Leaving page banner
 

second-trimester-of-pregnancy

เคล็ดลับและคำแนะนำที่ควรรู้สำหรับแม่ท้องไตรมาส 2

 

Enfa สรุปให้

  • การท้องไตรมาส 2 คือการตั้งครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 14-26 สัปดาห์ หรืออยู่ในช่วงเดือนที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์

  • ช่วงท้องไตรมาส 2 นั้น เป็นช่วงที่คุณแม่จะพบกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมาย ทั้งขนาดครรภ์ที่เริ่มใหญ่ขึ้น อาการวิงเวียนต่าง ๆ น้ำหนักขึ้น หน้าอกขยาย เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่จะได้สัมผัสถึงมิติของการเป็นคนท้องอย่างจริงจัง

  • ขณะที่ทารกในครรภ์ก็มีพัฒนาการที่ก้าวกระโดดเช่นกัน ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเริ่มเสร็จสมบูรณ์ เริ่มมีเล็บมือ เล็บเท้า เส้นขนและเส้นผมเริ่มงอก และทารกยังสามารถเคลื่อนที่ไปมาได้มากขึ้น จนคุณแม่รู้สึกได้ถึงการดิ้น

เลือกอ่านตามหัวข้อ

ท้องไตรมาส 2 คืออะไร
อาการคนท้องไตรมาส 2
พัฒนาการทารกในครรภ์ไตรมาส 2
อาหารคนท้องไตรมาส 2
เมนูคนท้องไตรมาส 2
คำแนะนำสำหรับคนท้องไตรมาส 2
ไขข้อข้องใจเรื่องการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 กับ Enfa Smart Club

การตั้งครรภ์จะแบ่งออกเป็น 3 ไตรมาส ในแต่ละไตรมาส ทั้งแม่และทารกในครรภ์ก็จะมีพัฒนาการใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ วันนี้ Enfa เดินทางมาถึงไตรมาสที่ 2 มาดูกันว่าในไตรมาส 2 นี้ ร่างกายของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง พัฒนาการของทารกในครรภ์เป็นอย่างไร และคุณแม่มีอะไรต้องระวังเป็นพิเศษหรือเปล่า 

ท้องไตรมาส 2 คืออะไร


การตั้งครรภ์ปกติจะกินเวลายาวนานถึง 40 สัปดาห์ หรือ 9 เดือน โดยใน 9 เดือนนี้ก็จะแบ่งออกเป็น 3 ไตรมาส การท้องไตรมาส 2 คือการตั้งครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 14-26 สัปดาห์ หรืออยู่ในช่วงเดือนที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์ 

ช่วงท้องไตรมาส 2 นั้น เป็นช่วงที่คุณแม่จะพบกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมายจนคาดไม่ถึง เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่จะได้สัมผัสถึงมิติของการเป็นคนท้องอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่อาการวิงเวียนศีรษะที่เริ่มจะแสดงอาการออกมามากขึ้น บ่อยขึ้น ไปจนถึงขนาดท้องที่เริ่มโตขึ้นทีละนิดจนสามารถสังเกตได้ และทารกในครรภ์ก็มีพัฒนาการที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วช่วงไตรมาส 2 นี่แหละที่จะเริ่มเห็นเพศลูกกันอย่างชัดเจน 

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

อาการของคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 2


คุณแม่ที่อายุครรภ์เข้าสู่ช่วงไตรมาส 2 จะเริ่มสังเกตถึงอาการคนท้องต่าง ๆ ดังนี้ 

  • วิงเวียนศีรษะบ่อย เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย บวกกับมดลูกเริ่มมีการขยายตัวใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับทารกที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ขนาดมดลูกที่ขยายตัวเพิ่มมานั้นไปกดทับเส้นเลือด หลอดเลือดต่าง ๆ ทำให้บางครั้งเลือดอาจไหลเวียนได้ไม่ดีนัก จึงรู้สึกหน้ามืด วิงเวียนศีรษะได้บ่อย ๆ 

  • คัดจมูก หายใจไม่ค่อยออก การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่งผลให้เยื่อบุในโพรงจมูกเกิดการบวมตัว จึงส่งผลให้เกิดอาการคัดจมูกได้ง่าย หรือจากคนที่ไม่เคยนอนกรนมาก่อน ก็อาจจะมีอาการนอนกรนได้เวลาที่นอนหลับค่ะ 

