ด้านสติปัญญาละการเรียนรู้

ช่วยลูกรู้จักสีจากดอกไม้

     เด็กควรได้รับการฝึกสังเกตสีที่มีความหลากหลายและอยู่รอบๆ ตัว เพื่อเพิ่มพูนความสามารถในการเรียนรู้ของเขา การสอนเรื่องสีมีประโยชน์ต่อลูกเป็นอย่างมาก เพราะสีจะช่วยให้เด็กเข้าใจโลกและสรรพสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว เช่น สีอยู่ที่ตัวเด็กเองตลอดทั่วร่างกาย ทั้งสีผม สีผิว สีนัยน์ตา สีเล็บ สีฟัน และสีเสื้อผ้าของเขา เป็นต้น

     คุณแม่สามารถเพิ่มทักษะการเรียนรู้เรื่องสีได้ด้วยสิ่งของใกล้ตัว เช่น สอนลูกรู้จักสีจากดอกไม้ โดยเตรียมอุปกรณ์เป็นดอกไม้ชนิดต่างๆ เช่น ดอกชบา ดอกอัญชัน และพืชที่มีสีสัน อย่างขมิ้น หรือใบตำลึง และกระดาษปรู๊ฟ เมื่อเตรียมอุปกรณ์พร้อมแล้ว ให้ลูกลองขยำใบไม้ ดอกไม้ ให้สีซึมออกมาจากพืชที่เลือกนั้นลงบนกระดาษ เพื่อให้เห็นสีจากพืช แล้วให้ลูกบอกชื่อสีที่เห็น

     วิธีการนี้จะช่วยให้ลูกรู้จักการสังเกตสี และได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ รอบตัวว่ามีสีหลากหลาย ทั้งเหมือนกันและแตกต่างกัน ซึ่งการเรียนรู้เรื่องสีจะมีผลต่อการพัฒนาภาษาของเด็ก เมื่อเด็กได้เห็นสี ได้ยินคำศัพท์เกี่ยวกับสี ได้สัมผัสสี มีอารมณ์และความรู้สึกเกี่ยวกับสี ก็จะเป็นการเร้าและเสริมการรับรู้ให้เด็กมีการใช้ภาษา จนกระทั่งสามารถใช้ภาษาในการสื่อสารต่อไปค่ะ

ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว

ปั้น...ปั้น ฝึกสายตา พัฒนากล้ามเนื้อ

     เมื่อนิ้วน้อยๆ ค่อยขยับ ขยำ ขยี้ ไม่ว่าจะเป็น แป้งโดว์ หรือดินสำหรับปั้นสารพัดชนิดนั้น ไม่เพียงช่วยให้กล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างนิ้วน้อยๆ ได้ทำงาน ยังช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ คือแขน  พัฒนาประสาทสัมผัสระหว่างตากับมือ แต่ยังช่วยเสริมสร้างสมาธิ และจินตนาการหรือความคิดสร้างสรรค์ให้ลูกน้อยได้        

การเล่นปั้นแป้งของเด็กวัยนี้ จะเป็นในลักษณะของการดึงแป้งหรือดินออกเป็นก้อนๆ และตัดแป้งหรือดินด้วยอุปกรณ์ต่างๆ เช่น แม่พิมพ์รูปทรงต่างๆ ที่เรามักเห็นแถมมากับกระปุกแป้งโดว์

     คุณแม่สามารถส่งเสริมการเล่นปั้นแป้งปั้นดินของลูกได้ โดยชวนลูกเล่น เช่น ถ้าเราจะทำรูปดอกไม้ พระอาทิตย์ ต้องใช้สีอะไร รูปทรงแบบไหน เพื่อกระตุ้นให้ลูกเกิดจินตนาการ หรือชวนกันปั้นเป็นรูปผลไม้ต่างๆ ที่ลูกคุ้นเคย ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าวันนั้นเราอยากให้ลูกเรียนรู้และมีจินตนาการกับเรื่องอะไร โดยดูให้เหมาะสมกับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยของลูก

     ที่สำคัญ คือไม่คาดหวังกับผลงานของลูกว่าออกมาต้องเหมือนของจริง เพราะสิ่งสำคัญสำหรับวัยนี้คือ การที่เขาลงมือทำลงมือคิดกับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้า ซึ่งเท่ากับสมองของเขาได้ทำงาน สิ่งนี้มีคุณค่ายิ่งกว่าผลงานที่ออกมามากมายค่ะ

