ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ยาเพิ่มน้ำนม แก้ปัญหาน้ำนมน้อย น้ำนมไม่พอ จริงหรือ?

ยาเพิ่มน้ำนม แก้ปัญหาน้ำนมน้อย น้ำนมไม่พอ จริงหรือ?

Enfa สรุปให้

  • คุณแม่หลายคนมีปัญหาน้ำนมน้อย น้ำนมไม่พอ ซึ่งเกิดจากสาเหตุและปัจจัยที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพ โรคประจำตัว ความเครียด ภาวะซึมเศร้า หรือไลฟ์สไตล์ อาหารการกิน
  • โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้ปรับใช้วิธีธรรมชาติก่อน เช่น การปรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ปรับเปลี่ยนอาหารการกิน เพื่อช่วยในการผลิตน้ำนมก่อน
  • แต่ถ้าหากวิธีธรรมชาติไม่ได้ผล แพทย์จึงจะแนะนำให้ใช้ยากระตุ้นน้ำนมหรือยาเพิ่มน้ำนมเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งยาเพิ่มน้ำนมเหล่านี้ไม่ได้เป็นยาเพิ่มน้ำนมโดยตรง เพียงแต่ผลข้างเคียงของยามีส่วนทำให้น้ำนมไหลเพิ่ม ดังนั้น ยาเพิ่มน้ำนมจึงจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและอนุญาตจากแพทย์ก่อนเท่านั้น

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ยาเพิ่มน้ำนมคืออะไร
     • ยาเพิ่มน้ำนมที่มักใช้บ่อย
     • ผลข้างเคียงของยาเพิ่มน้ำนม
     • ข้อควรรู้ของยาเพิ่มน้ำนม
     • ไขข้อข้องใจเรื่องการใช้ยาเพิ่มน้ำนมกับ Enfa Smart Club

ปัญหาน้ำนมน้อย น้ำนมไม่พอ หรือไม่มีน้ำนม เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งเกิดจากสาเหตุและปัจจัยที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพ โรคประจำตัว ความเครียด ภาวะซึมเศร้า หรือไลฟ์สไตล์ อาหารการกิน เป็นต้น

โดยสาเหตุต่าง ๆ ที่กล่าวมา อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้คุณแม่หลายคนมีน้ำนมไม่พอ จนต้องหันมาใช้ตัวช่วยเสริมอย่างยาเพิ่มน้ำนม แต่...ยาเหล่านี้จำเป็นหรือเปล่า ใช้แล้วจะมีผลข้างเคียงไหม ไปหาคำตอบพร้อมกันกับ Enfa เลยค่ะ

ยาเพิ่มน้ำนม หรือยาแลคโตโก๊กส์ (Lactogogues) คืออะไร


ในคุณแม่หลาย ๆ คนที่แม้จะพยายามปรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตหลังคลอด หรือทดลองใช้วิธีธรรมชาติในการกู้น้ำนมคืนมาแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นผล บางครั้งจึงอาจต้องมีการพิจารณาเพื่อใช้ยาเร่งนมเข้ามาช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม

ซึ่งยาเพิ่มน้ำนมนี้จะรู้จักกันในชื่อของยาแลคโตโก๊กส์ (Lactogogues) หรือ ยากาแลคโตโก๊กส์ (Galactogogues) โดยยาเพิ่มน้ำนมนี้ ได้แก่

  • ยาในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มปริมาณโปรแลคติน (Prolactin)

โปรแลคติน คือ ฮอร์โมนที่ถูกสร้างขึ้นบริเวณต่อมใต้สมองส่วนหน้า และทำหน้าที่สำคัญในการผลิตน้ำนมและการหลั่งน้ำนม ดังนั้น การใช้ยาที่มีผลข้างเคียงต่อการหลั่งของโปรแลคติน จึงมีส่วนช่วยให้น้ำนมแม่ไหลเพิ่มขึ้นได้ โดยยาที่มีผลต่อการหลั่งของฮอร์โมนโปรแลคติน เช่น

  • คลอโปรมาซีน (Chlorpromazine) เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคจิตเวช
  • ตัวยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน และแก้อาการกรดไหลย้อน

