Leaving page banner
 

how-long-is-maternity-leave

ลาคลอดได้กี่วัน ลาแล้วได้เงินไหม สิทธิแม่ท้องที่ต้องรู้

Enfa สรุปให้

  • ปัจจุบันคุณแม่สามารถที่จะลาคลอดได้นานถึง 98 วันค่ะ ซึ่งในระยะเวลา 98 วันของการลาคลอดนี้ จะนับรวมการลาเพื่อไปตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรด้วย โดยแบ่งเป็นลาคลอดบุตร 90 วัน และลาเพื่อไปตรวจครรภ์อีก 8 วัน รวมเป็น 98 วัน

  • นอกจากสิทธิในวันลาคลอด คุณแม่ยังมีสิทธิ์ที่จะได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง 45 วัน ในอัตรา 100% ของค่าจ้าง และสำนักงานประกันสังคมจ่ายเพิ่มให้อีก 50% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 45 วัน

  • และยังรวมถึงสิทธิ์ต่าง ๆ จากประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นเงินสงเคราะห์เพื่อการคลอดบุตร และเงินสงเคราะห์บุตร

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • ลาคลอดได้กี่วัน
     • สิทธิของคุณแม่ลาคลอดมีอะไรบ้าง
     • ลาคลอดได้เงินเดือนไหม
     • ไขข้อข้องใจเรื่องการลาคลอดกับ Enfa Smart Club

เมื่อใกล้กำหนดคลอด คุณแม่หลาย ๆ คนก็เริ่มวางแผนลาคลอดกันแล้ว เพื่อที่จะได้เตรียมพร้อมสำหรับการคลอดที่กำลังจะมาถึง แต่ก่อนที่คุณแม่จะไปยื่นใบลาคลอดนั้น มาเช็กกันดูสิว่า คุณแม่มีสิทธิลาคลอดอะไรที่ควรรู้บ้าง 

ลาคลอดได้กี่วัน


ใกล้กำหนดคลอดแล้ว คุณแม่รู้หรือยังว่าคนท้องสามารถลาคลอดได้กี่วัน? ตามกฎหมายลาคลอดบุตรได้กี่วันนะ? ตามกฎหมายนั้น ปัจจุบันคุณแม่สามารถที่จะลาคลอดได้นานถึง 98 วันค่ะ

โดยในระยะเวลา 98 วันของการลาคลอดนี้ จะนับรวมการลาเพื่อไปตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรด้วย โดยแบ่งเป็นลาคลอดบุตร 90 วัน และลาเพื่อไปตรวจครรภ์อีก 8 วัน รวมเป็น 98 วัน 

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ลาคลอดได้กี่วัน นับยังไง


ปัจจุบันคุณแม่สามารถลาคลอดได้ 98 วัน โดยคุณแม่สามารถใช้สิทธิลาคลอดได้ตั้งแต่ก่อนคลอดหรือจะเริ่มใช้สิทธิ์ลาเอาหลังคลอดก็ได้ แต่ไม่ว่าจะลาก่อนคลอด หรือหลังคลอด ก็จะต้องอยู่ในกรอบระยะเวลารวมกันแล้วไม่เกิน 98 วัน 

ส่วนการนับลาคลอดนั้น จะเป็นการนับรวมวันหยุดเข้าไปด้วย แม้ว่าวันหยุดนั้นจะเป็นวันหยุดปกติที่คุณแม่มีสิทธิ์จะหยุดอยู่แล้วโดยไม่ต้องลาก็ตาม แต่หลักการนี้ไม่ถูกนำมารวมเข้ากับการลาคลอดค่ะ  

ดังนั้น ถ้าลาคลอด 98 วัน ก็จะนับเริ่มตั้งแต่วันแรกที่จะใช้สิทธิ์ลาคลอด นับยาวไปรัว ๆ แบบรวดเดียวจนครบ 98 วันเลยค่ะ 

ส่วนองค์กรไหนที่อนุญาตให้ลาคลอดได้นานกว่านั้น คุณแม่ก็อาจจะต้องดูข้อกำหนดและรายละเอียดต่าง ๆ ตามนโยบายขององค์กรอีกทีนะคะ 

สิทธิของคุณแม่ลาคลอดมีอะไรบ้าง


สิทธิ์พื้นฐานในการลาคลอดของคุณแม่แต่ละคนนั้นโดยรวมแล้วก็จะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่จะมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ ที่แตกต่างกันไปตามสังกัดหน่วยงานที่ทำงานอยู่ ดังนี้ 