  • น้ำหนักขึ้น ช่วงไตรมาส 2 นี้ คุณแม่เริ่มที่จะกินเยอะมากขึ้น รวมถึงยังจำเป็นที่จะต้องเพิ่มน้ำหนักตามที่แพทย์แนะนำด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาจจะต้องกินอาหารเพิ่มขึ้น แต่ควรกินแต่พอดี ไม่ใช่กินจุตามใจปาก เพราะอาจเสี่ยงที่น้ำหนักจะเพิ่มเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เสี่ยงต่อโรคอ้วน เบาหวาน หรืออาจต้องผ่าคลอดเพราะทารกในครรภ์ในขนาดตัวใหญ่ 

  • ขาเป็นตะคริว โดยเฉพาะในตอนกลางคืนคุณแม่ท้องหลายๆ  คนอาจรู้สึกว่าเป็นตะคริวที่ขาบ่อย ซึ่งสาเหตุนั้นไม่แน่ชัดค่ะ อาจเป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น หรืออาจเกิดจากการขาดสารอาหารจำพวกแคลเซียม และแมกนีเซียม ซึ่งสารอาหารสำคัญต่อการตั้งครรภ์ที่คุณแม่ควรได้รับอย่างเพียงพอ 

  • หน้าอกขยายใหญ่ขึ้น คุณแม่จะสามารถสังเกตและรู้สึกได้ว่า ขนาดหน้าอกของคุณแม่เริ่มใหญ่ขึ้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นก็เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสร้างน้ำนม และการให้นมบุตรในอนาคต 

  • หน้าท้องใหญ่ขึ้น เมื่อทารกในครรภ์เริ่มโตขึ้น มดลูกก็จะขยายตัวให้ใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับทารก ทำให้ช่วงนี้คุณแม่หลายคนจึงเริ่มที่จะมีหน้าท้องนูนเล็ก ๆ ออกมาให้เห็นกันบ้างแล้ว แต่ก็มีบ้างค่ะที่แม้ว่าจะไตรมาส 2 แล้ว แต่ขนาดครรภ์ก็ยังปกติ ไม่ได้ใหญ่จนสังเกตเห็นได้ชัด 

  • มีตกขาว คนท้องมีตกขาวถือเป็นเรื่องปกตินะคะ โดยในช่วงไตรมาส 2 นี้คุณแม่อาจจะรู้สึกว่าตกขาวมีลักษณะเหนียว และขาว ใส แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือมีสีที่แปลกไป อันนี้อาจจะเป็นสัญญาณความผิดปกติ หรือติดเชื้อ ควรไปพบแพทย์ค่ะ 

พัฒนาการของทารกในไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์


ทารกในครรภ์ไตรมาส 2 มีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่ก้าวกระโดดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 

  • ทารกเริ่มมีผม ราว ๆ สัปดาห์ที่ 16 ทารกจะเริ่มมีขนเส้นแรกงอกออกมาตามร่างกาย พอถึงสัปดาห์ที่ 22 ทารกก็จะเริ่มมีขนตาและขนคิ้ว เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่ทารกเริ่มมีขนอ่อนขึ้นทั่วทั้งร่างกาย ขนอ่อนนี้จะช่วยให้ทารกอบอุ่นไปจนกว่าจะถึงไตรมาส 3 ที่ร่างกายเริ่มมีการผลิตไขมันขึ้นมาปกป้องและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย 

  • ทารกมีเล็บมือ และเล็บเท้า ในไตรมาสที่ 2 ทารกจะเริ่มมีเล็บมือและเล็บเท้าเล็ก ๆ และเริ่มที่จะมีลายนิ้วมือและลายนิ้วเท้าแล้วด้วย 

  • ระบบย่อยอาหารเสร็จสมบูรณ์ โดยปกติแล้วช่วงปลายไตรมาสแรก เริ่มไตรมาสสอง ร่างกายของทารกจะมีระบบการย่อยที่สมบูรณ์แล้ว 

  • ปอดสมบูรณ์แล้ว ช่วงไตรมาส 2 นี้ ทารกจะสร้างปอดจนเสร็จสมบูรณ์ แต่ว่าระบบต่าง ๆ นั้นยังไม่พร้อมสำหรับการหายใจ 

