เพราะภาษาคือเครื่องมือในการสื่อสาร เด็กที่พูดเก่ง พูดได้อย่างมีระบบ ใช้ภาษาเล่าเรื่องราวได้ดี มีแนวโน้มจะเป็นเด็กที่เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดี เพราะแสดงถึงประสิทธิภาพของสมอง เซลล์สมองส่วนต่างๆ   มีการทำงานที่ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ  สามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลรอบตัวและสร้างความรู้ขึ้นมาได้ 

การสื่อสาร จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้

นั่นคือเกิดกระบวนการคิดขึ้นในสมอง มีการเชื่อมโยงข้อมูลความรู้ และสามารถสรุปความคิดรวบยอดจนสามารถสื่อสารสิ่งที่คิดออกมาได้  การที่เราเรียนรู้และพัฒนาทักษะบางอย่างในช่วงวัยทารกไม่ว่าจะเป็นการนั่ง ยืน เดิน หรือส่งเสียงเพื่อการสื่อสารนั้น ต้องอาศัยความจำทั้งสิ้น นั่นคือ จำว่าเดินอย่างไรหรือส่งเสียงอย่างไร ซึ่งเป็นเสมือนฐานที่ทำให้เราเติบโตและมีพัฒนาการต่อๆ มานั่นเอง

การสื่อสาร จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้

หากเด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อุดมไปด้วยภาษา เต็มไปด้วยด้วยสรรพเสียง มีจังหวะ ทำนอง มีเสียงพูดของผู้คน  จะทำให้การทำงานของสมองเด็กเกิดการพัฒนาที่ซับซ้อนขึ้น และมีพัฒนาการทางภาษาอย่างรวดเร็ว  เด็กจะมีความสามารถทั้งเข้าใจภาษา (Receptive Language) และใช้ภาษา (Expressive Language) ในการสื่อสารกับคนอื่น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการทางภาษาและการสื่อสารที่ดี เพราะในยุคที่การสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว คนที่สามารถสื่อสารสิ่งที่ตนเองคิดและต้องการให้ผู้อื่นเข้าใจได้อย่างดี รวมทั้งเข้าใจสารที่ผู้อื่นส่งมา จะช่วยให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น ลดความขัดแย้งระหว่างกัน และประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

การสื่อสาร จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

กิจกรรมสำหรับ ลูกน้อยวัย 1-3 ขวบ

รายละเอียด

สอนภาษาลูกจากชีวิตประจำวัน

เมื่อคุณแม่ทำกิจกรรมใดก็บอกให้ลูกรู้ เช่น ตื่นนอน อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ฯลฯ เพื่อให้ลูกรู้จักคำศัพท์ เพราะการสื่อสารที่ดีจะเกิดไม่ได้หากเด็กไม่มีคลังคำศัพท์ในสมองมากพอ และสร้างบรรยากาศของการพูดคุย และลูกจะได้เข้าใจในกิจกรรมที่ตนต้องทำในแต่ละวัน

พูดคุยสื่อภาษา

คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับลูกให้มาก ตั้งคำถามง่ายๆ ให้ลูกตอบ โดยใช้เหตุการณ์ที่ได้พบเห็นกับลูก เช่น  “ดอกไม้นี่สีอะไร”  “มอๆ นี่เป็นเสียงร้องของอะไรน้า”  “ที่เห็นในภาพนี้ เรียกว่าตัวอะไรจ๊ะ” หากลูกตอบไม่ได้ คุณแม่ก็บอกคำตอบให้เขา และบอกรายละเอียดสั้นๆ ง่ายๆ เพิ่มเติมของสิ่งที่เห็นในภาพ จะทำให้ลูกได้รู้จักคำศัพท์และจดจำสิ่งนั้นๆ ได้มากขึ้น

