Leaving page banner
 

ท้อง 8 เดือนใหญ่แค่ไหน อาการคนท้อง 8 เดือนเป็นอย่างไร

ท้อง 8 เดือนใหญ่แค่ไหน อาการคนท้อง 8 เดือนเป็นอย่างไร

 

Enfa สรุปให้

  • เมื่ออายุครรภ์ได้ 8 เดือน คุณแม่ส่วนมากมักจะชินกับอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดการตั้งครรภ์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดเมื่อย อาการแพ้ท้อง อ่อนเพลีย ความอุ้ยอ้าย ขนาดท้องที่ใหญ่มหึมา และน้ำหนักตัวที่แสนจะเทอะทะ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้คุณแม่อีกต่อไป และอีกเพียงอึดใจเดียวเท่านั้นก็จะได้พบกับเจ้าตัวเล็กแล้ว

  • ในช่วงอายุครรภ์ 8 เดือนนี้ ทารกจะมีขนาดประมาณ 46 เซนติเมตร น้ำหนักลูกในครรภ์จะอยู่ที่ประมาณ 2.27 กิโลกรัม หรือทารกขนาดเท่ากับผลแคนตาลูป 

  • ในช่วงสัปดาห์ท้าย ๆ หลังอายุครรภ์ 8 เดือน คุณแม่จะเริ่มส่งต่อภูมิคุ้มกันที่อยู่ในเลือดไปยังลูกน้อย ภูมิคุ้มกันเหล่านี้จะช่วยปกป้องลูกน้อยจากโรคภัยไข้เจ็บและเชื้อโรคต่าง ๆ และหลังจากที่เขาคลอด ซึ่งภูมิคุ้มกันดังกล่าวนี้จะทำหน้าที่ในช่วง 2 - 3 เดือนแรกหลังคลอด ก่อนที่เจ้าตัวเล็กจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยตัวเอง การให้นมแม่ก็สามารถช่วยยืดอายุภูมิคุ้มกันให้กันทารกได้จากแอนติบอดีที่อยู่ในน้ำนมได้เป็นอย่างดี


เลือกอ่านตามหัวข้อ

• ท้อง 8 เดือน นับจากอะไร?
• อาการคนท้อง 8 เดือน เป็นอย่างไร
• ร่างกายของคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ 8 เดือน มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง?
• อัลตราซาวนด์ท้อง 8 เดือน คุณแม่จะเห็นอะไรบ้างนะ? 
• พัฒนาการทารกในครรภ์ 8 เดือน
• เช็กลิสต์สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ 8 เดือน
• ไขข้อข้องใจเรื่องการตั้งครรภ์ 8 เดือนกับ Enfa Smart Club

เมื่อตั้งท้องมาถึง 8 เดือนแล้ว ก็ถือคุณแม่ได้ก้าวเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการตั้งครรภ์แล้วค่ะ ยินดีต้อนรับคุณแม่เข้าสู่ไตรมาส 3 ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เพราะอีกอึดใจเดียวเท่านั้น คุณแม่ก็จะเริ่มมีการคลอดเกิดขึ้น  

ซึ่งในช่วงอายุครรภ์ 8 เดือนนี้คุณแม่ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายอย่าง รวมถึงทารกในครรภ์เองก็เริ่มมีพัฒนาการที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย บทความนี้จาก Enfa มีสาระดี ๆ สำหรับคุณแม่ที่อายุครรภ์ 8 เดือนมาฝากค่ะ  

ท้อง 8 เดือน แปลว่าอะไร? อายุครรภ์ 8 เดือน นับจากอะไร?  


ท้อง 8 เดือน คือ คุณแม่มีอายุครรภ์ได้ 8 เดือนแล้ว และมีอายุครรภ์ระหว่าง 31-35 สัปดาห์ นับว่าเป็นการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ และอาจมีการคลอดเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้  

โดยอายุครรภ์ของคุณแม่จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือนครั้งล่าสุด จากนั้นก็จะนับเพิ่มสัปดาห์ถัดไปเรื่อย ๆ เป็น 2 เดือน 3 เดือน เรื่อยไปจนกระทั่ง 9 เดือน ซึ่งจะเป็นช่วงไตรมาสสาม และใกล้จะมีการคลอดเกิดขึ้น    

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

อาการคนท้อง 8 เดือน เป็นยังไงบ้าง?  


เมื่ออายุครรภ์ได้ 8 เดือน คุณแม่ส่วนมากมักจะชินกับอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดการตั้งครรภ์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดเมื่อย อาการแพ้ท้อง อ่อนเพลีย ความอุ้ยอ้าย ขนาดท้องที่ใหญ่มหึมา และน้ำหนักตัวที่แสนจะเทอะทะ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้คุณแม่อีกต่อไป และอีกเพียงอึดใจเดียวเท่านั้นก็จะได้พบกับเจ้าตัวเล็กแล้ว   

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ที่อายุครรภ์ 8 เดือน อาจพบกับอาการคนท้องดังต่อไปนี้  

  • หายใจถี่ขึ้น เพราะมดลูกขยายตัวมากขึ้นเพื่อรองรับขนาดของทารกที่เติบโตมากขึ้น จนไปกดทับท้องและปอด ทำให้หายใจได้ลำบาก  

  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น เพราะทารกเริ่มเคลื่อนตัวลงต่ำมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมต่อการคลอด การเคลื่อนตัวนี้จะไปกดหรือเบียดกระเพาะปัสสาวะ จนกระตุ้นให้ต้องปัสสาวะบ่อยขึ้น  

  • ปวดอุ้งเชิงกราน เมื่อทารกเคลื่อนตัวลงอุ้งเชิงกรานมากขึ้น ก็จะยิ่งส่งผลให้เกิดแรงกดดันที่อุ้งเชิงกรานมากขึ้น ทำให้มีอาการปวดที่อุ้งเชิงกรานมากขึ้น  

  • รอยแตกลายมากขึ้น แน่นอนว่าขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้น ก็หมายถึงการแตกของผิวหนังที่มากขึ้นตามไปด้วย  

  • อาการท้องแข็งเนื่องจากมดลูกหดรัดตัว (Braxton Hick Contraction) อาการเช่นนี้คุณแม่ควรระวัง หากมีอาการท้องแข็งเพราะมดลูกรัดตัวบ่อยเกินไป ควรไปพบแพทย์ เพราะอาจเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้  

  • เส้นเลือดขอด การไหลเวียนโลหิตในช่วงนี้จะเพิ่มมากขึ้นอีก ทำให้เส้นเลือดขยายตัวใหญ่ขึ้น  

  • ริดสีดวงทวาร ขนาดมดลูกและขนาดทารกที่ใหญ่ขึ้น อาจกดหรือเบียดลำไส้ ทำให้ลำไส้ทำการย่อยอาหารได้ช้าลง ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกอย่างรุนแรงได้ในคุณแม่บางคน หรืออาจรุนแรงจนกระทั่งเป็นริดสีดวงก็มี  

  • วิงเวียนศีรษะ และอ่อนเพลีย ความที่น้ำหนักตัวมากขึ้น ขนาดท้องใหญ่ขึ้น ส่งผลให้คุณแม่เหนื่อยง่าย ทำกิจกรรมใด ๆ ได้ไม่เต็มที่ นิด ๆ หน่อย ๆ ก็รู้สึกอ่อนเพลีย  

อาการท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ 8 เดือน คุณแม่ควรรับมืออย่างไร?   

คุณแม่ท้อง 8 เดือน ท้องแข็ง นั้นสามารถเกิดขึ้นได้บ่อย ซึ่งปกติก็ถือว่าไม่ได้น่าเป็นห่วงอะไรนัก หากว่าอาการท้องแข็งนั้นอาจเป็นผลมาจากการมีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์ที่รุนแรง หรือเกิดจากการพลิกตัวของทารก การกลั้นปัสสาวะ หรือการรับประทานอาหารอิ่มจนเกินไป เป็นต้น  

ซึ่งวิธีการรับมือกับอาการท้องแข็ง ก็สามารถทำได้ ดังนี้  

  • ไม่กลั้นปัสสาวะ ยิ่งกลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ ก็ยิ่งเสี่ยงจะทำให้ท้องแข็งมากขึ้น  

  • ไม่บิดตัวหรือบิดขี้เกียจบ่อย ๆ เพราะเสี่ยงจะทำให้เกิดความดันสูงในมดลูก อาจทำให้ท้องแข็งได้  

  • ระมัดระวังการมีเพศสัมพันธ์ เลือกท่าที่เอื้อต่อการตั้งครรภ์ หลีกเลี่ยงท่าเซ็กซ์ที่รุนแรงหรือโลดโผนเกินไป  

  • รับประทานอาหารแต่พอดี หากรับประทานอาหารมากไปอาจส่งผลให้อาหารไม่ย่อย  และเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร อาจนำไปสู่อาการท้องแข็งได้  

อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่ท้อง 8 เดือน ท้องแข็งบ่อยมาก ซึ่งอาจเกิดจากการหดรัดตัวของมดลูก และถ้าหากเกิดขึ้นบ่อยมากเข้า อาจนำไปสู่อาการปากมดลูกเปิด ซึ่งเสี่ยงจะนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดได้ด้วย  

ปวดท้องน้อยตั้งครรภ์ 8 เดือน ผิดปกติหรือไม่?   

อาการปวดหน่วงท้องน้อยตั้ง ครรภ์ 8 เดือน สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยทางสุขภาพโดยทั่วไป และสาเหตุที่เกิดจากปัญหาทางสุขภาพที่รุนแรง

ดังนั้น หากมีอาการปวดท้องน้อย หรือมีอาการปวดท้องน้อยนานติดต่อกัน 1 วันขึ้นไป ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป  

มีเลือดออกตอนท้อง 8 เดือน อันตรายไหม?  