คุณแม่เป็นพนักงานบริษัทเอกชน

สำหรับคุณแม่ที่ทำงานในสังกัดของเอกชนนั้น: 

  • คุณแม่สามารถลาคลอดได้ 98 วัน โดยไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์  

  • คุณแม่จะได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง 45 วัน ในอัตรา 100% ของค่าจ้าง และสำนักงานประกันสังคมจ่ายเพิ่มให้อีก 50% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 45 วัน 

  • คุณแม่สามารถที่จะเบิกจ่ายค่าคลอดบุตรได้ 15,000 บาทต่อครั้ง 

  • คุณแม่มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร โดยประกันสังคมจะเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน 

  • คุณแม่มีสิทธิ์รับเงินสงเคราะห์บุตร โดยประกันสังคมจะเหมาจ่ายเดือนละ 400 บาท จนกระทั่งบุตรอายุถึง 6 ปี 

คุณแม่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ 

คุณแม่ที่ทำงานในหน่วยงานของรัฐวิสาหกิจนั้น: 

  • สามารถเบิกเงินช่วยเหลือการคลอดบุตรได้ครั้งละ 400 บาท  

  • สามารถเบิกเงินช่วยเหลือบุตร 50 บาท ต่อคนต่อเดือน 

  • สามารถลากิจเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ไม่เกิน 30 วันทำการ (แต่จะไม่ได้รับเงินเดือน) 

คุณแม่เป็นข้าราชการ 

คุณแม่รับราชการในหน่วยงานต่าง ๆ: 

  • สามารถลาคลอดได้ 98 วัน โดยไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ 

  • ได้รับเงินเดือนตามปกติ และสามารถลาเพิ่มได้อีกไม่เกิน 90 วัน โดยได้รับเงินเดือนในอัตรา 50% 

  • สามารถทำการเบิกเงินช่วยเหลือการคลอดบุตรได้ครั้งละ 400 บาท 

  • ได้รับเงินสวัสดิการสำหรับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย เดือนละ 50 บาทต่อคน โดยเงินช่วยเหลือบุตรนี้ จะได้ไม่เกิน 3 คน และได้ต่อเนื่องจนอายุ 18 ปีบริบูรณ์ 

คุณแม่ประกอบอาชีพอิสระ 

สำหรับคุณแม่ที่ประกอบอาชีพอิสระ สามารถรับสิทธิ์จากบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ซึ่งสามารถฝากครรภ์ และรับบริการในสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กได้ฟรี และเสียค่าใช้จ่าย 30 บาท สำหรับการตรวจครรภ์และการคลอดบุตร (ไม่เกิน 2 ครั้ง) 

แต่ถ้าคุณแม่ประกอบอาชีพอิสระ และสมัครใจเข้าจ่ายประกันสังคม คุณแม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินช่วยเหลือคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์บุตรได้ 

ลาคลอดได้ตั้งแต่วันไหน


ลาคลอดได้ตั้งแต่วันไหน ขึ้นอยู่กับนโยบายขององค์กร และความสะดวกของคุณแม่ค่ะ บางองค์กรอาจจะไม่ได้เข้มงวดในเรื่องของวันลา แต่บางองค์กรก็อาจจะอนุญาตให้ลาคลอดได้ก่อนกำหนดคลอดไม่นาน หรือให้ลาคลอดได้หลังจากคลอดลูกแล้วเท่านั้น 

แต่สิ่งสำคัญคือคุณแม่สามารถลาคลอดบุตรได้ 98 วันตามกฎหมาย หากได้น้อยกว่านี้ ถือว่าองค์กรกระทำผิดต่อหลักกฎหมาย สามารถร้องเรียนต่อกรมแรงงาน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ 

ลาคลอดต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง


รูปแบบการลาคลอดของแต่ละองค์กรนั้นอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับองค์กร  

แต่โดยทั่วไปแล้วก็จะต้องมีการทำหนังสือลาระบุรายละเอียดการลา หรือบางองค์กรก็จะมีแบบฟอร์มการลาให้ระบุรายละเอียดต่าง ๆ  

ส่วนหลักฐานกำหนดการคลอด หรือใบรับรองแพทย์นั้น ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรว่าต้องใช้เป็นเอกสารประกอบการลาคลอดหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่จำเป็นต้องใช้ค่ะ 

ลาคลอดได้เงินเดือนไหม


ตามกฎหมายใหม่ คุณแม่สามารถลาคลอดได้ 98 วัน โดยจะได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง 45 วัน ในอัตรา 100% ของค่าจ้าง และสำนักงานประกันสังคมจ่ายเพิ่มให้อีก 50% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 45 วัน 

