Leaving page banner
 

ท้อง 2 เดือน

ท้อง 2 เดือนใหญ่แค่ไหน อาการคนท้อง 2 เดือนเป็นอย่างไร

Enfa สรุปให้

  • อาการคนท้อง 2 เดือนแรก จะเริ่มมีปรากฎให้เห็นมากขึ้นกว่าเดือนแรก โดยสามารถสังเกตได้หลายอาการ เช่น แพ้ท้อง เบื่ออาหาร อ่อนเพลียง่าย อารมณ์แปรปรวนง่าย คัดตึงเต้านม

  • ขนาดท้องของคนที่อายุครรภ์ได้ 2 เดือนนั้น แทบไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดือนแรกที่ผ่านมา และถึงแม้มดลูกจะเริ่มมีการขยายตัวเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อนแล้ว แต่มดลูกก็ยังมีขนาดที่ค่อนข้างเล็กอยู่ดี จึงทำให้พุงคนท้อง 2 เดือน ยังไม่มีการขยายใหญ่ขึ้นแต่อย่างใด

  • ทารกเมื่ออายุครรภ์ 2 เดือน เริ่มมีมือ เท้า แขน และขาน้อย ๆ แล้ว ผิวหนังเริ่มแบ่งเป็นสองชั้น และอวัยวะภายในได้ถูกสร้างขึ้นมา มีการพัฒนาระบบการย่อยอาหาร ระบบทางเดินหายใจและเส้นประสาทก็มีการสร้างขึ้นอย่างรวดเร็ว

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • อายุครรภ์ 2 เดือน นับจากอะไร
     • อาการคนท้อง 2 เดือน เป็นอย่างไร
     • อัลตราซาวนด์ท้อง 2 เดือน คุณแม่จะเห็นอะไรบ้าง
     • พัฒนาการทารกในครรภ์ 2 เดือน
     • อาหารบํารุงครรภ์ 2 เดือน
     • ไขข้อข้องใจเรื่องการตั้งครรภ์ 2 เดือนกับ Enfa Smart Club

คุณแม่บางคนอาจเพิ่งรู้ตัวว่าตั้งครรภ์เมื่อมีอายุครรภ์ได้ 2 เดือน ขณะที่คุณแม่อีกหลายคนอาจจะรู้ตัวตั้งแต่เดือนแรกแล้วว่ากำลังตั้งครรภ์ ซึ่งอายุครรภ์ 2 เดือนนี้ คุณแม่มักจะเริ่มสัมผัสได้ถึงอาการที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์มากขึ้น

โดยเฉพาะอาการแพ้ท้องที่จะเริ่มต้นหรือเริ่มรุนแรงขึ้นตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไป และนอกเหนือจากอาการแพ้ท้องที่จะเห็นได้ชัดขึ้นแล้ว ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อีกมากมายที่จะเกิดขึ้นเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ได้ 2 เดือน

บทความนี้จาก Enfa จะพาคุณแม่มารู้จักพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ตั้งท้อง 2 เดือนกันค่ะ 

ท้อง 2 เดือน แปลว่าอะไร อายุครรภ์ 2 เดือน นับจากอะไร


ท้อง 2 เดือน คือ คุณแม่มีอายุครรภ์ได้ 2 เดือนแล้ว มีอายุครรภ์ระหว่าง 5-8 สัปดาห์ โดยอายุครรภ์ของคุณแม่จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือนครั้งล่าสุด จากนั้นก็จะนับเพิ่มสัปดาห์ถัดไปเรื่อย ๆ เป็น 2 เดือน 3 เดือน เรื่อยไปจนกระทั่ง 9 เดือน ซึ่งจะเป็นช่วงไตรมาสสาม และใกล้จะมีการคลอดเกิดขึ้น 

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

อาการคนท้อง 2 เดือน เป็นยังไงบ้าง


อาการคนท้อง 2 เดือนแรก สามารถสังเกตได้หลายอาการ ดังนี้

1. แพ้ท้อง 

อาการแพ้ท้อง หรือ Morning sickness เป็นอาการที่ทำให้คุณแม่วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มักจะมีอาการในตอนเช้า ๆ โดยอาการแพ้ท้องเกิดจากการที่ระดับฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง

คุณแม่อาจมีอาการแสบบริเวณลิ้นปี่จากการอาเจียน เพราะน้ำย่อยที่อาเจียนออกมาจะทำให้แสบหลอดอาหารได้ง่าย ควรดื่มน้ำกลั้วคอล้างปากทุกครั้งหลังอาเจียน

ในช่วงนี้ถ้าคุณแม่แพ้ท้องมาก ควรนอนพักผ่อน ให้ฝานขิงอ่อนเป็นแผ่นบาง ๆ แช่ในน้ำร้อน แล้วค่อย ๆ จิบ จะช่วยให้อาการแพ้ท้องดีขึ้น 

2. อาการเบื่ออาหารในคนท้อง 

จากการที่ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงทำให้คุณแม่เบื่ออาหาร รับประทานอาหารแล้วอาเจียน ลองรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ไม่คาว ไม่มัน เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ซุป น้ำเต้าหู้ เป็นต้น นอกจากนี้ควรปรับมื้ออาหารให้รับประทานน้อยลงแต่บ่อยขึ้น

อาจจะแบ่งมื้ออาหารเป็น 5-6 มื้อต่อวัน จะช่วยให้ได้รับอาหารเพียงพอต่อความต้องการ คุณแม่บางคนอาจเบื่ออาหารที่เคยชอบ หรือบางคนอาจชอบอาหารที่ไม่เคยรับประทาน แนะนำให้คุณแม่ลองรับประทานอาหารให้หลากหลาย

แต่ถ้ารับประทานอะไรไม่ได้เลย แนะนำให้พบแพทย์เพื่อประเมินว่าร่างกายขาดน้ำหรือสารอาหารหรือไม่ และรับการรักษาที่เหมาะสม เพราะน้ำหนักตัวของแม่มีผลต่อการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ 

3. อ่อนเพลียง่าย 

คุณแม่จะรู้สึกอ่อนเพลียได้ง่ายมากขึ้น เพราะระดับโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งมดลูกต้องการเลือดในปริมาณเพิ่มขึ้นเพื่อไปเลี้ยงทารกในครรภ์ จึงส่งผลให้คุณแม่รู้สึกอืดอาดทำอะไรช้าลง บางท่านอาจมีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืดได้ง่าย แนะนำให้เปลี่ยนท่าทางช้า ๆ ลุกนั่งให้ช้าลง เป็นต้น 

4. อารมณ์แปรปรวนง่าย 

เดี๋ยวยิ้ม เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวเศร้า เป็นเรื่องปกติเพราะฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง หากมีอารมณ์แปรปรวน ในทางที่ไม่ดีมากไป อาจส่งผลถึงลูกในท้องได้ คุณแม่จึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ หากิจกรรมทำให้ผ่อนคลาย 

5. เจ็บหน้าอก คัดตึงเต้านม  

เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ ฮอร์โมนในร่างกายก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงและผกผัน โดยเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนที่จะค่อย ๆ เพิ่มระดับสูงมากขึ้น ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกเจ็บหรือคัดตึงเต้านม 

ท้อง 2 เดือนใหญ่แค่ไหน: รูปคนท้อง 2 เดือน และลักษณะหน้าท้องของคนท้อง 2 เดือน


รูปคนท้อง 2 เดือน

 

คุณแม่อย่าเพิ่งไปคาดหวังว่า โอ้! ฉันตั้งท้อง 2 เดือนแล้ว ท้องฉันจะต้องใหญ่ขึ้นแน่ ๆ เพราะจริง ๆ แล้วทารกในครรภ์ยังมีน้ำหนักประมาณ 15 กรัม และมีขนาดแค่เพียง 1 - 2 ซม. เท่านั้น

ดังนั้น ท้องของคนที่อายุครรภ์ได้ 2 เดือน จึงแทบไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดือนที่ผ่านมา และถึงแม้มดลูกจะเริ่มมีการขยายตัวเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของตัวอ่อนแล้ว แต่มดลูกก็ยังมีขนาดที่ค่อนข้างเล็กอยู่ดี จึงทำให้พุงคนท้อง 2 เดือน ยังไม่มีการขยายใหญ่ขึ้นแต่อย่างใด 

