ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
การกระตุ้น พัฒนาการลูกน้อย เดือนที่ 33

การกระตุ้น พัฒนาการลูกน้อย เดือนที่ 33

ด้านสติปัญญาและการเรียนรู้

ฝึกลูกมีสมาธิ เพิ่มพลังการเรียนรู้

     ลูกวัยนี้ ใกล้จะเข้าโรงเรียนอนุบาลแล้ว  ลูกจำเป็นต้องมีสมาธิหรือช่วงความสนใจและจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากๆ เด็กที่ขาดสมาธิจะเป็นเด็กที่เรียนรู้ได้ไม่ดีนัก ฟังครูพูดก็ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจได้ไม่ครบถ้วน เพราะใจไม่ได้จอจ่อ  ทำกิจกรรมก็ทำได้ไม่นาน เพราะทนนั่งนิ่งๆ ไม่ได้ ช่วงความสนใจหรือสมาธิสำหรับเด็กวัยนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ การที่ลูกมีสมาธิจดจ่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นั้น จะส่งผลให้เกิดความจำ มีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี มีประสิทธิภาพ

     แม้ว่าธรรมชาติของลูกวัยนี้แทบจะไม่อยู่นิ่งเฉย มีช่วงความสนใจหรือสมาธิได้อย่างมาก 5 นาที แต่การส่งเสริมให้ลูกมีสมาธิก็ไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากลูกสนใจต่อสิ่งเร้ารอบข้างเป็นทุนเดิม เพียงแต่คุณแม่ต้องหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้ลูกสนใจสิ่งเร้าเพียงอย่างเดียวในระยะเวลาที่นานเพียงพอ นั่นก็คือ การหากิจกรรมมาสร้างความสนใจให้ลูกนั่นเอง ซึ่งได้แก่ การชวนลูกฟังนิทานแล้วตั้งคำถามจากนิทานนั้น เล่นต่อบล็อก วาดภาพระบายสี ต่อบล็อก หรือเลโก้ ปั้นดินน้ำมัน ตัดกระดาษ ร้อยลูกปัด  เป็นต้น

ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว         

เล่น...เพื่อร่างกายเคลื่อนไหว

     เด็กวัยนี้มีพัฒนาการทางร่างกายที่เห็นได้ชัด คือ กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น ลูกควรจะได้ฝึกฝนการใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายให้ทำงานร่วมกัน ซึ่งทำได้โดย...

  • ออกกำลังกาย   ให้ลูกเล่นออกกำลัง เช่น วิ่งเล่น เตะบอล เดินทรงตัว ขี่จักรยาน เคลื่อนไหวร่างกายตามจังหวะเพลง ฯลฯ เป็นการฝึกใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายให้ทำงานสอดประสานกัน

  •  ปั้น..ปั้น    เช่น ปั้นดินน้ำมันหรือแป้งโดว์  จะทำให้เด็กรู้สึกสนุกที่ได้ปั้นแป้งเป็นรูปต่างๆและภาคภูมิใจกับผลงานของตน อีกทั้งเป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กจากการปั้น การใช้จินตนาการ และการทำงานประสานกันของมือ-ตา

  • เล่นหุ่นนิ้ว   คุณแม่ทำหุ่นนิ้วมือเป็นรูปต่างๆ เช่น สัตว์ ดอกไม้ ผลไม้ ฯลฯ  แล้วเล่นกับลูก การให้ลูกเล่นหุ่นนิ้วจะช่วยพัฒนาการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เพิ่มทักษะในการใช้นิ้วและควบคุมการใช้นิ้วมือ พัฒนาภาษา และพัฒนาการทางอารมณ์ของลูก

ด้านภาษาและการสื่อสาร

เคล็ดลับต่อยอดภาษา  พัฒนาการสื่อสารลูก

     แม้ลูกจะพูดสื่อสารรู้เรื่องขึ้น แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ยังต้องหมั่นคุยกับลูกมากๆ และส่งเสริมสนับสนุนให้ลูกเกิดทัศนคติที่ดีต่อภาษาในมิติต่างๆ ทั้งการรับและการส่ง

  • เมื่อลูกตั้งคำถาม “นี่อะไร” แทนที่พ่อแม่จะรีบให้คำตอบลูก ให้ลองถามกลับดูบ้างว่า “แล้วหนูคิดว่าเป็นอะไรจ๊ะ” หลายๆ ครั้งพ่อแม่อาจได้คำตอบชวนทึ่ง และการถามกลับก็ช่วยต่อยอดความคิดของลูกออกไปด้วย