ปกติแล้วอาการเลือดออกขณะตั้งครรภ์นั้นมักสันนิษฐานว่ามีความผิดปกติขณะตั้งครรภ์เกิดขึ้น โดยอาจจะเป็นการแท้ง การท้องลม หรือมีปัญหาเกี่ยวกับมดลูกก็ได้

ดังนั้น ถ้าหากคุณแม่ที่อายุครรภ์ 8 เดือนมีเลือดออกทางช่องคลอด ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา  

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุครรภ์ 8 เดือน การมีเลือดออกทางช่องคลอด อาจเป็นสัญญาณใกล้คลอด หรืออาจมีการคลอดก่อนกำหนดเกิดขึ้นได้  

อาการครรภ์เป็นพิษ 8 เดือน ที่คุณแม่ควรระวัง  

อาการครรภ์เป็นพิษ ถือว่าเป็นความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ที่ค่อนข้างน่ากังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดในช่วงที่อายุครรภ์มาก ๆ เช่นนี้ ยิ่งเสี่ยงอันตราย และเสี่ยงที่ทารกจะเสียชีวิตได้  

โดยอาการครรภ์เป็นพิษไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่สาเหตุส่วนใหญ่ที่พบได้ คือ  

  • รกฝังตัวผิดปกติ หรือฝังตัวไม่แน่นพอ ทำให้ทารกได้รับออกซิเจน เลือด และสารอาหารไม่เพียงพอ และเสี่ยงต่อภาวะขาดเลือด เมื่อเลือดไปเลี้ยงทารได้น้อยลง ก็ทำให้คุณแม่มีการหลั่งสารพิษเข้าสู่กระแสเลือดมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าหากคุณแม่มีสารพิษเกิดขึ้นในร่างกาย ทารกก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย  

  • รกฝังตัวไม่แน่น ยังอาจะก่อให้เกิดภาวะโปรตีนรั่ว ทำให้มีโปรตีนปะปนอยู่ในปัสสาวะมากผิดปกติ และก่อให้เกิดความเป็นพิษได้  

  • หรือเกิดจากการที่รกทำงานผิดปกติ มีการปล่อยสารบางอย่างที่ทำให้หลอดเลือดมีการหดตัว จนส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง  

ซึ่งอาการครรภ์เป็นพิษนี้จะก่อให้เกิดความเสี่ยงอื่น ๆ ตามมา คือ  

  • การคลอดก่อนกำหนด  

  • รกลอกตัวก่อนกำหนด  

  • ทารกมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์  

  • คุณแม่มีอาการชัก  

  • เสี่ยงที่ทารกจะเสียชีวิต  

โดยสามารถสังเกตสัญญาณเบื้องต้นของภาวะครรภ์เป็นพิษได้ ดังนี้  

  • คุณแม่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเร็วจนผิดสังเกต  

  • มีอาการบวมที่บริเวณมือ เท้า และใบหน้า  

  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง แม้ว่าจะรับประทานยาแก้ปวดแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น  

  • ความดันโลหิตสูง140/90 มิลลิเมตรปรอท  

  • ลูกดิ้นน้อยลง หรือไม่ดิ้นเลย  

  • มีอาการจุกหรือแน่นที่บริเวณใต้ชายโครงขวา  

  • ตาอาการพร่ามัว  

หากมีอาการดังที่ล่าวไป ควรพาคุณแม่ไปพบแพทย์ในทันที อย่าได้รอช้า เพราะคุณแม่และทารกในครรภ์กำลังอยู่ในภาวะที่อันตรายถึงชีวิต  

ร่างกายของคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ 8 เดือน มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง?  


คนท้อง 8 เดือน ท้องใหญ่แค่ไหน?: เข้าใจลักษณะหน้าท้องของคนท้อง 8 เดือน   

อายุครรภ์ 8 เดือนนี้ คุณแม่จะมีขนาดครรภ์ที่ใหญ่มากอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น และมดลูกเองก็ขยายตัวใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติบโต ส่งผลให้หน้าท้องของคุณแม่พุ่งใหญ่ขึ้นกว่าเดิม จนไม่สามารถสวมใส่เสื้อผ้าขนาดปกติแล้ว ต้องมาสวมชุดคลุมท้องแทน  

และในระยะนี้ ครรภ์จะเริ่มคล้อยลง เพราะทารกเริ่มเคลื่อนตัวลงสู่อุ้งเชิงกราน เตรียมพร้อมสำหรับการคลอดที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่นาน  

อย่างไรก็ตาม ท้องของคุณแม่แต่ละคนก็จะสูงต่ำไม่เท่ากัน คุณแม่ที่มีส่วนสูงมากกว่าหรือมีกล้ามเนื้อหน้าท้องที่กระชับกว่า ก็มีแนวโน้มที่ระดับท้องจะอยู่สูงกว่าคนที่ส่วนสูงน้อยกว่าและกล้ามเนื้อหน้าท้องไม่ค่อยกระชับ  

