ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทารกอาเจียนแบบไหนเป็นสัญญาณอันตราย

ตรวจสอบข้อมูลโดย : ผศ.พญ.ดิษจี ลุมพิกานนท์
กุมารแพทย์ สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล

 

ในวัยทารก คุณแม่อาจเห็นทารกมีอาการแหวะหรือทารกอาเจียนเป็นนมออกมาได้ ซึ่งถือว่าเป็นอาการปกติได้ เพราะหูรูดบริเวณรอยต่อระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารของลูกอาจยังไม่แข็งแรง หรือลูกกินนมมากเกินไป แต่อย่างไรก็ตาม มีอาการแหวะนมหรืออาเจียน ที่เป็นสัญญาณอันตรายที่บอกว่าอาจมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น และคุณแม่ไม่ควรชะล่าใจ เราไปดูกันค่ะว่าทารกอาเจียนแบบไหนอาจเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง

ทารกอาเจียนแบบไหนอาจเป็นสัญญาณอันตราย?

  • ทารกอาเจียนและมีไข้สูง

    ถ้าหลังจากทารกอาเจียนแล้วมีไข้สูงมากกว่า 37.8 องศา อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อทางเดินอาหารส่วนบน ดังนั้นในทารกและเด็กเล็กถ้าอาเจียนพร้อมกับมีไข้สูง ให้คุณแม่ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และพาลูกไปพบแพทย์

  • ทารกอาเจียนมีน้ำดีปน (สีเหลืองปนเขียว/สีเขียว)

    โดยเฉพาะในเด็กเล็ก หากเด็กแรกเกิดอาเจียนออกมาแล้วมีสีเขียวหรือสีเหลืองปนเขียว นั่นหมายถึงสีของน้ำดี อาจเกิดจากภาวะลำไส้อุดตัน โดยเฉพาะถ้ามีอาการท้องอืด ไม่ถ่ายอุจจาระร่วมด้วย ต้องรีบพาไปพบคุณหมอทันที

  • ทารกอาเจียนเป็นเลือด

    ทารกอาเจียนเป็นเลือดถือว่าอันตราย เพราะอาจเกิดจากภาวะที่มีเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น หลอดอาหารอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ ซึ่งอันตรายเสี่ยงต่อการเกิดอาการช็อก (หากทารกเสียเลือดมาก) หรือซีด (หากเลือดออกน้อยแต่ออกบ่อย) ต้องรีบพาลูกไปพบคุณหมอ

  • ทารกอาเจียนและมีอาการถ่ายผิดปกติร่วมด้วย

    หากทารกอาเจียนพร้อมกับมีอาการท้องเสียร่วมด้วย แสดงว่าทารกมีการติดเชื้อในลำไส้หรือทางเดินอาหาร ในทางกลับกัน หากมีอาการท้องอืด ไม่ถ่ายอุจจาระร่วมด้วย อาจเกิดมาจากภาวะลำไส้อุดตัน ต้องรีบพาลูกไปพบคุณหมอ

  • ทารกอาเจียนพุ่ง ซึม

    หากทารกมีอาการนี้หลังจากได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองภายใน 24 ชั่วโมง เช่น ทารกตกเตียงหัวกระแทกพื้น แสดงถึงอาการผิดปกติของสมอง ต้องรีบพาลูกไปพบคุณหมอ

  • ทารกอาเจียนและมีอาการขาดน้ำ

    ถ้าทารกอาเจียนหลายรอบ คุณแม่ต้องระวังเพราะเด็กเล็กจะขาดน้ำได้ง่าย และพยายามให้ลูกดูดนมบ่อยๆ ตามที่ลูกต้องการ หรือป้อนน้ำให้จิบเรื่อยๆ หากเป็นมากอาจต้องทานน้ำเกลือแร่สำหรับเด็กตามที่แพทย์สั่ง พร้อมสังเกตว่าลูกมีอาการเหล่านี้ด้วยหรือไม่ เพราะอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณบอกว่าร่างกายลูกเริ่มขาดน้ำ