อัลตราซาวนด์ท้อง 2 เดือน คุณแม่จะเห็นอะไรบ้างนะ


รูปคนท้อง 2 เดือน

 

การอัลตราซาวนด์มักจะทำกันเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 12-18 สัปดาห์เป็นต้นไป เพราะจะสามารถเริ่มมองเห็นเพศ หรือเห็นรูปร่างของทารกชัดมากขึ้น เนื่องจากทารกมีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้นแล้ว 

แต่การอัลตราซาวนด์ตอนอายุครรภ์ 2 เดือนนั้น ปกติแล้วจะไม่ค่อยนิยมทำกัน เพราะถึงอัลตราซาวนด์ไปก็แทบจะไม่เห็นอะไร เนื่องจากทารกมีขนาดเล็กเพียง 1 - 2 ซม. เท่านั้น

แม้ว่าจะไปอัลตราซาวนด์ก็อาจจะยังมองไม่เห็นรูปร่างของทารกอยู่ดี แต่อายุครรภ์ตั้งแต่ 6 ขึ้นไป การอัลตราซาวนด์จะสามารถเห็นการเต้นของหัวใจได้ 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกนี้ แพทย์อาจจะแนะนำให้ทำการอัลตร้าซาวด์ก่อนกำหนดเพื่อตรวจหาความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น การท้องนอกมดลูก แต่การอัลตราซาวนด์นี้จะเป็นการอัลตราซาวนด์ผ่านช่องคลอด ไม่ใช่การอัลตราซาวนด์ที่หน้าท้อง 

ร่างกายของคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ 2 เดือน


ร่างกายของคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ 2 เดือน จะเริ่มมองเห็นการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังนี้ 

  • หน้าอกและหัวนมขยายใหญ่ขึ้น 

ระหว่างการตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เต้านมขยายโตขึ้น ต่อมผลิตน้ำนมขยายตัวมากขึ้น ลานนมจะขยายกว้างขึ้นและมีสีคล้ำขึ้น

คุณแม่จะมีอาการคัดและเจ็บเต้านมได้ง่าย จะสังเกตได้ว่าอาการเหล่านี้คล้ายกับอาการก่อนมีประจำเดือน ดังนั้น คุณแม่มือใหม่จึงควรสังเกตด้วยว่าประจำเดือนมาปกติหรือไม่ เพราะอาการคนท้องจะอยู่นานกว่าอาการก่อนมีประจำเดือน 

  • มดลูกขยายตัวอย่างรวดเร็ว 

ขนาดของมดลูกเริ่มขยายตัวเป็นสองเท่า มดลูกที่โตขึ้นอาจจะทำให้มีอาการหน่วง ๆ ถ่วง ๆ บริเวณท้องน้อย คุณแม่อาจเจ็บบริเวณท้องน้อยได้ง่าย เนื่องจากเมื่อมดลูกโตขึ้น ปีกมดลูกก็จะถูกดึงรั้งตึง คุณแม่อาจรู้สึกเสียวแปลบ ๆ เวลาเคลื่อนไหวเร็ว ๆ จึงควรทำอะไรช้าลงกว่าปกติ 

  • หน้าท้องเริ่มหนาขึ้น 

มดลูกของคุณแม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีลูกน้อยที่เจริญเติบโตอยู่ข้างใน ส่วนช่วงท้องตอนนี้ก็เริ่มพอง ๆ ขึ้นมาบ้างอาจทำให้คุณแม่รู้สึกตัวหนากว่าเดิม ลองเลือกใส่ชุดหรือกางเกงที่เอวหลวม เพื่อที่จะได้ไม่รัดและทำให้อึดอัดท้อง เวลานั่งจะสบายตัวมากขึ้น 