อ่านหนังสือให้ลูกฟัง

จับลูกนั่งตักแล้วอ่านหนังสือให้ลูกฟัง เขาจะเห็นความแตกต่างระหว่างการพูดคุยธรรมดากับการอ่านหนังสือ ชี้ชวนให้ลูกดูรูปภาพ พร้อมตัวอักษรที่เป็นคำบรรยาย ลูกจะจับความสัมพันธ์ระหว่างตัวอักษรกับภาพได้ดีขึ้น  เขาจะรู้สึกสนุกกับการดูภาพพร้อมตัวอักษรมากขึ้น พ่อแม่จึงควรอ่านหนังสือให้ลูกฟังให้บ่อยครั้งที่สุดเท่าที่จะทำได้

เล่นคุยโทรศัพท์กับลูก

ให้ลูกเล่นโทรศัพท์ของเล่น หรือโทรศัพท์ในบ้าน โดยให้ลูกสร้างบทสนทนาเอง เช่น “สวัสดีค่ะ น้องเปาพูด...นั่นใครพูดคะ วันนี้เราเล่นกันดีมั้ย” แล้วคุณแม่ก็พูดตอบโต้กับลูก เพื่อฝึกการสื่อสารให้ลูก

สอนศัพท์ลูกด้วยบัตรคำ

เด็กๆ ชอบมองภาพที่มีสีสดใส เช่น แดง น้ำเงิน เขียว เหลือง และเป็นภาพที่ไม่มีรายละเอียดมาก มีขอบเขตชัดเจน คุณแม่จึงสามารถเลือกการ์ดคำศัพท์ที่มีลักษณะเช่นนี้มาเสริมสร้างทักษะทางภาษาให้ลูกได้ โดยให้ลูกดูรูปภาพในการ์ด พร้อมออกเสียงคำศัพท์ภาพนั้นๆ ให้เขาฟัง ลูกจะได้รู้จักคำศัพท์นั้นๆ และอาจต่อยอดทักษะทางภาษาให้ลูกน้อย ด้วยการสร้างนิทานจากการ์ดเหล่านี้ 

เล่นเกมทำตามคำสั่ง

ลูกจะสื่อสารได้ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคนรอบข้างว่าได้ส่งเสริมเขาให้ได้ใช้ภาษามากน้อยแค่ไหน ในแต่ละวันได้มีการพูดคุย เปิดโอกาสให้เขาได้พูดตอบโต้ด้วย  ขณะอยู่ด้วยกันคุณแม่ให้โจทย์ลูกทำตามคำบอกหรือคำสั่งบ่อยๆ เช่น “ไปเอาช้อนมาให้แม่” “เอาจานไปเก็บ” ฯลฯ  เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ภาษา เรียนรู้ความแตกต่างของคำ และพัฒนาความเข้าใจภาษา  เพราะความเข้าใจภาษาจนสามารถสื่อสารได้ ไม่ได้หมายถึงการพูดได้เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงความเข้าใจในสิ่งที่คนอื่นพูดด้วย

สอนลูกให้รู้จักบอกความต้องการ

ลูกวัยนี้อาจยังบอกความต้องการเป็นคำพูดได้ไม่ดี คุณแม่ควรฝึกให้ลูกรู้จักบอกความต้องการของตนเอง โดยช่วยกระตุ้นให้ลูกบอกความต้องการง่ายๆเป็นคำพูด เช่น... 

“หนูปวดฉี่”

“หนูง่วงนอน”

“หนูชอบอันนี้”

เมื่อลูกได้บอกความต้องการออกมาแล้ว  คุณแม่ควรรับฟังลูก การสอนให้ลูกรู้จักบอกความต้องการของตัวเองจะช่วยฝึกให้ลูกสามารถพูดได้ว่าต้องการอะไร ชอบหรือไม่ชอบ หรือเมื่อเพื่อนมาแย่งของเล่นแล้วลูกสามารถบอกว่า “อย่าแย่ง นี่ของฉัน เธอต้องรอก่อน” เป็นต้น การสอนให้ลูกบอกความต้องการ เป็นการฝึกให้เด็กมีทักษะในการสื่อสาร กล้าพูด กล้าบอกสิ่งที่ตัวเองคิดและรู้สึก 