    • ลูกเริ่มซึม ไม่ร่าเริง

    • ตาลึก โหล กระหม่อมบุ๋ม

    • ร้องไห้แต่ไม่มีน้ำตาออกมา

    • ปากแห้ง

    • ปัสสาวะน้อยลง สามารถสังเกตได้จากผ้าอ้อมว่าเปียกน้อยลง

    หากทารกอาเจียนหรือท้องเสียค่อนข้างมาก ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอโดยเร็ว เพราะเด็กเล็กจะ เป็นอันตรายจากการขาดน้ำหรือการติดเชื้อรุนแรงได้ง่าย

สิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรทำเมื่อลูกน้อยอาเจียน

 

สิ่งสำคัญที่ควรทำเมื่อทารกแหวะนม หรือ อาเจียน

  • สังเกตลักษณะอาเจียนที่ออกมาว่าเป็นนม เสมหะสีอะไร อาเจียนแบบพุ่งหรือไม่พุ่ง เนื่องจากลักษณะอาเจียนแบบต่างๆ จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้

  • เมื่อทารกอาเจียน ให้สังเกตว่ามีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ ถ้ามี ต้องรีบพาทารกไปปรึกษาแพทย์ ไม่ควรชะล่าใจ เพราะอาจเป็นสัญญาณอันตราย ต้องได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีหรือถูกวิธีค่ะ

  • เมื่อทารกอาเจียน คุณแม่ไม่ควรหยุดให้นม ควรให้ลูกกินนมต่อไป เพราะเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารและน้ำได้ และหากทารกเริ่มแสดงอาการขาดน้ำ คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) สำหรับทารก

  • หากทารกกินนมแล้วอาเจียนออกมาทั้งทางปากและจมูก อาจส่งผลให้เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ เป็นหวัด มีน้ำมูก หรือเสียงครืดคราดได้ หากอาการนี้เป็นอยู่หลายวัน ควรปรึกษาคุณหมอ

  • โดยทั่วไป เมื่อทารกอาเจียนออกทางจมูกเพียงครั้งสองครั้งไม่มีอันตราย อันตรายที่จะเกิดได้ก็คือ อาเจียนนมแล้วสำลักนมเข้าหลอดลม ซึ่งคุณแม่รู้ได้จากการที่ลูกไออย่างแรง ให้คุณแม่ช่วยลูกด้วยการรีบจับลูกคว่ำหน้าลงในท่าศีรษะต่ำ เพื่อให้นมออกทางปากแทนทางจมูกได้ หรือให้อยู่ในท่านอนตะแคง และใช้ลูกยางแดงดูดเอานมที่ค้างอยู่ในจมูกและปากออก

  • ทารกอาเจียนถี่หรืออาเจียนอย่างต่อเนื่องมากกว่า 12 ชั่วโมง และไม่มีอาการที่ดีขึ้น ต้องรีบพาไปหาคุณหมอ

เมื่อทารกอาเจียนหลังกินนม

คุณแม่บางคนอาจพบว่าลูกน้อยอาเจียนหลังกินนม โดยเฉพาะหลังกินนมผง นั่นอาจเกิดจากการที่ระบบย่อยของเขามีปฏิกิริยาต่อนมที่กินเข้าไป เนื่องจากระบบย่อยของเขายังทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงยังไม่สามารถย่อยโปรตีนและน้ำตาลแลคโตสในนมได้ นมจึงผ่านลงไปในลำไส้ได้ยาก จึงเหลือตกค้างในกระเพาะและไหลย้อนกลับมาเป็นอาเจียนได้

คุณแม่จึงควรปรึกษาคุณหมอเพื่อเลือกนมสูตรย่อยง่าย ที่สอดคล้องกับระบบย่อยของลูก เพราะเป็นสูตรที่มีโปรตีนผ่านการย่อยบางส่วน และมีน้ำตาลแลคโตสต่ำกว่านมสูตรปกติ จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้

โดยทั่วไป เมื่อทารกอาเจียน หากเป็นระยะเวลาสั้นๆ และไม่มีอาการอื่นร่วมด้วยมักไม่น่าเป็นห่วง ดังนั้นสิ่งสำคัญคือคุณแม่ต้องสังเกตอาการข้างเคียงของลูกด้วย เพื่อจะได้รับมือกับอาการผิดปกติที่จะตามมากับอาการอาเจียนของลูกได้ทันท่วงทีค่ะ

EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner