Enfa สรุปให้

  • การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ ช่วยให้ทราบว่าคู่รักมีความพร้อมที่จะตั้งครรภ์มากน้อยแค่ไหน ใครมีโอกาสที่จะเป็นพาหะความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนหรือโรคทางพันธุกรรมหรือไม่

  • การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ ควรไปตรวจทั้งสามีและภรรยา เพื่อจะได้ทราบทั้งความพร้อมและความเสี่ยงร่วมกัน เพื่อประกอบการตัดสินใจวางแผนอนาคต

  • การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ ช่วยป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ได้ เพราะแพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงและหาทางรับมือได้ตั้งแต่ก่อนจะตั้งครรภ์

    เลือกอ่านตามหัวข้อ

         • ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ สำคัญอย่างไร
         • ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ มีตรวจอะไรบ้าง
         • ผู้ชายควรตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ด้วยหรือไม่

    คู่รักที่วางแผนการตั้งครรภ์ นอกเหนือไปจาการหมั่นดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และนับวันตกไข่ให้แม่นยำเพื่อเพิ่มโฮกาสในการปฏิสนธิแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญและหลาย ๆ คนมองข้ามกันไปก็คือ การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ แต่...ทำไมคู่รักถึงจะต้องไปตรวจสุขภาพก่อนตั้งท้องด้วยล่ะ แล้วตรวจสุขภาพก่อนท้องต้องตรวจอะไรบ้าง ตรวจแล้วจะเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ด้วยหรือเปล่า 

    ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ มีความสำคัญอย่างไร ทำไมถึงควรไปตรวจ


    การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ ถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ แต่หลายคนอาจจะมองข้ามไป ทั้งที่จริงแล้วการตรวจร่างกายก่อนที่จะวางแผนการตั้งครรภ์นั้น ช่วยลดความเสี่ยงและปัญหาชีวิตคู่ได้มากกว่าที่คิด 

    เพราะหลังจากตรวจสุขภาพแล้ว ก็จะได้ทราบว่าภาวะสุขภาพของคู่รักมีความพร้อมที่จะตั้งครรภ์มากน้อยแค่ไหน มีใครเป็นหมันหรือเป็นภาวะมีบุตรยากหรือเปล่า รวมถึงยังสามารถตรวจในเชิงลึกต่อไปได้อีกด้วยว่าใครมีโอกาสที่จะเป็นพาหะความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนหรือโรคทางพันธุกรรมหรือไม่ 

    ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คู่รักสามารถตัดสินใจกันได้ง่ายขึ้นว่ามีความพร้อมที่จะตั้งครรภ์กันจริง ๆ ไหม และยังช่วยให้สามารถป้องกันหรือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อตั้งครรภ์ เพราะแพทย์ได้ทราบก่อนแล้วว่าการตั้งครรภ์อาจจะมีความเสี่ยง 

    ดังนั้น หากตั้งใจจะมีลูกด้วยกันจริง ๆ แนะนำว่าให้หาเวลาไปพบแพทย์พร้อมกันแล้วเข้ารับการตรวจสุขภาพให้เรียบร้อย เพื่อจะได้ประเมินโอกาสในการตั้งครรภ์ รวมถึงประเมินแนวโน้มความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อตั้งครรภ์ จะได้วางแผนรับมือและมีการตัดสินใจร่วมกันอีกครั้งว่าต้องการที่จะมีลูกกันจริง ๆ หรือไม่ 

    สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

    ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ มีตรวจอะไรบ้าง


    การตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ จะตรวจด้วยกันหลายอย่าง ได้แก่ 

    1. ซักประวัติสุขภาพโดยทั่วไป 

    แพทย์จำเป็นจะต้องรู้ข้อมูลต่าง ๆ ของคู่รักให้มากที่สุด เพื่อนำมาใช้ในการประเมินสุขภาพ โดยแพทย์จะทำการตรวจซักประวัติโดยทั่วไปของคู่รัก ดังนี้ 

    • ประวัติส่วนตัว ไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต การกินดื่ม การออกกำลังกาย 