ท้อง 8 เดือน น้ำหนักควรเพิ่มขึ้นกี่กิโลกรัม  

คุณแม่แต่ละคนมีน้ำหนักตัวที่แตกต่างกัน นั่นทำให้น้ำหนักที่จะต้องเพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งก่อนจะรู้ว่าน้ำหนักแม่ตั้งครรภ์ควรจะเพิ่มน้ำหนักขึ้นเท่าไหร่ในแต่ละไตรมาส คุณแม่จะต้องคำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย BMI ของตัวเองเสียก่อน  

เมื่อได้ค่า BMI มาแล้ว น้ำหนักของคุณแม่ในแต่ละไตรมาสจะมีการเพิ่มขึ้นที่แตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปแล้ว สำหรับคุณแม่ที่มีค่า BMI ปกติ จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในแต่ละไตรมาส ดังนี้  

  • ไตรมาสที่ 1 ไตรมาสแรกนี้ทารกยังตัวเล็กอยู่ คุณแม่ยังไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มน้ำหนักให้มากเกินกว่า 1-2 กิโลกรัม  

  • ไตรมาสที่ 2 ระยะนี้ทารกมีขนาดตัวที่โตขึ้น ทำให้คุณแม่อาจจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นราว ๆ 5-6 กิโลกรัม  

  • ไตรมาสที่ 3 ไตรมาสสุดท้ายทารกมีขนาดตัวที่พร้อมสำหรับการคลอดที่เริ่มใกล้มาถึง โดยจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 3.5-4.5 กิโลกรัม แต่เนื่องจากเป็นช่วงที่ทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น คุณแม่บางคนอาจอึดอัดท้องจนกินอะไรได้น้อยลง   

ในช่วงไตรมาสที่สามคุณแม่บางคนมีน้ำหนักที่ลดลง หากน้ำหนักลดลงมาไม่กี่กิโลกรัมก็อย่าตกใจ ถือเป็นเรื่องปกติ 

อัลตราซาวนด์ท้อง 8 เดือน คุณแม่จะเห็นอะไรบ้างนะ?


การอัลตราซาวนด์ในอายุครรภ์ 8 เดือนนี้ คุณแม่จะเริ่มเห็นกระดูกสันหลังของทารก เห็นไขมันรอบตัวมากขึ้น มองเห็นเล็บน้อย ๆ ที่บริเวณขอบนิ้วเท้า เห็นการไหลเวียนของเลือดในทารก ทั้งยังเห็นทารกเริ่มอ้าปากด้วย เพราะช่วงนี้ปอดของทารกจะพัฒนามากขึ้น และเห็นใบหน้าของทารกชัดขึ้น โดยในระยะนี้ใบหน้าของทารกจะเป็นใบหน้าแบบเดียวกับที่คุณแม่จะได้พบหลังคลอด  

ขนาดและน้ำหนักทารกในครรภ์ 8 เดือน  

ในช่วงอายุครรภ์ 8 เดือนนี้ ทารกจะมีขนาดประมาณ 46 เซนติเมตร ส่วนคุณแม่ที่กำลังสงสัยว่า ท้อง 8 เดือน ลูกหนักเท่าไหร่? ซึ่งอายุครรภ์ 8 เดือน น้ำหนักลูกในครรภ์จะอยู่ที่ประมาณ 2.27 กิโลกรัม หรือทารกขนาดประมาณเท่ากับผลแคนตาลูป  

รูปทารกในครรภ์ 8 เดือน ตอนนี้ลูกน้อยตัวเท่านี้แล้วนะ  

ทารกในครรภ์ 8 เดือน จะมีขนาดที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละสัปดาห์คือ:  

อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ มีขนาดเท่ากับมะพร้าว  

อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ มีขนาดเท่ากับมันแกว  

อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ มีขนาดเท่ากับทุเรียน  

อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ มีขนาดเท่ากับแคนตาลูป  

อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ มีขนาดเท่ากับสับปะรด  

ท้อง 8 เดือน ลูกอยู่ท่าไหน? ท้อง 8 เดือน หัวลูกอยู่ตรงไหน?  

เมื่อเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ หรือช่วงอายุครรภ์ 8 เดือน คุณแม่หลาย ๆ คนก็จะเริ่มสงสัยว่าตั้งครรภ์ 8 เดือน ลูกอยู่ท่าไหน? หรืออยากจะรู้ว่าทารกในครรภ์ 8 เดือน จะเริ่มกลับศีรษะหรือยังนะ?  

ซึ่งในอายุครรภ์ 8 เดือนนี้ ทารกในครรภ์มีการกลับหัวไปทางช่องคลอด เตรียมพร้อมสำหรับการคลอดที่ใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ แล้ว  

แล้วท้องแฝด 8 เดือน จะเป็นยังไงบ้างนะ?  

สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด ทารกแต่ละคนก็จะมีพัฒนาการเหมือนกับการตั้งครรภ์ลูกคนเดียวตามปกติ ทั้งน้ำหนักและขนาดตัว เพียงแต่พัฒนาการของทารกแฝดในครรภ์นั้น จะเป็นพัฒนาการแบบคูณสอง เพราะว่ามีทารกในครรภ์มากกว่า 1 คน ดังนั้น พัฒนาการของทารกในครรภ์ ก็จะเป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน 2 คน  

อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์แฝดนั้นถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่มีแนวโน้มสูงต่อการคลอดก่อนกำหนด โดยในช่วงอายุครรภ์ 8 เดือน คุณแม่ก็มักจะมีการคลอดทารกแฝดแล้ว ส่วนใหญ่มักจะไม่อุ้มท้องแฝดนานถึง 9 เดือน  

พัฒนาการทารกในครรภ์ 8 เดือน ที่คุณแม่ควรรู้


พัฒนาการของทารกในครรภ์ช่วงอายุครรภ์ 8 เดือนนี้ ถือว่าเข้าใกล้จุดสิ้นสุดของกระบวนการเติบโตภายในครรภ์แล้ว และเป็นช่วงสำคัญของทั้งคุณแม่และลูกน้อย เพราะคุณทั้งคู่กำลังเตรียมตัวสำหรับวันสำคัญที่กำลังจะมาถึง ในช่วงสัปดาห์ท้าย ๆ หลังอายุครรภ์ 8 เดือน คุณแม่จะเริ่มส่งต่อภูมิคุ้มกันที่อยู่ในเลือดไปยังลูกน้อย ภูมิคุ้มกันเหล่านี้จะช่วยปกป้องลูกน้อยจากโรคภัยไข้เจ็บและเชื้อโรคต่าง ๆ และหลังจากที่เขาคลอด ซึ่งภูมิคุ้มกันดังกล่าวนี้จะทำหน้าที่ในช่วง 2 - 3 เดือนแรกหลังคลอด ก่อนที่เจ้าตัวเล็กจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยตัวเอง การให้นมแม่ก็สามารถช่วยยืดอายุภูมิคุ้มกันให้กันทารกได้จากแอนติบอดีที่อยู่ในน้ำนมได้เป็นอย่างดี 

คุณแม่อายุครรภ์ 8 เดือนสามารถช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกน้อยได้ โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อที่ลูกน้อยจะได้รับสารอาหารที่จำเป็นเพื่อสู้กับโรคภัยต่าง ๆ ในอนาคต 

นอกจากนี้ ช่วงอายุครรภ์ 8 เดือน ทารกก็ยังมีพัฒนาการในส่วนของ: 

  • สมองมีการพัฒนามากขึ้นและเร็วขึ้น เริ่มมีการสร้างคลื่นสมองของทารกแรกเกิดแล้ว  

  • ไตพัฒนาเต็มที่แล้ว  

  • เล็บยาวเกินขอบนิ้ว  

  • พัฒนาการด้านการมองเห็นและการได้ยินยังพัฒนาอย่างเต็มที่  

  • ระบบอวัยวะภายในมีการพัฒนามาจนเกือบจะพร้อมทุกรูปแบบแล้ว ยกเว้นปอดที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่นัก  

  • กระดูกแข็งแรงขึ้น แต่กระดูกศีรษะยังอ่อนอยู่ เพื่อให้ง่ายต่อการคลอด  

  • มีการดิ้นและเตะท้องของคุณแม่มากขึ้น  

  • ทารกมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น  

  • ขนอ่อนเริ่มหายไป แต่เส้นผมที่ศีรษะเริ่มเกิดมาแทนที่  

อาหารบํารุงครรภ์ 8 เดือน ที่คุณแม่ควรรับประทาน   

หากจะถามว่า ท้อง 8 เดือนกินอะไรดี ก็แน่นอนว่าจะต้องเป็นอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย ดังนี้  

  • โฟเลตหรือกรดโฟลิก เป็นสารอาหารมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาสมองและไขสันหลังของทารก และคุณแม่ควรได้รับโฟเลตอย่างเพียงพอในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ อาหารที่อุดมด้วยโฟเลต เช่น บร็อคโคลี่ ผลไม้รสเปรี้ยว ถั่ว ถั่ว ถั่วเลนทิล อะโวคาโด กะหล่ำดาว กระเจี๊ยบเขียว หน่อไม้ฝรั่ง และผักใบเขียวเข้ม เช่น ผักโขมและคะน้า  

  • ดีเอชเอ DHA (Docosahexaenoic Acid) คือ กรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิดหนึ่ง ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาท นอกจากนี้ยังอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์บางอย่าง เช่น การคลอดก่อนกำหนด หรือโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้อีกด้วย อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น คุณแม่ควรกินอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้ง หรือดื่มนมสูตรเสริมดีเอชเอก็ดีเช่นกันค่ะ  