  • ทารกเริ่มเคลื่อนไหวมากขึ้น ทารกสามารถหมุนตัว ขดตัว และเคลื่อนไหวไปมาได้อิสระมากขึ้น ทำให้คุณแม่สามารถรู้สึกถึงการดิ้นของลูกได้บ่อยขึ้นนั่นเอง 

  • หู ตา เป็นรูปเป็นร่าง และอยู่ในตำแหน่งปัจจุบันอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว มากไปกว่านั้น เปลือกตาของทารกยังเริ่มที่จะลืมตาและหลับตาได้แล้วด้วย 

  • สมองเริ่มทำงาน เมื่อถึงสัปดาห์ที่ 26 ของการตั้งครรภ์ สมองของทารกจะเริ่มมีการสั่งการ เช่น ควบคุมการเต้นของหัวใจ ควบคุมการกระพริบตา การหลับตา 

  • การทำงานของหัวใจ ช่วงไตรมาส 2 นี้จะเริ่มถูกสั่งการโดยสมอง ซึ่งในไตรมาสนี้คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถที่จะได้ยินเสียงเต้นของหัวใจทารกผ่านเครื่องตรวจการเต้นของหัวใจ 

  • รกเสร็จสมบูรณ์ หลัวจากเริ่มสร้างรกมาตั้งแต่ไตรมาสแรก เมื่อถึงไตรมาสสอง รกนั้นก็อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อย 

อาหารบํารุงครรภ์ไตรมาส 2


สำหรับอาหารคนท้องไตรมาส 2 คุณแม่จำเป็นจะต้องใส่ใจกับอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญ เพราะถ้าหากขาดไปอาจมีผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้ โดยกลุ่มสาอาหารสำคัญสำหรับแม่ตั้งครรภ์ ได้แก่ 

1. อาหารที่มี DHA สูง 

ดีเอชเอ (Docosahexaenoic Acid) คือ กรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิดหนึ่ง ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท นอกจากนี้ยังอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์บางอย่าง เช่น การคลอดก่อนกำหนด หรือโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้อีกด้วย อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น คุณแม่ควรกินอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้ง หรือดื่มนมสูตรเสริมดีเอชเอก็ดีเช่นกันค่ะ 

2. อาหารที่มีโปรตีนสูง 

โปรตีน เป็นสารอาหารสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างน้ำนมให้กับคุณแม่ ตัวอย่างอาหารที่มีโปรตีนสูง เหมาะสำหรับคนท้อง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ หรือถั่วต่าง ๆ ประมาณ 75 – 110 กรัมต่อวัน ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของคุณแม่ และไตรมาสของการตั้งครรภ์ โดยคำนวณง่าย ๆ คือในหนึ่งมื้ออาหาร ควรมีโปรตีนประมาณ 30 - 40% ของอาหารที่กินนั่นเอง 

3. อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง 

อาหารที่มีธาตุเหล็ก ถือเป็น อาหารคนท้องที่สำคัญอีกหนึ่งชนิด เพราะสามารถช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งถือเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการคลอดทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ดังนั้น คุณแม่ควรได้รับธาตุเหล็กไม่ต่ำกว่า 27 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งสามารถหาได้จากการกินอาหารประเภท เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น  

4. อาหารที่มีโฟเลตสูง 

กรดโฟลิก หรือโฟเลต ก็เป็นอีกหนึ่งสารอาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรมองข้าม เพราะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาของระบบประสาทและสมอง หากคุณแม่ได้รับโฟเลตไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้ลูกน้อยเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทได้ ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรได้รับโฟเลตอย่างน้อย 600-800 มิลลิกรัมต่อวัน จากการกินอาหารประเภท ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น 

5. อาหารที่มีแคลเซียมสูง 

อย่างที่รู้กันว่า แคลเซียมนั้นมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง โดยเฉพาะในช่วงเวลาการเจริญเติบโตของลูกน้อย ยิ่งทำให้คุณแม่ต้องบำรุงร่างกายเพิ่มเติมพร้อมเสริมแคลเซียมให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน โดยปกติ ผู้หญิงตั้งครรภ์มักจะต้องการแคลเซียมประมาณ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งหาได้จากการกินอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น 

6. อาหารที่มีไอโอดีนสูง 

หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ อาจทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายผิดปกติ และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรควรได้รับไอโอดีนจำนวน 250 ไมโครกรัมต่อวัน ไอโอดีนอยู่ในจำพวกอาหารทะเลทุกชนิด ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา 

7. อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต 

การกินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยลดอาการแพ้ท้องได้ เนื่องจากเป็นสารอาหารที่ย่อยง่าย และให้พลังงานสูง ช่วยลดอาการคลื่นไส้ อย่างไรก็ตาม คนท้องไม่ควรกินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป เพราะอาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนระหว่างตั้งครรภ์ได้ 

8. อาหารที่มีโคลีนอย่างเพียงพอ 

โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น จัดว่าเป็นอีกหนึ่งสารอาหารสำคัญที่คุณแม่ควรได้รับจากการกินอาหารในแต่ละวัน เพราะโคลีนมีส่วนสำคัญในการบำรุงระบบประสาทและสมอง ช่วยพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ การกินอาหารที่ให้สารโคลีนอย่างเพียงพอ หรือประมาณ 450 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับแม่ตั้งครรภ์ จะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ได้ 

9. อาหารที่มีไฟเบอร์สูง 

ไฟเบอร์ เป็นหนึ่งในสารอาหารสำคัญที่ไม่ว่าจะเป็นแม่ก่อนคลอด แม่อุ้มท้อง แม่หลังคลอด หรือแม่ให้นมลูกก็ควรได้รับอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างตั้งครรภ์ ควรกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเป็นประจำ เพราะไฟเบอร์จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ไฟเบอร์ยังช่วยลดความเสี่ยงของความดันโลหิตสูงและอาจช่วยป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้อีกด้วย ซึ่งแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับไฟเบอร์ประมาณ 25-35 กรัมในแต่ละวัน โดยสามารถได้ไฟเบอร์จากอาหารจำพวกผักและผลไม้ต่าง ๆ 

10. อาหารที่มีโอเมก้า 3 

โอเมก้า 3 เป็นสารอาหารสำคัญที่ควรได้รับอย่างเพียงพอ อย่างน้อย 200-300 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับแม่ตั้งครรภ์ เพราะโอเมก้า 3 มีส่วนช่วยเสริมสร้างและดูแลสุขภาพหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกัน สมอง และดวงตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่สมองของทารกมีการพัฒนาและเจริญเติบโตสูงสุด มากไปกว่านั้น การได้รับโอเมก้า 3 อย่างเพียงพอขณะตั้งครรภ์ ยังอาจช่วยต่อสู้กับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ควบคุมอารมณ์แปรปรวนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ และลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักแรกเกิดต่ำอีกด้วย   

อย่างไรก็ตาม บางครั้งคุณแม่อาจมีอาการแพ้อาหารบางอย่าง ซึ่งอาจส่งผลให้คุณแม่ไม่สามารถรับสารอาหารที่สำคัญต่อการตั้งครรภ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่มีอาการแพ้นมวัว แพ้นมถั่วเหลือง หรือแพ้ทั้งนมวัวและนมถั่วเหลือง การเลือกดื่มนมที่เหมาะสำหรับแม่ตั้งครรภ์ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ง่าย และช่วยให้คุณแม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอ 

ที่สำคัญคือ ควรเลือกนมที่ให้สารอาหารสำคัญอย่าง DHA, โฟเลต, แคลเซียม, โคลีน, ไอโอดีน, ธาตุเหล็ก ในปริมาณที่เพียงต่อต่อความร่างกายของแม่ตั้งครรภ์ 

เมนูอาหารคนท้องไตรมาส 2


ไตรมาส 2 นั้นทารกรเริ่มมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น คุณแม่เองก็จำเป็นที่จะต้องเริ่มเพิ่มน้ำหนักให้เหมาะสมตามเกณฑ์ อาหารในช่วงนี้จึงจะเน้นโปรตีนมากหน่อย แต่ก็ยังจำเป็นจะต้องได้สารอาหารอื่น ๆ ครบถ้วนด้วย โดยอาจจะทำเป็นเมนูอร่อย ๆ เช่น 

  • ต้มยำทะเล 

  • ต้มส้มปลาทู 

  • แกงส้มผักรวม 

  • ตับผัดกระเพรา 

  • ยำไข่ดาว 

  • ข้าวกล้องคลุกกะปิ 

  • ยำปลาทู  

  • แกงเลียง  

  • ยำหัวปลี  

  • ฟักทองผัดไข่  

ซึ่งคุณแม่สามารถคิดไอเดียเมนูคนท้องได้ตามความเหมาะสม ขอเพียงเป็นเมนูที่ดีต่อสุขภาพ หลากหลาย และมีคุณค่าทางสารอาหารสูง ก็ถือว่าเป็นเมนูคนท้องที่ดีทั้งนั้นค่ะ 

การออกกำลังกายในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาส 2   

การออกกำลังกายยังถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับคนท้องนะคะ เพื่อเสริมให้สุขภาพของแม่และทารกในครรภ์แข็งแรง อีกทั้งขนาดครรภ์ในไตรมาส 2 ก็ยังไม่ได้ใหญ่อุ้ยอ้ายจนอึดอัด คุณแม่จึงยังสามารถที่จะออกกำลังกายได้ตามปกติ 

ซึ่งกิจกรรมการออกกําลังกายคนท้องไตรมาส 2 ควรเลือกทำกิจกรรมระดับเบา-ปานกลาง เช่น การเดิน การว่ายน้ำ โยคะ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่หนักหรือเหนื่อยจนเกินไป 

คําแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2


คำแนะนำง่าย ๆ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการลูกน้อยในระยะการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 ก็คือ ไลฟ์สไตล์ใด ๆ ที่ดีสำหรับการตั้งครรภ์ และเริ่มทำมาตั้งแต่ไตรมาสแรก ก็ให้ทำต่อไป สิ่งใดที่ต้องเลี่ยง ไม่ว่าจะเป็นแอลกอฮอล์ คาเฟอีน บุหรี่ ยาเสพติด คุณแม่ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงต่อไปเช่นกัน 

ใส่ใจและดูแลเรื่องอาหารการกินให้ดี กินแต่อาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย เพื่อเสิรมความแข็งแรงของคุณแม่และทารกในครรภ์ 

นอกจากนี้คุณแม่ยังจำเป็นจะต้องไปพบแพทย์ตามนัดการฝากครรภ์ทุกรั้งเช่นเดิม ช่วงนี้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการมากขึ้น จำเป็นจะต้องได้รับการตรวจเช็กอย่างละเอียด หรือถ้าโชคดี ทารกไม่หันหลังให้ ก็อาจจะทราบเพศของทารกได้อย่างชัดเจนด้วย 

ไขข้อข้องใจเรื่องการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 กับ Enfa Smart Club


 ท้องไตรมาส 2 อาการต่างจากไตรมาสแรกอย่างไร? 

อาการคนท้องไตรมาสแรกนั้นจะมีอาการแพ้ท้องเป็นหลัก แต่ลักษณะการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ทางด้านร่างกายอาจจะยังไม่เห็นชัดนัก 

ขณะที่ไตรมาส 2 คุณแม่จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพหลายอย่าง เช่น หน้าท้องเริ่มโต หน้าอกขยายใหญ่ หรือน้ำหนักเพิ่มขึ้น ซึ่งจะไม่พบในการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก 

มากไปกว่านั้น ในไตรมาสแรก คุณแม่หลายคนก็แทบจะไม่มีอาการใด ๆ ที่ใกล้เคียงกับคนท้อง พูดง่าย ๆ ก็คือแทบไม่รู้สึกตัวว่ากำลังตั้งท้องอยู่ด้วยซ้ำ 

 ท้องไตรมาส 2 กี่เดือน? 

การตั้งครรภ์ไตรมาส 2 จะอยู่ระหว่างสัปดาห์ที่ 14-26 หรือก็คือในช่วงเดือนที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์ 

 ท้องไตรมาส 2 กินอะไรดี? 

คนท้องไตรมาส 2 ควรกินอาหารที่หลากหลาย และเน้นเฉพาะอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อเสริมให้สุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์แข็งแรง ดังนี้ 

  • อาหารที่มี DHA สูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น 

  • อาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ หรือถั่วต่าง ๆ 

  • อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง สามารถหาได้จากการกินอาหารประเภท เนื้อแดง ไข่แดง ตับ งา และผักสีเขียวเข้ม เป็นต้น  

  • อาหารที่มีโฟเลตสูง ที่มีอยู่มากในอาหารประเภท ตับ ไข่ ผักใบเขียว และถั่วต่าง ๆ เป็นต้น 

  • อาหารที่มีแคลเซียมสูง หาได้จากอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น 

  • อาหารที่มีไอโอดีนสูง โดยไอโอดีนอยู่ในจำพวกอาหารทะเลทุกชนิด ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา 

  • อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว ขนมปัง ผัก และผลไม้ต่าง ๆ  

  • อาหารที่มีโคลีนอย่างเพียงพอ พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น  

  • อาหารที่มีไฟเบอร์สูง พบได้มากในอาหารจำพวกผักและผลไม้ต่าง ๆ 

  • อาหารที่มีโอเมก้า 3 พบได้ในปลาทะเลต่าง ๆ ธัญพืช รวมถึงอาหารเสริมโอเมก้า 3 เช่น น้ำมันปลา หรือน้ำมันตับปลา เป็นต้น 

 ท้องไตรมาส 2 ปวดท้องน้อย ผิดปกติไหม? 

อาการปวดท้องน้อยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุค่ะ ทั้งสาเหตุโดยทั่วไปที่ไม่อันตราย เช่น เกิดจากการขยายตัวของมดลูกและไปกดทับที่บริเวณอุ้งเชิงกราน ไปจนถึงสาเหตุทางสุขภาพที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ เช่น การอักเสบ การติดเชื้อในมดลูก 

ดังนั้น หากมีอาการปวดท้องน้อย หรือมีอาการปวดท้องน้อยติดต่อกันหลายวันแล้วไม่ดีขึ้น ควรไปเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับคำแนะนำหรือรับการรักษาจากแพทย์จะดีกว่าค่ะ 

 แพ้ท้องตอนไตรมาส 2 ผิดปกติไหม? 

อาการแพ้ท้องนั้นแม้จะเป็นอาการสำคัญหลัก ๆ ของคนท้อง แต่ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องปัจเจกในหลาย ๆ แง่มุม เช่น คนท้องบางคนไม่เคยแพ้ท้องเลย คนท้องบางคนแพ้ท้องนิดเดียว คนท้องบางคนแพ้ท้องหนักมาก คนท้องบางคนไม่มีอาการแพ้ท้องในไตรมาสแรก แต่มาเริ่มแพ้ท้องในไตรมาส 2 ก็มีเช่นกัน 

ดังนั้น การแพ้ท้องในไตรมาส 2 จึงไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติหรืออันตรายค่ะ เว้นเสียแต่ว่าอาการแพ้ท้องจะรุนแรงจนกระทั่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน กรณีนี้อาจจะต้องหาเวลาไปพบแพทย์นะคะ 

 อาการผิดปกติขณะตั้งครรภ์ไตรมาส 2? 

จริง ๆ แล้วคนที่จะบอกถึงอาการผิดปกติได้ดีที่สุดก็คือตัวคุณแม่เอง เพราะคุณแม่จะรู้อยู่แล้วว่า อาการแบบใดที่ปกติ หรือผิดปกติ 

แต่โดยทั่วไปแล้ว หากพบอาการดังต่อไปนี้ขณะตั้งครรภ์ไตรมาส 2 อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติบางประการที่จำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์ 

  • มีอาการปวดท้องรุนแรง หรือปวดมากจนผิดปกติ 

  • ทารกดิ้นน้อย หรือไม่ดิ้นเลย 

  • หายใจติดขัด หายใจไม่ออก หายใจลำบาก 

  • ปวดท้อง หรือปวดหลังส่วนล่างบ่อยกว่าปกติที่ควรจะเป็น หรือรู้สึกปวดเกิน 4 ครั้ง ในเวลา 1 ชั่วโมง 

  • มีเลือดไหลออกทางช่องคลอด 

  • ตกขาวมีกลิ่นเหม็น และมีสีที่ผิดปกติ ซึ่งไม่ใช่สีขาวขุ่น หรือสีใส


    บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

    EFB Form

    EFB Form