ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้  

สอนลูกเรียนรู้เพศชาย-หญิง

   เด็กวัยนี้รู้จักอวัยวะต่างๆ  ของร่างกายรวมถึงอวัยวะเพศของตัวเอง รู้ถึงความแตกต่างของร่างกายเพศชายและหญิง ซึ่งอาจเห็นจากภาพหรือพี่น้อง  เขาสามารถเรียกเพศหญิงว่า “ผู้หญิง” เรียกเพศชายว่า “ผู้ชาย”  หากเป็นเด็กผู้ชาย  เขาจะรู้ว่าตัวเองเป็นเด็กผู้ชายและไม่เหมือนแม่ ส่วนเด็กผู้หญิงก็รู้ว่าตนเองเป็นเด็กผู้หญิงและแตกต่างจากพ่อ

   การส่งเสริมให้ลูกมีบทบาททางเพศที่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่สามารถปลูกฝังเขาด้วยวิธีการอบรมและปฏิบัติต่อลูกที่แตกต่างกันระหว่างชายหญิงอย่างเหมาะสมตั้งแต่แรกเกิด เช่น คำพูดที่พูดด้วยความอ่อนโยน การจับต้องตัวเด็ก เสื้อผ้าของใช้และของเล่นที่มีลักษณะแตกต่างกัน เช่น ตุ๊กตาสำหรับลูกสาว หุ่นยนต์สำหรับลูกชาย รวมทั้งความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคุณพ่อกับลูกชายและคุณแม่กับลูกสาวช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมตามเพศได้ถูกต้องมากขึ้น                   

ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว         

ใช้มือข้างถนัดแล้ว

   เมื่ออายุ 2 ปีขึ้นไป เด็กจะเริ่มมีพัฒนาการใช้มือข้างที่ถนัด และเมื่อผ่านการฝึกฝนทำซ้ำๆ ผ่านการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดทักษะของมือข้างนั้นมากขึ้น จนกลายเป็นมือที่ถนัดอย่างชัดเจนที่อายุประมาณ 6-7  ปี ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าความถนัดเป็นผลจากกรรมพันธุ์หรือการเลี้ยงดู

    ถ้าคุณพ่อคุณแม่ต้องการส่งเสริมให้ลูกถนัดขวาตั้งแต่แรก ควรยื่นของเล่นให้ลูกถือด้วยมือขวา หัดให้ถือช้อนด้วยมือขวา วางบอลให้เตะที่เท้าขวา ควรฝึกฝนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่บีบบังคับ เพราะอาจเกิดการต่อต้านหงุดหงิดได้ ช่วงก่อนอายุ 3 ปีเป็นช่วงที่ยังฝึกให้เปลี่ยนแปลงได้ง่าย เนื่องจากเป็นวัยที่สมองอยู่ในช่วงที่มีการพัฒนามาก หลังจากนี้จะเปลี่ยนแปลงได้ยาก อย่างไรก็ตามการที่ลูกถนัดขวาหรือซ้ายไม่ได้เป็นตัวกำหนดความสำเร็จในอนาคต ไม่จำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่ต้องกังวลหรือเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ควรให้โอกาสลูกได้ฝึกฝนเพิ่มพูนทักษะข้างที่ถนัดจะทำให้ลูกมีพัฒนาการที่เหมาะสมมากกว่า

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ด้านภาษาและการสื่อสาร

เล่นลำโพง...ฮัลโหล...ฮัลโหล โชว์การพูดของลูก

   วัยนี้เด็กจะมีความจำและพัฒนาการใช้ภาษาได้ดี สามารถบอกชื่อและอายุของตัวเองได้ พูดเป็นคำ 2-3 คำต่อเป็นประโยคหรือวลีสั้นๆ ได้อย่างมีความหมาย เช่น แม่เปิด เอาขนม สามารถพูดให้คนอื่นเข้าใจเนื้อหาได้ประมาณร้อยละ 50-75  ชอบถามอะไร ที่ไหน ตอบคำถามอยู่ไหนหรือที่ไหนได้  เข้าใจเรื่องของเวลาง่าย เช่น คืนนี้ พรุ่งนี้ บอกชื่อรูปภาพและสิ่งของที่คุ้นเคยได้มากขึ้น