    • ประวัติการใช้ยาและอาหารเสริม 

    • ประวัติโรคประจำตัว มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง 

    • ประวัติการมีประจำเดือน 

    • ประวัติการคุมกำเนิด เคยกินยาคุมไหม เคยคุมกำเนิดวิธีใดมาบ้าง 

    • ประวัติการตั้งครรภ์ครั้งก่อนเป็นอย่างไร มีการแท้งมาก่อนไหม คลอดด้วยวิธีใด 

    • ประวัติการเจ็บป่วย การผ่าตัด หรือการรักษาทางการแพทย์อื่น ๆ 

    • ประวัติครอบครัว ใครมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง 

    2. ตรวจร่างกาย 

    แพทย์จะต้องมีการตรวจร่างกายโดยทั่วไป เช่น การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ตรวจการเต้นของหัวใจ ตรวจการหายใจ ตรวจสุขภาพฟัน เอกซเรย์ร่างกาย ตรวจภายใน ตรวจการเป็นหมัน ตรวจภาวะการมีบุตรยาก ตรวจหาโรคร้ายต่าง ๆ เพื่อดูความสมบูรณ์ของร่างกายว่าพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ที่แข็งแรงหรือไม่ 

    3. ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 

    เนื่องจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางประเภท อาจส่งผลให้เกิดการแท้ง ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือทารกคลอดออกมาแล้วมีน้ำหนักตัวน้อย โดยกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่จะต้องมีการตรวจเช็ก เช่น 

    • หนองในเทียม โรคนี้มีโอกาสที่จะทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดน้อย เสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อบริเวณตาและปอด 

    • โรคหนองใน สามารถนำไปสู่การแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด และน้ำหนักแรกเกิดน้อยได้ 

    • ซิฟิลิส โรคนี้อาจเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด และมีผลต่อการสร้างอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง หัวใจ ผิวหนัง ตา หู ฟัน และกระดูกของทารก 

    • ตรวจหาเชื้อเอชไอวี เนื่องจากเชื้อเอชไอวีนั้นสามารถส่งต่อไปยังทารกในครรภ์ได้ 

    4. ตรวจคัดกรองพันธุกรรม 

    เป็นการตรวจเพื่อหายีนความผิดปกติของคู่รัก ตรวจดูว่าใครเป็นพาหะของโรคทางพันธุกรรมหรือไม่ เพราะถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายมียีนที่ผิดปกติ ก็มีมีโอกาสสูงที่ยีนนั้นจะถูกส่งผ่านไปยังทารก และทารกอาจเกิดมาพร้อมความผิดปกติ เป็นโรคประจำตัวตั้งแต่เกิด หรือเกิดมาพร้อมความพิการ เป็นต้น 

    5. ตรวจสภาพจิตใจ 

    ปัจจุบันนี้หลายคนมีความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้า ซึ่งการตั้งครรภ์ในช่วงที่มีภาวะซึมเศร้าเช่นนี้ ไม่เป็นผลดีทั้งต่อตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ หากตั้งครรภ์แล้วคุณแม่มีระดับความเครียดสูง เสี่ยงที่จะเกิดการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด ลูกเกิดมาน้ำหนักตัวน้อย และถ้าหากไม่ได้รับการรักษาให้ดีขึ้น คุณแม่ก็ยิ่งมีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอีกต่อหนึ่งด้วย ซึ่งอาจทำให้สภาพจิตใจของคุณแม่นั้นย่ำแย่เกินกว่าที่จะรับมือกับการตั้งครรภ์และการเลี้ยงดูลูกหลังคลอด 

    ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ ประกันสังคม ครอบคลุมไหม

    การตรวจสุขภาพประจำปี สามารถที่จะใช้สิทธิ์ประกันสังคมได้ค่ะ แต่...ประกันสังคมไม่ได้ครอบคลุมถึงการตรวจเช็กสุขภาพก่อนมีลูก 

    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสิทธิ์ประกันสังคมจะไม่ครอบคลุมในส่วนนี้ แต่การตรวจสุขภาพประจำปี ก็จะช่วยให้คุณแม่มีข้อมูลเบื้องต้นเพื่อนำไปประกอบข้อมูลกับแพทย์ตอนที่ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ได้ค่ะ  

    โดยการตรวจสุขภาพโดยการใช้สิทธิ์ประกันสังคม จะสามารถตรวจได้ ดังนี้ 

    การตรวจร่างกายตามระบบ 

    ตรวจคัดกรองทางการได้ยิน Finger Rub Test 

    • อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ตรวจได้ 1 ครั้งต่อปี 

    ตรวจตาโดยการดูแลของจักษุแพทย์ 

    • อายุตั้งแต่ 40 – 54 ปี ตรวจได้ 1 ครั้ง 

    ตรวจสายตาด้วย Snellen Eye Chart 

    • อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ตรวจได้ 1 ครั้งต่อปี 

    ตรวจเต้านม โดยแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข 

    • อายุตั้งแต่ 30-39 ปี ตรวจทุก 3 ปี 

    • อายุตั้งแต่ 40-54 ปี ตรวจได้ 1 ครั้งต่อปี 

    • อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ตามความเสี่ยง  

    การตรวจทางห้องปฏิบัติการ 

    ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC 

    • อายุตั้งแต่ 18 – 54 ปี สามารถตรวจได้ 1 ครั้ง 

    • อายุตั้งแต่ 55 – 70 ปีขึ้นไป ตรวจได้ 1 ครั้งต่อปี 

    ตรวจปัสสาวะ UA 

    • อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ตรวจได้ 1 ครั้งต่อปี 

    การตรวจสารเคมีในเลือด 

    ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด FPG 

    • อายุตั้งแต่ 35 – 54 ปี ตรวจทุกๆ 3 ปี 

    • อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ตรวจได้ 1 ครั้งต่อปี 

    ตรวจการทำงานของไต CR 

    • อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ตรวจได้ 1 ครั้งต่อปี 

    ตรวจไขมันในเส้นเลือดชนิด Total & HDL Cholesterol 

    • อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ตรวจทุกๆ 5 ปี 

    การตรวจอื่น ๆ 

    ตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี HBsAG 

    • สำหรับผู้ที่เกิดก่อน พ.ศ. 2535 สามารถตรวจได้ 1 ครั้ง 

    ตรวจมะเร็งปากมดลูก Pap Smear 

    • อายุตั้งแต่ 35 – 54 ปี ตรวจทุกๆ 3 ปี 

    • อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ตรวจตามความเหมาะสม 

    ตรวจเลือดในอุจจาระ FOBT 

    • อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ตรวจได้ 1 ครั้งต่อปี 

    ตรวจมะเร็งปากมดลูกวิธี VIA 

    • อายุตั้งแต่ 30-54 ปี ตรวจทุก 5 ปี 

    • อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจ Pap smear 

    ตรวจเอกซเรย์ปอด Chest X-Ray 

    • อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป สามารถตรวจได้ 1 ครั้ง 

    โปรแกรมตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ โรงพยาบาลรัฐ ราคาประมาณเท่าไหร่

    โปรแกรมตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ราคาจะแตกต่างกันไปแล้วแต่โรงพยาบาลเลยค่ะ หากเป็นสถานพยาบาลของรัฐ ก็จะมีราคาถูกลงมาหน่อย โดยอาจมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1,000 – 3,000 บาทขึ้นไป 

    แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ลองโทรสอบถามราคาจากโรงพยาบาลที่สนใจ รวมถึงราคาโปรโมชันของทางโรงพยาบาลในขณะนั้น เพื่อให้ได้ราคาที่แน่นอน และประเมินตามความสะดวกว่าต้องการจะไปเข้ารับการตรวจที่ไหน 

    โปรแกรมตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ โรงพยาบาลเอกชน มีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่

    การตรวจสุขภาพก่อนมีลูกกับโรงพยาบาลเอกชน อาจมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไปจนถึงราคา 15,000 บาท และอาจสูงกว่านี้ แล้วแต่โรงพยาบาลค่ะ  

    แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ลองโทรสอบถามราคาจากโรงพยาบาลที่สนใจ รวมถึงราคาโปรโมชันของทางโรงพยาบาลในขณะนั้น เพื่อให้ได้ราคาที่แน่นอน และประเมินตามความสะดวกว่าต้องการจะไปเข้ารับการตรวจที่ไหน 

    ผู้ชายควรตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ด้วยหรือไม่


    การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ ดีที่สุดคือควรจูงมือกันไปตรวจทั้งสามีและภรรยาค่ะ เพื่อจะได้ทราบว่าใครเป็นพาหะของโรคทางพันธุกรรมใดบ้าง เพราะบางครั้งภรรยาไปตรวจแล้วทุกอย่างปกติ ไม่มีพาหะความเสี่ยงใด ๆ ขณะที่สามีอาจเป็นพาหะเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรมที่มีโอกาสจะถ่ายทอดไปยังลูกได้ 