พัฒนาการทารกในครรภ์ 2 เดือนที่คุณแม่ควรรู้


ท้อง 2 เดือน

ในช่วง อายุครรภ์ 2 เดือน หรือ 5-8 สัปดาห์ แม้ลูกน้อยในครรภ์จะมีขนาดแค่ 1 - 2 ซม. และมีน้ำหนักประมาณ 15 กรัม โดยขนาดของทารกอายุครรภ์ 2 เดือน ทารกจะมีขนาดเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละสัปดาห์ ดังนี้

ขนาดทารก 5 สัปดาห์

มีขนาดเท่าเมล็ดซิตรัสในสัปดาห์ที่ 5 

ขนาดทารก 6 สัปดาห์

มีขนาดเท่ากับถั่วลันเตาในสัปดาห์ที่ 6 

ขนาดทารก 7 สัปดาห์

มีขนาดเท่ากับบลูเบอร์รีในสัปดาห์ที่ 7 

ขนาดทารก 8 สัปดาห์

มีขนาดเท่ากับราสเบอร์รีในสัปดาห์ที่ 8 

และแม้ว่าจะยังมีขนาดเล็กอยู่ แต่เขากำลังมีพัฒนาการที่น่าตื่นเต้นทีเดียว เขาเริ่มมีมือ เท้า แขน และขาน้อย ๆ แล้ว ผิวหนังเริ่มแบ่งเป็นสองชั้น และอวัยวะภายในได้ถูกสร้างขึ้นมา มีการพัฒนาระบบการย่อยอาหาร ระบบทางเดินหายใจและเส้นประสาทก็มีการสร้างขึ้นอย่างรวดเร็ว 

โดยระบบการหายใจในช่วงสัปดาห์ที่ 9 ทารกจะเริ่มมีการเคลื่อนไหวโดยใช้อวัยวะต่าง ๆ เช่น มือ เท้า และมีการตอบสนองจากการกระตุ้นของเราจนถึงปลายสัปดาห์ที่ 12 จะสามารถได้ยินเสียงหัวใจของทารกได้จากเครื่องฟังเสียงหัวใจ (Doptone) 

พัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ 2 เดือน

ช่วงที่ลูกน้อยอายุครรภ์ 2 เดือน คือช่วงที่สำคัญของพัฒนาการระบบประสาทและสมองของลูกน้อย ในช่วงนี้สมอง ไขสันหลัง กระดูกสันหลัง และระบบประสาทของทารกจะเริ่มพัฒนา เช่นเดียวกับระบบไหลเวียนโลหิต 

ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 8 ลูกน้อยจะสร้างเซลล์ประสาท (Neuron) นับล้าน ๆ เซลล์ เพื่อเชื่อมต่อ และสื่อสารกันระหว่างอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย จนทำให้ลูกน้อยของเราสามารถขยับตัว เคลื่อนไหวได้ แม้ว่ากว่าคุณแม่จะรู้สึกถึงการขยับของลูกน้อยในท้องต้องรอถึงอายุครรภ์ประมาณ 16 - 18 สัปดาห์ แต่แท้จริงแล้วลูกน้อยค่อย ๆ มีพัฒนาการมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วง 2 เดือนของการตั้งครรภ์

ดังนั้น เซลล์ประสาทเหล่านี้คือส่วนประกอบสำคัญของสมอง ทุก ๆ ความรู้สึก ความคิด การหายใจ พอลูกขยับได้มากขึ้นจนคุณแม่รู้สึกได้ จะช่วยทำให้คุณแม่อารมณ์ดีขี้น เพราะได้รับสัมผัสกับลูกโดยตรง เพิ่มสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก 

มากไปกว่านั้น คุณแม่ตั้งครรภ์ 2 เดือน ควรรับประทานอาหารที่ดี ออกกำลังกายเบา ๆ และ ไม่เครียด เพราะสุขภาพกายและใจที่ดีของคุณแม่จะส่งผลต่อ พัฒนาการทารกในครรภ์ เป็นอย่างมาก สิ่งที่คุณแม่ควรใส่ใจก็คือการได้รับสารอาหารที่เพียงพอ เพราะอาหารไม่ได้สำคัญเฉพาะกับ พัฒนาการของทารกในครรภ์ เท่านั้น