  • ถ้าลูกถามแล้วพ่อแม่ไม่รู้ ก็ตอบตรงๆ ไปว่าไม่รู้ แล้วมาช่วยกันหาคำตอบ อย่าตอบไปแบบผ่านๆ เพราะลูกจะจำข้อมูลแบบผิดๆ ไปด้วย

  • เมื่อพ่อแม่สัญญาอะไรกับลูกแล้วต้องยึดถือสัญญานั้นด้วย เพราะการรักษาสัญญาและการที่พ่อแม่ทำตามที่พูดทุกครั้งถือเป็นการสร้างความเชื่อใจให้กันและกัน และยังช่วยปลูกฝังทัศนคติที่ดีว่าคำพูดนั้นมีความหมาย มีคุณค่า และมีการปฏิบัติตาม

  • สนับสนุนให้ลูกมีโอกาสเลือกตัดสินใจเองให้มากที่สุด เพื่อลูกจะได้มีความมั่นใจ ภูมิใจ กล้าตัดสินใจในทุกเรื่อง แม้กระทั่งการพูด

  • เมื่ออ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้ลูกฟังจนจบ ลองให้ลูกเล่าเรื่องนั้นๆ อีกครั้งตามความเข้าใจของเขา เพื่อตรวจสอบการรับ (ความเข้าใจ) และถ่ายทอดข้อมูลของลูก 

  • ในแต่ละวัน ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าเรื่องที่เขาได้พบมา เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอด (ส่ง) ข้อมูลของลูก

ด้านอารมณ์และสังคม

เคล็ดลับรับมือลูกอาละวาด

     เมื่อลูกอยู่ในอารมณ์ อาละวาด คุณแม่ควรรับมือโดย ...

  • เมินเฉยบ้าง    ถ้าลูกอาละวาดอยู่ที่บ้าน  ให้ทำเป็นไม่สนใจหรือไม่ก็อุ้มลูกเข้าไปไว้ในห้องของเขาด้วยท่าทีอันสงบ อย่าแสดงให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่อารมณ์เสีย และอย่าแก้ปัญหาโดยยอมแพ้ให้ลูกในสิ่งที่ลูกต้องการ ฯลฯ เพราะลูกจะรู้ได้ทันทีว่าถ้าอาละวาดแบบนี้แล้วประสบความสำเร็จ สามารถเอาชนะพ่อแม่ได้ ลูกก็จะใช้วิธีอาละวาดเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องสิ่งต่างๆ เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการ แต่ถ้าพ่อแม่ไม่สนใจ ในที่สุดลูกจะเลิกใช้วิธีอาละวาดเพื่อแก้ปัญหา เพราะรู้ว่าไม่ได้ผล
  • กอด    ถ้าลูกอาละวาด ทุบ ตี กัด ต่อย เตะ ถีบพ่อแม่ แทนที่จะลงโทษลูกหนักๆ ให้กอดลูกไว้แน่นๆ แทน วิธีนี้จะช่วยปลอบใจให้ลูกรู้สึกอบอุ่นจะช่วยคลี่คลายอารมณ์ให้ลูกได้

  • ไม่ใช้วิธีตีลูก     การที่พ่อแม่อาละวาดกลับ โมโห ตวาดเสียงดัง หรือทุบตีลูก หรือทำลายข้าวของ ถือเป็นวิธีที่ไร้ประสิทธิภาพที่สุดในการแก้ปัญหา ถ้าลูกไล่คุณเพราะไม่พอใจ ก็ให้เดินออกไปตามที่ลูกต้องการ รอจนลูกสงบ แล้วค่อยเข้ามาพูดคุยด้วย 

  • ทำเป็นไม่สนใจคำว่า “ไม่” ของลูกบ้าง   เช่น ถ้าบอกให้ลูกกินข้าว ลูกบอกว่า “ไม่” ก็ปล่อยลูกไปอย่างนั้นก่อนไม่ต้องไปคะยั้นคะยอมาก  สักพักหนึ่งเมื่อหิวลูกจะหันมาเรียกร้องกินข้าวเอง หรือเอาของเล่นให้ลูกเล่นลูกจะบอกว่า “ไม่” ก็ปล่อยไป สักพักหนึ่งลูกจะกับมาเล่นเอง เพราะไม่มีเด็กคนไหนไม่กินเพราะหิวหรือไม่ชอบเล่น

     อารมณ์ที่สงบของคุณแม่ จะทำให้ให้ลูกค่อยๆ สงบลงได้ในที่สุดค่ะ

ผลิตภัณฑ์แนะนำ

บทความที่แนะนำ

โภชนาการลูกน้อย เดือนที่ 33
EFB banner
Mobile efb banner
EFB banner

Leaving page banner