เด็กกับการดูดจุกนมปลอม หรือ จุกหลอก มักเป็นภาพจำที่คุณแม่อาจจะคุ้นและเห็นกันมาจนรู้สึกชินตา และมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่เคยนึกสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า จริง ๆ แล้วเด็กจำเป็นต้องใช้จุกหลอกหรือเปล่า แล้วจุกหลอกจะส่งผลเสียต่อเด็กบ้างหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วเราไม่ควรให้เด็กใช้จุกหลอกเลย ถ้าอยากรู้ เราลองมาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันค่ะ

เลือกอ่านตามหัวข้อ

     • จุกหลอกคืออะไร
     • จุกหลอกยี่ห้อไหนดี 
     • จุกหลอกหัวกลมกับหัวแบนต่างกันอย่างไร
     • จุกหลอกดีไหมสำหรับลูกน้อยวัยดูดนม
     • เริ่มใช้จุกหลอกได้ตั้งแต่กี่เดือน
     • วิธีใช้จุกหลอกที่ถูกต้อง
     • เมื่อไหร่ที่ควรเลิกใช้จุกหลอก
     • ไขข้อข้องใจเรื่องการใช้จุกหลอกกับ Enfa Smart Club

จุกหลอกคืออะไร


จุกหลอก หรือจุกนมปลอม สำหรับให้เด็กอมหรือดูดไว้เพื่อช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย สบายตัว ไม่ร้องไห้งอแง และป้องกันไม่ให้เด็กดูดนิ้วบ่อย โดยจุกหลอกจะมีลักษณะนุ่มนิ่ม ทำมาจากยางหรือซิลิโคน

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

จุกหลอกยี่ห้อไหนดี เคล็ดลับเลือกจุกนมหลอกสำหรับคุณแม่มือใหม่


จุกหลอกในท้องตลาดนั้นมีหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าจุกหลอกยี่ห้อไหนดีกว่ากัน เพราะแต่ละยี่ห้อก็จะมีรูปลักษณ์ สีสัน และการดีไซน์ที่ทำออกมาแตกต่างกันเพื่อดึงดูดลูกค้า

แต่โดยพื้นฐานของการเลือกจุกหลอกแล้ว คุณแม่ควรพิจารณาองค์ประกอบของจุกหลอก ดังนี้

  • เลือกใช้จุกหลอกแบบชิ้นเดียว เพราะจุกหลอกบางยี่ห้ออาจออกแบบมาให้มีสองจุก ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดการสำลักได้

  • เลือกใช้จุกหลอกที่ทำมาจากซิลิโคน เพราะค่อนข้างมีความทนทาน สามารถทำความสะอาดได้ง่าย สะดวกต่อการเก็บรักษา

  • เลือกจุกหลอกที่มีการระบุคำว่า “BPA Free หรือ Bisphenol A Free” เนื่องจากสารชนิดดังกล่าวเสี่ยงที่จะสร้างความผิดปกติต่อร่างกายและพัฒนาการของเด็ก ทั้งยังเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย

  • เลือกใช้จุกหลอกที่ทำมาจากยางธรรมชาติ เพราะปราศจากสารเคมี ลดความเสี่ยงของการรับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายตั้งแต่เด็ก

  • เลือกจุกหลอกที่ใหญ่กว่าปากของเด็ก จุกหลอกที่มีขนาดเล็กกว่าช่องปากของเด็ก เสี่ยงที่จะผลุบเข้าปาก ซึ่งอาจติดคอ หรือทำให้เกิดการสำลัก อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้

  • เลือกจุกหลอกที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย จุกหลอกบางยี่ห้ออาจออกแบบมาให้มีลูกเล่นหลากหลาย ซึ่งบางครั้งก็ยากต่อการทำความสะอาด ควรเลือกจุกหลอกที่ดีไซน์ออกแบบมาให้เหมาะกับการใช้งาน และทำความสะอาดฆ่าเชื้อได้ง่าย

  • ซื้อจุกหลอกแบบเดียวกันสำรองหลายอัน เด็กอาจจะเผลอทำจุกหลอกหล่นหรือหาย ซึ่งอาจจะทำให้เด็กรู้สึกหงุดหงิด หรือร้องไห้งอแงขึ้นมา การมีจุกหลอกที่ดีไซน์เหมือนอันเดิม ก็จะช่วยแก้สถานการณ์ตรงหน้าได้ทันที

เมื่อซื้อมาแล้ว คุณแม่ก็ต้องไม่ซื้อมาเปล่า ๆ แต่ควรหมั่นสังเกตดูด้วยว่า จุกหลอกเริ่มเปลี่ยนสภาพ หรือเริ่มเสื่อมสภาพหรือยัง หากจุกหลอกใช้งานมานานแล้ว อาจถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนอันใหม่

มากไปกว่านั้น ยังจำเป็นจะต้องหมั่นทำความสะอาดจุกหลอกอยู่บ่อย ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่ลูกนำเข้าปากไปดูดไว้นั้นมีความสะอาดเพียงพอ และปลอดภัยจากแบคทีเรียและเชื้อโรคต่าง ๆ

เลือกจุกหลอกแบบไหนดี? จุกหลอกหัวกลมกับหัวแบนต่างกันอย่างไร


ลักษณะของรูปทรงจุกหลอกหลัก ๆ แล้วมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ

  • จุกหลอกหัวกลม มีลักษณะกลมมน เหมือนกับจุกขวดนมโดยทั่วไป มีลักษณะคล้ายกับหัวนมของแม่ เด็กจึงสามารถดูดได้ง่ายเพราะเด็กมีความคุ้นเคยกับลักษณะจุกที่มีความกลมมนเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม เวลาเลือกจุกหลอกแบบหัวกลม ควรเลือกที่มีขนาดพอดี หัวจุกไม่ใหญ่จนเกินไป เพราะเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการสำลักน้ำลาย หรือน้ำลายไปอุดกั้นทางเดินหายใจ

  • จุกหลอกหัวแบน มีลักษณะแบนเป็นทรงหัวตัด มีส่วนที่โค้งและเว้า ทำให้รองรับการสบกันของฟันได้ดี และเนื่องจากส่วนปลายของจุกหลอกมีลักษณะที่ค่อนข้างเล็ก ทำให้ลดความเสี่ยงของการสำลักน้ำลาย และไม่ไปอุดกั้นทางเดินหายใจของเด็ก อย่างไรก็ตาม จุกหลอกหัวแบนนี้มักจะมีปัญหาคือ เด็กไม่สามารถดูดไว้ในครั้งละนาน ๆ เนื่องจากมีขนาดเล็ก จึงมักหลุดออกจากปากง่าย บางครั้งร่วงลงพื้นและสัมผัสกับพื้นผิวอื่น ๆ ก็เสี่ยงที่จะได้รับเชื้อแบคทีเรียหากทำความสะอาดไม่ดี

จุกหลอกดีไหมสำหรับลูกน้อยวัยดูดนม


ข้อดี

  • บรรเทาความรู้สึกหงุดหงิดของเด็ก เนื่องจากทารกหลายคนมักรู้สึกอารมณ์ดีเมื่อปากได้ดูดหรืออมของบางอย่าง เราจึงมักเห็นเด็ก ๆ ติดการดูดนิ้วหรือดูดจุกหลอกอยู่เสมอ

  • ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจ ซึ่งดีต่อกรณีที่ต้องการเบี่ยงเบนความสนใจเด็กในสถานการณ์สำคัญเพื่อให้เด็กร่วมมือโดยง่าย เช่น การฉีดยา การฉีดวัคซีน การเจาะเลือด หรือกระบวนการรักษาโรคอื่น ๆ

  • ลดความเสี่ยงของโรคไหลตาย โรคไหลตาย (SIDS) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กอายุ 2-4 เดือน โดยมักมีสาเหตุมาจากการกีดขวางการหายใจของทารกขณะนอนหลับ ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าการให้เด็กดูดจุกหลอกเวลางีบหรือนอนหลับ จุกหลอกจะช่วยเปิดปากให้มีช่องว่าง ทำให้อากาศสามารถไหลผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น จึงมีส่วนช่วยลดโอกาสเสี่ยงของโรคไหลตายในเด็ก

  • ป้องกันการดูดนิ้ว นิ้วมือของเด็กมักสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ มากมายในแต่ละวัน ซึ่งเสี่ยงที่จะรับเอาแบคทีเรียหรือเชื้อโรคที่เป็นอันตรายเข้าสู่ร่างกาย การดูดจุกหลอก จึงช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวลง

  • ช่วยให้เด็กสบายตัวเมื่อขึ้นเครื่องบิน เวลาที่อยู่บนเครื่องบิน ความกดอากาศบนเครื่องบินอาจทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายหู หรือปวดหู การใช้จุกหลอกจะช่วยให้เด็กรู้สึกสบายตัวมากขึ้น การดูดจุกหลอกยังทำให้ช่องหูเปิด จึงลดความเสี่ยงของการปวดหู

