ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
pregnant-belly

ท้องคุณแม่ใหญ่แค่ไหน ขนาดหน้าท้องแต่ละเดือนเป็นอย่างไร

Enfa สรุปให้

  • ขนาดท้อง 1-9 เดือน จะค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามลำดับอายุครรภ์ เนื่องจากทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นในทุก ๆ เดือน และมดลูกก็มีการขยายตัวใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารก ทำให้หน้าท้องของคุณแม่มีขนาดท้องที่เปลี่ยนแปลงในทุกไตรมาส
  • หน้าท้องในไตรมาสแรกนั้นแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง กระทั่งเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 คุณแม่จึงจะเริ่มสังเกตเห็นขนาดหน้าท้องที่นูนขึ้น
  • ไตรมาส 3 ขนาดท้องของคุณแม่ยังคงขยายขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าจะเข้าใกล้กำหนดคลอดแล้วก็ตาม โดยขนาดหน้าท้องในระยะนี้จะใหญ่มาก จนทำให้รู้สึกอึดอัด และทำกิจวัตรประจำวันไม่ค่อยสะดวก

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ขนาดหน้าท้องแต่ละเดือน บ่งบอกอะไร
     • ท้องกี่เดือนพุงถึงออก
     • ขนาดท้องแต่ละเดือน เป็นอย่างไร
     • วัดขนาดท้องขณะตั้งครรภ์ได้อย่างไร

ตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน คุณแม่จะพบกับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายต่าง ๆ มากมาย โดยหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ขนาดหน้าท้อง ยิ่งอายุครรภ์มากขึ้น หน้าท้องของคุณแม่ก็จะยิ่งขยายมากขึ้น วันนี้ Enfa จะพามาเช็กกันว่า เมื่ออายุครรภ์เท่านี้ ขนาดครรภ์ของคุณแม่จะเป็นอย่างไรบ้างนะ 

ขนาดหน้าท้องแต่ละเดือน บ่งบอกอะไร


ขนาดหน้าท้องที่เปลี่ยนไปในแต่ละเดือน นอกจากจะบ่งบอกถึงการเจริญเติบโตของทารก และการขยายตัวของมดลูกจนทำให้หน้าท้องใหญ่ขึ้นแล้วก็ยังสามารถบอกข้อมูลอื่น ๆ ได้อีกด้วย 

ขนาดครรภ์อาจสามารถบอกถึงความผิดปกติของน้ำหนักตัวขณะตั้งครรภ์ได้ หากคุณแม่มีครรภ์ใหญ่มากจนผิดปกติ และมีสาเหตุมาจากการเพิ่มน้ำหนักเกินเกณฑ์ สิ่งนี้อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงของโรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือเสี่ยงต่อการผ่าคลอดเนื่องจากทารกมีขนาดตัวใหญ่ 

มากไปกว่านั้น ขนาดหน้าท้องกับอายุครรภ์ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กัน เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ขนาดครรภ์ก็จะใหญ่ขึ้น แพทย์สามารถวัดขนาดครรภ์เพื่อนำมาใช้ในการคาดคะเนอายุครรภ์ได้ 

ท้องกี่เดือนพุงถึงออก


โดยทั่วไปแล้ว เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์เข้าสู่ช่วงไตรมาส 2 หรือราว ๆ เดือนที่ 4-7 ของการตั้งครรภ์ ก็จะพบว่าคุณแม่เริ่มมีขนาดหน้าท้องที่ยื่นออกมาจนสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน 

อย่างไรก็ตาม นอกจากอายุครรภ์ที่มากขึ้นแล้ว ก็ยังคงมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อขนาดหน้าท้องด้วย คุณแม่บางคนจึงอาจจะรู้สึกว่าขนาดครรภ์ของตัวเองไม่ได้ตรงตามที่บอกเสมอไป 

เช่น คุณแม่ออกกำลังกายบ่อย และมีผนังหน้าท้องที่แข็งแรงมาก กรณีเช่นนี้แม้ว่าจะเข้าไตรมาสที่ 2 แล้ว ขนาดครรภ์ก็อาจจะไม่ได้ใหญ่จนสังเกตได้ เพราะมดลูกและทารกที่ขยายใหญ่ขึ้นจะถูกกันเอาไว้ด้วยผนังกล้ามเนื้อที่แข็งแรง ท้องจึงไม่นูนออกมามากนัก หรือแทบไม่นูนเลย 