สมัครเป็นสมาชิก Enfa Smart Club กับชมวันนี้ ลุ้นรับ MacBook Air

ด้านภาษาและการสื่อสาร

คุยกับลูกก่อนนอน พัฒนาการสื่อสาร

     การเล่านิทานก่อนนอนเป็นกิจวัตรประจำวัน ที่ช่วยพัฒนาภาษาของลูกได้ดี แต่หากคุณแม่อยากให้ลูกมีพัฒนาการทางภาษาที่รุดหน้า ลองเปลี่ยนมาใช้วิธีพูดคุยกันก่อนนอนดูบ้างก็ดีค่ะ  เพราะการพูดคุยจะช่วยกระตุ้นให้ลูกพยายามสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้ดีกว่า  

     ดร.เฟรดเดอริค ซิมเมอร์แมน จาก UCLA School of Public Health นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยูซีแอลเอ รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาด้านภาษาในเด็กเล็ก พบว่า โดยปกติแล้วกุมารแพทย์และนักพัฒนาการเด็กมักสนับสนุนให้พ่อแม่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาแก่ลูกน้อยด้วยการอ่านหนังสือให้ลูกฟังหรือเล่านิทาน การอ่านและเล่านิทานช่วยพัฒนาทักษะภาษาได้ก็จริง แต่หากพ่อแม่ได้มีการพูดคุยสนทนากันด้วย ก็จะยิ่งพัฒนาภาษาของลูก

     ทีมวิจัยได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 275 ครอบครัว ซึ่งมีลูกเล็กในวัย 1- 4 ขวบ โดยประเมินทักษะการพูดของเด็กที่มาจากการกระตุ้นของผู้ใหญ่ ก็พบว่า เด็กที่พ่อแม่สนับสนุน ให้มีส่วนร่วมในการพูดคุยนั้นมีความสามารถในทักษะการ สื่อสารสูงเป็น 6 เท่าเมื่อเทียบกับเด็กที่พ่อแม่เน้นการเล่านิทานก่อนนอน...สรุปว่าการพัฒนาภาษาของลูกต้องไม่ขาดทั้งฟัง พูด อ่าน เขียนค่ะ

ด้านอารมณ์และสังคม

เคล็ดลับสกัดลูกเอาแต่ใจตัวเอง

     การที่คุณแม่ตามใจลูกมากเกินไป ทำให้ลูกขาดความเข้าใจว่าโลกภายนอกที่แท้จริงเป็นอย่างไร และอาจทำให้ลูกมีปัญหาในการอยู่ร่วมกับคนอื่นได้

     สัญญาณที่บอกว่าลูกเริ่มเอาแต่ใจคือ ลูกชอบร้องตะโกน หวีดร้อง กัดเด็กคนอื่น ถ้าลูกแสดงอาการเหล่านี้ออกมา คุณแม่ควรรีบหาวิธีที่ทำให้ลูกหายจากการเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตัวเอง วิธีง่ายๆ ก็คือ...

  • ก่อนอื่นต้องตั้งกฎเรื่องความปลอดภัยให้กับลูก เช่น อย่าใช้นิ้วมือจับเตาไฟร้อนๆ ห้ามวิ่งเล่นที่ถนนเป็นอันขาด และเมื่อคุณแม่พูดอะไรแล้วต้องทำตามที่พูดจริงๆ อย่างถ้าบอกว่าจะไม่ให้ลูกเล่นของเล่นนี้อีกหากลูกไม่รักษาของ ถ้าต้องพูดบ่อยๆ เกิน 10 ครั้งก็แสดงว่าไม่ได้ผลแล้วนะคะ  

  • คุณแม่ควรคุยกับลูกถึงพฤติกรรมที่ลูกทำ แทนที่จะถามว่าทำไมทำอย่างนั้น ลูกอาจจะไม่สามารถตอบได้ แต่หากตั้งคำถามใหม่ว่า แม่สงสัยจังเลยว่าทำไมเกิดสิ่งนี้บ่อยจัง การตั้งคำถามปลายเปิดแบบนี้ทำให้ลูกเริ่มใช้เวลาคิด แล้วค่อยบอกกับลูกว่าสิ่งที่ลูกทำนั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีอย่างไรบ้าง ลูกจะฟังอย่างตั้งใจ เพราะคุณแม่ไม่ได้ดุ แต่ให้เหตุผลทำให้ลูกเข้าใจมากขึ้น

  • คุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้ว่าเมื่อใดที่ควรเอ่ยคำว่าขอโทษและขอบคุณ เพื่อให้ลูกเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเขาในขณะนั้นว่าเขาจะต้องทำอย่างไรกับคนรอบข้าง

  • สิ่งสำคัญคือ ให้คุณแม่เริ่มสอนตั้งแต่ลูกอายุยังน้อย และทำอย่างสม่ำเสมอ เข้าใจความต้องการและรู้พัฒนาการของลูกอย่างละเอียด เพียงเท่านี้อาการเอาแต่ใจของลูกน้อยก็จะค่อยๆ ดีขึ้นค่ะ