ฟังและตอบคำถามลูก

นอกจากคุณแม่พูดให้ลูกฟังแล้ว ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้พูดโต้ตอบด้วย เมื่อลูกพูด ต้องให้ความสนใจทั้งคำพูดและสังเกตสีหน้าท่าทางขณะที่ลูกพูด การฟังอย่างใส่ใจ พ่อแม่จะเข้าใจว่าลูกรู้สึกอย่างไรและคิดอย่างไร อะไรที่ทำให้เขารู้สึกแบบนั้น ลูกมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร และจะส่งเสริมลูกให้เติบโตและเข้มแข็งได้อย่างไร และเมื่อลูกถาม ให้สนุกในการตอบคำถามลูก ไม่แสดงอาการรำคาญ จะทำให้ลูกกล้าตั้งคำถามอยู่เรื่อยๆ หากบางเรื่องลูกถามแล้วพ่อแม่ไม่รู้ ก็ตอบตรงๆ ไปว่าไม่รู้ แล้วมาช่วยกันหาคำตอบ อย่าตอบไปแบบผ่านๆ เพราะลูกจะจำข้อมูลแบบผิดๆ ไปด้วย

ดูภาพเพิ่มคำศัพท์

คุณแม่หาหนังสือภาพต่างๆ มาให้ลูกดู   บอกเรื่องราวเกี่ยวกับภาพนั้นให้เขาฟัง  เช่น ตัวอะไร หรือคนในภาพกำลังทำอะไร ลูกจะรู้สึกสนุกกับการดูและชี้ภาพนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อฟังเรื่องราวจากคุณแม่ ครั้งต่อไปหากเขาได้ดูหนังสือนั้นอีกครั้ง เมื่อเจอภาพที่คุ้นตา เขาก็จะพูดคำศัพท์และเรื่องราวที่เคยได้ยินจากคุณแม่ออกมาได้ 

อ่านนิทานเพิ่มคำศัพท์

นิทานเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็กๆ การนำนิทานมาใช้ในการสอนคำศัพท์จะทำให้ลูกจำคำศัพท์ได้มากขึ้น ลูกจะได้ยินคำศัพท์ที่แปลกหู ไม่เคยได้ยินมาก่อน คุณแม่ควรอธิบายสั้นๆ ให้ลูกเข้าใจถึงคำศัพท์เหล่านั้น (ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ)

ตั้งคำถามกระตุ้นการพูด

เมื่อลูกตั้งคำถาม “นี่อะไร” แทนที่พ่อแม่จะรีบให้คำตอบลูก ให้ลองถามกลับดูบ้างว่า “แล้วหนูคิดว่าเป็นอะไรจ๊ะ” เพื่อทดสอบภาษา การสื่อสาร และความคิดของลูก หลายๆ ครั้งพ่อแม่อาจได้คำตอบที่คาดไม่ถึง การถามกลับก็ช่วยต่อยอดความคิดของลูกออกไปด้วย

สอนลูกรู้จักคำทักทาย

การรู้จักคำทักทายนั้น นอกจากจะเป็นมารยาททางสังคมแล้ว ยังเป็นการบ่งบอกถึงการมีทักษะการสื่อสารด้วย

  • บอกลูกทุกครั้งที่เจอใครก็ตามให้กล่าวคำว่าสวัสดี 
  • ฝึกลูกให้พูดมีหางเสียง มีครับ / ค่ะ ต่อท้ายทุกๆ ครั้ง  
  • สอนให้ลูกไหว้ เริ่มจากจับมือลูกมาประกบกัน ก้มหัวเล็กน้อย และทำเป็นตัวอย่างให้ลูกดู
  • พูดชมเชย หากลูกทักทาย และไหว้ผู้ใหญ่เมื่อเจอกัน 

ฝึกลูกเล่าเรื่องสั้นๆ 

คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกดูภาพถ่ายครอบครัวแล้วถามลูกว่าใครอยู่ในภาพบ้าง สถานที่ในภาพคือที่ไหน ลูกทำอะไรที่นั่นบ้าง ฯลฯ เพื่อกระตุ้นความจำของลูก