   การส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษานั้น  คุณพ่อคุณแม่ควรอ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกวัน ให้ดูภาพประกอบกับเรื่องราวที่อ่าน ทำให้ลูกมีความเข้าใจภาษามากขึ้น เด็กวัยนี้ชอบฟังนิทานหรือเรื่องเดิมซ้ำๆ  คุณพ่อคุณแม่ควรค่อยๆ สอนให้ลูกรู้จักการใช้ภาษาในการสื่อสารกับผู้อื่นในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม ได้แก่ การพูดทักทาย บอกความต้องการ  เช่น ขอเล่นด้วยหรือปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ต้องการ กล่าวคำขอบคุณหรือขอโทษได้ เด็กวัยนี้อาจยังไม่เข้าใจความหมายของคำเหล่านี้ในเชิงจริยธรรมหรือคุณธรรมนัก แต่การค่อยๆ สอนจะช่วยให้ลูกมีทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ดีต่อไปค่ะ

ด้านอารมณ์และสังคม             

เทคนิคสอนลูกเล่นกับเพื่อน

   เด็กวัยนี้เริ่มอยากเล่นกับเพื่อน แต่เมื่อให้เล่นกับเพื่อนจริงๆ ก็ยังเล่นไม่ค่อยได้ เพราะจะทะเลาะกัน  เพราะเขายังไม่เข้าใจความหมายของการเล่นด้วยกัน   วัยนี้ถ้าจะมีคนอื่นเล่นด้วยคงต้องเป็นเด็กที่โตกว่า หรือผู้ใหญ่ที่จะส่งเสริมในการเล่นแทนที่จะแย่งของเล่นของเขา

    เพื่อให้การเล่นกับเพื่อนเป็นไปโดยไม่มีปัญหา ก่อนจะพาไปเล่นกับเพื่อนๆ คุณแม่ควรบอกให้ลูกรู้ก่อนว่าจะไปที่ไหนจะเจอใคร และควรบอกลูกว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร เช่น  ถ้าลูกชอบเล่นแรงก่อนพาไปต้องกำชับลูกก่อนว่า “เล่นแรงๆ หรือตี หรือผลักคนอื่นไม่ได้นะ เดี๋ยวคนอื่นจะเจ็บและร้องไห้ แล้วลูกก็จะไม่ได้เล่นต่อ  แม่จะพาลูกกลับบ้านเลย” “ถ้าเพื่อนมาขอเล่นของเล่น ลูกเลือกดูนะว่าจะแบ่งชิ้นไหนให้เขาดีนะ เดี๋ยวเพื่อนก็คืน”

   เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเล่นกับเพื่อนได้ดี คุณแม่อย่าลืมชมเชยและแสดงการยอมรับในพฤติกรรมนั้นๆ เช่น “แม่ชอบจังที่ลูกเล่นกับเพื่อนๆ ดี เพื่อนๆ ทุกคนอยากเล่นกับลูกทั้งนั้น”  “ลูกน่ารักมากที่แบ่งของให้เพื่อนเล่นด้วย” เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ลูกรู้จักกาลเทศะและมีวินัยในการเล่น หรือเมื่อเขาทะเลาะกับเพื่อน  คุณแม่ไม่ควรเข้าข้างหรือตำหนิลูกทันที ควรถามลูกถึงสาเหตุที่ทะเลาะกัน และสอนลูกและเพื่อนๆ ของลูกว่าควรทำควรเล่นกันอย่างไร  อีกทั้งคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักการขอโทษและการให้อภัยเพื่อนด้วย