญีแพทย์จะเช็ดทำความสะอาดบริเวณแผ่นหลังเพื่อฆ่าเชื้อ
-
จากนั้นจะฉีดยาชาเข็มเล็ก ๆ เข้าไปที่บริเวณหลัง
-
เสร็จแล้ววิสัญญีแพทย์จะใช้เข็มใหญ่สอดเข้าไปที่บริเวณระหว่างกระดูกสันหลังเพื่อหาจุดที่ต้องการจะฉีดยาชา ซึ่งอาจจะเลือกบริเวณช่องน้ำไขสันหลัง หรือบริเวณช่องเหนือไขสันหลัง
-
เมื่อได้จุดที่ต้องการแล้ววิสัญญีแพทย์ก็ทำการฉีดยาชาผ่านท่อเล็ก ๆ เข้าไป
โดยหลังจากฉีดยาชาไปแล้ว คุณแม่จะเริ่มมีความรู้สึกชาตั้งแต่บริเวณกลางลำตัวไล่ลงไปจนถึงช่วงขา ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บขณะคลอด
การบล็อกหลังมีกี่แบบ
การบล็อกหลังอาจสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ดังนี้
-
การบล็อกหลังโดยการฉีดยาชาเข้าที่ช่องน้ำไขสันหลัง (Spinal Anesthesia) วิธีนี้มักใช้ในการผ่าตัดทั่วไปที่ไม่ใช่การคลอดบุตร
-
การบล็อกหลังโดยการฉีดยาชาเข้าที่ช่องเหนือไขสันหลัง (Epidural Anesthesia) วิธีนี้มักจะใช้ในกรณีที่มีการคลอดบุตร
ซึ่งแม้จะต่างกันที่จุดฉีดยาชา แต่ผลลัพธ์ยังคงเหมือนเดิม คือ ทำให้ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดรู้สึกชา ระงับความเจ็บปวด
อย่างไรก็ตาม การฉีดยาชาเข้าที่ช่องน้ำไขสันหลัง จะทำให้ยาตรงเข้าระงับความเจ็บปวดที่ไขสันหลังทันที ซึ่งจะฉีดแค่ครั้งเดียว โดยไม่ต้องมีการต่อท่อเล็ก ๆ เพื่อทำการฉีดยาชา
บล็อกหลังเจ็บไหม
คุณแม่อาจจะรู้สึกเจ็บในตอนที่วิสัญญีแพทย์ทำการฉีดยาชา แต่เมื่อยาชาออกฤทธิ์ คุณแม่ก็จะไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดใด ๆ อีกเลยตลอดการคลอดจนกระทั่งยาชาหมดฤทธิ์
ข้อดี-ข้อเสียของการบล็อกหลัง
บล็อกหลังดีอย่างไร
การบล็อกหลังมีข้อดีต่อคุณแม่ ดังนี้
-
คุณแม่รู้สึกตัว ได้ยินเสียง และมองเห็นกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว โดยที่ไม่รู้สึกเจ็บปวด
-
ยาชาที่ฉีดเข้าบริเวณไขสันหลัง จะไปออกฤทธิ์ทำการกดประสาท ซึ่งนอกจากจะไม่ทำให้เจ็บปวดแล้ว หลังคลอดคุณแม่ก็จะไม่รู้สึกเจ็บแผลแบบทันทีทันใดเหมือนกับคุณแม่ที่เลือกดมยาสลบตอนผ่าคลอด
-
ยาชาไม่ซึมผ่านเข้ากระแสเลือดของทารก
-
ไม่ส่งผลเสียต่อกระบวนการคลอด
บล็อกหลัง ผลข้างเคียงเป็นอย่างไร
การบล็อกหลังแม้จะมีข้อดี แต่ก็มีความเสี่ยงที่ต้องระวังด้วยเช่นกัน ดังนี้
-
เมื่อยาชาหมดฤทธิ์หลังจากการคลอดเสร็จสิ้น คุณแม่อาจมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน
-
ปวดศีรษะ
-
ความดันโลหิตต่ำ
-
ปวดหลัง หลังจากที่ผ่าคลอดเสร็จแล้ว
-
อาจจะปัสสาวะไม่ออกในช่วง 12 ชั่วโมงแรกหลังคลอด
-
ขาไม่สามารถขยับได้ในช่วง 2-4 ชั่วโมงแรกหลังคลอด
-
เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ไขสันหลัง
-
เสี่ยงที่จะมีเลือดออกในช่องไขสันหลัง
อาการหลังบล็อกหลัง มีอะไรบ้าง
หลังจากบล็อกหลังและจบภารกิจการคลอดแล้ว คุณแม่อาจจะมีอาการดังนี้
-
อ่อนเพลีย ยังไม่สามารถเคลื่อนไหวได้มากนัก
-
คลื่นไส้ อาเจียน
-
ปวดศีรษะ
-
ปวดหลัง
-
ปัสสาวะไม่ออกในช่วง 12 ชั่วโมงแรกหลังคลอด
ไม่บล็อกหลังตอนคลอดได้ไหม