ข้อเสีย

  • เด็กอาจติดจุกหลอก มีหลายกรณีที่ใช้จุกหลอกบ่อยจนกระทั่งเด็กติดจุกหลอก เวลาที่ไม่ได้ดูดจุกหลอกเด็กก็จะร้องไห้งอแง อาจสร้างปัญหากวนใจคุณแม่เวลาที่ลูกร้องไห้ไม่หยุด

  • มีผลต่อสุขภาพฟัน การใช้จุกหลอกติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพฟันของเด็กได้ โดยฟันอาจไม่สบกัน หรือฟันผิดรูป

  • เด็กไม่อยากกินนมแม่ แม้ว่าลักษณะของจุกหลอกจะคล้ายหัวนมแม่ก็จริง แต่เด็กบางคนที่ใช้จุกหลอกเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจรู้สึกคุ้นเคยกับจุกหลอกมากกว่าหัวนมแม่ ซึ่งอาจทำให้เด็กไม่ยอมกินนมแม่ ซึ่งสำหรับเด็กเล็ก ๆ การกินนมแม่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรก ทารกควรได้กินนมแม่เป็นประจำ เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารและภูมิต้านทานที่ดีต่อร่างกาย

  • เด็กตื่นกลางดึกบ่อย เด็กบางคนรู้สึกนอนหลับง่ายเมื่อได้ดูดจุกหลอก แต่เมื่อจุกหลอกหลุดออกจากปากตอนหลับ อาจทำให้เด็กรู้สึกตัว และร้องไห้งอแง อาจทำให้คุณแม่ต้องลุกกลางดึกอยู่บ่อย ๆ

จุกหลอกใช้ตอนไหน เริ่มใช้ได้ตั้งแต่กี่เดือน


จุกหลอกเหมาะกับเด็กทารกวัยแรกเกิด จึงสามารถใช้จุกหลอกกับเด็กแรกเกิดได้เลยทันที อย่างไรก็ตาม ควรให้เด็กคุ้นชินกับการกินนมแม่เสียก่อน ให้เด็กได้ดูดหัวนมแม่ในช่วง 2-4 สัปดาห์แรกหลังคลอด เมื่อเด็กเริ่มชินกับการดูดแล้ว จึงสลับมาใช้จุกหลอกบ้าง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว จุกหลอกนั้นเหมาะสำหรับเด็กในช่วง 6 เดือนแรกมากที่สุด เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้นจนอายุถึง 3 ขวบ ก็ควรลดการใช้งานจุกหลอกให้น้อยลง

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้จุกหลอกเมื่อเด็กรู้สึกหิว เพราะจุกหลอกไม่สามารถทดแทนสารอาหารที่จะได้จากการกินนม และไม่ควรใช้จุกหลอกตลอดเวลา เพราะการใช้จุกหลอกติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจมีผลเสียต่อพัฒนาการทางร่างกายและการเรียนรู้ของเด็กในอนาคตได้

วิธีใช้จุกหลอกที่ถูกต้อง


  • หมั่นสังเกตดูว่าช่วงไหนที่ลูกอยากดูด หรือเริ่มดูดนิ้ว สังเกตดูว่าดูดเพราะรู้สึกดี หรือดูดเพราะหิวนม หากดูดเพราะหิวนมควรให้ลูกกินนมทันที แต่ถ้าดูดเพราะรู้สึกดี ก็สามารถให้ดูดจุกหลอกแทนได้

  • แยกแยะให้ชัดเจนว่าเด็กกำลังดูดจุกหลอก หรือดูดนิ้วเพราะหิว เพราะหากทึกทักเอาเองว่าเด็กดูดเพราะชอบ คุณแม่ก็จะกะเวลาที่ลูกหิวนมไม่ถูก และถ้าหากเป็นช่วงเวลาที่ต้องกินนม ควรเลิกใช้จุกหลอกจนกว่าจะกินนมเสร็จ

  • หากเด็กเริ่มร้องไห้เวลาที่ไม่ได้จุกหลอก ควรหาสิ่งอื่นมาเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น เกม หนังสือ หรือเล่นกับลูก เพื่อลดการใช้จุกหลอกลง

  • ไม่จำเป็นที่จะต้องเลิกใช้จุกหลอกตั้งแต่เด็กยังไม่หย่านม ควรค่อย ๆ ลดการใช้จุกหลอกเมื่อเด็กเริ่มหย่านม เพราะการเลิกใช้จุกหลอกตั้งแต่เด็กยังเล็ก ๆ เด็กอาจจะไปติดการดูดนิ้วแทน ซึ่งหากติดเป็นนิสัย อาจมีผลต่อบุคลิกภาพและความมั่นใจของเด็กเมื่อโตขึ้นได้