หรือเป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรก ผนังหน้าท้องจึงยังคงแข็งแรงอยู่ ทำให้แม้ว่าจะอายุครรภ์มากขึ้น แต่ก็อาจจะไม่ได้มีขนาดใหญ่จนสังเกตได้ 

หรือเป็นการตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 หรือ 3 ก็อาจจะรู้สึกว่าหน้าท้องโตเร็วขึ้นแม้ว่าอายุครรภ์จะยังไม่มาก ทั้งนี้เพราะผนังหน้าท้องอาจจะไม่ได้แข็งแรงเหมือนกับตอนที่ตั้งท้องครั้งแรก ทำให้การขยายตัวของทารกและมดลูกส่งผลให้หน้าท้องนูนออกมาได้ง่ายขึ้น 

ขนาดท้องแต่ละเดือน มีขนาดเปลี่ยนแปลงอย่างไร


ขนาดท้อง 1-9 เดือน จะค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามลำดับอายุครรภ์ เนื่องจากทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นในทุก ๆ เดือน และมดลูกก็มีการขยายตัวใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารก ทำให้หน้าท้องของคุณแม่มีขนาดท้องที่เปลี่ยนแปลงในทุกไตรมาส 

โดยขนาดของท้องแต่ละเดือนของแม่ตั้งครรภ์ มีดังนี้ 

ขนาดท้องของคุณแม่อายุครรภ์ 1 เดือนนั้น จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากขนาดหน้าท้องเดิมที่เป็นอยู่ค่ะ แม้ว่ามดลูกจะเริ่มมีการขยายตัวหลังจากการฝังตัวอ่อนแล้วก็ตาม แต่ก็เพียงน้อยนิดเท่านั้น ยังไม่ได้ขยายใหญ่จนทำให้เกิดหน้าท้องนูนออกมา 

อายุครรภ์ 2 เดือน ท้องจะต้องใหญ่ขึ้นแน่ ๆ เลย แต่จริง ๆ แล้วไม่เลยค่ะ ท้องของคุณแม่ยังไม่ได้มีขนาดใหญ่จนเห็นได้ชัดแต่อย่างใด เดือนที่แล้วหน้าท้องเป็นอย่างไร เดือนนี้ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมค่ะ 

อย่างไรก็ตาม คุณแม่บางคนอาจพบว่าเริ่มมีหน้าท้องนูนขึ้นมาเล็ก ๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 ซึ่งผนังหน้าท้องไม่ได้มีความหนาหรือแข็งแรงเหมือนท้องแรก หรืออาจเป็นการตั้งครรภ์แฝด การขยายตัวของมดลูกในระยะนี้ ก็อาจจะดันให้เกิดหน้าท้องนูนขนาดเล็ก ๆ ขึ้นมาได้ แต่ก็ไม่ได้ใหญ่มากจนเห็นได้ชัดเจน 

แม้จะตั้งท้องได้ 3 เดือนแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าขนาดครรภ์ของคุณแม่จะเริ่มใหญ่ตั้งแต่อายุครรภ์ 3 เดือนนะคะ โโยทั่วไปแล้วขนาดหน้าท้องของแม่ในไตรมาสแรกนี้ แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นเลยค่ะ 

เว้นแต่ว่าอาจจะเป็นการตั้งครรภ์ครั้ง 2 หรือครั้งที่ 3 ซึ่งผนังหน้าท้องไม่ได้มีความหนาหรือแข็งแรงเหมือนท้องแรก หรืออาจเป็นการตั้งครรภ์แฝด การขยายตัวของมดลูกในระยะนี้ ก็อาจจะดันให้เกิดหน้าท้องนูนขึ้นมาได้ 

อายุครรภ์ 4 เดือน ถือว่าเข้าสู่ไตรมาส 2 ของการตั้งครรภ์แล้ว แน่นอนว่าอาการคนท้องต่าง ๆ จะเริ่มเปลี่ยนแปลงและชัดเจนขึ้น รวมถึงขนาดท้องของคุณแม่ด้วย คุณแม่จะพบว่าเริ่มมีขนาดท้องที่นูนขึ้นมาเล็กน้อยจนสามารถสังเกตได้ 