การบล็อกหลังมักทำในกรณีที่ต้องมีการผ่าคลอด เนื่องจากแม่ที่ตั้งท้องอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ไม่สามารถคลอดเองตามธรรมชาติได้ และการผ่าคลอดก็ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดมาก การบล็อกหลังจึงมักเป็นวิธีที่นำมาใช้ในการผ่าตัดคลอด ส่วนการคลอดธรรมชาติมักไม่ค่อยมีการบล็อกหลังเพื่อระงับความเจ็บปวด
ไขข้อข้องใจเรื่องการบล็อกหลังกับ Enfa Smart Club
1. บล็อกหลัง ผ่าคลอด ดีไหม
การผ่าคลอดมักจะต้องมีการบล็อกหลังด้วยอยู่แล้ว เพื่อระงับความเจ็บปวดขณะที่แพทย์ทำการผ่าคลอด จึงถือว่าเป็นเรื่องดีที่คุณแม่จะได้คลอดโดยไม่รู้สึกเจ็บปวดมากนัก
2. คลอดธรรมชาติ บล็อกหลังด้วยจะปลอดภัยหรือเปล่า
การบล็อกหลังนั้นถือว่ามีความปลอดภัย แต่โดยมากแล้วการคลอดธรรมชาติมักไม่ค่อยมีการบล็อกหลังเพื่อระงับความเจ็บปวด และเนื่องจากการฉีดยาชาที่ไขสันหลังจำเป็นจะต้องทำโดยวิสัญญีแพทย์ ในโรงพยาบาลรัฐบาลที่มีบุคลากรน้อยก็อาจจะขอให้มีการบล็อกหลังยากหน่อย แต่สำหรับโรคพยาบาลเอกชนที่มีบุคลากรพร้อมกว่าก็อาจจะสามารถร้องขอให้มีการบล็อกหลังได้
3. ผ่าคลอดแบบดมยากับบล็อกหลัง อย่างไหนดีกว่ากัน
เป็นเรื่องยากที่จะตอบแทนคุณแม่ว่าวิธีไหนจะระงับความเจ็บปวดขณะผ่าคลอดได้ดีกว่ากัน เพราะทั้งสองวิธีก็ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดด้วยกันทั้งสิ้น แต่คุณแม่สามารถพิจารณาได้จากผลข้างเคียงดังนี้
ผลข้างเคียงของการดมยาสลบผ่าคลอด
-
แม้ว่ายาสลบจะทำให้ไม่รับรู้ถึงความเจ็บปวด แต่ระบบประสาทและไขสันหลัง ไม่ได้ถูกฤทธิ์ของยาสลบไปด้วย และยังทำงานปกติ ดังนั้น เมื่อยาสลบหมดฤทธิ์ คุณแม่ที่ดมยาสลบจึงมักจะรู้สึกปวดแผลมาก
-
ระคายเคืองคอ มีอาการไอ อาการเจ็บคอ คอแห้ง เพราะตอนที่สลบไปนั้นต้องมีการใส่ท่อช่วยหายใจเอาไว้ตลอดเวลา
-
วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกเบลอ
-
ยาสลบอาจมีผลต่อทารก ซึ่งจะทำให้การประเมินสุขภาพของทารกหลังคลอดทำได้ช้าลง
ผลข้างเคียงของการบล็อกหลังผ่าคลอด
เมื่อยาชาหมดฤทธิ์หลังจากการคลอดเสร็จสิ้น คุณแม่อาจมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน
-
ปวดศีรษะ
-
ความดันโลหิตต่ำ
-
ปวดหลัง หลังจากที่ผ่าคลอดเสร็จแล้ว
-
อาจจะปัสสาวะไม่ออกในช่วง 12 ชั่วโมงแรกหลังคลอด
-
ขาไม่สามารถขยับได้ในช่วง 2-4 ชั่วโมงแรกหลังคลอด
-
เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ไขสันหลัง
-
เสี่ยงที่จะมีเลือดออกในช่องไขสันหลัง
4. บล็อกหลัง ราคาเท่าไหร่
การบล็อกหลังจำเป็นต้องทำโดยวิสัญญีแพทย์ที่มีความชำนาญ ดังนั้น จึงมีราคาที่ต้องจ่ายสำหรับส่วนนี้ ซึ่งการดมยาสลบมักจะมีการคิดราคาเป็นชั่วโมง โรงพยาบาลบางแห่งก็อาจจะมีการคิดรวมไปในแพ็กเกจแล้ว คุณแม่สามารถสอบถามได้โดยตรงกับโรงพยาบาลที่สนใจจะทำการคลอด
อย่างไรก็ตาม ในโรงพยาบาลรัฐ การบล็อกหลังอาจมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 1,000-10,000 บาทเป็นต้นไป ส่วนโรงพยาบาลเอกชน อาจมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 10,000-20,000 บาทเป็นต้นไป