  • ไอโอดีน หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ อาจทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายผิดปกติ และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ได้ ซึ่งไอโอดีนอยู่ในจำพวกอาหารทะเลทุกชนิด ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา  

  • คาร์โบไฮเดรต การกินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยลดอาการแพ้ท้องในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากเป็นสารอาหารที่ย่อยง่าย และให้พลังงานสูง ช่วยลดอาการคลื่นไส้ อย่างไรก็ตาม คนท้องไม่ควรกินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป เพราะอาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนระหว่างตั้งครรภ์ได้  

  • โคลีน พบมากในอาหารจำพวกไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน แซลมอน ไก่ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก เป็นต้น จัดว่าเป็นอีกหนึ่งสารอาหารสำคัญที่คุณแม่ควรได้รับจากการกินอาหารในแต่ละวัน เพราะโคลีนมีส่วนสำคัญในการบำรุงระบบประสาทและสมอง ช่วยพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ การกินอาหารที่ให้สารโคลีนอย่างเพียงพอจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะความบกพร่องที่ระบบท่อประสาทของทารกในครรภ์ได้  

  • ไฟเบอร์ เป็นหนึ่งในสารอาหารสำคัญที่ไม่ว่าจะเป็นแม่ก่อนคลอด แม่อุ้มท้อง แม่หลังคลอด หรือแม่ให้นมลูกก็ควรได้รับอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างตั้งครรภ์ ควรกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเป็นประจำ เพราะไฟเบอร์จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ไฟเบอร์ยังช่วยลดความเสี่ยงของความดันโลหิตสูงและอาจช่วยป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้อีกด้วย โดยสามารถได้ไฟเบอร์จากอาหารจำพวกผักและผลไม้ต่าง ๆ  

  • สังกะสี เป็นแร่ธาตุสำคัญที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาทที่แข็งแรง อาหารที่อุดมด้วยสังกะสี เช่น เนื้อวัว ผักโขม จมูกข้าวสาลี เห็ด หอยนางรม เนื้อแกะ เมล็ดฟักทองและสควอช ไก่ ถั่ว เป็นต้น

  • โปรตีน เป็นส่วนประกอบสำคัญของดีเอ็นเอ เนื้อเยื่อ และกล้ามเนื้อ ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเอนไซม์ในร่างกายและจำเป็นสำหรับการพัฒนาที่เหมาะสมของทารกในครรภ์อาหารที่อุดมด้วยโปรตีน เช่น พืชตระกูลถั่ว คีนัว ถั่วเลนทิล ไก่ เนยถั่ว เนื้อสัตว์ และถั่วเหลือง  เป็นต้น

  • กรดไขมันโอเมก้า 3 มีความจำเป็นต่อการพัฒนาดวงตาและสมองในทารกในครรภ์ และมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพของหัวใจ การทำงานที่เหมาะสมของระบบสืบพันธุ์ และการเจริญเติบโตของผิวหนัง ผม และกระดูก อาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า เช่น น้ำมันพืช ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ถั่วเหลือง ถั่วและธัญพืชต่าง ๆ เป็นต้น  

  • ธาตุเหล็ก สำคัญต่อกระบวนการสร้างเม็ดเลือดและการลำเลียงออกซิเจนไปยังทารก หากคุณแม่ได้รับแคลเซียมน้อย ก็จะส่งผลให้การลำเลียงออกซิเจนไปยังทารกได้น้อย ซึ่งหากทารกได้ออกซิเจนน้อย ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโต ทั้งยังเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางอีกด้วย อาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็ก เช่น เนื้อสัตว์ ปลา เต้าหู้ ตับ ถั่วเหลือง ธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น ข้าวกล้อง ถั่วและเมล็ดพืช ผักใบเขียวเข้ม  ผลไม้แห้ง และไข่ เป็นต้น  

  • วิตามินซี หากธาตุเหล็กเป็นสารอาหารสำคัญที่ขาดไม่ได้ วิตามินซีก็เป็นอีกหนึ่งคู่ดูโอ้ของธาตุเหล็กที่ไม่ควรห่างกัน เพราะวิตามินซีจะทำหน้าที่สำคัญในการการดูดซึมธาตุเหล็กในร่างกาย ช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้อย่างเพียงพอ อาหารที่อุดมด้วยวิตามินซี ได้แก่ พริกเขียวและแดง มะเขือเทศ มันเทศ บร็อคโคลี่ กะหล่ำดาว กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี และผักใบเขียว เป็นต้น  

  • วิตามินดี เป็นสารอาหารที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกัน การพัฒนาฟันและกระดูกที่แข็งแรง และการแบ่งเซลล์ที่แข็งแรงในทารก อาหารที่อุดมด้วยวิตามินดี เช่น ปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ไข่แดง น้ำมันตับปลา และนมหรือซีเรียลเสริมวิตามินดี  