อายุครรภ์ 5 เดือน หน้าท้องของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างชัดเจน อาจเรียกได้ว่าเป็นขนาดท้องที่คนทั่วไปสามารถที่จะเดาได้ว่าคุณแม่กำลังตั้งท้องอยู่ 

อายุครรภ์ 6 เดือน ขนาดท้องของคุณแม่เริ่มใหญ่ขึ้นมากค่ะ นอกเหนือจากหน้าท้องที่ยื่นออกมาเยอะแล้ว สะดือของคุณแม่ก็เริ่มยื่นออก ในคุณแม่บางคนก็เริ่มมีรอยแตกลายเกิดขึ้นที่บริเวณหน้าท้องด้วย 

อายุครรภ์ 7 เดือน ท้องของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นมากค่ะ เนื่องจากทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น มดลูกก็ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารก เป็นช่วงที่คุณแม่หลาย ๆ คนเริ่มไม่สามารถสวมใส่เสื้อผ้าตามปกติได้อีกต่อไป เพราะขนาดครรภ์ใหญ่จนต้องเริ่มเปลี่ยนมาสวมชุดสำหรับคนท้อง หรือเสื้อผ้าที่ไซซ์ใหญ่ขึ้น 

อายุครรภ์ 8 เดือนขนาดครรภ์ของคุณแม่นั้นใหญ่มากค่ะ ใหญ่จนเริ่มทำให้กิจวัตรประจำวันของคุณแม่ลำบากมากขึ้น จะลุก จะนั่ง จะเดิน ก็ลำบากและรู้สึกอึดอัดไปหมด โดยเฉพาะเวลานอน คุณแม่จะรู้สึกว่านอนไม่ค่อยสบาย เนื่องจากขนาดครรภ์ที่ใหญ่มากนี้นอกจากจะทำให้รู้สึกอึดอัดแล้ว ยังทำให้เกิดอาการปวดหลังบ่อยขึ้นด้วย 

แม้จะเป็นเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ แต่ทารกก็ยังคงเจริญเติบโตขึ้นในทุก ๆ วัน นั่นทำให้ขนาดครรภ์ของคุณแม่ยังสามารถขยายขึ้นได้อีกเล็กน้อย แน่นอนว่าอายุครรภ์ 9 เดือนนี้ ขนาดครรภ์ของคุณแม่ถือว่าใหญ่สุดตลอดการตั้งครรภ์ทั้ง 9 เดือนแล้วค่ะ และอีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ คุณแม่ก็จะมีการคลอดเกิดขึ้น 

วัดขนาดท้องขณะตั้งครรภ์ได้อย่างไร


การวัดขนาดท้องเพื่อดูว่าตอนนี้ท้องใหญ่เท่าไหร่แล้วนั้น หากเป็นวิธีแบบบ้าน ๆ ก็เพียงเอาสายวัดตัวมาวัดรอบเอวและท้อง คุณแม่ก็จะสามารถลำดับขนาดท้องในแต่ละช่วงอายุครรภ์ได้ 

แต่ในทางการแพทย์นั้น จะมีวิธีการวัดครรภ์อีกรูปแบบหนึ่ง ที่เรียกว่า การวัดความสูงยอดมดลูก (Fundal Height) 

โดยแพทย์จะให้คุณแม่นอนราบกับเตียงคนไข้ แล้วใช้สายวัดทำการวัดจากบริเวณกระดูกหัวหน่าวไปยังบริเวณเหนือมดลูก ซึ่งจะช่วยให้ทราบขนาดความสูงของยอดมดลูก และเมื่อนำค่าความสูงนั้นมาเทียบกับอายุครรภ์ ก็จะช่วยในการคำนวณอายุครรภ์ที่แม่นยำได้มากขึ้น 

มากไปกว่านั้น ยังสามารถใช้ในการคำนวณขนาดตัวและน้ำหนักของทารกได้ด้วย



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

first-trimester-of-pregnancy
second-trimester-of-pregnancy
third-trimester-of-pregnancy
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner