พัฒนาการของลูกน้อยอายุ 1 เดือน ในเดือนนี้ ยังคงเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่และลูกน้อยกำลังพยายามปรับตัวเข้าหากัน เนื่องจากกิจวัตรการกิน และการนอนของลูกยังไม่เป็นระบบมากนัก มีช่วงงีบหลับกับตื่นสลับกันไปมาประมาณ 7 – 8 ครั้งต่อวัน หรือเรียกได้ว่าตื่นทุก ๆ 2 ชั่วโมง
เมื่อลูกน้อยเริ่มโตได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ลูกจะเริ่มใช้เวลานอนนานขึ้น 4 – 5 ชั่วโมง ทำให้คุณแม่พอจะมีเวลาพักผ่อนเพิ่มขึ้น ตามไปดูพัฒนาการต่าง ๆ ของลูกน้อยในเดือนนี้กันค่ะ
พัฒนาการทารกด้านการเรียนรู้
• เริ่มมีพัฒนาการในการมองเห็น สามารถมองเห็นใบหน้าคุณแม่ได้ชัดขึ้นกว่าตอนแรกเกิด โดยเฉพาะเมื่อมีคนเข้าใกล้ โดยเป็นผลมาจากสมองเริ่มสั่งการกล้ามเนื้อตา ให้สามารถจับภาพใบหน้าของผู้คน รวมทั้งเส้นประสาทตาทั้งคู่ทำงานร่วมกันได้ดีมากขึ้น
• ลูกน้อยเริ่มเรียนรู้ว่า ช่วงเวลากลางคืนเป็นช่วงเวลาสำหรับการนอน และจะเริ่มปรับตัวให้นอนหลับในช่วงกลางคืน
พัฒนาการทารกด้านร่างกาย และการเคลื่อนไหว
• ในเดือนนี้ลูกยังไม่สามารถพยุงศีรษะให้ตั้งตรงได้ และมักจะหงายไปข้างหลัง หรือผงกมาด้านหน้า เวลาอุ้มลูกน้อยจึงต้องประคองบริเวณคอไว้ให้ดี
• ถ้าจับลูกนอนคว่ำ ลูกจะสามารถหันหน้าไปด้านข้างเพื่อหายใจได้ และเมื่อจับนอนหงายอาจพลิกตัวตะแคงข้างได้
• การเคลื่อนไหวแขนขาของลูกยังเป็นไปในลักษณะของปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติอยู่
• หากขณะที่ลูกขยับแขนไปมาแล้วบังเอิญมือมาใกล้ ๆ ปาก ลูกจะดูดอมมือนั้นอย่างสบายใจทีเดียว
พัฒนาการทารกด้านภาษา และการสื่อสาร
• ยังสื่อสารกับคนรอบข้างด้วยเสียงร้อง ยามที่เขาต้องการความช่วยเหลือ และเงียบเสียงลงเมื่อมีคนมาอุ้ม
• เมื่อได้ยินเสียงคน ลูกจะส่งเสียงโต้ตอบได้เป็นบางครั้ง
• เสียงร้องของลูกคือการสื่อสารชนิดเดียวที่เขาสามารถบอกกับคนรอบข้างได้ว่า เขารู้สึก หิว ร้อน หนาว เปียกแฉะ และไม่สบายเนื้อตัว คุณแม่และผู้เลี้ยงดูจึงต้องคอยใส่ใจและหมั่นสังเกต จับให้ได้ว่าเสียงร้องของลูกหมายถึงอะไร เพื่อตอบสนองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
พัฒนาการทารกด้านอารมณ์ และสังคม
• สามารถคาดเดาอารมณ์ความรู้สึกของลูกได้บ้างจากสีหน้า แววตา และท่าทาง เช่น ยามที่ลูกรู้สึกพึงพอใจ สีหน้าจะนิ่ง ๆ ดวงตาสุกใส ขยับแขนขาไปมา แต่ถ้าไม่สบอารมณ์ก็จะเบ้หน้าร้องไห้
• ลูกจะสงบ และมีอารมณ์ที่ดีหากช่วงเวลาที่ลูกตื่นนอน คุณแม่ได้อุ้มไปเดินเล่น รับแดดอุ่น เปลี่ยนบรรยากาศแทนการนอนอยู่แต่ในที่เดิม ๆ พร้อมพูดคุยกับลูกไปด้วย
การดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้ลูกน้อยของคุณแม่มีพัฒนาการที่ดีและเร็วขึ้น หัวใจสำคัญคือการช่วยลูกน้อยให้คุ้นเคย และไว้วางใจในโลกภายนอกมากขึ้น