  • วิตามินบี 6 มีสรรพคุณช่วยลดอาการคลื่นไส้และอาเจียน อาหารที่อุดมด้วยวิตามินบี 6 เช่น เนื้อไม่ติดมัน สัตว์ปีก ไข่ ผลไม้รสเปรี้ยว พืชตระกูลถั่ว ถั่วเหลือง ถั่ว เมล็ดพืช และอะโวคาโด 

หรือกลุ่มอาหารที่คุณแม่ควรจะเน้นรับประทานให้เพียงพออยู่ตลอดการตั้งครรภ์ คือ  

  • ผักต่าง ๆ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรที่จะต้องกินผักหรือมีผักอย่างน้อย 3 ถ้วยต่อวัน เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของแม่และทารกในครรภ์ และควรเลือกผักหลากสี หลากชนิดเพื่อให้ได้รับสารอาหารและรสชาติที่หลากหลาย เช่น คะน้า ผักโขม บร็อคโคลี่ มันเทศ มะเขือเทศ แครอท ฟักทอง พริกหยวก ข้าวโพด มะเขือม่วง กะหล่ำปลี ไม้ตีกลอง เป็นต้น  

  • ผลไม้ต่าง ๆ เนื่องจากผลไม้มีสารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระมากมายที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดีของทารก ซึ่งผลไม้สดจะให้คุณค่าทางสารอาหารที่ดีกว่าน้ำผลไม้และผลไม้กระป๋องหรือผลไม้แช่แข็ง โดยผลไม้ที่เหมาะกับแม่ตั้งครรภ์ เช่น เมล่อน อะโวคาโด ทับทิม กล้วย ฝรั่ง ส้ม มะนาวหวาน สตรอเบอร์รี่ และแอปเปิ้ล เป็นต้น  

  • ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม เพราะผลิตภัณฑ์จากนมนั้นถือเป็นแหล่งแคลเซียมชั้นดี ซึ่งแคลเซียมนั้นสำคัญมากสำหรับการพัฒนากระดูกที่แข็งแรงและแข็งแรง โดยคุณแม่สามารถได้รับแคลเซียมจากอาหารหลากหลายชนิด เช่น นม โยเกิร์ต และชีสแข็ง เป็นต้น  

นมสำหรับแม่ตั้งครรภ์ อีกหนึ่งอาหารคนท้องที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพการตั้งครรภ์ที่แข็งแรงได้  

บางครั้งคุณแม่หลาย ๆ คนอาจจะมีปัญหาเรื่องของการแพ้นมวัว หรือแพ้นมจากพืชชนิดอื่น ๆ นมสำหรับแม่ตั้งครรภ์ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีที่จะช่วยเสริมสุขภาพสำหรับแม่ตั้งครรภ์ ที่สำคัญคือควรเลือกนมสำหรับคนท้องที่มี DHA และโฟเลตสูง ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญสำหรับแม่ตั้งครรภ์   

  • DHA ซึ่งเป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ จำเป็นต้องได้รับจากการกินอาหาร โดย DHA มีสำคัญต่อกระบวนการสร้างเซลล์ต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ เช่น สมอง ผิวหนัง ดวงตา ทั้งยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์บางอย่าง เช่น การคลอดก่อนกำหนด หรือโรคซึมเศร้าหลังคลอด  

  • โฟเลต ซึ่งเป็นกลุ่มวิตามินบีที่สำคัญมาก หากคุณแม่ได้รับโฟเลตไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้ลูกน้อยเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทได้ เพราะโฟเลตทำหน้าที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง คุณแม่ตั้งครรภ์ในเดือนแรกจำเป็นต้องได้รับโฟเลตเพื่อช่วยในการสร้างหลอดประสาท และสมองที่สมบูรณ์ของทารก 

Enfamama TAP No. 1

เช็กลิสต์สำหรับแม่ท้อง 8 เดือน เริ่มนับถอยหลังสู่เดือนสุดท้าย คุณแม่ควรทำอะไรบ้าง 


เมื่ออายุครรภ์มาถึง 8 เดือนแล้ว คุณแม่หลาย ๆ คนก็เริ่มที่จะสงสัยว่า เอ๊! แล้วท้อง 8 เดือน ห้ามทำอะไรบ้าง? และท้อง 8 เดือนต้องเตรียมอะไรบ้าง? เพราะยิ่งใกล้คลอดเท่าไหร่ ความตื่นเต้น ความกระวนกระวายใจก็เริ่มมากขึ้น  

ซึ่งในอายุครรภ์ 8 เดือนนี้ คุณแม่ก็ยังคงมีหลาย ๆ สิ่งที่จะต้องคำนึงถึง ได้แก่  

  • เริ่มเรียนรู้วิธีให้นมลูก เพราะคุณแม่จะต้องเริ่มให้นมลูกทันทีหลังคลอด  

  • เตรียมพร้อมตัวเองเพื่อเข้าสู่การคลอด โดยข้อคำปรึกษาหรือถามข้อสงสัยได้โดยตรงกับแพทย์  

  • แม้ว่าจะเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการตั้งครรภ์แล้ว แต่คุณแม่ก็ยังจำเป็นจะต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อไป  

  • สำรวจดูของเตรียมคลอดว่ามีสิ่งใดขาดตก บกพร่อง หรือหมดอายุหรือไม่ หากลืมก็ให้เตรียมให้เรียบร้อย แต่ถ้าอันไหนชำรุด หรือหมดอายุ ก็ให้เปลี่ยนให้เรียบร้อย  

ไขข้อข้องใจเรื่องการตั้งครรภ์ 8 เดือนกับ Enfa Smart Club


1. ท้อง 8 เดือน เวียนหัว คลื่นไส้ เกิดจากอะไร?  