    ดังนั้น หาเวลาที่ว่างตรงกันไปเข้ารับการตรวจด้วยกัน ก็จะช่วยให้การตัดสินใจวางแผนตั้งครรภ์เป็นไปได้อย่างราบรื่น ในกรณีที่ทั้งคู่ไม่มีความเสี่ยงใด ๆ ส่วนในกรณีที่ลูกอาจจะเกิดมาพร้อมความเสี่ยงเนื่องจากพ่อหรือแม่เป็นพาหะ ก็จะได้มาทบทวนกันอีกครั้งว่าทั้งคู่พร้อมที่จะรับความเสี่ยงในอนาคตมากน้อยแค่ไหน 

    หากไม่ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ จะมีข้อเสียอะไรไหม

    การตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ ถือว่าเป็นการวางแผนชีวิตค่ะ และเป็นชีวิตที่หมายรวมทั้งครอบครัวด้วย การมีลูกถือเป็นเรื่องใหญ่ คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นจะต้องมีการวางแผนชีวิตให้รัดกุมเพื่อให้ลูกน้อยได้เกิดมาใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  

    ด้วยเหตุนี้การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์จึงมีความสำคัญ เพราะถ้าหากละเลยไป ก็อาจจะพบกับความเสี่ยงที่ไม่ได้วางแผนเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น:

    คุณแม่และทารกอาจมีความเสี่ยงสูงต่อภาวะแทรกซ้อนในขณะตั้งครรภ์ เสี่ยงต่อการแท้งบุตร เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ เสี่ยงต่อเบาหวานขณะตั้งครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด หรือทารกเกิดมามีน้ำหนักน้อย ซึ่งหากไปเข้ารับการตรวจสุขภาพตั้งแต่จะตั้งครรภ์ แพทย์สามารถประเมินหรือคาดการณ์ได้ก่อนที่จะมีการตั้งครรภ์ และสามารถช่วยหาวิธีรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วย 

    หรือหากทารกอาจเกิดมาพร้อมกับความผิดปกติ เช่น เป็นโรคทางพันธุกรรม หรือมีความพิการ สิ่งนี้ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่มีทุนทรัพย์และทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกที่เกิดมาพร้อมกับความผิดปกติ  

    หากคุณอยู่ในสถานะที่พร้อมจะดูแลลูกน้อยที่มีความพิการ ก็แล้วกันไป เพราะอย่างไรเสียก็มีความพร้อมทั้งทุนทรัพย์ เวลา และทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงเด็ก เด็กก็สามารถที่จะเติบโตมากับสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่

    แต่ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในสถานะที่พร้อมจะเลี้ยงดูลูกที่มีความพิการหรือมีความผิดปกติ เด็กก็จะไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็น และเด็กอาจจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ซึ่งกรณีเช่นนี้มีให้เห็นโดยทั่วไปในสังคม เช่น ลูกพิการต้องทำงานหนักเลี้ยงตนเอง หรือพ่อแม่หาเงินเลี้ยงลูกพิการ  

    ลองคิดกลับกัน ถ้าหากทราบความเสี่ยงว่าลูกมีโอกาสที่จะเกิดมาพร้อมความผิดปกติบางอย่างตั้งแต่ต้น คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กต้องเกิดมาบนความไม่พร้อมของครอบครัว เพราะการที่เด็กไม่เกิดมาเสียเลย อาจเป็นโชคดีกว่าการที่เด็กเกิดมาแล้วต้องมีคุณภาพชีวิตที่ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตที่ดี และแม้ว่าเด็กจะเกิดมาพิการ แต่ถ้าหากได้อยู่ในครอบครัวที่พร้อมมากกว่านี้ ก็มีโอกาสที่จะได้ใช้ทักษะความรู้ความสามารถที่มากกว่า เพราะครอบครัวสามารถส่งเสริมและสนับสนุนได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าหากครอบครัวไม่ได้มีความพร้อมในเรื่องนี้ ก็แทบไม่ต่างกับการทำร้ายลูกทางอ้อม



    บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์