หากยังส่งผลต่อสุขภาพและช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้คุณแม่เองด้วยโภชนาการที่ดีหมายถึงการที่คุณแม่ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนและเหมาะสม คือได้รับทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เกลือแร่ วิตามิน และยังช่วยส่งเสริมการทำงานของจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ของคุณแม่ และสิ่งที่คุณแม่ไม่ควรมองข้ามก็คือสารอาหารอย่างเช่น กรดโฟลิก และวิตามินบี 12 ที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของคุณแม่ 

อาหารบํารุงครรภ์ 2 เดือน ที่คุณแม่ควรรับประทาน


แม้ว่าคุณแม่อาจจะยังดูหรือรู้สึกไม่เหมือนคนท้อง เพราะขนาดท้องยังไม่ใหญ่ขึ้นสักเท่าไร แต่ช่วงตั้งท้องอายุครรภ์ 2 เดือน เป็นเวลาที่คุณแม่จำเป็นต้องสังเกตพัฒนาการทางร่างกายของเจ้าตัวน้อยอย่างใกล้ชิด และจำเป็นต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ลูกน้อยเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง 

การได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างสมดุลและครบถ้วนในการเสริมสร้างร่างกายของลูกน้อย คือกุญแจสำคัญของการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรพยายามรับประทานผักและผลไม้ให้หลากหลาย รวมถึงเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หรือโปรตีนจากปลาและไข่ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และอาหารดิบ เช่น ซูชิ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบด้วย เช่น ลาบหมู อาหารปิ้งย่าง เป็นต้น 

เนื่องจากลูกน้อยในครรภ์อยู่ในช่วงที่ต้องการสารอาหารสำหรับการเสริมสร้างการเจริญเติบโตและพัฒนาการ คุณแม่จึงควรวางแผนมื้ออาหารทุกวันเพื่อให้มั่นใจว่าลูกน้อยจะได้รับสารอาหารครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสม อีกทั้งคุณแม่ ยังต้องให้ความสำคัญกับการได้รับแร่ธาตุเหล่านี้ 

อาหารสําหรับคนท้อง 2 เดือน ได้แก่ 

1. โฟเลต

ควรได้รับอย่างน้อยวันละ 400 ไมโครกรัม (0.4 มิลลิกรัม) ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ต่อเนื่องตลอดช่วงตั้งครรภ์ เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันการเกิดความผิดปกติแต่กำเนิดในทารกแล้ว ยังช่วยสร้างพัฒนาการทารกในครรภ์ด้านระบบประสาท และช่วยให้เซลล์สามารถแบ่งตัวได้อย่างเป็นปกติ โฟเลตจะมีอยู่มากในผักใบเขียวต่าง ๆ ถั่ว ผักโขม ส้ม มะนาว มะเขือเทศ และธัญพืชไม่ขัดสีต่าง ๆ 

2. ธาตุเหล็ก

จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดทั้งของคุณแม่และของลูกน้อย และช่วยลดโอกาสในการคลอดก่อนกำหนด ภาวะทารกน้ำหนักตัวน้อยแต่กำเนิดด้วย คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปริมาณธาตุเหล็กที่เหมาะสมที่ควรได้รับในแต่ละวัน

ส่วนใหญ่แล้ว คุณแม่ที่ร่างกายแข็งแรงจะต้องการธาตุเหล็กในปริมาณ 30 - 60 มิลลิกรัมต่อวัน ในกรณีที่คุณแม่มีภาวะซีดหรือมีโรคประจำตัวอื่น ควรรับประทานธาตุเหล็กเสริมตามคำแนะนำของคุณหมอ และในแต่ละวันอย่าลืมรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ไข่ ตับ ถั่ว อัลมอนด์ และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ 

3. DHA

ดีเอชเอ (Docosahexaenoic Acid) เป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิดหนึ่ง ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาทางสมอง ดวงตา และระบบประสาทของทารก มากไปกว่านั้น คุณแม่ที่รับประทาน DHA อย่างเพียงพอ จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์บางอย่าง เช่น การคลอดก่อนกำหนด หรือโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้อีกด้วย อีเอชเอจะมีอยู่มากในอาหารจำพวกปลาทะเล อโวคาโด ไข่แดง เป็นต้น หรือจะดื่มนมสำหรับคนท้อง สูตรที่เสริมดีเอชเอก็เป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์เช่นกันค่ะ 