ลาคลอดต้องจ่ายประกันสังคมไหม


หากยังเป็นพนักงานที่รับเงินเดือนตามปกติ และยังไม่มีการลาออก ยังจำเป็นต้องจ่ายประกันสังคมตามปกติค่ะ โดยประกันสังคมก็จะหักจากเงินเดือนตามปกติ 

ผู้ชายลาคลอดได้ไหม ลาได้กี่วัน


 สำหรับผู้ชายที่เป็นพนักงานราชการ สามารถที่จะใช้สิทธิ์ลาคลอดได้ 15 วัน แต่ใน 15 วันที่ลานั้นจะต้องไม่ใช่การลาติดต่อกัน 

ส่วนพนักงานเอกชนชาย กฎหมายลาคลอดยังไม่มีการบังคับใช้กับภาคเอกชน ดังนั้น สวัสดิการลาคลอดของผู้ชายจึงขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละองค์กร ว่าองค์กรใดมีสวัสดิการในส่วนนี้สำหรับพนักงานชายที่ประสงค์จะลาคลอดเพื่อดูแลภรรยาและบุตรหรือไม่ 

ไขข้อข้องใจเรื่องการลาคลอดกับ Enfa Smart Club


 ลาคลอดแล้วลาออก ได้เงินว่างงานไหม

หลังลาคลอดแล้วตัดสินใจลาออก หากคุณแม่ไปขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานกับสำนักงานประกันสังคม หรือผ่านเว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน ก็จะสามารถได้รับเงินชดเชยว่างงานตามปกติค่ะ 

 ลาคลอดต้องลาก่อนคลอดกี่เดือน

จริง ๆ แล้วไม่มีรูปแบบการลาคลอดที่ตายตัวค่ะ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแม่แต่ละคนเป็นหลัก บางคนอาจจะสะดวกลาคลอดก่อนกำหนดคลอด 1 เดือน เพื่อจะได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้นก่อนคลอด 

บางคนอาจจะลาคลอดก่อนกำหนดคลอด 1 สัปดาห์ หรือก่อนกำหนดคลอดเพียงไม่กี่วัน  

 ลาคลอดแล้วยังมีสิทธิ์ได้เลื่อนขั้นเงินเดือนไหม

นโยบายของแต่ละบริษัทในการปรับขึ้นเงินเดือนพนักงานนั้นแตกต่างกันไปค่ะ หากบริษัทมีการพิจารณาจากความรู้ความสามารถ และผลงานที่ผ่านมา แม้ว่าจะลาคลอดอยู่ คุณแม่ก็ยังสามารถจะได้รับการขึ้นเงินเดือนได้ 

 ลาคลอดเบิกเงินประกันสังคมได้เท่าไหร่

ตามกฎหมายใหม่ คุณแม่สามารถลาคลอดได้ 98 วัน โดยจะได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง 45 วัน ในอัตรา 100% ของค่าจ้าง และสำนักงานประกันสังคมจ่ายเพิ่มให้อีก 50% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 45 วัน 

 ช่วงลาคลอด 3 เดือน ต้องจ่ายประกันสังคมไหม

หากคุณแม่ยังไม่ลาออก และยังเป็นพนักงานรับเงินเดือนอยู่ ก็ยังจะต้องเสียเงินส่งประกันสังคมทุกเดือนตามปกติค่ะ 

 ข้าราชการชายลาคลอดได้กี่วัน

ตามกฎหมายใหม่ข้าราชการชายสามารถที่จะลาคลอดได้ 15 วัน แต่ใน 15 วันที่ลานั้นจะต้องไม่ใช่การลาติดต่อกัน 

ถ้าลาคลอดแล้วบุตรเสียชีวิตในครรภ์หรือระหว่างคลอด แม่จะยังใช้สิทธิ์ลาคลอดได้อยู่ไหม? 

จริง ๆ แล้วก็ขึ้นอยู่กับนโยบายการลาคลอดของแต่ละองค์กร แต่ส่วนมากแล้วแม้ว่าบุตรจะเสียชีวิตในครรภ์หรือเสียชีวิตหลังคลอด แม้ว่าจะยังไม่ครบวันลา 98 วันก็ตาม แม่ยังสามารถใช้สิทธิ์ลาคลอดต่อไปจนครบวันลาได้ตามปกติ หรือหากสภาพจิตใจและสุขภาพฟื้นฟูดีแล้ว และไม่ประสงค์จะใช้วันลาต่อ ก็สามารถกลับมาทำงานตามปกติได้เช่นกัน


    บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

    EFB Form

    EFB Form