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาประเภทนี้เราก็จะเห็นได้ว่าไม่มียาตัวไหนที่ให้สรรพคุณในการเพิ่มน้ำนมโดยตรง เป็นเพียงผลข้างเคียงที่เอื้อต่อกระบวนการผลิตน้ำนมเท่านั้น

และที่สำคัญคือตัวยาสามารถถูกขับออกมาทางน้ำนมได้ในปริมาณเล็กน้อย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทารกที่กินนมแม่ได้ ดังนั้น จึงไม่ควรซื้อยาเพิ่มน้ำนมใด ๆ มาใช้เองโดยที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากแพทย์

ยาเพิ่มน้ำนม ควรใช้เมื่อไหร่

จริง ๆ แล้วไม่มีกฎตายตัวว่าคุณแม่ควรเริ่มใช้ยาเสริมน้ำนมตอนไหน แต่โดยมากแล้วก็จะใช้หลังจากที่คุณแม่มีปัญหาน้ำนมน้อย หรือน้ำนมไม่พอ แต่...จะเป็นการใช้หลังจากที่ได้ใช้วิธีตามธรรมชาติและไม่เห็นผลแล้วเท่านั้น จากนั้นแพทย์จึงอาจวินิจฉัยให้ใช้ยาเพิ่มน้ำนมเข้ามาช่วย

ยากระตุ้นน้ำนม ที่มักใช้เพื่อการเพิ่มน้ำนมแม่


ยาเพิ่มน้ำนมที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายและเป็นที่รู้จัก เช่น

ยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide)

  • รู้จักยา Metoclopramide และการออกฤทธิ์

ยาเมโทโคลพราไมด์ เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน และแก้อาการกรดไหลย้อน โดยยาจะทำการออกฤทธิ์เพื่อยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองบางชนิด เช่น โดพามีน (Dopamine)

เมื่อสารสื่อประสาทถูกขัดขวางการทำงาน ก็จะทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเกิดการบีบตัว ทำให้อาหารสามารถถูกลำเลียงและเคลื่อนตัวได้ดี โดยที่ไม่กระตุ้นให้เกิดกรดในตับอ่อน ช่วยให้อาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้ดีขึ้นได้

  • ตัวอย่างชื่อทางการค้า

ตัวยาเมโทโคลพราไมด์ เป็นที่รู้จักกันหลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็นเค.บี. เมต้า (K.B. Meta), มาโนซิล (Manosil), พลาซิล (Plasil) หรือนอซิล (Nausil) เป็นต้น

  • วิธีรับประทานยาและปริมาณที่เหมาะสม

ยาเมโทโคลพราไมด์ สำหรับใช้เพื่อการกระตุ้นน้ำนม ควรรับประทาน ดังนี้

  • รับประทานยาเม็ดเมโทโคลพราไมด์ ครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง รับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 10-14 วัน
  • ยาเมโทโคลพราไมด์ควรรับประทานตอนท้องว่าง หรือรับประทานก่อนมื้ออาหาร 15-30 นาที

ยาดอมเพอริโดน (Domperidone)

  • รู้จักยา Domperidone และการออกฤทธิ์

ยาดอมเพอริโดน เป็นยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาการอื่น ๆ อันเนื่องมาจากอาหารไม่ย่อย โดยยาดอมเพอริโดน จะทำการออกฤทธิ์คล้ายกับยาเมโทโคลพราไมด์ คือออกฤทธิ์เพื่อยับยั้งการทำงานของโดพามีน

เมื่อสารสื่อประสาทถูกขัดขวางการทำงาน ก็จะทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเกิดการบีบตัว ทำให้อาหารสามารถถูกลำเลียงและเคลื่อนตัวได้ดี ช่วยลดระยะเวลาในการย่อยอาหาร

  • ตัวอย่างชื่อทางการค้า

ยาดอมเพอริโดน เป็นที่รู้จักกันหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น โมทิเลียม (Motilium), โมทิเลียม®-เอ็ม  (Motilium – M)

  • วิธีรับประทานยาและปริมาณที่เหมาะสม

ยาดอมเพอริโดน สำหรับใช้เพื่อการกระตุ้นน้ำนม ควรรับประทาน ดังนี้

  • รับประทานยาดอมเพอริโดน รับประทานครั้งละ 2 เม็ด(เม็ดละ10 มิลลิกรัม)  3 ครั้งต่อวัน เป็นระยะเวลา 3-8 สัปดาห์ โดยจะออกฤทธิ์ภายใน 24 ชั่วโมง แต่บางคนอาจใช้เวลานาน 3-4 วัน และจะให้ฤทธิ์สูงสุดที่ระยะเวลา 2-3 สัปดาห์
  • เมื่อน้ำนมเริ่มกลับมาแล้ว ให้รับประทานยาหนึ่งเม็ด (10 มิลลิกรัม) ทุก ๆ แปดชั่วโมง (สามครั้งต่อวัน)

ยาประสะน้ำนม

  • รู้จักยาประสะน้ำนมและการออกฤทธิ์

ยาประสะน้ำนมนั้น เป็นยาแขนงหนึ่งในศาสตร์การแพทย์แผนไทย ที่มีสรรพคุณช่วยในการผลิตน้ำนม ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าการใช้ยาประสะน้ำนมนั้นให้ปริมาณน้ำนมได้ดีกว่ายาดอมเพอริโดน

  • ตัวอย่างชื่อทางการค้า

ยาประสะน้ำนมที่รู้จักกันดี เช่น ยาประสระน้ำนม ตราพารา-แม่เลื่อน และยาประสะน้ำนมตราพระจันทร์โอสถ

  • วิธีรับประทานยาและปริมาณที่เหมาะสม

ยาประสะน้ำนม สำหรับใช้เพื่อการกระตุ้นน้ำนม ควรรับประทาน ดังนี้

  • รับประทานยาประสะน้ำนมครั้งละ 5 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
  • ควรรับประทานยาก่อนมื้ออาหาร

นมแม่ดีที่สุดโดยเฉพาะน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน

แลคโตเฟอร์ริน โปรตีนในนมแม่ที่จะพบได้มากที่สุดในน้ำนมเหลือง หรือน้ำนมระยะแรกที่จะไหลออกมาใน 1-3 วันแรกหลังคลอด ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา จึงช่วยส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย

นมแม่ดีที่สุดโดยเฉพาะน้ำนมเหลืองที่มีแลคโตเฟอร์ริน

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยเมื่อคุณแม่ใช้ยาเพิ่มน้ำนม


การใช้ยาเพิ่มน้ำนมเพื่อกู้น้ำนมของแม่กลับคืนมานั้น แม้จะให้ผลลัพธ์ที่ดีในคุณแม่หลายคน แต่ในขณะเดียวกันยาเพิ่มน้ำนมก็สามารถส่งผลเสียต่อคุณแม่ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น

  • แม้ยาเพิ่มน้ำนมส่วนใหญ่จะใช้เพื่อรักษาอาการคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะเป็นหลัก แต่ก็พบว่าคุณแม่ที่กินเพื่อหวังผลในการเพิ่มน้ำนมบางรายก็มีอาการวิงเวียนศีรษะ เป็นลม หรือมีอาการใจสั่นร่วมด้วย หากเกิดอาการดังกล่าวควรหยุดรับประทานยาและไปพบแพทย์ทันที
  • คุณแม่บางคนอาจมีอาการแพ้ยา หากรับประทานยาแล้วเกิดอาการแพ้ ควรหยุดรับประทานแล้วไปพบแพทย์ทันที
  • อาจมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก
  • มีอาการกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ หรือใจสั่น
  • ปากแห้ง
  • ปวดท้อง
  • ปวดศีรษะ

ข้อควรรู้เมื่อคุณแม่ใช้ยาเพิ่มน้ำนม


สำหรับคุณแม่ที่มีน้ำนมน้อย น้ำนมไม่พอ และใช้ยาเพื่อเพิ่มน้ำนม ควรรู้จักกับข้อจำกัดของยาเพิ่มน้ำนม ดังนี้