4. ไอโอดีน

คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรได้รับไอโอดีนอย่างเพียงพอตั้งแต่ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายผิดปกติ ซึ่งภาวะดังกล่าวจะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรควรได้รับไอโอดีนจำนวน 250 ไมโครกรัม/วัน ไอโอดีนจะมีอยู่มากในอาหารทะเลทุกชนิด ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม กระเทียม หรืองา เป็นต้น 

6. แคลเซียม

ทารกในครรภ์ต้องการแคลเซียมจากร่างกายของคุณแม่เพื่อใช้ในการสร้างมวลกระดูกและฟัน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณแม่ควรจะต้องกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง เพราะถ้าหากคุณแม่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ

ร่างกายของคุณแม่จะขับแคลเซียมในกระดูกออกมาเพื่อส่งให้ทารก และนั่นก็จะทำให้คุณแม่สุขภาพอ่อนแอ และมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน หรือกระดูกเปราะ

คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรควรได้รับแคลเซียมประมาณ 1,000 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งแคลเซียมก็จะได้จากการกินอาหารจำพวกนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนย หรือโยเกิร์ต เป็นต้น 

นมสำหรับแม่ตั้งครรภ์ อีกหนึ่งอาหารคนท้องที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพการตั้งครรภ์ที่แข็งแรงได้


บางครั้งคุณแม่หลาย ๆ คนอาจจะมีปัญหาเรื่องของการแพ้นมวัว หรือแพ้นมจากพืชชนิดอื่น ๆ นมสำหรับแม่ตั้งครรภ์ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีที่จะช่วยเสริมสุขภาพสำหรับแม่ตั้งครรภ์ ที่สำคัญคือควรเลือกนมสำหรับคนท้องที่มี DHA และโฟเลตสูง ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญสำหรับแม่ตั้งครรภ์   

  • DHA ซึ่งเป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ จำเป็นต้องได้รับจากการกินอาหาร โดย DHA มีสำคัญต่อกระบวนการสร้างเซลล์ต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ เช่น สมอง ผิวหนัง ดวงตา ทั้งยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์บางอย่าง เช่น การคลอดก่อนกำหนด หรือโรคซึมเศร้าหลังคลอด  

  • โฟเลต ซึ่งเป็นกลุ่มวิตามินบีที่สำคัญมาก หากคุณแม่ได้รับโฟเลตไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้ลูกน้อยเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทได้ เพราะโฟเลตทำหน้าที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง คุณแม่ตั้งครรภ์ในเดือนแรกจำเป็นต้องได้รับโฟเลตเพื่อช่วยในการสร้างหลอดประสาท และสมองที่สมบูรณ์ของทารก 

Enfamama TAP No. 1

ไขข้อข้องใจเรื่องการตั้งครรภ์ 2 เดือนกับ Enfa Smart Club


 ท้อง 2 เดือน ท้องแข็งไหม

ปกติแล้วอาการท้องแข็งมักจะพบได้ในช่วงไตรมาส 3 หากมีอาการท้องแข็งตั้งแต่เดือนที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย 

 อายุครรภ์ 2 เดือนลูกมีหัวใจหรือยัง

อายุครรภ์ 2 เดือน เริ่มมีการสร้างหัวใจขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้หลังสัปดาห์ที่  6 เป็นต้นไป หากไปอัลตร้าซาวด์ก็จะสามารถเห็นหัวใจของทารกเต้น 

 ตั้งครรภ์ 2 เดือน ท้องแข็งเป็นก้อน อันตรายไหม

ปกติแล้วอาการท้องแข็งมักจะพบได้ในช่วงไตรมาส 3 หากมีอาการท้องแข็งตั้งแต่เดือนที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย 