  • ไม่ควรให้เด็กใช้จุกหลอกตลอดเวลา ให้เด็กใช้จุกหลอกเมื่อเด็กรู้สึกไม่สบายตัวจริง ๆ เท่านั้น

เมื่อไหร่ที่ควรเลิกใช้จุกหลอก


เมื่อเด็กเริ่มหย่านม หรืออายุย่างเข้า 13-15 เดือน คุณแม่ควรมีระยะห่างในการใช้จุกหลอกกับเด็ก ซึ่งหากโชคดีก็จะพบว่าเด็กบางคนสามารถเลิกใช้จุกหลอกได้เองในช่วงที่มีอายุ 2-4 ขวบ

แต่ถ้าเด็กยังไม่เลิกขาดกับจุกหลอก คุณแม่อาจจะต้องมีการจำกัดการใช้จุกหลอก หรือหากิจกรรมอื่นมาเบี่ยงเบนความสนใจหรือความรู้สึกอยากดูดจุกหลอกของลูก หรืออาจเปลี่ยนจากการให้เด็กดูดจุกหลอกก่อนนอน มาเป็นการร้องเพลง หรือเล่านิทานเพื่อให้ลูกหลับ โดยไม่ต้องใช้จุกหลอก

ไขข้อข้องใจเรื่องการใช้จุกหลอกกับ Enfa smart club


 ดูดจุกหลอก ท้องอืดไหม?

จริง ๆ แล้วว การใช้จุกหลอกมีส่วนช่วยในการระบายแก๊สในช่องท้องมากกว่าจะทำให้เด็กท้องอื่น เพราะการดูดจุกหลอกนอกจากจะช่วยให้เด็กรู้สึกสบายตัวแล้ว ยังช่วยให้อากาศถ่ายเทเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

 ลูกติดจุกหลอกเป็นอะไรไหม?

เด็กที่ใช้จุกหลอกติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนกระทั่งเด็กติดจุกหลอกชนิดถอนตัวไม่ขึ้น หรือจะงอแงทันทีหากไม่ได้ดูดจุกหลอก นอกจากจะเสียบุคลิกภาพแล้ว ยังมีผลต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น ฟันไม่สบกัน ฟันผิดรูปซึ่งอาจมีผลต่อการกินอาหาร เคี้ยวอาหาร หรือพูดไม่ชัด อีกทั้งการติดจุกหลอกยังมีส่วนทำให้เด็กพักผ่อนไม่เพียงพอเพราะเด็กบางคนมักจะตื่นกลางดึกเวลาที่จุกหลอกหลุดออกจากปาก

 ไม่ใช้จุกหลอกได้ไหม?

การใช้จุกหลอกมีประโยชน์หากใช้อย่างเหมาะสม แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อเสียหากใช้งานติดต่อกันนานเกินไป ซึ่งหากถามว่าจำเป็นไหม ก็คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพ่อแม่ว่าจะสามารถหาวิธีรับมือเวลาที่ลูกชอบดูดนิ้วได้ไหม หรือจะมีวิธีเบี่ยงเบนความสนใจเด็กจากการดูดนิ้วมือหรือสิ่งของ หรือทำให้เด็กรู้สึกสบายตัว ไม่งอแงได้อย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าสามารถทำได้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้จุกหลอกแต่อย่างใด

 จุกหลอกอันตรายหรือเปล่า?

จุกหลอกหากใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานก็สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาวได้ เช่น การพูดไม่ชัด หรือกินอาหารลำบากเนื่องจากฟันผิดรูป หรือการใช้จุกหลอกที่ไม่ได้มาตรฐานก็เสี่ยงที่เด็กจะได้รับสารพิษจากวัสดุที่นำมาผลิตจุกหลอกเด็ก

 จุกหลอกทำให้ลูกฟันผุจริงหรือ?

จุกหลอกไม่ได้ทำให้ฟันผุได้โดยตรง แต่มีพ่อแม่บางท่านที่นำจุกหลอกไปชุบน้ำหวานหรือน้ำตาลเพื่อให้เด็กดูด ซึ่งการกินของหวานมากเกินไปในเด็ก ก็อาจจะมีผลทำให้ฟันผุได้ หรือการให้เด็กดูดจุกหลอกมาทั้งวันโดยที่ไม่ดูแลรักษาความสะอาดของฟันเลย หรือละเลยการแปรงฟันของลูก ก็อาจทำให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียในช่องปากที่ทำให้ฟันผุได้



บทความแนะนำสำหรับคุณแม่