การกดทับหรือเบียดเส้นเลือดของมดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้น อาจก่อให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรือคลื่นไส้ได้ เนื่องจากเลือดไหลเวียนได้ไม่ค่อยดี หรือเป็นผลจากอาการแพ้ท้อง ซึ่งคุณแม่บางคนอาจมีอาการแพ้ท้องยาวตลอดทั้ง 9 เดือนก็มีให้เห็นเช่นกัน  

2. ท้อง 8 เดือน ลูกโก่งตัวบ่อย ปกติไหม?  

ลูกโก่งตัวมักพบได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 เนื่องจากเมื่อทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น ก็ทำให้มีพื้นที่แคบในการเคลื่อนตัว ทำให้ทารกมักจะดิ้นแรง หรือมีการโก่งตัวเกิดขึ้น ซึ่งการดิ้นแรงหรือการโก่งตัวของทารกในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ มักจะก่อให้เกิดอาการท้องแข็งตามมา ซึ่งถือว่าเกิดขึ้นได้เป็นปกติของการตั้งครรภ์  

3. ท้อง 8 เดือน เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก ผิดปกติไหม?  

เป็นเรื่องปกติที่คุณแม่อายุครรภ์ 8 เดือน จะมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก เพราะขนาดท้องและน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้จะทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็พลอยเหนื่อยง่ายไปด้วยเนื่องจากต้องแบกรับน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น   

รวมถึงยังมีอาการหายใจถี่ขึ้น เพราะมดลูกขยายตัวมากขึ้นเพื่อรองรับขนาดของทารกที่เติบโตมากขึ้น จนไปกดทับท้องและปอด ทำให้หายใจได้ลำบาก    

ซึ่งอาการเหล่านี้ ถือว่าเป็นเรื่องปกติของอายุครรภ์ในไตรมาสสามค่ะ  

4. อาการปวดหลังของคนท้อง 8 เดือน แก้ยังไงดี?  

หากคุณแม่มีอาการปวดหลัง สามารถใช้การประคบร้อนและประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวดหลังได้ แต่ถ้าอาการปวดหลังรุนแรงมากขึ้นจนกระทั่งกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ขอแนะนำให้รีบไปพบแพทย์ทันทีค่ะ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา  

5. ท้อง 8 เดือน ลูกดิ้นต่ำ อันตรายไหม?  

การนับลูกดิ้นนั้น คุณแม่ควรจะนับทุกวัน และนับในเวลาเดิมเสมอ โดยถ้าลูกเตะหรือกระแทก 1 ครั้ง นับเป็นลูกดิ้น 1 ครั้ง ลูกเตะหรือกระแทกอีก 1 ครั้ง นับเป็นลูกดิ้น 2 ครั้ง   

โดยในระยะเวลา 1ชั่วโมง คุณแม่จะต้องนับลูกดิ้นได้มากกว่า หรือตั้งแต่ 4 ครั้งขึ้นไป แต่ถ้าภายในชั่วโมงแรก ลูกดิ้นน้อยหรือดิ้นไม่ถึง 4 ครั้ง และพยายามนับใหม่ในชั่วโมงถัดไป ถ้าหาก 1 ชั่วโมงถัดไปแล้วก็พบว่าลูกยังดิ้นไม่ถึง 4 ครั้ง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณผิดปกติได้  

6. ท้อง 8 เดือนเท่ากับกี่สัปดาห์?  

ท้อง 8 เดือน คือ คุณแม่มีอายุครรภ์ได้ 8 เดือนแล้ว มีอายุครรภ์ระหว่าง 31-35 สัปดาห์ นับว่าเป็นการตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ และอาจมีการคลอดเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้  

7. ปวดท้องน้อยด้านขวา ตั้งครรภ์ 8 เดือน บ่งบอกอะไร?  

คุณแม่ท้อง 8 เดือน ปวดท้องน้อย จริง ๆ แล้วเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยทางสุขภาพโดยทั่วไป และสาเหตุที่เกิดจากปัญหาทางสุขภาพที่รุนแรง ดังนั้น หากมีอาการปวดท้องน้อย หรือมีอาการปวดท้องน้อยนานติดต่อกัน 1 วันขึ้นไป ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป



    บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

    EFB Form

    EFB Form