  • ยาเพิ่มน้ำนมที่แพทย์สั่งจ่ายให้นั้นไม่ใช่ยาที่มีสรรพคุณเพื่อเพิ่มน้ำนมโดยเฉพาะ แต่ผลข้างเคียงจากยาเหล่านั้นมีส่วนทำให้เกิดการหลั่งของโดพามีนเพิ่มขึ้นและไปกระตุ้นการหลั่งน้ำนมเท่านั้น
  • ยาเพิ่มน้ำนมต้องรับประทานตามขนาดยาที่แพทย์สั่งเท่านั้น ไม่ควรเพิ่มปริมาณเอง
  • ยาเพิ่มน้ำนมแต่ละชนิดแพทย์จะไม่แนะนำให้รับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานนัก เมื่อน้ำนมเริ่มกลับมาแล้ว ควรค่อย ๆ ลดปริมาณลงตามที่แพทย์สั่ง
  • ยาเพิ่มน้ำนมที่รับประทานเข้าไป สามารถที่จะซึมผ่านออกมาทางน้ำนมได้ นั่นหมายความว่าทารกก็จะได้รับปริมาณยาตัวนั้นเข้าไปด้วย มากหรือน้อยแตกต่างกันไปตามชนิดยา
  • ไม่ควรซื้อยาเพิ่มน้ำนมมารับประทานเองโดยเด็ดขาด ต้องได้รับการวินิจฉัยและสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น เพราะตัวยาบางชนิดอาจออกฤทธิ์แรงและส่งผ่านออกมาทางน้ำนมในปริมาณมาก อาจเป็นอันตรายทั้งแม่และเด็กได้ จึงควรรับประทานยาเพิ่มน้ำนมเฉพาะที่แพทย์เห็นชอบให้รับประทานได้เท่านั้น
  • แม้ว่านมแม่ จะเป็นนมที่ดีที่สุดที่ทารกควรจะได้รับอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน แต่...คุณแม่ไม่ต้องเครียด หรือกดดัน หรือรู้สึกแย่ ปัญหาน้ำนมน้อย น้ำนมไม่พอนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ ไม่ใช่ความผิดบาปของคุณแม่แต่อย่างใด

ถ้าหากว่าไม่มีน้ำนมออกมามากพอ ให้ปรึกษากับแพทย์ เข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับคำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์ ก็จะช่วยให้คุณแม่สามารถพบกับวิธีที่ช่วยกู้น้ำนมกลับคืนมาได้ Enfa ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณแม่ทุกท่านที่มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำนมค่ะ

ไขข้อข้องใจเรื่องการใช้ยาเพิ่มน้ำนมกับ Enfa Smart Club


ยาแลคโตก็อกซื้อได้ที่ไหน?

สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาที่มีเภสัชกรจำหน่ายยา หรือสั่งจ่ายยาจากแพทย์โดยตรงที่สถานพยาบาล ยานี้อาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย เพื่อความปลอดภัยต่อแม่และเด็กควรรับประทานยานี้ก็ต่อเมื่อแพทย์วินิจฉัยให้รับประทานได้เท่านั้นนะคะ

ยาประสะน้ำนม ส่วนประกอบมีอะไรบ้าง?

ขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละยี่ห้อ แต่ส่วนประกอบหลักของยาประสะน้ำนมก็จะเป็นสมุนไพร เช่น ดอกบุนนาค ดีปลี อบเชยเทศ กะลำพักสลัดได และตัวยาอื่น ๆ

ร้านขายยามียาเพิ่มน้ำนมไหม?

ร้านขายยาทั่วไปและร้านขายยาชั้นนำไม่มียาเพิ่มน้ำนมโดยเฉพาะวางขายค่ะ แต่จะมียาที่มีผลข้างเคียงช่วยทำให้น้ำนมไหลออกมาได้เยอะขึ้น



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

บทความที่แนะนำ

พัฒนาการเด็ก/เตรียมตัวกลับไปทำงาน/วิธีนำนมที่แช่แข็งมาให้ลูกกิน
ปั๊มนมยังไงให้ถูกวิธี ปั๊มแบบไหนให้นมเกลี้ยงเต้า
นมแม่ อาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner

 

Leaving page banner