ถาม-ตอบ พร้อมเทคนิครับมือ โดยคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
ศ. เกียรติคุณ พญ. วันดี วราวิทย์
กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินอาหารในเด็ก

1.) อาการแหวะนมในเด็กเล็กเกิดจากอะไร?

คุณหมอ : ลูกวัยทารกแหวะนมเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • 1.1 ลูกกินนมแล้วไม่ถูกอุ้มให้เรอลม หรือเรอลมออกได้ไม่ดี จึงมีลมค้างในกระเพาะมาก ซึ่งจะเพิ่มความดันในกระเพาะทำให้กระเพาะบีบตัวแรง ของเหลวในกระเพาะจึงไหลย้อนออกมาทางปากลูกซึ่งเรียกอาการนี้กันว่า แหวะนม

  • 1.2 ลูกกินนมมากเกิน ลูกน้อยแรกเกิดจนถึงอายุสี่เดือนมักร้องกินนมตลอดทั้งที่กินนมอิ่ม ท้องกางแล้ว เมื่อกินนมอีกนมจึงไหลออกทางปาก แหวะออกมา แต่แหวะแล้วก็ร้องกินอีก เป็นเช่นนี้จนกว่าพัฒนาการช่วงที่มีความสุขกับการกิน (Oral Phase) จะค่อยคลายลง

  • 1.3 ภาวะกรดไหลย้อน เนื่องจากหูรูด (Sphincter) ตรงรอยต่อของหลอดอาหารและกระเพาะเปิด โดยปกติแล้วหูรูดจะแข็งแรง ปิดกั้นไม่ให้ของเหลวในกระเพาะไหลย้อนกลับ แต่มีทารกจำนวนหนึ่งมีภาวะนี้

  • 1.4 ภาวะย่อยนมได้ไม่ดี ลูกจึงแหวะออกมาเป็นเม็ดนม และอาจมีเลือดปนถ้ามีภาวะแพ้โปรตีนนมวัว

  • 1.5 ภาวะย่อยน้ำตาลแลกโตสได้ไม่ดี ทารกส่วนใหญ่มีน้ำย่อยแลกเตสสำหรับย่อยน้ำตาลแลกโตสที่มีในนม แต่เด็กบางคนอาจ มีปริมาณจำกัด ซึ่งถ้าเด็กกินนมมากได้น้ำตาลแลกโตสเกินกว่าน้ำย่อยที่มีอยู่ น้ำตาลแลกโตสจะเหลือตกค้างจึงเกิดการหมักมีแก๊สขึ้นมา ทำให้เด็กเกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ผายลมบ่อย

  • 1.6 ภาวะจุลินทรีย์ในลำไส้เสียดุล (Dysbiosis) เป็นต้น การที่คุณแม่จะรับมือกับอาการแหวะนมของลูกได้ถูกต้องหรือไม่ จึงต้องสังเกตอาการอื่น ๆ พร้อมปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อค้นพบสาเหตุที่แท้จริงจึงจะดูแลได้ถูกจุด

2). อาการร้องไห้โยเยในเด็กเล็กเกิดจากอะไร?

คุณหมอ : ลูกวัยทารกร้องไห้โยเยเป็นได้หลายสาเหตุ ซึ่งมักเกิดจากไม่สบายตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น มีไข้ หรือ เจ็บปวดส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ซึ่งต้องสำรวจด้วยการลูบคลำตามแขนขาและลำตัวเบา ๆ ว่ามีจุดเจ็บ บวม แดง ร้อนไหม? มีตุ่มถูกแมลงกัดไหม?

แต่หากไม่มีไข้และไม่พบสิ่งผิดปกติตามร่างกาย ให้คุณแม่สงสัยว่าการที่ลูก ร้องโยเยอาจเกิดจากความรู้สึกไม่สบายท้อง แน่นท้อง และถ้าร้อง-หยุด เป็นเวลามักเป็นอาการของการปวดท้องโคลิก

3.) เทคนิคลดอาการแหวะนมในเด็กเล็กมีอะไรบ้าง

คุณหมอ : ทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • อุ้มในกินนมโดยให้กลืนลมน้อยที่สุด ทารกกินนมขวดต้องถือ ขวดโดยให้ น้ำนมท่วมจุกนมและคุณแม่อย่าลืมคลายฝาเกลียวที่จุกนมให้ หลวมเพื่อให้ลมเข้าไป แทนที่นมที่ถูกดูดออกจากขวดนม

  • อุ้มทารกพาดบ่าให้เรอลมออกหลังกินนมอิ่มทุกมื้อ

  • วางทารกให้นอนตะแคงซ้าย เพื่อให้นมเข้าไปอยู่ในกระพุ้งกระเพาะก่อน เพื่อป้องกันนมให้ไม่ล้นจนไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร

หากคุณแม่ได้ลองหลายวิธีแล้ว อาการของลูกยังไม่ดีขึ้น ก็ให้พาลูกไปปรึกษาคุณหมอ เพื่อดูอาการและหาวิธีรักษาที่เหมาะสมต่อไป