5. บล็อกหลัง ฉี่ไม่ออก ทำไงดี
หลังยาชาจากการบล็อกหลังหมดฤทธิ์ คุณแม่บางท่านอาจมีอาการปัสสาวะไม่ออก ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ทำการสวนปัสสาวะ เพื่อช่วยให้ปัสสาวะได้
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ อันตรายมากน้อยแค่ไหน
- อาการใกล้คลอด สังเกตทัน รับมือได้
- เจาะน้ำคร่ำจำเป็นไหม แล้วใครบ้างที่ควรเจาะน้ำคร่ำ
- ผ่าคลอด 101 คุณแม่ควรรู้อะไรเกี่ยวกับการผ่าคลอดบ้าง
- เข้าใจการคลอดธรรมชาติ ปลอดภัยและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
- คลอดลูกในน้ำ วิธีคลอดแบบใหม่ เจ็บน้อยลง ฟื้นตัวเร็วขึ้น
- แม่ ๆ เช็กให้พร้อม ดูซิ! ของเตรียมคลอดที่จำเป็นมีอะไรบ้าง
- ภูมิแพ้ในเด็ก คุณแม่ควรรับมืออย่างไรเมื่อลูกน้อยเป็นภูมิแพ้
- The Johns Hopkins University. Obstetrics - Epidural & Spinal Anesthesia. [Online] Accessed https://www.hopkinsmedicine.org/howard_county_general_hospital/services/.... [3 March 2022]
- University of Michigan Health. Spinal Block for Childbirth. [Online] Accessed https://www.uofmhealth.org/health-library/tn7467. [3 March 2022]
- Brigham and Women's Hospital. FAQs: Epidurals and Spinals during Labor. [Online] Accessed https://www.brighamandwomens.org/anesthesiology-and-pain-medicine/pain-f.... [3 March 2022]
- Cleveland Clinic. Pregnancy: Epidurals & Pain Relief Options During Delivery. [Online] Accessed https://my.clevelandclinic.org/health/articles/4450-pregnancy-epidurals-.... [3 March 2022]
- Medline Plus. Spinal and epidural anesthesia. [Online] Accessed https://medlineplus.gov/ency/article/007413.htm. [3 March 2022]
- โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ. ผ่าคลอด! ดมยาสลบหรือบล็อกหลังดี?. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.sikarin.com/health/csection-anes-or-spinalblock. [3 มีนาคม 2022]
- โรงพยาบาลเพชรเวช. วิสัญญีและห้องผ่าตัด. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.petcharavejhospital.com/th/Medical_service/section_detail/op.... [3 มีนาคม 2022]
- คลินิกกระดูกและข้อ หมอวราห์. การบล็อคหลังเพื่อทำการผ่าตัดจะทำให้ปวดหลังหรือไม่. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://varahclinic.com/2019/. [3 มีนาคม 2022]
- โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. คลอดบุตรปกติและบล้อคหลังเพื่อลดความเจ็บปวด. [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.bumrungrad.com/th/treatments/normal-vaginal-delivery-with-ep.... [3 มีนาคม 2022]
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. ความปวดหลังผ่าตัดเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องทนจริงหรือ ?. เข้าถึงได้จาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1259. [3 มีนาคม 2022]