 ท้อง 2 เดือน ท้องกระตุก เกิดจากอะไร

อาการท้องกระตุกโดยมากมักไม่พบในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หากพบว่ามีอาการท้องกระตุก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย 

 ท้อง 2 เดือนคือกี่สัปดาห์

อายุครรภ์ 2 เดือน จะเท่ากับอายุครรภ์ 5-8 สัปดาห์ 

 ท้อง 2 เดือน มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม

คนท้องสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตลอดการตั้งครรภ์ แต่ในช่วงไตรมาสท้าย ๆ อาจจะต้องลดท่ามีเซ็กซ์ที่ผาดโผนลง เพื่อลดการกระแทกที่หน้าท้องของคุณแม่ 

 ท้อง 2 เดือน ปวดท้องน้อย อันตรายไหม

อาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุที่ไม่น่ากังวล และสาเหตุที่รุนแรง ดังนั้น หากมีอาการปวดท้องน้อยตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป และอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย 

 ท้อง 2 เดือนลูกดิ้นหรือยัง

อายุครรภ์ 2 เดือน ทารกยังมีขนาดที่เล็กมาก จึงยังไม่มีการดิ้นของทารกเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกนี้ แต่เมื่อมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 16-25 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งก็จะอยู่ราว ๆ เดือนที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์ 

 ท้อง 2 เดือน มีเลือดออกสีน้ำตาล อันตรายไหม

อาการเลือดออกขณะตั้งครรภ์สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุที่ไม่น่ากังวล และสาเหตุที่รุนแรง

ดังนั้น หากมีอาการเลือดออกตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป และเลือดยังไม่หยุดไหล ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย 

 ท้อง 2 เดือน น้ำหนักขึ้นเยอะ อันตรายไหม

จริงๆ แล้วคุณแม่จะต้องเพิ่มน้ำหนักตั้งครรภ์ขึ้นในทุก ๆ ไตรมาสอยู่แล้ว แต่ในไตรมาสแรกนี้ทารกยังตัวเล็กอยู่ คุณแม่จึงยังไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มน้ำหนักให้มากเกินกว่า 1-2 กิโลกรัม แต่ถ้ามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่านั้น ให้รีบไปพบแพทย์ด่วน เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย  

 ท้อง 2 เดือน มีเพศสัมพันธ์แล้วมีเลือดออก อันตรายไหม

หากมีเพศสัมพันธ์แล้วมีเลือดออก ก็อาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น มีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรงเกินไป อาจเกิดการบาดเจ็บหรือฉีกขาดของอวัยวะเพศ 

อย่างไรก็ตาม อาการเลือดออกขณะตั้งครรภ์สามารถเกิดได้จากสาเหตุที่ไม่น่ากังวล และสาเหตุที่รุนแรง

ดังนั้น หากมีอาการเลือดออกตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป และเลือดยังไม่หยุดไหล ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย 

 ท้อง 2 เดือน ปวดท้องจี๊ดๆ เกิดจากอะไร

อาการปวดท้องตอนอายุครรภ์ 2 เดือน สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากการที่มดลูกเริ่มมีการขยายตัว จึงส่งผลให้คุณแม่อาจจะรู้สึกปวดท้องขึ้นมา หรือเป็นเพราะฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง และมีผลต่ออวัยวะเชิงกราน ก็อาจส่งผลให้ปวดท้องได้เช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม อาการปวดท้องขณะตั้งครรภ์สามารถเกิดได้จากสาเหตุที่ไม่น่ากังวล และสาเหตุที่รุนแรง ดังนั้น หากมีอาการปวดท้องตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป และอาการยังไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย 

 ท้อง 2 เดือน ลูกอยู่ตรงไหน

หลังจากที่ตัวอ่อนทำการฝังตัวลงในโพรงมดลูกในเดือนแรกนั้น ทารกก็จะค่อย ๆ เจริญเติบโตอยู่ที่มดลูกไปจนกว่าจะคลอด ซึ่งขนาดของมดลูกก็จะค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้นรองรับขนาดของทารกในเจริญเติบโตขึ้นในทุก ๆ เดือน 



    บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

    EFB Form

    EFB Form